ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
ตอนที่ ๑๓๘
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ อย่างที่ว่าจิตกับเจตสิกต้องเกิดพร้อมกันแยกกันเกิดไม่ได้ ก็แสดงว่าต่างเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกัน และกัน หมายความว่าจิตก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิก ๗ ดวง ถ้าพูดถึงพวกทวิปัญจวิญญาณ แล้วเจตสิกทั้ง ๗ ดวง นั้นป็นสหชาตปัจจัยให้จิตซึ่งเป็นปัจจยุปปัน คือ ปัจจัย กับ อุปปันนะ ธรรมซึ่งเกิดเพราะอาศัยปัจจัยนั้น คือ ผลนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อเจตสิกเป็นปัจจัยให้จิตเกิด จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิด ต่างอาศัยกันเกิดพร้อมกัน ก็เป็นสหชาตปัจจัย และถ้าปราศจากกันไม่ได้ โดยที่ว่าจิตเป็นปัจจัยให้แก่เจตสิก และเจตสิกก็เป็นปัจจัยให้แก่จิต เราพูดอย่างนี้เป็นภาษาไทย แต่โดยนัยของปัจจัยก็เป็น อัญญมัญญปัจจัย คือ ต่างก็อาศัยซึ่งกัน และกัน
แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่เป็นปัจจัย เราต้องพิจารณาว่าเป็นในขณะปัจจุบัน หรือว่าเป็นในขณะอดีต ถ้าเป็นในขณะอดีตก็ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเสพคุ้นมานานในอดีต ก็ทำให้แต่ละขณะเกิดขึ้น แม้แต่ศรัทธาของแต่ละคน ซึ่งมีในแต่ละทาง ก็เพราะเหตุว่าเคยมีศรัทธาอย่างนั้นมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่สะสมมาเป็นปกติด้วยดี ทำให้เกิดขึ้นอีก
เรื่องของปัจจัยก็เป็นเรื่องซึ่งค่อยๆ เข้าใจ อย่าไปแยกเจาะจงเอาชื่อมาใช้ แต่ก็ให้เข้าใจความเป็นปัจจัยนั้น เราภายหลังเราเก็บตกว่าปัจจัยนั้นโดยชื่ออะไร อย่างที่ได้กล่าวถึง สหชาตปัจจัย นี่ก็คงจะไม่มีใครในที่นี้ ซึ่งไม่รู้จักอีกแล้ว จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน สภาพธรรมใดซึ่งเกิดพร้อมกันทั้งปัจจัย และปัจจยุปปัน ขณะนั้นปัจจัยนั้นเป็นสหชาตปัจจัยให้สภาพธรรมซึ่งเป็นผลเกิดพร้อมกับตน จึงจะเป็นสหชาตปัจจัย ค่อยๆ ศึกษาไป
ผู้ฟัง การที่เราจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คือว่า เข้าใจถึงสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนี้ อาจารย์แนะแนวทาง ให้เราอาศัยหลักการเจริญสติ คือว่า ระลึกรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว คือว่าในขณะนี้ เรายังเป็นปุถุชนอยู่นี้ เราระลึกนี้ จะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งไหม อย่างเช่นเราเหยียบพื้น พื้นแข็ง เราก็ระลึกรู้แข็ง แต่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ เรายึดถือ เรารู้แข็ง แต่เราก็ว่าตัวเรารู้แข็ง จะเป็นการสะสมปัจจัยไหม
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าสภาพธรรมมีจริง แล้วปัญญารู้ อวิชชารู้ไม่ได้ แต่ปัญญาไม่ใช่สิ่งซึ่งทุกคนมีแล้วเอามาใช้ อย่างที่เคยพูดกันว่าใช้ปัญญา ใช้ปัญญานั้นไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาจะใช้ ต้องค่อยๆ อบรมจนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้น แล้วก็เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น
เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่าปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม แต่ยังไม่รู้จักตัวจริงของธรรม เพียงแต่พูดตามว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ อาการรู้ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เห็น แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เห็นนี่แหละเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ คือ พูดเรื่องของสภาพธรรม แต่ยังไม่ระลึกรู้ตัวจริงของธรรมที่กำลังเห็น
ปัญญาก็มีหลายระดับ เมื่อฟังมีการเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกในขณะที่เห็น ปกติธรรมดาอย่างนี้ นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง ซึ่งเริ่มเกิดพร้อมสติ ซึ่งในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วกว่าปัญญาจะเจริญ บุคคลนั้นเป็นผู้รู้เองว่า การที่จะรู้ว่าเห็น เป็นเพียงธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่ง่าย ทั้งๆ ที่กำลังเห็น แล้วก็กำลังได้ยิน ก็เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ ซึ่งก็ไม่ใช่ง่ายอีก คิดนึกก็เป็นแต่เพียงขณะจิต ซึ่งเป็นแต่เพียงธาตุเกิดขึ้น รู้คำ รู้เรื่องคิดนึกต่างๆ และความชอบ หรือว่าความไม่ชอบ ความขยัน หรือว่าชีวิตประจำวันทั้งหมดก็เป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน แล้วเมื่อไหร่ปัญญาของเราจะเจริญจนกระทั่งรู้ทั่วจริงๆ ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เราก็ทราบว่า เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ต้องรู้จริง โดยการอบรม แล้วถ้าปราศจากสติ ก็เป็นแต่เพียงการรู้เรื่อง ไม่ใช่รู้ลักษณะแท้ๆ ที่กำลังปรากฏ อย่างแข็ง มี รู้ลักษณะที่กำลังรู้แข็งว่า ไม่ใช่แข็ง เพราะเหตุว่าขณะนั้นต้องเป็นจิตที่กำลังรู้แข็ง เป็นอาการรู้ หรือเป็นสภาพรู้ แต่ไม่มีการที่จะไปบังคับว่า จะให้สติระลึกที่แข็ง หรือว่าให้รู้เดี๋ยวนี้ว่า ลักษณะที่รู้แข็งไม่ใช่ลักษณะของแข็ง จะไม่มีการบังคับเลย เพราะเหตุว่าบังคับปัญญาไม่ได้ อวิชชามีมานานแล้วที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยทั้งการฟัง เป็นปัจจัยให้สติเกิดแล้วก็เริ่มระลึกแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกว่าความเข้าใจเพิ่มขึ้น ซึ่งคนนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเลย ไม่ต้องคอยวัดว่า เมื่อไหร่จะรู้แจ้ง อย่างนี้รู้แจ้งหรือยัง ขอให้เป็นความรู้จริงๆ เพราะเหตุว่าขณะนั้นจะรู้เองว่า ค่อยๆ ละความไม่รู้ ซึ่งไม่เคยระลึกลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง แล้วการที่เราเริ่มระลึกนี้ ก็จะเป็นปัจจัย ใช่ไหม แต่ก่อนเราอาบน้ำ เราไม่เคยฟังพระธรรม เราก็อาบๆ ไปเลย แต่ปัจจุบันนี้เวลาเราอาบน้ำ เราก็ระลึกสติ โดยที่เราก็ระลึกว่าเย็นอะไรแบบนี้ ไม่ใช่การบังคับ นี่ก็จะเป็นเหตุปัจจัยสะสมไว้ไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง แล้วในสมัยนั้นท่านอาจารย์ได้ยึดถือว่า เป็นตัวตนหรือเปล่า ก่อนหน้านั้น
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าใคร ก็ต้องมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนทั้งนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ ไม่ได้มีปัญญาที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนประสูติ ถ้าไม่มีกิเลส ก็ไม่มีการดับกิเลส แต่เพราะมีกิเลส แล้วมีปัญญาเกิดขึ้น จึงดับกิเลสที่มี
