บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 1 ตอนที่ 3


    คุณวันทนา ในครั้งก่อนนั้น เราได้คุยกันไว้ถึงเรื่องบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ทิฏฐุชุกรรม ได้แก่การทำความเห็นให้ถูกต้อง ตามลักษณะที่เป็นจริง ทานคือการให้ การเอื้อเฟื้อเสียสละ ปัตติทาน ได้แก่การแผ่ส่วนกุศล ที่ได้กระทำแล้วแก่ผู้อื่น ปัตตานุโมทนา ได้แก่ การอนุโมทนายินดี ในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว สำหรับการสนทนาของเราในวันนี้ ก็คงจะได้พูดกันต่อไป ถึงเรื่องบุญญกริยาวัตถุประการอื่น ซึ่งก็คงจะเป็นสิ่งที่ทุกท่าน สามารถจะเจริญได้ อย่างนี้ใช่ไหมคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันเท่าที่ปรากฏ ก็คงจะเห็นว่า การขัดเกลากิเลส ความโลภ ความตระหนี่ ความติดข้องในวัตถุสิ่งของต่างๆ ด้วยการบริจาควัตถุ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้างนั้น สำหรับคนที่ไม่ใช่ทานุปนิสัยแล้ว ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งบางคนก็เกิดมาก และบางคนก็เกิดน้อย และบางคนก็นานเหลือเกิน กว่าจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง แต่ว่าสำหรับท่านที่มีทานุปนิสัยนั้น ผู้นั้นสละ บริจาคทรัพย์วัตถุสิ่งของเป็นประจำ แต่ว่าเพียงการสละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นนั้น ก็ยังขัดเกลากิเลสไม่พอ เพราะว่ากิเลสมีมากมายหลายประเภทเหลือเกิน แล้วก็กิเลสแต่ละประเภทก็เกิดบ่อย พอกพูนหนาแน่นมาก

    คนที่มีกิเลสพอกพูนหนาแน่นมากนั้น ได้ชื่อว่า ปุถุชน คนที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลแล้ว ก็เป็นปุถุชนทุกคน เพราะไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของทุกสิ่ง ที่มีปรากฏอยู่ในขณะนี้ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ความยินดียินร้าย ก็เกิดได้ทุกขณะที่ไม่เจริญกุศล เมื่อกุศลไม่เกิด กิเลสอื่นๆ ก็ต้องเกิด และกิเลสแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น ก็สะสมพอกพูน สืบเนื่องอยู่ในจิต ที่เกิดดับติดต่อกันอยู่ทุกๆ ขณะ ทำให้ปรากฏสภาพของกิเลสที่สะสมมาในลักษณะต่างๆ กัน

    คุณวันทนา ความสะสมของกิเลสนี้เอง ถึงได้ทำให้คนแต่ละคน มีอุปนิสัยต่างๆ กัน ซึ่งดิฉันคิดว่า ตัวดิฉันเอง แล้วก็รวมทั้งท่านผู้ฟังด้วย ก็คงจะได้เคยสังเกตเห็น อย่างเป็นต้น ผู้ที่มีทานุปนิสัยมาในอดีต ในปัจจุบันนี้ก็จะเห็นได้ว่า เขามีอุปนิสัยที่จะสละสิ่งของให้ใครๆ ไปง่ายๆ มีน้ำใจเอื้อเฟื้ออยู่เสมอ นี่ก็คงเป็นอุปนิสัยในด้านดี นอกจากนี้แล้ว ดิฉันยังสังเกตเห็นต่อไปว่า คนบางคนที่มีน้ำใจดีๆ อย่างนี้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่บางครั้งมีการแสดงออกทางกาย วาจา ไม่ดีเลย อย่างเป็นต้น ทางวาจา ก็ชอบพูดให้กระทบกระเทือนความรู้สึกของคนอื่น อย่างนี้แล้วก็น่าสงสัย ว่าทำไม ในเมื่อตัวก็มีส่วนที่ดีพร้อมแล้ว ถึงได้มีส่วนที่ไม่ดีปนอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนี้ ก็เป็นเพราะเหตุว่า กิเลสนั้นมีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด แล้วก็มีทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจด้วย บางคนก็ขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ แต่ว่ากิเลสอย่างกลาง กับกิเลสอย่างละเอียดนั้น ยังไม่ได้ขัดเกลา และบางคนก็ขัดเกลากิเลสทางกาย แต่ว่าไม่ได้ขัดเกลากิเลสทางวาจา เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระมหากรุณาคุณ หาผู้เปรียบปานมิได้ จึงได้ทรงแสดงวิธีขัดเกลากิเลส ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไว้ครบถ้วนทีเดียว พระองค์ไม่ได้ทรงแสดงว่า การขัดเกลากิเลสนั้น มีแต่เฉพาะด้วยทาน การสละวัตถุสิ่งของให้ผู้อื่น เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเลย

