ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161


    ตอนที่ ๑๖๑

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ผู้ฟัง ทิฏฐิ ๓ คือ อกิริยทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ เป็นทิฏฐิที่ล่วงกรรมบถให้ผลแน่นอนในลำดับแห่งจุติ คือ ตายแล้วต้องลงนรก ทีนี้สักกายทิฏฐิ เป็นทิฏฐิธรรมดาไม่ถึงล่วงกรรมบถ ที่ผมสงสัย นัตถิกทิฏฐิมีตั้งหลายอย่าง

    อ. สมพร ความเห็นผิดไม่ใช่ว่าจะมีโทษเสมอกัน อย่างทิฏฐิทั้ง ๓ ที่เรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง คนที่นับถือ นับถืออย่างที่มีโทษมากก็มี มีโทษน้อยก็มี มีโทษอยู่ ๒ ประการ โทษหนักก็ทำให้ตกอยู่ในโลกันตนรก โทษน้อยก็อยู่ในนรกธรรมดา ไม่ใช่ว่าจะมีโทษเท่ากัน สภาวะมี ๓ ก็จริง แต่ว่าความหนัก และความเบาไม่เหมือนกัน อยู่ที่คนประพฤติปฏิบัติ บางคนก็เชื่อถือเล็กน้อย บางคนก็เชื่ออย่างมั่นคง สภาวะก็ต่างกันแล้ว

    ผู้ฟัง ทิฏฐิเจตสิก จะขอโดยพยัญชนะก่อน

    อ. สมพร ทิฏฐิเจตสิก อันนี้ในพระอภิธรรม เราก็มุ่งถึงความเห็นผิด คือ เราต้องแยกว่า ในพระอภิธรรมเป็นปรมัตถ์ล้วนๆ กล่าวถึงความเห็นผิดอย่างเดียว คำว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ มุ่งถึงอย่างนั้น ทิฏฐิเจตสิกเมื่อเกิดกับโลภมูลจิต เรียกว่าทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ก็คือทิฏฐิเจตสิกนั้นแหละ

    ผู้ฟัง เรื่องของอรรถ ความหมายของทิฏฐิเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิก็เป็นความเห็นซึ่งแต่ละคนก็คงจะมี แต่ว่าไม่ใช่ในชีวิตประจำวัน อย่างวันนี้ถ้าถามว่า มีใครมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง ก็คงจะไม่มีความเห็นเรื่องว่าโลกเที่ยงโลกไม่เที่ยง หรือตายแล้วเกิดไหม เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าความเห็น ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามลักษณะของสภาพธรรม เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะนั้นจิตก็ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่ว่าถ้าในขณะนั้นไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตประเภทที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะเหตุว่าที่เรามาศึกษาพระธรรมก็เพื่อที่จะละจิตดวงนี้ คือจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้น ให้เห็นความสำคัญของอกุศลจิต ดวงที่ ๑ เวลาที่พูดถึงกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าจิตแบ่งโดยภูมิโดยอะไรเราก็ได้กล่าวถึงแล้ว ตอนนี้เรากำลังถึงจิตซึ่งเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เพราะว่าขณะนี้ทุกคนก็ไม่มีใครที่ได้ฌาน จิตระดับฌานจิตหรือระดับที่สูงกว่าจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส พวกนี้ยังไม่มี เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าในชีวิตประจำวัน การที่เรากล่าวถึงจิตดวงที่ ๑ จะใช้คำว่าจิตดวงที่ ๑ ของกามาวจรจิตก็ได้คือโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด นี่แสดงให้เห็นความสำคัญว่าในพระพุทธศาสนา คนที่ศึกษาธรรมเพื่อดับจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตซึ่งมีโทษมาก

