พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
ตอนที่ ๓๑๑
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ผู้ถาม ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า ควรจะเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ผิด หรือถูก
ผู้ถาม ถูก แต่ยาก
ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ควร ก็ต้องทำสิ่งที่ควร
ผู้ถาม ฟังจากที่ท่านอาจารย์กล่าวแล้ว ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ละขณะเป็นธรรมทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ ลืมไม่ได้เลย
ผู้ถาม เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวเราที่อยากจะ อย่างโน้น อยากที่จะอย่างนี้ ท่านอาจารย์มาเข้มตรงนี้เลยว่า ทุกขณะเป็นธรรมเท่านั้น
ท่านอาจารย์ และลืมได้อย่างไร ก็เพื่อจุดนี้ไม่ใช่ หรือ ทุกคนฟังเพื่อจะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ทุกอย่างเป็นธรรม
ผู้ถาม ลักษณะสภาพธรรมของความคิดนึก กับลักษณะสภาพธรรมของโมหะ อุทธัจจะ ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ชื่อนี้มาจากไหน
ผู้ฟัง มาจากการฟังพระธรรม คือ ถ้าไม่ฟังก็ไม่รู้ แม้แต่ความคิดฟุ้งซ่านซึ่งเป็นภาษาไทย แล้วทุกคนรู้จักดีในสภาพที่เกิดขึ้น ก็ไม่รู้จักว่าสิ่งนั้นคือธรรม เป็นเราฟุ้งซ่าน
ท่านอาจารย์ เมื่อครู่นี้รู้สึกอย่างไร โมหะอุทธัจจะ หรือเปล่า ไม่รู้ ความรู้สึกเกิดกับจิตทุกขณะ ขณะใดที่ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ขณะนั้นเป็นโมหะ แม้แต่ขณะที่กำลังเป็นโมหะ ก็มีความรู้สึกด้วย เพราะฉะนั้นเพียงแค่เมื่อครู่นี้เอง รู้สึกอย่างไร
ผู้ฟัง รู้สึกว่าไม่รู้
ท่านอาจารย์ รู้สึกติดข้อง หรือไม่ หรือว่าไม่รู้
ผู้ฟัง มีความติดข้อง
ท่านอาจารย์ เมื่อครู่นี้มีความติดข้องในอะไร
ผู้ฟัง ในความไม่รู้ ก็สงสัย ก็ต้องถาม ถ้าจะกล่าวแล้ว ก็มีความเป็นตัวตนอยู่เต็มๆ ในสภาพความที่อยากรู้ ในสภาพธรรมที่ยังไม่ประจักษ์ ด้วยสติปัญญาของตนเอง แต่เมื่อฟังพระธรรม ก็เริ่มรู้จักในสภาพของคิดนึกว่ามีจริง
ท่านอาจารย์ โลภะคิด โทสะคิด หรือกุศลคิด
ผู้ฟัง เป็นโลภะคิด
ท่านอาจารย์ โทสะคิดได้ไหม
ผู้ฟัง โทสะก็คิดได้
ท่านอาจารย์ กุศลคิดได้ไหม
ผู้ฟัง กุศลก็คิดได้
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่รู้ ขณะนั้นบอกได้ไหมว่า ขณะที่คิด คิดเพราะโทสะ หรือโทสะกำลังคิด หรือเพราะกุศลกำลังคิด หรือเพราะโลภะกำลังคิด ถ้าไม่รู้บอกได้ไหม หรือเรียกชื่อได้ แต่บอกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการที่จะมาบอกว่า ขณะใดเป็นโมหมูลจิต อุทธัจจะสัมปยุตต์ ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นโมหะ แล้วก็มีความสงสัยปรากฏให้รู้ ว่าขณะนั้นสงสัย ก็ต้องเป็นจิตประเภทที่เป็นโมหมูลจิต แล้วมีวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยเกิดร่วมด้วย จึงเป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ขณะนั้นพอจะรู้ แต่ขณะที่ไม่มีทั้งโลภะ ไม่มีทั้งโทสะ และไม่มีความสงสัยปรากฏด้วย แต่มีขณะนั้นแน่นอน เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็คือโมหมูลจิต อุทธัจจะสัมปยุตต์
การที่เราศึกษาธรรม แล้วเราคิดว่า เราจะรู้ได้ เป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ เช่น ขณะนี้จิตเห็น มีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก ชีวิตินทรียเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก มนสิการเจตสิก รู้อะไร หรือสงสัยอะไร หรือจะรู้ได้อย่างไร เหมือนกับโมหมูลจิตอุทธัจจะสัมปยุตต์ ใช่ไหม
ผู้ฟัง แต่ขณะที่เห็น ก็มีความคิดนึก
ท่านอาจารย์ คนละขณะ
