ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
ตอนที่ ๑๒๔
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๕
ท่านอาจารย์ คุณของพระธรรมที่แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า ประโยชน์แท้จริงนั้นอยู่ที่ เมื่อได้เห็นคุณค่าของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วก็คือว่า น้อมประพฤติปฏิบัติเอง ด้วยตนเองจริงๆ ไม่ใช่คอยแต่จะให้คนอื่นโกรธน้อยลง หรือว่าให้มีความดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขณะที่กำลังพูดถึงความไม่ดีของคนอื่น น้อมธรรมที่ได้ฟังเข้ามาในตนสามารถที่จะระลึกได้ทันทีว่า จิตที่กำลังกล่าวถึงความไม่ดีของคนอื่นในขณะนั้นเป็น จิตอะไร นี่คือประโยชน์อย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้วการศึกษาพระอภิธรรมเชี่ยวชาญมากก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่น้อมพระธรรมนั้นมาประพฤติปฏิบัติจริงๆ
อ.สมพร อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้โดยเฉพาะ รู้ได้อย่างไร คนอื่นรู้ไม่ได้หรืออย่างไร เช่น เราอธิบายให้คนอื่น คนอื่นรู้ไม่ได้หรืออย่างไร หรือเฉพาะเราคนเดียวรู้ได้อย่างนี้มันก็ไม่ตรงใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เวลานี้ท่านผู้ฟังกำลังคิดอะไรคนอื่นทราบได้ไหม คำตอบบางทีก็ง่ายๆ สั้นๆ คือหมายความว่า แต่ละคนก็แต่ละจิตแต่ละใจ เพราะฉะนั้น ขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังเกิดขึ้นปรากฏเป็นไปกับบุคคลใด บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้
การอบรมเจริญปัญญาก็เป็นเรื่องเฉพาะตนจริงๆ ซึ่งเมื่อผู้ใดสามารถที่จะเข้าใจธรรม สติระลึก และรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นแล้ว ผู้อื่นซึ่งสติไม่เกิด ไม่มีการศึกษา ไม่มีการพิจารณาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่สามารถจะรู้ในสภาพธรรมที่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้วสามารถที่จะรู้ได้
อ.สมพร เป็นอันว่าพระธรรมคุณทั้งหมดมี ๖ ข้อ ก็วันนี้กล่าวไปหมดเลย ๖ ข้อ
ผู้ฟัง คำว่า “อกาลิโก” เคยได้ยินคำแปลว่า ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา หมายถึงว่าผ่านมา ๒,๕๐๐ กว่าปี ก็ยังใช้ได้ อย่างนี้เป็นคำแปลที่ถูกต้องหรือเปล่า
อ.สมพร คำว่าอกาลิโก บางคนเข้าใจคลาดเคลื่อน คลาดเคลื่อนหมายความว่าไม่ใช่คุณของพระธรรมที่ประเสริฐจริงๆ เช่น เขากล่าวว่าจะทำกุศลเมื่อไรก็ได้ อย่างนั้นก็ถูก ไม่ผิด แต่คำว่าอกาลิโกนี้หมายถึง คุณของพระธรรมให้ผลติดต่อกันไป ขณะใดเราบรรลุพระอริยคุณ คือ บรรลุมรรค ก็ให้ผลทันทีขณะบรรลุ ท่านเปรียบเหมือนว่าขณะที่เราบรรลุมรรค เหมือนมีศิลาที่ลอยอยู่บนศีรษะของเรา มีคนเอาเชือกผูกไว้ด้วยด้าย ๓ เส้น ด้ายหรือเชือก ๓ เส้น ขาดไป ๒ เส้น เหลืออีกเส้น ๑ ขณะที่มรรคจิตเกิด ผลจิตยังไม่เกิด