ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
ตอนที่ ๑๒๑
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๕
ท่านอาจารย์ ลองถามนักศึกษาอายุ ๒๐ ถึง ๓๐ ปี ว่าคุณปฏิบัติธรรมหรือเปล่า เขาคงจะมองหน้า ใช่ไหม เพราะว่าไม่รู้จักธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่อยู่ในความคิดของเขาเลยว่าเขาปฏิบัติธรรมหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่เขาจะสงสัยแล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเลย คนที่จะใช้คำว่าปฏิบัติธรรม ต้องเป็นคนที่เข้าใจธรรม ถ้าไม่เข้าใจธรรมแล้วจะบอกว่าปฏิบัติธรรม ไม่ได้แน่
ผู้ฟัง แน่นอน คุณนิภัทรถามว่า เข้าใจคืออะไร
ท่านอาจารย์ เริ่มจากธรรมคืออะไรก่อน ใช่ไหม อันนี้เป็นปัญหาซึ่งแม้ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคก็ทรงเตือนพุทธบริษัททุกครั้งที่ไปเฝ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะเป็นในพระสูตรหรือว่าในพระอภิธรรม เพราะอะไร เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกวัน แต่ว่าบางคนจะไม่ทราบว่า นี่คือธรรม กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก ทุกขณะในชีวิตประจำวันเป็นธรรม
ถ้ายังไม่เข้าใจธรรม แล้วจะใช้คำว่าปฏิบัติธรรมไม่ได้เลย ต้องเข้าใจก่อนว่าธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน
ผู้ฟัง เมื่อเห็นแล้ว เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างไร เห็นแล้ว แล้วต้องทำอย่างไรต่อไป ถึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ เพราะว่าชาวพุทธมีหลายระดับ ไม่ใช่ชาวพุทธที่เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ได้ศึกษามามากแล้วในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม ชาวพุทธเล็กๆ ชาวพุทธที่เริ่มต้น ชาวพุทธที่กำลังสนใจธรรม จะเติบโตเจริญขึ้นในด้านสติปัญญาหรือว่าในการประพฤติปฏิบัติตามแนวของพุทธศาสนาอย่างไร ก็คงจะไม่พ้นจากมงคล คือ สิ่งที่นำความสุขความเจริญ ความไม่มีภัยมาให้ แม้แต่เพียงการที่จะมีศรัทธาที่จะอ่านบ้าง ฟังบ้าง สนทนาบ้าง พิจารณาบ้าง ตำรับตำราพุทธศาสนามีมาก นอกจากพระไตรปิฎกซึ่งอ่านยาก สำหรับคนซึ่งยังไม่ได้มีพื้นฐานจะอ่านพระไตรปิฎกทันทียังไม่ได้ ต้องมีการศึกษาตามลำดับ คือการศึกษาพระอภิธรรม ยุคนี้สมัยนี้ก็เป็นสมัยที่ไม่ใช่เป็นกาลสมบัติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติปัญญามากที่จะไปอ่านพระอภิธรรมโดยตรง เป็นสิ่งซึ่งจะเข้าใจไม่ได้ทันที ต้องศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูปเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกว่ายาก เพราะเหตุว่าไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า สภาพธรรมแท้ๆ ไม่เป็นตัวตน ไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล เป็นแต่เพียงจิตบ้าง เจตสิกบ้าง รูปบ้างแล้วก็แตกจำนวนไปมากมาย บางท่านก็บอกว่าท่านขอไม่ศึกษา ท่านทำสัญญากันก่อนมาฟัง ก่อนมาฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ท่านบอกว่าสัญญากันก่อนว่าจะไม่เรียน ๒ คน พอฟังไป ฟังไป ท่านก็มีความเข้าใจขึ้นตามลำดับในเรื่องของจิต ในเรื่องของเจตสิก ในเรื่องของรูปแล้วท่านสามารถที่จะจำ จำนวนจิต จำนวนเจตสิกได้ ดิฉันก็ได้เรียนถามท่านว่า ก็บอกว่าจะไม่เรียน แล้วทำไมเข้าใจ ท่านก็บอกว่า ท่านก็ไม่ทราบว่าการเรียนนั้น คือการฟัง
