บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 2 ตอนที่ 4
คุณวันทนา จากการสนทนาของเราเมื่อครั้งที่แล้ว อาจารย์สุจินต์ได้นำธรรม อันเกี่ยวด้วยเรื่องของการฟังธรรม อันจัดเป็นบุญญกิริยาวัตถุประการหนึ่ง สำหรับวันนี้ เราก็คงจะได้สนทนากันต่อไป ถึงเรื่องของบุญญกิริยาวัตถุอีกประการหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่าธรรมเทศนา ซึ่งหมายถึงการแสดงธรรม เรื่องของการแสดงธรรม ก็เป็นเรื่องที่คู่กันกับการฟังธรรม เพราะว่าถ้าไม่มีการแสดงธรรม การฟังหรือการศึกษาธรรม ก็ย่อมจะมีไม่ได้ อาจารย์คิดว่าเรื่องของการฟังธรรม และการแสดงธรรม อย่างไหนจะยากกว่า หรือว่าสำคัญกว่ากัน
ท่านอาจารย์ เรื่องการฟังธรรม และการแสดงธรรมนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยาก แล้วก็สำคัญทั้งสองอย่าง เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรม และการแสดงธรรมของพุทธบริษัทนั้น เป็นการศึกษาธรรม และการแสดงธรรม ตามสภาพของธรรมแต่ละประเภท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้อย่างละเอียด สุขุมมาก เพราะฉะนั้นถ้าผู้ที่ศึกษา หรือว่าผู้ที่แสดงธรรม ไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ ก็อาจจะเข้าใจผิด และก็จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดได้ด้วย
คุณวันทนา ดิฉันรู้สึกว่าการเข้าใจธรรมผิด ถ้าดูกันแต่เพียงผิวเผิน ก็ไม่เห็นจะน่าเป็นอันตรายที่ตรงไหน เพราะว่าคำสอนในทางหลักธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นในพุทธศาสนาหรือว่าในศาสนาอื่นๆ ต่างก็ย่อมจะมุ่งสอนให้ศาสนิกประพฤติดี ปฏิบัติดีกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจธรรมเบื้องสูง ที่ละเอียดจริงๆ ผิดพลาดไปบ้าง ก็คงจะไม่ใช่โทษผิดร้ายแรงอะไร เพราะว่าก็เป็นของธรรมดา ที่ธรรมที่ละเอียดสุขุม แล้วก็ยากแก่การที่จะพิจารณานั้น ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับข้อนี้อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ การเข้าใจธรรมผิดพลาดนั้น ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้พระสัทธรรมลบเลือน แล้วก็เสื่อมสูญได้
คุณวันทนา อาจารย์จะช่วยกรุณาอธิบายความหมายของคำว่า พระสัทธรรม ก่อนได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ สำหรับคำว่าสัทธรรมนั้น ก็เป็นคำรวมของคำว่า สนฺต (ผู้สงบ) + ธมฺม (ธรรม) เมื่อ สนฺต รวมกับ ธมฺม ก็เป็นสัทธรรม ได้แก่ ธรรมของผู้สงบ ผู้ดับกิเลส โดยอรรถ คำว่า สัทธรรม ซึ่งเป็นธรรมของผู้สงบกิเลสนั้น หมายรวมถึงธรรมที่ทำให้บรรลุความเป็นบุคคลผู้สงบกิเลส หรือผู้ดับกิเลสด้วย
คุณวันทนา เพราะฉะนั้นอย่างที่อาจารย์ว่า การเข้าใจธรรมผิดพลาด จะเป็นเหตุให้พระสัทธรรมเสื่อม ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ธรรมขั้นศีลธรรม หรือขั้นหลัก สำหรับให้ชาวโลกประพฤติปฏิบัติในขั้นที่ดีงามเสื่อมไป แต่หมายความถึงว่า เป็นเหตุให้ธรรมขั้นสูง คือขั้นที่จะทำให้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลเสื่อมไป ไม่สามารถจะบรรลุความเป็นอริยบุคคลได้ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะเหตุว่าธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติ ที่จะทำให้เกิดปัญญา รู้สภาพลักษณะที่แท้จริงของธรรมทั้งหลาย ในขณะที่ธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏนั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดสุขุมมาก นอกจากจะต้องศึกษาเหตุผล ของข้อปฏิบัติให้เข้าใจถูกต้อง และก็แจ่มแจ้งก่อนแล้ว ในขณะที่เจริญสติ รู้สึกตัว พิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏ จนเกิดความรู้ถูกต้อง ตามความเป็นจริง ของสภาพธรรมนั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดสุขุมมาก
ซึ่งพระผู้มีพระภาค ก็ได้ทรงอุปมาเปรียบเทียบให้ภิกษุทั้งหลาย ได้เห็นความละเอียดสุขุมของการเจริญปัญญาขั้นนี้ ในสูทสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระองค์ทรงอุปมาว่าผู้เจริญปัญญานั้น จะต้องฉลาดเฉียบแหลม ในการพิจารณาสภาพลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนกับพ่อครัวที่มีปัญญา ซึ่งมีหน้าที่ปรุงอาหารบำรุงพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ด้วยอาหารรสต่างๆ ซึ่งก็ย่อมจะต้องสังเกตลักษณะ และสภาพของรสอาหารที่ต่างกัน อย่างเช่น รสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง เฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง หรือจืดบ้างเป็นต้น ปัญญาก็มีหลายขั้น ตามการพิจารณาอย่างแยบคาย และไม่แยบคาย ของผู้ที่กำลังพิจารณาสภาพของธรรม ที่กำลังปรากฏเช่นเดียวกัน
คุณวันทนา ดิฉันเคยจำได้ว่า ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยได้กล่าวถึง พระพุทธโอวาทที่ให้พุทธบริษัททั้งหมดพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตรา อรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ ในธรรมเหล่านั้น โดยวิธีที่พรหมจรรย์ คือการปฏิบัติ เพื่อบรรลุผลคือความเป็นอริยบุคคล จะพึงเป็นไปตลอดกาลนาน ถ้าเช่นนั้นการศึกษา แล้วก็การแสดงธรรม ก็คงจะไม่ใช่เป็นหน้าที่ของภิกษุเท่านั้น
ท่านอาจารย์ พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น นอกจากว่าจะละเอียดสุขุม แล้วก็ยังมากมาย เหลือที่จะศึกษาให้เข้าใจได้โดยตลอดหมด ทั้งส่วนที่เป็นปริยัติคือการศึกษา ส่วนปฏิบัติคือการเจริญธรรม และส่วนปฏิเวธคือการรู้แจ้งธรรม เพราะนอกจากว่าพระองค์จะได้ทรงแสดงธรรม โปรดเวไนยสัตว์ เป็นเวลาถึง ๔๕ พรรษาแล้ว ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ก็ยังสุขุมลึกซึ้งโดยประเภทของธรรมนั้นๆ และโดยความเป็นเหตุ เป็นผลของธรรมนั้นๆ อย่างลึกซึ้งด้วย
ซึ่งถึงแม้ว่าพุทธบริษัทที่ฝักใฝ่ในธรรม จะได้ศึกษา และก็แสดงธรรม ตามที่พระองค์ทรงเทศนาไว้มากสักเท่าไรๆ ก็ไม่จบสิ้น และอุปนิสัยของพุทธบริษัท ก็ต่างกันตามที่ได้สะสมมาด้วย บางท่านก็มีอุปนิสัยเพียงเป็นอุบาสก อุบาสิกา บางท่านก็มีอุปนิสัยเป็นบรรพชิต บางท่านก็เชี่ยวชาญในพระวินัย บางท่านก็ชำนาญในพระสูตร บางท่านก็ชำนาญในพระอภิธรรม และบางท่านก็ฝักใฝ่ในการปฏิบัติ บางท่านก็มีความสามารถในการชี้แจงธรรม ให้พุทธบริษัทได้ตั้งมั่นในศีลธรรม และก็สามารถที่จะย่อยธรรม ให้เห็นเหตุผลที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างน่าเลื่อมใสทีเดียว และบางท่านก็เปรื่องปราดมากทีเดียว ในพยัญชนะ คือภาษาบาลี
