บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 2 ตอนที่ 3
คุณวันทนา จากหลักธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมจะทำให้ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกเข้าใจว่า ถ้าชีวิตนั้นจะไม่สิ้นสุดลงเพียงแค่ความตาย ในภพนี้ ชาตินี้เท่านั้น ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลส ตราบนั้นก็จะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่เรื่อยๆ ไป ส่วนจะไปเกิดดี เกิดไม่ดี มีความสุขมากหรือมีความทุกข์มากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกรรม คือการกระทำของแต่ละคน ในบรรดากรรมคือการกระทำทั้งหลาย กุศลกรรมเท่านั้นเป็นที่พึ่งของชีวิต ในบรรดากุศลกรรมทั้งหลาย ที่ชีวิตของผู้ครองเรือน พึงทำให้เจริญ เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าของชีวิต นอกเหนือไปจากการประกอบสัมมาอาชีวะ ที่เป็นประจำอยู่ กุศลกรรมเหล่านั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ในเรื่องของบุญญกิริยาวัตถุ ซึ่งจากการสนทนาของเราในครั้งก่อนๆ อาจารย์สุจินต์ได้นำมาเสนอแก่ท่านผู้ฟังไว้แล้ว ๘ ประการ ซึ่งได้แก่ ทิฏฐุชุกรรม คือการทำความเห็นให้ถูกต้อง ตามลักษณะที่เป็นจริง ทาน การให้ การสละทรัพย์สิ่งของ เพื่ออนุเคราะห์ผู้อื่น ปัตติทาน คือการแผ่ส่วนกุศล ที่ตนได้กระทำแล้วแก่ผู้อื่น ปัตตานุโมทนา ได้แก่การอนุโมทนา ยินดีในบุญกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว ศีล เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ทางกาย ทางวาจา อปจายนะ คือความอ่อนน้อม ไวยาวัจจะ ได้แก่การประพฤติตน ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ภาวนา เป็นการเจริญกุศลที่ขัดเกลากิเลสอย่างละเอียด การเจริญภาวนามี ๒ ได้แก่ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
สำหรับการสนทนาของเราในวันนี้ ก็คงจะได้พูดกันถึงเรื่อง การเจริญบุญญกิริยาวัตถุในข้อต่อๆ ไป ซึ่งได้แก่ ธรรมสวนะ การฟังธรรม และธรรมเทศนา ซึ่งได้แก่การแสดงธรรม ซึ่งดิฉันขอเริ่มการสนทนาในวันนี้ ด้วยปัญหาที่จะเรียนถามอาจารย์สุจินต์ว่า เพราะเหตุใดสองอย่างนี้ จึงได้รวมอยู่ในหมวดของภาวนา
ท่านอาจารย์ การที่ธรรมสวนะกับธรรมเทศนานั้น รวมอยู่ในหมวดของภาวนา ก็เป็นเพราะเหตุว่า เป็นการเจริญกุศลในขั้นของปัญญา การฟังธรรม และการแสดงธรรมนั้น อุปการะแก่การเจริญกุศลขั้นภาวนาด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการศึกษาธรรม ให้เข้าใจเหตุผลของการเจริญภาวนาแล้วละก็ ปัญญาที่เป็นขั้นภาวนา ก็เกิดไม่ได้
คุณวันทนา การเจริญสมถภาวนาหรือสมาธิ ซึ่งระงับกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น มีก่อนการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ แต่ว่าอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ระงับกิเลส เป็นสมถภาวนานั้น หลังการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มี ๔๐ ประการ ส่วนสมัยก่อนการตรัสรู้นั้น บางอารมณ์ก็ยังไม่มี อย่างเช่นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ซึ่งได้แก่การระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณของพระธรรม และคุณของพระสงฆ์ ก่อนการตรัสรู้ ยังไม่มี
คุณวันทนา แล้วก็สำหรับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก่อนการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คงไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มีค่ะ เพราะเหตุว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นการเจริญปัญญาที่ละกิเลสอย่างละเอียด ให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดขึ้นอีกเลย ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้วิธีเจริญปัญญาขั้นนี้ และไม่ได้ทรงเทศนาให้คนอื่นได้รู้ตาม ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเจริญปัญญาขั้นนี้ได้เลย