    คุณวันทนา พูดกันไป คนเราอยู่ที่ไหน กิเลสก็อยู่ที่นั่น ขึ้นอยู่แต่ว่าจะมาปรากฏทางกาย ทางวาจา หรือว่าทางใจ เพียงแต่ว่าเวลาที่กิเลสเกิดกับคนอื่น เห็นง่าย แล้วเราก็รู้สึกที่เดียวว่ามันน่ารังเกียจเสียเหลือเกิน แต่พอที่ว่ามันมาเกิดกับตัวเราเอง เห็นยาก เพราะเราชอบ แล้วก็เข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ ก็เลยไม่รู้สึกว่ากิเลสนั้น เป็นสิ่งน่ารังเกียจเหมือนในขณะที่เวลาเกิดกับคนอื่น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพระองค์ถึงได้สอน ให้พิจารณาจิตใจของเราเอง แทนการเพ่งโทษของคนอื่น เพราะว่าการเพ่งโทษของคนอื่นนั้น ย่อมจะทำให้จิตใจเป็นอกุศล แล้วก็เป็นการเพิ่มพูนกิเลสอาสวะ ซึ่งจะทำให้ห่างไกลพระนิพพานออกไปทุกที

    คุณวันทนา การขัดเกลากิเลส ด้วยวิธีอื่น ซึ่งนอกเหนือไปจากทาน อันไม่ต้องสละวัตถุนี้ ก็ยังมีอยู่ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ใช่ ไม่ต้องสละวัตถุ แต่ว่าจะต้องสละ หรือระงับกิเลสด้วย

    คุณวันทนา การเจริญทานกุศล ก็เป็นการสละหรือระงับกิเลสเหมือนกัน ใช่หรือไหม

    ท่านอาจารย์ การเจริญกุศลทุกอย่าง เป็นการสละ หรือขัดเกลากิเลสทั้งนั้น แต่ว่ากิเลสนั้นก็มีหลายอย่าง การเจริญกุศลเพื่อขัดเกลากิเลส ก็ต้องมีหลายอย่างด้วย อย่างเช่น ในเรื่องของทาน การให้ นั้น ก็เป็นการสละความตระหนี่ ขัดเกลาความติดข้องในวัตถุ ในโภคสมบัติ แต่ว่านอกจากความตระหนี่แล้ว กิเลสที่จะต้องขัดเกลาก็ยังมีอีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าขัดเกลาแต่ความตระหนี่อย่างเดียว ไม่ได้ขัดเกลากิเลสอื่น กิเลสอื่นก็ยังจะต้องเกิดขึ้น แล้วก็พอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

    คุณวันทนา การขัดเกลากิเลสด้วยวิธีอื่น ทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องละการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นก็ต้องรักษาศีล ๕ ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ สำหรับผู้ครองเรือน อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุทั้งนั้นเลย และเหตุของการกระทำที่ไม่ดีทั้งหมดนั้น ก็เกิดจากกิเลสเท่านั้น ถ้าตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ ตราบนั้นก็ยังจะต้องมีเหตุ ที่จะทำให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีได้ มากหน่อยก็เป็นไปตามลำดับของกิเลส ที่ได้ละ หรือว่าได้ขัดเกลาไปบ้างแล้ว

    คุณวันทนา สำหรับเรื่องของการรักษาศีล จะขัดเกลากิเลสอะไรได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ การเจริญทานกุศลนั้น ก็เพื่อละโลภะ ละความตระหนี่ แต่ว่าในขณะที่ให้ทานนั้น ก็จะต้องไม่มีโทสะเกิดขึ้นขัดขวางด้วย การให้ทานนั้นจึงจะสำเร็จลงได้ ตามที่เราเคยพูดถึงกันมาแล้ว และสำหรับการรักษาศีลนั้น ก็เพื่อละ หรือขัดเกลาโทสะ แต่ว่าในขณะที่มีเจตนา เว้นการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนนั้น ก็จะต้องไม่มีโลภะเกิดขึ้นขัดขวางด้วย ถึงจะเว้นจากการกระทำทุจริตนั้นได้ เพราะว่าศีลนั้นย่อมขาดได้ เพราะลาภ ยศ บ้าง เพราะญาติบ้าง หรือว่าเพราะชีวิตบ้าง ซึ่งถ้าผู้ใดยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สัมผัสต่างๆ ความพอใจนั้น ก็อาจจะเกิดขึ้น ขัดขวางการรักษาศีลได้ตามโอกาส แล้วก็ตามกำลังของความยินดีติดข้องในเรื่องของวัตถุ และลาภยศต่างๆ

