พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ซาบซึ้งถึงบุคคลที่ได้เฝ้าพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมในขณะนั้น ได้เห็นศรัทธาของสุเมธดาบส ได้ฟังคำพยากรณ์แล้วปีติที่ว่า ถึงแม้จะไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ร่าเริงเบิกบานที่มีโอกาสสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อๆ ไป บุคคลในครั้งนั้นกำลังเฝ้า กำลังฟัง ได้รับฟังคำพยากรณ์ รู้สึกปีติยินดี ที่มีโอกาสจะได้ฟัง และรู้แจ้งสภาพธรรม และบุคคลในครั้งนี้ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง หรือว่าเคยฟังมาแล้ว แต่ว่าความเข้าใจเพิ่มขึ้นจนกว่าจะรู้แจ้ง ปีติไหมคะ มีโอกาสที่ได้ยินได้ฟัง เพียงแค่ได้ฟังก็ปีติได้ เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่สามารถรู้ความจริง ไม่ใช่ความเท็จ ไม่ใช่สิ่งที่หลอกลวง ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่เป็นการประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังว่า ธรรมคืออะไร อนัตตาคืออะไร เราก็จะมั่นคงในแนวทางที่พร้อมจะพิสูจน์ได้ว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ กว่าจะขยับพ้นจากอำนาจของโลภะที่ครองมาแสนนาน จากความเห็นผิด ความไม่รู้ไปสู่ความเห็นถูกแม้ขั้นฟัง ฟังเข้าใจจริงๆ เรื่องของการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับ หรือไปพยายาม ไปพากเพียร ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นหนทางที่เป็นสายกลาง คือ รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น แต่ในขณะที่รู้ ก็ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนไปทำ ไปสร้าง เพื่อหวังจะได้ผลอย่างนั้น

    นี่ก็เป็นความละเอียดที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ในความหมายของคำว่า “อนัตตา”

    ผู้ฟัง ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่า อนัตตาคือสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดดับตามเหตุปัจจัย เราก็จะสามารถรู้ได้ว่า ถ้ามีการให้ทำอะไรที่นอกเหนือจากการเกิดดับตามเหตุปัจจัย และเกิดขึ้นเองบังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จะมีประโยชน์ไหม มีสภาพธรรมปรากฏ เคยไม่รู้อย่างไร ก็ไม่รู้อย่างนั้น เคยไม่เข้าใจอย่างไร ก็ไม่เข้าใจอย่างนั้น เคยเข้าใจผิดอย่างไร ก็เข้าใจผิดต่อไปอย่างนั้น จะมีประโยชน์ไหมกับการฟัง

    เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุด ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง บางครั้งเราไม่แน่ใจว่า ที่เขามีการอบรมศีล สมาธิ ปัญญา

    ท่านอาจารย์ เขานั่นคงไม่สำคัญเท่าความเห็น ความถูกต้องของแต่ละบุคคล จัดการทำอะไรใครไม่ได้เลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปลี่ยนแปลงความเห็นผิดของพวกเดียรถีย์ ความเห็นอื่นไม่ได้ จะไปกังวลทำไม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ บางครั้งบางทีเราก็เหมือนกับว่า แนวทางนี่ยากมาก และก็เข้าใจยากจริงๆ ก็เลยไม่แน่ใจว่า มีแนวทางอื่นที่ทำให้เราสามารถเข้าใจธรรมได้อีก หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ และแนวทางอื่น เราจะไปหาที่ไหน

    ผู้ฟัง ถึงได้เรียนถามอาจารย์ว่า ถ้าเรามั่นใจว่า อนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดดับตามเหตุปัจจัย เราก็มีหลักตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องพูดถึงสำนักใดๆ แล้วแนวทางอื่น แค่ความคิดว่า แล้วแนวทางอื่น เราจะไปหาที่ไหน ในเมื่อสภาพธรรมขณะนี้กำลังมี แล้วแนวทางอื่นที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม คืออะไร ที่ไหน จะมีได้อย่างไร เป็นปัญญาของเราเอง ที่จะไตร่ตรองว่า จะมีได้ หรือไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม จริงๆ มีจริงๆ กำลังปรากฏ เกิดแล้วด้วย แล้วไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะรู้ จะเข้าใจ หรือจะไม่รู้ ไม่เข้าใจ และการที่จะรู้ได้เข้าใจได้ เข้าใจได้คืออย่างไร ลองหาทางอื่น ที่ไม่ใช่การฟัง การไตร่ตรองในเหตุผล ในความเป็นจริง ในสภาวะของสิ่งที่ปรากฏอย่างนี้

