บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 1 ตอนที่ 4
คุณวันทนา ดิฉันรู้สึกว่าเรื่องของการรักษาศีล ถ้าฝึกจนเป็นนิสัยแล้ว ก็ดูจะง่ายกว่าทาน เพราะว่าในเรื่องของทานนั้น แม้ว่าผู้บริจาคจะมีศรัทธา แต่ถ้าโอกาสหรือปัจจัยไม่อำนวยให้ ก็ย่อมจะบริจาคไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนที่ฝึกเจริญศีล จนกระทั่งเป็นนิสัย ผู้นั้นก็มีสีลุปนิสัย ซึ่งก็คงจะเห็นว่า ท่านเหล่านั้นมีกาย วาจาสะอาด ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อนเลย ถึงแม้ว่าการให้ทานของท่านผู้นั้น อาจจะน้อยกว่า ท่านที่มีทานุปนิสัย และสำหรับท่านที่เห็นโทษของกิเลส ก็ย่อมจะเจริญกุศลทุกทางที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทไหน อย่างเช่น ถ้าเป็นโอกาสของทาน ก็ให้ทาน ถ้าเป็นโอกาสของศีล ก็รักษาศีล หรือว่าเวลาที่มีโอกาสเจริญภาวนา ก็เจริญภาวนา
คุณวันทนา ศีลนี้ก็เป็นบุญญกริยาวัตถุ ๑ ในบุญญกริยาวัตถุ ๑๐ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ แล้วก็ยังมีบุญญกิริยาวัตถุข้ออื่นอีก ที่รวมอยู่ในหมวดของศีล ได้แก่อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แล้วก็เวยยาวัจจะ การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น
คุณวันทนา ดิฉันเข้าใจว่า คงจะมีท่านผู้ฟังไม่น้อยเลย ที่ไม่ทราบว่าการอ่อนน้อม ต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม เป็นกุศลอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นกุศลที่มีโอกาสจะเจริญได้มากๆ เสียด้วย เพราะว่าบุคคลที่ควรจะได้รับการอ่อนน้อมนั้น ก็มีอยู่ตลอดเวลา อย่างมารดา บิดา พี่ชาย พี่สาว ต่อจากนั้นก็เป็นญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ แล้วก็สมณพราหมณ์ ผู้ที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ แล้วก็ผู้ที่ทรงคุณอันเลิศอุดมที่สุด ยิ่งกว่าใครก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม แล้วก็พระสงฆ์สาวก
ท่านอาจารย์ คุณวันทนารู้สึกว่า การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมนั้น ง่ายหรือยาก
คุณวันทนา ถ้าผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมมา จนเป็นนิสัยแล้วก็คงไม่ยาก แต่ผู้ที่ไม่ได้ฝึกอบรมมาก่อน เห็นจะยากหน่อย แล้วก็คงขึ้นอยู่กับโอกาสอีกด้วย บางครั้งเขาอาจจะขี้เกียจ แล้วก็บางครั้งก็รู้สึกว่า ไม่อยากจะแสดงความนอบน้อม ก็เลยไม่แสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม
ท่านอาจารย์ กิเลสเป็นสภาพธรรมฝ่ายไม่ดี ที่เกิดกับจิตใจ ทำให้จิตไม่ผ่องใส เพราะฉะนั้นการขัดเกลากิเลส ก็ต้องเป็นเรื่องของจิตใจเช่นเดียวกัน บุญญกิริยาที่เป็นอปจายนะ คือการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมนั้น ก็เป็นเรื่องของจิตใจที่ดีงาม เป็นกุศล ด้วยเหตุนี้ ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต วันทนาสูตร จึงแสดงว่าการไหว้ หรือการนอบน้อมนั้นมี ๓ อย่าง คือการไหว้ทางกาย ๑ ไหว้ทางวาจา ๑ ไหว้ทางใจ ๑
คุณวันทนา สำหรับการไหว้ทางกาย ซึ่งเป็นการแสดงความนอบน้อมนั้น ก็ไม่เป็นที่น่าสงสัย แต่ส่วนการไหว้ทางวาจา แล้วก็ทางใจนี่สิ่ เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ การไหว้ทางวาจา ก็เป็นการแสดงความนอบน้อมด้วยวาจานั้นเอง อย่างเช่น ที่เรากล่าวคำนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นั่นก็เป็นการแสดงความนอบน้อมด้วยวาจา ซึ่งมีความหมายว่า ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายความนอบน้อม แด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คุณวันทนา แล้วการไหว้ทางวาจา หรือการแสดงความนอบน้อมทางวาจา ต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่พระรัตนตรัยจะมีได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ มีได้ เพราะว่ากิริยามารยาทที่อ่อนโยน สุภาพเรียบร้อย เป็นการแสดงความอ่อนน้อมทางกาย วาจาที่สุภาพเรียบร้อย มีน้ำใจไมตรี ก็เป็นการแสดงความอ่อนน้อมทางใจ
