บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 2 ตอนที่ 1


    ชุดบุญญกิริยาวัตถุ

    บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

    แผ่นที่ ๒


    คุณวันทนา สำหรับการสนทนาของเราในวันนี้ เราก็คงจะได้พูดกัน ถึงเรื่องของบุญญกิริยาวัตถุประการอื่น อันมีชื่อว่า ภาวนา ก่อนอื่นอาจารย์จะกรุณาให้ความหมายของ การภาวนาที่เป็นบุญญกิริยาได้หรือไม่ เพราะว่าในภาษาไทยเรา ที่พูดกันว่า ภาวนาขอให้ฝนตก ในขณะที่ฝนแล้ง หรือว่าถ้าฝนตกก็ภาวนาขอให้ฝนหายเสียโดยเร็วเถอะ อย่างนี้จะจัดเป็น ภาวนาที่เป็นบุญญกิริยาวัตถุไหม

    ท่านอาจารย์ ที่ภาวนาขอให้ฝนตก หรือว่าภาวนาขอให้ฝนหายนั้น ไม่ใช่การเจริญภาวนาที่เป็นบุญญกิริยาวัตถุ เพราะเหตุว่าบุญญกิริยาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของการขัดเกลาจิตใจ ให้เบาบางจากกิเลสเป็นขั้นๆ คือตั้งแต่ขั้นการละความติดข้องในวัตถุสิ่งของ ทรัพย์สมบัติ ด้วยการบริจาคให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ซึ่งเป็นทานกุศล และขั้นศีล ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ ที่ทำให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริต เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ด้วยกาย วาจา ที่ไม่ดีงาม และขั้นสมถภาวนา ซึ่งเป็นการเจริญสมาธิ ระงับกิเลสอย่างกลาง ไม่ให้เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว และขั้นวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นการเจริญปัญญา ละกิเลสอย่างละเอียดให้หมดไปเป็นประเภทๆ ตามระดับของปัญญาแต่ละขั้น

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นการเจริญภาวนา ก็เป็นการขัดเกลากิเลส ยิ่งไปกว่าขั้นทาน แล้วก็ขั้นศีลใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าในขณะที่ตระเตรียมวัตถุที่จะบำเพ็ญทานนั้น อกุศลจิตก็ยังอาจจะเกิดแทรกได้ เป็นไปได้ไหม

    คุณวันทนา เป็นไปได้ อย่างเป็นต้นว่า เวลาที่เราเตรียมข้าวของ จะทำบุญใส่บาตร บางทีเราก็อาจจะหาอาหาร ผลไม้ หรือดอกไม้ มาไม่ได้สมอย่างที่ตั้งใจไว้ หรือบางทีขณะไปจ่ายของ มันหลายอย่างด้วยกัน ก็เกิดอาการหลงๆ ลืมๆ ได้กลับมาบ้านไม่ครบอย่าง เมื่อเป็นอย่างนี้พอมาถึงบ้าน ใจของเราก็มีโทสะ คือความไม่พอใจเข้ามาแทรก ฉะนั้นในขณะที่จะทำบุญให้ทาน ก็ไม่ใช่ว่ากุศลจิตจะเกิดได้ตลอดเวลา บางทีหากว่ารู้ไม่เท่าทัน อกุศลเช่นโทสะเสียอีก จะเกิดนานกว่ากุศลด้วยซ้ำ แล้วเรื่องศีล การเจริญภาวนา ขัดเกลากิเลส ยิ่งกว่าขั้นศีลเป็นอย่างไร เพราะว่าเท่าที่เราได้เคยสนทนากันมาแล้ว ศีล นอกจากจะละเว้นการกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา แล้วก็ยังจะสามารถ ละกาย วาจาที่ไม่ดี ด้วยการอ่อนน้อม ซึ่งเป็นการขัดเกลามานะ ความถือตน แล้วก็ยังทำให้มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งก็เป็นการขัดเกลากิเลส ความเห็นแก่ตัวอยู่มากทีเดียว

