บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 1 ตอนที่ 5


    คุณวันทนา เราได้พูดกันไว้ ถึงเรื่องบุญญกิริยาวัตถุประการหนึ่ง ที่สงเคราะห์เข้าในหมวดของศีล อันมีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่า อปจายนะ มีความหมายในภาษาไทยว่า ความอ่อนน้อม ในการเจริญบุญญกิริยาวัตถุ ในหมวดที่สงเคราะห์เป็นศีลนั้น ท่านจำแนกไว้ ๓ ประการ เราได้กล่าวไปแล้ว ๒ ประการแรก คือศีล และอปจายนะ การสนทนาของเราที่จะดำเนินต่อไปในวันนี้ เราก็คงจะได้พูดกันถึงบุญญกิริยาวัตถุอีกข้อหนึ่ง ซึ่งได้แก่ ไวยาวัจจะ ไวยาวัจจะนั้น คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ไวยาวัจจะ คือการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น หรือว่าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น

    คุณวันทนา ถ้าอย่างเป็นการช่วยเหลือคนอื่น เพียงนิดๆ หน่อยๆ จะจัดเป็นกุศลด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ เป็น เพราะว่าการช่วยเหลือคนอื่นให้พ้นจากความลำบาก หรือว่าช่วยคนอื่นให้ได้รับความสะดวกสบาย ช่วยทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นนั้น ก็เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตใจที่ดีงาม เป็นกุศล เพราะว่าในขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ

    คุณวันทนา อาจารย์จะช่วยกรุณาอธิบาย ออกไปอีกหน่อยได้ไหมว่า ทำไมถึงได้ชื่อว่า ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ในขณะที่เราตั้งใจจะช่วยเหลือคนอื่น อย่างเช่น เวลาจูงเด็กข้ามถนน

    ท่านอาจารย์ ถ้าในขณะนั้นคุณวันทนาคิดถึงแต่ตัวเอง คิดถึงแต่ความพอใจ หรือความปรารถนาของตัวเองเท่านั้น คุณวันทนาก็อยากจะทำ เฉพาะสิ่งที่คุณวันทนากำลังต้องการจะทำเท่านั้น ใช่ไหม คงจะไม่ช่วยจูงเด็กข้ามถนนเป็นแน่เลย เพราะว่าในขณะที่กำลังช่วยนั้น ก็จะต้องมีจิตใจที่เมตตา หรือกรุณา ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าในขณะนั้น จะปรารถนาให้คนที่ได้รับการช่วยเหลือนั้น มีความสุขหรือว่าปรารถนาจะให้คนนั้น พ้นจากความทุกข์ และในขณะที่กำลังช่วยเหลือนั้น ก็จะต้องไม่มีโทสะด้วย ต้องไม่มีความขัดเคือง หรือว่าไม่มีความไม่พอใจด้วย มิฉะนั้นก็คงจะเลิกช่วย และการช่วยนั้นก็ไม่สำเร็จ

    คุณวันทนา ในขณะที่ช่วยเหลือคนอื่นนั้น จิตใจเป็นกุศลก็พอจะเห็นได้ เพราะว่าในขณะนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ แต่ในขณะนั้นแม้แต่โมหะก็ไม่มีหรือ

    ท่านอาจารย์ โมหะ เป็นอกุศลธรรมที่มีลักษณะไม่รู้อะไร ถ้าไม่รู้ว่าอะไรควรจะทำ อะไรไม่ควรทำ หรือไม่รู้ว่าทำอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ สงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นได้ กุศลจิตที่จะช่วยสงเคราะห์ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตใจเป็นกุศลนั้น โมหะจึงเกิดร่วมด้วยไม่ได้ จิตใจที่เป็นอกุศลนั้น เป็นจิตใจที่ไม่ดีงาม เป็นจิตใจที่เดือดร้อน ดิ้นรน ไม่สงบ แล้วก็ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่น่ารังเกียจ ซึ่งให้ผลเป็นทุกข์ ทั้งกับตัวเอง แล้วก็คนอื่นด้วย แล้วก็สำหรับการขัดเกลากิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ เป็นอกุศลนั้น ก็มีเป็นขั้นๆ คือมีตั้งแต่ขั้นทาน ซึ่งเป็นการสละวัตถุสิ่งของภายนอก ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น แล้วก็ขั้นศีล ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสหยาบ ที่เนื่องกับกาย วาจา และก็มีขั้นภาวนาด้วย ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสให้เบาบาง จนกระทั่งดับหมดสิ้น ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