ยังไม่ให้คุณ เชือกเส้นนั้นยังไม่ขาด ศิลาก้อนใหญ่ ด้วยอำนาจธรรมคุณ คือ ด้วยอำนาจมรรคหรือโลกุตตรมรรค แต่ว่าเมื่อมรรคเกิดแล้วผลก็เกิดขึ้น ให้ผลในระหว่างนี้ เรียกว่าไม่มีระหว่างคั่น แล้วตอนหลังเชือกจะขาดหรือไม่ขาดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะศิลาใหญ่เท่าเรือนยอด ท่านอุปมาไว้ ผูกไว้บนศีรษะ แม้เชือกขาดไปแล้ว ๒ เกลียว เหลืออีกเกลียวเดียว ผลจิตยังไม่เกิด ศิลาก็ยังไม่ตกลง ต้องให้เกิดเสียก่อน มรรคเกิดผล เกิดติดต่อกันไปอย่างนี้ แต่ที่ถามบอกว่า ล่วงมา ๒,๕๐๐ ปี คงจะมุ่งว่า มุ่งอย่างไรก็ยังสงสัยอยู่
ผู้ฟัง หมายถึงเป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาล คล้ายว่าไม่ล้าสมัย ไม่ว่าเป็น ๕,๐๐๐ ปี หมื่นปี กี่พันปีก็ตาม
อ.สมพร ตามลักษณะที่ว่านี้ ถ้าเป็นธรรมคุณจริงๆ ก็ต้องไม่ประกอบด้วยกาลทุกยุคทุกสมัย เมื่อมรรคจิตเกิด เมื่อบรรลุอริยมรรคแล้ว ต่อจากอริยมรรคนั้น แล้วก็อริยผลเกิดขึ้น ไม่ประกอบด้วยกาล ไม่มีเวลาอื่นคั่นเลย เรากระทำทานขณะนี้ ชาตินี้ไม่รวย ชาติหน้าเรารวย หรือชาติหน้ายังไม่ให้ ชาติโน้นๆ ใช่ไหม แต่มรรคจิตเกิดขึ้นขณะจิตเดียวแล้วให้ผลทันทีทันใด เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์
ท่านอาจารย์ โดยศัพท์ อกาลิโก หมายความว่าอะไร
อ.สมพร แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล
ท่านอาจารย์ ถ้าแปลตรงๆ ใช่ไหม
อ.สมพร ใช่
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่กล่าวถึงพระธรรมคุณ กล่าวถึงธรรมส่วนอื่นได้ไหม
อ.สมพร ทั่วๆ ไปหรือ
ท่านอาจารย์ หมายความว่า อกาลิโก ศัพท์นี้ จะใช้ในที่อื่นๆ ด้วย ไม่ใช้แต่เฉพาะพระคุณของพระธรรม ที่เป็นธรรมรัตนะได้ไหม
อ.สมพร มีในอรรถกถาท่านกล่าวเจาะจงไว้เลยว่า อกาลิโกในที่นี้ใช้กับธรรมคุณเท่านั้น
ท่านอาจารย์ เฉพาะเวลาที่กล่าวถึงคุณของพระธรรม
อ.สมพร ใช่
ท่านอาจารย์ ที่กล่าวนี้หมายความถึงคุณของพระธรรม แต่ในที่อื่น
อ.สมพร ในที่อื่นความหมายคนละอย่าง
ท่านอาจารย์ ในที่อื่นความหมายคนละอย่าง แต่ว่าเฉพาะในที่นี้ หมายความถึงคุณของพระธรรม
อ.สมพร เฉพาะ ๖ ข้อนี้
ท่านอาจารย์ พระธรรมรัตนะ แต่ถ้าอยู่ในที่ส่วนอื่น อกาลิโก ไม่ได้หมายเฉพาะ
อ.สมพร ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ พระธรรมคุณ ๖ อย่าง ก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง หลายอย่างแล้วแต่จะตีความหมายไป
ผู้ฟัง ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ หมายความว่าอะไร
อ.สมพร ปจฺจตฺตํ (รู้) เฉพาะตน ปติ + อตฺต นั่นเอง เอา อิ เป็น ยะ เอา ต กับ ย เป็น จจ บวกกับ อตฺต เป็น ปจฺจตฺต เฉพาะตน เวทิตพฺโพ ก็รู้ วิญฺญูหิ อันวิญญูชน หมายถึงผู้รู้ พึงรู้ได้เฉพาะตน อันนี้ข้อความก็จำกัดแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงรู้ คนอื่นรู้ไม่ได้ เหมือนเรารับประทานอาหาร เรารู้จริงๆ คนอื่นก็รู้นึกๆ เอาว่าคงเป็นรสเปรี้ยว รสหวาน รสมัน รสเค็ม แต่ไม่รู้จริงๆ เหมือนผู้รับประทานอาหาร คงเป็นอย่างนี้
