ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
ตอนที่ ๑๓๑
สนทนาธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องของทวิปัญจวิญญาณจิต ถ้าพูดโดยชื่อ จะเร็วมากทีเดียว คือ จักขุวิญญาณจิต จิตเห็น เป็นกุศลวิบาก ๑ เป็นอกุศลวิบาก ๑ เกิดมาจากกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จักขุวิญญาณที่เห็นก็เป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าพูดอย่างนี้จะจบเร็วโดยชื่อ แต่ว่าจะไม่รู้ว่าขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ มีประโยชน์หรือมีความสำคัญอย่างไร ที่จะได้ฟังเรื่องของจิต หรือแม้แต่เรื่องของวิถีจิต
ถ้าเราจะยังคงไม่ผ่านไป สำหรับดิฉันเองเป็นคนที่มักจะย้อนหลัง เพื่อที่จะให้เข้าใจสิ่งที่กำลังจะได้ยินได้ฟังต่อไป โดยที่ว่าได้เห็นประโยชน์ของการฟังด้วย อย่างเรื่องของทวารคือทาง อยากจะให้ทราบว่า แม้ว่ามีจิต แต่ถ้าไม่มีทางที่จิตจะเกิดขึ้นทำกิจการงาน ใครก็ไม่รู้ว่ามีจิต
นี่เป็นเหตุที่เราจะฟังเรื่องของจิตบ่อยๆ แล้วก็ให้ทราบเลยว่า ถ้าไม่มีทางที่จิต จะทำให้กิจการงาน รู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ว่ามีจิตก็ไม่มีใครรู้ว่ามีจิต เช่นกำลังนอนหลับสนิท ทุกคนมีจิตเกิดดับ แต่ว่าไม่รู้เลย ไม่รู้เลยว่า มีจิต ไม่รู้เลยว่า จิตกำลังเกิดดับ
ความสำคัญที่จะทำให้รู้ลักษณะของจิต เช่น ในขณะนี้ ต้องอาศัยทาง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “ทฺวาร” คำแปลว่า ประตู แล้วแต่ว่าที่ใครจะคิดถึงประตู เป็นรูปร่างสูงยาวกว่าหน้าต่างหรืออะไรก็ตามแต่ ให้ทราบว่าเป็นทาง แล้วทางก็เป็นสิ่งซึ่งมองไม่เห็น ไม่เหมือนประตูที่มองเห็น แม้ว่าเป็นรูป ถ้าเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะต้องมีรูป ซึ่งเป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ อย่างจักขุปสาทที่เราใช้คำว่าตา โสตปสาทที่เราใช้คำว่าหู พวกนี้เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ การที่เราจะรู้จักจิตได้ มี ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อจะพิสูจน์ธรรมในขณะนี้ซึ่งกำลังมีจริงๆ ตาก็มี เห็นก็มี หูก็มี ได้ยินก็มี เราก็อาจจะพักภาษาบาลีไว้ก่อน หรือว่าท่านที่ทราบแล้วก็ไม่เป็นไร ก็ประกอบกันไป ให้ทราบความสำคัญว่าทาง ๖ ทางเป็นทางที่จะทำให้รู้ว่า มีจิต เราศึกษาเรื่องจิตเพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตา
เราจะย้อนไปที่ความเป็นอนัตตาได้ทุกขณะจิต แม้แต่ตั้งแต่ปฏิสนธิ ซึ่งเป็นขณะแรกของจิต ที่ศึกษากันมา ตั้งแต่เกิดมาแล้ว และมีชีวิตมาจนถึงเดี๋ยวนี้ มีภวังคจิตเกิดสืบต่อ แล้วก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีจิตเกิดขึ้นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง นั่นคือชีวิตในวันหนึ่งๆ ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า แม้แต่ขณะปฏิสนธิก็เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายชาติก่อนไม่ได้ว่า จะตายเมื่อไหร่ เพราะเหตุว่าเมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับไป ปฏิสนธิจิตชาตินี้เกิดทันที เราเลือกตายชาติก่อนไม่ได้ เราก็เลือกเกิดชาตินี้ไม่ได้ เลือกที่จะให้จิตเป็นภวังค์เรื่อยๆ ไปไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้