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ต้องไปเข้าชั้นที่จะต้องสอบหรือว่าพยายามที่จะดูหนังสือตำรับตำรา ไม่ให้ตกหล่นเลย แต่ว่าการศึกษาเพื่อเข้าใจ อันนี้สำคัญที่สุด แล้วขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นจะสบาย เบาผ่องใส ไม่ใช่เป็นความกังวลที่อยากจะรู้ หรือจำเป็นจะต้องท่องจนจะต้องสอบหรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าสภาพธรรมมี แล้วก็ควรที่จะได้เริ่มฟัง ค่อยๆ ฟังไปให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นรวมทั้งการปฏิบัติธรรม ขั้นทาน ขั้นศีลแล้วก็ขั้นอื่นๆ ซึ่งเป็นมงคล เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดที่จะทำให้ชีวิตมีความเจริญในด้านจิตใจ เพราะเหตุว่าความเจริญจริงๆ นั้นไม่ใช่ความเจริญทางด้านวัตถุ ถ้าคนที่มีความเจริญทางด้านวัตถุมาก แต่มีกิเลสมาก จะไม่ใช้คำว่าอารยะ หรือ อริยะซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ
ผู้ประเสริฐจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละคลายอกุศล มีความเจริญทางด้านจิตใจ จนถึงระดับที่เป็นพระอริยบุคคล คือผู้เจริญในธรรมจริงๆ กว่าจะถึงขั้นนั้น พุทธบริษัทก็จะต้องเริ่มจากสิ่งที่เป็นมงคลทั้งหลาย และไม่เว้นเลย ไม่ว่าในขั้นทาน แต่ว่าแม้ในเรื่องของทาน ความเข้าใจของชาวพุทธก็ต่างกับความเข้าใจของศาสนาอื่น
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในเรื่องของทาน ชาวพุทธก็จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ให้เพื่อหวังผล หรือว่าเพียงแต่ให้ แต่จะต้องศึกษาให้เข้าใจสภาพของจิตในขณะที่ให้ด้วยว่า เป็นผู้ที่ผูกพันในการให้หรือเปล่า ให้ด้วยการตั้งตนไว้สูงว่าเป็นผู้ให้ คนอื่นเป็นผู้รับหรือเปล่า เป็นเรื่องละเอียดมาก เป็นเรื่องที่เมื่อได้ฟังพระธรรม ยิ่งขัดเกลาตนเองยิ่งขึ้น แล้วก็เป็นผู้ที่เข้าใจในเหตุในผล ไม่ใช่ว่าถามกันว่าได้บุญไหม ทำอย่างนี้อย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วได้บุญไหม คือเป็นเรื่องซึ่งโลภะเต็มตัวคือต้องการบุญ ไม่ใช่รู้ว่าบุญคือสภาพของจิตที่เป็นกุศล เป็นสภาพจิตที่ดีงาม ขณะนั้นไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ มีความหวังประโยชน์แก่บุคคลผู้รับเท่านั้น เมื่อสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับก็ให้ แต่ว่าเรื่องของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง สภาพของทานลักษณะต่างๆ ว่าการให้ในลักษณะนี้ผลจะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของจิตใจ เช่นมีการที่จะคิดถึงบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ เป็นบุพพเจตนา มีความตั้งใจที่จะช่วย แล้วแม้แต่ขณะที่สละวัตถุให้ก็ด้วยความผ่องใส ไม่ได้ต้องการสวรรค์สมบัติ หรือว่าลาภยศ สรรเสริญใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเมื่อให้แล้วก็ไมใช่เป็นผู้ที่ดีใจว่าเราจะได้ผลของทานหรืออะไรอย่างนั้น ในขณะนั้นก็เต็มไปด้วยโลภะอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความละเอียดของกุศลจิต และอกุศลจิตว่า กุศลจิตจริงๆ ไม่ใช่อกุศล จะต้องไม่ใช่ในขณะที่มีมานะ มีความสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ให้ หรือว่าเราให้วัตถุที่ประณีต วัตถุที่คนอื่นไม่สามารถจะให้ได้
