ชุด อกุศลธรรม ๙ กอง แผ่นที่ 1 ตอนที่ 1


    ขอกล่าวถึงอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกออกเป็น ๙ จำพวก เพื่อจะได้เห็นลักษณะของสภาพกิจการงาน ของอกุศลเจตสิกทั้ง ๑๔ ดวงว่าต่างกันอย่างไร

    แม้ว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แต่จำแนกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก คือ

    ๑. อาสวะ ๔

    ๒. โอฆะ ๔

    ๓. โยคะ ๔

    ๔. อุปาทาน ๔

    ๕. กายคันถะ ๔

    ๖. นิวรณ์ ๕

    ๗. อนุสัย ๗

    ๘. สังโยชน์ ๑๐

    ๙. กิเลส ๑๐

    สำหรับอาสวะ ๔ ธรรมอื่นนอกจากอาสวะ ๔ นี้ ไม่ใช่อาสวะ ซึ่งข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ จตุกกนิทเทส ข้อ ๙๖๑ แสดงอาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ ทิฏฐาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายอาสวโคจฉกะ มีข้อความว่า

    ธรรมชื่อว่าอาสวะ โดยอรรถว่า ไหลไปทั่ว ไหลไป คือ หลากไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าอาสวะ เพราะเมื่อว่าโดยธรรม ก็ไหลไปได้กระทั่งถึงโคตรภู เมื่อว่าโดยโอกาส ก็ไหลไปได้กระทั่งถึงภวัคคพรหม คือ อรูปพรหม

    ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นสภาพที่หมักดองเอาไว้นาน อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อาสวะ เพราะอรรถว่า พอกพูน คือ ก่อสังสารทุกข์อันยืดยาว ธรรมอื่นนอกจาก อาสวะ ๔ นี้ ไม่ชื่อว่าอาสวะธรรม

    ถึงแม้ว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แต่โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นกามาสวะ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง เป็นภวาสวะ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ได้แก่ โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง รวมเป็นโลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ และโมหเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นอาสวะ ๔

    แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่อกุศลเจตสิกทุกประเภทเป็นอาสวะ แต่เฉพาะโลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก เป็นอาสวะ

    สำหรับอาสวะ ๔ นั้น กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งไหลไป คล้อยไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทุกขณะ ผู้ที่จะดับกามาสวะได้ คือ อนาคามิมรรคจิต ต้องบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามี จึงดับกามสวะได้

    ภวาสวะ คือ ความพอใจในรูปภพ อรูปภพ ความติดใจในฌาน ซึ่งอรหัตตมรรคจิตดับได้ ความพอใจอันเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ อันโสตาปัตติมรรคดับได้

    ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิดจากความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งปวง โสตาปัตติมรรคจิตดับได้

    อวิชชาสวะ คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง อรหัตตมรรคละได้

    เรื่องของอาสวะ ๔ ไม่มีปัญหา เพราะมีข้อความที่ชัดเจนว่า มรรคจิตใดดับ อาสวะใด

    สำหรับพระสูตรบางแห่ง ไม่มีทิฏฐาสวะ มีแต่กามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ ที่เป็นอย่างนี้สำหรับผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ซึ่งจะอบรมเจริญปัญญา เพื่อดับอาสวะขั้นต่อไป


    นาที 05:35

    อาสวะ ได้แก่ เจตสิกเพียง ๓ ดวง คือ โลภเจตสิก เป็น กามาสวะ เกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง นอกจากนั้น โลภเจตสิกที่เกิดกับ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เป็น ภวาสวะ

    ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เป็น ทิฏฐาสวะ

    โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เป็น อวิชชาสวะ

    ธรรมอื่น คือ อกุศลเจตสิกนอกจากนี้ ไม่ใช่อาสวะ คือ ไม่ใช่ธรรมที่หมักดองไว้นาน หรือว่าไหลไป หลากไปอยู่ตลอดเวลาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๒ คือ โอฆะ ๔