    ทุกคนก็ควรที่จะได้ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ มีความเห็นผิดอย่างไรบ้าง เสียก่อน เพราะว่าถ้าไม่เห็นความสำคัญของจิตดวงนี้ว่า ทำไมจึงเป็นจิตที่มีโทษมาก แล้วก็ผู้ที่จะดับจิตดวงนี้ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คือ พระโสดาบัน ก่อนที่จะดับกิเลสอื่นทั้งหมด จะต้องดับโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด หรือจะกล่าวว่าดับทิฏฐิ ความเห็นผิดก็ได้ ซึ่งทุกคนในขณะนี้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล มีความเป็นผิด แต่ไม่ค่อยจะรู้ตัว เพราะบางทีก็เข้าใจว่าตัวเองก็ไม่ได้มีความเห็นผิดอะไรเลย แต่ให้ทราบว่าความเห็นผิดมีตั้งแต่อย่างหยาบๆ ที่เรามองเห็น จนกระทั่งอย่างละเอียด แม้แต่พุทธบริษัทซึ่งถ้าไม่เป็นผู้ที่ละเอียดรอบครอบจริงๆ ก็จะไม่รู้ตัวเลยว่า เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้น อยากจะให้กล่าวถึงเรื่องของความเห็นผิดในลักษณะซึ่งมีในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็เป็นจิตดวงนี้

    ผู้ฟัง ดวงที่ ๑ ทิฏฐิสัมปยุตต์กับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ จิตเราติดข้องแล้ว ติดข้องด้วยความเห็นผิดด้วย แล้วก็ไม่ต้องอาศัยการชักจูง และมีความยินดี โสมนัสสหคตัง

    ท่านอาจารย์ แต่ตอนนี้เรากำลังเน้นเรื่องของทิฏฐิ ยังไม่ประกอบด้วยอะไรทั้งนั้น เอาความเห็นผิดซึ่งเราคิดว่าไม่ใช่ความเห็นผิด แต่ว่าถ้าไม่ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แล้วต้องเห็นผิด คือเป็นเรื่องที่เราจะต้องเป็นผู้ตรง แล้วก็ทำความเห็นให้ตรงด้วย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมี ๒ อย่าง ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นอกุศลเจตสิก แล้วก็ความเห็นถูกก็มีจริง แต่ระหว่างความเห็น ๒ อย่าง ความเห็นของเราจะโน้มเอียงไปในทางไหน เพราะเหตุว่าเรายังไม่ได้พิจารณา แต่ถ้าพิจารณาแล้วเป็นผู้ตรง เห็นผิดคือเห็นผิด เห็นถูกคือเห็นถูก

    ผู้ฟัง เห็นผิดในชีวิตประจำวันเฉยๆ จะต้องมีติดข้องไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เห็นผิด

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันเราไม่รู้ ถ้าคนไม่ได้มาเขานั่งรับรู้ในที่นี้จะไม่รู้เลยว่าอันนั้นเห็นผิด เราเห็นผิดในชีวิตประจำวัน ที่เรารู้สึกว่า ถูก แล้วทำไมว่าผิด

    ผู้ฟัง เห็นผิด ผมลุกไปหยิบน้ำที่อาจารย์สุรีย์เดี๋ยวนี้เลยมาทาน เพราะผมอยากทาน

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เห็นผิดอะไร ในการที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องความเห็นผิด แล้วยังไม่แน่ใจว่า เขาจะถูกหรือจะผิดบ้างไหม ที่เขาคิดอย่างนั้น หรือทำอย่างนั้น เพราะว่าเวลานี้มีความเห็นผิดมาก เท่าที่เคยได้ฟังเร็วๆ นี้ ก็มีคนมาชักชวนบอกว่า เคยได้ยินลัทธิศาสนาอันนี้ไหม เป็นลัทธิศาสนาซึ่งมาจากพระสูตรหนึ่งก่อนพระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ๘ ปี ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาจะต้องตื่นเต้น ก็ถามเหตุผลว่า แล้วพระสูตรอื่นๆ แล้วธรรมอื่นๆ ที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ไม่มีความหมายอะไรเลยหรือ ทำไมถึงจะต้องมาตื่นเต้นกับพระสูตรซึ่งทรงแสดงก่อนปรินิพพาน ๘ พรรษา คำตอบก็ไม่มี

