พูดตามได้ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง ที่จริงปัญหาที่น้องๆ มีอยู่ ที่ยังไม่เข้าใจ พี่ก็เป็นเอามาก เป็นหลายปี หลายสิบปี แต่ก็พยายามฟังมาเรื่อยๆ จนกระทั่งไประยองมาเมื่อคราวที่แล้ว ได้เรียนถามท่านอาจารย์เหมือนอย่างนี้เลย ในที่สุดก็ลืมที่ท่านอาจารย์ย้ำอยู่เสมอ ว่าขณะที่เรากำลังฟังอยู่ เราฟังเรื่องเล่าของสภาพธรรม เรายังไม่ได้รู้จักตัวจริงของธรรม ลักษณะของเขาทุกอย่างที่เราพูดตาม เราพูดตามได้ แต่เรายังไม่ได้เข้าใจ เราไม่ได้รู้ถึงลักษณะตรงนั้นเลย
เพราะฉะนั้นเราก็จะถาม เหมือนกับว่าเรารู้แล้ว เพราะเราอ่านหนังสือ เราจำมา จิตมีอย่างนี้ๆ แต่จริงๆ ลักษณะของเขา เราไม่เคยรู้ เราจะมองข้ามไปอยู่เสมอ เราจะลืมอยู่เสมอด้วยอวิชชา ไปที่ระยองก็ยังถามท่านอาจารย์ ทำไมเราถามคำถามเดิมๆ เหมือนกับเราเข้าใจ แต่เราไม่เข้าใจ แล้วก็เพิ่งจะมาเข้าใจจริงๆ ว่า เราเรียนเพียงแค่เรื่องราวที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง ท่านเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมแล้ว แต่เรายังเพิ่งฟัง เป็นผู้ที่ฟัง และท่านอาจารย์ก็เตือนเสมอว่า ฟังในสิ่งที่ฟังให้เข้าใจจริงๆ
อ.กุลวิไล เชิญคุณวิชัย
อ.วิชัย ก็ต้องรู้จุดประสงค์การฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง ให้ละเอียดมากขึ้น เพราะเหตุว่าขณะที่เราฟัง ท่านอาจารย์ที่กล่าวถึง สิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยคำต่างๆ เช่นจิตเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จิตได้ยินต่างๆ เหล่านี้ ขณะนั้นก็เริ่มที่จะพิจารณา เห็นถึงความต่าง กับของเราเรียนชื่อ กับขณะที่เริ่มเข้าใจ ถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ถ้าเราพิจารณาละเอียด แล้วจะทราบเลยว่า ความเข้าใจ การจำเพียงคำเรื่องของจิต รูปต่างๆ กับเริ่มเข้าใจถึง สิ่งที่กำลังมีจริงๆ จะมีความแตกต่างกัน
เพราะเหตุว่าความเข้าใจ ถึงสิ่งที่มีจริง ต้องมีเหตุปัจจัยให้เริ่มที่ฟัง แล้วก็เข้าใจ ในขณะที่ฟัง แล้วก็ดับไป แล้วก็หลงลืมต่อ จนมีเหตุปัจจัยที่จะให้ฟังอีก พิจารณาอีก เริ่มเข้าใจอีก บ่อยๆ เนืองๆ ดังนั้นการฟังถึงสิ่งที่มีจริงๆ กล่าวถึงการที่จะใช้คำต่างๆ อาจจะกล่าวถึงความละเอียดของจิตประเภทต่างๆ ว่าจิตเห็น จิตได้ยิน เจตสิกคือนามธรรมที่ประกอบกับจิต ในลักษณะต่างๆ เพื่อเข้าใจถึง สิ่งที่กำลังมีจริงๆ อย่างเช่น ความรู้สึก ความจำ ขณะที่ฟัง เริ่มมีเหตุปัจจัยที่จะให้น้อมไป ที่จะเข้าใจถึงลักษณะที่กำลังกล่าวถึงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ หรือว่ารูปธรรมที่กำลังปรากฏ โดยความที่เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ที่กำลังปรากฏ
ขณะที่ฟังก็จะเห็นถึงการน้อมไป ที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ อาจจะเรื่องรูปมีเท่าไร จิตมีเท่าไร นั่นก็เพียงแค่จำในชื่อ เรื่องราวต่างๆ ของสภาพธรรม ก็จะมีความแตกต่างกัน กับขณะที่ฟังเริ่มมีความเข้าใจถูกว่า เพื่อเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในการฟังทั้งหมด เพราะเหตุว่าถ้าเราศึกษาเป็นคำต่างๆ ก็เป็นแต่เพียงความคิด ที่คิดถึง ในสิ่งที่เคยทรงจำไว้ โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นจิตที่กำลังคิด ดังนั้นความเข้าใจก็จะมีสติเกิด ที่จะระลึกได้ว่า ฟังแล้วก็เข้าใจในสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น เพื่อเข้าใจในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้