ผู้ฟัง มีความคิดนึกเกิดขึ้น และความคิดนึกนั้นก็เกิดจำในสิ่งที่เห็น แล้วเราก็คิดว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ทีนี้ในขณะนั้น เมื่อก่อนก็ไม่เคยพิจารณาเลย เมื่อท่านอาจารย์กล่าวว่า ความคิดนึกมีจากโลภะคิดได้ไหม โทสะคิดได้ไหม ก็คิดว่าเป็นโลภะที่คิดนึก แต่ว่ามีความไม่รู้แฝงอยู่แน่นอน
ท่านอาจารย์ อวิชชาเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท ฟังธรรมเข้าใจได้ แต่การรู้ลักษณะของธรรม เลือกไม่ได้ว่า จะไปรู้อะไร จะไปเลือกรู้อุทธัจจะ หรือจะไปเลือกรู้ผัสสะ ก็ไม่ได้
ผู้ฟัง โดยหลักการแล้ว ตามรู้ กับ รู้ก่อน ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ รู้ก่อนรู้อะไร เวลานี้ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดยังไม่ปรากฏ จะรู้สิ่งนั้นได้ไหม เสียงยังไม่มี จะรู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏได้ไหม เสียงอะไรก็ตามแต่ ถ้าไม่เกิดขึ้นปรากฏ จะรู้ลักษณะของเสียงนั้นได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ปรากฏก็รู้ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ปรากฏแล้วไม่รู้ กับปรากฏแล้วรู้เสียงที่กำลังปรากฏ ต่างกัน เพราะฉะนั้นจะรู้สิ่งที่ปรากฏ จึงใช้คำว่า “ตามรู้” เพราะว่าปกติธรรมดาแข็งปรากฏ ก็เป็นช้อนเป็นส้อม คิดนึกเรื่องต่างๆ สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นดอกไม้ เลยไปหมด ไม่ได้ตามรู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นตามรู้ ไม่ได้หมายความว่า ไปคิดเองให้สิ่งที่ไม่มีเกิดขึ้นให้รู้ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขณะนี้ รู้ได้เลย เกิดแล้ว ไม่มีใครทำ แสดงความเป็นอนัตตาว่า สิ่งนี้มีปัจจัย เลือกไม่ได้ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งใดกำลังปรากฏ ขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะ ชั่วขณะที่สั้นมากนั้น คือการตามรู้ลักษณะ ก่อนที่จะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ
ผู้ฟัง วิธีตามรู้นี่ ช้าไปไหม
ท่านอาจารย์ ช้าหมายความว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ที่ปรากฏนั้นเกิดก่อนแล้ว ถึงจะรู้
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏเพราะเกิด เมื่อสิ่งนั้นปรากฏแล้ว ปกติคุณวิจิตรคิดเรื่องอะไร กำลังเห็น คิดเรื่องอะไร
ผู้ฟัง ก็ยังไม่คิด
ท่านอาจารย์ เห็นอะไร
ผู้ฟัง เห็นสี
ท่านอาจารย์ คิดคำว่า สี หรือว่ากำลังเข้าใจลักษณะที่ปรากฏ
ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ปกติธรรมดา คุณวิจิตรเห็นอะไร
ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ เห็นอะไร ที่ปรากฏ
ผู้ฟัง อะไรปรากฏก็เห็นสิ่งนั้น
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เห็นอะไร
ผู้ฟัง เห็นอาจารย์
ท่านอาจารย์ เห็นไหม คิดแล้ว โดยไม่รู้ตัวเลยว่า เห็นแล้วคิด เพราะฉะนั้นไม่ได้ตามรู้ลักษณะที่เป็นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ว่า จะอย่างไรๆ ก็ตามสิ่งนี้ปรากฏเท่านั้น หลังจากนั้นก็เป็นความคิดมากมายจากสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นตามรู้ลักษณะที่มีจริงๆ ของแต่ละลักษณะให้เป็นความเห็นที่ถูกต้องในแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทาง ยังไม่ได้มารวมกันเลย ถ้าจะเข้าใจความหมายของ “ตามรู้” ก็คืออย่างนี้
ปัญญารู้อะไร
ผู้ฟัง ปัญญารู้ความเป็นรูปเป็นนาม
