ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
ตอนที่ ๑๗๔
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๙
ผู้ฟัง ปัญญา คือ รู้ลักษณะของธรรม คนที่มีปัญญาทางโลก เก่ง แต่ไม่รู้ลักษณะของธรรม อันนั้นเรียกว่าความฉลาดทางโลก แต่ไม่ใช่ปัญญาทางธรรม ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงภาษาทั่วๆ ไป เราก็เคยใช้ตั้งแต่เล็กแต่น้อยมาก็เป็นเรื่องของความเคยชิน แต่เวลาที่จะเข้าใจสภาพปรมัตถธรรม เราต้องเข้าใจให้ตรง แม้แต่คำว่า โลกิยปัญญา ซึ่งถ้าจะแปลเป็นภาษาไทย จะแปลว่าปัญญาทางโลกได้ไหม
อ. สมพร โลกิยปัญญา หมายความว่าไม่ใช่ โลกุตตรปัญญา เรามาสมมติทางโลก ว่าเรียนหนังสือเก่ง
ผู้ฟัง เราใช้ภาษาไทยดีกว่า
ท่านอาจารย์ เรากำลังจะเข้าถึงสภาพปรมัตถธรรมล้วนๆ ซึ่งเราจะต้องเข้าใจตัวสภาพธรรม เวลาที่ใช้คำว่า โลกิยปัญญา ไม่ต้องไปคิดถึงภาษาไทยที่แปลออกมาว่า ปัญญาทางโลก เพราะนั่นเขาใช้เอง ซึ่งความจริงแล้วทางโลกเขาไม่ได้ใช้คำว่าปัญญาทางโลกเลย เขาใช้คำว่าปัญญา ไม่มีคำว่าทางโลก คนนั้นมีปัญญา แต่เขาไม่ได้บอกว่าทางโลก แต่ทีนี้พอมาเริ่มเรียนพระพุทธศาสนา เราจะได้ยินคำที่บอกว่าปัญญาทางโลก กับ ปัญญาทางธรรม เวลาที่ฟังทั่วๆ ไป ฟังเทศน์หรือว่าอะไรอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะให้เข้าใจลักษณะปรมัตถธรรมแล้ว แม้โลกิยปัญญาก็เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นโลก คือ รู้เรื่องจิต เจตสิก รูป รู้สภาพของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นโลก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมเกิดดับ
เวลาที่มีความเข้าใจที่มีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณก็ยังเป็นโลกิยปัญญา ตราบใดที่โลกุตตรจิตยังไม่เกิด ตราบนั้นเป็นโลกิยปัญญา
ต้องเข้าใจให้ถูกว่าปัญญาที่ใช้ในภาษาไทยไม่มีคำว่า ปัญญาทางโลกหรือปัญญาทางธรรม นั่นอีกระดับหนึ่ง แล้วพอศึกษาธรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็จะมี คำว่า ปัญญาทางโลก ปัญญาทางธรรม แต่ถ้าศึกษาปรมัตถธรรมแล้วต้องทราบว่า แม้โลกิยปัญญา หมายความเฉพาะปัญญาที่ไม่มีโลกุตตระหรือนิพพานเป็นอารมณ์ แต่สามารถที่จะมีจิต เจตสิก รูปเป็นอารมณ์ หรือความเข้าใจถูกเรื่องจิต เจตสิก รูป เรื่องสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาเจตสิก ซึ่งเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง สติ ระลึกได้ กับ สัมปชัญญะ ที่ว่ารู้ตัว บางคนเถียงว่ามันตัวเดียวกัน ช่วยแยกว่าเหมือนกันหรือมีอะไรส่วนต่างกันบ้าง สติ-ความระลึกได้ สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว จะไปแยกกันตอนไหน
ท่านอาจารย์ สติเป็นสภาพที่ระลึก เพราะฉะนั้น สติจะระลึกเป็นไปในทานก็เป็นสติ สติที่จะระลึกที่จะวิรัติทุจริตขณะนั้นก็เป็นสติ เวลาที่จิตไม่สงบเป็นอกุศล แล้วเกิดระลึกรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วกุศลจิตเกิดขณะนั้นก็เป็นสติที่เกิดพร้อมกุศลจิต ที่ไม่เป็นอกุศลอีกต่อไป
