ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146


    ตอนที่ ๑๔๖

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งซึ่งใครก็สร้างจิตสักขณะเดียวไม่ได้ ให้เห็นธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ วิญญาณธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่งอาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น เหมือนไฟซึ่งมีเหตุปัจจัยเมื่อไหร่ไฟก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ธาตุชนิดนี้เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเป็นจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น เมื่อมีปัจจัยพร้อมที่จะเป็นโสตวิญญาณ จะเป็นโสตวิญญาณ ไม่ใช่มีโสตวิญญาณอยู่แล้ว แต่ว่ามีปัจจัยพร้อมที่จะเป็นโสตวิญญาณเกิดขึ้น โสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยิน ชั่วขณะหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่กรรม แต่ว่าเป็นผลของกรรม แต่ว่าหลังจากนั้นเมื่อกิเลสมี ก็ยังคงเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้างก็แล้วแต่ เป็นเหตุที่ว่าให้เกิดกุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสอยู่

    ผู้ฟัง ตอนเป็นวิปากปัจจัยก็หมายความว่า เมื่อจิตกับเจตสิกเกิดร่วมกันแล้ว ต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน เรียกว่าวิปากปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจะต้องเกิดร่วมกัน กุศลจิตจะไปเกิดกับวิบากจิตก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น กุศลเจตสิกเกิดกับวิบากจิตไม่ได้ ต้องเป็นวิบากเจตสิกซึ่งเกิดกับวิบากจิต

    ผู้ฟัง วิปากปัจจัยที่กล่าวว่าจิต และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันเรียกว่า วิปากปัจจัย จิตเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ขณะที่กำลังเห็นได้ยินก็เรียกว่า สหชาตปัจจัย

    ท่านอาจารย์ มีหลายปัจจัย ไม่ใช่มีปัจจัยเดียว

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะถูกหรือเปล่า เข้าใจว่าในขณะที่เห็น จิตเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นวิปากปัจจัย คือ ปัจจัยเป็นอุปการะให้เกิดกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ได้มีกุศลอกุศลเกิดเลย ขณะนั้นเป็นวิบากจิตกับวิบากเจตสิก ไม่มีกุศลอกุศล จิตขณะเดียวเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง แต่อุปการะให้กุศล และอกุศลเกิด ทำให้เกิดความพอใจไม่พอใจจากการที่เห็น ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสำหรับพระอรหันต์ไม่มีกุศล และอกุศลเลย

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ ขอความกรุณาอาจารย์ให้ความหมายภาษาบาลี วิปาก ก่อนได้ไหม

    อ. สมพร วิปากปัจจัย เราก็แยกออกเป็น ๒ ส่วน วิ ปา กะ หมายถึงวิบาก วิบากนี้ก็หมายถึงผลของกรรม กรรมดีหรือกรรมชั่ว แปลอย่างอื่นก็ได้ สุกงอมก็ได้ คือ เป็นผลของกรรมที่ถึงคราวที่จะให้ผลแล้วก็สุกงอมเปรียบเหมือนผลไม้ สุกงอมจะหล่นแล้ว วิบากเป็นปัจจัย วิปากปัจจัย คือ ปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น จิต เช่น จักขุวิญญาณ จิตเห็น ก็ต้องเป็นวิปากปัจจัย วิบากทั้งหลายของเจตสิกของจิตเกิดพร้อมกัน เป็นปัจจัยให้จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นเรียกว่าจักขุวิญญาณ หรือเหมือนคำว่าเหตุปัจจัย เหตุเป็นปัจจัย ปัจจัยหมายถึงที่อาศัยหรืออุปการะอย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุเป็นปัจจัย มุ่งถึงเหตุ ๖ แต่ในที่บางแห่งเหตุกับปัจจัยมีความหมายเหมือนกัน แต่ถ้าในที่นี้ เหตุหมายถึงเหตุ ๖ ปัจจัยหมายถึงปัจจัยทั้ง ๒๔ ประเภท

