ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
ตอนที่ ๑๕๘
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๗
ผู้ฟัง ปัญหาของเรื่องภพภูมิ มีภพภูมิอยู่จำนวนมากที่เราได้ศึกษามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอบายภูมิ ในความรู้สึกของคนเรากลัวอบายภูมิ การที่เรากลัวอบายภูมิ เราก็ต้องการอยากจะทำความดี เพื่อจะหนีอบายภูมิ ในความรู้สึกอย่างนี้ ความรู้สึกที่เราอยาก ภาษาพูดใช้คำว่าอยาก แต่ว่าที่จริงก็หมายความว่า มีความตั้งใจที่จะให้พ้นจากอบายภูมิ เราจะปฏิบัติตนอย่างไร หรือประพฤติตนอย่างไรถึงจะให้พ้นจากภูมิเหล่านี้
อ.สมพร เรื่องการปฏิบัติอย่างไรว่า โดยสภาวะแล้วกุศลทั้งหมดไม่ให้เกิดในอบายภูมิ กุศลตั้งแต่การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มีสติปัฏฐานเป็นต้น จะเป็นกุศลอะไรก็แล้วแต่ ถ้ากุศลนำเกิดแล้ว ก็ไม่เกิดในอบายภูมิแน่นอน เราจะปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ต้องเกิดในสุคติภูมิ เพราะว่ากุศลให้ผลเป็นสุขอย่างเดียว
ผู้ฟัง คำว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจ” มีมาในพระไตรปิฎกหรือไม่ มีตรงไหนที่จะทำให้เขาเข้าใจอย่างนี้บ้าง ไม่มีใช่ไหม มีไหม
อ.สมพร มีแต่อย่างอื่น อย่างนี้ไม่มี คำว่า สวรรค์ หมายความว่ามีอารมณ์อันเลิศ มีอารมณ์ที่ดี ก็เป็นสถานที่แห่งหนึ่ง สวรรค์หมายความว่าการเห็น ก็เห็นสิ่งที่น่าปรารถนา ได้ยินเหล่านี้เป็นต้น เรียกว่า อารมณ์อันเลิศในทางที่ดี เป็นสถานที่ นรกก็เป็นสถานที่อีก อารมณ์ที่ไม่ดี นรก หรือนิรยะ นิ แปลว่า ไม่ รยะ แปลว่าสถานที่น่ารื่นรมย์ มี นิ ไปด้วย หมายความว่า ไม่ใช่รื่นรมย์ เป็นสถานที่ที่มีแต่ความทุกข์ ฉะนั้นแปลว่าสวรรค์ก็มีจริง แต่ว่าคนละสถานที่ นรกก็มีจริง คนละสถานที่ แต่ว่าใจของเราเป็นเหตุให้เกิดในสวรรค์ และเป็นเหตุให้เกิดในนรกได้ เท่านั้นเอง
ผู้ฟัง สัตว์เดรัจฉาน เขาไม่มีที่เขาอยู่ แต่เขามาอยู่ปนกับเรา ทำไมเขาต้องมาอยู่ปนกับเรา คือ ดิฉันไม่เข้าใจ คือ เขาอยู่ในอบายภูมิ ๔ เราอยู่ในสุคติภูมิ ทำไมสัตว์เดรัจฉานจึงมีอยู่อันนี้ เหตุผลอะไร
อ.สมพร ภูมิของสัตว์เดรัจฉานโดยเฉพาะที่ท่านวินิจฉัยไว้ ไม่มีที่อยู่โดยเฉพาะของสัตว์เดรัจฉานอย่างเดียว แต่อาศัยภูมิของมนุษย์อยู่ แล้วท่านก็วินิจฉัย ที่ใดเป็นที่เกิดของเขา แล้วเป็นที่อยู่ประจำที่นั้นก็จัดเป็นภูมิของสัตว์เดรัจฉาน แต่ว่าเพราะว่าสัตว์เดรัจฉานเป็นอบายภูมิ หรือว่าที่อยู่ประจำจริงๆ ของเขาเรียกว่าภูมิของสัตว์เดรัจฉาน
