ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141


    ตอนที่ ๑๔๑

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจ ทำภวังคกิจ แล้วก็จะทำจุติกิจ แต่ก่อนที่จะทำจุติกิจ ก็จะต้องทำกิจอื่นที่เป็นวิถีจิต ทีนี้สันตีรณtทำกิจพิจารณาอารมณ์แล้วดับ ยังไม่มีความรัก ความชัง ความชอบ ความโกรธความเกลียดใดๆ ทั้งสิ้น นี่ให้ทราบว่า จิตไม่ใช่พอเห็นปุ๊บก็เกิดความพอใจปั๊บ หรืออะไรอย่างนั้น ก็จะต้องมีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่าพอเห็นแล้วชอบ แสดงว่าเรารู้จักจิตหยาบๆ ไม่กี่ประเภท คือ รู้จักทวิปัญจวิญญาณจิต รู้จักโลภมูลจิต รู้จักโทสมูลจิต แต่ก่อนนั้นจะต้องมีจิตซึ่งเกิดอย่างเร็ว แล้วก็ทำหน้าที่จนกว่าจะถึงวาระที่โลภะเกิดได้ หรือว่าโทสะเกิดได้ โมหะเกิดได้

    เมื่อสันตีรณจิตดับแล้ว ยังไม่ถึงโลภะ ยังไม่ถึงโทสะ ยังไม่ถึงกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าจะต้องมีจิตซึ่งเกิดก่อนโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือกุศลจิต

    ผู้ฟัง ที่แสดงมาทั้งหมดก็เป็น ๕ ประเภทแล้ว ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตจนกระทั่งถึงสันตีรณจิต วันนี้คงจะต้องต่อเป็นโวฏฐัพพนะ รับต่อจากสันตีรณจิตนั้น วิถีจิตลำดับต่อมา ก็คือโวฏฐัพพนจิต สำหรับเราพูดโวฏฐัพพนจิตนั้น ความหมายหรือว่าอรรถพยัญชนะนั้นจะเป็นอย่างไร โวฏฐัพพนะ มีความหมายอย่างไร

    อ. สมพร โวฏฐัพพนจิต ถ้าเราจะแปลก็แปลได้ ๒ อย่าง กำหนดอารมณ์ก็ได้ ตัดสินอารมณ์ก็ได้ แต่ว่าอันไหนเหมาะสมดี เราก็ใช้อันนั้น ที่เราใช้คำว่า ตัดสิน เพราะว่าสันตีรณะ แปลว่า พิจารณา เหมือนเรา ตัวอย่าง เราพิจารณาอะไร เราก็ตกลงใจ ตัดสินว่าเป็นอย่างนี้ๆ เพื่อให้เข้ากับเรื่อง

    เพราะฉะนั้น สันตีรณะแปลว่าพิจารณาแล้ว พิจารณาอารมรณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏเป็นสี หรือเป็นเสียงอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็เมื่อจิตตัวนี้ดับไป แล้วก็มีการตัดสินแน่ชัดลงไปว่าดีหรือไม่ดีโดยแยบคายหรือไม่แยบคาย เรียกว่าตัดสินอารมณ์

