ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
ตอนที่ ๑๖๒
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๗
ผู้ฟัง ผมก็ยังมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องว่าในกรณีที่โลภมูลจิตที่มีทิฏฐิคตวิปปยุตต์ โอกาสที่มานะเจตสิกจะเกิดขึ้นก็มีอยู่ ยกตัวอย่าง ผมอยากทานน้ำท่านอาจารย์สุรีย์ แค่นี้จบ ตัวอย่างก็แค่นี้ ท่านอาจารย์สุจินต์บอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย ไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวกับเรื่องทิฏฐิคตสัมปยุตต์เลยในขณะนั้น จุดนี้ก็คือว่า นี่ใช่ไหม เป็นโลภมูลจิตดวงที่มีทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แล้วก็ไม่มีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย อันนี้คือคำถามของผม
ท่านอาจารย์ คงจะต้องการตัวอย่างของโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด แล้วก็โลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แล้วก็โลภมูลจิตที่มีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าโลภมูลจิตก็แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือโลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ถ้าโลภะที่มีทิฏฐิเกิดด้วยขณะนั้นเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เราแบ่งเป็น ๒ พวก ว่าประเภทของโลภะที่ต่างกันก็คือว่า บางขณะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย บางขณะไม่มี ยังไม่ต้องพูดถึงมานะ เอาเพียงแค่โลภมูลจิตก่อนว่า ธรรมดาเวลาที่เราชอบอะไร หรือว่ากำลังสนุกสนาน ไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับสัตว์บุคคล หรือธรรมต่างๆ ขณะนั้นเป็นแต่เพียงความเพลิดเพลินพอใจ ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งไม่มีทิฏฐิ ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่ขณะใดที่มีความเห็นผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ขณะนั้นเป็นความเห็นที่เกิดขึ้น จิตขณะนั้นที่มีความเห็นเกิดขึ้น ต้องเป็นอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิต เพราะเหตุว่ามีความติดข้องในความเห็นนั้น มีความพอใจในความเห็นนั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์
นี่คือความต่างกันของโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยกับไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย อันนี้คงไม่มีปัญหา ใช่ไหม
ทีนี้เวลาที่มีมานะเกิดร่วมด้วย ให้ทราบว่า ขณะใดที่มีมานะเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นเลย เป็นความสำคัญตนเท่านั้น ในขณะนั้น ถ้าบางคนจะบอกว่าน่าจะมีมานะเกิดร่วมด้วยในขณะที่มีความเห็น ดูเหมือนกับว่ามานะจะเกิดร่วมกับทิฏฐิ แต่ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก ถ้าใครเข้าใจว่า มานะจะเกิดร่วมกับทิฏฐิ ก็ให้เห็นความต่างกันในขณะนี้ว่า จิตเห็นไม่ใช่จิตได้ยิน แต่ดูเสมือนว่าทั้งเห็นทั้งได้ยินด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความรู้สึกว่า ขณะที่เป็นมานะจะมีความเห็นผิด ขณะที่มีความเห็นผิดก็มีมานะร่วมอยู่ด้วย ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นเพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ทำให้ดูเหมือนว่ามีมานะเกิดในขณะที่มีความเห็นผิด เช่นเดียวกับขณะที่กำลังเห็นก็ดูเหมือนว่ามีเห็นด้วยมีได้ยินด้วย แต่ความจริงแล้วก็เป็นจิตคนละประเภท แล้วก็ไม่เกิดพร้อมกัน