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงปัจจัยแล้ว จะต้องพูดถึงผลของปัจจัยด้วย ที่เรียกว่าปัจจยุบปัน อย่างในวิปากปัจจัย จิต เจตสิก จักขุวิญญาณจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือสัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ เกิดร่วมด้วย ขณะที่วิบากจิตเกิด เรียกว่าวิปากปัจจัย วิปากปัจจัยจะเกิดลอยๆ โดยที่ไม่มีสิ่งอื่นร่วมไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ต้องมีสหชาตธรรมเกิดร่วมด้วย เรียกว่าให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่ถ้าหากพูดถึงจิตเป็นตัวปัจจัยแล้ว สหชาตธรรมที่เกิดร่วมด้วยนั้น ไม่เรียกว่าเป็นปัจจัย เรียกว่าเป็นปัจจยุบปัน คำนี้ไม่ใช่ปัจจุบัน ปัจจยุบปัน แปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย พูดง่ายๆ ว่า ผลนั่นเอง ถ้าจะพูดเป็นภาษาไทยว่าผลนั่นเอง ผลของปัจจัยคือ ปัจจยุบปันแปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย

    ทีนี้ผมก็อยากจะเรียนถามว่า ขณะที่จักขุวิญญาณเกิด ขณะที่เห็นรู้สึกว่ามันจะสั้นเหลือเกิน แล้วจะระลึกได้เมื่อไหร่ไม่ทราบ แต่รู้สึกว่าสั้นเหลือเกิน เพราะว่าเราเห็นแล้วเราเห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของไปหมด ที่จะเห็นจักขุวิญญาณจริงๆ ไม่ทราบว่าโอกาสที่จะเห็นไม่รู้เมื่อไหร่จะเห็นได้ ไม่รู้ว่าจะเจริญสติอย่างไรถึงจะให้เห็นจักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ก็ผิดอีกแล้ว ไม่ทราบว่าจะเจริญสติอย่างไรถึงจะให้เห็น ถ้าสติระลึก แล้วปัญญาค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความรู้ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นไหม เพราะว่าไม่ใช่ใครเห็น แต่เป็นปัญญาที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นปัญญาก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจ ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้วก็จะเจริญอย่างไรที่จะให้เห็น เป็นสิ่งที่ไม่ถูก

    ในขณะนี้ที่กำลังเห็นก็ไม่ต่างอะไรตามปกติ ค่อยๆ รู้ ขณะนี้เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เหมือนทางหูที่กำลังได้ยิน ก็เป็นสภาพรู้ธาตุรู้ หรือว่ากำลังคิดนึกก็เป็นธาตุรู้สภาพรู้ หรือว่ากำลังรู้สิ่งที่แข็งที่อ่อนก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีอะไรที่ต่างกันสำหรับทางตาที่เห็นกับทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก เหมือนกันหมด ธาตุรู้แล้วต้องเหมือนกัน

    ผู้ฟัง เป็นเพราะว่าเราความเข้าใจไม่มั่นคง เพราะว่าเห็นทีไรความเข้าใจไม่มี ได้ยินที่ไรความเข้าใจไม่มี

    ท่านอาจารย์ ต้องมีแน่ๆ ที่เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วขณะนี้ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้พิสูจน์จริงๆ ว่า มี แล้วสิ่งนี้ต้องมีกับสภาพที่กำลังเห็น ถ้าไม่เห็น สิ่งนี้ก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ ก็เป็นปกติธรรมดา เหมือนกับได้ยิน เหมือนกับคิดนึก ต้องคิดแล้วเข้าใจว่าเป็นชีวิตประจำวัน แต่ลักษณะของสภาพหรือธาตุรู้นี้ ไม่เคยระลึกได้ หรือความเข้าใจยังไม่มั่นคง เพราะฉะนั้น ก็เต็มไปด้วยความสงสัย และไม่ต้องมีการเจาะจงว่า จะรู้จักขุวิญญาณ นั่นเป็นชื่อ แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็นที่จะไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะเหตุว่ามีธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ต้องค่อยๆ เริ่มที่จะพิจารณาให้เข้าใจในธาตุรู้ แยกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วทางหนึ่งทางใดก็เหมือนกันหมดทั้ง ๖ ทาง