    คุณวันทนา ดูเหมือนว่าการทำทุจริตแต่ละอย่าง จะเกิดขึ้นเพราะโลภะเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นการเว้นการทุจริตทางกาย ทางวาจา ก็น่าจะเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ เช่นเดียวกับการให้ทานเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นมูล เพราะว่าเป็นเหตุให้ปรารถนาติดข้อง อยากได้ในวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็จริง แต่ว่าที่จะล่วงเป็นทุจริตแต่ละครั้งนั้น ก็จะต้องเป็นเพราะขาดเมตตาในผู้อื่น แล้วธรรมที่ตรงกันข้ามกับความเมตตานั้น ก็ได้แก่ โทสะ ซึ่งเป็นความหยาบกระด้าง และความประทุษร้ายนั่นเอง คนที่อยากได้ทรัพย์ของคนอื่น แล้วก็ประทุษร้ายคนอื่น เพื่อต้องการทรัพย์นั้น ก็เห็นได้ชัด ว่าเป็นเพราะขาดเมตตา เพราะเหตุว่าถ้ายังมีเมตตาคนอื่นอยู่ตราบใด ก็ย่อมไม่อาจที่จะประทุษร้ายคนนั้นเพื่อทรัพย์ได้ และถ้ามีเมตตาต่อคนอื่น ก็ย่อมจะต้องรู้ว่า การที่คนอื่นต้องสูญเสียทรัพย์ที่หามาได้ เพราะถูกช่วงชิงไปนั้น จะทำให้คนที่เสียทรัพย์นั้นเดือดร้อน แล้วถ้ามีเมตตา เห็นอกเห็นใจคนอื่น ก็จะไม่ช่วงชิงทรัพย์ของคนอื่น มาเป็นของตนเลย ถ้ายังมีเมตตาอยู่ตราบใด การที่จะทำกายทุจริต วจีทุจริต ซึ่งจะเป็นเหตุให้คนอื่นต้องเดือดร้อนนั้น ก็จะมีไม่ได้เลย และขณะใดที่ขาดเมตตา ขณะนั้นก็จะต้องเป็นสภาพของจิตที่หยาบกระด้าง สามารถที่จะประทุษร้าย ซึ่งก็เป็นลักษณะของโทสเจตสิกนั่นเอง

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นโทสะ ก็ไม่ได้แปลว่าความโกรธอย่างเดียวเท่านั้น ใช่หรือไม่ เพราะว่าลักษณะของจิตใจที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย แล้วก็ขาดเมตตาในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของธรรม ที่เป็นโทสเจตสิกทั้งนั้นเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ คุณวันทนาเคยได้ยินได้ฟัง เรื่องการแผ่เมตตาบ่อยๆ ใช่ไหม

    คุณวันทนา เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ การแผ่เมตตานั้น จะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อจิตใจของผู้ที่แผ่นั้น เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาแล้ว ถึงจะแผ่ความปรารถนาดี และก็ความสุขให้แก่คนอื่นได้ และการที่จะรู้ว่าจิตใจของผู้นั้น มีเมตตาเพียงพอที่จะแผ่ให้ผู้อื่นได้หรือไม่นั้น ก็ต้องอยู่ที่กาย วาจา ของผู้นั้นเอง ถ้าผู้นั้นไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ด้วยกาย ด้วยวาจา ก็แสดงว่าผู้นั้นเจริญเมตตา ถึงขั้นที่สามารถจะละกายทุจริต และวจีทุจริตได้

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นศีล ๕ ก็เป็นเครื่องวัดผลของการเจริญเมตตา ศีลข้อ ๕ ซึ่งได้แก่การเว้นที่จะดื่มของมึนเมา จะเป็นการขัดเกลาโทสะได้บ้างหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สำหรับศีลข้อ ๕ นั้น ก็เช่นเดียวกัน เพราะว่าคนที่ขาดสติ ก็ย่อมจะเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจาได้ เพราะฉะนั้นการรักษาศีลข้อ ๕ ก็เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้นั้นขาดสติ ซึ่งจะเป็นเหตุที่ทำให้เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ข้อสำคัญก็คือว่า จะต้องเห็นโทษของกิเลสเสียก่อน กิเลสเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิเลสหยาบ กิเลสกลาง หรือว่ากิเลสอย่างละเอียด เพราะว่านอกจากจะทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สงบ และก็ยังเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจาด้วย กิเลสเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แล้วก็เบียดเบียนทั้งตัวเอง แล้วก็คนอื่นให้เดือดร้อนด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องขัดเกลา ให้เบาบาง และก็ให้หมดสิ้นไป เพราะว่าความสุขที่แท้จริงนั้น ไม่ได้อยู่ที่ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ หรือว่าลาภยศ แต่ว่าอยู่ที่การไม่มีกิเลสเท่านั้น คนที่มีทรัพย์มาก แต่ว่ามีกิเลสมาก กับคนที่มีทรัพย์น้อย และก็มีกิเลสน้อย ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน คุณวันทนาอยากจะคบหาสมาคมกับใครมากกว่ากัน