ผู้ฟัง ภูมิมนุษย์เป็นสุคติภูมิ แล้วสัตว์เดรัจฉานเขาอยู่ในอบายภูมิ ทำไมถึงได้มาอยู่ภูมิเดียวกับสุคติ
อ.สมพร เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานปฏิสนธิ ด้วยประเภทอุเบกขาสันติรณอกุศลวิบาก เป็นประเภทเดียวกับอบายภูมิทั้งหมด จิตประเภทเดียวกันทั้งหมด เปรต นรก อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์หมายความถึง โลกคือโอกาสโลก ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ทำไมถึงมี ๒ ภูมิ คือ มนุษย์ ๑
ผู้ฟัง ซ้อนกันอยู่ ทั้งๆ ที่เขาแยกอยู่ในอบายภูมิ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ไม่ซ้อน เพราะเหตุว่าภูมิ หมายความถึงระดับขั้น ไม่ได้หมายความถึงโอกาสโลก
ผู้ฟัง ในที่นี้เรากำลังพูดถึงโอกาสโลก ทีนี้โอกาสโลก คือที่อยู่ของสัตว์โลก
ท่านอาจารย์ ของสัตว์โลก
ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าเรานึกถึงระดับขั้นของจิต เรานี้จะต้องไปเกิดในสุคติภูมิ
ท่านอาจารย์ มนุษย์
ผู้ฟัง ทีนี้สัตว์เดรัจฉาน เขาจะต้องไปเกิดในทุคติภูมิ
ท่านอาจารย์ ถึงจะเกิดที่ไหนก็ตาม โดยภูมิ โดยระดับขั้นของเขาแล้ว เขาเป็นอบายภูมิ เพราะว่าเขาเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ผู้ฟัง ระดับขั้นของจิต ใช่ไหม ไม่ใช่โอกาสโลก
ท่านอาจารย์ ไม่นับโอกาสโลก เพราะอย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่า สำหรับเดรัจฉานไม่มีภูมิที่เป็นโอกาสโลกโดยเฉพาะ
ผู้ฟัง ทีนี้สำหรับสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเราอาจจะมองไม่เห็น เวลานี้เราก็เห็นแต่อยู่ในมุมเดียวกับเรา จะเป็นไปได้ไหมว่า สัตว์พวกนี้จิตเขาวิจิตร เพราะฉะนั้น เขาจึงเลือกที่เกิด คือหมายความว่า เขามีบาปน้อยกว่าคนอื่น เขาจึงมาเกิดใกล้ตัวมนุษย์ ซึ่งมีระดับขั้นของจิตอีกอันหนึ่ง อันนี้จะเป็นเหตุผลได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นของมนุษย์ เทวดาชั้นต่ำที่เป็นภูมิเทวดาก็มี
ผู้ฟัง แต่เราไม่เห็น
ผู้ฟัง ทีนี้อบายภูมิ จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทุคติภูมิก็ได้ ใช่ไหม
อ. สมพร อบายภูมิมี ๔ คติจริงๆ คติมี ๕ (อบาย ๔ คติ ๕)
ผู้ฟัง ที่ท่านเรียกว่าทุคติภูมิ เห็นมีหลายๆ แห่ง
อ.สมพร ทุคติภูมิมี ๓ อบายภูมิ ๔ นั่นแหละ จัดออกเป็นคติได้ ๓ อบายภูมิ ๔
ผู้ฟัง คืออะไร
อ.สมพร นรกเป็นคติ ๑ นิรยคติ เปรต อสุรกาย เป็นเปรตคติ
ผู้ฟัง นรก เปรต อสุรกายเป็นทุคติ แต่ สัตว์เดรัจฉานไม่เป็นทุคติ?