    แสดงให้เห็นว่า อะไรก็ตามซึ่งไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง หรือว่าพอที่จะให้เข้าใจได้ นั่นคือความเห็นผิด อย่าเพิ่งไปตามใครง่ายๆ เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็ได้ทราบว่ามี คนที่ตื่นเต้นในคำสอนนี้มาก

    ผู้ฟัง ผมขอยกตัวอย่าง จะได้หมดหน้าที่ก็คือว่า คือ เห็นผิดที่ว่า สรงน้ำพระ พุทธสิหิงค์แล้ว ผมจะมีความเจริญในปีนี้

    ท่านอาจารย์ เกิดกุศลจิตบ้างหรือยัง หรือมีแต่โลภะ

    ผู้ฟัง มีความอยากที่จะได้โชคดี ไม่มีอันตรายตลอดปีนี้

    ท่านอาจารย์ พุทธบริษัทเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม อย่าลืมเลยอันนี้ ตลอดพระไตรปิฎกไม่แสดงเรื่องอื่นเลย ไม่ให้พึ่งสิ่งอื่น แต่ว่าให้มีกรรมของตนเองเป็นที่พึ่ง ถ้าตราบใดที่เรายังไม่มั่นคงในกรรม แสดงให้เห็นว่ามีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเราเห็นผิดไป ถ้าเรามีความมั่นคงในกรรมจริงๆ เราต้องรู้ว่า อะไรเป็นกรรมที่เป็นเหตุ อะไรที่เป็นผล ถ้ากุศลจิตเกิด ผลก็คือกุศลวิบาก ถ้าอกุศลจิตเกิด ผลก็คืออกุศลวิบาก ถ้าไม่เข้าใจสภาพจิต ก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า จิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    แต่คำถามว่าทำอย่างนี้จะได้บุญไหม ทำอย่างนี้จะเป็นอย่างนั้นไหม แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นผู้ที่ไม่ต้องถามใคร แล้วก็รู้สภาพของจิต ต้องเป็นผู้ที่ตรง ความเห็นผิดไม่มีเลยหรือ คุณวีระ เวลาที่ไหว้พระแล้วไม่หวังได้ไหม กราบด้วยความนอบน้อมระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย เพราะว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ตอนหวังเป็นอกุศลจิต แล้วเราก็ต้องการสะสมอกุศลจิตหรือ

    ผู้ฟัง ตอนไหว้พระ บางครั้งก็หวัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องแยกจริงๆ ว่า ขณะที่ไหว้ที่ถูกต้อง ที่เป็นกุศลคือไม่หวัง ระลึกถึงพระคุณจริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไรเลย เหมือนกับคนที่จะปฏิบัติธรรมหรือคนที่จะศึกษาธรรมก็ตาม ถ้าบอกว่าศึกษาแล้วจะร่ำรวยมหาศาล หรือว่าศึกษาแล้วจะเข้าใจพระธรรม เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ใน ๒ อย่างให้เลือก จะเลือกอย่างไหน

    ผู้ฟัง ขณะนี้ที่กำลังจะตอบคำถามผมก็คิดว่า ผมยังจะศึกษาธรรมแล้วก็อาจจะได้ลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น

    ท่านอาจารย์ อันนี้ถูกต้องหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะศึกษาพระธรรมได้ผลจริงๆ คือรู้ว่าศึกษาเพื่ออะไร แล้วรู้ว่าพระธรรมคำสอนทั้งหมด เพื่ออย่างเดียว คือเพื่อการละ โดยเฉพาะละอะไร สมุทัย ทุกคนคงรู้จักอริยสัจจ์ ๔ ใช่ไหม ทุกขอริยสัจจ์ สภาพธรรมที่เกิดดับไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ทุกขสมุทยอริยสัจจะ โลภะแน่นอน เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้รู้จักโลภะ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าโลภะเป็นสิ่งที่ควรละ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต้องตรงตั้งแต่ต้น คือ ตรงคือรู้ว่า พระพุทธศาสนานั้นเพื่อละ ละอะไร ละความไม่รู้ ละความไม่เข้าใจ ละความเห็นผิด นี่เป็นต้นตอที่จะต้องละ ละโลภะซึ่งเกิดร่วมกับความเห็นผิด ขณะที่ศึกษาธรรมจุดประสงค์คือเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อร่ำรวย เพื่อมีลูกศิษย์ หรือเพื่อเกียรติยศ หรือเพื่ออะไรเลยสักอย่างเดียว แต่เพื่อเข้าใจ คือละความเห็นผิดความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    นี่เป็นจุดประสงค์ที่ถูกต้อง แม้แต่การกราบพระรัตนตรัย หรือทำกุศลใดๆ ทั้งสิ้น กุศลคือกุศล แต่ขณะที่หวังหรือต้องการ ขณะนั้นเป็นโลภะทั้งหมด ซึ่งเป็นสมุทัย ให้ทราบว่าสมุทัยอยู่ที่ไหน คือขณะที่ต้องการ