    ผู้ฟัง ในเรื่องโวฏฐัพพนจิต ตัดสินอารมณ์ ก็ไม่ใช่หมายความว่าลักษณะที่ว่าเราตัดสิน แต่เป็นลักษณะของจิตอย่างนั้นเอง ซึ่งไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน ทำหน้าที่อย่างนั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เรื่องธรรมที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วก็แต่ละคนก็พิจารณาให้ละเอียดขึ้นได้ อย่างคำว่า “วิบาก” ต้องทราบเลยว่า จักขุวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ๓ ดวงนี้ทำกิจต่างกันอย่างไร คือจักขุวิญญาณทำกิจเห็น ทำกิจอื่นไม่ได้เลย เพียงเห็น เมื่อเห็นดับไปแล้วต้องมีจิตอื่นเกิดต่อ ต้องเป็นของที่แน่นอน แล้วเมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับ จิตที่เกิดต่อนั้นก็รู้อารมณ์นั้นต่อ ภาษาไทยเราจะใช้คำว่ารับ หรือภาษาบาลีก็ใช้คำซึ่งมีคำแปลอย่างเดียวกัน สัมปฏิจฉันนะ ก็หมายความว่ารู้อารมณ์เดียวกันต่อ และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อ ก็ต้องเป็นจิตที่ทำอีกกิจหนึ่ง แม้ว่าจะมีอารมณ์เดียวกัน คือ จิตหนึ่งเห็นแล้วก็ดับจิตต่อไปก็รู้อารมณ์นั้นต่อ จิตต่อไปก็พิจารณาอารมณ์ต่อ แล้วก็ต่อจากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของวิบากแล้ว เป็นเรื่องของกิริยาจิต ซึ่งเมื่อกิริยาจิตที่ทำกิจนี้ คือ โวฏฐัพพนจิตดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อตามการสะสม ซึ่งโวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นกระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ คือว่ากุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ อารมณ์กระทบจริง เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ ซึ่งโทสะก็เกิดได้ โลภะก็เกิดได้ หรือกุศลจิตก็เกิดได้ หมายความว่าเรื่องของอารมณ์เป็นเรื่องของวิบาก ซึ่งจะต้องเห็น จะต้องได้ยิน จะต้องได้กลิ่น จะต้องได้ลิ้มรส จะต้องได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก

    นี่เป็นตอนหนึ่งของวัฏฏะ คือ “วิบากวัฏฏ์” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่หลังจากนั้นแล้วไม่ใช่วิบากอีกต่อไป เริ่มที่จะเป็นเหตุ คือ เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะเตรียมจิตเตรียมใจไว้ก่อนว่า ถ้าอารมณ์นี้มากระทบแล้วละก็ถึงจะเป็นอนิฏฐารมณ์ ก็จะดี จะไม่โกรธ หรือว่าถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็จะไม่ชอบ จะไม่รัก ไม่มีการที่จะเตรียมตัว หรือว่าจะไปฝืนกระแสของธรรมที่เป็นการสะสมสืบมาของแต่ละคนได้ เพราะว่าจิตจะต้องเกิดขึ้นทำกิจการงาน

    จะเห็นได้ว่าในชีวิตของเรา บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล แต่อีกคนทำไมกุศลมากกว่าอกุศล เพราะการสะสมของเขาที่จะทำให้ไม่ว่าจะรับรู้อารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์ กุศลจิตเขาเกิดได้มาก ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์เขาก็มีเมตตา หรือว่าไม่โกรธได้ หรือว่าถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ เขาก็ไม่ติดไม่ข้อง ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าขึ้นอยู่กับการสะสม ซึ่งการสะสมจะมีจิตหนึ่งซึ่งทำกิจเมื่อถึงกาลที่จะต้องเกิดก่อนกุศลหรืออกุศล จิตนั้นทำโวฏฐัพพนกิจ คือหลังจากที่กระทบอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม จิตของใครจะเป็นกุศลหรืออกุศลแล้วแต่โวฏฐัพพนจิต ซึ่งมีกิจทำโวฏฐัพพนะ อย่างที่อาจารย์บอกเมื่อกี้นี้ว่า จะใช้คำว่าตัดสิน หรือจะใช้คำว่ากำหนด แต่ดิฉันก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจคำว่ากำหนด คือถ้าใครจะไปใช้คำว่า “กำหนด” ก็ไม่รู้ว่าจะไปกำหนดอย่างไร แต่ว่าคำอธิบายในอรรถกถาก็มีว่าพิจาณาโดยรอบ หมายความว่าเมื่อโดยรอบแล้วก็สามารถที่จะรู้ หรือว่าจะใช้คำว่ากำหนดลงไปได้ว่า อันนี้เป็นอะไร แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ จิตนี้กระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ เพราะว่าอารมณ์ ก็คืออนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์นั่นเอง สัมปฏิจฉันนะ ถ้าอารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ก็ต้องรู้อารมณ์นั้นต่อที่เป็นอารมณ์เดียวกัน สันตีรณะก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเหตุว่าพิจารณาอารมณ์ที่ดี ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ วิบากนั้นก็ต้องเป็นไปตามกรรม เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรม แต่โวฏฐัพพนะไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต แล้วก็ทำโวฏฐัพพนกิจ คือ หลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับแล้ว กุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด โดยที่ว่าไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่การสะสม ซึ่งโวฏฐัพพนะก็ไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะไปตัดสิน แต่ว่าเพียงกระทำกิจ ทำทางให้กุศลจิตซึ่งสะสมมาเกิดขึ้น หรือว่าให้อกุศลจิตซึ่งสะสมมาเนิ่นนานนั้นเกิดขึ้นเป็นอกุศล