    ผู้ฟัง จริงๆ บางครั้งถ้าไม่เริ่มต้นที่ ธรรมคืออะไร และเป็นอนัตตาอย่างไร พอคนแปลมรรค ๘ ก็ต้องบอกสรุปรวมว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไปถือศีล ไปทำสมาธิ แล้วปัญญาก็จะเกิด ซึ่งตรงนี้เขาก็ถือว่า เขาแปลมรรคมีองค์ ๘ มาเหมือนกัน ไม่ได้คิดขึ้นเอง

    ท่านอาจารย์ มิจฉาญาณ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็วกมาสู่ว่า ถ้าเราเข้าใจผิดตรงนั้น ก็จะทำให้เห็นผิด ทำให้ผิดไปหมดเลย

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่บางคนก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงคนอื่น แต่จะเปลี่ยนแปลง หรือเข้าใจถูกได้ไหมว่า ขณะนั้นจริงๆ แล้วมีคนอื่นหรือเปล่า นี่ต้องเริ่มแก้ไขความเห็นของเราแล้ว ใช่ไหม ขณะที่กำลังคิดถึงคนอื่น มีคนอื่นจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงๆ ไม่มี มีแต่สภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จะต้องเข้าใจอีกมากมายให้ตรงตามความเป็นจริง ไม่หลงตามไปกับเรื่องราว ความคิดเดิมๆ จิตขณะที่คิดเป็นอย่างไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เขาเห็นผิด เขาเข้าใจผิด ถ้าคิดอย่างนี้ ขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง อกุศลจิตของเราที่ไปคิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เราอาจจะไตร่ตรองกล่าวชื่อ แต่จริงๆ เรารู้ หรือเปล่า สภาพธรรมนั้นดับแล้ว

    ผู้ฟัง ณ ตอนนี้ยัง ได้แต่รู้เรื่อง

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่รู้ลักษณะของจิต ยังไม่รู้อะไรๆ ทั้งนั้นเลย แม้เกิดขึ้นปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ได้ยินแต่ชื่อกับเรื่องราวของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็ต้องฟังให้เข้าใจขั้นฟังเรื่องราวมากพอ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุด สุตมยปัญญา สัจญาณ ปัญญาที่มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในอริยสัจธรรม รู้ว่าอะไรเป็นสัจจะ เป็นธรรม เป็นอริยะได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็คงต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่รอบคอบไม่ได้ ไม่ละเอียดไม่ได้ ประมาทไม่ได้ คิดว่าเข้าใจแล้วก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ความเข้าใจที่เราพูดออกมาถูก หรือผิด อย่างเมื่อวานนี้เล่าออกมา คุณธิดารัตน์ก็บอกว่า อันนี้ไม่ใช่ ไม่ถูก การเข้าใจพระธรรม บางทีก็คลาดเคลื่อน เพราะว่าพระธรรมเข้าใจยากมากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คนอื่นเขาบอกว่า ถูก เรารู้เลยว่าถูก หรือเราพิจารณาว่า สิ่งที่เขาพูดชี้แจงนั้นถูกต้อง

    ผู้ฟัง หนูก็ถามอาจารย์อีกทีหนึ่งว่า ความเข้าใจที่หนูฟังจะเข้าใจถูก หรือผิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครจะพูดว่าอย่างไรก็ตาม คำตอบจะว่าอะไรก็ตาม เราเชื่อเมื่อมีคนบอกว่าถูก เราเชื่อว่าผิดเมื่อมีคนบอกว่าผิด หรือว่าฟังคำพูดแล้วก็ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจความจริงว่า ที่ถูกต้องนั้นคืออย่างไร

    เพราะฉะนั้นการสนทนาธรรมมีประโยชน์ สนทนาธรรมไม่ใช่ถามตอบว่าถูกผิด แต่สนทนาธรรม คือ ฟังความเห็น ฟังความคิด ฟังความเข้าใจของแต่ละบุคคลว่า สามารถจะเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของธรรมได้ถูกต้อง กว้างขวางลึกซึ้งแค่ไหน เพื่อเราจะได้ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง

    อ.ธิดารัตน์ คุณนภาจะอธิบายว่า เวลาที่มองจุดหนึ่ง แล้วส่วนอื่นที่ไม่ได้สนใจมองนั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หนูก็เลยอธิบายว่า ถ้าหากว่ายังมีการสนใจว่า เป็นจุดหนึ่งจุดใดอยู่ หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ขณะนั้นคือสนใจทั้งนิมิต และอนุพยัญชนะ ยังไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นการสนทนากันอย่างนี้ค่ะ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเรื่องของความเห็นถูก อย่าลืม การฟังธรรมตั้งแต่ขั้นต้น เห็นถูก เข้าใจถูก เราจะต้องมานั่งเรียกชื่อสภาพธรรมที่เกิดในขณะนั้น หรือเปล่า แต่เริ่มรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ที่สำคัญที่สุดจากการฟัง ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ขณะนี้ก็เป็นธรรมหมดเลย วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก อะไรก็ตามแต่ เกิดแล้วทำงานแล้ว ดับไปแล้วทั้งนั้น ก่อนที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องมั่นคงตั้งแต่ต้น คือไม่ลืมว่าเป็นธรรม และถ้าธรรมใดยังไม่ได้ปรากฏ เราจะไปเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ไหม ในเมื่อไม่ได้ปรากฏ แต่ขณะใดก็ตามที่มีธรรมใดปรากฏ จากเดิมที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจ ก็คือเริ่มที่จะรู้ลักษณะ มีลักษณะจริงๆ อย่างแข็งปรากฏ ก็เคยปรากฏมาแล้วทั้งนั้น แต่ไม่เคยใส่ใจที่จะเข้าใจว่า แข็งเป็นแต่เพียงสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่อะไรเลย ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ที่ไหน แข็งก็เป็นแข็ง ถ้าขณะนั้นกำลังรู้แข็ง เราก็จะไม่คิดเรื่องโต๊ะ เรื่องเก้าอี้ เรื่องอะไร และถ้ามีความเข้าใจถูกต้องในความเป็นธรรม ขณะนั้นก็คือว่า สติเกิดหรือเปล่า ถึงได้รู้ลักษณะนั้น ปัญญามีความเข้าใจถูก หรือเปล่า ถึงได้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ตามรู้” เพราะกำลังมีแข็งปรากฏ และสติที่รู้ลักษณะของแข็ง และปัญญาที่เริ่มจะรู้ว่า เป็นลักษณะของธรรม ซึ่งลักษณะของธรรมนี่ตลอดวัน ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นอย่างหนึ่ง ทางกายอย่างหนึ่ง ทางใจอย่างหนึ่ง ไม่เคยรู้เลย นึกคิดเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมดเลย และก็มีความทรงจำด้วยความไม่รู้มาตลอดว่า มีคน มีสัตว์ มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ จริงๆ คนนั่นแหละเกิดแล้วก็ตายไป แต่ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงถ้าไม่มี ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จะมีคนเกิด คนตายไหม

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เริ่มฟังให้รู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องคนนั้นคิดอย่างไร คนนี้คิดอย่างไร แต่เมื่อฟังแล้ว รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ได้ยินคำว่า “ธรรม” เข้าใจธรรมแค่ไหน แค่ชื่อ รู้ว่าขณะนี้มี แต่ว่าลักษณะของธรรมแต่ละอย่างก็ไม่ได้ปรากฏว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งความจริงก็คือว่า เมื่อปรากฏต้องเกิด เกิดแล้วก็ต้องดับ

    เพราะฉะนั้นจากการเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง วันหนึ่งก็คลายการยึดมั่นว่า มีคนจริงๆ เพราะรู้ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นจริงๆ จนกว่าจะมีการคลายมากขึ้น สามารถแทงตลอดลักษณะซึ่งเป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ปะปนกัน จนกระทั่งปัญญาอบรมเจริญขึ้น ก็สามารถประจักษ์ความจริง คือ การเกิดขึ้นแล้วดับไปของสภาพธรรมได้

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่เริ่มเกิด ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็หลงลืมสติ หรือว่าสติกำลังรู้ลักษณะหนึ่งเพียงสั้นๆ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก สติเกิดดับพร้อมจิต เพราะฉะนั้นชั่วขณะที่มีลักษณะกำลังปรากฏให้รู้ ก็ต่างกับกำลังฟังเรื่องแข็ง โดยที่ลักษณะแข็งไม่ได้ปรากฏกับสติ เพราะว่าแข็งปกติก็จะปรากฏกับจิตที่รู้แข็งทางกาย กระทบตรงไหน จิตก็รู้แข็งตรงนั้น แต่ลักษณะของสติสัมปชัญญะ คือ มีความเข้าใจตรงแข็ง สภาพนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง จนกว่าทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีความเข้าใจตอนนั้นเพียงแว๊บเดียว แล้วก็จะเป็นตัวตนทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ประจักษ์หรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่ได้ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ ก็อบรมเจริญไป จนค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมต่างกันแต่ละลักษณะ ถึงจะรู้ได้ว่า ลักษณะหนึ่งต้องไม่มี ลักษณะอื่นจึงมีได้

