ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
ตอนที่ ๑๒๖
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๕
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงใช้ชื่อว่าสติปัฏฐานเพื่อให้รู้ว่า ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะวันหนึ่งๆ เห็น แต่ไม่เคยเข้าใจเลย ไม่เคยรู้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หรือเสียงที่กำลังได้ยิน ชั่วขณะหนึ่ง ขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ จะไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่เกิดดับ ถ้าเป็นผู้ที่สะสมบารมีมาแล้ว เป็นพระอรหันต์ทันทีที่ได้ฟัง เพราะเหตุว่าได้ยินดับแล้ว เห็นขณะนี้ก็ดับแล้ว แข็ง ขณะที่รู้สึกว่า เหมือนกับมีสิ่งที่แข็งปรากฏอยู่ตลอดให้เรากระทบสัมผัส ความจริงสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นต้องดับไป
ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงแข็ง ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป และไม่ใช่แต่เฉพาะแข็ง ไม่ว่าจะเป็นทางตาดับแล้ว ทางหูดับแล้ว ถ้าไม่มีเยื่อใยจริงๆ ปัญญาสามารถที่จะคมกล้าตัดความเป็นตัวตนได้ ซึ่งขณะนี้ทุกคนก็รู้ ได้ยินก็ดับ เสียงก็ดับ แต่ปัญญาไม่ถึงขั้นที่จะละความเป็นตัวตน เมื่อใดที่เป็นจริงอย่างนี้แล้วก็ละความเป็นตัวตนได้ เมื่อนั้นก็แสดงว่าปัญญาที่เกิดจากการระลึก กำลังเริ่มจะความเข้าใจ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง แล้วแต่สติจะเกิดขณะใด นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขึ้นอยู่กับว่าสติจะระลึก หรือว่ากำลังจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือยัง
ผู้ฟัง ให้ระลึกรู้ว่า มีสภาพรู้กับไม่รู้เท่านั้น คือ นามรูปเท่านั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องมีลักษณะที่ปรากฏ อย่างทางตาที่กำลังเห็น ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ขณะนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ต้องชินทีละเล็กทีละน้อย กับความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าตามความเป็นจริง คือ เป็นเพียงสิ่งซึ่งปรากฏ อย่างจักขุ ท่านบอกว่าแสดงหรือบอก เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณสามารถที่จะเห็นสิ่งซึ่งแสดงหรือบอกอาการสัณฐานต่างๆ ค่อยๆ ฟังไปค่อยๆ พิจารณาไป แล้วรู้ว่า ทางตาขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เกิดมากี่ปียังไม่เคยที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเพียงปรากฏเมื่อมีจักขุปสาท จึงเห็น
เพราะฉะนั้น ฟังแล้วฟังอีกจนกว่าสติจะเกิดขึ้น ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจนั้น คือ สติปัฏฐาน พร้อมด้วยสัมมาสติ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ สัมมาสังกัปปะ องค์อื่นๆ
ผู้ฟัง จากในสภาวธรรมที่เป็นธรรมชาติ ตามเหตุตามปัจจัยที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ตามปกติ ตามความเป็นจริงขณะนี้ พอค่อยๆ เข้าใจนั้น คือ สติเกิดแล้ว
เรื่องจิตนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดกันไม่รู้จบจริงๆ เพราะเหตุว่าสภาพของธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่มีจริงๆ นั้นก็มีเพียง ๔ อย่าง คือ ๑.จิต ๒.เจตสิก ๓.รูป ๔.นิพพาน เรื่องของพระนิพพานนั้นยกไว้ก่อน เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของจิต เจตสิก รูปจริงๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดถึงพระนิพพาน หรือว่าอยากจะถึงพระนิพพาน เพราะเหตุว่าการศึกษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แล้วไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรที่ผ่านมาแล้ว แม้แต่เรื่องของวิบาก ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจวิบากแล้ว ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของจิตจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นฟังเรื่องของจิต แล้วก็คิดว่าอ่านหนังสือจบไปหลายหน้าแล้ว แต่ไม่ว่าจะอ่านหนังสือจบไปหลายหน้า หรือว่าหลายเล่ม หลายเดือน หลายปี ขณะนี้จิตกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส คิดนึกในขณะนี้