คุณวันทนา โดยทั่วๆ ไปแล้ว ถ้าหากจะมีใครสนใจ อยากจะฟังธรรม ใคร่ที่จะไปวัด ก็มักจะกลัวคนอื่น เห็นแล้วจะเข้าใจว่าเป็นคนธรรมธรรมโม หรือว่าเป็นคนคร่ำครึ ล้าสมัย ข้อนี้อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ การฟังธรรมนั้นเป็นการฟังพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่พุทธบริษัท และบุคคลต่างๆ ในสถานที่ต่างๆ หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้ ตราบจนกระทั่งก่อนจะปรินิพพาน สำหรับพวกเรานั้น ก็ไม่มีใครทราบว่า จะได้เคยฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระองค์มาบ้างแล้วหรือเปล่าในอดีตชาติ เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี มาแล้วนั้น หรือในอดีตชาติ ตั้งแต่ครั้งสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก่อนๆ แต่ถึงแม้ว่าเราไม่อาจจะรู้ได้ว่า ในครั้งนั้นเราเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน แต่ว่าในปัจจุบันชาตินี้ การที่เรายังมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ที่พระองค์ประทานไว้ เป็นศาสดาแทนพระองค์นั้น ก็นับว่าเป็นการได้ฟังสิ่งที่ประเสริฐสุด ยิ่งกว่าการได้ฟังสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดเลย
สำหรับข้อข้องใจ ที่คุณวันทนาว่า คนที่สนใจฟัง และศึกษาธรรม ไปวัด เพื่อจะเจริญกุศลนั้น เป็นคนคร่ำครึ และก็ล้าสมัยหรือไม่นั้น ดิฉันขอให้เราย้อนถอยกลับไป ถึงสมัยเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ณ ป่าโคสิงคสาลวัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่นั้น ตามข้อความในมหาโคสิงคสาลสูตร มัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก์ ซึ่งมีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระสาวกเถระมากมายหลายรูป ผู้ซึ่งเป็น เอตทัคคะ คือเป็นผู้เลิศในคุณธรรมด้านต่างๆ ครั้งนั้นท่านพระมหาโมคคัลลานะ ออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น แล้วเข้าไปหาท่านพระมหากัสสปะ กล่าวชวนท่านพระมหากัสสปะ ให้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม ท่านพระมหากัสสปะก็รับคำ และท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ และท่านพระอนุรุทธะ ก็เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม เมื่อท่านพระอานนท์เห็นท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ และท่านพระอนุรุทธะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม ท่านพระอานนท์ก็เข้าไปหาท่านพระเรวตะ และกล่าวชวนท่านพระเรวตะให้ไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรมด้วย เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นท่านพระเรวตะ และท่านพระอานนท์มา ท่านก็กล่าวเชื้อเชิญต้อนรับ และสนทนาธรรมกัน
คุณวันทนา ทั้งๆ ที่แต่ละท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวิเศษ ทรงความเป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ ท่านก็ยังใคร่ที่จะสนทนาธรรมกัน โดยไม่รู้จักเบื่อเลย
ท่านอาจารย์ ในมหาสุตโสมชาดกกล่าวว่า ไฟไหม้หญ้า และไม้ย่อมไม่อิ่ม และมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลาย ฉันใด แม้บัณฑิตก็ไม่อิ่มในการฟังธรรม ฉันนั้น
คุณวันทนา แต่ก็น่าสงสัย เพราะว่าพระเถรสาวกแต่ละท่าน ที่ได้กล่าวนามมาแล้วนั้น ท่านเองก็ได้รู้แจ้งในธรรม แล้วก็บรรลุความเป็นอรหันต์ และทรงความเป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ กันทั้งนั้น แล้วท่านจะสนทนากันด้วยเรื่องอะไร
ท่านอาจารย์ เมื่อท่านพระสารีบุตร กล่าวเชื้อเชิญต้อนรับท่านพระอานนท์แล้ว ท่านก็ถามท่านพระอานนท์ก่อนว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านพระอานนท์มีความเห็นว่า ป่าโคสิงสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร คุณวันทนาคิดว่าท่านพระอานนท์ตอบท่านพระสารีบุตรว่าอย่างไร