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมแต่ก็นับถือพระ นับถือวัด ผ่านวัดยกมีไหว้ เจ้าประคุณขอให้ถูกลอตเตอรี่ที่ ๑ เจ้าประคุณของให้ลูกคนโตหายเจ็บ อันนี้เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นทิฏฐิแล้วหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิต้องประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นมีอกุศลจิตเกิดคือหวังผล

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ความเห็นผิด แต่ถ้ามีความมั่นใจในสิ่งนั้นว่าจะช่วยได้ นั่นคือความเห็นผิด

    ผู้ฟัง คนส่วนมากจะมั่นใจ ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่ถวายอะไรพระกันมากมายจนไปไหนต่อไหนได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มั่นใจในกุศลหรือว่า ถ้าทำกุศลแล้วผลของกุศลมี

    ผู้ฟัง ก็มั่นใจว่าจะได้

    ท่านอาจารย์ ได้แล้วทำไมต้องขอ

    ผู้ฟัง ดิฉันว่ามันเห็นผิด เพราะว่าเหตุไม่ตรงกับผล ไหว้พระแป๊บเดียวแล้วไปขอให้ถูกลอตเตอร์รี่รางวัลที่ ๑ เหตุไม่ตรงกับผลเลย นี้เห็นผิดชัดๆ เลย ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าคนนั้นมีอกุศลจิต ถ้ามีความเชื่อมั่นจริงๆ ว่าสิ่งนั้นช่วย ไม่ใช่กุศลของตัวเอง นั่นผิด

    ผู้ฟัง แต่ไหว้สิ่งต่างๆ ซึ่งผ่านมา แล้วบอกว่าเจ้าพระคุณขอให้ลูกหายเจ็บ ขอให้ถูกลอตเตอรรี่รางวัลที่ ๑ คือหมายความว่าไปยึดมั่นในสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่กรรมของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ไหว้เสร็จแล้วขอเสร็จแล้ว ถูกหรือเปล่าล๊อตเตอรรี่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าใครแน่ กรรมของตนเองหรือบุคคลอื่น ไหว้เสร็จแล้วขอเสร็จแล้วว่า อย่าให้คนนั้นตาย แล้วคนนั้นตายหรือเปล่า นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากรรมของตนเอง หรือว่าสิ่งอื่นบันดาลได้ ไหว้เสร็จแล้วขอเสร็จแล้ว ขอให้คนนั้นหายเจ็บ แต่คนนั้นก็ไม่หาย แสดงว่าให้เห็นว่า คนนั้นเป็นกรรมของตนเอง หรือว่าสิ่งอื่น มีเครื่องพิสูจน์อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ต้องตรง การที่จะเข้าถึงธรรมได้จริงๆ ต้องตรง ถ้าไม่ตรงแล้วไม่มีทางถึงอริยสัจจ์แน่นอน เพราะว่าไม่ตรงตั้งแต่ต้น

