บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 2 ตอนที่ 2
คุณวันทนา อาจารย์คะ ที่ว่าการเจริญวิปัสสนา สามารถละกิเลสทางใจได้หมดสิ้น เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น
ท่านอาจารย์ การเจริญวิปัสสนาภาวนา หรือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ละกิเลสให้เบาบาง และก็ดับหมดสิ้นได้เป็นลำดับ เพราะว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นการเจริญปัญญา รู้สภาพลักษณะที่แท้จริงของทุกสิ่ง ในขณะที่สิ่งนั้นๆ กำลังปรากฏ
คุณวันทนา พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านได้แสดงถึงลักษณะสภาพของทุกสิ่งที่มีจริง ที่ท่านได้ตรัสรู้แล้ว การศึกษาพระธรรมของพระพุทธองค์ จะไม่ชื่อว่าได้รู้สภาพลักษณะที่แท้จริงของทุกสิ่งแล้วหรือ
ท่านอาจารย์ ความรู้ที่เกิดจากการศึกษา หรือการฟังพระธรรมนั้น ก็เป็นความรู้ขั้นที่ สามารถจะละความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการไม่เคยฟัง ไม่เคยศึกษา และก็ไม่เคยรู้เรื่องสภาพลักษณะของทุกสิ่ง ตามที่เป็นจริงเท่านั้นเอง แต่ว่าปัญญาขั้นที่เกิดจากการฟัง หรือการศึกษานั้น ก็ยังไม่สามารถที่จะละกิเลสให้หมดไปได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์ ลักษณะที่แท้จริงของทุกสิ่ง ในขณะที่สิ่งนั้นๆ กำลังปรากฏ
คุณวันทนา แล้วอย่างเวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด มีการเสื่อมสลายแปรปรวนไป จะเป็นที่ตัวเราเอง หรือว่าคนอื่นก็ตาม เกิดการเจ็บไข้ล้มตายไปอย่างนี้ หรือสำหรับเรื่องของวัตถุสิ่งของ ถ้าหากว่ามันแตกทำลาย เสียหายไป แล้วเราก็เกิดความรู้สึกกับตัวเราเองว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความรู้แค่นี้จะชื่อว่ารู้ธรรม รู้สภาพลักษณะที่แท้จริงของธรรมทั้งหลาย แล้วก็จะทำให้กิเลสหมดสิ้นไปได้ไหม เพราะว่าเราก็รู้ ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังมีสภาพเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง และเป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ การที่รู้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นครั้งคราว อย่างเช่นเวลาที่มีการเจ็บไข้ล้มตาย หรือว่าเวลาที่วัตถุสิ่งของแตกทำลายไป การที่รู้อย่างนั้นแล้วก็ไม่สามารถจะดับกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ ก็เพราะเหตุว่าปัญญาที่รู้อย่างนั้น ไม่ได้รู้สภาพลักษณะของสิ่งทั้งหลาย ที่ไม่ใช่ตัวตน และก็เกิดดับ เป็นทุกข์อยู่ทุกๆ ขณะ
คุณวันทนา จริงค่ะ อาจารย์พูดอย่างนี้ ทำให้ดิฉันนึกขึ้นได้ว่า บางทีเวลาที่เราได้อ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ปรากฏข่าวเรื่องคนตาย จะตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรือว่าโดยอุปัทวเหตุ หรือว่าเวลาที่เราไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เห็นแล้วมันน่าสลดใจที่ว่า คนไข้แต่ละคน ต้องได้รับความทุกข์ทรมานด้วยโรคร้ายต่างๆ กัน หรือไม่บางครั้งเราก็อาจจะได้ไปในงานศพกัน คนหนึ่งก็หลายๆ ครั้งทีเดียว แม้จะได้เห็นสภาพที่ชวนให้สลดใจอย่างนี้ กิเลสคือความโลภ ความโกรธ แล้วก็ความหลง ในใจของเรา ก็รู้สึกว่ามันยังไม่หมด ยังไม่เบาบางไปได้สักทีเดียว