    ท่านอาจารย์ เวลาคุณวันทนาชนะใครแล้ว ดีใจไหม

    คุณวันทนา ดีใจ ถ้าลำพังตัวเองชนะ ก็ดีใจคนเดียว หรือว่าถ้าพวกพ้องของเราชนะ เป็นต้นว่าในการแข่งขันกีฬา เราก็ยิ่งจะดีใจใหญ่ แล้วก็มีคนหลายคนมาช่วยดีใจด้วย

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ชนะแล้วก็ดีใจนั้น มีความสำคัญตนว่าเราชนะอยู่ด้วย ในขณะนั้น ใช่ไหม

    คุณวันทนา ใช่ เพราะในขณะนั้นสำคัญว่าเราชนะจริงๆ เลย

    ท่านอาจารย์ ความสำคัญตนว่าเราชนะนั่นก็เป็นมานะ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีการอ่อนน้อมต่อบุคคล และสถานที่ ที่ควรนอบน้อมสักการะ ซึ่งเป็นการขัดเกลามานะอย่างหยาบๆ ที่ทำให้ยกตัวเอง แล้วก็ข่มผู้อื่นด้วยกาย วาจาแล้วก็จริง แต่ว่ามานะในเรื่องอื่น และมานะที่ไม่แรงเท่ากับการยกตน แล้วก็ข่มผู้อื่นด้วยกาย วาจา ก็ยังมีได้ อย่างเช่นในขณะที่ดีใจว่าชนะ เพราะฉะนั้นศีลก็เป็นการขัดเกลากิเลสหยาบ สมถภาวนาก็เป็นการระงับกิเลสอย่างกลาง และวิปัสสนาภาวนาก็ละกิเลสอย่างละเอียด

    คุณวันทนา บุญญกิริยาวัตถุในประเภทของภาวนา ก็หมายรวมทั้งสมถภาวนาแล้วก็วิปัสสนาภาวนา ใช่หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นสมถภาวนา แล้วก็วิปัสสนาภาวนา ก็เหมือนกันในข้อที่เป็นบุญญกิริยาประเภทภาวนา แต่ต่างกันที่ว่า อย่างหนึ่งเป็นสมถภาวนา แล้วก็อีกอย่างหนึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา อาจารย์จะกรุณาอธิบายในข้อที่ ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เป็นบุญญกิริยาประเภทภาวนาก่อน ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ การที่สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เป็นบุญญกิริยาประเภทภาวนานั้น ก็เพราะเหตุว่าเป็นกุศลที่ขัดเกลากิเลส ที่ไม่เนื่องกับกาย วาจา อย่างเช่นเวลาที่ดีใจ สำคัญตัวเองว่าชนะคนอื่น ก็เป็นกิเลส หรือว่าเวลาที่จิตใจไม่แช่มชื่น แม้ว่าจะเพียงนิดเดียวเท่านั้น ยังไม่ปรากฏให้ใครรู้ แต่ก็เป็นกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เห็นโทษของกิเลส ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดทุจริตกรรม ทางกาย ทางวาจา แต่ก็สามารถทำให้จิตใจไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์ได้ คนที่เห็นโทษของกิเลสขั้นนี้ ก็ขัดเกลากิเลสขั้นนี้ด้วยการเจริญภาวนา

    ผู้ฟัง คำว่า ภาวนา ในภาษาไทย จะมีอะไรเกี่ยวข้อง หรือสืบเนื่องมาจากความหมายเดิม ในทางศาสนาบ้างไหม

    ท่านอาจารย์ ก็มีบ้าง เพราะเหตุว่าการเจริญภาวนา ที่เป็นบุญญกิริยานั้น จิตจะต้องคิดถึงแต่สิ่งที่ทำให้จิตใจเป็นกุศลอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งบรรลุผลของการเจริญภาวนาแต่ละประเภท และภาษาไทยก็ใช้คำว่าภาวนา ในขณะที่จิตจดจ่อ ระลึกถึงผลที่ปรารถนาติดต่อกันหลายๆ ครั้ง