คุณวันทนา ท่านพระอานนท์เป็นเอตทัคคะในทางพหูสูต ดิฉันคิดว่าท่านก็คงจะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุที่เป็นพหูสูต ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ
คุณวันทนา แล้วท่านพระสารีบุตร ท่านก็คงจะถามพระสาวกองค์อื่นๆ เช่นเดียวกัน
ท่านอาจารย์ เมื่อท่านพระอานนท์ตอบแล้ว ท่านพระสารีบุตรก็ถามท่านพระเรวตะ และถามท่านพระอนุรุทธะ และถามท่านพระมหากัสสปะ และก็ถามท่านพระมหาโมคัลลานะ
คุณวันทนา พระสาวกแต่ละท่านก็คงจะตอบไป ตามคุณธรรมที่ท่านทรงความเป็นเลิศ
ท่านอาจารย์ ท่านพระเรวตะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุที่ยินดีในสมาบัติ คือการที่จิตเป็นสมาธิขั้นฌาน ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วย ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ป่าโคสิงสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุที่ตรวจดูโลกด้วยทิพจักษุ ท่านพระมหากัสสปะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุที่ยินดีในธุดงค์ และสรรเสริญคุณของธุดงค์
คุณวันทนา ธุดงค์ คืออะไร
ท่านอาจารย์ ธุดงค์ คือวัตร ข้อปฏิบัติที่ขัดเกลาจิตเป็นพิเศษ ต่างหากจากศีล
คุณวันทนา แล้วท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านตอบว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ท่านพระมหาโมคัลลานะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุที่กล่าวอภิธรรมกถา ถาม และก็ตอบปัญหาของกัน และกัน
คุณวันทนา มีใครถามท่านพระสารีบุตรบ้างหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ พอท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบแล้ว ท่านพระมหาโมคัลลานะก็ถามท่านพระสารีบุตรบ้าง
คุณวันทนา ท่านพระสารีบุตรตอบว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุที่อบรมจิตแล้ว และไม่เป็นไปตามอำนาจจิต ความจริงท่านตอบยาวกว่านี้ แต่ว่าใจความเป็นอย่างนี้
คุณวันทนา แล้วแต่ละท่านตกลงกันว่าอย่างไร เพราะว่าแต่ละท่านก็ตอบกันไปคนละอย่าง
ท่านอาจารย์ ท่านก็ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อว่าเมื่อพระองค์ตรัสพยากรณ์อย่างไร พวกท่านก็จะได้ทรงจำข้อความนั้นไว้
คุณวันทนา ท่านไม่ถือความเห็นของท่านเป็นใหญ่เลย
ท่านอาจารย์ ท่านรู้ ว่าปัญญาของท่านนั้น ไม่เท่าเทียมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การพยากรณ์ธรรมของท่าน อุปมาเหมือนกับการชั่ง ด้วยการกะ ด้วยการกำด้วยมือ แต่ว่าการพยากรณ์ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น อุปมาเหมือนกับการชั่งด้วยตราชั่งที่เที่ยงตรง
ผู้ฟัง แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คำของพระสาวกท่านใด เป็นสุภาษิต
ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คำของพระสาวกทุกท่าน เป็นสุภาษิตโดยปริยาย และพระองค์ตรัสต่อไปว่า คำถามที่ว่าป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไรนั้น พระองค์ตรัสตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุ ที่กลับจากบิณฑบาต และในเวลาหลังภัตแล้ว ก็บำเพ็ญเพียรเพื่อดับกิเลสให้หมดสิ้น ด้วยความไม่ย่อท้อ คุณวันทนาคิดว่า การที่พระเถรสาวกทั้งหลาย ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมนั้น ท่านพระสาวกเหล่านั้น ครึหรือไม่