    ผู้ฟัง ทีนี้เราก็เข้าใจแต่ชื่อ คือ ไม่เข้าใจสภาพจริงๆ ไม่เข้าใจที่เห็นจริงๆ ไม่เข้าใจ เห็นแต่ไม่เข้าใจ หรือเห็นแต่ไม่รู้ ได้ยินก็ได้ยิน แต่ว่าไม่รู้ คือความเข้าใจในขณะเห็น มันไม่เกิด ความเข้าใจในขณะได้ยิน มันไม่เกิด เป็นแต่เพียงจำได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ค่อยๆ อบรม ไม่ใช่ว่าทำอย่างไรถึงจะรู้ ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ขึ้น

    ผู้ฟัง ไม่มีวิธีทำ

    ท่านอาจารย์ ใครทำ มรรคมีองค์ ๕ ทำกิจของมรรค ไม่ใช่เราทำ

    ผู้ฟัง คืออย่าไปนั่งหลับตาเพื่อที่จะให้เห็นวิปัสสนา เดี๋ยวนี้มันคือมันแปลไปมาก คือสรุปแล้วก็ว่า เรื่องที่จะเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องที่จะไปนั่งหลับตานึกเอา ทำอะไรทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่จะต้องมีความเข้าใจขณะที่ธรรมเกิด ถ้าตราบใดความเข้าใจยังไม่ตรง ตรงนั้นสติก็ระลึกรู้ไม่ถูก สติก็ไม่เกิด

    ผมจะขอเรียนถามอีกอันที่เรียกว่า กัมมปัจจัย ที่เรียกว่ากิเลสสั่งสมกรรม กรรมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก เฉพาะนานักขณิกกรรมปัจจัยเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าทำให้เกิดวิบากแล้ว ต้องเฉพาะนานักขณิกกรรม

    ผู้ฟัง สหชาตปัจจัยไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าพูดถึงวิบากเกิดขึ้นเพราะนานักขณิกกรรมปัจจัย ปัจจัยในอดีตที่ทำให้มีจักขุปสาทรูป มีจิตเห็นขณะนี้ ปัจจัยในอดีต ทำให้มีโสตปสาทรูป ที่ทำให้ได้ยินขณะนี้ นี่คือกรรมที่ได้กระทำแล้ว ต่างวาระ เป็นปัจจัยให้วิบากเกิดขึ้น แต่ว่าเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณพวกนั้นเป็นสหชาตกรรมปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่เป็นกรรมปัจจัยมี ๒ อย่าง ถ้าพูดถึงสหชาตกรรมปัจจัย หมายความถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แม้ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่ถ้าพูดถึงว่าเห็นในขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ต้องเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย ถ้าจักขุวิญญาณในขณะนี้เป็นอกุศลวิบาก ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย เป็นนานักขณิกกรรมปัจจัย

