สนทนาธรรมที่อุทยานแห่งชาติเขาเขียว แผ่นที่ ๒ ตอนที่ 6


    สนทนาธรรม ที่ อุทยานแห่งชาติเขาเขียว จ.นครราชสีมา

    วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

    ตอนที่ ๖


    ท่านอาจารย์ ตามการสะสมของแต่ละคน ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ฟังไปเถอะ ถ้าเห็นประโยชน์ จนตาย แล้วก็จะรู้เอง ว่าได้เข้าใจพระธรรมขึ้นแค่ไหน มีใครอยากได้มากๆ หรือไม่ตอนนี้ อยากเข้าใจเยอะๆ ก่อนตายขอให้เข้าใจมากกว่านี้หน่อยเถอะ หรือมากก็ได้ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือฟังแล้วก็รู้ความจริง ว่าขณะฟังก็เข้าใจ แล้วก็เข้าใจแค่ไหน และก็หลังจากฟังแล้วเป็นอย่างไร และต่อไปจะได้ฟังอีกเท่าไร และจะเข้าใจเพิ่มขึ้นจากนี้หรือเปล่า เพิ่มขึ้นมากๆ หรือเพียงน้อยๆ เพียงแต่ว่าที่เข้าใจแล้ว ได้มีความเข้าใจคือไม่ลืม แต่ก็เพิ่มขึ้นเหมือนกับคนย่ำเท้า ยืนย่ำไป ใครจะรู้บ้างว่ากระเถิบไปทีละนิด หรือว่ายัง นั่นก็เป็นความจริง ซึ่งคนอื่นก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ต่อคำถามที่ว่า ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจ คนนั้นรู้เอง และคำตอบที่ควรตอบคือพูดเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เขาคิด จนเขาตอบเอง ไม่ใช่ตอบแล้วเขาก็ไม่รู้ เพราะไม่ได้อธิบายหรือว่าไม่ได้บอกอะไร เพียงแต่ให้ชื่อไปเยอะๆ แล้วไปคิดเอง อย่างไรก็คิดไม่ออก เพราะว่าแม้แต่ยังไม่ต้องมีชื่ออย่างนั้น เพียงแต่ฟังในภาษา ซึ่งยังไม่ใช้ภาษาบาลีมากมายแต่ละคำ แม้แต่ ขันธ์ ก็ยังเพียงนิดเดียว เพียงคนที่ได้ยินมาแล้วก็คือ ธรรมทั้งหมดนั่นเอง ที่เกิดด้วยจึงหลากหลาย

    เพราะฉะนั้นรู้ความหมายของขันธ์ก็คือว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดดับไม่กลับมาอีก ความหลากหลายของแต่ละสภาพธรรม แม้ว่าเป็นประเภทเดียวกันก็ต่างกัน จะเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละอย่างเป็นขันธ์ทั้งหมด อย่างเสียงขณะนี้ เกิดแล้วดับไป ไม่เหมือนเสียงต่อไป หรือไม่เหมือนเสียงก่อน เสียงก่อนก็เป็นเสียงเกิดดับเป็นขันธ์ หยาบหรือละเอียด ต่างกับขณะที่เสียงต่อไปเกิดขึ้น ใช่หรือไม่ อย่างคนที่เล่นดนตรี เล่นใหม่ๆ กับเล่นจนชำนาญ เครื่องมือชิ้นเดียวกันเลย เป็นอย่างไรเสียงเหมือนกันไหม คนที่เริ่มเล่น ตีแรงไปบ้าง เสียงอย่างหนึ่ง ตีเร็วไปบ้าง เสียงอีกอย่างหนึ่ง และพอมีความชำนาญขึ้น เครื่องดนตรีนั้นเอง เสียงที่ปรากฎก็เป็นแต่ละเสียงที่ต่างกันไป เพราะฉะนั้นเสียงตั้งแต่เริ่มเกิด เมื่อเริ่มเล่นก็เป็นขันธ์เกิดดับ กับเสียงตอนที่ชำนาญแล้ว ก็เป็นเสียงเกิดดับ ทั้งสองเสียงเหมือนกันหรือไม่ ไม่เหมือน นี่คือขันธ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนกันไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมอยู่ที่ความเข้าใจ ไม่ใช่ไปติดที่ภาษาหรือคำแปล ซึ่งแม้คำแปลจะเป็นภาษาหนึ่ง ซึ่งคนในยุคนั้นสมัยนั้น แม้พระผู้มีพระภาคตรัสคำว่า ธรรม หรือตรัสคำว่า ขันธ์ ชาวสาวัตถี ชาวโกสัมพี จะเข้าใจเหมือนกันหรือเท่ากันได้ไหม แม้เป็นภาษาที่เขาใช้อยู่เป็นประจำ ก็ต่างกันแล้วตามการสะสม เราใช้ภาษาไทย คนไทย ฟังด้วยกัน ความเข้าใจน้อยมากก็ต่างกันไปตามการสะสม