นี่แสดงความเป็นอนัตตา พระธรรมทั้งหมดเพื่อที่จะให้ประจักษ์ความเป็นอนัตตา เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ให้ทราบว่าแม้แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตเกิดต่อ ซึ่งทั้งปฏิสนธิจิต และภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต ยังไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เลย เราก็เลือกไม่ได้อีกว่าจะให้เป็นภวังค์มากน้อยเท่าไหร่ เพราะว่าบางคนก็นอนหลับนาน บางคนก็หลับๆ ตื่นๆ เวลาตื่นก็เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกเรื่องราวต่างๆ บ้าง
ก่อนที่จะไปถึงเรื่องของ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ถ้าเราจะทำความเข้าใจในเรื่องของทวาร ๖ ซึ่งเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ว่า แต่ละทางนั้นเป็นอย่างไร แล้วส่วนใหญ่จะไปตั้งต้นที่ทวาร ๕ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วตั้งต้นที่มโนทวาร เพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องของทวาร ๖ ทาง อย่างจักขุปสาทซึ่งเป็นทางที่จิตจะเห็น ทุกคนไม่มีความสงสัยเลยว่า ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป เห็นมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปต้องเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ สำหรับทวาร ๕ ไม่มีข้อสงสัย แต่อีกทวารหนึ่ง คือ มโนทวาร หมายความว่าแม้ว่าจะไม่มีสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กายเลย ใจนั่นเองเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ซึ่งเป็นภวังคจิต ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าปฏิสนธิจิตขณะแรก แล้วก็ขณะหลังๆ ต่อไป เป็นภวังค์ แต่ก่อนที่จะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กระทบใจนี่ไหวเพื่อที่จะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก่อนทวารอื่นทั้งหมด ต้องเป็นมโนทวาร ถ้าเข้าใจ “ใจ” ซึ่งเป็นมโนทวารแล้ว ทวารอื่นไม่ยาก ทางใจยากกว่า ให้ทราบว่า อยู่ๆ เราก็เกิดคิดนึกอะไรขึ้นมา แสดงว่าขณะนั้นเมื่อเป็นภวังค์อยู่ ยังไม่คิด แต่เวลาที่จะคิด เพราะมีอารมณ์ที่สะสมมาทำให้จิตไหวที่จะคิดถึงอารมณ์นั้น ที่กระทบทางใจ แล้วก็ภวังคจลนะ เช่นเดียวกันกับทางปัญจทวาร แต่ว่าทางปัญจทวาร เนื่องจากมีอารมณ์มากระทบกับปสาทจริงๆ จึงมีภวังค์ซึ่งแสดงว่า อารมณ์เกิด และกระทบที่ภวังค์ใด เรียกภวังค์นั้นว่า ”อดีตภวังค์” สำหรับทางทวาร ๕ ซึ่งแสดงให้เห็นความต่างกันของทางมโนทวารกับทางปัญจทวารว่า สำหรับทางมโนทวารนั้นไม่มีอดีตภวังค์ เพราะเหตุว่าไม่ได้มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากระทบเลย เพียงแต่จิตใจหวั่นไหวด้วยอารมณ์ที่จะคิดนึกเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เรานอนหลับ ฝัน นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า อารมณ์ที่สะสมมาในวันหนึ่งๆ หรืออาจจะในหลายๆ วัน ในทั้งชาติ ทำให้จิตใจของเราคิดถึงเรื่องนั้น ภวังค์ไหวเป็นภวังคจลนะดับไป ภวังคุปัจเฉทะเป็นกระแสภวังค์สุดท้ายดับไป แล้วก่อนที่จิตจะรู้อารมณ์ทางมโนทวาร คือ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ต้องมีวิถีจิตขณะแรกทางใจ เป็นมโนทวาราวัชชนะ เรื่องของอาวาวัชชนะ ๖ เราจะกล่าวถึงก่อนที่จะไปถึงทางทวิปัญจวิญญาณ
ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกอย่างไร พอจะเห็นว่าทางใจที่คิดนึก มี แม้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่กระทบ ขณะใดที่คิด ไม่ใช่ภวังคจิต ต้องมีวิถีจิตที่รำพึงหรือคิดถึงอารมณ์นั้น แล้วหลังจากนั้นก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด
ให้ทราบว่าเวลาที่จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ ยังไม่รู้อารมณ์อื่นเลย แล้วถ้าเป็นทางใจ เนื่องจากไม่มีอารมณ์มากระทบ ไม่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีอะไรกระทบจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท แต่ห้ามใจไม่ให้คิดไม่ได้
นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า ต้องมี ๖ ทาง ไม่ใช่มีแต่เพียงการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เท่านั้น ยังมีทางที่ ๖ คือทางใจ คือ ความคิดนึก
ถึงแม้ว่าอารมณ์จะไม่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กายก็จริง จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่แท้ๆ เกิดนึกคิดขึ้นมา ให้ทราบว่าเวลาที่จะเกิดคิดนึกขึ้นมาที่จะคิดนึกเรื่องอะไรต้องอาศัยทาง เพราะเหตุว่าตอนเป็นภวังค์ก็ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น นอนหลับสนิท อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ แม้แต่คิดนึก แม้แต่ฝัน ก็ไม่มี เวลาที่ไม่รูอารมณ์อะไรเลย แล้วเกิดจะรู้อารมณ์ คือ คิดนึกขึ้นทางใจ ใจนั่นเอง คือ ภวังค์ ซึ่งกำลังเป็นภวังค์อยู่ จะไหวเป็นภวังคจลนะ ถ้าตราบใดที่ยังใช้คำว่าภวังค์อยู่ หมายความว่ายังรู้อารมณ์อื่นไม่ได้ ยังมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าจิตขณะแรกที่เป็นปฏิสนธิจิตมีอารมณ์อะไร จิตที่เกิดสืบต่อเป็นผลของกรรมเดียวกัน กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วก็ดับไป กรรมทำให้ภวังค์เกิด ทำกิจภวังค์ดำรงภพชาติ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นจิตประเภทเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ที่ใช้คำว่า รู้อารมณ์เดียวกัน นั้นแสดงว่า ขณะที่เป็นภวังค์ อารมณ์ก็ไม่ปรากฏ เช่นขณะปฏิสนธิ จะมีช่วงระยะของวันหนึ่งๆ ซึ่งอารมณ์ไม่ปรากฏ แล้วเวลาที่อารมณ์ไม่ปรากฏมาก ที่จะทำให้เรารู้ว่าอารมณ์ไม่มีเลย ก็คือในขณะที่หลับสนิท แต่ในขณะที่จะเริ่มคิดนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด แสดงว่าก่อนนั้นจิตกำลังเป็นภวังค์ แล้วพอจะเริ่มคิด ภวังค์ก็ไหว แต่ว่าจะคิดทันทีไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อภวังค์ไหว ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ภวงฺคจลน จลน แปลว่า