เรื่องของอกุศลมีมาก แต่ว่าพระพุทธศาสนาทั้งหมดเป็นไปเพื่อความขัดเกลา แม้แต่ในเรื่องของทาน เพราะฉะนั้น ชาวพุทธที่จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นศึกษาไปด้วย และปฏิบัติธรรมด้านอื่นๆ ทั้งบารมี ๑๐ และเรื่องของมงคลทั้งหมดที่จะเป็นไปได้ แล้วก็ในเรื่องของศีล ในเรื่องของความสงบของจิตใจ ที่จะไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่พยาบาท ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา คือเป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการยิ่งๆ ขึ้น แต่จะมีคำหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งใช้คำว่า “เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ไม่ใช่ใช้คำว่า “เป็นผู้ปฏิบัติธรรม” เท่านั้น แต่ใช้คำว่า “ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”ความหมายของคำนี้ คือ ธรรมเป็นสภาพที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นขั้นที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วก็คือขั้นที่ปฏิบัติธรรมเพื่อรู้ความจริงของธรรม คือ สมควรแก่ลักษณะของธรรมที่เป็นจริง มีความเห็นชอบในลักษณะของธรรม กว่าจะถึงขั้นนี้ ต้องอาศัยการฟัง แล้วไม่ใช่ขั้นที่ชวนกันมาปฏิบัติธรรม โดยที่ไม่มีความรู้ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย หรือว่ามีความเป็นตัวตนว่าปฏิบัติธรรมกัน มากๆ ก็ดี โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย และชื่นชมว่าชาวพุทธปฏิบัติธรรมกันมาก แต่ว่าปฏิบัติถูกหรือผิด ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมหรือไม่
นี่เป็นสิ่งที่ละเอียดมากที่จะต้องพิจารณาว่า ในบางกาลชาวพุทธก็ปฏิบัติธรรมขั้นทาน ในลักษณะความเข้าใจในเรื่องทานของชาวพุทธอย่างถูกต้อง ปฏิบัติธรรมในขั้นของศีลด้วยความเข้าใจในเรื่องของศีล ในลักษณะการเป็นชาวพุทธอย่างถูกต้อง เพราะเหตุว่าบางคนรักษาศีล หลายท่านที่เคยรักษาอุโบสถ ท่านก็มาบอกว่า เพราะท่านอยากจะสวยชาติหน้า ก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่การรักษาอุโบสถศีลอย่างถูกต้องในลักษณะตามแบบของชาวพุทธจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นชาวพุทธจริงๆ แล้ว ต้องเป็นไปเพื่อการขัดเกลาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในด้านของทาน ในด้านของศีล ในด้านความสงบของจิต ก็ไม่ใช่เพื่อหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงจะเป็นการขัดเกลา แล้วก็เป็นการปฏิบัติของชาวพุทธจริงๆ จนถึงขั้นสูงสุดคือปฏิบัติธรรมตามควรแก่ธรรม
ผู้ฟัง การที่จะเจริญกุศลทุกประการนั้น นอกจากทานศีลแล้ว การฟังธรรม อย่างเช่นที่เรามาฟังธรรมวันนี้ เป็นกุศลขั้นหนึ่งใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ถ้าท่านผู้ฟังไม่รีบร้อนรู้ว่ากิเลสมีมากมาย จะต้องอาศัยศรัทธา การที่จะต้องฟังธรรมต่อไป และเป็นผู้ที่จะขัดเกลา คือ เริ่มมีความเห็นถูก และตั้งตนไว้ถูก ในจุดประสงค์ของการฟังว่าเพื่อขัดเกลากิเลส ก็จะมีความใกล้ชิดต่อพระศาสนา เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่แท้จริง