    เพราะฉะนั้นธรรม ไม่ว่าจะใช้คำภาษาไหนก็ตาม ส่องไปถึงความหมาย และความจริงของธรรม โดยที่ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นรู้ภาษานั้น แล้วจะต้องได้ความเข้าใจเท่าๆ กัน หรือว่าคนที่รู้ภาษาบาลี ได้ยินคำว่า ขันธ์ ได้ยินคำว่า อายตนะ เข้าใจได้ว่าหมายความถึงอะไร แต่รู้ถึงความเป็นธรรมนั้นหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่แปลได้ แต่ความหลากหลาย ความละเอียดของธรรม แม้แต่ทุกอย่างเลย เป็นธรรมที่เกิดแล้วดับ ขันธ์ก็คือ ลักษณะที่เกิดดับนั้นต่างๆ กันไป เป็นอะไรบ้าง หยาบก็มี ละเอียดก็มี สิ่งที่นุ่มมากเป็นอาหารบางชนิด ก็ยังมีอาหารที่นุ่มกว่าไหม จนกระทั่งต้องอุทานว่านุ่มจังเลย นิ่มมาก ทั้งๆ ที่เราก็เคยรับประทานของนิ่มๆ อย่างถั่วแปบ นิ่มหรือไม่ นิ่มกับก้อนแข็งๆ ใช่ไหม พอถึงอาหารญี่ปุ่น แค่แตะนิดเดียวก็นิ่มเข้าไปอีก ยิ่งกว่านั้นอีก

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ความอ่อน ความแข็ง ความนิ่ม ความนุ่ม ก็หลากหลายต่างกัน ทำให้จำแนกเป็น บางขณะที่เกิดหยาบ บางขณะที่เกิดขึ้นละเอียด แต่ว่าไม่ใช่อย่างเดียวกัน นี่ก็คือความหมายของให้เห็นความไม่เที่ยง และความหลากหลายของสภาพธรรม ซึ่งแม้เป็นประเภทเดียวกัน ก็ยังต่างกัน จำแนกเป็นภายใน ภายนอก หยาบละเอียด ไม่ต้องไปท่องจำ แต่มีความเข้าใจว่า เนื่องจากเป็นทีละอย่าง อย่างละหนึ่ง แล้วไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นภายใน ก็เป็นภายในสิ่งที่ตัวเอง สิ่งที่เป็นภายนอกก็ไม่ใช่ที่ตนเอง นี่คือการเข้าใจธรรม โดยถ้าใครไปท่องว่าความหมายของขันธ์มี ๑๑ อย่าง ไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด เลว ประณีต มีประโยชน์อะไร กับการที่กำลังรู้ตรงลักษณะแต่ละอย่าง ซึ่งเกิด และก็ดับไป แล้วก็หลากหลายต่างกัน นี่ก็คือการที่เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น เพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเรา และก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งความจริงแม้แต่เพียงนิดเดียวก็หมดไป ไม่ได้กลับมาอีกเลย

    อ.คำปั่น ก็เป็นคำบรรยายที่ไพเราะ และลึกซึ้งมากเลย โลกในวินัยของพระอริยะ เพราะว่าแสดงถึงความจริง แสดงถึงธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฎในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้ก็ไม่พ้นจากโลกเลย ขณะเห็นก็เป็นโลกอย่างหนึ่ง ขณะได้ยินก็เป็นโลกอย่างหนึ่ง ก็เป็นเครื่องเพิ่มพูน ให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรม ที่มีจริงในขณะนี้

    อ.นิภัทร อารมณ์ สิ่งที่เป็นที่มายินดีของจิต คือจิตต้องรู้อารมณ์ ไม่ใช่พูดว่าวันนี้อารมณ์เสีย อารมณ์บูดอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ พูดชื่อว่าอารมณ์ เพราะจิตจะเกิดโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจิตอะไร จะเป็นภวังคจิต ก็ต้องมีอารมณ์ แต่อารมณ์นั้นเราไม่รู้ ไม่มีอารมณ์ จิตก็เกิดไม่ได้ นี่คือคำว่า อารมณ์