    อกุศลธรรมที่ชื่อว่าโอฆะ ด้วยอรรถว่า เพราะทำผู้มีกิเลสให้ดิ่งลง คือ ให้จมลงในวัฏฏะ

    แสดงให้เห็นว่า อกุศลจิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งๆ ไม่ได้ทำให้พ้นไปจากอกุศลธรรมเลย ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ไม่สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมใดๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ดิ่งลง คือ ให้จมลงในวัฏฏะ

    โอฆะ ๔ ได้แก่ โอฆะคือกาม ๑ โอฆะคือภพ ๑ โอฆะคือทิฏฐิ ๑ โอฆะคืออวิชชา ๑

    โดยสภาพธรรมแล้วเหมือนกับอาสวะ แต่อาสวะเป็นสภาพธรรมที่หมักดองสะสมไว้นาน และหลากไป ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่สภาพธรรมเหล่านี้เองเวลาที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ดิ่งลง คือ จมลงในวัฏฏะ

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๓ คือ โยคะ ๔

    อกุศลธรรมที่ชื่อว่าโยคะ ด้วยอรรถว่า เพราะประกอบบุคคลผู้มีกิเลสไว้ในวัฏฏะ ได้แก่ โยคะคือกาม ๑ โยคะคือภพ ๑ โยคะคือทิฏฐิ ๑ โยคะคืออวิชชา ๑

    เหมือนกันกับอาสวะ และโอฆะนั่นเอง แต่ที่เป็นโยคะเพราะว่าประกอบ ตรึงสัตว์นั้นไว้ในวัฏฏะ อุปมาเหมือนกับคนจมน้ำ ล้อมรอบไปด้วยน้ำทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องซ้าย เบื้องขวา เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรม ๔ อย่างนี้เกิดขึ้น คือ เป็นอาสวะไหลไป หลากไป เป็นโอฆะทำให้จมลง และเป็นโยคะที่ประกอบไว้ในวัฏฏะ เพราะล้อมรอบทั้งข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๔ คือ อุปาทาน ๔

    อกุศลธรรมที่ชื่อว่าอุปาทาน ด้วยอรรถว่า ยึดมั่น ได้แก่ กามุปาทาน ยึดมั่นกาม ๑ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นทิฏฐิ ๑ สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นข้อปฏิบัติผิด ๑ อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นอัตตา ๑

    ข้อสังเกต อุปาทาน ๔ ไม่มีภพคืออุปาทาน แต่ความจริงไม่ใช่ว่าไม่มี มี แต่รวมอยู่ในกามุปาทานนั่นเอง เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมจำพวกใดซึ่งไม่แยกกามกับภพ มีเพียงกามอย่างเดียว อกุศลธรรมนั้นย่อมรวมภพไว้ในกามด้วย

    สำหรับกามุปาทาน ใครละได้ ในที่นี้ไม่แยกกามกับภพ เมื่อไม่แยก ก็รวมความยินดีในภพในกามุปาทานด้วย เพราะฉะนั้น กามุปาทานต้องละด้วยอรหัตตมรรค แต่ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นทิฏฐิ สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นข้อปฏิบัติที่ผิด และอัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นอัตตานั้น ละได้ด้วยโสตาปัตติมรรค เพราะว่าได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก

    เพราะฉะนั้น สำหรับอุปาทาน มีเจตสิก ๒ ดวงเท่านั้น คือ โลภเจตสิก และ ทิฏฐิเจตสิก

    โลภเจตสิกเป็นทั้งกามุปาทานที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความยินดีในภพด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องละด้วยอรหัตตมรรค

    ไม่ว่าจะเป็นธรรมหมวดใดทั้งสิ้น ถ้าไม่แยกกามกับภพ หมายความว่ารวมภพไว้ในกาม และต้องละด้วยอรหัตตมรรค แต่ถ้าแยก อนาคามิมรรคละความยินดีพอใจในกาม แต่อรหัตตมรรคละความยินดีพอใจในภพ