ไหว แล้วต่อจากภวังค์ก็เป็นภวังคจลนะไหว เมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังค์ที่เกิดต่อเป็นภวังค์ขณะสุดท้ายของกระแสภวังค์ เมื่อภวังค์ดวงนี้เกิดแล้วจะมีภวังค์อื่นเกิดสืบต่อไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นการสิ้นสุดของกระแสภวังค์ ซึ่งใช้คำว่า ภวังคุปัจเฉทะ เมื่อเป็นการสิ้นสุดของกระแสภวังค์ จิตขณะต่อไปก็ต้องเป็นวิถีจิต ที่ใช้คำว่า “วิถีจิต” หมายความว่า เริ่มรู้อารมณ์ซึ่งก่อนนั้นไม่รู้ ตอนที่กำลังเป็นภวังค์อารมณ์ไม่ปรากฏ
ทางใจที่กำลังนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ให้ทราบว่า เมื่อภวังคุปัจเฉทะ ดับ วิถีจิตแรกทางใจคือคิดนึกถึงอารมณ์ขณะนั้น ขณะแรกขณะเดียวซึ่งเริ่มที่จะคิดนึกเป็นมโนทวาราวัชชนะ เป็นวิถีจิตแรก
วิถีจิตแรกไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ตาม ยังไม่ใช่กุศลจิต ยังไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็นอาวัชชนจิต ถ้าใช้คำว่า อาวัชชนจิต หมายความว่าจิตนี้ทำกิจนึกถึงอารมณ์ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นปัญจทวาราวัชชนะ เพราะนึกถึงอารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าเป็นทางใจ นึกถึงเรื่องซึ่งกำลังเป็นอารมณ์ในขณะนั้น
เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต จิตก่อนมโนทวาราวัชชนจิตจึงเป็นมโนทวาร
คำว่ามโนทวาร กับ มโนทวาราวัชชนะ ต้องแยกกัน มโนทวาร หมายความถึงทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่อาวัชชนจิต หมายความถึง วิถีจิตแรก ไม่ว่าจะเป็นทางทวารไหนทั้งสิ้น ถ้าเป็นทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต นึกคิดถึงอารมณ์
แม้จิตนี้ คือ มโนทวาราวัชชนจิต หรือจิตซึ่งจะเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตก็ดีต้องมีทาง
ทางของมโนทวาราวัชชนจิต ก็คือ ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเกิดก่อน ถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดไม่ได้ สำหรับทางใจ คือ มโนทวารวิถีนั้น ภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก
ผู้ฟัง ทางมโนทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทะ ทีนี้ถ้าทางปัญจทวารก็มีภวังคุปัจเฉทะเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ แต่ก่อนที่ภวังคุปัจเฉทะจะเกิด รูปกระทบกับปสาท และกระทบภวังค์
ผู้ฟัง ทีนี้ทางปัญจทวาร จะถือว่าตอนไหนเป็นปัญจทวาร
ท่านอาจารย์ รูปกระทบกับปสาทจึงกระทบภวังค์ เพราะฉะนั้น ปสาทรูปเป็นทวารทางปัญจทวาร
ผู้ฟัง ก็ไม่ก่อนอาวัชชนะ ถ้าก่อนอาวัชชนะ จะต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แต่เนื่องจากอาศัยรูปกระทบปสาท ถ้าไม่มีรูป ไม่มีปสาท จิตเห็นไม่ได้ ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีโสตปสาท จิตได้ยินไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่มีแต่ภวังคุปัจเฉทะ แต่ต้องมีตัวทวารสำหรับที่จะกระทบกับรูป เช่นทางตาต้องมีจักขุปสาทที่จะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ สีสันวัณณะต่างๆ ทางหูก็ต้องมีโสตทวารสำหรับกระทบเสียง ซึ่งทางใจไม่มีพวกนี้ ใช่ไหม
