อกุศลธรรม ๙ กอง แผ่นที่ 2 ตอนที่ 6
เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องละโลภมูลจิต ซึ่งในชีวิตประจำวันไม่ขาดโลภะเลย เพราะว่าโลภเจตสิกเป็นอาสวะ ๒ อย่าง คือ กามาสวะ และภวาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นกามาสวะ ความพอใจในภพ ในขันธ์ เป็นภวาสวะ
เมื่อเป็นอาสวะก็เป็นโอฆะด้วย คือ กามโอฆะ และภวโอฆะ เป็นโยคะด้วย คือ กามโยคะ และภวโยคะ นอกจากนั้นยังทำให้ยึดมั่น ติด เป็นอุปาทาน คือ กามุปาทาน เป็นคันถะด้วย คือ อภิชฌากายคันถะ เป็นนิวรณ์ คือ กามฉันทนิวรณ์ เป็นอนุสัย ๒ คือ กามราคานุสัย และภวราคานุสัย เป็นสังโยชน์ ๒ คือ กามราคสังโยชน์ และภวราคสังโยชน์ และเป็นกิเลส คือ โลภกิเลส
เจตสิกที่เป็นอกุศลธรรมได้ ๘ จำพวก คือ ทิฏฐิเจตสิก เป็นอาสวะ คือ ทิฏฐาสวะ เป็นโอฆะ คือ ทิฏฐิโอฆะ เป็นโยคะ คือ ทิฏฐิโยคะ เป็นอุปาทาน ๓ คือ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เป็นคันถะ ๒ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และอิทังสัจจาภิเวสกายคันถะ เป็นอนุสัย คือ ทิฏฐานุสัย เป็นสังโยชน์ ๒ คือ ทิฏฐิสังโยชน์ และสีลัพพตปรามาสสังโยชน์ เป็นกิเลส คือ ทิฏฐิกิเลส
ถ้าจำอกุศลธรรม ๙ จำพวก ได้ยินชื่อของเจตสิกเหล่านี้จะรู้ได้ทันที เช่น ถ้าจำอาสวะได้ ก็รู้ว่าทิฏฐิเป็นอาสวะ คือ ทิฏฐาสวะ เมื่อเป็นทิฏฐาสวะก็ต้องเป็น ทิฏฐิโอฆะ เป็นทิฏฐิโยคะ สำหรับอุปาทาน ทิฏฐิเป็นอุปาทานถึง ๓ อย่าง คือ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน
เรื่องของความเห็นผิดเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก โดยเฉพาะเมื่อเห็นลักษณะของทิฏฐิเจตสิกที่เป็นอกุศลธรรม ๘ จำพวก และเป็นสภาพธรรมที่พระโสดาบันบุคคลดับด้วยโสตาปัตติมรรคจิต
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล จะต้องมีทิฏฐาสวะ ทิฏฐิโอฆะ ทิฏฐิโยคะ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน สีลัพพตปรามาสกายคันถะ หรืออิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ มีทิฏฐานุสัย ทิฏฐิสังโยชน์ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ และมีทิฏฐิกิเลส ฉะนั้น กว่าจะดับได้ ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมอย่างละเอียดให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพของธรรมด้วย
ขอกล่าวถึงข้อควรพิจารณา บางท่านไม่ได้ฟังพระธรรมจากผู้ที่ตนเลื่อมใส แต่ยังเลื่อมใสในบุคคลนั้นโดยที่ไม่ได้ฟังพระธรรมใดๆ จากบุคคลนั้นเลย เช่น เลื่อมใสในความเป็นผู้อยู่ง่ายกินง่ายของบุคคลนั้น แม้ว่าบุคคลนั้นจะใช้คำพูดที่เป็นคำหยาบคาย ก็เข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่มีทิฏฐิมานะมาก สมควรที่ผู้ที่ตนเลื่อมใสนั้นจะใช้คำหยาบคาย เป็นการทรมานทิฏฐิกิเลสของตน
นี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าธรรมเป็นของจริง เป็นสัจธรรม ไม่ต้องใช้คำหยาบคายใดๆ ก็สามารถทำให้ผู้ฟังน้อมพิจารณาสภาพธรรมนั้น เกิดความเข้าใจถูก และเห็นจริงถูกต้องตามลักษณะของธรรมนั้นๆ ได้
ขอกล่าวถึงข้อความใน คัมภีร์สุโพธาลังการ ซึ่งรจนาโดยท่านพระ สังฆรักขิตมหาสามิ ซึ่งมีทั้งหมด ๕ ปริจเฉท
ในปริเฉทที่ ๔ ข้อ ๒๘๖ มีข้อความว่า
ข้าแต่พระจอมมุนี พระดำรัสของพระองค์ แข็งก็หามิได้ กระด้างหรือเล่า ก็หามิได้ แม้เช่นนั้นก็ขุดได้อย่างหนักหน่วงซึ่งความเบาของกลุ่มชนจนหมดรากเหง้า