    ผู้ฟัง มิจฉาทิฏฐิกับทิฏฐิ เป็นความหมายอันเดียวกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เป็นชื่อ ซึ่งอยู่ในที่ต่างๆ ถ้าใช้คำว่า “ทิฏฐิเจตสิก” ในประเภทของอกุศลเจตสิก หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ บางทีเราก็ละไว้ในที่เข้าใจ ถ้าเรากำลังพูดถึงเรื่องกุศลเราก็บอกว่า ความเห็นถูก อันนั้นภาษาบาลีก็ใช้คำว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกก็หมายความว่าเป็นปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า เรากำลังพูดเรื่องอะไร แล้วเราจะใส่คำเต็ม หรือจะใช้คำย่อก็ได้ แต่ว่าเป็นที่เข้าใจ

    ผู้ฟัง เรื่องยึดถือพระ ยึดถืออะไรก็ได้เขาบอกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่จะช่วยให้เขาพ้นเคราะห์อันนี้เรียกว่าเป็นสีลัพพตปรามาสด้วยเหมือนกันใช่ไหม คือยึดถือในสิ่งที่ผิด แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติผิดเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ยึดถือผิด

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเวลาที่มีพระหรือว่าพกพระไปด้วย ทำไมถึงชอบไปคิดเรื่องอุบัติเหตุ ทำไมไม่คิดว่าการที่พกพระแล้วเราดีขึ้นบ้างไหม ไม่เคยมีใครที่จะคิดถึงจิต สภาพของจิตซึ่งพระธรรมจะทำให้เราชำระอกุศล แต่ว่าเรากลับไปหวัง เต็มไปด้วยโลภะ

    เรามีอะไรเราก็มีเพื่อโลภะทั้งนั้น มีพระพุทธรูปก็เพื่อโลภะ มีพระเครื่องก็เพื่อโลภะ มีทุกอย่างก็เพื่อโลภะ เพื่อตัวของตัวเอง แล้วตัวเองดีขึ้นบ้างหรือเปล่า เวลาที่มีพระ ซึ่งจริงๆ แล้วพระธรรมไม่ได้สอนให้เราติด แต่สอนให้เราขัดเกลาอกุศล

    แทนที่ว่ามีพระแล้วคนนั้นจะดีขึ้น กับมีพระแล้วคนนั้นพ้นภัย ทำไมไม่เป็นเรื่องของกรรม เพราะว่าทุกคน ถ้าละเอียดจริงๆ แล้วจะทราบได้ว่า ในขณะที่เห็น ถ้าไม่มีกรรม จะไม่ต้องเห็น ถ้าไม่มีกรรม ก็ไม่ต้องได้ยิน ยังไม่ต้องไปคิดเรื่องอุบัติเหตุหรือเรื่องอะไรเลย ถ้าไม่มีกรรมก็ไม่ต้องเกิด เพราะว่าเกิดมาแล้วจะพ้นไปจากมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย แล้วก็มีการที่จะได้เห็น ได้ยินพวกนี้ไม่ได้เลย ทำไมไม่คิดถึงต้นตอว่าเป็นอะไรแน่ที่ทำให้เห็นเดี๋ยวนี้ โดยที่ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอุบัติเหตุ แล้วถ้าจะคิดถึงพระ ควรจะคิดว่า เมื่อมีพระแล้วดีขึ้นบ้างหรือเปล่า เข้าใจธรรมขึ้นบ้างไหม ไม่ใช่ไปคิดเรื่องผลของกรรม ซึ่งอย่างไรก็ต้องมีแน่ เพราะว่าคนนั้นคงจะไม่ได้ลืมครั้งเดียว และอุบัติเหตุเกิดทุกครั้งไปหรือเปล่า ถ้ายิ่งเกิดทุกครั้ง คงจะยิ่งเชื่อ ก็ยิ่งแย่ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตรง มั่นใจกล้าพอที่จะรับเหตุผลต่อความจริง

    ผู้ฟัง เรื่องศักดิ์สิทธิ์ผมก็เชื่ออยู่เรื่องพระปริตร แต่สวดพระปริตรก็เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัยสร้างกุศลให้เกิดขึ้น แต่ท่านตรัสว่าอานุภาพของพระปริตรก็มี แต่พระปริตรมีแล้ว ไม่ใช่ว่าคนเราจะไม่ต้องตาย จะไม่ต้องรับผลของกรรม ไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนกับมีหมอ ก็ไม่ใช่ว่ารักษาคนได้ทุกโรค ไม่มีใครตายเลยเพราะมีหมอ ถ้าโรคหนักจริงๆ ก็ตาย เมื่อกรรมหนักจริงๆ ก็ต้องเป็นไปตามกรรมอยู่แล้ว แต่พระปริตรก็พอที่จะช่วยได้บ้าง แต่ต้องนับถือให้ถูก