จุดประสงค์ของการฟัง ฟังเรื่องจิตไม่รู้จบ หรือว่าเรื่องเจตสิกเรื่องรูปก็ไม่รู้จบ เพราะเหตุว่านอกจากฟังแล้ว ยังมีสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่ว่าผู้ที่ได้เรียนแล้ว รู้จริงตามที่ได้เรียนหรือเปล่า
การที่เราจะศึกษา ค่อยๆ ศึกษาไปพร้อมกับสังเกต พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม ย่อมมีประโยชน์ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องธรรมที่กำลังพูดถึง ละเอียด ชัดเจน ตรง ถูกต้องขึ้น มากกว่าเพียงรู้โดยคำ เช่น คำว่าวิบาก แล้วก็บอกว่าเป็นผลของอดีตกรรม เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงวิบากซึ่งเป็นสภาพของจิต และเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานในขณะที่เห็น
ขณะนี้ทุกคนเห็นก็จะต้องเข้าใจว่า เป็นวิบากอย่างไร ยังไม่ใช่กุศล ยังไม่ใช่อกุศล นี่เป็นการที่จะต้องมีสติ หรือสติจะต้องเกิดขึ้น เพื่อที่จะแยกได้ ขณะนี้ทุกคนก็เห็น แล้วก็เห็นมาแล้ว แล้วก็กำลังจะเห็นต่อไป แต่สติเกิดระลึกที่จะรู้วิบาก ซึ่งเป็นสภาพที่เห็นในขณะนี้ ไม่ใช่ความชอบหรือความชัง หรือการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ
นี่คือชีวิตประจำวันซึ่งจะต้องคู่กันไปกับการศึกษา ถ้าพูดเรื่องวิบาก แล้วก็เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย คือไม่ใช่เรื่องรูป หมายความว่าจิตที่รู้หรือเห็นทางตา รู้หรือได้ยินเสียงทางหูพวกนี้ ก็ขอให้พยายาม คือ ขณะนั้นเป็นสัมมาวายามะแล้ว สัมมาสติก็เกิดแล้ว ที่จะรู้ในความหมายจริงๆ ของวิบาก เพื่อที่จะได้แยกโดยการรู้ว่าขณะที่คิดนึกเป็นเรื่องราว หรือขณะที่กำลังชอบกำลังชังก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่วิบากแล้ว มีใครที่พอจะเข้าใจพิจารณา และเข้าใจวิบาก โดยที่ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อบ้างไหม ก่อนที่จะไปถึงวิถีจิต
ผู้ฟัง สำหรับวิบาก สำหรับเริ่มเรียนใหม่ๆ จะแยกไม่ออกว่า วิบากอยู่ตรงไหน อย่างสมมติว่าเราเห็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่เข้าใจว่าอันนั้นเป็นวิบาก สิ่งที่เราไม่ชอบ เราคงไปทำอะไรไม่ดีไว้เราจึงเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ดิฉันคิดได้แค่นี้ แต่คิดไม่ถึงว่า วิบากนั้นมันเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นเรื่อง เพราะว่าเคยทำกรรมมาไม่ดีก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ หรือว่าไม่น่าพอใจ นี่เป็นเรื่องของวิบากอีก แต่ยังไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้วิบาก
ผู้ฟัง กำลังรู้วิบากกับเรื่องวิบากนั้น ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่พูดมาทั้งหมด ที่เป็นเรื่องเคยกระทำกรรมมาแล้ว ขณะนี้ เป็นเรื่องของวิบาก แต่ถ้าในขณะที่กำลังเห็น นี่ต้องมีสติแน่นอนถึงจะรู้วิบากได้ แล้วต้องเป็นสติขั้นที่ระลึกได้ รู้ในขณะที่กำลังเห็นว่า สภาพหรืออาการเห็นเดี๋ยวนี้มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ เป็นสภาพรู้หรืออาการรู้ นี่ก็เป็นเรื่องยาว แล้วก็จะต้องเป็นเรื่องที่อบรมไปตลอดชีวิตคู่กันไปกับการฟังพระธรรม เพื่อที่จะมีสิ่งที่จะทำให้สามารถละคลายการยึดถือเห็นในขณะนี้ว่าเป็นตัวตนได้