คุณวันทนา กาย แล้วก็วาจา ก็แสดงให้รู้ถึง สภาพลักษณะของจิตใจได้เหมือนกัน ว่าจิตใจในขณะนั้นๆ เป็นอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ถ้าคนช่างสังเกต เพียงแต่แววตา หรือว่าสีหน้า ถึงแม้ว่าในยามปกติ หรือเพียงน้ำเสียง หรือหางเสียงนิดเดียว ก็รู้ได้ว่าจิตใจในขณะนั้น เป็นอย่างไร
คุณวันทนา สำหรับคนที่ไม่รู้ขนบธรรมเนียม ในเรื่องกิริยามารยาท ที่แสดงออกถึงความนอบน้อม ในท้องถิ่นที่ต่างกัน แล้วก็ชาติ ที่มีขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมอันแตกต่างกัน อย่างเช่น การแสดงความเคารพของคนในชาติหนึ่ง กับอีกชาติหนึ่ง อาจจะไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งอาจจะถือว่า ทำอย่างนั้นสุภาพแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะคิดว่าทำอย่างนั้นไม่เหมาะ อย่างนี้แล้ว จะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ เรื่องการถือว่า มารยาทอย่างไรสุภาพ และมารยาทอย่างไรไม่สุภาพ ที่ต่างกันไปของแต่ละชาติ แต่ละวัฒนธรรมนั้น ก็เป็นเรื่องของความคิดนึกที่ต่างกัน แล้วก็ได้รับการฝึกฝน อบรมมาในทางที่ต่างกัน แต่ว่าสำหรับเรื่องของความอ่อนน้อมนั้น ก็เป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าจิตใจอ่อนน้อมเป็นกุศลแล้ว ไม่ว่าจะแสดงมารยาทตามขนบธรรมเนียม หรือประเพณีของชาติไหน ภาษาไหน ก็ยังคงจะเห็นลักษณะที่แสดงความอ่อนน้อม ในกิริยาอาการนั้นได้
สำหรับผู้ที่เห็นโทษของกิเลส แล้วก็ไม่ละเว้นโอกาสที่จะขัดเกลากิเลส ขณะใดที่รู้ว่าจิตใจที่หยาบกระด้าง ถือตัว เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ขาดเมตตาในผู้อื่น ผู้นั้นก็ย่อมจะฝึกหัดตนเอง ให้มีจิตใจที่อ่อนน้อมเป็นนิสัย แล้วก็ย่อมจะแสดงความอ่อนน้อมทางกาย ทางวาจา ต่อบุคคล และสถานที่ตามความเหมาะสม
คุณวันทนา อย่างเวลาที่มีคนแน่นมากๆ ไม่สะดวกที่จะกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เราก็อาจเพียงแต่จะยกมือไหว้ หรือเพียงแต่จะน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย อย่างนี้ก็คงไม่เป็นไร
ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืมว่ากุศล และอกุศลนั้น อยู่ที่จิตใจ ถ้าจิตใจเป็นกุศล มีความนอบน้อมต่อบุคคล และสถานที่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงความอ่อนน้อมต่อบุคคล และสถานที่นั้น ด้วยกาย ด้วยวาจา เพราะว่าบุคคลที่ควรจะได้รับการแสดงความนอบน้อมนั้น อยู่ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าไปหา แล้วก็แสดงความนอบน้อมได้ หรืออย่างในวัดที่มีคนแน่นมากๆ ไม่สามารถจะแสดงความนอบน้อม ด้วยการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ แต่ในขณะนั้นจิตใจก็ย่อมจะนอบน้อมต่อบุคคล และสถานที่ ที่ควรนอบน้อมสักการะนั้นได้ ด้วยการไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้าย ด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ
แต่ถ้าใครเพียงแต่แสดงความนอบน้อม ด้วยกาย ด้วยวาจา เป็นครั้งคราว หรือว่าเป็นมารยาท ตามขนบธรรมเนียม แต่ว่าเบียดเบียน ประทุษร้ายบุคคล และสถานที่ที่ควรสักการะ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง หรือว่าด้วยใจบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่การนอบน้อมอย่างแท้จริง ขณะที่จิตใจหยาบกระด้างนั้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้กระทำให้ การกระทำทางกาย ทางวาจาเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ คนที่ได้พบเห็น หรือว่าคนที่อยู่ใกล้เคียงมีความสุขได้เลย และนอกจากคนที่จิตใจหยาบกระด้างนั้น จะไม่สบายใจเองแล้ว คนอื่นก็ยังพลอยไม่ได้รับความสุขไปด้วย
