ชุด อกุศลธรรม ๙ กอง แผ่นที่ 1 ตอนที่ 4


    การเจริญปัญญา มีอวิชชานิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้นด้วย เพราะถ้าเป็นผู้ที่ ไม่รู้อะไรเลย จะอบรมเจริญปัญญาได้อย่างไร และไม่รู้ด้วยว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ยิ่งซ้ำซ้อนเข้าไปอีก เมื่อเป็นผู้ที่ไม่รู้ และไม่รู้ว่าไม่รู้ จึงเป็นนิวรณ์ที่กั้นการอบรมเจริญข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔

    ส่วนใหญ่จะมีผู้ที่ไม่รู้ และไม่รู้ว่าไม่รู้ ทำอะไรกันหลายอย่าง แต่ถ้าถามถึงเหตุผล หรือถามถึงปัญญาว่า ทำอย่างนั้นแล้วปัญญารู้อะไร ก็ตอบไม่ได้สัก อย่างเดียว ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ตรง ในขณะนั้นผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่รู้เลยว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้นั้นปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้น สำหรับการอบรมเจริญปัญญา แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา นิวรณธรรม ๕ เป็นธรรมที่ตรงกับข้ามกับองค์ของฌาน ๕

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๗ คือ อนุสัย ๗

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อนุสยสูตร ข้อ ๓๔๑ แสดงว่า อนุสัยมี ๗

    อนุสัย ๗ คือ กามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ มานะ ๑ ภวราคะ ๑ อวิชชา ๑

    อนุสัยเป็นกิเลสที่ละเอียด และเมื่อเกิดขึ้นก็นอนเนื่องอยู่ในจิต เพราะไม่ได้มีปัญญาที่จะดับกิเลสนั้น เพราะฉะนั้น กิเลสก็ยังคงนอนเนื่องอยู่ในจิตต่อๆ ไปได้

    สำหรับกามราคะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดขึ้นขณะใด ไม่สูญ นอนเนื่องอยู่ต่อไปอีก ฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะมากสักแค่ไหน ซึ่งผู้ที่จะดับกามราคานุสัยได้ คือ อนาคามิมรรคจิต

    ถ้าเป็นปุถุชน อย่าได้ทำวิธีอื่นที่จะละความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นอกจากเจริญปัญญาที่ถูกต้องจนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และเมื่อเป็นพระอนาคามี จึงจะดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้

    สำหรับปฏิฆานุสัย คือ ขณะใดที่โทสมูลจิตเกิด โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตก็เป็นปฏิฆานุสัย นอนเนื่องอยู่สืบต่อไปอีก ซึ่งจะดับได้ด้วยอนาคามิมรรค

    เพราะฉะนั้น คนที่รู้สึกว่าเวลาโกรธแล้วไม่มีความสุขเลย ไม่สบายใจด้วยประการต่างๆ ก็อยากที่จะไม่โกรธ และมักจะถามว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ ดูเสมือนว่า จะเทียบพระธรรมเท่ากับยาแก้ปวดศีรษะเม็ดหนึ่ง คือ คิดว่าจะมีวิธีอะไรที่จะทำให้หายปวดศีรษะได้ หายไม่สบายใจได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ปฏิฆะหรือความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความไม่สบายใจต่างๆ ผู้ที่จะดับได้ต้องเป็น พระอนาคามีบุคคล

    ถ้าเป็นผู้ที่รู้ความละเอียดของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะไม่มีการคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ เพราะว่าทำไม่ได้ นอกจากอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นพระอนาคามีบุคคล และอย่าคิดว่า จะมีพระธรรมข้อหนึ่งข้อใดซึ่งจะมีคุณค่าเปรียบได้เท่ากับยาเม็ดเดียว เพราะว่าพระธรรมสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ระงับชั่วคราวเหมือนกับยาทั้งหลาย และก็มีโรคภัยอื่นๆ เกิดต่อไปอีก

    สำหรับทิฏฐานุสัย ดับได้ด้วยโสตาปัตติมรรค วิจิกิจฉานุสัยดับได้ด้วย โสตาปัตติมรรค มานานุสัยดับได้ด้วยอรหัตตมรรค ภวราคานุสัยดับได้ด้วยอรหัตตมรรค อวิชชานุสัยดับได้ด้วยอรหัตตมรรค