    ผู้ฟัง ขอสนทนาถึงตอนที่พูดถึงสภาพเห็น หรือสภาพรู้ ในขณะที่พูดถึงอาการรู้หรือธาตุรู้ นามธรรมในขณะนั้นมีทั้งจิต และเจตสิก ไม่ทราบว่าจะหมายถึงเฉพาะจิตหรือเปล่าไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เพราะว่าลักษณะของเจตสิกไม่ได้ปรากฏเลยสักดวงเดียว เช่นในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ผัสสเจตสิกก็ไม่ได้ปรากฏ เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตอินทรียเจตสิก มนสิการเจตสิกก็ไม่ได้ปรากฏเลย แต่มีธาตุรู้ ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ขณะนี้มีคนบอกว่าสติไม่เกิดจะทำอย่างไร ผิดอีก ไม่ใช่เรื่องทำ ทุกคนต้องการอะไร ถ้าต้องการปัญญา ต้องรู้ว่าปัญญาจะเกิดได้อย่างไร แล้วปัญญานั้นรู้อะไร ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ปัญญาขั้นนี้จะเกิดได้เมื่อไหร่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใครก็มีปัญญาขั้นนี้ได้ ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นฟัง แล้วขณะที่ฟังก็ต้องพิจารณาให้ถูกต้อง ให้เข้าใจขึ้น และถ้ากำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่ต้องเดือดร้อนว่าเมื่อไหร่สติจะเกิด มาอีกแล้วเรื่องของโลภะ ซึ่งแทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็กลายเป็นเมื่อไหร่สติจะเกิด เมื่อไรจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยที่ว่าเหตุไม่ตรงเลย ถ้าเหตุตรง คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือเหตุตรง เพราะฉะนั้น ถ้าเหตุนี้ยังไม่มี ก็จะเดือดร้อนทำไม ในเมื่อจิตทุกขณะก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ เมื่อยังไม่เข้าใจก็ค่อยๆ ฟัง พิจารณาให้เข้าใจขึ้น แล้วเมื่อมีปัจจัยสติก็เกิด เหมือนได้ยินจะมานั่งคิดว่า เมื่อไหร่จะได้ยิน โดยที่เสียงก็ไม่มีปรากฏ หรือว่าโสตปสาทก็ไม่มี แล้วจะบอกว่าได้ยินเมื่อไหร่ แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะให้ได้ยิน คือเสียงมีเมื่อไหร่ มีโสตปสาทเมื่อไหร่ ได้ยินก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น

    สติปัฏฐานก็เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องรอ แต่เป็นเรื่องซึ่งพร้อมด้วยเหตุปัจจัยเมื่อไหร่ก็เกิด เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่พร้อม ก็ยังไม่เกิด แล้วก็สะสมไปแล้ววันหนึ่งก็ต้องเกิดเพราะเหตุว่ามีเหตุที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แล้วเมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็อย่าใจร้อน เมื่อไรจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม นี่ก็เป็นเรื่องของการที่จะไม่รู้ แต่เป็นเรื่องที่อยากจะประจักษ์ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการที่จะรู้จริงๆ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่อดทน แล้วก็รู้จักตัวเองตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะที่สติระลึกครั้งแรกยังไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมได้ แต่ว่าระลึกไปอีก ต่อไปอีก ค่อยๆ ชินขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น แล้วในที่สุดเมื่อมีเหตุสมควรแก่ผลเมื่อไหร่ ผลก็เกิด โดยไม่ต้องให้โลภะเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือว่าเข้ามานั่งถามว่า เมื่อไหร่ หรือว่าทำไมสติเกิดน้อย

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงเรื่องกรรมแล้ว ชีวิตประจำวันของเราทุกๆ วันทำอะไรต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะการเห็น การได้ยิน การคิดนึกต่างๆ เหล่านี้ จะถือว่าเป็นกรรม ถ้าเราไม่ทำอะไร เรานั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ เราคิดว่าเราถือว่า เราทำกรรมไหม นั่งอยู่เฉยๆ ว่า เราไม่ได้ทำอะไร เพราะว่าถ้าขืนทำไป ก็มีแต่เรื่องผิดอยู่ตลอดเวลา เราก็นั่งอยู่เฉยๆ ดีกว่าจะได้ไม่ต้องทำอะไรเลย สบาย ไม่ต้องมีอะไร อย่างนี้จะเป็นกรรมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องดูเรื่องของอกุศลกรรมบถ แล้วก็องค์ของอกุศลกรรมบถด้วย นั่งเฉยๆ แต่ว่าคิดปองร้ายคนอื่น คิดพยาบาท คิดจะฆ่าใครได้ไหม เพราะว่าบางคนนั่งเหมือนกัน แต่ใจไม่เหมือนกัน คนหนึ่งนั่งแล้วก็คิดเรื่องที่ดี อีกคนนั่งแล้วก็คิดเรื่องที่จะเบียดเบียนทำร้ายคนอื่น หรือว่าคนหนึ่งนั่งแล้วก็คิดแผนการที่จะปองร้ายทำร้ายใครก็ได้ ฆ่าก็ได้