ท่านอาจารย์ กิเลสมีถึง ๓ ขั้น กิเลสอย่างหยาบ ปรากฏให้รู้ได้ ในเวลาที่มีกายทุจริต วจีทุจริต ส่วนกิเลสอย่างกลาง ก็ปรากฏให้รู้ได้ เวลาที่สภาพของกิเลสแต่ละชนิดนั้นเกิดกับจิต ซึ่งถึงแม้ว่าคนอื่นจะไม่รู้ เพราะเหตุว่าไม่ได้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต แต่เวลาที่กิเลสชนิดไหน เกิดปรากฏกับจิตใจของใคร คนนั้นก็รู้ได้
คุณวันทนา อย่างเช่นคนที่นั่งเฉยๆ หรือว่านอนเฉยๆ ไม่ทำการทำงานอะไร แต่จิตของเขาไม่เฉย เขาอาจจะคิดนึกไปในเรื่องต่างๆ แล้วก็เกิดความรู้สึกยินดียินร้ายไปตามเรื่องราวที่เขานึกคิดอย่างนั้น หรือในขณะที่เกิดการเห็นก็ตาม หรือได้ยินก็ตาม จิตก็เกิดความรู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เกิดความตระหนี่ ความริษยาขึ้นภายในใจ แต่ความรู้สึกเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เพราะว่าเจ้าตัวเขาก็ไม่ได้พูด ไม่ได้ทำอะไรให้คนอื่นต้องเดือดร้อน ความรู้สึกอย่างนี้ก็คงจะจัดเป็นกิเลสอย่างกลาง แล้วที่จัดว่าเป็นกิเลสอย่างกลาง เพราะอะไร ทำไมถึงไม่จัดเป็นกิเลสอย่างหยาบ
ท่านอาจารย์ ที่เป็นกิเลสอย่างกลาง ไม่ใช่กิเลสอย่างหยาบ ก็เพราะเหตุว่ากิเลสที่เป็นอย่างกลาง ไม่แรงเท่ากับกิเลสอย่างหยาบ
คุณวันทนา อย่างเช่นความริษยา ถ้าเกิดขึ้นแล้วเพียงแต่ทำให้จิตใจไม่เบิกบาน ไม่อนุโมทนา เมื่อได้รู้ข่าวที่ควรจะอนุโมทนา ในเรื่องการทำความดีของคนอื่น ความรู้สึกอย่างนี้ก็คงเป็นกิเลสอย่างกลาง เพราะว่าเกิดปรากฏให้จิตใจรู้ได้ แต่ยังไม่ล่วงเป็นวจีทุจริต และกายทุจริต แต่ถ้าหากว่าความริษยานี้เกิดขึ้นรุนแรง ก็อาจจะทำให้บุคคลนั้นๆ กระทำมุสาวาท เพราะเหตุคือความริษยาได้ ตัวอย่างในเรื่องของความริษยา ก็คิดว่าคงจะเห็นกันได้ทั่วๆ ไป ด้วยการพบข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง ก็จะเห็นว่ามีการประทุษร้ายกัน เพราะเหตุคือความริษยาอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภายในครอบครัว อันเกิดจากความหึงหวง ของคู่สามีภรรยาทั้งหลาย ถ้าเป็นอย่างนั้น ความริษยาก็จัดเป็นกิเลสอย่างหยาบแล้ว เพราะได้เกิดการประทุษร้ายทางกาย ทางวาจา อาจารย์คะเรื่องของกิเลสอย่างหยาบก็ดี หรืออย่างกลางก็ดี ก็พอจะเห็น และเข้าใจได้ ส่วนกิเลสอย่างละเอียด เกิดขึ้นเมื่อไร แล้วจะรู้ได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ยังไม่ได้ดับกิเลสให้หมดสิ้นไปแล้ว กิเลสอย่างละเอียด ก็ยังมีประจำอยู่ในจิตใจตลอดเวลา ถึงแม้ว่าในขณะที่กำลังนอนหลับ หรือว่าในขณะที่กำลังให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ กิเลสอย่างละเอียดก็ยังมีอยู่
คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นกิเลสอย่างละเอียด ก็ดูจะเป็นกิเลสที่ละเอียดจริงๆ สมชื่อเลย เพราะแม้แต่ว่า ในขณะที่เจริญกุศลอื่นๆ เป็นต้นว่าการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญสมาธิ ก็ยังได้ชื่อว่ากิเลสละเอียดยังมีอยู่ แล้วก็ในขณะที่ให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธินี้ กิเลสอย่างละเอียด จะได้ชื่อว่าทำให้เบาบางลงไปได้บ้างไหม
