อกุศลธรรม ๙ กอง แผ่นที่ 2 ตอนที่ 10
เรื่องของสัจจธรรมเป็นความจริงที่น่ารู้ น่าเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมเป็นสัจจธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นอกุศลหรือเป็นกุศล ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องพิจารณาจนประจักษ์แจ้งว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ้าทุกท่านเพียงแต่จะคิดถึงเรื่องกุศลธรรม และไม่รู้อกุศลธรรมที่มีปัจจัย ปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ย่อมไม่ชื่อว่ารู้ธรรมทั่ว เพราะในวันหนึ่งๆ นั้น กุศลธรรม หรืออกุศลธรรมมีมากกว่า ที่จะสามารถรู้ได้บ่อยๆ ในวันหนึ่งๆ โดยเฉพาะเรื่องของโลภะ เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะรู้ความจริงว่า แต่ละบุคคลมีมากจริงๆ และไม่ควรประมาทโลภะเลย เพราะว่าโลภะเป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่ติดข้องในอารมณ์ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และไม่ว่าจะจำแนก อกุศลธรรมเป็นประเภทใดๆ โลภะก็รวมอยู่ในอกุศลธรรมประเภทนั้นๆ ทั้งหมด ไม่ขาดเลย ไม่ว่าจะโดยประเภทที่เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ อุปาทาน คันถะ นิวรณ์ สังโยชน์ กิเลส อนุสัย วิปลาส ซึ่งแม้อวิชชาก็ยังไม่รวมอยู่ในทุกหมวดเช่นโลภะ เช่น อวิชชาไม่เป็นอุปาทาน และไม่เป็นคันถะ
เพราะฉะนั้น โลภะมีมาก แต่ทำไมไม่เห็นโลภะ วันนี้โลภะมากมายจริงๆ แต่มีขณะไหนที่เห็นโลภะบ้าง ได้แต่เรียกชื่อของโลภะ เรียกชื่อของโลภะนี่เรียกได้ แต่ตัวโลภะจริงๆ ซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำทุกวันยากที่จะเห็นได้ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตาที่เห็น เพราะเมื่อเห็นแล้วโลภะก็เกิดต่อ ทางหู ที่ได้ยินนั่นเอง เมื่อได้ยินแล้วโลภะก็เกิดต่อ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน
ชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก และโลภะซึ่งเกิดต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ในวันหนึ่งๆ นี่มากมาย และไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ตั้งกี่ชาติมาแล้ว ในสังสารวัฏฏ์ แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่น ความยากที่จะขัดเกลา ทั้งๆ ที่รู้ว่าโลภะเป็นอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดสังสารวัฏฏ์
ในอดีตชาติไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า โลภะของใครมาก และรุนแรงแค่ไหน ชาตินี้พอจะรู้ได้ พอจะจำได้ พอจะนึกถึงได้ แต่ชาติก่อนไม่มีทางรู้ได้เลย แต่จะเห็นได้ว่า แม้ในอดีตอนันตชาติซึ่งแต่ละท่านก็มีโลภะสะสมมาแล้วมากนั้น ก็มีผู้ที่อบรมเจริญกุศล สะสมกุศลซึ่งเป็นพละ สามารถละอกุศลได้ในที่สุด
ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระองค์ทรงพิจารณาเห็นอกุศลตามความเป็นจริงว่ามีมาก และการพากเพียรที่จะออกจากความติดข้องในกาม คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นยากเพียงไร
นี่เป็นเรื่องในอดีต ซึ่งการที่จะละโลภะนั้นยากเสมอ ไม่ว่าจะในชาติไหนก็ตาม
อรรถกถา สัตตกนิบาตชาดก อรรถกถา สุสีมชาดกที่ ๖
พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาขณะจิตที่พยายามออกจากความติดข้องในกาม คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งข้อความที่พระองค์ทรงพิจารณามีว่า
บุรุษผู้ป่วยไม่สามารถพลิกตัวได้ด้วยกำลังของตนเอง ผู้พยาบาลต้องผูกเชือกสำหรับเหนี่ยวไว้ โดยบอกว่า จงเหนี่ยวเชือกนี้พลิกตัว เมื่อเขาเหนี่ยวเชือกนั้นพลิกตัว ก็คงมีความสุขกาย และความสุขใจหาน้อยไม่ ฉันใด เมื่อสัตว์ทั้งหลายผู้เร่าร้อน เพราะกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่สามารถจะพลิกใจได้ ด้วยสามารถแห่งความสุข เกิดแต่วิเวก
แน่นอนที่สุดทุกคนก็ต้องยอมรับว่า ถ้าไม่มีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแล้ว จะสงบจริงๆ เป็นความสุขที่เกิดแต่วิเวก สงัดจากความ ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ทำอย่างไรจึงจะพลิกใจจากความติดข้องไปสู่การละความติดข้องได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยหลายทางที่จะสะสมกุศลเป็นบารมี จนกว่าจะสามารถละได้จริงๆ