ท่านอาจารย์ รู้สิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏ รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้สีสันวัณณะกำลังปรากฏ ปัญญารู้อะไร มีความเห็นถูกในอะไร มีความเห็นถูกว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นอื่นใดไม่ได้ ถ้าไม่คิดก็ไม่เป็นอะไรเลย เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป แต่เพราะคิดก็เลยไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราที่ตามรู้ แต่เป็นสติสัมปชัญญะที่มีความเข้าใจถูกว่า ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาคืออย่างนี้เอง เมื่อไรจะรู้ความจริงอย่างนี้ จนกระทั่งเห็นถูกว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล สภาพธรรมแต่ละทางก็ปรากฏแล้วก็ดับไปแต่ละทางเท่านั้นเอง วิธี หรือหนทางที่อบรมเจริญปัญญา คือ ฟัง และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ถามว่าบุคคลที่เล่นกีฬาแล้วเหนื่อย รูปเหนื่อย หรือนามเหนื่อย แต่คำตอบที่ได้ก็ไม่ชัดเจน เพราะอาจารย์บอกว่า นามเหนื่อย
ท่านอาจารย์ ก่อนจะพูดถึงเรื่องนักกีฬา สภาพธรรมมีจริงๆ หรือไม่
ผู้ฟัง มีครับ
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีจริง ต่างกันเป็น ๒ อย่าง สภาพธรรมหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ขณะที่กำลังมีแข็งปรากฏ แข็งมีจริงๆ ไหม
ผู้ฟัง มีครับ
ท่านอาจารย์ รู้อะไรได้ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าเฉพาะแข็ง ก็ย่อมไม่รู้อะไร แต่คนที่เหนื่อย ...
ท่านอาจารย์ ไม่ได้พูดถึงคน พูดถึงธรรม คุณวิจิตรต้องการเข้าใจธรรม ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เวลานี้ทุกคนก็มีแข็งกำลังปรากฏ แข็งสามารถจะรู้อะไรได้ หรือเปล่า
ผู้ฟัง แข็งย่อมรู้อะไรไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแข็งมีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ถ้าไม่มีสภาพที่กำลังรู้แข็ง ขณะนี้เดี๋ยวนี้ที่แข็งกำลังปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพรู้แข็ง แข็งปรากฏได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้
ท่านอาจารย์ นี่คือความน่าอัศจรรย์ที่ธรรมปรากฏ แต่ต้องตรง เมื่อครู่นี้คุณวิจิตรบอกว่า แข็งไม่รู้อะไร แข็งรู้อะไรไม่ได้ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้ทั้งหมด จะมองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตาม สภาพธรรมนั้นเป็นรูปธรรม เรียกรวมว่าเป็น รูปธรรม แต่ลักษณะของรูปแต่ละรูปนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เช่น เสียง เสียงรู้อะไรได้ไหม
ผู้ฟัง รู้ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ สภาพที่กำลังได้ยินเสียง มีจริง เป็นสภาพรู้ เสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร สภาพที่เป็นธาตุรู้ กำลังได้ยิน คือ กำลังรู้ลักษณะของเสียงนั้น แม้ว่าสภาพที่ได้ยินไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่สามารถจะรู้แจ้งในลักษณะของเสียงซึ่งเป็นเสียงที่มีลักษณะต่างๆ กันไป ลักษณะที่สามารถรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ แม้มองไม่เห็น คำนี้เปลี่ยนไม่ได้ เข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหม ธรรม ๒ อย่างต่างกัน เป็นนามธรรมกับรูปธรรม
ผู้ฟัง ขอยกตัวอย่าง ขณะที่แขนอยู่กับตัว
ท่านอาจารย์ แขนเป็นอะไร
ผู้ฟัง แขนเป็นสมมติบัญญัติ
ท่านอาจารย์ มีจริงๆ หรือไม่
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เป็นอะไรถ้ามีจริง
ผู้ฟัง ถึงแม้จะเป็นรูป แต่ก็มีนาม
ท่านอาจารย์ ถามถึงแขนอย่างเดียว ถ้าจะเข้าใจธรรมต้องตรง ต้องชัดเจน ต้องละเอียด ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่าใครๆ ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมได้ แขนมีจริงไหม เป็นอะไร
ผู้ฟัง มีจริง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ รูปอะไร
วิจิตร รูปแขน
ท่านอาจารย์ เป็นอย่างไรรูปแขน