    ผู้ฟัง แล้วสำหรับบุญญกิริยาที่เป็นภาวนานั้น มี ๒ อย่างคือสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ถ้าอย่างนั้นผลของการเจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ก็ต้องต่างกันใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต่างกัน เพราะเหตุว่าการเจริญสมถภาวนานั้น จิตจะต้องไม่นึกถึงอย่างอื่นเลย นอกจากสิ่งที่จะทำให้จิตใจเป็นกุศล และสงบมากขึ้น จนกระทั่งเป็นสมาธิแต่ละขั้น

    คุณวันทนา อย่างที่เรียกกันว่า ฌานหรือฌานจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ฌานหรือฌานจิตนั้น ก็ได้แก่จิตที่เป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ คือสมาธิขั้นที่จิตใจแนบแน่นอยู่กับอารมณ์ ที่ทำให้เป็นสมาธิ อารมณ์เดียวเท่านั้น ไม่รับรู้อารมณ์อื่น ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลย

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นสมาธิขั้นอื่นๆ เช่นในขณะที่ทำสมาธิ บริกรรมคาถาต่างๆ แล้วรักษาโรค หรือในขณะที่ทำสมาธิ จนจิตสงบ เห็นว่าอะไรอยู่ที่ไหน อย่างเช่น เห็นว่าพระพุทธรูปถูกฝังอยู่ใต้ดิน หรือว่าพวกหมอดู เขารู้ว่าของที่หายไป อยู่ที่ไหน การที่ สามารถทำได้อย่างนี้ ก็ไม่ใช่ฌานจิต ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ สมาธิพวกนั้นเป็นสมาธิขั้นต้นๆ เท่านั้นเอง ยังไม่ถึงสมาธิขั้นฌาน

    คุณวันทนา เพียงแต่จะทำให้จิตใจสงบ ไม่คิดถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ เพียงชั่วประเดี๋ยวหนึ่งก็อยากมากแล้ว การเจริญภาวนาจนกระทั่ง ทำให้จิตเป็นสมาธิขั้นฌาน คงจะยากกว่าอย่างนั้นมากทีเดียว

    ท่านอาจารย์ การที่จะเจริญภาวนา จนกระทั่งให้จิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นฌาน ต้องอาศัยการศึกษาเรื่องของสมถภาวนา อย่างละเอียดทีเดียว ต้องรู้ว่าจิตจะต้องระลึกถึงอะไร ด้วยอาการอย่างไร ถึงจะสงบเป็นสมาธิแต่ละขั้นได้ แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่า บุคคลประเภทไหนถึงจะสามารถเจริญสมาธิได้ขั้นไหน ซึ่งก็เป็นเรื่องละเอียดมาก คุณวันทนาอยากจะเจริญสมถภาวนาให้ถึงขั้นฌานไหม

    คุณวันทนา ถ้าเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยละเอียดมากๆ แล้วก็ฌานจิต สามารถเพียงแต่จะระงับกิเลสได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ดิฉันก็อยากจะเจริญวิปัสสนาภาวนามากกว่า เพราะรู้สึกว่า วิปัสสนาภาวนา จะละกิเลสให้ขาดเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

    ท่านอาจารย์ แต่ถึงอย่างไรเราก็ควรจะพูดถึง เรื่องของสมถภาวนาบ้าง เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจเรื่องของการขัดเกลากิเลสขั้นสมาธิ ว่าต่างกับการขัดเกลากิเลสขั้นศีลอย่างไรบ้าง