เพียงแค่นี้ก็คงจะเห็นได้ว่า คนที่มีจิตใจหยาบกระด้างนั้น ขาดเมตตาต่อคนอื่น เพราะว่าในขณะที่จิตใจหยาบกระด้างนั้น จะคิดให้คนอื่นเป็นสุข หรือว่าจะคิดช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น ให้พ้นทุกข์ ให้มีความสุขนั้น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าจิตใจนั้นหยาบกระด้างมาก ก็ย่อมจะมีกิริยา วาจาที่ไม่สุภาพ ไม่อ่อนโยน ไม่มีน้ำใจไมตรี ทำให้คนที่ได้รับกระทบกับกาย วาจาที่ไม่อ่อนโยนนั้น เดือดร้อน เป็นทุกข์ และก็เศร้าหมองได้ สำหรับการทำทุจริตกรรมต่างๆ อย่างเช่น การประทุษร้ายชีวิต และร่างกายของคนอื่น การแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่น การประพฤติผิดในบุตร ภรรยาของคนอื่น แล้วก็การกระทำอื่นๆ ซึ่งเป็นทุจริตกรรม ก็คงจะเห็นชัดว่า เป็นการเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน
แต่ว่าการกระทำ และคำพูดที่เกิดจากจิตใจที่หยาบกระด้างนั้น ก็สามารถที่จะตัดรอนความสุขของคนอื่นได้ เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นคนที่มีเมตตาต่อคนอื่น และก็ฝึกหัดตัวเองให้เป็นคนที่มีความอ่อนน้อม ก็เป็นการขัดเกลาโทสะกิเลส ซึ่งเป็นธรรมชาติที่หยาบกระด้างด้วย และการเป็นคนมีจิตใจอ่อนน้อมนั้น ก็จะทำให้ละเว้นการตัดรอน การเบียดเบียนความสุขของคนอื่น ที่เกิดจากการจะต้องรับกระทบกับกาย วาจา ที่หยาบกระด้างได้ด้วย
เพราะฉะนั้นความอ่อนน้อมก็เป็นกุศล ที่รวมอยู่ในหมวดของศีล เพราะว่าการเจริญกุศลที่เป็นศีลนั้น เป็นการระงับ และขัดเกลากิเลส ที่ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีงาม ทางกาย ทางวาจา ความอ่อนน้อม นอกจากว่าจะขัดเกลาโทสะ ความหยาบกระด้างของจิตใจแล้ว ก็ยังขัดเกลามานะ การถือตัวด้วย ในขุททกนิกาย เชนตปุโรหิตปุตตะเถรคาถา ก็เป็นเรื่องของท่านผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ทะนงตัว เพราะชาติ สกุล โภคสมบัติ อิสริยยศ ทรวดทรง ผิวพรรณ แล้วก็รูปร่างด้วย ท่านผู้นี้ไม่เห็นว่า จะมีใครเสมอกับท่าน หรือยิ่งกว่าท่านเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่มีจิตใจหยาบกระด้าง ถือตัว และก็ไม่เอื้อเผื่อแผ่ใครเลยทั้งสิ้น ไม่กราบไหว้ใคร แม้แต่มารดา บิดา พี่ชาย หรือพี่สาว หรือแม้แต่สมณพราหมณ์ ที่โลกสมมติกันว่า เป็นครูบาอาจารย์ แต่ก็เป็นบุญของท่าน ที่ในอดีตที่ได้สะสมมานั้น ทำให้ท่านได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุด ท่านจึงได้ละทิ้งมานะ และความมัวเมา แล้วก็เกิดจิตใจผ่องใส ถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็ปฏิบัติธรรม จนกระทั่งดับกิเลส มานะ ได้หมดสิ้นเลย
คุณวันทนา ในสมัยนี้ จะมีผู้ที่มีมานะจัด เหมือนอย่างท่านผู้นั้นบ้างหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ยังคงต้องมีมานะอยู่ด้วย เพราะว่ามานะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง บางคนก็มีกิเลสประเภทหนึ่งมาก และก็ประเภทอื่นน้อย และกิเลสนั้น ก็มีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง แล้วก็อย่างละเอียด ถ้าไม่ศึกษา และไม่พิจารณาจิตใจให้ละเอียดแล้ว อาจจะไม่รู้สภาพของกิเลส แต่ละชนิดที่มีอยู่ในใจได้เลย
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่พระองค์ก็ได้ประทานพระธรรมคำสั่งสอนไว้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ที่ถวายความนอบน้อมต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์สาวก ด้วยการศึกษา และก็ปฏิบัติธรรมด้วยความนอบน้อม ผู้นั้นก็ย่อมจะขัดเกลา แล้วก็ดับกิเลสให้หมดสิ้นได้เป็นลำดับ