สิ่งซึ่งเราก็น่าจะพิจารณาเป็นขั้นๆ ได้ เพราะว่าฟังดูเหมือนง่าย แต่ความจริงทุกอย่าง ถ้าเริ่มต้นถูก ทุกอย่างจะเร็วขึ้น แล้วก็จะตรงขึ้น
ถ้ากล่าวว่าชาวพุทธควรจะศึกษาธรรมเพียงใด คำตอบคือว่าเพื่อให้เห็นพระคุณของพระธรรม เพราะเหตุว่าไมใช่ชาวพุทธที่ชื่อว่าชาวพุทธแล้ว จะเห็นพระคุณของพระธรรม แต่ว่าผู้ที่จะเห็นพระคุณของพระธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่เริ่มศึกษาพระธรรม
ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่เป็นชาวพุทธแล้วก็คิดว่า ไม่จำเป็นต้องศึกษาพระพุทธศาสนาเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือว่าผู้นั้นไม่มีคำตอบข้อนี้ ที่ว่าชาวพุทธควรจะศึกษาพระธรรมเพียงใด แต่ถ้ากล่าวว่าชาวพุทธควรจะศึกษาพระธรรมเพียงใดหมายความว่า ชาวพุทธผู้นั้นเห็นความสำคัญ เห็นคุณของพระธรรมเพียงใด แล้วก็ไม่ใช่ว่าทุกคนเห็นก่อน แต่การที่จะเห็นพระคุณต้องเริ่มจากการศึกษาพระธรรม เมื่อศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะเริ่มเห็นพระคุณของพระธรรม แล้วถ้าจะกล่าวว่า จะศึกษาพระธรรมเพียงใดก็คือว่าเพื่อให้เห็นพระคุณจนถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าถ้าเราได้ยินข้อความธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คงจะไม่มีใครที่ไม่ได้ยินคำนี้เลย ถ้าเป็นชาวพุทธ เพราะว่าพออะไรไม่เที่ยงก็บอกว่าอนิจจัง พอทุกข์เกิดขึ้นป่วยไข้ได้เจ็บ สูญสิ้นทรัพย์สมบัติ มีความขุ่นข้องหมองใจ มีโรคภัย ก็บอกว่า ทุกข์ ชีวิตนี้เป็นทุกข์ วันนี้สบายดี แต่ชั่วขณะต่อไปก็อาจจะเป็นทุกข์ หรือว่าแม้แต่วันพรุ่งนี้ก็ไม่มี ใครรู้ว่า ใครจะเป็นทุกข์ เพียงใด มากน้อยแค่ไหน พอมีทุกข์ก็บอกว่าทุกขัง หรือว่าเป็นทุกข์ พอทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิดหวัง ก็บอกว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แต่นี้เป็นการประมาท พระคุณของพระธรรม และยังไม่เห็นคุณของพระธรรมจริงๆ เพราะเหตุว่าคำพูดเหล่านี้ไม่ยาก ชาวพุทธที่ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กก็สามารถที่จะกล่าวได้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ยังไม่เห็นคุณของพระธรรมที่ทรงแสดง จนกระทั่งชาวพุทธสามารถจะประพฤติปฏิบัติจนแทงตลอดลักษณะที่ไม่เที่ยง กำลังเกิดขึ้น และดับไป จึงเป็นทุกข์ในขณะนี้ และไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
การที่ว่าชาวพุทธควรจะศึกษาพระธรรมเพียงใด ทุกท่านมีคำตอบอยู่แล้ว ถ้าท่านเป็นผู้ที่ตรงต่อการที่ศึกษาพระธรรมก็คือเพื่อให้เห็นคุณของพระธรรม จนกระทั่งประจักษ์ชัดในพระธรรมเช่น อนัตตา สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพียงเท่านี้ อย่าเพียงพูดตาม เพราะเหตุว่าพูดตามนั้นไม่ยาก แต่การที่จะรู้จริงๆ ว่าเมื่อไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องพิจารณาแล้วว่าคนที่กล่าวคำนี้ เข้าใจในคำนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องศึกษา และเมื่อศึกษาแล้วเข้าใจแล้วก็เริ่มเห็นพระคุณในขั้นการศึกษา ที่ทำให้เข้าใจในสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และสิ่งนั้นก็สามารถที่จะพิสูจน์ได้