    คุณวันทนา ถ้าหากว่าจะไม่มุ่ง ที่จะให้จิตสงบ ถึงขั้นสมาธิเป็นลำดับ เพียงแต่ว่าจะระงับ ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น โดยการคิดถึงสิ่งที่จะทำให้จิตสงบ ผ่องใส บ่อยๆ เป็นประจำทุกวันจนเป็นนิสัย อย่างนี้จะถือว่า เป็นการฝึกหัดเจริญสมาธิได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้ค่ะ การที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้จิตใจสงบผ่องใสบ่อยๆ นั้น ก็เป็นการระงับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น แต่ว่าจะทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องแล้วแต่ว่าจะคิดถึงสิ่งที่ทำให้จิตใจสงบได้บ่อยแค่ไหน และนานพอที่จะทำให้จิตสงบได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

    คุณวันทนา สิ่งที่คิดถึงแล้ว ทำให้จิตใจสงบนั้น คงจะไม่ใช่อะไรก็ได้ เพราะว่าบางอย่าง คิดแล้วก็ทำให้เพลิดเพลิน พอใจ แต่จิตนั้นไม่สงบแน่ เพราะว่าคิดแล้วก็เดือดร้อน ต้องดิ้นรนขวนขวาย ไปเอามาให้ได้ อย่างเช่นว่า เราอยากจะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วก็เก็บเอาไปคิด คิดไป คิดมาก็ตัดสินใจว่า ไปซื้อมาเถอะ ผ้าสวยๆ ชิ้นนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดแล้ว ทำให้จิตใจสงบ เป็นกุศลนั้น มีอะไรบ้างหรือ

    ท่านอาจารย์ สำหรับการเจริญสมถภาวนา อารมณ์ที่เมื่อจิตระลึกถึงอยู่เสมอ แล้วก็ติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถที่จะทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิได้นั้น ก็มีอยู่ ๔๐ อย่างเรียกว่าสมถกรรมฐาน ๔๐ และในสมถกรรมฐาน ๔๐ ก็ยังแยกว่า อารมณ์ไหนทำให้เกิดสมาธิได้ขั้นไหน เพราะว่าบางอารมณ์ก็ทำให้เกิดสมาธิได้ เพียงขั้นอุปจารสมาธิเท่านั้น ไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือไม่ถึงขั้นฌาน และบางอารมณ์ก็ทำให้เกิดอัปปนาสมาธิขั้นฌานได้ เพียงขั้นปฐมฌาน ซึ่งเป็นฌานขั้นที่หนึ่งเท่านั้น บางอารมณ์ก็ทำให้เกิดฌานได้ตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงจตุตถฌาน ซึ่งเป็นฌานขั้นที่ ๔ เท่านั้น และบางอารมณ์ก็ทำให้เกิดฌานได้ เฉพาะปัญจมฌาน คือฌานที่ ๕ ฌานเดียวเท่านั้น และบางอารมณ์ก็ทำให้เกิดฌานได้ ตั้งแต่ฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๕ คือ ตั้งแต่ปฐมฌาณถึงปัญจมฌาน และถึงแม้ว่าในอารมณ์ที่ทำให้เป็นสมาธิได้ เพียงขั้นอุปจารสมาธิ ไม่ถึงขั้นฌานนั้น ก็ยังจำแนกอีกด้วย ว่าสำหรับบุคคลพวกไหนบ้าง

    คุณวันทนา อารมณ์ซึ่งจะทำให้จิตเป็นสมาธิได้ เป็นเรื่องที่ละเอียดเหลือเกิน แล้วก็คงจะต้องศึกษา และปฏิบัติกันจริงๆ จังๆ ถึงจะบรรลุสมาธิแต่ละขั้นได้ โดยไม่ผิดพลาด สำหรับในชีวิตประจำวัน อาจารย์คิดว่า เราควรจะระลึกถึงอะไรบ้าง ในอารมณ์กรรมฐาน ๔๐ ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลส ด้วยการอบรมจิตใจให้สงบ ระงับกิเลสที่จะเกิดกับจิตได้อีกขั้นหนึ่ง นอกไปจากขั้นทาน และขั้นศีล