ผู้ฟัง การที่กล่าวว่า ธรรมมีอยู่จริง ฟังให้เข้าใจว่า กำลังพูดถึงเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา อย่างปัญญา คนที่จะน้อมเข้าไปเข้าใจ เช่นว่าที่ให้เข้าใจถึงตัวลักษณะ ถ้าเริ่มฟังเลยอย่างที่คุณแอ๊วพูด เหมือนกับว่า ๑๐ กว่าปีที่ผ่านไป ก็ไปติดชื่อ ติดเรื่อง ซึ่งตรงนี้ดูเหมือน ถ้าในแสดงความเห็นตรงนี้ รวมถึงตัวดิฉันเองด้วย ทั้งๆ ที่น่าจะย้ำนะว่า ฟังสิ่งที่มีขณะนี้ให้เข้าใจ มีลักษณะให้รู้ขณะนี้ แต่อย่างกรณีเหมือนกับเรียนปรมัตถธรรมสังเขป ก็จะมีรายละเอียดที่เป็นอะไรมากมาย นึกว่า คุณลุงนิภัทรก็กล่าวว่า ต้องอ่านเป็นร้อยเที่ยว ถึงจะสามารถเข้าใจ แล้วก็ต้องศึกษาชื่อ และเรื่องราวของเขาบ่อยๆ เนืองๆ มากๆ ถึงจะสามารถน้อมที่จะมาสู่ ลักษณะของความจริงที่ปรากฏได้ เหมือนปัญญาที่อวิชชากับโลภะที่หนาแน่น ไม่ใช่ฟังแล้วจะรู้ได้เลย เหมือนกับว่าต้องฟังเยอะมากเลย ฟังชื่อ ฟังเรื่องเยอะมากๆ
ท่านอาจารย์ เจตสิกมีทั้งหมดเท่าไร
ผู้ฟัง ๕๒
ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ถ้าให้ไล่ ตอบได้นะคะ
ท่านอาจารย์ เชิญเลย
ผู้ฟัง แต่ว่ายังไม่รู้ลักษณะ สัพพจิตตสาธารณะ ๗ คิดว่าพอจะค่อยๆ ไล่ได้ แต่ว่าก็ยังไม่รู้ลักษณะ อย่างเจตนา คือความตั้งใจ จงใจ ขวนขวาย ก็พูดตามได้ แต่ไม่รู้หรอกว่า ลักษณะของตั้งใจ จงใจ ขวนขวาย เป็นอย่างไร สามารถพูดว่า มนสิการคือใส่ใจในอารมณ์ ก็ใส่ใจในอารมณ์
ท่านอาจารย์ ได้คะแนนเต็มร้อย แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สิ่งที่จะสนทนาคือว่า แล้วปัญญาที่จะรู้ตรงลักษณะนี้
ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่เข้าใจจริงๆ ว่าฟังธรรมเพื่ออะไร
ผู้ฟัง จริงๆ ก็เข้าใจ ให้เข้าใจเห็นขณะนี้ ได้ยินขณะนี้
ท่านอาจารย์ ควรรู้ไหม ว่าจิตมีเท่าไร
ผู้ฟัง ควรรู้ไหม ว่าจิตมีเท่าไร ก็ต้องรู้
ท่านอาจารย์ ควรไหม
ผู้ฟัง ควรรู้ เพราะไม่ทราบว่าโทสะ โลภะต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ควรรู้เพื่อที่จะได้ละความเป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นเห็น จะใช้คำว่าวิบาก ผลของกรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต ระดับไหน อย่างไร ก็ให้รู้ว่า ไม่เป็นเรา เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเวลาฟังธรรม ไม่ได้รู้จุดประสงค์ว่า ฟังเพื่อมีความเข้าใจที่มั่นคง ว่าเป็นอนัตตา และเป็นธรรม ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องจิตแต่ละหนึ่ง เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ โดยชาติ โดยกิจการงาน หรือว่าโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพื่อให้เห็นว่าทั้งหมด ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นธรรมแต่ละอย่าง ยิ่งเข้าใจความละเอียดขึ้น ยิ่งเห็นว่าเป็นธรรมยิ่งขึ้น เพื่ออะไร เพื่อสะสม เวลาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงสามารถที่จะเห็นว่าเป็นธรรม แล้วละการยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ มี แต่ต้องเข้าใจจุดประสงค์ว่า เรียนเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจว่าเป็นอนัตตา เพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม และรู้ว่าเป็นชีวิตประจำวันด้วย ไม่ใช่ว่าเราเรียนๆ ไปแล้ว ขณะนี้เป็นธรรมหรือไม่เป็น ก็ไม่รู้ จะมีประโยชน์อะไร