อ.สมพร สัตว์เดรัจฉาน เป็นคติอันหนึ่งเป็น ๓ แล้ว ทุคติ ๓ ถ้าจัดเป็นทุคติก็เป็น ๓ คติทั้งหมดก็มี ๕ คติเฉยๆ มี ๕ ทุคติมี ๓ สุคติมี ๒ แต่ถ้าจัดเป็นอบายภูมิมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ภูมิ ๔ นั่นแหละจัดเป็นคติได้ ๓
(*คติ ๕ คือ นรก ๑ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ๑ เปรตวิสัย ๑ มนุษย์ ๑ เทวดา ๑)
ผู้ฟัง มนุษย์อยู่รวมกับสัตว์เดรัจฉาน แล้วเท่าที่ทราบก็คือ สัตว์เดรัจฉานจะมีเกิดมากกว่ามนุษย์เสียอีก ตามที่ได้ฟังมา เรามาคิดถึงพื้นที่บนโลก สัตว์เขาใช้พื้นที่ในโลกได้มากกว่ามนุษย์อีก เช่น อย่างบนดินเขาก็มีอยู่ ในน้ำเขาก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า สัตว์เขาก็มีสิทธิที่จะอยู่ในโลกเท่ากับมนุษย์เหมือนกัน ไม่ใช่แต่มนุษย์มาอาศัยโลกมนุษย์อยู่ หรืออะไรทำนองนั้น
อันนี้แสดงความคิดเห็นเท่านั้นว่าสัตว์ เขาอยู่ได้หลายทางเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเฉพาะ อย่างเราก็อยู่ได้แต่บนพื้นโลกเท่านั้น แสดงความคิดเห็นแค่นี้
อ.สมพร ก็เรื่องที่อยู่ เรื่องภูมิ ก็อย่างที่ท่านอาจารย์สุจินต์บอก เพราะว่ามันเป็นระดับจิตต่างกัน ถึงจะอยู่รวมกันก็จัดว่า เป็นภูมิเดียวกันไม่ได้ เพราะระดับจิตที่เกิดนั้นต่างกัน
ผู้ฟัง พูดถึงทุคติ เมื่อมีทุคติภูมิ ต้องมีสุคติภูมิ ความหมายแยกศัพท์ ทุคติภูมิ สุคติภูมิ ด้วย
อ.สมพร ทุคติภูมิ ทุ ก็แปลว่าชั่ว ทุคติแปลว่า ไปชั่ว ไปชั่วก็หมายความว่าไปในเบื้องต่ำนั่นเอง สุคติก็ไปดี สุ แปลว่าดี
ผู้ฟัง ไปชั่วนี้หมายถึงว่าไปลำบาก อะไรอย่างนั้น ใช่ไหม
อ.สมพร ชั่วก็มีความหมายมากมาย แปลว่าเบื้องต่ำ คือลำบากนั่นเอง หมุนเวียนไปในวัฏฏะเบื้องต่ำ
ผู้ฟัง คติ หมายถึงเป็นที่เกิด
อ.สมพร คติ ไป ที่ไป
ผู้ฟัง ไป ที่ไปเกิดของสัตว์
อ.สมพร ที่ไปนั้นเอง ที่ไปเกิดนั้นเอง
ผู้ฟัง ถ้าเป็นสุคติภูมิก็เป็นภูมิที่เกิดที่ไปด้วยดี
ท่านอาจารย์ ไปดี
ผู้ฟัง ทีนี้เมื่อสักครู่อาจารย์ได้กรุณาชี้ให้เห็นว่า ทุคติภูมินี่มีอยู่ ๓ คืออบายภูมิ ๔ ก็สรุปเป็นทุคติ ๓ ใช่ไหม
อ.สมพร จัดเป็นคติแล้วได้ ๓
ผู้ฟัง ทีนี้เมื่อพูดถึงภูมิ ๓๑ ภูมิ เอาอบายภูมิมาเป็นทุคติ ๓ แล้วที่เหลืออีก ๒๗ เป็นสุคติภูมิทั้งหมด ใช่ไหม
อ.สมพร สุคติภูมิอีก ๒ เป็น ๕ มนุษยภูมิ ๑ เรียก มนุษยคติ ภูมิที่เหลือเรียกว่าเทวคติ เทวภูมิ ทั้งหมด แม้สวรรค์ ๖ ชั้น พรหมทั้งหมดเลยเป็นสุคติ
ผู้ฟัง เรียกว่าเทวคติ ใช่ไหม
อ.สมพร ไปดี
กฤษณา รวมแล้วก็จะได้ ๒๗ เพราะว่าเทวคติ คือพวกรูปพรหมภูมิกับอรูปพรหมภูมิ
อ.สมพร หมดเลย ที่ไปดี
ผู้ฟัง ที่ไปดี รวมกับมนุษย์อีก ๑ ถ้าพูดถึงในแง่ของ ๓๑ ภูมิก็จะเป็น ๒๗ ภูมิ สุคติ
อ.สมพร แยกไปอย่างนั้น
ผู้ฟัง ทีนี้มีสุคติภูมิแล้วท่านก็แยกเป็นกามสุคติภูมิอีก ขอให้อธิบายคำว่ากามสุคติภูมิ