เพราะฉะนั้นตราบใดที่พุทธบริษัท ยังเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และการแสดงธรรม ตามความชำนาญ และตามความถนัดในแต่ละด้าน เพื่ออุปการะกัน และก็เป็นการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะทำให้พระพุทธศาสนา ดำรงตั้งมั่นอยู่ต่อไปได้อีกนานทีเดียว
คุณวันทนา ในสมัยพุทธกาล นอกจากพระภิกษุ ภิกษุณีแล้ว สาวกที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่เป็นเลิศในทางต่างๆ ก็คงจะมี ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่ อย่างจิตคฤหบดี ชาวเมืองมัจฉิกาสณฑ์ ก็เลิศกว่าพวกอุบาสกด้วยกัน ในการเป็นธรรมกถึก และนางขุชชุตรา ก็เลิศกว่าอุบาสิกา สาวิกา ในทางเป็นพหูสูต
คุณวันทนา ดูๆ ในสมัยนั้น ช่างพรั่งพร้อมไปด้วยพุทธบริษัทที่ทรงคุณ ประดับพระพุทธศาสนา และแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชวนให้น่าปิติ เลื่อมใสเสียเหลือเกิน แต่ในครั้งนี้ นอกจากว่าพุทธบริษัท จะขาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นนาถะของโลก และของพุทธบริษัทแล้ว สภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ก็ยังจะทำให้พุทธบริษัทไม่พรั่งพร้อมด้วยผู้ทรงคุณ อย่างในสมัยก่อนๆ สำหรับข้อนี้ อาจารย์คิดว่าพวกเราจะทำอย่างไรกันดี
ท่านอาจารย์ การที่พุทธบริษัทจะมีจิตศรัทธาตั้งมั่น และก็ประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มากน้อยนั้น ก็จะต้องอาศัยการศึกษา และการเข้าใจธรรม มากน้อยเป็นลำดับขั้นด้วย สมัยนี้ ถึงแม้ว่าจะขาดพระภิกษุณี แต่ว่าพุทธบริษัท ก็ยังมีพระภิกษุ มีอุบาสก อุบาสิกา ซึ่งถ้าพุทธบริษัททั้ง ๓ นี้ อุปการะกัน แล้วก็ช่วยกันทะนุบำรุงพระศาสนา ทั้งในด้านการศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรม และการแสดงธรรมแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะดำรงตั้งมั่นอยู่ต่อไปได้นาน
ผู้ฟัง ในสมัยพุทธกาลนั้น พุทธบริษัทก็คงจะได้พร้อมเพรียงกัน อุปการะกัน และช่วยกันเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์
ท่านอาจารย์ อย่างในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์ นั้น ก็เป็นเรื่องของจิตตคฤหบดี ซึ่งท่านก็ได้ช่วยทำกิจของพระศาสนา ทั้งในด้านการทะนุบำรุงพระภิกษุ แล้วก็แสดงธรรมด้วย
คุณวันทนา อาจารย์จะช่วยกรุณายกตัวอย่างสักสูตรหนึ่ง ในจิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์ ให้ท่านผู้ฟังได้ฟังสักหน่อย ได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ในสังโยชนสูตร มีข้อความว่า สมัยหนึ่งภิกษุผู้เถระมากด้วยกัน อยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ เมื่อภิกษุผู้เถระมากด้วยกันนั้น กลับจากบิณฑบาต และภายหลังภัตแล้ว ก็นั่งประชุมสนทนากันที่โรงกลม เรื่องสังโยชน์ และสังโยชนียธรรม
คุณวันทนา สังโยชน์แล้วก็สังโยชนียธรรม คืออะไร
ท่านอาจารย์ สังโยชน์ คือ อกุศลธรรม ที่ผูกพันบุคคลไว้ในวัฏฏะ อกุศลธรรมนั้นมีมากมายหลายขั้น ถึงแม้ว่าอกุศลธรรมขั้นอื่น อย่างเช่น ขั้นนิวรณ์ ซึ่งกลุ้มรุมจิตใจให้เร่าร้อน กระวนกระวาย จะไม่เกิด แต่เมื่ออกุศลธรรมที่เป็นสังโยชน์ยังมีอยู่ ก็ย่อมจะผูกพันสัตว์โลกให้ติดอยู่ในภพภูมิต่างๆ