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้หรือไม่ ที่ใครจะจากโลกนี้ไป หลังจากนี้ไม่นาน ได้ใช่หรือไม่ อะไรๆ ก็เอาไปไม่ได้เลยใช่หรือไม่ แต่ความเข้าใจวันนี้ติดตามไป สะสมอยู่ในจิต ลองคิดถึงแต่ละคนที่จากโลกนี้ ไม่ใช่เฉพาะที่ประเทศไทย หรือเมืองนี้ ตำบลนี้ ทั่วโลก ต้องจากโลกนี้ทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะอยู่ต่อไปได้ แล้วสิ่งที่ติดตามไปก็คือ จิตหนึ่งขณะที่เกิดแล้วดับ เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น เรารู้ว่าเรามีจิต แต่ไม่รู้ความเป็นไปของจิตเลย ว่าจิตเกิดแล้วดับ และอะไรเกิดขึ้น ก็คือจิตที่ดับไปนั่นแหล่ะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตที่เกิดแล้วดับ และไม่เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดอีกได้ คือ ขณะจิตสุดท้ายของพระอรหันต์ ที่ใช้คำว่าปรินิพพาน ดับโดยรอบ คือไม่มีการเกิดสืบต่ออีกเลย

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังคงมีกิเลส เป็นปัจจัยที่จะทำให้ เมื่อจิตขณะหนึ่งดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด นี่เป็นเหตุที่จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะเท่านั้น จะเกิดซ้อนกันสองขณะไม่ได้เลย เพราะถ้าจิตขณะนี้ไม่ดับ จิตอื่นจะเกิดสืบต่อไม่ได้ ต้องจิตขณะนี้ดับไป เป็นปัจจัยหนึ่ง ใช้คำว่า นัตถิปัจจัย การปราดไปของจิต ดับ ไม่มีอะไรเหลือ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด

    เพราะฉะนั้นจุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปคือ จิตขณะแรกของชาติต่อไปเกิดต่อทันที เหมือนเมื่อสักครู่กับเดี๋ยวนี้ ไม่มีอะไรคั่นเลย ในแสนโกฏกัปป์ เพราะฉะนั้นก็สะสมแล้วแต่ว่าจะเห็นอะไรชาติไหน มีสุข มีทุกข์อย่างไรในแต่ละชาติ จนถึงชาตินี้ มีทรัพย์สมบัติมากมาย ถ้าจิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับไป ทรัพย์ใดๆ ที่มีก็ตามไปไม่ได้เลย แต่ความเข้าใจธรรมวันนี้ ขณะนี้ หรือก่อนๆ นี้ที่สะสมมา ก็จะสะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป

    เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งเดียวที่จะติดตามไปได้ นี่ทางฝ่ายปัญญา ลืมคิดทางฝ่ายอกุศลหรือเปล่า ไปด้วย ไปเยอะหรือไม่ แล้วที่เป็นปัญญาไปน้อยหรือมาก เพราะฉะนั้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่าปัญญาเกิดทีละน้อย แต่ว่าธรรมชนะอธรรม ในที่สุด อะไรจะทำให้อธรรมหมดไปได้ มีอย่างเดียว คือ ปัญญา ซึ่งเป็นธรรมที่ประเสริฐสุด

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าชาตินี้ เราจะมีสิ่งที่เราติดข้องต้องการมากมาย แต่ถ้าเรารู้ความจริงว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ยังไม่มีก็อยากมี ใช่หรือไม่ พออยากก็แสวงหา ตอนแสวงหาทุกข์หรือไม่ กว่าจะได้ บางทีหาก็ไม่ได้ อยากจะได้อะไรสักอย่าง หาเท่าไรก็ไม่ได้ ก็มี ไม่ใช่ว่าหาแล้วได้ทุกครั้ง อยากได้ก็เป็นทุกข์ทำให้ต้องหา การแสวงหาก็ลำบากเป็นทุกข์ด้วย และแสวงหาแล้วที่ได้ก็มี ที่ไม่ได้ก็มี ถ้าได้ก็ดีใจ ติดข้องขึ้นมาอีกแล้ว ไม่ได้ก็เสียใจ ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฎฎ์ อยากได้นั่น อยากได้นี่ เดี๋ยวมีนั่น เดี๋ยวมีนี่ เดี๋ยวก็สูญหาย แต่ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งทุกข์ เพราะเหตุว่าทำให้มีความติดข้องเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อวานนี้เราต้องติดข้องมาแล้วแน่ๆ อยากได้อะไรบ้างเราก็รู้เอง ใช่หรือไม่ ตื่นขึ้นมา วันนี้ก็ติดข้อง พรุ่งนี้ก็ติดข้องอีก ก็เป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต จนกว่าจะมีความเห็นถูกต้อง ว่าถึงจะมีชั่วคราว แล้วก็ไม่สามารถที่จะนำพาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นได้เลย

