ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
ตอนที่ ๑๔๔
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่วิสัยที่เราจะพยายามสักเท่าไรจะไปรู้ตทาลัมพนะว่า ๑ ขณะ หรือ ๒ ขณะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องตั้งแต่สมัยเกจิอาจารย์อื่นๆ ในยุคโน้นที่ท่านพูดกันมาแล้ว เราก็คงไม่ต้องไปวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะว่ามีอยู่แล้วที่ท่านเคยพูดกันมา แล้วก็เคยตั้งเป็นคำถามกันไว้ เมื่อเป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ เราก็รู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้
ผู้ฟัง จากปัญจทวาร ภวังคจิตคั่นหลายขณะ และมามโนทวาร มาได้อย่างไร แล้วมาได้กี่ลักษณะ
ท่านอาจารย์ เวลานี่มีมโนทวารเกิดสลับคั่นทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย หมายความว่าเมื่อปัญจทวารวิถีจิตเกิดแล้ว ดับหมดแล้ว รูปดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อ อย่างทางตาที่กำลังเห็นสี เป็นปรมัตถอารมณ์ เป็นรูป ๑๗ ขณะ เมื่อดับแล้ว ภวังคจิตขณะนั้นก็ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นทางตา แต่ว่าเพราะการเห็นทางปัญจทวารที่ดับไปนั่นเอง เป็นปัจจัยให้มโนทวาราวัชชนจิตนึกรู้อารมณ์ คือสีที่ปรากฏต่อจากทางปัญจทวาร โดยสำหรับมโนทวารวิถี ไม่มีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเลย ไม่มีโวฏฐัพพนะด้วย หลังจากที่มโนทวาราวัชชนะวิถีจิตดับ จิตต่อไปก็เป็นชวนะวิถีจิต คือเป็นกุศลหรืออกุศลสืบต่อทันที
นี่เป็นความต่างกันของทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร ถ้าทางปัญจทวารแล้วละก็ รูปที่ยังไม่ดับเป็นปัจจัยให้ปัญจทาวราวัชชนจิตเกิด ทวิปัญจวิญญาณเกิด สัมปฏิฉันนจิตเกิด สันตีรณจิตเกิด โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วจึงจะเป็นชวนวิถีจิต แล้วก็เป็นตทาลัมพนะ แต่สำหรับทางมโนทวาร เพราะเหตุว่าเป็นการที่รับรู้อารมณ์ต่อจากทางตาหรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เมื่อปัญจทวารวิถีดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตนึกถึงอารมณ์นั้น รู้อารมณ์นั้นต่อ และถ้าทางปัญจทวารเป็นโลภมูลจิต มโนทวารก็เป็นโลภมูลจิต ทางปัญจทวารเป็นโทสมูลจิต มโนทวารก็เป็นโทสมูลจิต หรือในทางกลับกัน เราก็จะบอกว่า ถ้าทางมโนทวารเป็นโทสมูลจิต ทางปัญจทวารก็เป็นโทสมูลจิตก็ได้ เพราะเหตุว่าเกิดดับสลับกันเร็วมาก ไม่มีทางที่เมื่อวิถีจิตทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายดับไปแล้วมโนทวารวิถีจิตจะไม่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อ นอกจากขณะจะจุติ เวลาที่จุติจิตจะเกิด หลังจากที่ปัญจทวารวิถีจิตดับก็ได้ หรือหลังจากมโนทวารวิถีจิตดับก็ได้ หรือว่าหลังจากภวังคจิตดับก็ได้ จุติจิตก็เกิดได้
นี่แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก แต่แม้ว่าทางปัญจทวารวิถีก่อนจุติจิตจะเกิด เมื่อปัญจทวารวิถีจิตนั้นดับ แล้วก็จุติจิตเกิดต่อ ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อนทางปัญจทวารนั่นเอง คือ แทนที่จะเป็นมโนทวารวิถีจิตเกิดรับรู้อารมณ์นั้นต่อ ก็เป็นปฏิสนธิจิตซึ่งรับอารมณ์นั้นต่อ อีกประการหนึ่งแม้ไม่มีปัญจทวารวิถีเกิดก่อน มโนทวารวิถีจิตก็เกิดได้