    ผู้ฟัง แค่คิดเท่านั้น ไม่น่าจะมีผล ถ้ามองในแง่ของความรู้สึกสบาย เฉยๆ นั่งเฉยๆ ไม่น่าจะมองว่า

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นเจตนาที่เป็นอกุศลที่คิดร้ายขณะนั้น แล้วแต่ว่าจะทำหรือยังไม่ทำ เพราะเหตุว่าการกระทำทุจริตก็ต้องมีบุพพเจตนา คือ การตั้งใจไว้ก่อน หรือการคิดก่อน ถ้าไม่คิดตั้งใจก็คงจะไม่มีใครทำสิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าอาจจะทำได้โดยการที่ว่า เพียงแค่เดินผ่านไปอาจจะพบงู แล้วเลยฆ่าเสีย โดยที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน แต่การฆ่าในขณะนั้นก็เป็นอกุศล ซึ่งไม่ได้เตรียมแผนการมาก่อน แต่ว่าบางอย่าง บางแผนการก็ต้องตระเตรียมการที่จะทำทุจริต

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะกะเกณฑ์ไปว่า คนนั่งเฉยไม่เป็นอกุศล หรือว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เพียงแต่ว่าการกระทำนั้นยังไม่เกิด แต่จิตใจในขณะนั้นเริ่มเป็นอกุศลเจตนาที่จะกระทำกรรมให้สำเร็จได้

    ด้วยเหตุนี้ก็มีความละเอียดที่ว่า ถ้าถือเจตนาเจตสิกเป็นกรรม จำแนกเป็นชาติต่างๆ แล้วก็ยังต้องดูว่าเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าคิดดี คิดที่จะถวายทาน อันนั้นก็จะเป็นบุพพเจตนาของกุศลกรรม หรือนั่งเฉยๆ แล้วสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นกุศลที่ยิ่งกว่าทาน เพราะเหตุว่าเป็นขณะการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การที่จะถือการนั่งเฉย แล้วก็คิดว่าปลอดภัย

    ผู้ฟัง ผมคิดว่า ถ้าเอาใหม่ นั่งเฉยๆ คิดไม่ดี ผมก็ทำบ้าง ก็ไปบวชเลยดีกว่า เขาบอกว่า บวชเป็นกุศลอย่างนี้ บวชเพื่อจะหนีกรรมไม่ดี ทำดีไปบวช บวชแล้วคิดว่าคงจะไม่ทำกรรมชั่ว จะเป็นอย่างนั้นได้ไหม หากเราไม่มีเจตนาที่จะทำกรรมชั่ว กรรมไม่ดีทั้งหลาย ก็เอาวิธีการบวชเป็นเครื่องแก้ ในการที่จะทำกรรมดี เรื่องวิธีการเมื่อกี้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ใช่จุดประสงค์ของการบวช ไม่ใช่เลี่ยงไปบวช หนีไปบวช นั่นไม่ใช่ ผู้ที่จะบวช หมายความว่า เป็นผู้เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะประพฤติพรหมจรรย์ในเพศของบรรพชิต หมายความว่าเจริญสติปัฏฐาน เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศบรรพชิต เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ไม่ต้องบวชก็เจริญสติปัฏฐานได้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ความต่างกันของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัทระหว่างผู้ที่บวชกับผู้ที่ไม่บวช คือว่าพุทธบริษัทที่ไม่บวช เพราะว่าไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่จะบวช ไม่มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้ แต่ว่าคฤหัสถ์ผู้นั้นก็เป็นพุทธบริษัทที่ดี สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และท่านอื่นๆ อีกมาก ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่อบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น การจะบวชไม่ใช่การหนีไปบวช