การดับกิเลสอย่างพระโสดาบันดับทิฏฐิ ก็เท่ากับดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ทั้ง ๔ ดวง หมดเลยทั้ง ๔ ดวง เหลือเพียงโลภมูลจิตที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ๔ ดวงเท่านั้น ซึ่งก็จะมีมานะเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่มีมานะเกิดร่วมด้วยก็ได้
ผู้ฟัง เข้าใจ มีคำถามอีกคำถามหนึ่งที่ว่า คนเขาพูดกันโดยทั่วๆ ไปว่า สมมติว่าผมเองมีทั้งทิฏฐิ ทั้งมานะ ผมมีทั้งทิฏฐิ ทั้งมานะ เพราะผมเป็นผู้ที่มีอำนาจ เป็นผู้ที่มีอะไรก็แล้วแต่ แสดงความเป็นทิฏฐิ แล้วมานะออกมาเลย อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องใช่ไหม เพราะว่าทิฏฐินั้นเกิดไม่ได้แน่นอน ตามที่ท่านอาจารย์กล่าว
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทั้งเห็นทั้งได้ยินด้วย ใช่ไหม เป็นจิตดวงเดียวกันหรือเปล่า
ผู้ฟัง เห็น ได้ยิน คนละดวง
ผู้ฟัง เห็นว่าเป็นเราด้วยความเห็นผิด คำว่าเห็นผิดตัวนี้ ถามว่าเป็นสักกายทิฏฐิ หรือสีลัพพตปรามาส
อ. สมพร ก็เป็นสักกายทิฏฐิ เห็นผิด
ผู้ฟัง ต่างกันอย่างไร ๒ ตัวนี้
อ. สมพร สักกายทิฏฐิ
ผู้ฟัง กับสีลัพพตปรามาส
อ. สมพร ก็หมายความถึงประพฤติผิดด้วย มีความเห็นผิดด้วย ทั้ง ๒ อย่าง มีความเห็นแล้วประพฤติด้วย สีลวัตร วัตร หมายถึงการประพฤติ ไม่ใช่เห็นอย่างเดียว ประพฤติด้วย ประพฤติอย่างโค อย่างสุนัข อย่างแพะ อย่างอะไรอย่างนี่ ถ้าทิฏฐิเฉยๆ ก็ความเห็นอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับการประพฤติ ถ้า ๒ อย่างก็หมายว่า ตัวทิฏฐินั่นแหละทำให้ประพฤติด้วย แต่ว่าความประพฤตินั้นเป็นอีกอันหนึ่ง คือวัฏฏะ ในตัวอย่างท่านยกไว้มากมาย เช่นประพฤติอย่างโค อย่างสุนัข อย่างแพะ อะไรต่ออะไร
ผู้ฟัง มีในชีวิตประจำวัน ที่แลเห็นมีบ้างไหม
ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดมี แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยก็ได้ ใช่ไหม ก็เป็นคนที่มีความเห็นผิดที่ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องเป็นความเห็นที่ว่ามีตัวตนจริงๆ ขณะใดที่มีความเห็นอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับจิต ทีนี้ถ้าเขาประพฤติปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทิฏฐิอื่น แต่เป็นสักกายทิฏฐิ คือ ความติดข้องในความเห็นว่า มีเรา ก็จะทำให้เข้าเกิดการประพฤติปฏิบัติในทางที่จะทำให้ผิดจากหนทางที่เป็นเหตุเป็นผล