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าเราจะศึกษา แล้วเราก็มีความเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรม แต่ถ้าเผื่อสติไม่เกิด เราก็ไม่รู้อยู่ดี
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น เรารู้ความจริงว่าสติไม่เกิด นี้คือปัญญา ไม่ใช่ไปหลงเข้าใจว่าสมาธิเป็นสติ หรือทั้งๆ ที่ไม่ใช่สติ ก็ไปคิดว่าเป็นสติ หรือทั้งๆ ที่ไม่ใช่ปัญญา ก็ไปคิดว่าเป็นปัญญา แต่นี้เป็นความรู้ถูกต้อง ถ้าสติไม่เกิดก็คือสติไม่เกิด ถ้าสติเกิดขณะนั้นรู้ว่าสติเกิด ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราจะทำ
ผู้ฟัง ผมเข้าใจเอาเองว่า การที่เราฟังมากๆ ฟังไปจนมีความรู้ความเข้าใจ อะไรรู้เท่าทัน มันเกิดขึ้นมา คือความเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งนั้นมันเกิด สิ่งนี้มันดับ อะไรๆ นี่ นั่นก็คือวิธีการปฏิบัติ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าต้องเป็นความเข้าใจเดี๋ยวนี้ ที่กำลังเห็น
ผู้ฟัง ต้องทันทีเลย
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ เพราะเหตุว่าเมื่อวานนี้หมดไปแล้ว พรุ่งนี้ก็ยังมาไม่ถึง แล้วขณะนี้กำลังเห็น เครื่องพิสูจน์ปัญญาของการฟังก็คือว่า สามารถที่จะเข้าใจของสภาพเห็นเดี๋ยวนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือเปล่า หรือว่ายัง งงๆ อยู่ในเรื่องลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ก็ไม่เป็นไร ฟังต่อไปอีก จนกว่าจะมีปัจจัยที่จะที่จะทำให้ระลึกได้จริงๆ ที่กำลังเห็น แล้วความรู้จะเกิดขึ้นทีละน้อยมากทีเดียว ไม่สามารถที่จะละอวิชชาไปได้ทันที แล้วก็ประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า สภาพรู้คือ ขณะนี้อย่างนี้ แต่ว่าไม่เคยรู้มาก่อน
เพราะฉะนั้น ก็ฟังบ่อยๆ แล้ว ค่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ค่อยๆ คุ้น ค่อยๆ ชินกับลักษณะสภาพธรรมซึ่งเห็นอยู่ตลอดเวลาในขณะนี้ แต่ว่าไม่ใช่ไปบังคับสติให้ระลึกที่เห็น และก็ให้รู้ที่เห็น
ผู้ฟัง นั่นคือการเจริญสติปัฏฐานใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ความรู้ ข้อสำคัญที่สุด จุดประสงค์ของสติปัฏฐานคืออะไร รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงชื่อว่า “สติปัฏฐาน” ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชื่อว่า “คิดเรื่องสติปัฏฐาน” แต่ว่ายังไม่เข้าใจลักษณะสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเข้าใจ ไม่ต้องพูดถึงสติ เพราะเหตุว่าสติย่อมเกิด
ผู้ฟัง ในขณะที่จิตเรากำลังรับอารมณ์ เมื่อเรารับอารมณ์ สังขารขันธ์ก็กำลังปรุงแต่ง ทีนี้จะปรุงแต่งไปในทางไหน ถ้าเรามาศึกษาธรรมแล้ว สังขารขันธ์สามารถปรุงแต่งให้สติ และปัญญา ระลึกรู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเป็นประโยชน์