อ.สมพร อันนี้ กาม คำว่ากามบ่งชัดไว้เลย จะต้องประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้ากามภูมิเฉยๆ ก็ต่างจากกามสุคติภูมิ กามแบ่งออกเป็น ๒ กามทุคติภูมิ กามสุคติภูมิ ถ้ากามภูมิเฉยๆ ก็หมายถึงว่า อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖
ผู้ฟัง แต่ถ้ากามสุคติภูมิก็ ๗ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ทีนี้สำหรับมนุษย์ซึ่งเป็นมนุษยภูมิ ซึ่งเป็นสถานเกิดของมนุษย์ มี ๔ ทวีป เท่าที่ทราบมาจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป มีปุพพวิเทหทวีป มีอัปรโคยานทวีป มีชมพูทวีป มีอุตรกุรุทวีป ซึ่งทวีปต่างก็อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทิศของภูเขาสิเณรุ สถานที่เกิดของมนุษย์ คือ มนุษยภูมิมีถึง ๔ ทวีป แต่ละทวีปก็คงมีความประณีตแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของกรรม คือ กุศลวิบากที่จะทำหน้าที่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในทวีปใดทวีปหนึ่ง อย่างนี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นมนุษย์ คือมนุษย์ จะทวีปไหนก็เหมือนกัน
ผู้ฟัง ใช่ แต่หมายถึงว่าจะมีความแตกต่างกันในความประณีต ที่จะ
ท่านอาจารย์ คงไม่มีใครจะไปพิสูจน์ เพราะว่าอะไรๆ อยู่ในตำรา ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็มี ในปริเฉทที่ ๕ ไปศึกษาได้
ผู้ฟัง เกี่ยวกับการที่จะมาปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในมนุษยภูมิ ไม่ทราบว่าถ้าทำกุศลกรรมในชมพูทวีปแล้ว กุศลกรรมที่ทำแล้วจะส่งผลให้ไปปฏิสนธิในมนุษยภูมิอื่น แบบข้ามทวีป
ท่านอาจารย์ ไม่มีกล่าวไว้เลย เพราะฉะนั้น คิดไปก็มาก แต่จริงๆ แล้วก็คือว่าถ้าเป็นผลของกุศลแล้วก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ คือมนุษย์ หรือเทวดา
ผู้ฟัง จะทวีปไหนก็ได้
ท่านอาจารย์ เหมือนกัน คือไม่ใช่อบายภูมิ
ผู้ฟัง รูปพรหมภูมิ หรืออรูปพรหมภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุทธาวาสภูมิ ที่ว่าเป็นที่เกิดของพระอรหันต์ด้วย ทำให้เกิดความสงสัยว่า เราเข้าใจว่าพระอรหันต์ท่านคงไม่เกิด สภาวะที่ไม่เกิดคือนิพพาน ไม่มีทั้งกุศล และอกุศล จิตในขณะนั้น แต่ก็บัญญัติไว้ว่า ในสุทธาวาสเป็นที่อยู่ของพระอรหันต์
ผู้ฟัง สุทธาวาสภูมิ คือ สุทธาวาสภูมิ ๕ ภูมิ เป็น ๕ ภูมิใน ๗ ภูมิของจตุตฌาณภูมิ กรุณาอธิบาย สุทธาวาสภูมิ ความหมายเป็นอย่างไร