    การที่เราได้ศึกษาธรรมก็จะเห็นความเป็นอนัตตาว่า บังคับบัญชาไม่ได้ อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี จะเกิดกุศลจิต จะเกิดอกุศลจิต เป็นไปตามวิถีจิตทั้งสิ้น แต่เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีแรกรู้เสียงที่กระทบแล้วดับไป ต่อจากนั้นวิถีจิตอื่นๆ จึงเกิดต่อได้ ด้วยเหตุนี้ปัญจทวาราวัชชนจิต จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ แล้วสำหรับโวฏฐัพพนะอีกชื่อหนึ่ง คือชวนปฏิปาทกมนสิการ ถ้าโวฏฐัพพนจิตไม่เกิด ชวนจิตก็เกิดไม่ได้

    อ. สมพร ปฏิปาทกะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ วิถีปฏิปาทกะกับชวนปฏิปาทกะ

    อ. สมพร วิถีปฏิปาทกะ แปลว่า เป็นทางก็ได้ แต่ว่าในอรรถกถาจารย์ท่านใช้ศัพท์อีกศัพท์หนึ่งว่า เป็นเบื้องต้นของกุศลหรืออกุศล ที่ใช้คำว่า ปฏิปาทกะ ท่านใช้แปลว่าเป็นเบื้องต้น ปฏิ ก็แปลว่าเฉพาะ

    ท่านอาจารย์ ปฏิ ก็แปลว่าเฉพาะ ปาทกะ

    อ. สมพร เป็นทาง เป็นบาท

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เป็นทางหรือเป็นบาทโดยเฉพาะ มนสิการ คงจะทราบว่าเป็นเจตสิก ๑ ใน ๗ ที่เป็นสัพพจิตสาธารณะ อันนี้ทุกคนทราบว่า เป็นชื่อของเจตสิกประเภทหนึ่ง ได้แก่ สภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ เพราะเหตุว่าเจตสิกแต่ละชนิด หรือจิตก็ตามแต่ ก็จะต้องมีกิจการงานของจิตนั้นเฉพาะตนๆ อย่างผัสสเจตสิกก็ทำกิจกระทบ เวทนาเจตสิกก็เป็นสภาพที่รู้สึกสุขทุกข์ในอารมณ์

    สำหรับมนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ เพราะว่าบางคนสนใจในบางอย่าง แต่ว่าไม่สนใจในบางอย่าง พูดเรื่องการเมือง อาจจะสนใจ พูดเรื่องการบ้านอาจจะไม่สนใจ แต่สำหรับมนสิการเจตสิกเป็นเจตสิกซึ่งต้องทำกิจใส่ใจในอารมณ์ ไม่ใช่กระทบอารมณ์ แต่คำว่ามนสิการนั้นไม่ได้หมายความแต่มนสิการเจตสิกเท่านั้น มีมนสิการ ๓ อย่าง คือ วิถีปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรก เพราะเหตุว่าถ้าเสียงกระทบกับหู แล้วก็เป็นภวังคจิต วิถีจิต คือ จิตได้ยินจะเกิดไม่ได้ สัมปฏิฉันนะ สันตีรณะอะไรก็เกิดไม่ได้ทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดเสียงกระทบหู ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด เป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการดับไป วิถีต่อๆ ไปจึงจะเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า การใส่ใจรู้อารมณ์ที่กระทบ เป็นลักษณะของปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่เป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร นี่คือวิถีปฏิปาทกมนสิการ ถ้าได้ยินคำว่า “วิถีปฏิปาทกมนสิการ” ให้ทราบว่าไม่ใช่เจตสิก แต่หมายความถึงปัญจทวาราวัชชนจิต คือ ให้ทราบความกว้างขวางของการที่จะใช้คำ อย่างมนสิการโดยทั่วไปเข้าใจว่า เป็นเจตสิก แต่ว่ามีมนสิการ ๓ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นเจตสิก อีก ๒ อย่างไม่ใช่เจตสิก อีก ๒ อย่างเป็นจิต ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ และมโนทวาราวัชชนะซึ่งทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร หรือจะทำอาวัชชนจิตทางมโนทวารก็ตามแต่ เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ เพราะเหตุว่าเมื่อจิตดวงนี้ดับไปแล้ว ชวนจิตต้องเกิด คือ จะไม่เป็นโลภะ โทสะ โมหะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเป็นวิถีที่เป็นชวนะ หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตหรือโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น โวฏฐัพพนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งทำโวฏฐัพพนกิจนั่นเอง เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ

    ส่วนเจตสิกนั้นก็เป็นอารัมมณปฏิปาทกมนสิการ

    ผู้ฟัง โวฏฐัพพนะ คือ มโนทวาราวัชชนจิต แต่มาทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ เพราะฉะนั้น คำว่าโวฏฐัพพนะ จะเรียกว่าโวฏฐัพพนจิตได้ไหม ตัวของมันจริงๆ คือ มโนทวาราวัชชนจิตในอเหตุกจิต ๑๘

    ท่านอาจารย์ มี ๒ ชื่อเรียกชื่อหนึ่งชื่อใดก็ได้

    ผู้ฟัง มี ๒ ชื่อ ถ้าเกิดทางปัญจทวาร ก็เรียกว่าโวฏฐัพพนจิตก็ได้ ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ

    ท่านอาจารย์ เวลาทำโวฏฐัพพนกิจ ก็เรียกชื่อว่าโวฏฐัพพนจิต ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าหมายความถึงมโนทวาราวัชชนจิต แต่ที่รู้ว่าเป็นมโนทวาราวัชชนจิต ก็เพราะเหตุว่าทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร แต่ว่ากิจนี้ทำประจำทุกภพภูมิ อย่างโวฏฐัพพนกิจไม่ได้ทำในอรูปพรหมภูมิ เพราะเหตุว่าในอรูปพรหมภูมิไม่มีรูป แต่ต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตทำอาวัชชนกิจ เพราะฉะนั้น ก็เรียกชื่อประจำ คือ ทำได้ทุกภพภูมิ

    ผู้ฟัง ถ้ามาทำหน้าที่ทางปัญจทวาร ก็ทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ ก็เรียกโวฏฐัพพนะจิตได้ แต่ตัวจริงๆ คือ มโนทวาราวัชชนจิต เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โวฏฐัพพนจิต โวฏฐัพพนจิตก็ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ทางปัญจทวาร ในอเหตุกจิต ๑๘ ไม่มีโวฏฐัพพนจิต

    ท่านอาจารย์ การเรียกชื่อของจิตตามกิจนี้มีเสมอ เช่น ปฏิสนธิจิต ๑๙ เรียกชื่อปฏิสนธิจิต ตทาลัมพนจิต ๑๑ นี่ก็ตามกิจด้วย ซึ่งแจกไปแล้วก็เป็นจิตประเภทมหาวิบากสันตีรณะ แต่เมื่อทำตทาลัมพนกิจ ก็รวมเรียกว่า ตทาลัมพนจิต