ท่านอาจารย์ ในขณะที่ให้ทาน รักษาศีล แล้วก็เจริญสมาธินั้น ก็เป็นการยับยั้งแล้วก็ระงับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ตามขั้นของกุศลนั้นๆ ในขณะที่กุศลจิตเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็ระงับไม่ให้กิเลสพอกพูนเพิ่มขึ้น แต่ว่าไม่ได้ขัดเกลากิเลสละเอียด ให้เบาบางลงเลยเพียงแต่ว่าไม่ทำให้เพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง
คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นการที่จะละกิเลสแต่ละขั้น ก็เห็นจะต้องเป็นไปตามการเจริญกุศลแต่ละขั้นนั้นด้วย คือว่าเราจะให้ทาน เพื่อวัตถุประสงค์จะละกาย วาจา ที่ไม่ดีงาม และกาย วาจาที่ทุจริต อย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ หรือว่าจะรักษาศีล และจะเจริญสมาธิเพื่อที่จะละกิเลสอย่างละเอียดก็ไม่ได้อีก
ท่านอาจารย์ เหตุกับผลต้องตรงกัน เมื่อกิเลสมี ๓ ขั้น คือกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง แล้วก็กิเลสอย่างละเอียด การเจริญกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสก็ต้องมี ๓ ขั้นด้วย คือการเจริญกุศลขั้นศีลนั้น ขัดเกลากิเลสหยาบ การเจริญกุศลขั้นสมาธิ คือสมถภาวนานั้น ก็ระงับกิเลสอย่างกลาง แล้วก็การเจริญปัญญา คือวิปัสสนาภาวนาก็ละกิเลสอย่างละเอียด
คุณวันทนา แล้วอย่างการเจริญกุศลขั้นศีล และขั้นสมาธิ จะเป็นปัญญาด้วยได้ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาได้ แต่ว่าเป็นปัญญาคนละขั้น ไม่ใช่ปัญญาขั้นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะเหตุว่าคนที่มีปัญญา เห็นโทษของกายทุจริต วจีทุจริต ก็ละเว้นกายทุจริต ละเว้นวจีทุจริต สำหรับคนที่เห็นโทษของกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งทำให้เกิดความยินดียินร้าย ทำให้จิตใจเร่าร้อนไม่สงบ ก็เพียรระงับกิเลส ไม่ให้จิตคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ เหล่านั้น ด้วยการระลึกถึงอารมณ์ที่เป็นสมถกรรมฐานบ่อยๆ แล้วก็นานๆ เพื่อให้จิตใจสงบผ่องใส เป็นกุศลอยู่เสมอ นี่ก็เป็นปัญญาขั้นที่เห็นโทษของกาม แล้วก็รู้ว่าจิตใจจะสงบระงับจากกามนั้น จะต้องทำอย่างไร แต่ว่าสำหรับการเจริญกุศลขั้นวิปัสสนากรรมฐานนั้น ก็เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง ที่รู้ลักษณะที่แท้จริงของทุกสิ่งที่ปรากฏ เพื่อละความไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดความเห็นผิด ซึ่งทำให้มีความยึดมั่น และก็หลงมัวเมา เพลิดเพลินยินดีในอารมณ์ต่างๆ
คุณวันทนา ดูๆ แล้ว ก็เหมือนกับว่าการเจริญสมถภาวนา ก็สามารถจะละความยินดียินร้ายในกามได้ ไม่ใช่หรือ
ท่านอาจารย์ ระงับได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าละไม่ได้ เพราะเหตุว่าการละความเห็นผิด ละความไม่รู้ และการดับกิเลสให้หมดสิ้นไปได้นั้น จะต้องละได้ด้วยปัญญา ความรู้แจ้งในสภาพลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ตราบนั้นก็ย่อมไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ ความเห็นผิด และก็ความเพลิดเพลินยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ ได้เลย