ความคิดเกิดแก่พระโพธิสัตว์ในพระชาติในอดีตกาล
เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นบุตรของปุโรหิต ท่านมีนามว่า สุสีมกุมาร ส่วนพระโอรสของพระเจ้าพาราณสี มีพระนามว่า พรหมทัตกุมาร กุมารทั้ง ๒ เติบโตมาด้วยกัน และเรียนศิลปะทุกอย่างที่เมืองตักกสิลา เมื่อสำเร็จกลับมาแล้วพรหมทัตกุมารทรงเป็นพระอุปราช และเมื่อสิ้นรัชกาลของบิดาแล้วก็ได้ครองราชย์ และทรงตั้งสุสีมกุมารเป็นปุโรหิต
วันหนึ่งพระราชาประทับนั่งบนคอช้างต้น แล้วให้พระโพธิสัตว์นั่งบนหลังช้าง ณ ที่นั่งด้านหลัง ทรงทำประทักษิณพระนคร
สมเด็จพระราชชนนีประทับยืนมองดูที่ช่องพระแกล ทอดพระเนตรเห็นปุโรหิตนั่งเบื้องหลังพระราชา ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์ ไม่ยอมเสวย พระราชาทรงทราบ จึงเสด็จไปตรัสถาม แต่พระราชชนนีไม่ตรัสบอกเพราะทรงละอาย พระราชาจึงรับสั่งให้พระมเหสีไปทูลถาม พระราชชนนีจึงตรัสบอก
พระราชาจึงทรงรบเร้าให้ปุโรหิตรับเป็นพระราชา และทรงตั้งพระราชชนนีให้เป็นมเหสี ส่วนพระองค์ทรงเป็นอุปราช
นี่เป็นเรื่องของโลภะในอดีตชาติ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรมาอย่างไรจึงเป็นได้อย่างนี้ ก็ต้องตามการสะสมของแต่ละบุคคล
ในกาลต่อมา พระโพธิสัตว์ทรงระอาพระทัยในการครองเรือน แม้พระมเหสี จะทูลประการใด และได้ทำอุบายต่างๆ ที่จะให้พระองค์เสวยราชสมบัติ แต่ พระโพธิสัตว์ก็ทรงแสดงธรรม ชี้ให้เห็นคุณ และโทษในกามทั้งหลาย และทรงมอบ ราชสมบัติคืนให้แก่อุปราช แล้วบวชเป็นฤๅษี ยังฌาน และอภิญญาให้เกิดขึ้น ได้เป็น ผู้เข้าถึงพรหมโลก
พระอัครมเหสีในครั้งนั้น ได้แก่ มารดาพระราหุลในบัดนี้ พระราชาผู้เป็น พระสหาย ได้แก่ ท่านพระอานนท์ ส่วนพระเจ้าสุสีมะ ได้แก่ เราตถาคต
ข้อความตอนท้ายของชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอดีตอนันตชาติ ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า กำลังของโลภะแต่ละชาติจะเกิดขึ้นในลักษณะใด
เพราะฉะนั้น การออกจากกามเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก ถ้าจะสละเพศคฤหัสถ์ออกสู่เพศบรรพชิต ยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะต้องเป็นผู้ที่มุ่งตรงต่อพระวินัยบัญญัติ จึงจะสามารถดำรงเพศบรรพชิตได้ แต่แม้กระนั้นการที่จะออกจากกาม ความติดข้องยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ ต้องเป็นการออกด้วยการอบรม เจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ เห็น ได้ยิน ความริษยา มานะ ความสำคัญตน ทุกอย่างล้วนเป็นสภาพธรรมที่ทุกท่านกล่าวถึง โดยจิตบ้าง โดยเจตสิกบ้าง โดยปัจจัยต่างๆ บ้าง โดยการเกิดเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันชั่วขณะหนึ่งบ้าง แต่ตามความเป็นจริง ลึกไปกว่านั้น ปัญญาจะต้องสามารถประจักษ์แจ้ง ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนี้จริงๆ
นี่คือจุดประสงค์ที่ทุกคนจะต้องฟังพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะ ขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางเลย ไม่ว่าจะเป็นเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก่อนอื่นต้องละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในขณะที่ มีชีวิตเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยในแต่ละชาติ
แต่เรื่องในชาดกทั้งหมด ก็เป็นความจริงในยุคนี้สมัยนี้ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อ คือ ชื่อในชาดกนั้นเป็นอย่างหนึ่ง แต่ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูปนั่นเอง และชื่อในปัจจุบัน ชีวิตจริงๆ ของทุกท่านในขณะนี้ก็คือ จิต เจตสิก รูป ก็เป็นเพียงชื่อเท่านั้นที่เปลี่ยนจากชาดกมาเป็นแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ให้ทราบว่า โลภะก็เป็นโลภะ โทสะ ก็เป็นโทสะ อกุศลก็เป็นอกุศล กุศลก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น จากเรื่องชีวิตของแต่ละบุคคลในครั้งอดีต ย่อมเตือนให้ทุกท่านระลึกถึงสภาพจิตของท่านได้ และขัดเกลายิ่งขึ้น
ที่มา ...