คุณวันทนา แล้วสังโยชนียธรรม คืออะไร
ท่านอาจารย์ สังโยชนียธรรมก็คือธรรม หรือสิ่งที่เกื้อกูล อุปการะแก่สังโยชน์ แล้วก็สิ่งที่เป็นอารมณ์ของสังโยชน์ด้วย
คุณวันทนา ทั้งสังโยชน์ ซึ่งเป็นอกุศลธรรม แล้วก็สังโยชนียธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เกื้อกูล แก่สังโยชน์นั้น ฟังดูก็ใกล้ชิด แล้วก็เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งชื่อแล้วก็ความหมาย แล้วก็ภิกษุเถระเหล่านั้น ท่านสนทนากันเรื่องสังโยชน์ และสังโยชนียธรรม ว่าอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ท่านสนทนากันว่าสังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกันคือ มีความหมายต่างกัน แล้วก็มีพยัญชนะ คือคำหรือชื่อต่างกันด้วย หรือว่าต่างกันแต่เฉพาะคำหรือชื่อเท่านั้น ส่วน อรรถ คือความหมายนั้น เป็นอย่างเดียวกัน
คุณวันทนา ท่านก็สอบถามธรรมกันอย่างละเอียดลอออยู่เสมอทีเดียว อย่างเวลาที่มีมากๆ ท่านด้วยกันอย่างนี้ คำตอบก็คงจะต่างกันไปด้วย แล้วจะเกี่ยวข้องกับจิตตคฤหบดีอย่างไร
ท่านอาจารย์ ตอนนั้นท่านจิตตคฤหบดี ไปที่บ้านส่วยชื่อมิคปถกะ ด้วยธุระบางอย่าง และเมื่อได้ทราบว่าภิกษุเถระเหล่านั้น สนทนากันด้วยเรื่องนี้ ท่านก็เข้าไปหาภิกษุเถระเหล่านั้นถึงที่อยู่ เมื่อไหว้ แล้วนั่ง ณ ที่ควรแล้วก็กล่าวว่า ท่านได้ทราบว่าพระภิกษุเถระเหล่านั้น สนทนากันเรื่องสังโยชน์ และสังโยชนียธรรม และพระเถระเหล่านั้นพยากรณ์ต่างๆ กันใช่ไหม เมื่อพระเถระเหล่านั้นตอบว่าเป็นอย่างนั้นแล้ว ท่านก็อธิบายว่า สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกันด้วย แล้วท่านก็อุปมาให้พระเถระเหล่านั้นฟังด้วย
ท่านอุปมาว่า เปรียบเหมือนโคดำตัวหนึ่ง กะโคขาวตัวหนึ่ง ผูกไว้ด้วยเชือกเส้นเดียวกัน จะกล่าวว่าโคดำติดกับโคขาว หรือโคขาวติดกับโคดำ ก็ไม่ถูก ใช่ไหม เพราะเหตุว่าโคสองตัวนั้นไม่ติดกัน เพียงแต่มีเชือกเส้นเดียวกัน ผูกไว้เท่านั้น และเพราะเหตุนั้น เชือกที่ผูกนั้น จึงชื่อว่าเป็นเครื่องผูก
คุณวันทนา โคดำ โคขาว และเชือก ได้แก่อะไร โคดำ
ท่านอาจารย์ โคขาว ก็ได้แก่ ตากับรูป เป็นต้น ตาก็ไม่ติดรูป รูปก็ไม่ติดตา แต่ว่าความพอใจ คือ สังโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยตากับรูปนั้น เป็นเครื่องผูกหรือเครื่องติด ซึ่งก็อุปมาเหมือนเชือกที่ผูกโคดำกับโคขาวไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้นตากับรูป เป็นต้นนั้น ก็เป็นสังโยชนียธรรม ส่วนความพอใจที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตากับรูป เป็นต้นนั้น ก็เป็นสังโยชน์ เพราะฉะนั้นทั้งสังโยชน์ และสังโยชนียธรรม ก็ต่างกันทั้งอรรถ และพยัญชนะ
คุณวันทนา เมื่อจิตตคฤหบดี ได้กล่าวถึงเรื่องสังโยชน์ แล้วก็สังโยชนียธรรมไปแล้ว พร้อมด้วยอุปมา พระเถระทั้งหลายท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ พระภิกษุเถระทั้งหลาย ท่านก็อนุโมทนา ท่านกล่าวว่าการที่ปัญญาจักษุของจิตตคฤหบดี หยั่งทราบในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้งนั้น ชื่อว่าเป็นลาภของจิตตคฤหบดี ซึ่งท่านจิตตคฤหบดี ได้ดีแล้ว