เพราะฉะนั้นต้องรู้ก่อน ว่าธรรมมีจริงๆ ถ้าใช้คำว่ามีจริง เมื่อไร เมื่อปรากฏ เดี๋ยวนี้อะไรปรากฏ สิ่งนั้นแหละเป็นธรรม ที่เมื่อยังไม่รู้ ก็ฟังความละเอียด เพื่อให้เห็นว่าเป็นอนัตตา แต่ว่าคนฟังอยากจะรู้ลักษณะของธรรม เจตสิกแต่ละหนึ่งที่เกิดร่วมด้วย เป็นอย่างไร อะไรต่างๆ แต่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าทั้งหมด เพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าเป็นธรรม ทำไมพูดเรื่องขันธ์ ทำไมพูดเรื่องธาตุ ทำไมพูดเรื่องอายตน ถ้าไม่รู้จะละหรือไม่
เพราะฉะนั้นสะสมความเข้าใจ จนกว่าจะถึงเวลาที่ละได้ เพราะมีกำลัง ที่เกิดจากความเข้าใจ โดยการรอบรู้ เป็นสัจจญาณ ถ้าไม่มีความรู้อย่างนี้เลย ใครมาบอกว่าละ อย่าไปติดข้อง ไม่รู้อะไร ละอะไร แต่พอเข้าใจมากขึ้น เพิ่มขึ้น ก็สามารถที่จะถึง เวลาที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ทำไมแม้รู้ก็ยังไม่ละ ความเข้าใจยังไม่พอ เพราะฉะนั้นปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธเกื้อกูล ไม่ใช่ปริยัติไม่มีประโยชน์ แต่ปริยัติไม่ใช่ท่อง ไม่ใช่สอบ ไม่ใช่ตอบ ไม่ใช่ได้คะแนน แต่ปริยัติคือฟัง รู้ว่าขณะนี้ธรรมที่มีไม่รู้เลยว่าเป็นอนัตตาอย่างไร
เพราะฉะนั้นฟังเพื่อให้มีความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ไปตอบได้ จักขุวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท สัมปฏิจฉันนะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร จำ หรือว่าต้องคิด หรือว่ารู้ เห็นหรือไม่ ถ้าเพียงเรารู้ว่า จิตเกิดขึ้นต้องเป็นไปอย่างนี้ ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้เลย และความละเอียดก็คือ กล่าวถึงหนึ่งขณะซึ่งต่างกันไป แม้แต่สัมปฏิจฉันนะกับสันตีรณะ อุเบกขาสันตีรณะกับสัมปฏิจฉันนะ มีเจตสิกเกิดเท่ากันหรือเปล่า เดี๋ยวตำราอยู่ไหน ไม่ใ่ช่อย่างนั้นเลย แต่ฟังแล้วก็มีเหตุผล ที่จะเข้าใจถึงความเป็นอนัตตา ความละเอียดยิ่งของธรรม ซึ่งใครเป็นผู้ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงเพื่ออะไร อุปการะ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ไหน คำไหน ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาของธรรม
อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์คะ เหมือนอย่างเมื่อวาน ที่ท่านกล่าวในปฐมตถาคตสูตร หลายท่านคงเห็นท่านกล่าวถึงญาณ ๓ ในสัจจะ ๔ ซึ่งแม้แต่สัจจญาณ ญาณที่มั่นคง มีความเป็นธรรม ความเป็นอนัตตา ทุกขสัจจ์ สัจจะแรกเอง ก็ไม่ใช่ขณะใด ขณะนี้เอง ธรรมที่ควรรู้ยิ่งก็คือ รู้ความเป็นธรรมนั่นเอง มั่นคงด้วยปัญญา ที่เห็นถูกในสิ่งที่มีจริง
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า หลายครั้งท่านอาจารย์จะสนทนา เพื่อจะให้เราเข้าใจธรรมที่ปรากฏ ดังนั้นก็จะเป็นไปด้วยเรื่องราว เราสามารถอ่านเองก็ได้ ในถ้อยคำที่ท่านแสดงเอาไว้ แต่สำคัญคือชั่วโมงที่เราสนทนา มีสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ถึงตัวธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้