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านก็เป็นห่วง เพราะว่าท่านก็อายุมาก ท่านก็บอกว่าอยากจะรู้วิธีที่จะเอาใจไปไว้ตรงไหนก่อนจะตาย ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์มาก เพราะท่านมีความรู้สึกว่าอาจจะเป็นทางที่จะทำให้ถึงพระนิพพานได้ ลืมเสียเรื่องจะถึงพระนิพพาน โดยไม่รู้ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านบอกว่า ท่านเคยเอาใจไปไว้ที่พุทโธ หรือลมหายใจ หรืออะไร ผลคือว่าไม่มีความเข้าใจอะไร ก็เรียนให้ท่านทราบว่า ทุกอย่างที่เป็นทางที่จะไม่ให้เกิดปัญญาแล้ว เลิกเสีย ไม่มีประโยชน์เลย ในเมื่อสภาพธรรมขณะนี้มี
การที่จะถึงพระนิพพาน จะต้องจากการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีแล้วในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ไม่ต้องทำ เลิกเรื่องทำ แต่ว่าเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง วิบากมีเวทนาเป็นอุเบกขา จึงรู้จักเขายาก จะมีอะไรเป็นสิ่งสังเกต จะระลึกรู้วิบากได้
ท่านอาจารย์ ระลึกรู้วิบากยาก ที่ว่ายาก คือว่าถ้าไประลึกรู้ชื่อวิบาก จะไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของจิต เพราะเหตุว่าขณะนี้ทุกคนมีจิต เจตสิก รูป ซึ่งย่อแล้วก็เป็นนามธรรมกับรูปธรรม คือ ธรรมสามารถที่จะย่อลงตามปัญญาที่ยังเล็กน้อย เพราะว่าปัญญาขั้นปริยัติมาก กว้างขวาง แต่ว่าปัญญาที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม ถ้าขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นจะกล่าวว่าเป็นปัญญาที่รู้มากไม่ได้เลย คือเพียงรู้เรื่อง รู้ปริยัติเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ก็จะเทียบส่วนได้ว่า ความรู้ในการศึกษามากแล้ว แต่ว่าการที่จะรู้วิบากโดยขั้นสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุว่ารู้เรื่องวิบากในขั้นการฟัง การศึกษาง่าย ตาขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นวิบาก ทราบได้ เพราะเหตุว่ามีจักขุปสาทรูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัย สิ่งที่เกิดจากกรรม เมื่อเป็นรูปไม่ใช่วิบาก แต่ขณะใดที่เห็น เพราะมีจักขุปสาท และมีรูปกระทบ ขณะที่เห็นเป็นวิบาก เพราะเหตุว่าวิบาก หมายความถึงสภาพที่เป็นผล รับผลของของกรรม เพราะฉะนั้น วิบากจิตคือจิตที่รับผลของกรรม
การที่จะรู้ว่านี้เป็นจิตที่รับผลของกรรม ถ้าแปลวิบากออกมา หมายความว่าจิตประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น การที่จะไปรู้ถึงว่า จิตนี้เป็นผลของกรรม ยังเป็นไปไม่ได้ นอกจากว่าจะรู้ลักษณะของจิตเสียก่อน เมื่อย่อลงไปจากสภาพธรรมที่เรียนมามากมาย ให้เหลือเพียงนามธรรมกับรูปธรรม ก็จะมาถึงขณะที่สติเกิดแล้วก็ระลึกแล้ว ก็รู้ความต่างกันของสภาพซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งใช้คำว่านามธรรมก่อน ขณะนี้ไม่ต้องรู้ชื่อวิบากเลย แต่ให้รู้ว่าที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งต้องอาศัยการเทียบเคียงว่า คนตายไม่เห็น ขณะนี้ที่เห็น มีจริงๆ โดยที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสัณฐาน แต่อาการหรือสภาพที่รู้ เป็นลักษณะรู้ทางตา คือ เห็นมี ต้องค่อยๆ พิจารณาเรื่องของนามธรรมก่อน แล้วภายหลังถึงจะรู้ สิ่งที่เรารู้ก็คือวิบากนั่นเอง
ผู้ฟัง สงสัยว่า จิตเห็นกับจิตได้ยินก็คนละอย่างกัน แต่เมื่อดิฉันเห็นอาจารย์พูด ได้ยินเสียงด้วย แล้วก็เห็นหน้าด้วยพร้อมกัน จะแยกได้อย่างไร ถ้าจะแยกมันแยกไม่ถูกหรอก