ผู้ฟัง ก็เป็นสักกายทิฏฐิ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่ทิฏฐิอื่น ถ้าไม่ใช่เป็นอุจเฉททิฏฐิ ไม่ใช่ว่าเป็นความเห็นว่าตายแล้วสูญ ไม่ใช่เป็นความเห็นว่ามีผู้สร้าง หรืออะไรๆ อย่างนั้น ขณะที่มีความเห็นว่ามีตัวมีตนเป็นเรา ขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิ ไม่ต้องพูดถึงความเห็นอื่นว่า มีผู้อื่นเป็นใหญ่หรืออะไรอย่างนั้น ถ้าเป็นความเห็นอย่างนั้นเกินจากสักกายทิฏฐิ แปลว่าเป็นทิฏฐิซึ่งเกิดมากว่าที่จะเป็นเพียงสักกายทิฏฐิ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เชื่ออย่างศาสนาอื่นหรือว่าสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ว่ายังไม่ได้หมดสักกายทิฏฐิ มีอยู่แต่ไม่ใช่หมายความว่าเกิดทุกวัน เฉพาะในขณะที่มีความเห็นเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ว่าคนที่ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ แล้วก็มีความประพฤติต่างๆ กัน ซึ่งเราจะมองเห็นว่า บางคนเชื่อในสิ่งซึ่งงมงาย ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้เชื่อเรื่องอื่น แต่เขาก็ยังเชื่อในสิ่งที่งมงายได้ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ขณะนั้นมีการประพฤติปฏิบัติอะไรหรือเปล่า เช่น สะเดาะเคราะห์ ทำกรรมไว้มากมายเหลือเกิน สะเดาะง่ายมาก หมดไปได้อย่างไร กับการที่จะปล่อยนก ๙ ตัว ๙ สี หรืออะไรอย่างนี้ เขาไม่ได้นับถืออย่างอื่น แต่เขามีความเชื่ออย่างนั้น ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผล เป็นการประพฤติปฏิบัติซึ่งไม่ถูกต้อง แล้วถ้ามีความเห็นผิด แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปก็เพิ่มขึ้น ในเมื่อไม่เป็นผู้ที่มีเหตุผลตั้งแต่ต้น ต่อไปๆ ก็เป็นผู้ที่ไม่มีเหตุผล นก ๙ ตัว ๙ สี แล้วทำกรรมมาตั้งมากมาย หมดง่ายมากเลย แล้วช่วยอะไรได้ กรรมที่ทำไว้ อาจจะเป็นชาติก่อนเคยฆ่ามารดาบิดา หรือว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ปล่อยนกนก ๙ ตัว ๙ สีหมด
ผู้ฟัง อันนี้เป็นสีลัพพต
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วเชื่อได้อย่างไร เป็นการประพฤติการทำสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล
ผู้ฟัง ผมคิดว่า อันนี้เป็นตัวอย่างที่ยกขึ้นมา เขาประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ไปตกปลาเพื่อการกุศล แล้วก็มีคนไปร่วมกันมาก ผมก็เลย คงจะเป็นสสังขาริกว่า มีการชักชวนให้ผมไปร่วม ผมก็เลยไปร่วมกับเขา แต่ไม่ได้ปลาหรอก
ผู้ฟัง แล้วคุณวีระมีความเชื่อปักใจไหมว่า ตกปลาการกุศลไม่บาป
ผู้ฟัง แต่นี้เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ขณะนั้นผมคิดว่าคงจะไม่บาป เพราะว่าก็ไปช่วยการกุศล ก็ยังมีรายการชกชิงแชมป์เปี้ยนเพื่อการกุศลอย่างที่เขาประกาศวิทยุ คนก็ไปดูกัน แล้วก็ไปสนุกสนานกัน แล้วในโอกาสเดียวกันก็ได้ทำบุญด้วย
ผู้ฟัง ก็ไม่คิดว่าบาปเหมือนกันใช่ไหม
ผู้ฟัง ก็คงจะพอกัน ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ คุณวีระพูดจริงๆ หรือว่าพูดให้คนอื่นคิด
ผู้ฟัง พูดจริงๆ อันนี้
ท่านอาจารย์ เชื่อจริงๆ หรือว่า ตกปลาไม่บาป
ผู้ฟัง ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง ไม่ใช่เดี๋ยวนี้