อ.สมพร สุทธาวาสเป็นที่เกิดขึ้นของพระอนาคามี แต่พระอรหันต์เมื่อเป็นพระอนาคามีแล้ว พระอนาคามีจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภูมินั้นได้ จึงกล่าวว่าเป็นที่อยู่ของพระอนาคามี และพระอรหันต์เมื่อยังไม่นิพพาน นิพพานแล้วก็ไม่ได้อยู่ คือไม่ใช่ว่าพระอรหันต์ตายจากโลกนี้แล้ว ไปเกิดในสุทธาวาส ไม่ใช่ เป็นพระอรหันต์ในปวัตติกาล หรือขณะเกิดขึ้นเป็นพระอนาคามีก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำอรหัตตมรรคให้แจ้งเลย ติดต่อกันไปจากการปฏิสนธิอันนั้น แล้วเป็นพระอรหันต์ เมื่อท่านยังมีอายุอยู่ อายุยังไม่สิ้น ท่านก็ยังไม่นิพพาน ก็ถือว่าเป็นภูมิ เป็นที่อยู่ของ พระอนาคามี และพระอรหันต์ ไม่ใช่พระอรหันต์ไปเกิด
ผู้ฟัง พระอนาคามีไปปฏิสนธิในสุทธาวาส แล้วถึงจะเป็นพระอรหันต์ในภูมินั้น แล้วสุทธาวาส ศัพท์เป็นอย่างไร
อ.สมพร สุทธาวาส สุทธะ + อาวาสะ อาวาสะ เรียกว่าอาวาสก็คือที่อยู่ สุทธะ บริสุทธิ์ ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือพระอนาคามี เราพิจารณาดู บริสุทธิ์จริงหรือเปล่า สมัยนี้จิตเราหวั่นไหวมากเพราะด้วยอำนาจโทสะ มากเหลือเกิน แต่โลภะยังมากกว่านั้นอีก เราเห็นชัดไม่บริสุทธิ์ ท่านบริสุทธิ์ พระอนาคามี ไม่มีโลภะ ไม่ใช่ไม่มีโลภะทั้งหมด โลภะหยาบๆ ไม่มี โทสะไม่มีเลย ไม่ว่าโทสะที่หยาบหรือละเอียดไม่มีเลย ถ้าจะพูดถึงเฉพาะโลภะ ก็มีแต่โลภะซึ่งละเอียด เพราะว่ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านไม่มีกามคุณ ๕ ไม่มีความยินดีในกามคุณ ๕ อันนี้เฉพาะโลภะในกามคุณ ๕ แต่โทสะทั้งหมดเลยทั้ง ๒ ดวง ไม่มีเลย สำหรับพระอนาคามี ท่านจึงมีจิตมั่นคง เขาจึงว่ามากด้วยสมาธิ
ผู้ฟัง อรูปพรหมภูมิ หรืออรูปวจรภูมิ ๔ ภูมิซึ่งเป็นสถานที่เกิดขึ้นของอรูปพรหมบุคคล มีภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของอรูปฌานที่ ๑ ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของอรูปฌานที่ ๒ ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของอรูปฌานที่ ๓ และภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของอรูปฌานที่๔ ซึ่งอรูปพรหมทั้ง ๔ นี้ ท่านเรียกว่าภูมิ ได้ทราบมาว่าจากอภิธรรมมัตถสังคหปริเฉท ๕ บอกว่า ไม่ปรากฏว่ามีรูปร่างสัณฐานอย่างไรเลย เป็นแต่เพียงสถานที่อันว่างเท่านั้น เข้าใจว่าภูมินี้ไม่มีรูปเลย ถ้าภูมินี้ไม่มีรูปเลย ปกติแล้วจิตเจตสิกที่จะเกิดได้ต้องอาศัยวัตถุรูป จิตเจตสิกในอรูปพรหมภูมิอาศัยอะไรเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ จิตอาศัยเจตสิก เจตสิกอาศัยจิต
ผู้ฟัง วัตถุที่เกิด อาศัยเกิด ไม่จำเป็น
ท่านอาจารย์ ไม่มี ไม่จำเป็น เพราะว่าเป็นอรูปพรหมบุคคล สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้นซึ่งต้องอาศัยเกิดที่รูป อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นอสัญญสัตราพรหม อะไร
ผู้ฟัง ฌานจิต
ท่านอาจารย์ ฌานจิตไม่ใช่อรหัตตมรรค อรหัตตผล ไม่ใช่ดับกิเลส เพราะฉะนั้น ในฌานจิตยังมีกิเลสไหม