    ผู้ฟัง ทีนี้พอมาถึงเรื่องโวฏฐัพพนจิตนี้ จะมีเจตสิกร่วมด้วยไหม ๑๐ ดวง หรือว่ามีน้อยกว่า

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเป็นการดีที่เราจะพูดถึงเจตสิกไปในตัวบ้าง เพื่อที่จะได้เหตุผล เพราะเหตุว่าสำหรับจิตที่ทำกิจ เราจะเห็นว่า ทำไมบางจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก แล้วทำไมบางจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อย เพราะมีเหตุผลอะไร เพราะว่าธรรมทุกอย่างจะต้องสมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย สำหรับสัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงต้องเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว ก็จะมีอีกชื่อหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะคุ้นหูหรือว่าจะลืมไปแล้วคือ ปกิณกเจตสิก ๖ ดวง ทั้งหมดเจตสิกจะแบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ เป็นอัญญสมานาเจตสิก ๑ พวก แล้วเป็นอกุศลเจตสิก ๑ พวก แล้วก็เป็นโสภณเจตสิกอีก ๑ พวก ชื่อก็บอกว่าอัญญสมานาเจตสิก เป็นภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็คงจะเข้าใจความหมายได้ เจตสิกเหล่านี้เสมอกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย คือถ้าเกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลไปด้วย ถ้าเกิดกับกุศลก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับวิบากก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดกับกิริยาก็เป็นกิริยา มีทั้งหมด ๑๓ ดวง ที่เข้ากันได้กับจิตทุกประเภทหมด

    จิตที่เราเห็นว่าทำไมถึงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง อย่างจักขุวิญญาณที่ทำกิจเห็นเดี๋ยวนี้ โสตวิญญาณที่ทำกิจได้ยิน แล้วก็ฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรส แล้วก็กายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะเห็นได้ว่าจิตเหล่านี้ไม่มีใครยับยั้งการเกิด แต่ว่าต้องมีอารมณ์กระทบจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมีวิริยะมาทำให้จิตไปรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าเมื่อรูปกระทบกับทวาร แล้วก็วิถีจิตเกิดขณะนั้นอารมณ์นั้นเองเป็นปัจจัยที่พอให้จิตนั้นเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต หรือว่าทวิปัญจวิญญาณ แต่จะเห็นได้ว่า แม้ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ยังมีเจตสิกเกิดมากกว่า ทวิปัญจวิญญาณจิต เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ชั่วพริบตาที่เล็กสั้นที่สุดยิ่งกว่าพริบตาอีก คือ ขณะนั้นเป็นจิตที่ทำกิจเห็นเพียงเห็น เห็นอย่างเดียว เห็นเท่านั้น หรือว่าเพียงได้ยิน จะเป็นกุศลไม่ได้ จะทำบุญทำบาปอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงว่าเป็นจิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมทำให้มีปสาท แล้วทำให้รูปนั้นกระทบ แล้วก็ก็ทำให้จิตนี้กระทบรู้อารมณ์นั้น เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น แต่สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เห็น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอาศัยปกิณกเจตสิกเพิ่มขึ้น ปกิณกเจตสิกทั้งหมดมี ๖ ดวง ก็ไม่อยากจะทบทวนมาก แต่ว่าจริงๆ แล้วมันก็มีประโยชน์ แล้วก็มีเหตุผล อย่างวิตกเจตสิกเป็นเจตสิกที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ วิจารเจตสิกก็เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับวิตกเจตสิกเสมอ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าวิตกจะตรึกถึงอะไร วิจารก็ประคองตาม รู้อารมณ์นั้นคู่กันไป แล้วก็มีอธิโมกขเจตสิก เป็นเจตสิกที่ปักใจในอารมณ์นั้น