ความเบา คือ ความเขลาของบุคคล โดยที่ไม่ต้องใช้คำหยาบคายใดๆ เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเลื่อมใสในบุคคลใด ควรพิจารณาว่า ก่อนที่จะเลื่อมใส ได้ฟัง พระธรรมจากบุคคลนั้นแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ฟังเลย ก็ชื่อว่ายังไม่ได้เลื่อมใสใน พระธรรมจริงๆ เพียงแต่มีความเลื่อมใสในชีวิตความเป็นอยู่ของบางบุคคลเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นเข้าใจพระธรรมถูกต้อง ถ้ายังไม่ได้แสดงพระธรรม โดยถูกต้อง
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
นาที 06:34
สำหรับการดับกิเลสตามข้อความในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๑๒ มีว่า
คำว่า อาสวา ความว่า อาสวะเหล่านั้นเป็นไฉน
อาสวะเหล่านั้น คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไป ณ ที่ไหน ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคนี้
กามาสวะส่วนหยาบ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้นย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งสกทาคามิมรรคนี้
กามาสวะทั้งสิ้น ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอนาคามิมรรคนี้
ภวาสวะ อวิชชาสวะทั้งสิ้น ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคนี้ ฯ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อกล่าวถึงการดับไปของกุกกุจจะของพระโสดาบันใน อัฏฐสาลินี ย่อมหมายถึงกุกกุจจะส่วนที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ เพราะว่าข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น (คือ ทุกประเภท) กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วย โสดาปัตติมรรค
โสตาปัตติมรรคจิตดับทิฏฐาสวะทั้งสิ้น ไม่เหลือเลย และดับกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ได้ดับกามาสวะ ภวาสวะ หรืออวิชชาสวะเลย แต่นอกจากจะดับทิฏฐาสวะทั้งสิ้นแล้ว ยังดับกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายด้วย
สำหรับสกทาคามิมรรค กามาสวะส่วนหยาบ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค
แสดงว่าพระสกทาคามีบุคคล ดับกามาสวะส่วนหยาบ และดับภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้นด้วย
สำหรับพระอนาคามีบุคคล ดับกามาสวะทั้งสิ้น ไม่เกิดอีกเลย ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับ กามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค
และอีก ๒ อาสวะ คือ ภวาสวะ และอวิชชาสวะทั้งสิ้น ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคนี้
แสดงให้เห็นถึงกิเลสทั้งหลายซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำ ย่อมดับไปพร้อมกับมรรคจิต ตามควรแก่ฐานะของอกุศลนั้นๆ
โดยนัยของอกุศลธรรม ๙ กอง กุกกุจจะเป็นอกุศลธรรมประเภทนิวรณ์ ประเภทเดียว ไม่เป็นอาสวะ ไม่เป็นโอฆะ ไม่เป็นโยคะ ไม่เป็นอุปาทาน ไม่เป็น กายคันถะ ไม่เป็นอนุสัย ไม่เป็นสังโยชน์ และไม่เป็นกิเลส ๑๐
และที่จะพิจารณาลักษณะของกุกกุจจะในชีวิตประจำวัน ผู้ที่ยังมีกุกกุจจะอยู่ ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๓๘๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคุณธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีเรื่องลักษณะของ กุกกุจจะ ข้อความมีว่า