    ผู้ฟัง ไปไม่พ้นอีกแล้ว ต้องเจริญสติปัฏฐานอย่างที่อาจารย์ว่า คือเรื่องต้องอบรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ก็คือว่าเริ่มรู้จักตัวเอง ถ้ารู้จักตัวเองแล้ว อัธยาศัยแท้ๆ เป็นอย่างไร มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับจะเพื่อปฏิบัติธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์หรือไม่ เพราะว่าสำหรับเพศคฤหัสถ์ ถ้าได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงพระอนาคามี ไม่บวชก็ได้ แต่ถ้าได้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็บวชแน่นอน เพราะฉะนั้น ความต่างกันก็อยู่ที่จุดว่า เพื่อการบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง นี่คือจุดประสงค์สูงสุด ถือว่าปฏิบัติทางธรรม เราจะพิจารณาสภาพของจิตว่า ที่เกิดขึ้นทางตาอย่างเดียวไม่ได้ หมายความว่าต้องทางอื่นด้วย รวมทั้งทางใจด้วย หรือว่าต้องเพ่งเฉพาะทางตาอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นเรื่องอัตตาตัวตนที่จะเลือก ถ้าพูดในลักษณะนี้ เป็นเรื่องอัตตาตัวตน ไม่ใช่เรื่องอนัตตา ไม่ใช่เรื่องเข้าใจว่า ไม่มีเรา ไม่มีใครที่จะทำหน้าที่อะไรได้เลย สติเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นระลึกได้ และในมรรคมีองค์ ๘ ก็จะต้องมี ๕ องค์ซึ่งเกิดขึ้น เวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราจะเลือก หรือว่าจะดูทางหนึ่งทางใด แล้วแต่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรม ฟังมาเพื่อสติจะได้ระลึกรู้ได้ว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตานั้นอย่างหนึ่ง แล้วมีสภาพรู้ที่กำลังเห็นนั้นอย่างหนึ่ง แล้วก็ทางหูก็เหมือนกันมีเสียง ขณะนี้ก็มีเสียง เป็นสภาพธรรม แล้วก็มีนามธรรมคือสภาพที่รู้เสียง ได้ยินเสียง ศึกษาเรื่องธรรมทั้งหมด ก็เพื่อที่จะให้รู้ความจริงในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ทั้งหมดที่เรียนเพื่อรู้ความจริงของโลก ๖ โลก ๖ ทาง ซึ่งไม่ใช่เราจะเลือก หรือว่าเราจะทำ แล้วแต่ว่าสติเกิดหรือสติไม่เกิด ถ้าสติไม่เกิดก็หลงลืมสติ สติเกิดสติก็ระลึก ไม่ใช่เราจะเลือกระลึกที่โน่นที่นี่

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ ถ้าไม่เข้าใจ สติก็เจริญไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นที่ถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ต้องละลักษณะที่ปรากฏในชีวิตประจำวันทั้งหมดที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา

    จึงเป็นความละเอียด ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะกระทบสัมผัส ไม่ว่าจะคิดนึก เป็นชีวิตปกติธรรมดาจริงๆ เดี๋ยวนี้ และทุกขณะ ไม่ต้องทำอะไรเลย มีสภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่สภาพสติจะเกิดหรือไม่เกิด

    ผู้ฟัง หมายความว่า ต้องเข้าใจเรื่องสติว่า

    ท่านอาจารย์ ลักษณะขณะที่สติเกิด สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม นี่คือจุดเริ่มต้น ถ้าไม่รู้ลักษณะว่า เป็นสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นสติก็เจริญไม่ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของสติเป็นเรื่องที่มาเกี่ยวข้องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ลักษณะอย่างนี้จะเกี่ยวข้องอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สติในขณะที่ฟังต้องมี แล้วก็เข้าใจด้วยว่า ขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่ต้องมีสติที่จะฟังให้เข้าใจขั้นนี้ก่อน แต่ก่อนนี้เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั่นคือก่อนที่สติจะเกิด ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องสภาพธรรม แต่เมื่อฟังแล้ว ทางตาก็ต้องเป็นธรรมไปหมด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ยังไม่เคยเข้าถึงลักษณะของธรรมที่พูด ซึ่งทุกคนก็อาจจะพูดตามๆ กันว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ล้อมรอบตัวเป็นธรรม แม้แต่ในตัวก็เป็นธรรม ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ธรรม ก็พูดตามไปอย่างนี้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็พูดอย่างนี้ทั้งนั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    2 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