    ท่านอาจารย์ อานุภาพของพระปริตรมี เพื่อให้เราดีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพื่อให้เราดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สวดพระปริตร มีแต่เรื่องของพระธรรมใช่ไหม แล้วพระธรรมสอนให้ดีหรือเปล่า อานุภาพของพระปริตรก็คือทำให้คนเป็นคนดีหรือเปล่า แล้วจะเอาอานุภาพอะไร

    ผู้ฟัง อานุภาพของความดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องกลับมาที่เหตุผล พระปริตรคืออะไร ใช่ไหม ต้องเข้าใจก่อน ไม่ใช่เขาพระปริตรเราก็พระปริตร ฟังก็ไม่ออก

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง ธรรมใดๆ ในโลกนี้บรรดามี ในมนุษย์ก็ดี ในเทวโลกก็มี รัตนะนั้นเสมอด้วยพุทธรัตนะไม่มี ด้วยสัจจวาจานี้ขอความสวัสดีจงมี

    ท่านอาจารย์ อันนี้สอนใคร

    ผู้ฟัง สอนเรา

    ท่านอาจารย์ แล้วเราดีขึ้นไหม พอพูดอย่างนี้

    ผู้ฟัง เราก็เกิดศรัทธา

    ท่านอาจารย์ สอนอย่างนี้ สอนให้ดี แล้วเราดีขึ้นแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ขณะจิตที่เลื่อมใส่ศรัทธาก็คงเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ดี ดีขึ้นแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง ดี เป็นกุศลตอนนั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลแล้วหรือยัง แค่นั้นพอแล้วหรือ

    ผู้ฟัง ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจอีก ต้องเข้าใจอีก พระธรรมทั้งหมด อานุภาพคือทำให้เป็นคนดี เพื่อให้ละกิเลส

    ผู้ฟัง ไปไหว้พระแล้วขอให้อะไรอย่างนี้ มันมีเหตุผลที่ว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณ สุข พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลที่มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิจ

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นคนดีหรือเปล่า แล้วดีให้ผลดีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ให้ผลดี

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องดีทั้งนั้นสอนให้เป็นคนดีทั้งหมด

    ผู้ฟัง เรื่องสักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาส โลกเที่ยง ไม่เที่ยง โลกสูญ นั้นมันไกลเกินไป เอาใกล้ๆ สีลัพพตปรามาส รู้สึกว่าบางครั้งก็มี เพราะบางครั้งจะนั่งนิ่งๆ จะเจริญสติอย่างนี้ พอจะเจริญทีไรมันก็ผิดทุกที นี้คือสัพพตปรามาสใช่ไหม ทีนี้สักกายทิฏฐิ ผมตื่นมาก็เหมือนเป็นปกติเลย เห็นขัน เห็นสบู่ เห็นอะไร ก็เป็นสิ่งนั้นไปหมด ไม่เคยเป็นรูปารมณ์ ไม่เคยเป็นธาตุดิน อะไรอย่างนี้ เป็นขัน เป็นสบู่ เป็นแก้วน้ำ เป็นจริงเป็นจัง เป็นเรื่องเป็นราว เป็นสักกายทิฏฐิหรือยัง

    ท่านอาจารย์ ที่พูดเมื่อกี้ รู้สึกมีจิตที่เป็นอกุศลหลายประเภท ซึ่งอาศัยความละเอียดจะเข้าใจได้ อย่างเวลาที่เกิดความสงสัย เป็นโมหมูลจิต ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย อย่าลืม เพราะจะปนกันไปหมดเลย ความเห็นผิดก็ปนกับความสงสัย แต่ให้ทราบว่า เป็นจิตแต่ละประเภท และต้องเข้าใจด้วย ถามว่าขณะที่สงสัยนั้นไม่ใช่ความเห็นผิด ไม่มีความเห็นใดๆ เกิดขณะที่สงสัย เวลาที่มีความเห็นผิดก็ไม่มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเจตสิก ๒ ดวงนี้จะไม่เกิดร่วมกัน