วิจิตร เป็นปฐวี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่รูปแขน ใช่ไหม ปฐวีหมายความถึงอะไร
ผู้ฟัง คือธาตุดิน
ท่านอาจารย์ ธาตุดินเป็นสภาพรู้ หรือเปล่า ต้องเข้าใจธรรมว่าไม่มีตัว คุณวิจิตรกำลังจะหาว่า เหนื่อยเป็นอะไร เหนื่อยเป็นตัวคุณวิจิตร หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ ก็เลยเป็นตัวตน ไม่เป็นธรรมเสียแล้ว ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน คุณวิจิตรกำลังจะเข้าใจว่า เหนื่อยเป็นธรรม หรือไม่ และเป็นธรรมอะไร และต้องเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จึงสามารถจะรู้ว่า ขณะที่เหนื่อย เป็นธรรม หรือไม่ มีจริง หรือไม่ และเป็นธรรมประเภทใด
ผู้ฟัง เหนื่อยเป็นธรรม มีจริง
ท่านอาจารย์ เป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้
ผู้ฟัง เป็นเรื่องของนามก็จริงอยู่
ท่านอาจารย์ จริงก็จริง ถ้าเหนื่อยเป็นความรู้สึกไม่สบายแน่ๆ มีใครชอบเหนื่อยบ้าง เพราะฉะนั้นขณะนั้นถ้าไม่มีกาย จะเหนื่อยไหม
ผู้ฟัง ย่อมไม่เหนื่อย
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกายจะหิวไหม
ผู้ฟัง ไม่หิว
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกาย จะเจ็บไหม
ผู้ฟัง ไม่เจ็บ
ท่านอาจารย์ เจ็บเป็นกาย หรือไม่
ผู้ฟัง เจ็บไม่ใช่กาย
ท่านอาจารย์ หิวเป็นกาย หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่กาย
ท่านอาจารย์ มีธรรมเพียง ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เราศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีตัวตน และไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมอะไรก็ต้องไม่ใช่เราทั้งหมด เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร ก็เป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นธรรมนั้นๆ แข็งก็แข็ง เสียงก็เสียง กลิ่นก็กลิ่น เป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ของใคร ส่วนสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันไป ก็ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง กรณีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีรูปกับนามประกอบกัน
ท่านอาจารย์ นามเป็นนาม รูปเป็นรูป
ผู้ถาม แต่จะต้องประกอบกันเพื่อให้มี ...
ท่านอาจารย์ ถ้ายังรวมกันก็ยังเป็นตัวตน เป็นเรา จนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา เพราะเป็นนามธรรมแต่ละลักษณะ เป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะ เมื่อนั้นก็จะค่อยๆ คลายความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นเหนื่อยเป็นอะไร
ผู้ฟัง เหนื่อยเป็นนาม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าไม่มีกายจะเจ็บไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่เจ็บ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีตา จะเห็นไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคุณวิจิตรเริ่มจะเข้าใจความหมายของธรรม อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่สามารถจะเกิดขึ้นได้ตามความต้องการ ทั้งหมดก็มาสู่ความจริง ไม่ว่าจะสงสัยอย่างไร ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่า ทุกอย่างที่เกิดแต่ละอย่าง จะต้องอาศัยเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีกาย ทุกขเวทนา คือ ทุกข์กายเกิดไม่ได้ สุขเวทนาเกิดไม่ได้ อุเบกขาเวทนาเกิดได้ไหม ถ้าไม่มีกาย นี่คือเราเข้าใจธรรมแล้วเป็นผู้ตรง ด้วยปัญญาของตัวเอง ที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่าหลักมีอยู่แล้ว สภาพธรรมมี ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นได้ยินคำอะไร แม้แต่คำว่า “กรอบ” ถ้าอยากเข้าใจ ก็ต้องเป็นปัญญาของตัวเองที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเสียง หรือเป็นแข็ง หรือเป็นอะไร ระดับไหน
