อกุศลธรรม ๙ กอง แผ่นที่ 2 ตอนที่ 5
สำหรับใน ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ มี อาสวโคจฉกะ สังโยชนโคจฉกะ คันถโคจฉกะ โอฆโคจฉกะ โยคโคจฉกะ นิวรณโคจฉกะ อุปาทานโคจฉกะ กิเลสโคจฉกะ ไม่มีอนุสัยใน ธรรมสังคณีปกรณ์ แต่มีใน ยมกปกรณ์
ท่านผู้ฟังอาจจะสอบทานเรื่องของอกุศลเจตสิกกับอกุศลจิตด้วยตัวของท่านเองว่า เจตสิกดวงนี้จะเกิดกับอกุศลจิตดวงไหนได้บ้าง เช่น กามาสวะ ได้แก่ โลภเจตสิก เกิดกับจิตกี่ดวง ทบทวนซ้ำที่ได้กล่าวถึงแล้ว
กามาสวะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดกับโลภมูลจิตกี่ดวง เว้นดวงไหนบ้างหรือเปล่า ขณะที่มีความเห็นผิด พอใจในรูปที่เห็นผิด ในเสียง ในกลิ่น ในรสได้ไหม เพราะฉะนั้น โลภเจตสิกที่เป็นกามาสวะเกิดกับโลภมูลจิตได้ทั้ง ๘ ดวง
ภวาสวะ ได้แก่ โลภมูลจิตที่พอใจในภพ ในขันธ์ ไม่ใช่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เป็นความยินดีพอใจในขันธ์ ในภพ เพราะฉะนั้น ภวาสวะ คือ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ขณะที่ไม่ได้เป็นไปกับความเห็นผิดใดๆ เลย ขณะนั้นยังมีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีความเห็นผิด ใดๆ ที่จะเกิดกับพระโสดาบันบุคคล แต่พระโสดาบันบุคคลยังมีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลยังมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง
ทิฏฐาสวะ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง
อวิชชาสวะ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง
อกุศลธรรมจำพวกต่อไป คือ สังโยชน์ ๑๐
กามราคสังโยชน์ ได้แก่ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้ายังไม่ได้ดับหมดไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหนๆ ทั้งสิ้น ก็ต้องย้อนกลับมาสู่ความยินดีพอใจในกามภูมิ คือ ต้องเกิดในกามภูมิด้วยความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง
ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง
ทิฏฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง
วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง
สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ถ้าเป็นความเห็นผิด ไม่ว่าจะในข้อปฏิบัติหรือในเรื่องความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ต้องได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวงเท่านั้น
ภวราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวงเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด
อิสสาสังโยชน์ ได้แก่ อิสสาเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
มัจฉริยสังโยชน์ ได้แก่ มัจฉริยเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง
สำหรับคันถะ ๔ ได้แก่
อภิชฌากายคันถะ ความยินดีพอใจในกาม และในภพ
พยาปาทกายคันถะ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจต่างๆ
สีลัพพตปรามาสกายคันถะ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด
อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ความเห็นผิดอื่นทั้งหมด เว้นสีลัพพตปรามาส
เพราะฉะนั้น อภิชฌากายคันธะ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง เพราะว่าไม่ได้แยกเป็นกามกับภพ ถ้าไม่แยกเป็นกามกับภพ ต้องเกิดกับ โลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง
พยาปาทกายคันถะ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง
ถ้าเป็นทิฏฐิ จะเกิดกับจิตอื่นไม่ได้เลย นอกจากโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวงเท่านั้นเท่านั้น
นิวรณ์ ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง
นิวรณ์ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาปาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจนิวรณ์ ๑ กุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ อวิชชานิวรณ์ ๑
กามฉันทนิวรณ์ เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง
พยาปาทนิวรณ์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
ถีนมิทธนิวรณ์ เกิดกับอกุศลจิต ๕ ดวง
อุทธัจจนิวรณ์ เกิดกับโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์
กุกกุจจนิวรณ์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
วิจิกิจฉานิวรณ์ เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์
อวิชชานิวรณ์ เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง
อุปาทาน ๔ ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑
กามุปาทาน ต้องเกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง
ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เกิดในโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง
สำหรับกิเลส ๑๐
โลภกิเลสเกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสกิเลสเกิดในโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหกิเลสเกิดในอกุศลจิตทุกดวง มานเจตสิกเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ทิฏฐิกิเลสเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง วิจิกิจฉากิเลสเกิดในโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง ถีนกิเลสเกิดในอกุศลสสังขาริก อุทธัจจเจตสิกเกิดใน อกุศลจิตทุกดวง สำหรับกิเลส อุทธัจจเจตสิกเกิดในอกุศลจิตทุกดวง อหิริกเจตสิก เกิดในอกุศลจิตทุกดวง อโนตตัปปเจตสิกเกิดในอกุศลจิตทุกดวง
ยมกปกรณ์ อนุสยยมก อนุสยวาระ มีข้อความแสดงว่า อนุสัย ๗ นอนเนื่องอยู่ในสภาพธรรมใดบ้าง คือ
กามราคานุสัย ย่อมนอนเนื่องในเวทนา ๒ ในกามธาตุ
โลภมูลจิตมีเวทนา ๒ คือ โสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา
ปฏิฆานุสัย ย่อมนอนเนื่องในทุกขเวทนา
มานานุสัย ย่อมนอนเนื่องในเวทนา ๒ ในกามธาตุ ในรูปธาตุ ในอรูปธาตุ
ทิฏฐานุสัย ย่อมนอนเนื่องในธรรมที่นับเนื่องในกายของตนทั้งหมด
วิจิกิจฉานุสัย ย่อมนอนเนื่องในธรรมที่นับเนื่องในกายของตนทั้งหมด
ภวราคานุสัย ย่อมนอนเนื่องในรูปธาตุ ในอรูปธาตุ
อวิชชานุสัย ย่อมนอนเนื่องในธรรมที่นับเนื่องในกายของตนทั้งหมด
ที่แสดงอย่างนี้ คือ ตามขั้นของบุคคล ซึ่งเป็นปุถุชน และพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
นาที 11:09
ขอกล่าวทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้ฟังชินกับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกเป็นอกุศลธรรม ๙ กองว่า อกุศลเจตสิกประเภทใดเป็นอกุศลธรรมจำพวกไหน จะได้เห็นสภาพธรรมของตัวท่านเองตามความเป็นจริง
สำหรับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง โลภเจตสิก ๑ ดวง เป็นอกุศลธรรมทั้ง ๙ จำพวกฉะนั้น ควรจะระลึกว่า ความพอใจ ความติดใจ ความต้องการ ความยินดี ความเพลิดเพลินในอารมณ์ เป็นอกุศลธรรมล้วน และดับยาก เพราะถ้าจะดับโลภะจนกระทั่งหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย ต้องเป็นปัญญาขั้นอรหัตตมรรคจึงละได้
เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องละโลภมูลจิต ซึ่งในชีวิตประจำวันไม่ขาดโลภะเลย เพราะว่าโลภเจตสิกเป็นอาสวะ ๒ อย่าง คือ กามาสวะ และภวาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นกามาสวะ ความพอใจในภพ ในขันธ์ เป็นภวาสวะ
ที่มา ...