ท่านอาจารย์ ในอดีตหรือ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่าเป็นชาวพุทธ สิ่งที่เราต้องระวัง ก็คือว่า เราไม่มีความเห็นผิดอื่นแน่ เรื่องฆ่าสัตว์ไม่บาป ไม่มี เรื่องที่จะไปนับถือพระผู้เป็นเจ้าที่จะบันดาลทุกอย่างก็ไม่มี แต่อย่าลืมว่ายังมีความเห็นผิดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเราจะต้องขจัด เพราะว่าถ้าเราไม่ขจัดออก ความเห็นผิดมีความโน้มเอียงซึ่งเมื่อสะสมแล้วเราจะเป็นคนที่ง่ายต่อการเห็นผิด แล้วความเห็นผิดนี่ง่ายมากเลยที่จะเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หนักแน่นในเหตุผลจริงๆ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในเรื่องกรรม และผลของกรรม เราจะไปเชื่ออย่างอื่นอีกมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามเหตุผล
ชาวพุทธที่นับถือพุทธแล้ว จะต้องสำรวจว่า ยังมีอะไรอีกซึ่งเราไม่ตรง ซึ่งทำให้เราเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงในกรรม และผลของกรรม ถ้าเชื่ออย่างอื่นเป็นความเห็นผิด ไม่เป็นไปตามความจริง
ถ้ามีความเข้าใจว่า มีความเห็นผิดขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทโลภมูลจิต แล้วแต่ว่าการกระทำของใครในขณะนั้นเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ก็เป็นตัวอย่างแล้ว เอาความเข้าใจในเรื่องของโลภะ ในเรื่องของทิฏฐิ ส่วนตัวอย่างก็ในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นขณะไหนเราก็รู้ขณะนั้น แต่ว่ายากที่จะรู้จิตของคนอื่น การกระทำของคนอื่นไม่มีทางที่เราจะรู้ได้ นอกจากรู้จักตัวของเราเองจริงๆ
ผู้ฟัง ถ้าจะสรุปว่าที่จะเป็น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ต้องเกิดพร้อมด้วยความยินดีติดข้อง แล้วก็มีความเห็นผิด เช่นว่าไม่เป็นบุญไม่เป็นบาปที่จะทำผิดต่างๆ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่า ให้สั้น ให้แน่ ก็คือว่าขณะใดเห็นผิด ขณะนั้นต้องเป็นโลภะ ไม่ต้องคิดว่ามีโลภะ แล้วก็มีทิฏฐิมาเกิด หรืออะไรอย่างนั้น แต่ขณะใดที่ใครเห็นผิด ให้ทราบเลยว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต
ผู้ฟัง เป็นขณะเดียวกัน
ท่านอาจารย์ จะเป็นจิตอื่นไม่ได้ในอกุศลจิต ๑๒ ขณะใดที่ความเห็นผิดเกิด คนนั้นพูดมากมายเรื่องความเห็นต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ผิดทั้งนั้น ในขณะนั้นเราฟังเราก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ที่ทำให้เอ่ยคำอย่างนี้ซึ่งไม่ถูก
ตัวอย่างก็มีในชีวิตประจำวันอยู่แล้วซึ่ง เรามีหลักเราก็รู้ได้ แต่ไม่ใช่หาตัวอย่างมามากมาย แล้วมานั่งวิจัยว่าอันนี้จะเป็นข้อไหน
ผู้ฟัง ตัวอย่างบางทีก็ช่วยได้
ท่านอาจารย์ ไม่ ความเข้าใจว่า ขณะใดที่เป็นความเห็นผิด แล้วการกระทำใดๆ ซึ่งเกิดจากความเห็นผิด ขณะนั้นเราก็รู้ว่า ต้องมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ซึ่งทำให้กายวาจาผิดเกิดขึ้น
ผู้ฟัง เรื่องปล่อยนก เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ท่านอาจารย์ เคยเห็นคนปล่อยนกเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือ
ผู้ฟัง ไม่ใช่ ที่ปล่อยนก ผู้ที่ปล่อยนกผิดธรรมข้อไหน โดยคิดว่าปล่อยไปแล้วตัวเองจะได้พ้นเคราะห์
ท่านอาจารย์ ต้องพูดเป็นเรื่องๆ แล้วก็เป็นแต่ละเหตุการณ์ด้วย ถ้าเห็นคนปล่อยนกแล้วเราไปบอกว่าคนนี้เห็นผิด ไม่ได้ ใช่ไหม