ผู้ฟัง หลังจากที่ปัญจทวารดับไปแล้ว ทางมโนทวารจะไม่นึกถึงอารมณ์ที่ปัญจทวารเพิ่งดับไป นึกถึงอารมณ์อื่นได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ถ้าปัญจทวารวิถีจิตทางหนึ่งทางใด คือ จักขุทวารวิถีจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว วาระต่อไปต้องเป็นมโนทวารวิถีจิต เสมอไปคู่กันตลอด เว้นตอนจุติ ซึ่งเมื่อจุติจิตเกิดต่อจากปัญจทวารวิถี มโนทวารวิถีก็เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าถึงกาลที่กรรมให้ผล ที่จะทำให้จุติจิตเกิด ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น แต่แม้กระนั้นปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายทางปัญจทวาร ก่อนจุติจิตจะเกิด
ผู้ฟัง แสดงว่าทางปัญจทวารดับไปแล้ว ทางมโนทวารต้องรับต่อ
ท่านอาจารย์ เสมอไป นอกจากก่อนจุติเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง จะคิดเป็นเรื่องอื่นไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ หมายความว่าหลังจากที่ปัญจทวารวิถีจิตไม่เกิด แล้วก็พวกนี้ไม่เกิดเลย วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่เกิด เรานึกเองได้ แต่เวลาที่ทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใด วิถีจิตนั้นดับแล้ว มโนทวารวิถีจิตต้องรับอารมณ์นั้นต่อทุกครั้ง คู่กันไปเสมอ
ผู้ฟัง ที่ว่าอารมณ์แรงจนถึงตทาลัมพนะ จะมีผลอย่างไรหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ หมายความว่าอารมณ์นั้นยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ทำให้ตทาลัมพนะจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์เป็นวิบากเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง ดีไหมถึงตทาลัมพนะ
ท่านอาจารย์ ดีอย่างไร
ผู้ฟัง คือมันยาวดี
ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวเลย เพราะเหตุว่าแล้วแต่ชวนะ ชวนะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา
ผู้ฟัง กิเลสกับกรรมเกิดขึ้นในขณะจิตเดียวกันที่เป็นอกุศลชวนะ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ต้องเกิดร่วมกันแน่นอน เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิด นอกจากจะมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ก็ยังต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง อันนี้เป็นกรณีของอกุศลกรรม ซึ่งอกุศล คือ กิเลสเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม แต่ทีนี้ในกรณีของกุศลกรรม สงสัยว่ากิเลสเป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรมได้อย่างไร เพราะว่าต้องต่างขณะกัน แล้วกุศลกับอกุศลเกิดร่วมกันไม่ได้แน่
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ต้องทราบว่าเป็นปัจจัยโดยเป็นอดีตปัจจัย หรือ ว่าเป็นปัจจัยโดยเป็นปัจจุบัน อย่างจิตกับเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ขณะนั้นเป็นปัจจัยโดยต่างก็เป็นปัจจุบัน เป็นปัจจัยในปัจจุบันกาล คือ เจตสิกได้แก่ เจตนา สัญญา พวกนี้ที่เกิดกับจิตใด ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันโดยการเกิดพร้อมกันเป็นปัจจุบัน แต่ถ้าอย่างอดีตกรรมที่ทำไปแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก กรรมที่ทำไปแล้วไม่ได้มาเกิดร่วมหรือพร้อมกับวิบากจิต แต่ว่าเป็นอดีตปัจจัยที่ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เวลาที่จะพูดถึงเรื่องปัจจัยนี้ ก็ต้องทราบว่า ในขณะนั้นกล่าวถึงปัจจัยโดยเป็นปัจจัยที่เป็นอดีต หรือเป็นปัจจัยที่เป็นปัจจุบัน
ผู้ฟัง หมายความว่า ที่ว่ากิเลสเป็นเหตุให้กระทำกรรมนั้น ก็เป็นในขณะเดียวกันก็ได้ หรือว่าต่างขณะกันก็ได้ แล้วแต่ว่าจะเกิดขณะเดียวกันหรือต่างขณะกัน
ท่านอาจารย์ คิดถึงจิตขณะหนึ่งๆ จะเข้าใจ คือว่าขณะหนึ่งที่อกุศลจิตเกิดต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศลจิตที่ทำอกุศลกรรม ขณะนั้นก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกด้วย เพียงแต่ว่าต่างระดับขั้น
ผู้ฟัง หมายถึงว่ากิเลสนั้น เป็นอนุสัย หรือปริยุฏฐานะ หรือว่าเป็นวีติกกมะ ถ้าเมื่อตราบใดที่ยังไม่ล่วงออกมาเป็นทางกาย อกุศลกรรมอันนั้นก็ยังเป็นปริยุฏฐานอยู่ กิเลส และกรรมก็เกิดในขณะจิตเดียวกัน แต่ถ้าล่วงออกมาทางกายเป็นวีติกกมะ อย่างเช่นโกรธแล้วไปทำร้ายสัตว์ ตีสุนัข คนละขณะ ขณะที่โกรธกับขณะที่ตี ขณะที่ตี โกรธด้วย แต่ว่ากระทำกายกรรมคือตีด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คิดถึงจิตขณะหนึ่งๆ ว่าจิตขณะนั้นเป็นอกุศลระดับใด
ผู้ฟัง เป็นอกุศลระดับใด ต้องดูที่ระดับของอกุศล
ท่านอาจารย์ ใช่
ผู้ฟัง การที่เราได้เรียนรู้ในเรื่องของวิถีจิต โดยเฉพาะในลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตน โดยสามารถแห่งชวนวิถี หรือเราเรียนรู้วิถีจิตทั้งหมด อันนี้ถ้าเผื่อเราได้เรียนรู้อันนั้นแล้ว เราจะเข้าใจสังสารวัฏฏ์ยิ่งขึ้น หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่าตราบใดที่ยังมีเหตุ ตราบนั้นผลก็ต้องมี เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังมีกิเลสอยู่ ไม่หมดสังสารวัฏฏ์ เพราะเหตุว่าก็จะต้องมีกรรม เมื่อมีกรรมก็จะต้องมีวิบาก ถ้าตราบใดยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องมีกรรม
ผู้ฟัง ทีนี้สำหรับประการที่ ๓ ที่ชื่อว่าจิตเพราะเป็นธรรมชาติที่กรรมกิเลสสั่งสมวิบาก อันนี้พอฟังแล้วก็รู้สึกยังจะไม่เข้าใจชัด เท่ากับข้อ ๒ ที่ว่าสั่งสมสันดาน เรามองเห็นชัดเลยว่าถ้าเราเกิดอกุศลซ้ำกัน ๗ ครั้ง สั่งสม แต่คำว่ากรรมกิเลสสั่งสมวิบาก ลักษณะจิตที่ ๓ เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ากิเลสก็ไม่ได้เกิดที่อื่น กิเลสก็เกิดกับจิต แล้วกรรมก็ไม่ได้เกิดที่อื่น กรรมก็เกิดที่จิต แล้วจิตที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้า เพราะว่าเหตุกับผลจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ คือ กุศลจิตจะเป็นกุศลวิบากจิตในขณะนั้นด้วยไม่ได้ หรือว่าอกุศลกรรมจะเป็นอกุศลวิบากในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ว่าเมื่อทำกรรมแล้ว อกุศลกรรมดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น
ผู้ฟัง สั่งสมวิบากอย่างไร
ท่านอาจารย์ เกิดดับสืบต่อกันเรื่อยๆ
ผู้ฟัง เกิดในจิตที่เกิดดับสืบต่อ
ท่านอาจารย์ ทุกขณะ
ผู้ฟัง เหมือนกุศลอกุศลเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ทุกขณะ
ผู้ฟัง วิบากก็ไปด้วยทุกขณะ
ท่านอาจารย์ ยังไม่เกิด แต่มีปัจจัยที่จะให้เกิด