ผู้ฟัง ในวิถีจิตตั้งแต่อาวัชชนะ ทวิปัญจวิญญาณ แล้วก็ไปสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ แล้วก็ชวนะ ในช่วงวิถีจิตเหล่านี้ สติเกิดขึ้นในช่วงวิถีของจิตที่เกิดขึ้นตามที่ผมลำดับมานี้ เป็นช่วงไหน
ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องกิจของจิต ซึ่งจะต้องทราบว่า จิตทุกดวงเกิดขึ้นทำกิจแต่ละกิจ เช่น ภวังคกิจ ทำกิจภวังค์ คือ ดำรงภพชาติ เพียงดำรงภพชาติ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิด ไม่ฝัน อะไรทั้งหมด เพียงดำรงภพชาติหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไป ที่ใช้คำว่าดำรงภพชาติก็คือว่า ยังไม่เห็น ขณะที่เห็นไม่ใช่ภวังคจิต
เริ่มวิถีจิตตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ปัญจทวาราวัชชนจิตทำอาวัชชนกิจ ต้องทราบกิจของจิตนี้ ไม่ใช่เห็นเพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบ ถ้าไม่รู้ หรือว่าไม่รำพึงถึงอารมณ์นั้นก่อน จักขุวิญญาณคือจิตเห็น หรือโสตวิญญาณ จิตได้ยินเหล่านี้ก็เกิดไม่ได้
ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนลิ้มรส ต้องมีจิตซึ่งทำอาวัชชนกิจ เราเรียกชื่อของจิตตามกิจได้ว่า อาวัชชนจิต ซึ่งสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ ๕ ทาง จึงชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนกิจ กิจเดียว เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจดับไปแล้ว ถ้าเป็นทางตามที่กำลังเห็น จักขุวิญญาณก็ทำทัศนกิจ ที่กำลังเห็น ภาษาบาลีชื่อก็คงจะคุ้นหูแล้ว ทัศนกิจ คือ กิจเห็น ถ้าเป็นทางหูที่กำลังได้ยิน ภาษาไทยเราก็ใช้คำว่าได้ยิน จิตกำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดเฉยๆ ทำกิจได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสวนกิจในภาษาบาลี การฟังหรือการได้ยินก็เป็นสวนกิจ ถ้าขณะนี้ใครจะได้กลิ่น ขณะนั้นก็เพราะจิตเกิดขึ้นทำฆายนกิจ คือ กิจได้กลิ่น ถ้ากำลังลิ้มรส ซึ่งน่าอัศจรรย์ว่า รสอาหารมีต่างๆ รสผลไม้แต่ละชนิด แต่ว่ายังมีจิตที่สามารถจะลิ้มรสนั้นซึ่งอาศัยอยู่กับมหาภูตรูปได้ รสอาหารจะต้องอาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องมีวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของรส แต่ก็ยังมีจิตที่สามารถจะลิ้มรสที่ต่างกัน ซึ่งเกิดกับมหาภูตรูปนั้นได้ ขณะนั้นก็เป็นจิตซึ่งทำกิจลิ้มรส ไม่ใช่เราเลยขณะนั้น ขณะนั้นจิตนั้นก็ทำสายนกิจ คือ กิจลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กาย เวลากระทบสัมผัสก็เป็นจิตที่ทำผุสสนกิจ หมายความถึงรู้ลักษณะที่อ่อน หรือรู้ลักษณะที่แข็ง รู้ลักษณะที่เย็น รู้ลักษณะที่ร้อน
บางคนก็ถามว่าแล้วลื่นๆ นี่อะไร เหนียวเหนอะหนะๆ อะไร คือรู้สึกว่าจะมีคำอื่น นอกจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็จะมีลื่น มีเหนียวอะไร ไม่ต้องคำนึงถึงชื่อ ให้ทราบว่าเมื่อรู้ทางกายขณะนั้น กำลังมีสภาพปรมัตถธรรมซึ่งไม่ต้องอาศัยชื่อใดๆ ลักษณะนั้นก็ปรากฏ แล้วภายหลังเมื่อปัญญาเจริญ สามารถจะรู้ในลักษณะของธาตุนั้น คือธาตุที่ต่างลักษณะ จะเป็นธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม ก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่จำเป็นต้องอาศัยชื่อเลย และในขั้นต้นก็เพียงแต่รู้ว่า สิ่งนั้นปรากฏทางกาย ขณะนั้นมีจิตซึ่งกระทำผุสสนกิจ เพื่อจะได้เห็นว่าวันหนึ่งๆ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมดไม่ใช่เราเลย เป็นจิตแต่ละประเภท และเมื่อจิตเหล่านี้ คือ ๑๐ ดวงนี้ ดับไปแล้ว ๑ ใน ๑๐ ดวงดับไปแล้ว จิตซึ่งเกิดต่อทำสัมปฏิจฉันนกิจ นี่เป็นอีกกิจหนึ่ง