    ผู้ฟัง ทิฏฐุปาทาน และสีลัพพตุปาทาน ต่างกันอย่างไร เพราะถ้าเห็นผิดก็ต้องปฏิบัติผิดแน่ และถ้าปฏิบัติผิดก็ต้องเห็นผิดแน่

    ท่านอาจารย์ บางคนไม่ได้ปฏิบัติอะไร มีแต่เพียงความเห็นว่า ตายแล้วสูญไปเลย ก็สนุกสนานรื่นเริงไปวันหนึ่งๆ แต่ถ้ามีความเข้าใจข้อปฏิบัติผิดคิดว่าเป็นข้อปฏิบัติถูก ขณะนั้นเป็นสีลัพพตุปาทาน เป็นการยึดมั่นในข้อปฏิบัติที่ผิด

    ผู้ฟัง ถ้ามีแต่ความยึดมั่นในความเห็นผิด อาจจะไม่มีความยึดมั่นใน ข้อปฏิบัติผิดก็ได้ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติอะไร ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเห็นผิดว่า ตายแล้วสูญ ก็สนุกสนานรื่นเริงไป ไม่ได้ปฏิบัติอะไร ก็มีแต่ทิฏฐุปาทาน

    ผู้ฟัง อวิชชารวมอยู่ในกามุปาทานด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่รวม

    ผู้ฟัง อวิชชาไปไหน

    ท่านอาจารย์ เป็นอาสวะ

    เพราะฉะนั้น อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง แยกเป็นจำพวกต่างๆ เป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก บางประเภทเป็นอาสวะ บางประเภทเป็นโอฆะ บางประเภทเป็นโยคะ

    อวิชชาเป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ แต่ไม่เป็นอุปาทาน

    โดยมากในบางพระสูตรจะไม่กล่าวไว้ทั้ง ๙ กอง จะเว้นไม่กล่าวบางจำพวก แต่รวมทั้งหมดแล้วมี ๙ แล้วแต่ว่าจะลำดับอย่างไร แต่ถ้าลำดับตามข้อต่างๆ ในพระสูตร บางสูตรคันถะจะเป็นจำพวกที่ ๕


    ได้กล่าวถึงเรื่องของอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท จำแนกออกเป็น ๙ จำพวก เพื่อจะได้เห็นลักษณะหน้าที่การงานต่างๆ ของอกุศลเจตสิกเหล่านั้น และจะได้เห็นความวิจิตรของอกุศลเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทต่างๆ ซึ่งพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สามารถดับกิเลสได้ตามขั้นของอกุศลธรรมด้วยอริยมรรคนั้นๆ

    การศึกษาเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ดวง และอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกออกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวกนี้ ควรจะน้อมมาพิจารณาสภาพธรรมที่ตนเองเพื่อให้เข้าใจชัด และเพื่ออบรมเจริญปัญญาที่จะดับอกุศลธรรมจำพวกนั้นๆ ได้เป็นสมุจเฉทโดยถูกต้อง เพราะว่ากิเลสนั้นละยาก และละเอียดจริงๆ

    ถ้าไม่แสดงอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งมีทั้งอย่างละเอียดจนกระทั่งอย่างที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ ก็ย่อมไม่รู้ว่า การละอกุศลธรรมแต่ละประเภทนั้น เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ

    อย่างโลภเจตสิก ซึ่งทุกคนรู้จักดี เพราะว่าเป็นสภาพที่ติดใจ ต้องการ พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ มีตั้งแต่เป็นอาสวะที่หมักดอง และไหลไปตามทวารต่างๆ ทั้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอกุศลธรรมจำพวกอาสวะ โอฆะ โยคะ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสังเกตได้ว่าการที่มีความต้องการ มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามปกติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดการติด การยึดมั่นที่เป็นอุปาทาน คือ กามุปาทาน ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่า ยากเหลือเกินที่จะละความยึดติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้