ชื่อว่าความรำคาญ ในคำว่า ผู้ไม่มีความรำคาญ
พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่โอ้อวด และไม่มีความรำคาญ เพราะฉะนั้น ข้อความตอนนี้แสดงลักษณะของผู้ไม่มีความรำคาญ
ชื่อว่าความรำคาญ ในคำว่า ผู้ไม่มีความรำคาญ ได้แก่ ความรำคาญมือบ้าง ความรำคาญเท้าบ้าง ความรำคาญทั้งมือ และเท้าบ้าง ความสำคัญในสิ่งไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งควรว่าไม่ควร ความสำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ ความสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ความรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความเป็นผู้รำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความรำคาญ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
นาที 12:26
ผู้ฟัง มรรคจิตที่ละกุกกุจจเจตสิก ทำไมจึงแสดงไว้ต่างกันในอัฏฐสาลินีกับ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งซึ่งจะต้องศึกษาโดยละเอียด เพราะถ้าอ่านเพียงคัมภีร์เดียว ก็จะเห็นว่า อัฏฐสาลินี แสดงว่าอย่างนั้น และถ้าต่อไปได้พบข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ก็จะเห็นว่าเป็นข้อความที่ต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นข้อความใดๆ ที่ปรากฏในอรรถกถา ควรจะย้อนกลับไปสู่พระบาลี คือ พระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๑๒ ซึ่งแสดงไว้โดยกว้าง เพื่อให้วินิจฉัยว่า พระโสดาบันละธรรมใดบ้าง เพราะว่าอกุศลธรรมบางจำพวกแสดงไว้ตรง แต่บางจำพวกไม่ได้แสดงไว้ตรง
อย่างเช่น ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น ก็แสดงไว้ชัดว่าพระโสดาบันบุคคลดับทิฏฐิเจตสิก แต่กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะอันเป็นเหตุให้ไปสู่อบาย ดับได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ก็แสดงว่าอกุศลธรรมมีหลายขั้น และมีความละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ส่วนใดซึ่งเป็นส่วนที่พระโสดาบันดับได้พร้อมกับทิฏฐิ ส่วนนั้นก็ดับไม่เกิดอีก แต่ส่วนใดที่ยังดับไม่ได้ ก็ย่อมเกิดอีกได้ เพราะถ้าคิดถึงความรำคาญหรือว่าลักษณะที่รำคาญ อย่างข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๓๘๗ ที่แสดงว่า แม้แต่ความรำคาญมือบ้าง ความรำคาญเท้าบ้าง ก็เป็นลักษณะที่รำคาญ อาการ ที่รำคาญ ซึ่งความรำคาญอย่างนั้นไม่ได้ทำให้ไปสู่อบายภูมิ แต่ถ้าเป็นความรำคาญที่เกิดร่วมกับอกุศลที่มีกำลัง ย่อมสามารถทำให้ไปสู่อบายภูมิได้ พระโสดาบันก็ดับได้
ถ้าจะให้ข้อความใน อัฏฐสาลินี สอดคล้องกับข้อความใน สัมโมหวิโนทนี จะต้องอาศัยพระไตรปิฎกเทียบเคียง
ผู้ฟัง คำว่า ดับส่วนหยาบได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ส่วนซึ่งจะไปสู่อบายภูมิ
ผู้ฟัง ในกรณีที่กุกกุจจเจตสิกดับไปแล้ว ต้องดับไปพร้อมกับโทสมูลจิต ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกับโลภมูลจิตของพระอนาคามีบุคคลที่ยังมีโลภมูลจิต ทิฏฐิวิปปยุตต์ ซึ่งเป็นไปในความยินดีในขันธ์ในภพที่ยังไม่ดับ แสดงให้เห็นว่า โลภมูลจิต โดยประเภทมี ๘ ดวงจริง แยกเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง พระโสดาบันดับแล้ว
ที่มา ...