ทีนี้สังขารขันธ์ของพวกเราก็ยังไม่ปรุงแต่งกันเท่าไร หรือทำอย่างไรสังขารขันธ์ จึงจะปรุงแต่งให้มีสติ อย่างที่พูดกันบ่อยๆ คือ ให้มีสติมากๆ ก็เลยอยากจะถามท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยว่าทำอย่างไร สังขารขันธ์จึงจะปรุงแต่งให้สติเกิดมากๆ
ท่านอาจารย์ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ความอยาก แทนที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่า แทนที่เราจะคิดถึงความอยาก ควรจะให้ทราบว่าสภาพธรรมที่เป็นสมุทัย หรือว่าเป็นเหตุของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งรู้ยากจริงๆ เห็นยาก แล้วก็ละยาก คือ โลภะ เพราะเหตุว่าโลภะ ความอยาก หรือความต้องการ จะต้องการแม้ในธรรมที่เป็นฝ่ายดี หรือที่เป็นกุศล
เวลาที่ท่านผู้ฟังต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในชีวิตประจำวัน ก็แทบจะไม่รู้แล้วว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความต้องการ แล้วเวลาที่รู้เรื่องของกุศลจิต ก็เปลี่ยนจากความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาเป็นความต้องการกุศล ชอบกุศล อยากได้กุศล ทำอย่างไรถึงจะมีกุศลมากๆ อันนี้ก็จะไม่พ้นจากมิจฉาปฏิปทา เพราะเหตุว่ายังเป็นไปในสังสารวัฏฏ์
เพราะฉะนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจธรรมแทนที่ “อยาก” แทนที่อยากจะมีปัญญา หรือว่าอยากจะมีสติ หรือว่าอยากจะมีกุศล ก็ควรจะเป็นเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ขณะที่กำลังเข้าใจเป็นสังขารขันธ์ แล้วก็เป็นสติปัฏฐาน ทำให้สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วแยกความอยาก ซึ่งเป็นอกุศล ออกจากธรรมฝ่ายกุศลได้
เรื่องความอยากนี้ก็เคยมีผู้ที่โทรศัพท์ไปถามว่า เวลาที่อยากทำกุศล ทำไมถึงเป็นอกุศล ขณะที่อยากทำกุศล ทำไมอยากนั้นจึงเป็นอกุศล ในเมื่อเขาต้องการกุศลเป็นไปในกุศล
สภาพของจิตเกิดดับเร็วมาก แล้วก็ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เห็นความต่างกัน ขณะที่กำลังอยากกับขณะที่ทำกุศล ไม่เหมือนกัน กำลังอยาก กำลังต้องการ อย่างบางคนก็บอกว่า อยากบวช ขณะนั้นแสดงว่า ไม่ได้บวช แต่ว่าอยากบวช ขณะนั้นเป็นคฤหัสถ์แล้วก็อยากบวช ขณะที่กำลังอยาก จิตใจเป็นอย่างไร ต้องไม่สงบ ต้องมีความลำบากใจ เพระว่าไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เพราะเหตุว่าอยากจะบวช แต่ไม่ได้บวช หรือว่าบางคนก็บอกว่าอยากจะใส่บาตร ก็แสดงว่าขณะนั้นก็ไม่ได้ใส่บาตร และขณะนั้นก็ต้องเป็นความไม่สบายใจที่อยากจะทำ แล้วไม่ได้ทำ ขณะนั้นไม่เป็นความสงบ แล้วก็ไม่เป็นความเบาสบายด้วย ขอให้เปรียบเทียบว่าถ้าท่านตั้งใจจะใส่บาตร ตั้งใจ ไม่เหมือนอยากจะใส่ ตั้งใจเป็นเจตนา เป็นกุศลเจตนา แล้วถ้าพรุ่งนี้ท่านจะใส่บาตร ท่านตั้งใจแล้วว่า พรุ่งนี้จะใส่บาตร จิตใจของท่านจะผ่องใส ปีติ ดีใจ โสมนัส ที่มีโอกาสพรุ่งนี้จะได้ใส่บาตร หรือว่าพรุ่งนี้จะได้ทำกุศลอะไรก็ตามแต่ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่เกิดขึ้นแล้ว สภาพของจิตต่างกับขณะที่อยาก ไม่ว่าอยากจะใส่บาตร หรือว่า อยากจะบวช หรืออะไรก็แล้วแต่