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ทางปัญจทวาร ปัญจทวาร คือ อดีตภวังค์
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ปสาทรูปที่กระทบกับสี ที่กระทบกับเสียง เป็นตัวทวาร เพราะเหตุว่ารูปพวกนั้นกระทบพวกนี้
ผู้ฟัง ตัวทวาร นั่นคือ ปสาทรูป ๕
ท่านอาจารย์ ใช่
ผู้ฟัง ตัวทวารถ้าเรียกว่า ปัญจทวาร ปัญจทวารก็คือปสาทรูป ๕
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง แต่ถ้าทางใจ ก็ต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจิตที่จะรู้อารมณ์อื่นต้องมีทางคือทวาร ก็ต้องหาทวารให้เจอว่าทวารไหน ทางไหน
ผู้ฟัง อารมณ์ของภวังคจิตเป็นอะไร และขึ้นอยู่กับอะไร หมายความว่าภวังคจิตธรรมดาๆ ที่ทุกวันนี้มี ที่เกิดขึ้นคืออะไร
อ.สมพร ประเด็นนี้ อารมณ์ของภวังคจิตคืออะไร เราที่จะมาเกิดในโลกมนุษย์เราได้อารมณ์อะไร เราเห็นภาพครรภ์มารดา หรือเห็นภิกษุ สามเณร ซึ่งอยู่ในโลกนี้ คือเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากที่เป็นกุศล ที่เป็นผลของกุศล อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ใกล้ตาย ไม่ใช่อารมณ์จุติ เมื่อใกล้ตาย ได้อารมณ์อันนี้มา เวลาปฏิสนธิก็เอาอารมณ์นี้ จิตก็มีอารมณ์นี้ เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อ ภวังคจิตก็มีอารมณ์อย่างนี้ ถ้าเห็นครรภ์มารดา ภวังคจิตทุกดวงเกิดแล้วนับไม่ถ้วน มีอารมณ์เช่นเดียวกับปฏิสนธิ เมื่อเวลาที่เราจะจุติ เราก็จุติด้วยอำนาจอารมณ์อันนี้ แต่ว่าเป็นปฏิสนธิต่างกัน ต้องต่างกันไม่ใช่อารมณ์เดียวกัน ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ นี้มีอารมณ์เดียวกันในชาตินี้ เฉพาะชาตินี้ ไม่ใช่จุติในชาติก่อน แล้วมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิในชาตินี้ ไม่ใช่ คนละอย่าง ถ้าในชาตินี้แล้ว ปฏิสนธิก็ดี ภวังค์ก็ดี จุติก็ดี มีอารมณ์อย่างเดียวกัน เฉพาะในชาตินี้
คุณหมอบอกว่าจุติก่อน ไม่ถูก ต้องปฏิสนธิก่อน ปฏิสนธิมีอารมณ์ในอดีตที่เวลาใกล้ตาย ภวังคจิตก็มีเช่นเดียวกับปฏิสนธิ เมื่อเวลาที่เราจะจุติ จะเคลื่อน จิตที่มีอารมณ์เดียวกับภวังค์นี้ก็จะดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้น ดวงใหม่เพราะมีปัจจัย ไม่ใช่จิตดวงที่ดับไปแล้วเกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ เพราะว่าจิตดวงที่ดับไปแล้วเรียกว่าจุติจิตนี้หมดกรรมแล้ว หมดผลของกรรมแล้ว กรรมให้ผลแค่นั้น ก็ดับไป นี่พูดเฉพาะที่หมดกรรม แล้วจิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน เป็นคนละดวง เมื่อจิตดวงใหม่เกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่าปฏิสนธิจิตนั้น ก็มีอารมณ์ใกล้ตาย ใกล้ตายเรามีอารมณ์อะไร ก็ทำนองนี้แหละ ต้องเริ่มจากปฏิสนธิมีอารมณ์ใกล้ตายในชาติก่อน แล้วภวังคจิตก็มีอารมณ์เหมือนปฏิสนธิ แล้วเวลาจุตินั้นก็มีอารมณ์เหมือนปฏิสนธิหรือภวังค์
ผู้ฟัง สมมติว่าชาติที่แล้วมีอารมณ์อะไร จุติจิตของชาตินี้ก็ต้องมีอารมณ์เหมือนชาติที่แล้ว ซึ่งก็ไม่ควรจะเป็นแบบนั้น