ผู้ฟัง อันนั้นเป็นสีลัพพตปรามาสหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ คนใจบุญเห็นนกถูกขังหรืออะไรก็แล้วแต่ หรือทำอะไรก็แล้วแต่แล้วช่วย อาจจะปล่อยก็ได้อย่างนั้น ต้องแยก แยกเป็นเรื่องๆ ไม่ใช่ว่ารวมเห็นคนปล่อยนก
ผู้ฟัง ประเด็นอยู่ตรงนี้ขอบเขต ผมพูดถึงคำว่าขอบเขต คำว่ามิจฉาทิฏฐิ กับสีลัพพตปรามาส
ท่านอาจารย์ คนที่ชอบไปตลาด แล้วก็ซื้อปลา ปลาไหล เต่า อะไรต่ออะไรพวกนี้ไปปล่อย แล้วเราจะบอกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ไหม ในเมื่อเขาปล่อยปลา เพียงการปล่อย เราไม่สามารถจะบอกได้ ใช่ไหม เมื่อพูดถึงเรื่องสะเดาะเคราะห์ ต้องคิดเลยว่า อะไรคือเหตุที่จะให้เกิดเคราะห์ อกุศลกรรมทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น การที่เราทำสิ่งที่ไม่ดีมาแล้ว แล้วก็จะสะเดาะเคราะห์ออกไปโดยวิธีง่ายๆ ดอกไม้ ๙ สี นก ๙ ตัว หรืออะไรๆ อย่างนี้ เป็นไปได้หรือในการที่เราจะพ้นเคราะห์โดยวิธีนั้น แล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ในขณะที่เข้าใจอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นความเห็นผิด ใช่ไหม
ทีนี้พูดถึงเรื่องทิฏฐิกับสีลัพพตปรามาส ทิฏฐิเป็นความเห็น ซึ่งยังไม่ต้องมีการกระทำใดๆ เลยได้ แล้วความเห็นจะถึงเป็นอุปาทานก็ได้ เป็นทิฏฐุปาทาน คือยึดมั่นในความเห็นนั้น แต่ยังไม่มีการกระทำอะไรเลย แต่ยังยึดมั่นในความเห็นนั้น แต่บางคนไม่ใช่เพียงแต่มีความยึดมั่นในความเห็น ยังมีการกระทำทางกายทางวาจาด้วยความเห็นผิดนั้น ขณะใดที่มีการประพฤติปฏิบัติด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส สำหรับในเรื่องการอบรมเจริญปัญญาก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่เข้าใจหนทางที่ถูก คิดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส เพราะเหตุว่าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าสติระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น นี่ไม่ใช่สีลัพพตปรามาส แต่ถ้าคิดว่าต้องไปทำอย่างอื่น ต้องไปเข้าไปออก หรือไปกราบไปไหว้ ไปทำอะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นไม่ใช่ความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส
แสดงให้เห็นว่าความเห็นผิดมี แต่ในความเห็นผิดมีการกระทำอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงความเห็น เพราะว่าบางคนก็เจ้าความเห็น มีความเห็นมากมายผิดทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพียงแต่มีความเห็น ชอบเห็น ชอบคิด แล้วก็ยึดติดในความคิดความเห็นนั้น ก็เป็นการยึดมั่นในความเห็นผิด แต่เขาก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้าคนที่แม้ว่าจะได้ฟังธรรมแล้ว แต่ว่าเรื่องของธรรมเป็นเรื่องละเอียดในเรื่องของการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุว่าเราพูดกันมามากในเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นสัจธรรม แต่ถ้าไม่มีสัจจญาณ คือ ความเข้าใจถ่องแท้มั่นคงในอริยสัจจ์ ๔ ว่าหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้สภาพธรรมว่ากำลังปรากฏคืออย่างไร