    นี่แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วของจิต แล้วก็มีอกุศลหลายประเภท แต่ให้ทราบว่า การเห็นผิด เห็นผิดจากความเป็นจริง แม้ว่าเราจะได้ฟังมาก็ตามว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เข้าใจขณะนั้นต้องเป็นความเห็นถูก แล้วเวลาที่ชีวิตประจำวันของเราก็เต็มไปด้วยโลภะ ตื่นขึ้นมาก็ชอบ อยากจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ ไม่มีความเห็นใดๆ สักนิดมาเกิดร่วมด้วย อย่าลืมว่าขณะนั้นเป็นความเห็นหรือไม่ใช่ความเห็นอยู่ตรงนี้ คือ โลภะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ซึ่งเราสามารถจะพิจารณาจิตใจของเราได้ว่าเราอยากรับประทานน้ำ ไม่ได้มีความเห็นอะไรเกิดขึ้นมาเลย แล้วเราก็อยากตั้งหลายอย่างตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เต็มไปด้วยอยากทั้งนั้น ก็ไม่ได้มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลิจิตซึ่งมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ต้องใช้คำว่าเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง คำว่าสักกายทิฏฐิ ไม่เป็นตัวเป็นตน ผมรู้สึกว่าเป็นความเห็นที่ค่อนข้างจะรุนแรงในลักษณะที่ว่า เห็นอะไรแล้ว จะต้องไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ในลักษณะเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี่เป็นเรื่องที่ว่าพระโสดาบันบุคคลดับโลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับความเห็นผิด แต่ยังมีโลภะ ชีวิตของพระโสดาบันประจำวัน ท่านก็มีโลภะเหมือนปุถุชน แต่เพราะเหตุว่าท่านได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ประจักษ์การเกิดดับรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔

    เพราะฉะนั้น ท่านไม่มีความสงสัย ดับวิจิกิจฉาเจตสิกด้วย แต่โลภะท่านยังมี ระหว่างคนที่ไม่ใช่พระโสดาบัน แล้วก็มีชีวิตประจำวันซึ่งมีโลภะเหมือนกับพระโสดาบัน โลภะของคนที่ไม่ใช่พระโสดาบัน กับโลภะของผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ไม่ต่างกัน โดยประเภทของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะว่าขณะนั้นไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ขณะใดที่เกิดความเห็นผิด อย่าลืมว่าเกิด ไม่ใช่มี เกิดความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ที่ว่าจิตที่ประกอบด้วยทิฏฐิเจตสิกนั้น คือ จิตที่จะมีความเห็นผิด ก็ต้องเป็นจิตที่ติดข้องยึดมั่นในความเห็นนั้น มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีความเห็นอย่างนั้น ทีนี้จิตที่มีความเห็นผิดนั้นก็เกิดร่วมกับเจตสิก คือ ทิฏฐิเจตสิก เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่โลภมูลจิตเกิดแล้ว ทิฏฐิเจตสิกจะต้องเกิดร่วมด้วยเสมอไป เพราะว่ามีโลภมูลจิตอยู่เพียง ๔ ประเภทเท่านั้นที่ทิฏฐิเจตสิกจะเกิดร่วมด้วยได้

    มีปัญหาหลังจากสนทนาเสร็จแล้วว่า โลภมูลจิตนี้มีทิฏฐิเจตสิกประกอบร่วมด้วย แล้วก็ยังมีโลภเจตสิกบางประเภทที่มานะเจตสิกประกอบร่วมด้วย ท่านผู้นั้นก็สงสัยว่าทิฏฐิเจตสิกกับมานะเจตสิกจะเกิดประกอบพร้อมกันได้ไหมในโลภมูลจิตในขณะเดียวกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 16
    10 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