ผู้ฟัง ในฌานจิต ขณะที่ฌานจิตเกิดก็คงไม่มี เพราะเป็นกุศล
ท่านอาจารย์ แต่เมื่อไม่ใช่พระอริยบุคคล กิเลสมีไหม ในจิตดวงนั้น ที่ยังไม่ได้ดับ
ผู้ฟัง ในขณะที่ฌานจิตเกิด
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ไม่ต้องเป็นฌานจิตหรือไม่ฌานจิตก็ตาม เวลาที่เป็นวิบากจิต ขณะนั้นอกุศลเจตสิกก็ไม่ได้เกิดร่วมด้วย แต่มีกิเลสหรือเปล่า เพราะว่าไม่ใช่พระอริยบุคคล
ผู้ฟัง ในขณะที่เป็นมหัคคตจิต ปสาททั้ง ๖ ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น
ท่านอาจารย์ เอาจิตหนึ่งขณะ หนึ่งขณะ เพราะว่าจิตเกิดทีละ หนึ่งขณะ ในจิตขณะหนึ่งๆ เมื่อไม่ใช่พระอริยบุคคล มีกิเลสไหม
ผู้ฟัง ผมไม่สงสัยเรื่องมีกิเลสๆ ต้องมีแน่ เพราะอวิชชายังไม่ดับ แต่ผมสงสัยในประเด็นที่ว่า ผู้ที่จะไปเกิดในอสัญญสัตตาพรหมภูมินั้นเต็มไปด้วยอำนาจของฌานจิต แล้วขณะที่ฌานจิตเกิดเป็นมหัคคตอารมณ์
ท่านอาจารย์ มีกิเลสไหม
ผู้ฟัง ทีนี้คำว่า กิเลส ถ้าหากว่าตัวนำไปคือกรรม เพราะว่าเหมือน ยกตัวอย่าง เช่นว่า สัตว์ที่อยู่ปากคอก ที่จะไปเกิดใหม่
ท่านอาจารย์ แต่ต้องมีอนุสัยกิเลส เพราะเหตุว่าไม่ใช่พระอริยบุคคล และไม่ใช่พระอรหันต์ ผู้ที่จะไม่เกิดอีกมีบุคคลเดียว คือพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช่พระอรหันต์แล้วยังต้องเกิด
ผู้ฟัง ในปัจจัย พระพุทธองค์ว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย
ท่านอาจารย์ เราต้องคิดถึงจิตที่ทำให้ไปเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหมว่าจิตที่จะเป็นเหตุให้เกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหมยังมีกิเลสไหม เมื่อยังมีกิเลส ปัจจัยยังมี ไม่ใช่ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ทุกคนควรจะคิดถึงกรรมที่ได้ทำแล้วนาน ทำไมวิบากเพิ่งเกิด ยังไม่ต้องไปถึงอสัญญสัตตาพรหม เพียงแต่กรรมในชาติไหนก็ตาม ทำไปแล้วนานแล้ว ทำไมวิบากเพิ่งเกิด
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเหตุดับไปแล้วก็จริง แต่ว่าตราบใดที่ยังมีปัจจัยอยู่ ก็ทำให้ผลเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นสำหรับอสัญญสัตตาพรหมก็ไม่มีปัญหา เหมือนกับกรรมอื่นๆ เหมือนกัน
ผู้ฟัง คือไม่เป็นโมฆะ หมายความว่า ผู้ที่ไปเกิดนั้น เกิดในขณะที่ ถ้าเป็นกุศลมาก่อนก็ไปก่อน แต่ว่าในขณะเดียวกัน กรรมอื่นๆ ที่เรายังไม่ทราบ สามารถให้ผลในตอนหลังได้ อาจจะเป็นกรรมหนึ่งกรรมใด
ท่านอาจารย์ เวลานอนหลับ ไม่มีกรรมอะไรจะมาให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่พอตื่นขึ้น กรรมที่ได้ทำแล้วในแสนโกฏิกัปป์ ให้ผลทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ เพราะฉะนั้น อสัญญสัตตาพรหมก็โดยนัยเดียวกัน แต่ไม่ใช่หลับ เท่านั้นเอง เพียงแต่ขณะนั้นเป็นอสัญญสัตตาพรหม