    เพราะฉะนั้นก็ชั่วคราวจริงๆ ถ้าเป็นคน มีอายุเท่าไรก็คืออยู่ได้แค่นั้น ชั่วคราว แต่ถ้าคิดถึงขณะจิต เสมอกันหมดเลย ไม่ว่าจิตใคร เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ทรงจำแนกละเอียดว่า หนึ่งขณะจิตที่เกิดแล้วดับเร็วมาก ขณะนี้เราไม่มีทางจะไปรู้เลย แม้กระนั้นจิตหนึ่งขณะก็ยังสามารถที่จะกล่าวถึง ขณะที่เกิดเป็นขณะที่ดับหรือเปล่า เกิดก็เพิ่งเกิด ยังไม่ได้ดับ ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ แล้วขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ ก็มี ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นจิตหนึ่งขณะ จะมีอนุขณะสาม คือ อุปาทขณะ ขณะเกิด ฐิติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือขณะที่ดับ เร็วสุดที่จะประมาณได้ แต่พระอริยบุคคลจะหมดกิเลสได้ต่อเมื่อ ไม่ใช่เพียงฟัง แต่เริ่มมีความเห็นถูก ใช้คำว่าเริ่มมีความเห็นถูกคือปัญญา เห็นถูกว่าขณะนี้ สิ่งที่ปรากฎให้เห็น ไม่ใช่ใครหรืออะไรเลยทั้งสิ้น เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุที่มีจริง ที่สามารถกระทบตา กระทบหู ก็ไม่ได้ กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย ก็ไม่ได้ ต้องกระทบรูปพิเศษ ซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฎในขณะนี้ โดยที่ต้องมีจิต คือ ธาตุที่สามารถเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น และสิ่งนี้จึงปรากฎได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ทีละเล็กทีละน้อย เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎให้เห็น เพราะว่าความจริงจะกล่าวได้เลยว่า เหมือนกับทันทีที่เกิดก็ดับ เร็วถึงอย่างนั้น เกิดมาแล้วก็ดับๆ แต่ซ้ำกันจนกระทั่งทำให้ มีการจำ ซึ่งเป็นอัตตสัญญา จำรูปร่างสัณฐาน แล้วก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ตามความเป็นจริง ดับแล้วอย่างเร็วมาก แม้ขณะที่ปรากฎก็เป็นแต่เพียงนิมิต ของสิ่งที่ปรากฎให้เห็น เพราะว่าตัวจริงๆ ดับไปตลอด มีอายุแค่ ๑๗ ขณะ แล้ววันนี้ก็ลืม ว่านี่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ปรากฎให้เห็นเท่านั้น ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น ถ้าไม่คิด บางคนตื่นขึ้นมางัวเงียแล้วก็หลับไป ถามว่าเห็นอะไร ตอบได้หรือไม่ ก็แค่ลืมตาขึ้นมาแล้วก็หลับต่อ จะบอกว่าเห็นอะไรก็ยังไม่ได้

    เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้ คลายหรือยัง ในการที่จะติดข้องในสิ่งที่ปรากฎทางตา เพียงแค่นี้ ไม่มีทางเลย แค่ได้ฟัง แค่เริ่มเข้าใจ แค่ค่อยๆ น้อมไปที่จะเห็นถูก ว่าสิ่งนี้เพียงปรากฏให้เห็น เวลาที่จากโลกนี้ไป มีสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นก็ได้ หลังจากปรากฏให้เห็นแล้ว ก็ตาย ยังไม่ทันจะเป็นคน เป็นสัตว์เลย หรืออาจจะคิดนึก ว่าสิ่งที่เห็นเป็นใครก็ได้ แล้วก็ตาย คือจุติจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ มีกรรมเป็นปัจจัย ที่จะทำให้จิตนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ใครก็ทำให้จิตนี้เกิดขึ้นไม่ได้ หรือจิตไหนๆ ก็ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่รู้ว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร ที่ไหน หลังเห็น หลังได้ยิน หรือกำลังรับประทานอาหารก็ได้ เกิดได้หมดเลย กำลังหัวเราะก็ได้ หัวเราะเสร็จก็ตาย บางคนเดินไปนั่งที่เก้าอี้ แล้วก็ตาย บางคนออกมานอกห้องบอกว่าร้อน แล้วก็ตาย



    หมายเลข 162
    2 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