คุณวันทนา ไม่ค่ะ ไม่มีใครที่จะกล่าวได้เลยว่า ท่านผู้ทรงคุณวิเศษ ทรงความเป็นเอตทัคคะ แล้วก็ใคร่ที่จะได้สดับฟังพระธรรม จากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ เป็นคนคร่ำครึ เพราะว่าพุทธบริษัทผู้เลื่อมใส ใคร่ที่จะได้สดับฟังพระธรรม ใคร่ที่จะได้ถวายความนอบน้อมสักการะ ย่อมมีทั้งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ อย่างเช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งโอรส และข้าราชบริพาร พวกมัลลกษัตริย์ มีทั้งพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ต่างก็พากันหลั่งไหล ไปถวายความนอบน้อมสักการะ และฟังธรรม ทั้งที่พระวิหารต่างๆ เช่นที่เชตวัน เวฬุวันที่น่ารื่นรมย์ และแม้ที่บนยอดเขาคิชฌกูฏ ที่สงบวิเวก เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าผู้ที่มีศรัทธา แล้วก็สนใจใคร่ที่จะได้ฟังธรรม ของพระพุทธองค์นั้น เป็นคนคร่ำครึไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ ถ้าพุทธศาสนิกชนจะได้รู้ ว่าการที่มีจิตศรัทธาหรือว่ามีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จนถึงกับมีความสนใจไปวัด ไปฟังธรรม แล้วก็ศึกษาธรรม ไม่ว่าจะเป็นในสมัยก่อน ในครั้งพุทธกาล หรือว่าในสมัยนี้ หรือในสมัยไหนก็ตาม เป็นการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงโปรดเวไนยสัตว์ คงจะเห็นได้ว่า การสนใจฟัง และศึกษาพระธรรมนั้น ไม่ใช่เป็นการครึ หรือว่าล้าสมัยเลย
คนครึนั้นควรจะเป็นคนที่ไม่รู้ แต่ว่าคนที่รู้นั้น เป็นคนที่ไม่ครึ และยิ่งเป็นการรู้สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงเทศนาเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก ด้วยพระมหากรุณาคุณด้วยแล้ว การรู้พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ก็ย่อมจะต้องเลิศกว่า การรู้ตามคนอื่น ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหม
คุณวันทนา เช่นการรู้วิชาการต่างๆ ทางโลก เช่น ความรู้อันเป็นเหตุให้เกิดความเจริญทางวิทยาศาสตร์ สามารถที่จะอำนวยประโยชน์สุข หรือความสะดวกให้แก่ชีวิตประจำวัน ที่ทำให้คนที่ไม่รู้เท่าทัน พลอยหลง และเพลิดเพลินว่า เป็นความรู้ที่สูง ที่แน่นอนนั้น ถึงจะถือกันว่า มีความรู้สูงสักแค่ไหน ก็ยังเป็นเพียงการรู้ ตามความรู้ของปุถุชนคนธรรมดา ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นจะถือว่าการรู้วิชาทางโลกนั้น ประเสริฐกว่าการรู้วิชาทางธรรม ก็คงไม่ได้
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาทราบไหม ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ประเสริฐหรือว่ายอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของมนุษย์เรา
คุณวันทนา สำหรับพุทธศาสนิกชนอย่างเราๆ ก็คงจะคิดว่า การได้เห็น หรือได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์นั้น เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดในชีวิต เพราะว่าใครๆ ก็คงอยากจะเห็น คงอยากจะได้สดับพระสุรเสียง อันเกิดจากน้ำพระทัย ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณานั้น เพราะพระรูปกายของพระองค์ รวมทั้งน้ำเสียงของพระองค์ ก็คงจะเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจ ให้แก่พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใส ผู้มีความสักการะต่อพระองค์ อย่างสุดที่จะประมาณได้ แต่ว่าพวกเราสมัยนี้ ดูจะมีบุญน้อยเสียเหลือเกิน จึงไม่มีโอกาสที่จะได้เห็น ที่จะได้เฝ้า และได้สดับพระธรรมเทศนา จากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์
ท่านอาจารย์ ในอนุตตริยสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ได้กล่าวถึง อนุตตริยะ คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมไว้ ๖ ประการ อนุตตริยะ ๖ ประการนั้น คือทัศนานุตตริยะ การเห็นที่ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ๑ สวนานุตตริยะ การฟังที่ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ๑ ลาภานุตตริยะ คือลาภ หรือการได้ที่ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ๑ สิกขานุตตริยะ การศึกษาที่ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ๑ ปาริจริยานุตตริยะ คือการบำรุงที่ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ๑ อนุสสตานุตตริยะ คือการระลึกถึงที่ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย ๑ รวมเป็นอนุตตริยะ ๖