    นี่แสดงให้เห็นว่าการที่จิตรู้อารมณ์ครั้งหนึ่งๆ ต้องอาศัยเจตสิกหลายประเภทแล้วก็ทำกิจแยกกันไป คนละนิดคนละหน่อย แม้แต่ผัสสะก็เพียงกระทบ แม้แต่เวทนาก็เพียงรู้สึก แต่พอมาถึงปกิณณกเจตสิก ก็ต้องมีวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก ปีติเจตสิกต้องเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    เวลาที่รู้เรื่องจิต หรือรู้ชื่อจิตหนึ่งจิตใด ต้องรู้เวทนาที่เกิดกับจิตนั้นด้วย จึงจะเป็นการสมบูรณ์ เช่น ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิต ก็ต้องรู้ว่า เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นอะไร โทสมูลจิต เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นอะไร ต้องเป็นโทมนัสเวทนาอย่างเดียว โลภมูลจิตมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย เป็นโสมนัสก็ได้ เป็นอุเบกขาก็ได้ กุศลจิตมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย เป็นอุเบกขาก็ได้ เป็นโสมนัสก็ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราต้องรู้เวทนาซึ่งเกิดกับจิตนั้นด้วย อย่างปัญจทวาราวัชชนจิต จะเป็นโสมนัสเวทนาไม่ได้ เป็นกิริยาจิต และเป็นจิตที่เพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ ยังไม่ได้มีการเห็น ยังไม่ได้มีการได้ยินเลย เพราะฉะนั้น ก็มีวิตกจตสิก วิจารเจตสิก มีอธิโมกขเจตสิก ปกิณณกเจตสิกทั้งหมดมี ๖ ดวง นี่ ๓ ดวงแล้วที่ต้องเกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต รวมเป็น ๑๐ ดวง แต่เมื่อไม่เป็นโสมนัส ก็ไม่มีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็ไม่ต้องอาศัยวิริยะด้วย เพราะเหตุว่าเป็นอเหตุกจิต อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวงที่มีวิริยะเกิดร่วมด้วยเพียง ๒ ดวงเท่านั้น ซึ่งได้แก่ หสิตุปปาทะ และมโนทวาราวัชชนะ ถ้าเรียนต่อไปจะทราบได้ว่าเพราะเหตุใด จิต ๒ ดวงนี้จึงมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากนั้นแล้วไม่มีวิริยะเกิดร่วมด้วยเลย ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็ไม่มี สัมปฏิฉันนะก็ไม่มี แม้แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่มี สันตีรณะก็ไม่มี แล้วก็เมื่อไม่มีโสมนัสสำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่มีฉันทะด้วย เพราะเหตุว่า อเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดจะไม่มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นจิตที่ต้องเกิด และเกิดเป็นประจำ เพราะเหตุว่าเป็นวิบากจิตที่ต้องเกิดทำหน้าที่เห็น ทำหน้าที่ได้ยิน แต่เวลาที่เป็นกุศลหรืออกุศลพวกนี้ จะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเพราะอะไร โวฏฐัพพนจิตหรือปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ไม่มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย เพราะอะไร

    ผู้ฟัง สำหรับโวฏฐัพพนจิตก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ๑๐

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าปกิณณกเจตสิกมี ๖ มีวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก มีอธิโมกขเจตสิก เพิ่มอีก ๓ ดวงเป็น ๑๐ ดวง ที่พิเศษก็คือว่าปีติไม่เกิด เพราะต้องเกิดกับโสมนัส วิริยะไม่เกิดเพราะต้องกระทำกิจมากกว่านี้ จึงจะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉันทะไม่เกิด เพราะเหตุว่าฉันทะนั้นเลือกได้ บางคนก็พอใจที่จะโกรธ บางคนก็พอใจที่จะชัง ที่จะไม่โกรธ เพราะฉะนั้น สำหรับอารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เลือกไม่ได้ เพราะว่าเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ของอเหตุกจิตจะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และอเหตุกจิตทั้งหมดไม่มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    30 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