    คุณวันทนา ถ้าไม่ขัดเกลาแล้ว กิเลสนี่เห็นจะหนาขึ้นทุกวันๆ เชียว

    ท่านอาจารย์ ถ้ากิเลสเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรมแล้วก็ คงจะไม่มีที่พอสำหรับเก็บกิเลสเลย เพราะไม่ว่าอะไรๆ ก็เป็นอารมณ์ของกิเลส หรือว่าทำให้เกิดกิเลสได้ทั้งนั้นเลย ข้อสำคัญก็คือว่า ถ้าไม่ขัดเกลากิเลส ด้วยการเจริญกุศลอยู่เรื่อยๆ ไม่มีทางที่กิเลสจะเบาบางได้เลย

    คุณวันทนา ในเรื่องการเจริญกุศล ในเรื่องความนอบน้อมนั้น ตามปกติชีวิตของเรา เราก็ย่อมจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งมีวัยเหนือกว่าเรา มีพ่อแม่ พี่ป้า น้า อา ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคล การที่เราได้มีโอกาสแสดงความเคารพนอบน้อม ก็ได้ชื่อว่า ได้เจริญกุศลในเรื่องของอปจายนะอีกประการหนึ่ง นอกไปจากนี้แล้ว ภายในบ้านของเรา ก็อาจจะมีคนอยู่ร่วมด้วยกันหลายคน ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีงานที่จะต้องทำ ถ้าหากเราได้มีโอกาสแบ่งเบาภาระการงานของ ผู้ที่อยู่ร่วมกับเราบ้าง ให้น้อยลง ถ้าเรากระทำได้ กุศลจิตในด้านของไวยาวัจจะ คือการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะเกิดแก่เราอีกประการหนึ่ง

    การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นก็ดี หรือว่าการให้วัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นก็ดี การกระทำเหล่านี้ จะเป็นการขัดกับความเป็นอยู่ของโลกเราทุกวันนี้ไหม เพราะว่าถ้าเรามัวแต่ช่วยคนอื่น ก็จะทำให้เราต้องเสียเวลาในการแสวงหาทรัพย์ เพื่อประโยชน์ของตัวเองไป ไม่ใช่น้อยทีเดียว

    ท่านอาจารย์ การเจริญกุศลไม่ขัดกับการดำเนินชีวิตในโลกนี้เลย ตรงกันข้ามกลับช่วยโลกทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และก็ในอนาคต ให้พ้นจากความเดือดร้อนต่างๆ ด้วย อย่างเช่น ในเรื่องของทาน การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นนั้น คุณวันทนาลองคิดดูว่า มนุษย์ที่เกิดมาแล้ว ที่จะพ้นจากโลกธรรม คือการได้ลาภ ๑ เสื่อมลาภ๑ ได้ยศ ๑ เสื่อมยศ ๑ มีสุข ๑ มีทุกข์ ๑ ได้รับการสรรเสริญ ๑ แล้วก็ถูกนินทา ๑ นั้น ย่อมไม่มีเลยใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่อกุศลกรรมให้ผล ทำให้ต้องเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ไร้ทรัพย์สินเงินทอง เพราะเหตุว่าไฟไหม้บ้าง หรือว่าน้ำท่วมบ้าง นั้นเป็นต้น ถ้าไม่มีใครเจริญทานกุศล ไม่มีใครสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน และกันแล้วก็ โลกนี้ก็ย่อมจะเดือดร้อน และก็มีความทุกข์ยิ่งกว่านี้มาก

    คุณวันทนา เรื่องของศีลก็คงเหมือนกัน ถ้าไม่มีใครขัดเกลากิเลส ด้วยการรักษาศีลเลย โลกนี้ก็คงจะแย่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการขัดเกลากิเลส ยิ่งมีการขัดเกลากิเลสมากเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้สัตว์โลก พ้นจากความทุกข์เดือดร้อนมากเท่านั้น อย่างเช่น ในเรื่องของบุญญกิริยาวัตถุ ที่เป็นหมวดของศีลนั้น ก็มีทั้งอปจายนะ และไวยาวัจจะรวมอยู่ด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงศีล การละเว้นจากการทุจริตเท่านั้น แต่ว่ายังต้องเจริญกุศลที่ขัดเกลากิเลสด้วย จะต้องฝึกอบรมตน ให้อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม และก็สงเคราะห์ช่วยเหลือ ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย

    คุณวันทนา จริงค่ะอาจารย์ อย่างเช่น ผู้ที่มีพระคุณที่สุดในชีวิตของเรา ซึ่งได้แก่คุณพ่อ คุณแม่ ถ้าเพียงแต่ว่าเราจะตอบแทนพระคุณของท่าน ด้วยการทำตนเป็นคนดี ละเว้นทุจริตกรรมทั้งหลาย แต่แล้วในขณะเดียวกัน เราประพฤติไม่อ่อนน้อม ไม่รับใช้ทำกิจธุระของท่าน เมื่อถึงคราวที่ควรจะช่วยเหลือท่าน แค่นี้ก็นับว่าไม่พอ เพราะพระคุณของท่านนั้น มีมากมายเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สพรหมสูตร ก็ได้กล่าวถึงคุณธรรมของมารดาบิดาที่มีต่อบุตร และคุณธรรมที่บุตรพึงมีต่อมารดาบิดาไว้ว่า ตระกูลใดที่มารดาบิดาได้รับการบูชาจากบุตร ตระกูลนั้นชื่อว่ามีพรหม ชื่อว่ามีบูรพาจารย์ ชื่อว่ามีบูรพเทพ ชื่อว่ามีอาหุไนยบุคคล เพราะมารดาบิดานั้น มีอุปการะคุณ และอนุเคราะห์บุตร เป็นอย่างมาก มารดาบิดาจึงได้ชื่อว่าพรหม บูรพาจารย์ และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นบุตรที่เป็นบัณฑิต จึงพึงนอบน้อมสักการะ มารดาบิดาด้วยข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง และบำรุงมารดาบิดาทุกทาง บุตรที่ดีนั้นไม่ใช่เพียงแต่รู้คุณของมารดาบิดาเท่านั้น แต่ว่าจะต้องอ่อนน้อมรับใช้ และบำรุงท่าน ทุกๆ ทางด้วย และการอ่อนน้อมต่อมารดาบิดา รับใช้ และบำรุงท่านนั้น ก็ไม่ใช่เป็นแต่เพียงหน้าที่ของบุตรที่ดีเท่านั้น ยังเป็นการขัดเกลากิเลสของตัวเอง ด้วยการเจริญกุศลที่เป็นอปจายนะ และไวยาวัจจะด้วย

    คุณวันทนา การทดแทนพระคุณของพ่อแม่ ประการอื่นยิ่งไปกว่าการอ่อนน้อม แล้วก็การปรนนิบัติรับใช้ จะมีอย่างอื่นอีกไหม

    ท่านอาจารย์ มี ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุว่า การตอบแทนพระคุณของมารดาบิดา ที่ทำไม่ได้ง่ายนั้น ก็มี เพราะว่าเพียงการปรนนิบัติ รับใช้มารดาบิดาด้วยประการใดๆ นั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าได้ตอบแทนพระคุณของมารดาบิดา แต่การที่ทำให้มารดาบิดาที่ไม่มีศรัทธา มั่นในศรัทธา ทำให้มารดาบิดาที่ไม่มีศีล มั่นอยู่ในศีล ทำให้มารดาบิดาที่ตระหนี่ มั่นในการบริจาค ทำให้มารดาบิดาที่ไม่เจริญปัญญา มั่นอยู่ในปัญญา การกระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่าได้ตอบแทนคุณของมารดาบิดาแล้ว

    คุณวันทนา ก็แสดงว่าอะไรๆ ก็ไม่มีค่าเสมอกับการตั้งมั่นอยู่ในกุศลเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าทุกสิ่งนั้นก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลง และก็หมุนเวียนไปตามเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย ในขุททกนิกาย สิริชาดก ก็ได้พูดถึงเรื่องบุญกุศลไว้ว่า คนที่ไม่มีบุญกุศลนั้น ถึงแม้ว่าจะมีศิลปะวิชาความรู้หรือไม่ก็ตาม เขาก็ย่อมจะขวนขวาย รวบรวมเงินทองไว้เป็นอันมาก แต่ว่าคนมีบุญ ย่อมได้ใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น

    คุณวันทนา สำหรับเรื่องของอปจายนะ และไวยาวัจจะ ที่พุทธบริษัทจะพึงมีต่อพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุด เราควรจะทำอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ สำหรับอปจายนะ และไวยาวัจจะ ที่พุทธบริษัทพึงมีต่อพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุด ก็ด้วยการศึกษา และปฏิบัติธรรม ด้วยความนอบน้อมเคารพอย่างยิ่ง ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแก่ท่านสามเณรจุนทะ และท่านพระอานนท์ ในฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาสาทิกสูตรว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นใด ที่พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ ในธรรมเหล่านั้น โดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้ จะพึงเป็นไป ตลอดกาลยืดยาว ตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย นี่ก็เป็นการศึกษา และปฏิบัติธรรม ที่เป็นการถวายความนอบน้อม ต่อพระรัตนตรัยอย่างสูงที่สุด



    หมายเลข 159
    27 ก.ย. 2567