    ท่านอาจารย์ ตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน อารมณ์กรรมฐานที่พระภิกษุ ท่านพิจารณาอยู่เสมอ เพื่อให้จิตสงบจากกิเลส ที่จะเกิดขึ้นรบกวนจิตใจได้นั้น ก็มีอยู่ ๔ อย่าง ซึ่งฆราวาสก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะว่าศีลข้อใด ธรรมข้อใด ที่พระภิกษุท่านประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าฆราวาสเห็นควรที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อขัดเกลากิเลสให้เบาบาง ตามความเหมาะสมของเพศฆราวาส เท่าที่จะทำได้แล้ว ก็เป็นการละอกุศล และเป็นการเจริญกุศลได้มากเท่านั้น

    คุณวันทนา อารมณ์กรรมฐาน ๔ อย่างนั้น ได้แก่อะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ได้แก่การระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ การเจริญเมตตา ๑ การพิจารณาความเป็นอสุภะ ๑ แล้วก็การระลึกถึงความตาย ๑

    คุณวันทนา อย่างเวลาที่เราสวดมนต์ก่อนนอน สรรเสริญพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุขโต โลกะวิทู อนุตตโร ปุริสะทัมมะสารถิ สัตถา เทวะมะนุสานัง พุทโธ ภะคะวา อย่างนี้ก็เป็นการเจริญภาวนาทำให้จิตสงบได้หรือ

    ท่านอาจารย์ การสวดมนต์ที่เราสวดกันก่อนนอนทุกคืนๆ นั้น โดยทั่วไปก็เป็นการถวายความนอบน้อม แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นบุญญกิริยาวัตถุ ซึ่งเป็นขั้นศีล เพราะว่าเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา แต่ว่าถ้าจะให้จิตสงบจนกระทั่งเป็นขั้นภาวนากุศลนั้น ก็จะต้องระลึกถึงพระคุณของพระองค์ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำสวดมนต์จบเท่านั้น

    คุณวันทนา จะระลึกในพระคุณของพระองค์ได้อย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ระลึกในพระคุณที่พระองค์ตรัสรู้ ที่พระองค์ไม่มีกิเลส และที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก โดยประการต่างๆ ขณะที่ระลึกถึงพระคุณของพระองค์นั้น จิตก็เป็นกุศล สงบ ระงับจากกิเลส เพราะเหตุว่าไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ จิตที่ระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ย่อมจะเป็นจิตที่ผ่องใส แล้วก็ย่อมจะน้อมไปในทางที่จะประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วย จิตใจที่ผ่องใส น้อมไปในทางที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ก็ย่อมเป็นจิตใจที่อ่อนโยน ไม่คิดเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน เป็นจิตใจที่มีเมตตา มีความหวังดี มีความต้องการให้คนอื่นเป็นสุขทุกๆ คน เมื่อมีความเมตตา และก็มีความหวังดีต่อคนอื่น เป็นประจำอยู่ในใจแล้ว ก็ยังจะต้องระวังจิต ไม่ให้เพลิดเพลินไปในอารมณ์ที่น่าพอใจ ด้วยการพิจารณาความเป็นอสุภะของตัวเอง และก็ของคนอื่นด้วย ซึ่งถ้าไม่พิจารณาแล้ว ก็อาจจะหลงพอใจได้ และการที่จะยับยั้งจิตใจ ไม่ให้พะวงถึงอารมณ์ที่น่ายินดี น่าพอใจได้นั้น ก็จะต้องระลึกถึงความตาย ซึ่งจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน แล้วก็ไม่มีใครรู้ตัวเลย ว่าจะเป็นในขณะไหน ช้าหรือเร็ว เมื่อระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ก็จะทำให้ไม่ประมาท ในการเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้นในทุกๆ ทาง เพราะว่าการได้เกิดเป็นมนุษย์นั้น เป็นโอกาสที่สามารถจะเจริญกุศลได้ทุกๆ ทาง



    หมายเลข 160
    27 ก.ย. 2567