สติ คือ สภาพที่ระลึกได้ แต่ว่าสัมปชัญญะเป็นสภาพที่เป็นปัญญาจริง แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นฟัง อย่างเวลาที่เรากำลังฟังเรื่องเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิตประเภทหนึ่ง นี่คือฟังเรื่อง ขณะที่ฟังก็ต้องมีสติ เพราะว่าถ้าไม่มีสติแล้วก็ไม่เข้าใจ ฟังก็ผ่านหูไป แต่ว่าเป็นสติสัมปชัญญะหรือเปล่า ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะหมายความว่าขณะที่กำลังเห็นนี้เอง แล้วฟังเรื่องเห็น แล้วมีการระลึกรู้เห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ นั่นคือสติสัมปชัญญะ เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็เพียงฟัง ไม่ใช่ไม่มีสติ มี แต่ว่าขณะใดที่ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัมปชัญญะ
ต้องเข้าใจว่าสำหรับการอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาก็ตาม หรือว่าวิปัสนาภาวนาก็ตาม ปราศจากสติสัมปชัญญะไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะไปพยายามทำอะไรให้เกิดความไม่รู้สึกตัว เหมือนกับนั่งอยู่แล้วก็ลอยออกไป หรืออะไรอย่างนั้น นั่นไม่ใช่สภาพที่รู้สึกตัว ไม่ใช่ปัญญา
ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ คือ เมื่อมีสติระลึก แล้วก็ต้องมีการรู้ถูกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย ขณะนั้นจึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ เพราะถ้าทุกคนเพียงแต่ฟังคำแปล แล้วก็ไม่รู้ว่ารู้ทั่วที่ไหน รู้ทั่วอะไร ก็เพียงแต่จำได้ว่าคำนี้แปลว่าอย่างนั้น แต่ไม่ทราบลักษณะจริงๆ ของสติสัมปชัญญะก็คือว่า ในขณะที่สติเกิดจะต้องมีสภาพธรรมที่ปัญญากำลังรู้ในขณะนั้นด้วย จึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าสติบางครั้ง สัมปชัญญะอาจจะไม่เกิดก็ได้
ท่านอาจารย์ แน่นอน เวลาที่ให้ทานก็เป็นสติขั้นทานเท่านั้น
ผู้ฟัง สติตัวนี้ก็หมายความที่เกิดมาจากเจตสิก
ท่านอาจารย์ สติเป็นเจตสิก คือไม่มีเรา แต่ว่ามีสภาพธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังธรรม ให้ทราบว่าขณะนี้เป็นจิต เจตสิก รูปทั้งนั้น ในที่นี้ ส่วนที่เป็นรูปก็เป็นรูป ไม่รู้อะไรเลย ส่วนที่เป็นนามธรรมก็เป็นจิต และเจตสิกซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแต่ละขณะ ให้ทราบว่าที่เกิด เกิดแต่ละขณะ ไม่ใช่ว่ามีอยู่แล้ว แล้วก็เกิดขึ้นทำกิจการงาน แม้แต่จิตได้ยิน ขณะนี้ก็ไม่ใช่ขณะก่อน แต่ว่าเกิดขึ้นทันทีที่มีเสียงกระทบกับโสตปสาท แล้วจิตขณะก่อนยังไม่ใช่จิตที่ได้ยิน แต่ว่าเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิด นี่แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วดับทันที
ผู้ฟัง ตัวสัมปชัญญะเกิดมาจากอะไร โดยข้อเท็จจริง
ท่านอาจารย์ ต้องมีเหตุปัจจัยทั้งนั้น เหตุปัจจัยนี้ก็ต้องปัจจัย ๒๔ ถ้าไม่เคยสะสมมาก่อนเลยจะให้ปัญญาเกิดขณะนี้ก็ไม่ได้ ไม่เคยฟังเรื่องปรมัตถธรรม ไม่เคยฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรม จะให้สติระลึกลักษณะของนามธรรมรูปธรรมก็ไม่ได้
ผู้ฟัง สติเกิดโดยไม่มีสัมปชัญญะ หมายถึงทานใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทาน เวลาที่ไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ขณะใดก็ตามเป็นแต่เพียงสติได้
ผู้ฟัง ได้ เพราะฉะนั้น วันๆ เราก็มีสติได้
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นเป็นกุศลจิต
ผู้ฟัง ต้องเป็นกุศลจิต
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าสติเป็นโสภณเจตสิกจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย
ผู้ฟัง แล้วสติก็เกิดกับกุศลทุกดวงด้วย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทุกประเภท
ผู้ฟัง ในขณะที่เราทำกุศล สติก็จะต้องเกิดแล้ว
ผู้ฟัง เรื่องโสภณสัมปยุตต์ แปลว่าความดีงาม ส่วนโสภณสัมปยุตต์ ที่เป็นญาณสัมปุยตต์ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ โสภณสัมปยุตต์ที่เป็นโสภณt มีอย่างเดียว คือ ญาณสัมปยุตต์เท่านั้น เพราะเหตุว่าสัมปยุตต์ทั้งหมดมี ๕ ได้แก่ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ อันนั้นเป็นอกุศลเกิดกับโลภมูลจิต ปฏิฆสัมปยุตต์ก็เป็นอกุศลคือโทสเจตสิก เกิดกับโทสมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ก็เป็นอกุศลเจตสิก เกิดกับโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ก็เป็นอุทธัจจเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเกิดกับโมหมูลจิต เพราะฉะนั้น สัมปยุตต์ ๔ คือ ทิฏฐิสัมปยุตต์ ปฏิฆสัมปยุตต์ วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ อุทธัจจสัมปยุตต์ เป็นอกกุศลสัมปยุตต์ ๔ ในเมื่อสัมปยุตต์ทั้งหมดมี ๕ เหลืออีก ๑ คือ ญาณ เป็นโสภณสัมปยุตต์ เป็นสัมปยุตต์ฝ่ายดี เพราะเหตุว่าเป็นปัญญา
ผู้ฟัง จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นโสภณสัมปยุตต์ ถ้าเกิดใครกล่าวว่าโสภณสัมปยุตต์ คือ ญาณสัมปยุตต์นั่นเอง
ผู้ฟัง ปัญญาในพระอภิธรรมมีเท่าไหร่ ทั้งหมด หมายความว่าประกอบกับจิต หรือว่าอะไรทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ จิตใดก็ตามที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วยทั้งหมด ตั้งแต่กามาวจรจิต ซึ่งเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ๔ มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตต์ ๔ รูปาวจรจิตทั้งหมด เป็นญาณสัมปยุตต์ อรูปวจรจิตทั้งหมดเป็นญาณสัมปยุตต์ โลกุตตรทั้งหมดเป็นญาณสัมปยุตต์
ผู้ฟัง มาถึงวรรคที่ ๑ ก่อน มีการแทงตลอดธรรมตามเป็นจริงเป็นลักษณะ แทงตลอดด้วยปัญญา แทงอย่างไร
อ. สมพร คำว่าแทงตลอดหมายความว่ารู้ทั่ว
ผู้ฟัง มาเจอรู้ทั่วอีกแล้ว
อ. สมพร รู้ทั่วนี้เขาแปลกันว่า รู้ทั่ว คือ การแทงตลอด แต่ว่าเขานิยมพูดว่าแทงตลอด หมายถึงปัญญา ทีนี้รู้ทั่วก็มีอยู่ ๒ อย่าง รู้ทั่วขณะที่เราศึกษาอย่างหนึ่ง ขณะที่เราปฏิบัติอย่างหนึ่ง ปฏิบัติ เช่น ขณะที่พระโกณฑัญญะเป็นพระอริยบุคคลครั้งแรกเป็นพระโสดาบัน รู้ทั่วแทงตลอดไม่หลงเหลืออยู่เลย ด้วยอำนาจปัญญาเป็นประธาน ทีนี้ก็รู้ทั่วแทงตลอด หมายความว่าเราไม่มีความสงสัยเลย แต่ว่าอันนี้ยังเป็นโลกิยะอยู่ ด้วยอำนาจการศึกษาเล่าเรียนตามที่พระพุทธโฆษาท่านกล่าวไว้ การแทงตลอด พระพุทธโฆษาท่านแยกออกเป็น ๒ การศึกษาอย่างที่ว่าชัดเจน ไม่มีอะไรสงสัยเหลืออยู่เลยอย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างเป็นโลกุตตระ อย่างที่พระโกณฑัญญะแทงตลอด การแทงตลอดคือรู้ทั่ว
ท่านอาจารย์ เราก็ควรจะแยกแม้แต่ในการศึกษาว่า ที่เราฟัง เราจำหรือว่าเราเข้าใจ นี่แสดงให้เห็นว่า เราจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถึงจะเป็นปัญญา แต่ถ้าเราเพียงจำ อย่างบอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วเราก็บอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เราเข้าใจความหมายของคำว่าอนัตตาจริงๆ หรือเปล่าว่าอนัตตาหมายความถึงไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน แต่ว่าเป็นสภาพธรรม เป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ ขณะนั้นเป็นปัญญา แต่ถ้าเราเพียงจำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ว่าจะถามคำอะไรๆ ก็แปลได้ จำได้หมด แต่ว่าไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา
ผู้ฟัง แสดงว่าแทงตลอดยังมีเงื่อนไข ใช่ไหม หมายความว่าแทงไปถึงไหน อย่างยกตัวอย่าง ถ้าพูดถึงเรื่องปรมัตถธรรม ถ้าหมายถึงแทงตลอด หมายความว่าขณะนั้นต้องนิพพานปรากฏหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วปัญญาเป็นสภาพที่เห็นถูก ไม่ใช่เห็นผิด เพราะฉะนั้น ความเห็นถูก เมื่อเห็นถูกแล้วต้องถูกตรงความเห็นนั้น ไม่ว่าจะเห็นถูกอะไร ก็คือว่าเห็นถูกอันนั้นว่าเป็นความเห็นถูก เช่น สติสัมปชัญญะที่เรากล่าวถึงเมื่อกี้นี้ ถ้าเข้าใจว่าสติเป็นสภาพที่ระลึกที่เป็นกุศล ไม่ใช่ว่าระลึกแบบอกุศล ระลึกเป็นกุศล แล้วสัมปชัญญะก็เป็นความรู้ที่มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ สติเกิดจริงๆ เราจะไม่สงสัยเลยว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นเจริญอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่มีความเข้าใจ เราก็จะทำอย่างอื่น นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เข้าใจตลอดในความหมายของแม้คำนั้น หรือสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละเรื่อง แต่ละประเภท ที่ฟังแล้วก็มีความเข้าใจ ซึ่งจะต้องอบรมเจริญความเข้าใจนี้เพิ่มขึ้น แล้วถึงจะรู้ว่าปัญญานั้นคืออย่างไร
ผู้ฟัง ต่อไปวรรคที่ ๒ มีการทำอารมณ์ให้โอภาสเป็นกิจ
อ. สมพร อารมณ์หมายความถึงสิ่งซึ่งจิตรู้ สิ่งใดที่จิตรู้ สิ่งนั้นเรียกอารมณ์ ที่บอกว่าโอภาส คือเมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นก็แจ่มแจ้งในอารมณ์นั้น รู้ตามความเป็นจริงในอารมณ์นั้น เช่นอะไรปรากฏ อารมณ์เป็นสี ก็รู้ถึงสีตามความเป็นจริง สีไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ก็รู้ตามความเป็นจริงนั้น รู้ตามความเป็นจริงเรียกว่าโอภาส โอภาส หมายถึงแสงสว่าง คือ ไม่มีอะไรปิดบังได้ ไม่เหมือนความมืด โมหะ คือ ความมืด เมื่อไม่มีโมหะ มีปัญญาก็มีแสงสว่าง ปัญญาเปรียบเหมือนแสงสว่าง มีแสงสว่างก็มีการเห็นอะไรสารพัดอย่าง เหมือนในห้องนี้ มันสว่างเราก็สามารถจะเห็น แต่ถ้ามีความมืดคือโมหะ เราก็ไม่เห็นอะไรเลย ดังนั้นปัญญาท่านจึงเปรียบเหมือนโอภาส คือแสงสว่างในอารมณ์นั้น
ท่านอาจารย์ ในห้องนี้ ขณะนี้ มืดหรือสว่าง ก็แล้วแต่จะตอบใช่ไหม มีแสงสว่าง แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจความจริงของสิ่งที่สว่างที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรม แม้ว่าสว่างจริง มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็มืด เพราะฉะนั้น ปัญญาตรงกันข้าม ปัญญาไม่ใช่โมหะ ไม่ใช่อวิชชา แต่เป็นปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ภาษาบาลีใช้หลายๆ คำ เช่น คำว่า วิชชา หรือญาณ หรือแม้แต่สัมมาทิฏฐิ จะเห็นได้ว่า คำว่าเข้าใจถูก ไม่ใช่ภาษาบาลี เป็นภาษาไทย แต่ถ้าแปลก็ตรง ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งถ้าไม่มีความเข้าใจเลย หรือว่าไม่มีความเข้าใจถูก ปัญญาเกิดไม่ได้เลย ส่วนมากเวลาที่เราพูดถึงปัญญา เราคิดถึงปัญญาที่เป็นปัญญาของพระอริยสาวก หรือว่าเป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็คิดว่า ปัญญานั้นเป็นอย่างนั้น แต่ว่าปัญญาอย่างนั้นที่จะเป็นโลกุตตระที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งหมด จะต้องเจริญแล้วจากขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจในสภาพธรรม
ถ้าเราแปลงระดับต้น คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้เลยว่า คนนั้นเข้าใจความหมายของปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัญญาคือความเห็นที่ถูกต้องแล้ว ปัญญาจะเจริญเติบโตถึงกับประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้
ด้วยเหตุนี้แม้แต่กำลังฟัง ทุกคนก็รู้จักตัวเองว่า เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน เข้าใจระดับขั้นฟังรู้ความหมาย หรือว่าฟังรู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่าแม้ว่าจะฟังเข้าใจ แต่สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏตามที่ได้ฟัง เพราะเหตุว่าสติยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นที่จะแทงตลอดอริยสัจจธรรม โดยเหตุนี้จึงกล่าวว่า ปัญญาเป็นแสงสว่าง เพราะเหตุว่าแม้มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็เหมือนกับมืด แต่เวลาที่เริ่มเข้าใจ เริ่มมีแสงสว่างเล็กๆ น้อยๆ ค่อยๆ สว่างขึ้น เมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้น
ต่อไปนี้ก็คงจะทราบแล้วว่า จะบอกว่าคนนั้นมีปัญญา ง่ายๆ อย่างที่เคยพูดไหม เพราะว่าแต่ก่อนก็อาจจะพูดว่าคนโน้นมีปัญญา คนนี้มีปัญญา แต่ถ้าเข้าใจปัญญาจริงๆ แล้วจะกล่าวง่ายๆ อย่างเคยหรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็คงจะไม่ได้
ผู้ฟัง เรื่องของโสภณะกับอกุศลสัมปยุตต์ ทำไมเราจึงไม่เรียกว่า อโสภณสัมปยุตต์ ในเรื่องของอกุศลสัมปยุตต์
ท่านอาจารย์ อกุศลสัมปยุตต์มีทิฏฐิ ซึ่งเวลาที่มีจิตชาติอกุศลเกิดขึ้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากว่าเป็นอกุศลอย่างเดียว เวลาที่เจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิกเกิดกับจิต จะทำให้จิตนั้นเป็นอกุศลชาติเท่านั้น ชาติเดียว จะไม่เป็นวิบาก หรือว่าจะไม่เป็นกิริยา คือเจตสิกที่เป็นอกุศลทั้งหมดมี ๑๔ ประเภท แล้วอกุศลเจตสิกเกิดกับจิตขณะใด จิตนั้นต้องเป็นอกุศลชาติ ชาติเดียว ไม่เหมือนโสภณเจตสิก ซึ่งถ้าโสภณเจตสิกเกิด จะเกิดกับกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ แต่เฉพาะอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง หรือ ๑๔ ประเภท เมื่อเกิดกับจิตแล้ว จิตนั้นต้องเป็นอกุศลชาติเดียวเท่านั้น
ผู้ฟัง ๑๔ ประเภทนี้ หมายถึงอกุศลเจตสิก
ท่านอาจารย์ อกุศลเจตสิก มี ๑๔ เมื่อเกิดกับจิตแล้ว จิตนั้นเป็นอกุศลจิตเท่านั้น จะเป็นวิบากไม่ได้ จะเป็นผลไม่ได้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เป็นอกุศลฝ่ายเดียว
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอกุศลชาติ ซึ่งจิตมี ๔ ชาติ คือ เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือ เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา
วิบากคือ ผลของกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็มีกุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิต แต่รวมแล้วก็เป็นวิบาก คือ เป็นผล ส่วนกุศลนั้นไม่ใช่อกุศล และอกุศลก็ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น ก็แยกกัน เป็นจิตฝ่ายที่เป็นเหตุที่เป็นกุศล ๑ จิตที่เป็นเหตุฝ่ายอกุศล ๑ และจิตที่เป็นวิบาก ๑ จิตที่เป็นกิริยา ๑ สำหรับอกุศลเจตสิกจะทราบว่าถ้าเกิดกับจิตใด จิตนั้นต้องเป็นอกุศล เป็นชาติที่เป็นเหตุ