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเหตุให้การปฏิบัติที่จะรู้สภาพธรรมผิดขณะนั้นก็เป็นสีลลัพพตปรามาส สรุปว่าอะไรก็ตามซึ่งเป็นการประพฤติผิด ขณะนั้นเป็นสีลัพพตปรามาส เพราะเหตุว่าเป็นศีล เป็นพรต เป็นการประพฤติปฏิบัติด้วย
ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวอย่างนี้ได้ไหมว่า มิจฉาทิฏฐิมีอยู่หลายประการ แล้ว สีลลัพพตปรามาสก็เป็นมิจฉาทิฏฐิประการหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ มิจฉาทิฏฐิมี แล้วก็ทำให้เกิดการประพฤติปฏิบัติ เพราะเหตุว่า ถ้าคนที่นับถือโค เขาก็ไม่ทำร้ายโคเลย กราบไหว้ ล้างทำความสะอาดบูชาไป นั่นก็คือสีลลัพพตปรามาส เพราะมีความคิดผิดเชื่อผิด
ผู้ฟัง แสดงว่า สีลลัพพตปรามาสที่กระทำผิดก็
ท่านอาจารย์ เป็นการกระทำจากความเห็นผิด
ผู้ฟัง เป็นการกระทำจากความเห็นผิด
ผู้ฟัง บุคคลใดที่มีมิจฉาทิฏฐิอยู่ ก็แน่นอนต้องมีสีลลัพพตปรามาสร่วมด้วย
ท่านอาจารย์ บางคนไม่ทำอะไร เป็นคนเจ้าความเห็นเฉยๆ แต่ถ้าเขาประพฤติปฏิบัติด้วย มีลัทธิต่างๆ เกิดขึ้น พวกลัทธิทั้งหลายก็คือ สีลลัพพตปรามาส
ผู้ฟัง หมายความว่า ผู้ใดก็ตาม มีความเห็นถูก ประจักษ์แจ้งในความเห็นถูกแล้ว ความเห็นกับความคิด ความจริงมันเฉียดกันมาก ผมคิดว่าความเห็นจะครอบความคิด หมายความว่าถ้าหากมีความเห็นถูกสักอย่างหนึ่งแล้ว ความคิดผิดก็ไม่น่าจะมี ในลักษณะเช่นนั้น หมายความว่าถ้าเห็นถูกก็ต้องคิดถูกแน่นอน
ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกมีหลายระดับ ความเห็นถูกขั้นปริยัติ มี ศึกษามาแล้วก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นจิต เจตสิก รูป ขณะนี้กำลังปรากฏเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาตรงที่จะรู้อย่างนี้ ก็ต้องเป็นสีลลัพพตปรามาส
อ. สมพร พระอรรถกถาท่านอธิบายอย่างนี้ การลูบคลำ บางทีท่านก็เรียกว่ายึดถือ บางทีก็เรียกว่าลูบคลำข้อวัตรปฏิบัติโดยลัทธิอื่น หมายความว่าท่านกล่าวไว้สั้น โดยลัทธิอื่น เรายึดถือโดยลัทธิอื่น ไม่ยึดถือตามพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวไว้สั้นๆ ก็เราลองพิจารณาดู ถ้ายึดถือโดยลัทธิอื่นแล้ว ถ้าว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ปฏิบัติเท่าไรๆ ก็ไม่ถึงพระนิพพาน อันนี้ว่าโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า ลัทธิอื่น เพราะว่าลัทธิอื่นไม่ถึงนิพพานอยู่แล้ว นิพพานของเขาคนละอย่างกัน
ท่านอาจารย์ ถ้าคิดถึงสภาพธรรม ปรมัตถธรรม ทิฏฐิ ความเห็นผิด เห็นผิดจากความเป็นจริง เมื่อเห็นผิดจากความเป็นจริงแล้วก็มีการกระทำเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การกระทำที่เกิดขึ้นจากความเห็นผิด เป็นศีล เป็นพรต เป็นการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่เห็นผิด เราไม่จำเป็นที่ต้องไปพูดถึงเรื่องพระนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าแม้แต่ผู้ที่มีความเห็นถูกบางขั้น เช่นขั้นการศึกษาหรือขั้นปริยัติก็ยังมีความเห็นผิดในเรื่องการปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่มีความเห็นถูกเลยในเรื่องของการศึกษาสภาพธรรม