ท่านอาจารย์ ถ้าจะแยกโดยวิธีอื่น จะไม่ถูกแน่นอน ต้องอาศัยการฟังเทียบเคียงอย่างเหตุที่จะให้เกิดการเห็น คือ จักขุวิญญาณ ภาษาบาลี กับเหตุที่จะให้เกิดโสตวิญญาณ คือ จิตที่ได้ยิน ต่างกันแล้ว เมื่อต่างกันที่เหตุ ผลก็ต้องต่างกัน เพราะเหตุว่า จิตเห็นต้องเห็นที่จักขุปสาทรูป ตรงกลางตาเลย แล้วก็จิตได้ยินก็จะต้องได้ยินที่โสตปสาทรูป คือตรงหูจริงๆ ซึ่งรูปในขณะนี้เกิดดับเร็วมาก เราคิดว่า จิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกัน แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้าเรียนเรื่องวิถีจิต หมายความถึงการเห็นวาระหนึ่ง แล้วก็การได้ยินวาระหนึ่ง ที่ใช้วาระหนึ่ง เพราะเหตุว่าจิตเห็น จะต้องมีจิตเกิดก่อน และจิตเกิดหลัง ก่อนที่รูปๆ หนึ่งจะดับไป แสดงว่ารูปๆ หนึ่ง มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ในขณะที่เราคิดว่าเห็น แล้วได้ยิน ความจริงจิตเกิดดับไปแล้วมากกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปก็ดับไปโดยที่เราไม่ทันรู้เลยในขณะนี้ แล้วก็ถ้าคิดถึงจักขุปสาทรูปที่อยู่กลางตากับโสตปสาทรูปที่อยู่กลางหู แล้วพิจารณาจริงๆ มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ละเอียดยิบ เพราะเหตุว่ามีกลุ่มของรูปเล็กๆ มากมายจากกลางตาไปถึงหู เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นเพียงอาศัยรูปที่มีอายุสั้นมาก ที่ยังไม่ดับ กระทบกับจักขุปสาทรูปซึ่งมีอายุที่สั้นมากที่ยังไม่ดับ แล้วก็มีวิถีจิตหลายขณะเกิดขึ้นเป็นวาระหนึ่งของการเห็นครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะรู้เรื่องรู้ราว แล้วก็รูปก็ดับไปตั้งมากมาย แล้วก็อาศัยโสตปสาทรูปทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น
แน่นอนที่สุดว่า จักขุวิญญาณ จิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าเหตุปัจจัยที่ให้เกิดก็ต่างกัน สิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตก็ต่างกันด้วย เพราะเหตุว่าจิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินเสียง เสียงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา จะมีจิตพร้อมกัน ในขณะเดียวกันที่ไปทั้งเห็น ทั้งได้ยิน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพรู้ โดยสภาวะจริงๆ เป็นอย่างนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจปริยัติ คือ การศึกษาเกื้อกูลทำให้สติเกิดระลึกทีละอย่าง ถ้าระลึกทีละอย่าง จะทำให้ค่อยๆ เห็นความแยกกันในขณะที่กำลังได้ยินเสียง แล้วก็สติกำลังระลึก จะเป็นระลึกที่ลักษณะอาการที่รู้เสียง หรือสภาพของเสียงก็ตาม ในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าโลกมืดไปหมด ก็ยังมีแสงสว่างเป็นปกติธรรมดา แต่จะรู้ได้ว่าสติช่างสั้น แล้วก็สิ่งที่สติระลึกรู้ก็เล็กน้อยเหลือเกิน ตรงกับภาษาธรรมที่ใช้คำว่า “ปริตตารมณ์” คือเป็นสภาพธรรมที่แสนจะเล็กน้อย ทั้งสติ ทั้งสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งสติก็ดับด้วย
จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานทีละเล็กทีละน้อย ตามปกติ ถ้าไม่ตามปกติแล้ว ก็จะปรากฏอาการของสมาธิซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐาน
ผู้ฟัง รูปนี่ไม่ใช่วิบาก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่
ผู้ฟัง ไม่ใช่วิบาก เกิดจากกรรม จากจิต จากอุตุ จากอาหารเหมือนกัน เป็นผลของจิต ของกรรม ของอุตุ ของอาหารเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าวิบาก
ท่านอาจารย์ รูปเกิดจากกรรมได้ แต่ไม่ใช่วิบาก เพราะเหตุว่ารูปไม่ได้รับผล คือไม่ได้รู้อะไร
ผู้ฟัง เพราะไม่รู้อะไร จึงไม่ใช่วิบาก
ท่านอาจารย์ ใช่
ผู้ฟัง เรื่องวิบากเป็นเรื่องของจิตโดยเฉพาะ แล้วจิตที่เป็นวิบากที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ก็คือ จักขุวิญญาณทางตา โสตวิญญาณทางหู ฆานวิญญาณทางจมูก ชิวหาวิญญาณทางลิ้น กายวิญญาณทางกายเท่านั้น ที่วิบากเจริญสติปัฏฐาน ทีนี้ผมก็ได้ยินว่าเวลาเจริญสติปัฏฐาน เวลาเห็นก็ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่ตา เวลาได้ยินก็ให้สติตั้งอยู่ที่หู เวลาได้กลิ่นก็ให้สติตั้งอยู่ที่จมูก เวลาได้รู้รสก็ให้สติตั้งอยู่ที่ลิ้น เวลาถูกเย็นร้อนอ่อนแข็งก็ให้สติตั้งอยู่ที่กาย อย่างนี้ผมว่ามันคงไม่ค่อยจะถูก ใช่ไหมอาจารย์