ผู้ฟัง ที่ถามเรื่องสั่งสม ผมว่าทุกคนก็งงเหมือนกัน แต่ทีนี้เอาที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือว่าสั่งสมตั้งแต่เป็นกลละแล้ว ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจิตแล้ว ใช่ไหม ตั้งแต่นั้นมา หมายความว่า คือตอนนี้เขาพูดถึงเรื่องการทำแท้ง ทำแท้งเด็กไม่บาป ความจริงตั้งแต่กลละแล้ว ตอนนั้นก็เป็นมนุษย์แล้ว เพียงแต่ว่าไม่เป็นรูปร่างไม่สมบูรณ์ อวัยวะยังไม่ครบเท่านั้นเอง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ พูดถึงเรื่องการสั่งสม เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของรูป อันนี้ต้องแยกกัน คือ รูปไม่ใช่สภาพรู้ นามธรรม การสั่งสม สั่งสมที่นามธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่แยกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ ก็จะยังคงมีความยึดถือรูปนามที่รวมกันว่าเป็นตัวตน จนกว่าปัญญาจะประจักษ์จริงๆ ว่า นามธรรมนั้นไม่ใช่รูปธรรมโดยเด็ดขาด เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันจริงๆ คือ รูปไม่ใช่สภาพรู้เลย แล้วก็นามธรรมเท่านั้นที่เป็นสภาพรู้ การสั่งสมก็สั่งสมเฉพาะนามธรรม
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อรูปที่เกิดจากกรรมก็สั่งสมไม่ได้
ท่านอาจารย์ ต้องแยกความรู้เรื่องนามกับรูปออกจากกันโดยเด็ดขาดว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้มี ๒ อย่าง คือ จิตเจตสิกซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น แล้วเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ไม่เกี่ยวกับรูปเลย แต่ว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้นที่นามรูปอาศัยเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน แต่ถ้าในภูมิอื่นแล้ว เฉพาะนามธรรมเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้
ในขณะนี้เวลาอกุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ก็ระลึกได้แล้วว่าสั่งสมฝ่ายไม่ดี แล้วก็น่ากลัวกรรมซึ่งจะเกิดเพราะการสั่งสมอกุศลที่ไม่ดีนั้น เพราะเหตุว่าถ้าอกุศลนั้นมีกำลังเมื่อไร ก็จะกระทำทุจริตกรรมเมื่อนั้น แล้วก็เมื่อมีกรรมซึ่งเป็นเหตุแล้ว วิบากข้างหน้าต้องมีแน่นอน เพราะว่าเราขณะนี้ที่เกิดมาแล้ว ก็มีการรับผลของกรรมโดยวิบากจิตเกิดขึ้นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งถ้าทุกคนมั่นใจจริงๆ ว่า ไม่มีใครทำอะไรได้เลยสักขณะเดียว ขณะจิตที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างเร็ว มีปัจจัยพร้อมที่จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ยอมหยุดด้วย จิตขณะเมื่อกี้ดับไปแล้ว ก็มีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สังสารวัฏฏ์จึงยืดยาวมาก แล้วก็ไม่ได้จบอยู่เฉพาะชาตินี้ ในชาตินี้ก็ยังเห็นกรรม และผลของกรรม ชาติหน้าก็จะต้องมีต่อไปเรื่อยๆ ถ้าผู้ใดที่เห็นผลของอกุศลกรรม แล้วก็เห็นโทษ ก็จะสั่งสมกุศลกรรมมากขึ้น แล้วถ้าผู้ใดเห็นว่าการเกิดก็ไม่มีอะไรเลย ตั้งแต่เกิดมาไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ทุกขณะผ่านไป หมด ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกวัน จนกระทั่งถึงขณะจิตสุดท้าย ก็ไม่สามารถจะมีอะไรติดตามไปได้เลย แต่กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาตินี้ ก็เป็นอย่างนี้ เหมือนกับกำมือเปล่าจริงๆ ซึ่งเราก็ควรที่จะได้เกิดปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรม เพื่อที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม มิฉะนั้นแล้วไม่มีหนทาง ถ้ายังคงเป็นอกุศลมากๆ แล้วก็ไม่อบรมเจริญปัญญาเลย ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็ปรากฏ แต่ว่าจิตมีปัจจัยที่จะเป็นโลภะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าเป็นโทสะ ก็หมุนเวียนไปในเรื่องของอกุศล