ธรรมบางคนก็คิดว่าหญ้าปากคอก บางทีเรื่องง่ายๆ ก็เอามาพูดอีก แต่ความจริงพูดเพื่อที่จะให้เห็นว่า ชีวิตจริงๆ คือธรรม แล้วก็ถ้าเราจะเรียนรู้ธรรมไป ๙ ปริเฉท หรือว่าสามารถที่จะอ่านพระไตรปิฎกได้ แต่ไม่สามารถที่จะประพฤติตามแม้ข้อเดียวในพระธรรมจะมีประโยชน์ไหม เช่น ความรู้ที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แค่นี้ก็ไม่สามารถที่จะเป็นอนัตตาจริงๆ ได้แต่เพียงพูดตาม
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าเราจะต้องศึกษาพระธรรมจนกว่าจะเห็นคุณของพระธรรม แล้วก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมได้เพิ่มขึ้นด้วย จึงสมควรที่จะศึกษาพระธรรมเพียงใด ถ้ายังประพฤติปฏิบัติตามไม่ได้ ก็ยังต้องศึกษาไปอีก ศึกษาไปอีกจนกระทั่งเห็นพระคุณ จนกระทั่งซาบซึ้งในพระคุณ จนกระทั่งมีเหตุปัจจัยที่ทำให้สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ ทุกสิ่งที่เป็นการเจริญขึ้นในทางธรรม จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์
ผู้ฟัง การศึกษาธรรมในเมืองไทย ศึกษาพระอภิธรรม ๙ ปริเฉท เรียนกันอยู่หลายแห่งทั่วไป เรียนนักธรรม เรียนบาลีกัน แต่เสร็จแล้วเวลาไปปฏิบัติกลับไปหาพระที่ท่านนั่งกรรมฐานอยู่ที่ไหนๆ ให้ท่านสอน และที่เรียนมาทั้งหมดใช้ไม่ได้ อย่างนี้ท่านอาจารย์ว่าจะเป็นการศึกษาธรรมหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ การศึกษาอย่างที่ว่าเป็นการศึกษาปริยัติ แต่ว่าต้องเข้าใจจุดประสงค์ว่า การที่เราศึกษาปริยัติธรรมไม่ว่าพระสูตร พระวินัย หรือว่าพระอภิธรรมนั้นเพื่ออะไร ที่สำคัญที่สุดอย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว เพื่อเข้าใจในคุณของพระธรรม เมื่อเข้าใจแล้วย่อมมีความเลื่อมใส ความซาบซึ้งเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม ข้อสำคัญที่สุด คือ ชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าชีวิตประจำวันของทุกคน ก็มีความเป็นอยู่ที่เป็นทั้งกุศลบ้าง และอกุศลบ้าง
แม้ในขั้นที่ยังไม่ถึงสติปัฏฐานก็ตาม เพียงแต่เห็นพระคุณของสุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ เราก็สามารถจะศึกษาชีวิตของเราเอง ซึ่งเป็นธรรมให้รู้ว่าเราได้เห็นพระคุณจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเห็นพระคุณจริงๆ ย่อมมีเหตุปัจจัย ที่จะทำให้เราประพฤติปฏิบัติตามในชีวิตประจำวันด้วย ประกอบกันไปทั้งการอบรมเจริญสติปัฏฐานตามขั้นของความเข้าใจธรรม ถ้ายังไม่มีความเข้าใจเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมเพียงพอก็ยังไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สติปัฏฐานระลึกได้ ก็จะต้องอาศัยการฟังเรื่องสภาพธรรม จนกว่าสติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมประกอบกับการดำเนินชีวิตปกติประจำวันด้วย
ผู้ฟัง ในขณะที่สติเกิดมีลักษณะอย่างไร ที่ว่าศึกษาลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ลักษณะของการศึกษาในขณะนั้นเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่จริงทุกท่านก็คงจะได้ฟังรายการวิทยุมามาก ส่วนใหญ่คงจะรู้เรื่องของนามธรรม และรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าฟังกันมาบางท่านก็ ๑๐ ปี บางท่าน ๒๐ ปี บางท่าน ๕ ปี ๖ ปี แล้วบางท่านก็อาจจะรู้สึกว่าท่านก็ยังประพฤติปฏิบัติได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับชีวิตประจำวันจริงๆ แสดงให้เห็นถึงความอดทนของท่านผู้ฟังในที่นี้ อดทนที่จะฟังรายการธรรม อย่างการสนทนาธรรม ซึ่งดิฉันเชื่อว่า เพียงเวลาชั่วโมงครึ่งก็จะได้ไม่มากนัก คือ สาระที่จะได้หรือว่าการที่จะเข้าใจอะไร ก็คงไม่ได้มากมายในแต่ละครั้ง แต่ทุกท่านก็ยังมีความอดทน