ผู้ฟัง เรื่องเกี่ยวกับฌานจิต ที่จะเกิดก่อนจุติ คือหมายความว่าในขณะที่จุติจิตจะเกิด ฌานจิตถ้าเกิดขึ้นแล้ว ที่ว่า วสี อยู่ในฌานหรือว่าอยู่ข้างนอก ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ข้างนอกเจ้าค่ะ เพราะเหตุว่า วสี หมายความว่า ชำนาญ คล่องแคล่ว โดยศัพท์ ใช่ไหม
ผู้ที่ได้ฌานครั้งแรก จะไม่มีความชำนาญ ความคล่องแคล่วเลย เพียงแต่จิตสามารถจะถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ยิ่งกว่าอุปจารสมาธิ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้ฌาน จะรู้สึกถึงความต่างกันของกามาวจรจิตกับรูปาวจรจิตว่าต่างกัน เพราะเหตุว่าความแนบแน่นในอารมณ์ของกามาวจรจิต ไม่ใช่เหมือนอย่างรูปาวจรจิตซึ่งเป็นฌาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฌานแล้วทุกท่านก็จะต้องมีการระลึกถึงฌานซึ่งเพิ่งเกิด เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งซึ่งแปลกใหม่ ไม่เคยประสบมาก่อน เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็ต้องมีปัจจเวกขณะวิถี คือการพิจารณาองค์ฌาน ด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตต์ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ทุกครั้งที่ฌานจิตเกิดครั้งแรกก็จะมีการพิจารณาฌาน นอกจากนั้นก็เมื่อเห็นว่า ฌานจิตต่างกับกามาวจรจิตแล้ว ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญถึง ๕ อย่าง ในการที่ฌานจิตนั้นจะเกิดอีกได้ มิฉะนั้นแล้วฌานจิตก็จะไม่เกิดอีกเลย
ความชำนาญ ๕ อย่างคือ ความชำนาญในการนึกถึงฌาน เวลานี้ทุกคนไม่ใช่มีความชำนาญในการนึก ถึงแม้ว่าบางคนตั้งใจจะนึกสักเท่าไหร่ บางทีก็นึกไม่ออก จะนึกถึงบ้าน เวลานี้จะนึกถึงของใช้ในบ้านเวลานี้ ให้นึกก็ไม่รู้ว่าจะนึกถึงอะไร หรือว่านึกไม่ออก แต่ว่าผู้ที่มีความสงบมั่นคง จิตผ่องใส สามารถที่จะนึกถึงสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วโดยเฉพาะมีการชำนาญในการนึกถึงฌานจิต นี่เป็นประการที่ ๑ แล้วที่ใช้คำว่า ชำนาญ ให้ทราบว่า ไม่ว่าอยู่ ณ สถานที่ใด และไม่ว่าขณะไหน จึงชื่อว่าชำนาญ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ฌานกับผู้ที่ได้ฌานจะต่างกันมาก แม้แต่ในความตรึกถึงสภาพของธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด อย่างเวลานี้ถ้ามีผู้ที่ได้ฌาน และมีความชำนาญ ท่านอยู่ที่ไหนท่านนึกถึงลักษณะของฌานจิตได้ทันที ไม่ว่าทีไหน และไม่วาขณะไหนด้วย นั่นจึงจะเป็นผู้ที่มีวสีในการนึก
นอกจากนั้นยังต้องเป็นผู้ที่วสีในการเข้าฌาน คือสามารถที่จะให้ฌานจิตเกิด ที่ไหนก็ได้ ขณะไหนก็ได้ นี่ก็ต้องเป็นความชำนาญมาก
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180