ขณะที่กำลังฟังแล้วจำชื่อ ภายหลังจะรวบรวมกิจทั้งหมดของจิตได้ ซึ่งมี ๑๔ กิจ โดยไม่ยาก ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยไป นี่ก็ได้ตั้งหลายกิจ ตั้งแต่ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ แล้วก็ ๕ กิจนั่น แล้วก็เมื่อ สัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว จิตต่อไปก็เกิดขึ้นทำกิจสืบเนื่องต่อกัน คือ สันตีรณกิจแล้วก็ดับไป ขณะเหล่านี้ยังไม่ใช่สติปัฏฐานทั้งหมด เพราะว่าสันตีรณจิตก็ทำสันตีรณกิจเท่านั้น แล้วเมื่อสันตีรณจิตดับ โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นก่อนชวนะดับไปแล้ว เมื่อเป็นชวนจิต จะทราบว่าเป็นจิตซึ่งเกิดซ้ำกันรู้อารมณ์เดียวกันถึง ๗ ขณะ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นมหากุศลจิต หรือว่าเป็นจิตอื่นทั้งหมดซึ่งไม่เป็นจิตที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว คือไม่ใช่จิตที่ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ใช่จิตที่ทำภวังคกิจ ไม่ใช่จิตที่ทำอาวัชชนกิจ ไม่ใช่จิตที่ทำ ๕ กิจนั้น ไม่ใช่จิตที่ทำสัมปฏิจฉันนะ ไม่ใช่จิตที่ทำกิจสันตีรณะ ไม่ใช่จิตที่ทำกิจโวฏฐัพพนะ เพราะฉะนั้น จิตที่เหลือทั้งหมดทำชวนกิจ และขณะที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา สติเกิดระลึกลักษณะสภาพธรรมนั้น ทำชวนกิจ
ผู้ฟัง ตอนช่วงนี้ ที่ว่าสติเกิดใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สติเกิดกับกุศลจิตทำชวนะกิจ ๗ ขณะ
ผู้ฟัง ไม่ทำโวฏฐัพพนะ หรือ
ท่านอาจารย์ ไม่ โวฏฐัพพนะเกิดขณะเดียว เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต นี่เป็นเรื่องที่ก่อนอื่นก่อนที่จะก้าวไปสู่ปริจเฉทสูงๆ หรือว่าเรื่องจิตประเภทต่างๆ ต้องย้อนกลับมารู้เรื่องชาติของจิต ไม่ว่าจะได้ยินจิตใดก็ตาม ให้ทราบว่าจิตนั้นเป็นชาติอะไร เพื่อที่จะได้รู้กิจการงานของจิตนั้น อย่างจิตที่เป็นกิริยาจิต อย่างปัญจทวาราวัชชนจิต หรือโวฏฐัพพนจิต หรือว่ามโนทวาราวัชชนจิต ไม่ได้ทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต
ผู้ฟัง แสดงว่าสตินั้นต้องเกิดกับกุศลจิต
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จะเกิดกับทางกิริยาจิตไม่ได้
ท่านอาจารย์ สำหรับอเหตุกกิริยา ๒ ดวงซึ่งเรามี ไม่ใช่กริยาจิตของพระอรหันต์ ถ้าเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ ก็ต้องแยกออกไปว่า เป็นโสภณกิริยาจิต
ผู้ฟัง เรื่องของชวนจิต ซึ่งเป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม ซึ่งมีความสำคัญมาก ผมเคยศึกษามาว่าชวนจิต ถ้าเราทำบุญหรือทำบาป อย่างเช่นยกตัวอย่าง เคยอ่านในคัมภีร์หนึ่ง ทดลองเล่าให้ท่านอาจารย์ฟัง จะคลาดเคลื่อนหรือเปล่า เขาก่อพระเจดีย์ทราย แล้วเขาก็หาดอกไม้มาบูชาพระพุทธเจ้า บุญที่เขากระทำเทียบเท่ากับเมล็ดทราย เพราะเขามีเจตนาในชวนจิต ชวนจิตเทียบด้วยเมล็ดทรายที่เขากอง นี่ฝ่ายกุศลธรรม ถ้าฝ่ายอกุศลธรรม บุคคลกระทำการฆ่าสัตว์ เช่น ไก่ตัวหนึ่ง ท่านเทียบบาปกรรมว่า เท่ากับขนของไก่ หรือฆ่าวัวก็เท่ากับขนของวัว ชวนจิตเกิดมาก แล้วก็เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรมที่จะสร้างภพชาติในสังสารวัฏฏ์มากมายเหลือเกิน เป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่