คุณวันทนา อย่างเป็นต้นว่า ในสมัยพุทธกาลก็ปรากฏเรื่องราวว่า ท่านที่เจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน สามารถที่จะทำปาฏิหาริย์ เหาะเหินเดินอากาศได้ เพียงแต่ว่าท่านเกิดความยินดีในรูป ในลาภ ในยศ ความยินดีนี้ก็มีกำลัง สามารถที่จะทำให้ฌานนั้นเสื่อม หรืออย่างในเรื่องของพระเทวทัต ซึ่งก็เหาะเหินเดินอากาศได้ สามารถทำให้พระเจ้าอาชาตศัตรูเกิดความเลื่อมใส แต่แล้วด้วยอำนาจของความริษยา ของพระเทวทัต ซึ่งมีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และความปรารถนาในลาภยศ ของพระเทวทัตนั่นเอง ก็เป็นเหตุให้พระเทวทัต เสื่อมจากสมาธิที่ตัวเคยได้ นี่ก็แสดงว่ากิเลสที่ละเอียดนั้น มีกำลังเหนียวแน่นมากเหลือเกิน ถึงแม้ว่าบุคคลนั้น จะมีสมาธิมากมายแล้ว ก็ยังละไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นความจริงข้อนี้แล้ว ถึงได้เจริญกุศลขั้นวิปัสสนาภาวนา เพื่อจะละความไม่รู้ ความสงสัย แล้วก็ความเห็นผิดในสิ่งต่างๆ ให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลส ให้หมดสิ้นเป็นลำดับขั้นไป ท่านเหล่านั้นไม่หวังเพียงขั้นที่จะให้จิตใจผ่องใส สงบระงับกิเลส หรือว่าไม่หวังเพียงขั้นที่จะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ดีๆ ซึ่งเป็นอานิสงส์ของการเจริญกุศลเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าจะได้อารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ดีสักเท่าไรก็ตาม สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น ที่จะเที่ยง คงอยู่ ไม่ดับไป ไม่เสื่อมสลายไปนั้น ไม่มีเลย
ในนันทนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ถึงการกล่าวคาถาโต้ตอบกัน ของเทวดาสององค์ในเรื่องนี้ด้วย พระองค์ตรัสเล่าว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่ง แวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร อิ่มเอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ และพวกนางอัปสรก็บำเรออยู่ในสวนนันทวัน เทวดาองค์นั้นได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า เทวดาเหล่าใดไม่เห็นนันทวัน อันเป็นที่อยู่ของหมู่นรเทพสามสิบ ผู้มียศ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข และพระองค์ตรัสเล่าต่อไปว่า เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดาองค์หนึ่งก็ได้ย้อนกล่าวกับเทวดาองค์นั้นด้วยคาถาว่า ดูกรท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป เป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นสุข
คุณวันทนา ก็แสดงว่าเทวดาทั้งสององค์ ต่างก็มีความเห็นในเรื่องของความสุขต่างๆ กันไป ตามขั้นของปัญญา สวนนันทวันในดาวดึงส์ คงจะสวยงาม รื่นรมย์ แล้วก็น่าเพลิดเพลินมากทีเดียว