ผู้ฟัง อกุศลสัมปยุตต์ เรียกว่าอกุศลสัมปยุตต์ ส่วนโสภณะนั้นเราไม่เรียกว่า กุศลสัมปยุตต์ เพราะว่ากว้างขวางกว่ากัน
ท่านอาจารย์ เกิดกับวิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็คงจะชัดเจนขึ้น
ผู้ฟัง สติมักจะคู่กับสัมปชัญญะ แต่ไม่มีสัมปชัญญะก็มีสติได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง ทีนี้เมื่อเป็นอย่างนี้ ในขณะซึ่งสติเกิดจะเกิดกับทาน ศีล ภาวนา ทีนี้พูดถึงสัมปชัญญะบ้าง สติซึ่งเกิดกับทาน มีลักษณะเป็นญาณวิปปยุตต์ ใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าสติเป็นโสภณเจตสิก เป็นสภาพที่ระลึก ถ้าขณะนั้นเป็นทานกุศล ก็หมายความว่า สตินั้นระลึกเป็นไปในทาน แล้วแต่จะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าคนที่เขาไม่ได้เรียนมาทางพระอภิธรรมเลย แต่เขาก็ให้ทานด้วยปีติ ใจที่เป็นปีติโสมนัสด้วย นั่นก็คือเขาเกิดกุศลแล้ว แต่เป็นญาณวิปปยุตต์ ใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ภาษาบาลีใช้คำว่า ญาณวิปปยุตต์ เพราะฉะนั้น เราเรียนคำเหมือนกับเราเรียนภาษา เป็นเรื่องราวของภาษา แต่จริงๆ แล้วเราต้องรู้ว่าเป็นสภาพจิต
ผู้ฟัง ปัญญาที่รู้ว่าเป็นกุศล รู้อย่างไร คือในฐานะที่อาจารย์เองมีประสบการณ์ คือ ดิฉันเองให้ทาน ดิฉันอาจจะนึกไม่ออกว่าปัญญาอยู่ตรงไหน แล้วรู้ได้อย่างไร เวลานี้มันเกิดกุศล แล้วเกิดปัญญาด้วย รู้ได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เราไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อเลย อันนี้เป็นข้อที่สำคัญ เพราะว่าโดยมากเรามาติดที่ชื่อ พอบอกว่าญาณสัมปยุตต์ เราอยากรู้เหลือเกินว่าขณะที่ให้ทานแล้วมีปัญญาเกิดร่วมด้วยจะเป็นอย่างไร หรือว่าขณะที่วิรัติทุจริต มีปัญญาเกิดร่วมด้วยเป็นอย่างไร แต่จริงๆ เป็นเรื่องสงสัยในเมื่อปัญญาไม่เกิด แล้วก็เป็นเรื่องอยากรู้ด้วยว่า เวลาปัญญาเกิด ปัญญาจะเกิดเป็นอย่างไร เราจะต้องทราบว่า จริงๆ แล้ว สภาพธรรมที่ตนขณะนี้ หรือจะขณะไหนก็ตาม เป็นอย่างไร รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น นั่นคือปัญญา แต่ทีนี้ถ้าไม่ทราบ ถึงผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่า จะรู้ทุกครั้ง
เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ตรง เมื่อศึกษาธรรมคือให้ทราบว่า ปัญญานั้นคือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นระดับไหน เช่นระดับที่เห็นว่า ทานมีผล เพราะว่าเป็นกุศล เป็นเหตุที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับผลของกุศลกรรมนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือขณะที่เกิดก็เกิดดี แล้วแต่จะเกิดในสุคติภูมิขั้นมนุษย์ หรือว่าขั้นสวรรค์ก็ตาม
นี่คือความเห็นถูกระดับหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่ว่า เราอยากจะให้เรามีกุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ขณะที่กำลังให้ทาน เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องทราบว่า เพื่อรู้ความจริงที่เกิดกับตนตามเหตุตามปัจจัยแต่ละขณะถูกต้องเท่านั้น
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180