    ถ้าใครเข้าใจว่าละได้ง่ายๆ เพียงแต่ปล่อยวาง และคิดว่าไม่ได้พอใจในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ติด ไม่ข้อง เป็นผู้ที่ละวางแล้ว โดยที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็แสดงว่า ผู้นั้นไม่ได้รู้ลักษณะของความติดหรือ ความพอใจที่สะสมมานาน และมีอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งนอกจากจะเป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะแล้ว ยังเป็นอุปาทานด้วย

    ซึ่งในชีวิตประจำวันจะเห็นได้จริงๆ ว่า วันหนึ่งๆ คงจะมีเวลาเพื่อที่จะศึกษาธรรม อ่าน ฟัง พิจารณา หรือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง แต่เมื่อเทียบขณะที่สนใจธรรม อ่านธรรม พิจารณาธรรม ศึกษาธรรม สนทนาธรรม หรือขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ กับขณะอื่นๆ จะเห็นได้ว่า น้อยเหลือเกิน เพราะขณะที่กำลังสนทนาธรรม หรือกำลังคิดถึงเรื่องธรรม กำลังพิจารณาธรรม ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยาม เดี๋ยวเดียวจริงๆ เรื่องอื่นซึ่งเป็นเรื่องของรูป เรื่องของเสียง เรื่องของกลิ่น เรื่องของรส เรื่องของโผฏฐัพพะ เรื่องของความยินดีพอใจในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุขต่างๆ ก็เข้ามาทันที

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า โลภะละยากจริงๆ และความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะซึ่งเป็นกามุปาทาน ก็ทำให้เกิดความยึดมั่น พอใจ ต้องการที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาเพื่อตน เพราะฉะนั้น ก็มีความสำคัญในตน เมื่อมีความยินดีพอใจสะสมติดแน่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เกิดความยึดมั่นว่า เป็นตัวตน เป็นเราขึ้น

    เมื่อมีความยึดมั่นในตัวตนซึ่งเป็นอัตตวาทุปาทาน ก็พอใจที่จะให้ตัวตนนั้นมีความสุข ไม่มีใครต้องการให้ตัวตนนี้เดือดร้อนเป็นทุกข์เลย เพราะฉะนั้น ก็พยายามแสวงหาทางที่จะพ้นทุกข์ต่างๆ และถ้าไม่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมให้ละเอียดรอบคอบก็อาจจะทำให้คิดว่า มีวิธีอื่นที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้โดยไม่ต้องอบรมเจริญปัญญา คือ เป็นไปในเรื่องของการถือมงคลตื่นข่าวต่างๆ ด้วยอำนาจของความพอใจที่จะแสวงหาความสุขให้แก่ตนนั่นเอง ทำให้เกิดทิฏฐุปาทาน คือ การยึดมั่นในความเห็นผิดต่างๆ

    นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าเป็นผู้ไม่มีความยึดมั่นในความเห็นผิดอื่น เป็นผู้ฟัง พระธรรม มีความเข้าใจในพระธรรม ต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อดับกิเลส แต่ถ้าการศึกษา และการพิจารณาไม่ละเอียดรอบคอบ ก็เป็นเหตุทำให้เข้าใจข้อปฏิบัติคลาดเคลื่อน และปฏิบัติผิดจากเหตุ และผล เป็นสีลัพพตุปาทานได้ เช่น คิดว่า ถ้าไม่บริโภคเนื้อสัตว์จะทำให้ดับกิเลสได้ นี่เป็นความเข้าใจผิดที่ไม่ได้ศึกษาเหตุ และผลตามความเป็นจริงว่า ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่เจริญ ไม่มีอะไรที่จะดับกิเลสได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394



    หมายเลข 163
    27 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