ท่านอาจารย์ สวนนันทวันนั้น ก็จะต้องน่าเพลิดเพลินรื่นรมย์ ยิ่งกว่าโลกมนุษย์นี้แน่ๆ เลย เพราะเหตุว่าเป็นกามสุคติภูมิ ที่สูงกว่าชั้นมนุษย์ ความรื่นรมย์ของสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น ย่อมไม่สามารถที่จะผูกพันผู้มีปัญญา ที่ไม่หลงมัวเมาอยู่ในอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินเหล่านั้นได้ ดังที่ท่านอุปจาลาภิกษุณี ได้กล่าวตอบมาร ที่มาชักชวนให้ท่านตั้งจิตปรารถนาการเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และก็ชั้นปรนิมมิตวสวตี แต่ว่าท่านอุปจาลาภิกษุณีก็ได้กล่าวตอบมารว่า สวรรค์ทั้งหลายนั้นก็ยังผูกพันอยู่กับกามอารมณ์ต่างๆ คนที่ยังยินดีเพลิดเพลินในกามอารมณ์นั้น ก็ยังต้องอยู่ในอำนาจของมาร เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ปรารถนา ที่จะเกิดในที่ไหนเลย
คุณวันทนา สำหรับเรื่องของวิปัสสนากรรมฐาน เห็นจะเป็นเรื่องที่ละเอียดมากทีเดียว เพราะว่าเป็นการละกิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียด เราจะมีทางรู้ได้ไหม ว่ามันมีลักษณะอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ กิเลสที่จะปรากฏให้รู้ได้นั้น ก็ต้องเป็นกิเลสอย่างหยาบ หรือว่ากิเลสอย่างกลางเท่านั้นเอง สำหรับกิเลสอย่างละเอียด ที่รู้ว่ายังมีอยู่ ก็เพราะเหตุว่าเวลาที่มีการเกิดขึ้นของกิเลสอย่างกลาง แล้วก็กิเลสอย่างหยาบ ก็แสดงว่าเป็นเพราะกิเลสอย่างละเอียดยังมีอยู่นั่นเอง แล้วกิเลสอย่างละเอียดนั้น ก็จะหมดไปได้ ก็ต่อเมื่อได้เจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสิ่งทั้งปวง ตามความเป็นจริง จนกระทั่งบรรลุอริยสัจจธรรม ๔ และกิเลสอย่างละเอียดนั้น ถึงจะหมดไปเป็นประเภทๆ
คุณวันทนา กว่าจะเจริญปัญญา ให้ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔ ก็คงจะนานมากทีเดียว เพราะเท่าที่ทราบกันในสมัยพุทธกาลนั้น ก็ปรากฏว่าบางท่านใช้เวลานานถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปี เป็นสมัยพุทธกาล ถ้าเป็นสมัยนี้แล้ว ก็คงจะนานกว่านั้น แล้วก็คงจะยากกว่านั้นมากเป็นแน่
ท่านอาจารย์ จะนานมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องแล้วแต่การอบรมสะสมปัญญาของแต่ละท่าน เรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ นั้น เป็นเรื่องของการเจริญปัญญา เป็นลำดับขั้น ซึ่งปัญญาแต่ละขั้นนั้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วก็ละเอียดสุขุมจริงๆ ถึงจะเกิดได้ ถ้าใครใจเร็ว ใจร้อน แล้วก็มุ่งปฏิบัติ โดยที่ไม่เข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติให้ถูกต้องเสียก่อนแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะให้วิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นได้เลย
คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้น เราก็เห็นจะต้องพูดกันถึงเรื่องของ สิ่งทั้งหลายที่มีจริง ที่ปรากฏให้รู้ได้ แล้วก็ที่จะเป็นที่ตั้งให้ปัญญา ได้รู้ความจริงของสิ่งนั้นเสียก่อน อย่างนั้นใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าไม่พูดกันถึงเรื่องเหล่านี้ก่อน ไม่อาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟัง หรือการศึกษาก่อน ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเจริญปัญญาขั้นวิปัสสนาได้เลย