นี่แสดงให้เห็นการเกิดดับสืบต่อของจิตอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น ขณะที่ศึกษาพระธรรม ไม่ควรที่จะคิดถึงเรื่องความอยากเลย แม้แต่อยากจะเข้าใจธรรม หรือว่าอยากจะมีสติ แต่ควรที่ขณะนี้ที่กำลังฟัง เข้าใจ กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ขณะที่เข้าใจนั้นเป็นกุศล
เรื่องของสติปัฏฐานก็เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องที่ว่าพอได้ยินสติปัฏฐานแล้วอยากให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ แต่ขณะนี้ มีตากำลังเห็น หูกำลังได้ยิน คิดนึกกำลังเป็นไป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำลังปรากฏ ไม่ต้องอยากอะไรเลย ถ้าเป็นกุศลจิต ก็คือว่า ขณะนั้นกำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น อาทิตย์ก่อนก็ฟังแล้วว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วถ้าใครที่ยังไม่เข้าใจลักษณะของธาตุรู้ ก็ควรที่จะเปรียบเทียบกับรูปง่ายๆ เช่น โต๊ะไม่เห็น เพราะเห็นต้องเป็นสภาพธรรม เป็นของจริง มีจริงๆ ขณะนี้กำลังเห็น ก็เป็นเพียงธาตุรู้ ลักษณะรู้ หรือสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งวันหนึ่งๆ ไม่เคยสังเกต ไม่เคยระลึกได้ ไม่เคยพิจารณา เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟัง การฟังทำให้ค่อยๆ เริ่มเข้าใจ ค่อยๆ เริ่มที่จะรู้ว่าขณะที่เห็นเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง
เรื่องอยากนี่ก็ตัดออกไป แล้วก็ให้เป็นความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นขั้นฟังเรื่องของสภาพธรรม หรือตัวจริงๆ ของธรรมที่กำลังเห็น แล้วขณะนี้ก็กำลังค่อยๆ รู้ขึ้นว่าที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ หรือที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็งตามปกติ ก็ให้ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ โดยไม่ต้องอยาก กำลังที่เข้าใจนั่นแหละจะทำให้ไม่คิดอยากเพราะเหตุว่ากำลังค่อยๆ เข้าใจแล้ว
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีความอยากอะไรเลย ก็ไม่มีสิ่งมากระตุ้น เราก็ไม่อยากทำกุศล ไม่อยากทำอะไร มันก็อย่างไรอยู่
ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนกัน คือความตั้งใจที่จะทำกุศลกับความอยากต่างกันมาก ถ้าอยากเพียงแต่คิดแล้วไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้น ก็ไม่สงบ กำลังอยากนี้ต้องไม่สงบแน่ๆ แต่ขณะที่กำลังตั้งใจ อย่างเมื่อได้ทราบเรื่องของบารมี ๑๐ แล้วก็พิจารณาดูว่า ยังขาดบารมีอะไรบ้าง แล้วก็มีความคิดว่า บารมีนี้ควรจะบำเพ็ญให้มากขึ้น เช่น ความอดทน หรือความตั้งใจมั่น ขณะที่ตั้งใจที่จะมีบารมี ไม่ใช่อยาก แต่ว่าเป็นเจตนาที่ตั้งใจ เป็นกุศลเจตนา