ผู้ฟัง ตามที่เรียนตามอภิธรรม ก็กล่าวว่า จิตดวงหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ ดวงใหม่ก็เกิดสืบต่อสะสมทุกอย่างในจิตต่อไป ถามให้ละเอียดขึ้นว่า ที่ว่า “สะสม” บางครั้งก็กล่าวว่า เฉพาะตรงชวนะเท่านั้นที่สะสม ก็ไม่ทราบว่า จิตดวงนี้ดับแล้วดวงอื่นเกิดต่อไป เราจะใช้คำว่า สะสม ได้ด้วย หรือไม่
อ.วิชัย ขณะที่เป็นชวนจิตประเภทเดียวกันเกิดดับสืบต่อกัน ซ้ำกันถึง ๗ ขณะ นี่โดยปกติ ก็มีการสั่งสมเป็นปัจจัยให้อุปนิสัยแตกต่างกัน แต่จิตที่เกิดดับสืบต่อก็มีการสั่งสมอยู่ เพราะเหตุว่าการสั่งสมที่ผ่านมาก็ไม่ได้สูญหายไปไหน เพราะยังมีการสืบต่อกันของจิตอยู่ ความเป็นปัจจัยก็ยังมีอยู่ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของจิตขณะที่เป็นชวนจิต มีความเป็นอาเสวนปัจจัย คือ มีการเกิดดับเป็นปัจจัยให้จิตประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อกันอย่างคล่องแคล่ว ซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ก็มีการสั่งสมความเป็นอุปนิสัย แต่จิตประเภทอื่นไม่ได้สั่งสมอย่างที่เป็นชวนจิต เพราะไม่ได้อาเสวนปัจจัย จึงมีแค่การสั่งสมการสืบต่อของอุปนิสัย โดยความเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น และยังมีการสั่งสมอุปนิสัย ความเป็นปัจจัยอยู่
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวเหมือนกับว่า การที่จิตสะสมทุกอย่าง ถ้าเป็นของก็คงไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหนเลย เพราะเก็บไว้ทุกอย่างหมด แต่เพราะลักษณะของจิต ก็เลยไม่ต้องมีที่เก็บ ก็แปลกมาก
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงแปลกก็แปลก แปลกมาก นอนหลับสนิทกันทุกคน ตื่นขึ้นมาไม่เหมือนกันเลย ใช่ไหม ตอนหลับก็คือไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ขณะที่ไม่ฝัน ไม่คิด ใครจะรู้ว่า ขณะนั้นมีอะไรสะสมอยู่ในจิตอย่างละเอียดมาก เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ที่จะให้ขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร เมื่อตื่นแล้ว อาจจะเป็นเห็น ก็ยังไม่รู้เลยว่า ก่อนนั้นจะต้องมีอาวัชชนจิตเกิดก่อน เห็นทันทีไม่ได้ นี่ก็เป็นความน่าอัศจรรย์ แต่สำหรับผู้ที่สามารถประจักษ์แจ้ง ก็ทรงแสดงโดยละเอียด แม้แต่เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตที่กำลังหลับ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่เกิดในมนุษย์ หรือในสวรรค์ก็ต่างกันที่เจตสิกที่เกิดร่วม จะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่หลังจากนั้นแล้ว เป็นจิตขณะซึ่งสืบต่อมา แต่เจตสิกยังเกิดไม่เท่ากัน
นี่ก็คือความเป็นอนัตตาทั้งหมดของธรรม ถ้ารู้ และพิจารณา ก็จะเห็นได้ว่า เพื่อให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน และไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชา หรือเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าจากภวังคจิตเป็นผลของกุศลถ้าเป็นมนุษย์ และถ้าประกอบด้วยปัญญา แต่เมื่อถึงขณะต่อไป ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นจิตคนละขณะ แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียงเท่านี้ ๑๐ ดวง ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุทวาราวัชชนจิต ซึ่งขาดสักดวงหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องมีผัสสเจตสิก สภาพนามธรรมซึ่งกระทบอารมณ์ และผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะว่าไม่มีจิตสักขณะเดียวซึ่งปราศจากเจตสิก ๗ ประเภทนี้ เวทนาเจตสิกก็ต้องมี สัญญาเจตสิกต้องมี