ท่านอาจารย์ เรื่องการเอาสติ เป็นเรื่องตัวตนที่ทำ ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แล้วจะเหนื่อย แล้วก็จะไม่ได้ผล คือมัวเอาอยู่นั่น มัวเอาไปวางตรงนั้น เอาไปวางตรงนี้ ซึ่งสภาพธรรมก็เกิดไปแล้ว แล้วก็ดับไปแล้ว อย่างในขณะนี้เห็น ไม่ต้องเอาอะไรไปทำอะไรตรงไหนเลย ค่อยๆ รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพรู้ ลักษณะรู้ที่กำลังเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แค่นี้ก็แสนยาก แล้วก็ยาวนานกว่าจะชิน เพราะอวิชชา ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ คือ ขณะนี้มีเหตุปัจจัยทำให้เห็นเกิดขึ้น หรือว่าขณะนี้มีเหตุปัจจัยทำให้ได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีตัวตนที่ไหนไปทำอีก แต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น
ปัญญาเป็นสภาพที่ไม่เข้าใจผิด ไม่หลงผิด เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ตั้งแต่เกิดจนตายมี ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า ทุกขณะไม่ว่าจะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังสุข กำลังทุกข์ กำลังคิด กำลังโกรธ กำลังดีใจ กำลังเมตตาทั้งหมด เป็นแต่เพียงนามธรรม แล้วก็รู้ลักษณะของรูปนาม ก็หมายความว่า ผู้นั้นอบรมเจริญปัญญา ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ผู้นั้นเริ่มเข้าใจเรื่องนามธรรม และรูปธรรม เพื่อสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องทำ เป็นเรื่องการเกิดขึ้นของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติเป็นมรรคมีองค์ ๕ มีการระลึกแล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมหลังจากที่ฟังแล้ว เข้าใจแล้วด้วย ถ้าใครฟังแล้วไม่เข้าใจ สติปัฏฐานจะไม่เกิด จะไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อน
ผู้ฟัง เวลาเห็น เราก็เห็นที่ตา เวลาได้ยินได้ยินที่หู เวลาได้กลิ่นได้กลิ่นที่จมูก เวลารู้รสรู้รสที่ลิ้น เวลารู้เย็นร้อนอ่อนแข็งก็รู้ที่กาย แต่เวลาเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่ให้สติอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย จะให้อยู่ที่ไหน
ท่านอาจารย์ ให้สติ หรือว่าสติเกิดระลึก นี่คือความต่างกัน ถ้าให้สติ ก็เป็นการทำ แต่ถ้ารู้ว่าขณะนี้สติเกิด เวลาสติเกิดจะมีการระลึกที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ไม่ใช่เอาสติไป
ผู้ฟัง ไม่ต้องไปคิดถึงตา ถึงหู อย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ นั่นคิด
ผู้ฟัง ขณะเจริญสติ คือไม่คิดถึงตาก็เห็นอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ กำลังเห็นในขณะนี้
ผู้ฟัง ไม่คิดถึงหูก็ได้ยินอยู่แล้ว ขอแต่ให้มีอารมณ์เท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ มีแล้ว
ผู้ฟัง มีอารมณ์แล้ว
ท่านอาจารย์ อารมณ์ก็มีแล้ว ทุกอย่างมีแล้ว เพียงแต่สติระลึก ที่ใช้คำว่า สติระลึก เป็นคำที่ทำให้ดูเหมือนกับว่ายาว แล้วก็สติระลึก แต่ความจริงเวลาสติเกิดสั้นมาก คือขณะที่กำลังเห็น ขณะนี้ค่อยๆ รู้ เพราะเหตุว่าจะรู้ทันทีว่าเป็นนามธรรม เป็นอาการรู้ ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่เคยชินกับการที่จะระลึกว่าสภาพนี้เป็นสภาพรู้ เพราะเหตุว่าเป็นเราเห็นมานาน ลักษณะแท้ๆ ซึ่งไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงการรู้สิ่งที่ปรากฏ คือ เห็น ขณะนี้เป็นลักษณะของความรู้ หรืออาการรู้ หรือลักษณะรู้ ซึ่งต่างกับรูป รูปไม่เห็น เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็น สติจะต้องมีการระลึกแล้วก็รู้ คือ สติเกิด แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขณะที่ใช้คำว่า สติเกิดแล้วค่อยๆ เข้าใจ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็คือ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิค่อยๆ เกิดทีละน้อย
ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่จะติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเอง ติดอยู่ตรงที่ว่ามันจะคอย คอยคิดว่าขณะเห็น มันคอยคิดเอาตัว เอาตาไปคอยดูแล้ว ไปคอยเจริญสติแล้ว ซึ่งผมว่ามันไม่ถูก คิดโดยตัวเองว่าไม่ถูกแน่ๆ อย่างเวลาได้ยินจะต้องคอยว่า จะได้ยินทางหู ก็มีหูไปคอยได้ยินแล้ว ซึ่งมันเป็นตัวตนแล้ว มันไม่ถูก แน่ๆ คิดอยู่อย่างนี้ ติดอยู่อย่างนี้ ติดอยู่นาน คือ ทั้งๆ ที่เห็นมีอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไมจะต้องไปคอยไปจ้องตรงตา ได้ยินก็มีอยู่ตลอดเวลา ขอให้มีเสียง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 121
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 122
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 124
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 126
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 127
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 128
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 129
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 131
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 134
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 135
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 137
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 138
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 139
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 140
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 141
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 142
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 143
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 144
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 145
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 146
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 147
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 149
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 150
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 151
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 152
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 154
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 155
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 158
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 159
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 160
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 161
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 162
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 163
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 166
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 168
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 171
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 172
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 173
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 174
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 175
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 176
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 177
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 178
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 179
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 180