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็คงว่า เรามีความตั้งใจอยากจะทำกุศล
ท่านอาจารย์ ทำไมต้องใช้อยาก ตั้งใจทำ
ผู้ฟัง เจตนาที่จะทำกุศล
ท่านอาจารย์ ขณะที่ตั้งใจ หมายความต้องตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่เหมือนกับอยาก อยากกับตั้งใจไม่เหมือนกัน
ผู้ฟัง อยากกับตั้งใจไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบท่านผู้ฟังพอที่จะแสดงคิดเห็นอย่างไร ในเรื่องของอยากกับตั้งใจ เพราะเหตุว่าลองเปรียบเทียบ พรุ่งนี้ท่านจะใส่บาตร ต้องอยากไหม ในเมื่อเราตั้งใจแล้ว ตั้งใจแล้วยังจะต้องอยากอะไรอีก เป็นแต่เพียงว่า เมื่อตั้งใจแล้วก็ลงมือทำ ทุกอย่างที่จะเกี่ยวกับการกุศลอันนั้น แต่ถ้าอยากหมายความว่า ยังรออยู่ ยังไม่มีวันกำหนดเรื่องของกุศลจริงๆ ที่จะทำ อย่างท่านที่คิดอยากจะสร้างศาลา หรือสร้างโบสถ์ ท่านยังไม่ได้ทำ ท่านอยาก หรืออยากทอดกฐิน ก็ยังอยาก ยังไม่ได้คิด แต่พอตั้งใจจะทำแล้วไม่เหมือนกัน
ผู้ฟัง ถ้ายังไม่สำเร็จก็เป็นกุศลหรือ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ขณะจิต ซึ่งเกิดดับเร็ว
ผู้ฟัง คำว่า “อยาก” เป็นพยัญชนะที่ใส่เข้าไปเท่านั้น แต่ถ้าอยากจริงๆ ถ้ามีความหมายว่าอยากจริงๆ ขณะนั้นจะต้องอยากใส่บาตร เพื่ออยากจะถูกหวยถูกลอตเตอรี่ หรืออยากใส่บาตรเพื่อจะได้บุญ อยากใส่บาตรเพื่อจะเกิดชาติหน้าได้ร่ำรวย นี่เพิ่มความอยากเข้าไปเรื่อยๆ อย่างเช่นทั่วๆ ไปเวลาไปไหว้พระ หรือไปทำบุญอะไรๆ ก็อยากจะร่ำรวย อยากจะเจริญก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน ยศถาบรรดาศักดิ์ อันนี้ถึงจะเป็นอยากจริงๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ ว่าคงจะเป็นฉันทะมากกว่า
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องตรง ไม่มีอนุโลม
ดิฉันมีความคิดว่า ไม่ใช่เราศึกษาพระธรรมแล้วเราก็จะปฏิบัติตามนั้น แต่หมายความว่าธรรมเป็นไปแล้วอย่างนั้น แต่เวลาศึกษาพระธรรมทำให้เราเข้าใจขึ้นว่า ขณะไหนเป็นกุศลจริงๆ และขณะไหนเป็นอกุศล ซึ่งก่อนจะศึกษาพระธรรม สภาพธรรมก็ต้องเป็นความจริงไปอย่างนั้น เราต้องสังเกตพิจารณาจิตใจ เพราะเหตุว่าธรรมที่เป็นอกุศล ไม่ทำให้สงบสบาย เพราะฉะนั้น ขณะที่อยาก สังเกตสภาพของจิตใจได้ ว่าสบายหรือเปล่า สงบหรือเปล่า กังวล หรือว่าต้องการหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นเป็นสิ่งซึ่งไม่สงบแล้วก็ต้องเป็นอกุศลแน่นอน แต่ขณะที่เราตั้งใจจะทำ ขณะนั้นเป็นกุศลเจตนาแน่นอน แล้วก็ไม่ทำให้เรารู้สึกว่ากระวนกระวายด้วย เพราะเหตุว่ามีความคิดที่จะทำ เป็นกุศล