ท่านอาจารย์ ก็คงจะไม่ต้องชั่ง ตวง วัด ให้ทราบว่า อกุศลจิตรึกุศลจิตทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น ก็เกิดซ้ำ ๗ ขณะ มากกว่าจิตที่ทำกิจอื่น
ผู้ฟัง เรื่องของสัมปฏิจฉันนกิจ แล้วก็เรื่องของทวิปัญจวิญญาณ เรื่องของอาวัชชนจิต เรื่องของจิตที่กล่าวไว้ละเอียดลออมาก ระดับในพระอภิธรรม จิตบางประเภทไม่ปรากฏในพระวินัยหรือในพระสูตร เป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น สัมปฏิจฉันนจิตก็ตามแต่ หรืออาวัชชนจิตก็แล้วแต่ เวลาแสดงในพระสูตร ไม่มีแสดงไว้ว่า เป็นเรื่องอย่างนั้นตามที่ยกขึ้นมา ก็เป็นตัวตน คน เขา เรา สัตว์ ในเรื่องของสภาพจิตอย่างนี้ไม่มี อาจารย์สุจินต์ ช่วยกรุณาอธิบายให้เข้าใจได้ไหมว่า ทำไมท่านจึงไม่แสดงในความละเอียดของจิต ควรจะพูดในพระสูตรได้บ้างก็ไม่มี
ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นความต่างกันโดยนัยของพระสูตรกับพระอภิธรรม เพราะเหตุว่าโดยนัยของพระสูตร ก็จะเห็นได้ว่า เป็นธรรมที่ทำให้ผู้ฟังสามารถที่จะระลึก แล้วก็เข้าใจได้ โดยที่ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ความละเอียดของจิต เช่น ในขณะนี้ที่กำลังเห็นแล้วก็มีความรู้สึกชอบ หรือไม่ชอบ เป็นของที่คนฟังสามารถที่จะพิจารณาเข้าใจได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือแม้แต่ปัญจทวาราวัชชนะ ซึ่งเกิดก่อน แต่ว่าผู้ที่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรม อย่าง เห็น ไม่ใช่ตัวตน เพียงฟังสั้นๆ แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เห็นมี แต่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ความหมายว่าเห็นไม่ใช่ตัวตน เพราะเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ ถ้าสามารถจะเข้าใจอย่างนี้ได้จริงๆ ก็เป็นการที่สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทั้ง ๖ ทวาร คือ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งนี่เป็นจุดประสงค์ของการศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรม คือ ไม่ใช่ท่องได้ จำได้ หรือว่ารู้ความละเอียด แต่ว่าเพื่อจะรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ้าในขณะนี้กล่าวว่า กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่ตัวตน และสามารถจะเข้าใจได้จริงๆ ในครั้งโน้นก็มีผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วก็ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ในครั้งนี้ไม่พอ หมายความว่าไม่เห็นว่าจะเป็นอนัตตา เห็นก็ยังคงเป็นเราเห็น ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน การที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อที่สติจะได้เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องอาศัยปัจจัยคือการฟัง การพิจารณา จนกระทั่งเข้าใจความหมายที่ว่า เห็นเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง เมื่อเวลาเราอ่านพระสูตร หรือศึกษาพระสูตรแล้ว จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม และพระสูตรนั้นจบแล้ว ผู้ฟังก็ได้บรรลุเลย