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าส่วนของการที่จะศึกษาธรรม ต้องอาศัยความอดทนด้วย เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะต้องการผลเร็ว เมื่อศึกษาแล้วก็คิดว่าจะได้ผลทันที หรือเมื่อมีความเข้าใจเรื่องจิต จำนวนเท่านั้น เจตสิกเท่านั้น รูปเท่านั้น เป็นผู้ที่มีความรู้มาก ก็คิดว่าเป็นการเพียงพอ แต่ความจริงแล้วทุกคนก็ทราบว่าธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ว่าทุกขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด
ที่ว่าการที่ชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งทุกคนได้ผลจากพระธรรมที่ได้ฟัง ไม่ใช่ว่าจะเป็นสติปัฏฐานโดยตลอด แต่ว่าสติปัฏฐาน ความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน และ การที่สติปัฏฐานเกิดบ้าง จะช่วยเกื้อกูลชีวิตประจำวันที่จะทำให้แม้ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติขั้นหนึ่งขั้นใดก็เกิดระลึกได้ เช่น ทางกาย ทางวาจา ซึ่งอาจจะเคยเป็นผู้ที่มีกาย-วาจาทุจริต ก็จะมีการระลึก แล้วก็สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นกายสุจริตบ้างทีละเล็กทีละน้อยเป็นการค่อยๆ ขัดเกลา ซึ่งทำให้ผู้นั้นได้เห็นประโยชน์ได้เห็นคุณของพระธรรมจริงๆ ว่าเพราะอาศัยการฟัง ชีวิตจึงมีการเปลี่ยน เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการฟังนั้น เพื่อจะเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และเมื่อทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์ของคนอื่นทั้งนั้น
เมื่อผู้ฟังศึกษาย่อมได้รับประโยชน์ตามควรแก่การเข้าใจพระธรรม และการพิจารณาพระธรรมด้วย เพราะเหตุว่าบางท่านเวลาที่ศึกษา เข้าใจพระธรรมที่กำลังได้รับฟัง แต่ไม่ได้พิจารณาพระธรรมจริงๆ เพียงการฟังเท่านั้นไม่พอ การจำจำนวนก็ไม่พอ แต่ว่าเมื่อใดที่มีการพิจารณาตน เมื่อนั้นคือสติที่เกิด แล้วก็จะมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม มีการวิรัตทุจริตแล้วมีการประพฤติสิ่งที่สมควรแล้ว เช่น ในเรื่องของทาน ในเรื่องของการช่วยเหลือบุคคลอื่น ในเรื่องของความนอบน้อม ในเรื่องของกุศลประการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น แต่ว่าจุดประสงค์ที่สุดก็คือการที่สติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ศึกษามาว่าเป็นเพียงจิต เจตสิก รูป เราจึงพยายามที่จะสนทนาธรรมในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะให้ทราบว่าตามความเป็นจริง ต้องมีความเข้าใจสัญญาที่มั่นคงว่า ขณะนี้ เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม ถ้ามีการไม่ลืม แล้วก็สามารถที่จะพิจารณา ที่จะรู้ว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งกระทบกับจักขุปสาทแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180