อ.สมพร เรื่องความอยากเป็นเรื่องวิจิตรพิสดาร ผมจะกล่าวลำดับ ความอยากในอารมณ์ทั้ง ๖ ความอยากในรูป ความอยากในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรม
ความอยากในธรรม ก็หมายความ ท่านเรียกว่า ธรรมตัณหา ยินดีในธรรม ยินดีอย่างไรจึงเรียกว่ายินดีในธรรม จึงเป็นตัณหา ยินดีอย่างไรไม่เป็นตัณหา นี่เป็นปัญหาเหมือนกัน เช่นเราเห็นคนเขาถูกลอตเตอรี่ แล้วเขาบอกว่า เขาทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็ถูกลอตเตอรี่ เราก็มีความอยากถูกลอตเตอรี่เหมือนกัน เราก็ทำบุญ อย่างนี้ก็เป็นตัณหาแน่นอน ทำบุญด้วยความอยาก แต่ว่าคนละขณะ ขณะที่ให้ ขณะที่อยาก คนละขณะ แต่โดยมากเป็นไปโดยอำนาจของตัณหาทั้งสิ้นเลย เรียกว่า “ธรรมตัณหา” ธรรมก็คือธรรม ยินดีในธรรม ในเรื่องในราว เช่น ในการรักษาศีล ในการให้ทาน หรือในการอื่นๆ อีกหลายๆ อย่าง แต่บางคนทำบุญ ไม่เกี่ยวกับตัณหา เราจะเห็นได้ เช่น เราเห็นเด็กเล็กๆ แล้วเราก็เมตตาสงสาร เราก็ให้ทาน แล้วจะเห็นได้ว่า การให้ทาน การทำบุญของเราอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับตัณหาเลย เป็นการพอใจในการให้ทาน อย่างนี้เป็นฉันทะ แยกออกจากกันได้เด็ดขาดเลยว่า ตัณหากับฉันทะต่างกัน แต่ใกล้กัน ใกล้กันเหลือเกิน ตัณหากับฉันทะ ผมก็มีความเห็นแค่นี้
ผู้ฟัง ในการทำกุศลต่างๆ ถ้าเป็นฉันทะ คือ พอใจที่จะให้ทานด้วยเจตนาที่เป็นกุศล โดยไม่มีอกุศลอะไรที่เป็นเบื้องหลัง ที่เป็นตัณหา ความปรารถนาอย่างแรงกล้า ได้สิ่งตอบแทนมา
ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าความละเอียดของธรรมลึกซึ้ง เกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ถ่องแท้ เพราะเหตุว่าแม้แต่เรื่องของความอยาก เป็นเพียงเรื่อง ก็ยังเข้าใจยาก แล้วถ้าเป็นตัวจริงๆ ขณะนี้ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล และอกุศลเกิดสลับกันได้ การที่จะรู้จริงๆ จนประจักษ์แจ้ง ต้องยากกว่าเรื่องที่เราจะพูดถึงความอยาก เช่นขอพูดเรื่องเวลาที่ตั้งใจแล้วจะทำบุญ ก็ยังเกิดความคิดว่า สำหรับผู้ที่จะทำอาหาร ก็คิดว่าจะทำอะไรบ้าง นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นจิตต้องละเอียดที่จะรู้ว่า กำลังคิดด้วยกุศลจิต หรือว่ามีอกุศลจิตแทรก เพราะว่าอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ หรือว่าจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเพียงความคิดก็ยังสลับกันไปสลับกันมาระหว่าง กุศลกับอกุศล หรือแม้แต่ขณะที่ปรุงอาหาร ปรุงอาหารเพื่อที่จะถวายพระในการกุศล ขณะนั้นก็มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิตสลับกัน เค็มไปก็เป็นอกุศลเสียแล้ว
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่จะรู้ได้ แม้แต่คำ เรื่องที่จะยกตัวอย่าง ก็ยังเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัตตัง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180