แต่เจตสิกที่เกิดกับภวังคจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไป จิตอีกประเภทหนึ่งเกิด มีเจตสิกเกิดต่างกับขณะที่เป็นภวังค์ แล้วเมื่อจักขุทวาราวัชชนจิตดับ เป็นปัจจัยให้จิตอีกประเภทหนึ่งเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง น้อยกว่าขณะซึ่งเป็นอาวัชชนจิต หรือจักขุทวารวัชชนจิต นี่คือความเป็นอนัตตา แต่เราก็ไม่เคยคิดถึงความน่าอัศจรรย์ เพราะว่าไม่รู้ ถ้าไม่รู้ ก็จะไม่เห็นความน่าอัศจรรย์เลยว่า ชีวิตวันหนึ่งๆ จากวันนี้เหมือนมีการกระทำต่างๆ มากมาย ทั้งสุข ทั้งทุกข์ รสต่างๆ ปรากฏ พอถึงกลางคืนไม่เหลือเลย ซึ่งความจริงก่อนจะถึงเวลานั้นก็ไม่เหลืออยู่แล้วแต่ไม่รู้ ไปรู้ตอนเป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีชื่อ ไม่มีคน ไม่มีญาติ ไม่มีพี่น้อง ไม่มีบ้าน ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีอะไรเลย เมื่อเริ่มตื่น ละครมาอีกแล้ว เล่นไปตามกรรม จะให้เห็น จะให้ได้ยิน จะให้สุข จะให้ทุกข์ จะให้รัก จะให้ชัง คิดเรื่องราวต่างๆ มากมายแล้วก็จบ หลับสนิทอีก ตื่นมาอีก ก็มีปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนี้ โดยที่เมื่อไรจะจบ ถ้าไม่มีปัญญาจบไม่ได้เลย เพราะว่าไม่รู้ไปหมด ไม่รู้ตอนหลับ ไม่รู้ตอนตื่น ไม่รู้ขณะเห็น ไม่รู้ขณะคิด ไม่รู้ขณะเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ก็จะเห็นความต่างกันของขณะที่รู้ขึ้น กับขณะที่ไม่เคยรู้เลย จนกระทั่งถึงขณะที่อบรมไป ชาติใดจะเป็นอย่างไร ก็คือชาติหนึ่ง ก็สามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามที่ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ความเห็นถูก แต่ไม่ใช่วิธีการที่จะไม่เข้าใจแล้วไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด
แปลกไหม น่าอัศจรรย์ไหม หรือว่าธรรมดา เช่น รส คิดดู มีอยู่ในรูปทุกรูป ปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่กระทบกับชิวหาปสาท เมื่อกระทบแล้ว จิตต้องเกิดขึ้นจึงสามารถลิ้ม หรือรู้ รสนั้นจึงได้ปรากฏได้ ก็เป็นความน่าอัศจรรย์ทุกขณะจิต ยิ่งรู้ถึงปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น เจตสิกแต่ละประเภทเป็นปัจจัยโดยสถานะใด โดยปัจจัยใด ชั่วขณะหนึ่ง ขณะที่สั้นมาก
ผู้ฟัง สภาพคิดนึกเป็นสภาพที่มีจริง บางขณะก็พอจะพิจารณาได้ว่าเป็นสภาพคิดนึก แต่ว่าบางขณะแม้คิดก็ไม่รู้ว่าคิด
ท่านอาจารย์ ก็ธรรมดา เพราะมีอวิชชา
ผู้ฟัง ลักษณะที่คิดแล้วไม่รู้ว่าคิด กับคิดแล้วรู้ว่าคิด
ท่านอาจารย์ กำลังคิดแล้วไม่รู้นั่นจะเรียกอะไรดี หาชื่อ
ผู้ฟัง เหมือนกับความหลง หรือว่า..
ท่านอาจารย์ แล้วชื่อเมื่อกี้นี้หายไปไหน ชื่อที่ถามหา
ผู้ฟัง โมหะอุทธัจจะ หรือ
ท่านอาจารย์ ก็ตัวจริง ถ้าขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ และไม่ใช่กุศลด้วย ก็ต้องเป็นอกุศล และไม่มีความสงสัยด้วย
ผู้ฟัง เมื่อเราคิดนึกเป็นเรื่องราวโดยหลงลืมสติ กับคิดแล้วพอจะมีสติพิจารณาได้ ยังมีความสงสัยในสภาพธรรมทั้ง ๒ ชนิดนี้อยู่
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 301
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 305
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 306
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 309
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 318
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 328
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 329
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 341
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 350
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360