    คุณวันทนา กับคนที่มีกิเลสน้อย มีทรัพย์น้อย เห็นจะดีกว่า เพราะว่าเขาไม่เบียดเบียนเราให้เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ ในสาธุศีลชาดก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก ก็เคยมีเรื่องที่ถามกันในครั้งอดีตมาแล้วเหมือนกัน ถามว่าหนึ่งคนมีรูปงาม สองคนอายุมาก สามคนมีชาติสูง สี่คนมีศีลดี ใน ๔ คนนี้จะเลือกเอาคนไหน คุณวันทนาจะตอบว่าอย่างไร

    คุณวันทนา เลือกเอาคนสุดท้ายที่มีศีลดี แล้วในสมัยนั้นท่านตอบไว้ว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ท่านตอบสั้นๆ แต่ว่าความหมายของข้อความที่ตอบนั้น ก็แสดงว่าความสวยงามนั้นก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของร่างกาย ที่ทำให้เจริญตา เจริญใจ และสำหรับคนที่มีอายุมากนั้น ก็ย่อมเป็นที่เคารพนับถือ และการมีชาติตระกูลสูงนั้น ก็ย่อมมีประโยชน์ แต่ว่าคนที่มีศีลนั้น ย่อมเป็นที่รัก ที่พอใจของทุกคน

    คุณวันทนา ก็แสดงว่าไม่มีใครชอบกิเลสเลย

    ท่านอาจารย์ กิเลสเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สงบ ซึ่งจะมากน้อยเท่าไรนั้น ก็ต้องเป็นไปตามกำลังของกิเลส แต่ก็ไม่มีใครมีอำนาจ ที่จะบังคับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้เลย เพราะว่ากิเลสเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าธรรมอะไร เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกิเลส และรู้วิธีที่จะขัดเกลากิเลส ย่อมมีทางที่จะทำให้กิเลสเบาบางลงได้ เพราะถึงแม้ว่าบุคคลใด จะถูกงูพิษกัด หรือว่าเป็นโรคต่างๆ ก็ยังมียารักษาได้ แต่ยาที่รักษาโรคกายนั้น ไม่สามารถจะรักษาโรคใจ คือกิเลส ให้หายได้เลย

    การขัดเกลา และการละกิเลสได้นั้น ก็จะต้องขัดเกลา และละได้ด้วยการเจริญกุศลเท่านั้นเอง การที่ผู้ใดจะเจริญกุศล เพื่อละกิเลสประเภทใดนั้น ผู้นั้นก็จะต้องเห็นโทษของกิเลสประเภทนั้นเสียก่อน และในข้อนี้ก็จะเห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงแสดงธรรมต่างกับศาสดาอื่น ตามที่พระองค์ทรงแสดงกับนายบ้าน ชื่ออสิพันธกบุตร ซึ่งเป็นสาวกของนิครนถ์

    ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อสังขาสูตร มีข้อความว่า ศาสดาอื่นนั้น ไม่ได้แสดงโทษของกายทุจริต วจีทุจริต เป็นแต่แสดงผล ว่าจะต้องเกิดในอบาย แล้วก็ตกนรก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้แจ้งเหตุ และผลของธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงชี้แจงโทษของกายทุจริต วจีทุจริต โดยประการต่างๆ เป็นอันมาก เพื่อให้สาวกพิจารณาเห็นโทษของบาปกรรม และประพฤติปฏิบัติ ในทางที่จะละบาปกรรม และก็ขัดเกลากิเลสยิ่งๆ ขึ้น

    คุณวันทนา การรักษาศีล คงจะขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าขั้นทาน

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าทานนั้นเป็นการอนุเคราะห์ สงเคราะห์คนอื่น ด้วยวัตถุเป็นครั้งคราว ส่วนศีลนั้น เป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจา ซึ่งจะต้องมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าใครมีการสละวัตถุสิ่งของ ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่ว่าไม่ละเว้นการเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ด้วยกาย วาจา ใจ การให้ทานของคนนั้น ก็เป็นการอนุเคราะห์คนอื่นที่ไม่สมบูรณ์ เพราะว่าเมื่อให้แล้ว ก็ยังเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนอีก การให้ที่สมบูรณ์นั้น ผู้ให้จะต้องละเว้นการเบียดเบียนคนอื่นด้วย

    ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปุญญาภิสันทสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ศีลคือการเว้นปาณาติบาต การเว้นอทินนาทาน การเว้นกาเมสุมิจฉาจาร การเว้นมุสาวาส และการเว้นการดื่มน้ำเมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของความประมาทนั้น เป็นมหาทาน เพราะว่าเป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุว่า ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์ทั้งหลาย หาประมาณไม่ได้เลย



    หมายเลข 159
    27 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