ไม่มีความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมเลย มีความเห็นผิดเต็มที่เต็มตัว การประพฤติปฏิบัติของเขาก็เกิดจากการเห็นผิดอันนั้น ซึ่งก็เป็นศีลพรต เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ผิด แน่นอนที่สุดพวกนี้ไม่มีทางที่จะถึงพระนิพพานแน่นอน แต่ว่าขณะใดก็ตาม ทิฏฐิเป็นสภาพปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น มีความยึดมั่นเป็นเหตุให้มีความประพฤติผิด การประพฤติศีลพรตที่ผิดก็เป็นสีลัพพตปรามาส รวมกินความถึงผู้ที่ศึกษาธรรมด้วย
ผู้ฟัง สมมติว่าเรารู้ว่าปัญญาเป็นหนทางเจริญสติปัฏฐาน เจริญวิปัสสนาสติปัฏฐานเป็นหนทาง ผมมีความเห็นถูกหมด แต่เผอิญผมก็ไม่ทราบว่าข้อปฏิบัติอันนี้ มันผิดไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้โดยสภาวะ จะชื่อว่าเป็นสีลัพพตปรามาสด้วยนั้น ผมไม่ได้เห็นด้วย แต่ชื่อว่าตกอยู่ในความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ ผู้ที่ดับสีลัพพตปรามาส ก็คือพระโสดาบัน ดับเป็นสมุจเฉท ขณะที่เพียงสติเกิด ผู้นั้นจะรู้ได้เลยว่า ยังมีความเข้าใจผิดหลงเหลือบ้างหรือเปล่า ซึ่งปัญญาจะต้องละเอียดที่จะรู้แล้วละ จนกว่าจะดับหมดเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่าแต่ละคนจะมีความรู้สึกว่า แม้ว่าสติเกิด ความจงใจ ความตั้งใจมี ขณะนั้นผู้นั้นต้องระลึกได้แล้วว่า นี่ไม่ใช่หนทาง เพราะฉะนั้น นี่คือ สีลลัพพตปรามาสกายคันถะด้วย ถ้าใครไม่ละ เพราะเหตุว่าปัญญาไม่รู้ความจริง คนนั้นก็จะติดอยู่ตรงนี้ไม่สามารถที่จะดับความเห็นผิดที่ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ผิดได้
ผู้ฟัง คือประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวทิฏฐิ คือความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ ก็ต้องสอดคล้องกับการเข้าใจถูกในเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะดับอกุศลกรรมได้ต้องเป็นพระโสดาบัน ที่เป็นศีล ๕ เว้นได้ โดยไม่เกิดอีกเลย สมบูรณ์จริงๆ ต้องเป็นพระโสดาบัน
ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาก็ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่า บางท่านก็มีการฆ่าสัตว์ แต่ว่าไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดมีกำลัง เห็นความเป็นอนัตตาเลย ที่ฟังในวิทยุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เคยตบมากๆ หลายๆ ตัว ก็ตบเฉพาะบางตัวซึ่งจะกัดหรืออะไรอย่างนี้ ก็หมายความว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้นแล้วก็ละเว้นไป
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถึงแม้มีความเห็นถูกแล้วแต่ว่า ใครก็ไม่สามารถที่จะไปมีศีล ๕ สมบูรณ์ได้ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่เพิ่มกำลังของการรักษาศีลขึ้นได้จากความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต้องแยกกัน เรื่องของอกุศลจิต เรื่องของความเห็นผิด กับเรื่องของการเข้าใจผิดในการประพฤติปฏิบัติ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180