    ผู้ฟัง คำว่า นอนเนื่อง ในเมื่อจิตเกิดดับอยู่ทุกขณะ อกุศลธรรมจะไปนอนเนื่องอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น โลภะ แสดงให้เห็นว่า ต้องมีโลภะในอดีตซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทเป็นปัจจัยทำให้โลภะในขณะนี้เกิดขึ้น และโลภะที่เกิดในขณะนี้แม้ ดับไปแล้วก็จริง แต่ปัญญายังไม่ได้ดับโลภะนั้น โลภะเป็นเพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้น และดับไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น โลภะนั้นก็เกิด และดับ และนอนเนื่อง คือ มีเชื้อที่จะเกิดต่อไปอีกได้

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๘ คือ สังโยชน์

    สังโยชน์เหมือนกับเชือกซึ่งผูกดึงให้กลับมาสู่ภพภูมินั้นๆ เช่น ถึงแม้ว่าจะสามารถระงับกิเลสได้ด้วยการอบรมเจริญสมถภาวนา ซึ่งยากมากกว่าที่จะบรรลุถึงฌานจิต และถ้าฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต ทำให้ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ เป็นรูปพรหมบุคคล แต่เมื่อยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นผู้ที่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอีก

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396

    นาที 06:59

    ธรรมสังคณีปกรณ์ สังโยชนโคจฉกะ ข้อ ๗๑๙ และ ข้อ ๙๑๙ แสดงสังโยชน์ ๑๐ คือ

    กามราคสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง

    ปฏิฆสังโยชน์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

    มานสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

    ทิฏฐิสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

    วิจิกิจฉาสังโยชน์ เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์

    สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

    ภวราคสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

    อิสสาสังโยชน์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

    มัจฉริยสังโยชน์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

    อวิชชาสังโยชน์ เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง

    นี่เป็นเพียงการทบทวน เพราะท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า โลภมูลจิตมีเจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ประเภทเพราะเหตุใด และโทสมูลจิตมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ประเภทเพราะเหตุใด เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงการทบทวนให้เห็นว่า ธรรมย่อมเป็นธรรม เปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมนั้นๆ ไม่ได้

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค แสดงสังโยชน์ ๑๐ โดยนัยต่างกับใน ธรรมสังคณีปกรณ์ คือ โอรัมภาคิยสูตร ข้อ ๓๔๙ แสดงสังโยชน์อันเป็นส่วน เบื้องต่ำ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑

    และ อุทธัมภาคิยสูตรที่ ๑ ข้อ ๓๕๑ แสดงสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ คือ รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑

    ส่วนใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สังโยชนสูตรที่ ๘ และปหานสูตร ที่ ๙ แสดงสังโยชน์ ๗ คือ ความยินดี ๑ ความยินร้าย ๑ ความเห็นผิด ๑ ความสงสัย ๑ มานะ ๑ ความยินดีในภพ ๑ อวิชชา ๑

    และใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มัจฉริยสูตรที่ ๑๐ แสดงสังโยชน์ ๗ คือ ความยินดี ๑ ความยินร้าย ๑ ความเห็นผิด ๑ ความสงสัย ๑ มานะ ๑ ความริษยา ๑ ความตระหนี่ ๑

    ไม่น่าสงสัย หรือน่าสงสัย ก็แล้วแต่จะแสดง ซึ่งก็คือสังโยชน์ จะแสดงโดยเป็นสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำก็ได้สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล และพระอนาคามีบุคคลละ แสดงโดยเป็นสังโยชน์เบื้องสูงก็ได้ คือ เป็นธรรมที่พระอรหันต์ละ

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๙ คือ กิเลส ๑๐

    ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ กิเลสโคจฉกะ ข้อ ๗๙๑ และ ๘๐๑ มีข้อความว่า

    ธรรมเป็นกิเลสเป็นไฉน

    กิเลสวัตถุ ๑๐ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ

    ธรรมที่เป็นกิเลสเป็นธรรมที่เศร้าหมอง แต่สภาพธรรมที่เป็นกิเลสต้องเกิดร่วมกับสภาพธรรมอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรมที่เป็นกิเลส ๑๐ เป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง ส่วนอกุศลธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยนั้น เศร้าหมองเพราะกิเลส เหมือนปลาร้ากับใบคา อะไรที่มีกลิ่นเหม็น และอะไรเหม็นเพราะกลิ่นนั้น เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมที่เป็นกิเลส ๑๐ เป็นธรรมที่เศร้าหมอง ส่วนอกุศลธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยนั้น เศร้าหมองเพราะกิเลสที่เกิดร่วมกัน