ตามที่ท่านแสดงไว้นั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องของ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต อะไรอย่างนี้ ทำให้ท่านผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่า ถ้าฟังเท่านี้ก็น่าจะบรรลุได้หรือเข้าใจได้ ตามที่ท่านได้โปรดแสดงอย่างนั้น อันนี้จะมีข้ออธิบายอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นปรมัตธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรม แต่ว่าอวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย นี่เป็นเหตุที่ว่า ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงพระธรรมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สภาพธรรมที่กำลังเห็นอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพธรรมที่กำลังได้ยินก็เป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ถ้าปัญญาของใครอบรมมาที่จะเห็นจริง เข้าใจจริง รู้ขณะที่สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป คือ ไม่มีเยื่อใยที่จะเป็นเรา ที่กำลังพยายามทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเหตุว่าได้อบรมเจริญปัญญา จนละ ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่ง่าย กว่าจะเข้าใจว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม แล้วเมื่อรู้ว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรมแล้ว การที่เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตนนั้นจะทำให้ละ ไม่ใช่จดจ้อง เมื่อสามารถที่จะละคลายความต้องการ หรือการจดจ้องในนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ก็สามารถที่จะเห็นการเกิดขึ้น และดับไปของนามธรรม และรูปธรรมได้ ซึ่งขณะนี้ถ้าฟังโดยขั้นพิจารณา ก็จะรู้ได้ว่า ได้ยินหรือเสียงเกิดแล้วก็ดับ นี่เป็นความจริง แต่ไม่ละคลายความยึดถือสภาพนั้นว่า เป็นเราหรือเป็นตัวตน
ถ้าในขณะที่ผู้ฟังในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ได้อบรมเจริญปัญญาพร้อมที่จะละคลาย ในขณะที่ทรงแสดงเรื่องของจิตที่เห็น หรือว่าจิตที่ได้ยินก็สามารถที่จะรู้ความจริงแล้วละคลายก็จะเห็นได้ว่าทุกอย่างทุกคำที่ทรงแสดงนั้นเป็นสัจจธรรม ความชอบซึ่งเกิดจากเห็นแล้ว หรือความไม่ชอบซึ่งเกิดจากได้ยินแล้ว ในขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วเมื่อสติระลึกแล้วไม่ยึดถือ ขณะนั้นก็ย่อมประจักษ์ความจริง เป็นสัจจธรรม แล้วก็เป็นวิปัสสนาญาณได้
ทุกคนก็จะได้ทราบว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นสัจจธรรมสอดคล้องกับการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งสภาพธรรม คือ ตราบใดที่ยังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องมีการอบรมปัญญาจนกว่าจะรู้ แล้วเมื่อค่อยๆ รู้แล้วก็ไม่ใช่ว่า การละคลายนั้นละคลายอย่างอื่น ละคลายในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน แล้วผู้นั้นก็จะรู้เองว่า ไม่มีการติดข้องว่า เป็นเรา แต่ว่ารู้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดทั่วขึ้น เป็นปัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งจะเกิดรู้แจ้งอริยสัจธรรมขณะไหนย่อมได้ เพราะว่าสภาพธรรมกำลังเกิดดับตามความเป็นจริง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180