ผู้ฟัง การสั่งสมนี้ จิตแยกออกไปมากเหลือเกิน ทั้งจิตที่ไม่มีวิถี และจิตที่มีวิถี ทีนี้พิจารณาถึงเรื่องการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เช่น เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต นั่นก็เป็นจิตที่ไม่มีวิถี
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นวิถี ไม่ใช่วิถีจิต
ผู้ฟัง ไม่ใช่วิถีจิต แล้วก็ ต่อมาก็ภวังคจิต แล้วก็จุติจิต จิตเหล่านี้ไม่รวมทั้งจิตที่รู้ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทีนี้คำว่าสั่งสม หมายความว่า ความจริงจิตทั้งหมดเหมือนน้ำหยดหนึ่ง แต่ว่าพระพุทธองค์ท่านทรงแยกเพื่อความเข้าใจเท่านั้น แต่ว่าสะสม หมายความว่า อาวัชชนะก็สั่งสม จิตทุกดวงสะสมทั้งนั้นหรือเปล่า หรือว่าไม่มีวิถีแล้วก็ไม่สะสม
ท่านอาจารย์ ต้องแยก ถ้าเป็นวิบากจิต เกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีตที่ได้ทำแล้ว มีปัจจัยที่พร้อมจะให้วิบากจิตประเภทไหนเกิด วิบากจิตประเภทนั้นก็เกิด เห็นทางตา หรือได้ยินเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น แล้วก็กระทบสัมผัสทางกาย แล้วดับหมดไปเลย วิบากจิตไม่มีหน้าที่อะไรเลย เพียงแต่เป็นผลของกรรมที่ทำให้ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
ผู้ฟัง ผมสงสัยว่าในเมื่อปฏิสนธิจิตเป็นตัวกำหนด
ท่านอาจารย์ เป็นวิบากจิต
ผู้ฟัง เป็นวิบากจิต ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ เกิดขึ้นเพราะกรรม
ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิตทำหน้าที่ปฏิสนธิอย่างเดียวแล้วก็หมด
ท่านอาจารย์ อย่างเดียวแล้วก็ดับไป วิบากจิตทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงทำกิจของวิบากจิตเท่านั้นเองแล้วก็ดับ แต่ต่อจากนั้นหลังเห็นแล้ว หลังได้ยินแล้ว แล้วแต่ว่าจิตของใครสะสมกุศลมา กุศลเกิดบ่อย จิตของใครสะสมอกุศลมา อกุศลก็เกิดบ่อย
เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นแต่ละคนมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นวงศาคณาญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง หรือว่าข่าวที่ได้รับฟัง ก็จะเห็นได้ว่ามีความวิจิตร มีความคิดต่างๆ กันตามการสะสม วิจิตรมากทีเดียว
ผู้ฟัง บุคคลที่ตายไปแล้ว มาเล่าให้ฟัง เป็นผลรู้จากจุติจิตใช่หรือเปล่า
อ. สมพร ท่านถามว่าคนที่ตายไปแล้ว
ผู้ฟัง มาเล่าเรื่องราวที่ไปพบเหตุการณ์ ที่น่าเชื่อถือได้
อ. สมพร ที่เขาบอกว่าตายนั้น ไม่ใช่ตายจริง เพราะว่าตายจะต้องมีจุติจิตเกิดขึ้น เพราะการสลบ บางทีก็สลบไปนานก็มี เพราะการสลบไม่ใช่ตาย ไม่ใช่จุติจิต เพราะว่ายังเป็นไปในปวัตติกาลอยู่ แต่ว่าสลบ คือ การสลบก็มีหลายลักษณะ บางคนต่างประเทศสลบตั้งนานหลายๆ ปีก็ยังมี เพราะฉะนั้น การสลบไม่ใช่ตาย แต่ว่าวิถีจิตก็ยังเกิดได้ เขาบอกว่ามีวิถีจิตเกิดได้ในชวนะ ๖ ชวนะคนสลบ คนตายใกล้ตายมี ๕ ขณะ โดยคนปกติก็มี ๗ ขณะส่วนมาก ดังนั้นที่ว่า เขาบอกว่าตายไปแล้ว ๒ วัน ๓ วันแล้วก็ฟื้นขึ้นมามาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่ การที่เป็นไปได้อย่างนั้นเหมือนเราฝัน เราหลับไปเราก็ฝันมา ตื่นขึ้นขึ้นมาเล่าเรื่องราวที่เราฝันว่าเราไปอย่างนั้นจริงๆ มีรูปร่าง มีตัวตน พบคนนั้นพบคนนี้อะไรต่างๆ นานา การฝันอาจจะเกิดจากกรรมบันดาลก็ได้ เมื่อกรรมบันดาลส่วนมากก็มีจริง เหตุของฝันมี ๔ อย่าง ทีนี้ในเรื่องของตายไปแล้วฟื้นมา อาจจะเหมือนอย่างความฝัน