    ผู้ฟัง ทำไมถีนะเป็นกิเลส แต่มิทธะไม่เป็นกิเลส ทั้งๆ ที่เป็นนิวรณ์ก็คู่กัน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ากิเลสได้แก่สภาพธรรมที่เศร้าหมอง ตนเองเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง และทำให้สภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วยเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ถีนะเป็นกิเลส เป็นสภาพที่เศร้าหมอง ส่วนมิทธะเศร้าหมองเพราะกิเลสที่ตนเกิดร่วมด้วย

    ธรรมที่เศร้าหมองเป็นอารมณ์ของกิเลสได้ไหม

    ธรรมอะไรที่เศร้าหมองที่เป็นอารมณ์ของกิเลส ก็คือ อกุศลจิต สภาพธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเศร้าหมอง และเป็นอารมณ์ของสังกิเลส

    ธรรมที่ไม่เศร้าหมองแต่เป็นอารมณ์ของกิเลสได้ไหม ได้ คือ กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก กามาวจรกิริยา รูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยา และรูปทั้งหมด สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธรรมไม่เศร้าหมอง แต่เป็นอารมณ์ของสังกิเลส กิเลสพอใจในกิเลส และในสิ่งที่ไม่ใช่กิเลส

    อยากเป็นรูปพรหมไหม อยากเป็นเทวดาไหม อยากมีกุศลจิตไหม

    สำหรับการลำดับอกุศลธรรม ๙ จำพวก บางท่านก็ถามว่า อะไรเป็นจำพวก ที่ ๑ ที่ ๒ หรือว่าจำพวกที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่สงสัย สงสัยว่าอะไรเป็นจำพวกที่ ๕

    ซึ่งลำดับของการเทศนาไม่เป็นปัญหาเลย ไม่ว่าจะกล่าวถึงธรรมหมวดใด เพราะว่า ก็เป็นอกุศลธรรมแต่ละจำพวกๆ นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ในพระสูตรก็ดี ในพระอภิธรรมก็ดี การลำดับอกุศลธรรม ๙ กอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกครั้ง เช่น ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ถ้าจะกล่าว ถึงสูตรต่างๆ อาสวสูตร แสดงอาสวะ ๓ คือ กามาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ เป็นข้อ ๓๑๕ โอฆสูตร แสดงโอฆะ ๔ เป็นข้อ ๓๓๓

    ข้อ ๓๓๕ เป็น โยคสูตร แสดงโยคะ ๔

    ข้อ ๓๓๗ อุปาทานสูตร แสดงอุปทาน ๔

    ข้อ ๓๓๙ คันถสูตร แสดงคันถะ ๔

    ข้อ ๓๔๑ อนุสยสูตร แสดงอนุสัย ๗

    ข้อ ๓๔๕ นิวรณสูตร แสดงนิวรณ์ ๕

    ข้อ ๓๔๙ โอรัมภาคิยสูตร แสดงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕

    ข้อ ๓๕๑ อุทธัมภาคิยสูตร แสดงสังโยชน์เบื้องสูง ๕

    แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องลำดับเหมือนๆ กันกับที่อื่นๆ

    สำหรับใน ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ แสดงอาสวโคจฉกะก่อน คือ ๑. อาสวโคจฉกะ ๒. สังโยชนโคจฉกะ ๓. คันถโคจฉกะ ๔. โอฆโคจฉกะ ๕. โยคโคจฉกะ ๖. นิวรณโคจฉกะ ๗. อุปาทานโคจฉกะ ๘. กิเลสโคจฉกะ

    ธรรมสังคณีปกรณ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์แรกของพระอภิธรรมปิฎก ไม่มีอนุสัย แต่แสดงอนุสัยโดยละเอียดมากใน คัมภีร์ยมกปกรณ์ คือ อนุสยยมก

    เพราะฉะนั้น ประมวลได้ว่า อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จำแนกออกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงไว้ครบ เพราะว่าบางครั้งแสดงเพียง ๘ ก็มี เช่น ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มี อาสวสูตร โอฆสูตร โยคสูตร อุปาทานสูตร คันถสูตร อนุสยสูตร นิวรณสูตร โอรัมภาคิยสูตร อุทธัมภาคิยสูตร แต่ไม่มีเรื่องของกิเลส ๑๐

    สำหรับใน ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ มี อาสวโคจฉกะ สังโยชนโคจฉกะ คันถโคจฉกะ โอฆโคจฉกะ โยคโคจฉกะ นิวรณโคจฉกะ อุปาทานโคจฉกะ กิเลสโคจฉกะ ไม่มีอนุสัยใน ธรรมสังคณีปกรณ์ แต่มีใน ยมกปกรณ์

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397



    หมายเลข 163
    2 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