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ค่อยๆ ไปทีละน้อย จิตที่เกิดมาโดยที่ไม่มีอารมณ์ไม่มีเลย แล้วเวลาที่รู้อารมณ์ สืบต่อกันด้วย เช่น ทางตาเห็นแล้ว ทางใจยังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ แล้วเมื่อทางใจรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเห็นแล้ว หลังจากนั้นภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารวิถีวาระต่อไปยังคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น
แสดงให้เห็นว่า วาระหนึ่งๆ ของการที่จิตรู้อารมณ์ ทางสั้นๆ ในแต่ละทวาร อารมณ์จะสืบต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าหยุด อย่างเห็นแล้ว ไม่ใช่ว่าผ่านไปเลย ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิด รับต่อ แล้วยังวาระต่อๆ ไปอีกหลายวาระ ก็รู้เรื่องราว
แสดงให้เห็นว่า การรู้อารมณ์รู้สืบต่อๆ กัน เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนไปถึงก่อนตายของชาติก่อน ไม่ต่างกับขณะนี้ สมมติว่าขณะนี้เป็นชาติก่อน ได้ไหม ชาติก่อนทุกคนก็ต้องนั่ง แล้วก็เห็น แล้วก็ได้ยิน ไม่ต่างกันเลยกับชาตินี้ แต่เพื่อที่จะให้เข้าใจอารมณ์ของปฏิสนธิจิตของชาตินี้ ก็สมมติว่าเวลานี้เป็นชาติก่อน เวลานี้ทุกคนกำลังอยู่ชาติก่อน แล้วก็เห็น แล้วก็จิตก็รับสืบต่อกันอย่างนี้ ถ้าเกิดมีใครสักคนหนึ่งจุติจิตเกิด ก่อนจุติจะเกิด ก็หมายความว่าเขาก็ต้องเห็นอย่างนี้ ต้องได้ยินเสียง แล้วก็ต้องคิดนึก ขณะนี้ที่ทุกคนนั่งอยู่ที่นี่ บางคนอาจจะนึกถึงกรรม ไม่ออกไปจากใจได้เลย เกิดนึกขึ้นมา เพราะเหตุว่ากรรมที่ได้ทำแล้วก็ยังสืบต่ออยู่ พร้อมที่จะให้มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นนึกคิดถึงเรื่องนั้นได้ แทนที่จะกำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ ก็อาจจะนึกถึงกรรม แล้วก็ตาย จุติจิตเกิด ปฏิสนธิจิตรับอารมณ์สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เหมือนกับขณะนี้ซึ่งทุกคนเห็น แล้วก็รับอารมณ์สืบต่อ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ได้ยินแล้วก็รับอารมณ์สืบต่อ
ชาติก่อนกับชาตินี้ ไม่ได้ไกลกันเลย เพียงแต่ว่าเหมือนประตูที่ปิดสนิท เมื่อปิดแล้วเราจะไม่รู้เลยว่า ข้างในนั้นมีอะไรบ้าง คือ ย้อนกลับไปหาอดีตชาติไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่ปีนี้เอง แล้วแต่ว่าใครจะอายุเท่าไร ก็ผ่านมาไม่นาน แต่ก็ไม่รู้ว่าชาติก่อน ก่อนจะตาย ตายโดยวิธีอะไร จะป่วยไข้ หรือว่าอุบัติเหตุ ในน้ำ ในอากาศ บนบก หรืออะไรแล้วแต่ แต่ให้ทราบว่าเพราะจิตเกิดดับรับอารมณ์สืบต่อกัน เมื่อจุติจิตของชาติก่อนดับ จุติจิตของชาติก่อนมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิของชาติก่อน ใครเกิด คนนั้นก็ดำรงอยู่ แล้วคนนั้นก็ตาย จิตประเภทใดทำปฏิสนธิกิจ จิตนั้นประเภทเดียวกันนั้นทำภวังคกิจ สืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ แล้วก็จนถึงขณะสุดท้าย ก็คือสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนั้น จะยังเปลี่ยนสภาพไม่ได้
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180