กรรมบันดาลให้ปรากฏอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเรื่องนั้นจริงก็เป็นเหตุของกรรมบันดาล เหมือนฝัน เรียกว่าบุพนิมิต เหมือนฝันแล้วเรามาเล่าให้ฟัง บางคนเขาเล่าอย่างนี้ เขาตายไปเขาไปนรก แล้วยมบาลก็บอกว่า คนนั้นจะตายในปีนั้น วันนั้น เดือนนั้น แล้วเขาก็ฟื้นขึ้นมาเล่าให้ฟัง ก็แบบเดียวทำนองที่ฝัน แต่ว่าฝันอย่างนั้นเป็นบุพนิมิต ถ้าตายจริง คนนั้นถึงเวลาตายจริง ก็เป็นเพราะบุพนิมิต กรรมบันดาลให้ทราบ ความฝันมีถึง ๔ อย่าง ของจริงเกิดจากกรรมเรียกว่า บุพนิมิต ก็เป็นโดยทำนองนี้ เพราะว่าตายแล้วจะฟื้นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจุติจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แล้วก็ดับไปเลย เกิดขึ้นในภพใหม่ เรียกปฏิสนธิ
ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาธรรมแล้ว คงจะทราบแน่นอน ใครก็ตามที่บอกว่าตายไปแล้วฟื้นขึ้นมา เข้าใจผิด เพราะว่าตายไม่ได้ ถ้าตายหมายความว่าจุติจิตเกิด คือ จิตขณะสุดท้ายของภพชาตินี้ ทำให้สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย ใครจะคิดว่า ตายไป ๕ วัน ๑๐ วัน ๓ วันหรืออะไรก็ตามแต่ แต่จุติจิตไม่ได้เกิด จะชื่อว่าตายไม่ได้ แต่ว่าอาจจะคิดเอาเองว่าตายไปแล้ว แต่ความจริงถ้าตายก็คือจุติจิตเกิด แล้วดับ แล้วสิ้นความเป็นสภาพบุคคลนี้ กลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย
ผู้ฟัง ที่เขาชอบเล่าว่า ตายแล้วได้ไปนรกบ้าง สวรรค์บ้าง หรือว่าไปนั่งสมาธิอยู่ในห้องน้ำ ไปสวรรค์กลับมาแล้วอย่างนี้ เป็นประเภทจิตอาวรณ์ไป จิตระลึกนึกถึงไป เคลิบเคลิ้มไป หรืออะไรอย่างนี้ อาจจะอาหารกำเริบกินอาหารมาก ทำให้ธาตุไม่ปกติฝันว่าลอยได้ เหาะได้อย่างนี้ อยากจะให้อธิบายทั้ง ๔ เพื่อจะได้สอดคล้องกับพวกที่คิดว่า ตัวเองไปนรกได้ ไปสวรรค์ได้ แล้วก็กลับมาทั้งๆ ที่ยังไม่ตายจริงๆ เรียกว่าสลบไปเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหนเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต
ผู้ฟัง ขณะไหน
ท่านอาจารย์ ที่ฝันว่าลอยได้ หรืออะไรอย่างนี้
ผู้ฟัง ก็คงจะเป็นอกุศลจิต
ท่านอาจารย์ สั่งสมมาใช่ไหม ถ้าไม่สั่งสมมาก็ไม่ฝันแปลกๆ อย่างนั้น
ผู้ฟัง เคยแบบทานอาหาร อิ่มๆ แล้วก็นอน
ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตาม
ผู้ฟัง นอน แล้วก็เหาะได้
ท่านอาจารย์ สะสมความคิดนึกต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็ออกมาในรูปแบบที่เรียกว่า ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนทั้งสิ้น ควรที่จะทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อันนี้คือประโยชน์ แทนที่ว่าจะไปคิดว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ก็ยิ่งเป็นอกุศลที่คิดไปเรื่อยๆ แต่ว่าถ้าระลึกได้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นแต่เพียงความคิดนึก และเรื่องความคิดนึก ถ้าใครสนใจก็จะออกไปนอกโลกกว้างมากเลย เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เพื่อที่จะได้เป็นกุศลจิตที่รู้
ผู้ฟัง ที่คุยกันนี้ไม่รู้ว่ามันไปเข้าของกิเลส กรรม วิบาก ตรงไหน
ท่านอาจารย์ ความคิดเป็นอกุศลจิตที่คิด เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตคิดไปในกุศล ก็เป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องความสงบของจิต ในเรื่องการรู้ลักษณะสภาพธรรม นอกจากนั้นเป็นอกุศล
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180