    ผู้ฟัง แต่ แม้แต่จะคิดว่า เป็นอนิจจังหรือเป็นอนัตตา ความคิดนั้นห้ามไม่ได้ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครห้ามได้เลย แต่ต้องรู้ความต่าง

    ผู้ฟัง เวลาศึกษา เราจะต้องเข้าใจคำต่างๆ ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม โดยที่เราอย่าไปสนใจคำ จนกระทั่งปิดบังลักษณะของสภาพธรรม คือ ถ้าเราไปสนใจคำมาก เช่น จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ทำให้เราไม่รู้ลักษณะ มันจะเป็นอุปสรรค ที่เรียกว่า บัญญัติปิดบังสภาพปรมัตถ์ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่ามีเจตสิกมี ๑ ถูกไหม

    ผู้ฟัง ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์

    ผู้ฟัง ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ๑๐

    ผู้ฟัง ก็ต้อง ๕๒

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือเข้าใจ ให้เราเข้าใจให้ถูกต้องว่า สภาพธรรมที่เป็นเจตสิกไม่ใช่จิต และมีหลากหลายต่างประเภท เป็น ๕๒ ประเภท เพื่อจะได้ไม่ว่าประเภทไหนเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่เรา กว่าจะไม่ใช่เรา ก็แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริง แล้วเรารู้แค่ไหน อย่างลักษณะ ๔ ลักขณาทิจตุกะ มีสภาพของธรรมแต่ละอย่าง ก็จะกล่าวได้ถึงลักษณะเป็นต้น คือ ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร และกิจหน้าที่การงานของสภาพธรรมนั้นคืออะไร และอาการที่ปรากฏ ปรากฏอย่างไร และเหตุใกล้ที่จะให้เกิดสภาพธรรมนั้นคืออะไร และเราน่ะหรือสามารถที่จะรู้ ๔ อย่างนี้ได้ เราอาจจะสามารถรู้ได้ ๑ ลักขณะของสิ่งที่ปรากฏ อย่างเสียง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง กล่าวว่าเสียงมีจริง เพราะปรากฏเมื่อไร และเมื่อปรากฏแล้ว จะเป็นอื่นที่ไม่ใช่เสียงได้ไหม

    เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างก็ต่างกันไป และก็ทรงแสดงความละเอียด ซึ่งปัญญาของผู้เริ่มก็จะรู้ได้ว่า สามารถจะเข้าใจเพียง ๑ ใน ๔ หรือจะเข้าใจได้ทั้ง ๔ หรือสามารถจะประจักษ์แจ้งได้ทั้ง ๔ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งก็จะรู้ปัญญาของแต่ละบุคคลตามความเป็นจริง ไม่หลอก ไม่สับสน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะมีหลายระดับ คือบ่อยครั้งมากที่อาจารย์บอกว่า อย่าไปจำชื่อ ก็รู้สึกว่าต้องสนใจชื่อ เพราะเวลาเราสื่อสารกัน เราก็ต้องใช้ชื่อ

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วต้องการจำชื่อ หรือเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ต้องไม่จำชื่อ และเข้าใจให้ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ จำชื่ออะไร ควรเข้าใจชื่อนั้น หรือว่าจำไว้เฉยๆ

    ผู้ฟัง ต้องเข้าใจ จริงๆ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ไม่ต้องจำด้วยซ้ำไป ก็จะรู้ไปเอง แต่ถ้าตั้งใจจำ ท่อง ก็จะเป็นท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้ว กล่าวถึงเมื่อไร ความเข้าใจอันนั้นหายไปหรือเปล่า อย่างจิตเป็นธาตุ เป็นธรรมที่มีจริง มองไม่เห็น แต่เป็นธาตุที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่มีจิต ลักษณะนั้นๆ ก็จะปรากฏความต่างหลากหลายไม่ได้ ถ้าจิตไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ และจะไปเปลี่ยนให้จิตเป็นอย่างอื่น ต้องไปนั่งท่องอะไร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็เน้นว่าให้เข้าใจ ต้องฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพียงจำแล้วไม่เข้าใจ จะมีประโยชน์อะไร แล้วก็ลืม

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่าทุกอย่างมาจากเหตุ จากปัจจัย ก็จะไม่มีคน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ตามความเข้าใจจากการฟังธรรม ก็จะเน้นเรื่องนี้มากเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ปัจจัยต่างๆ ที่ได้ศึกษามา

    ท่านอาจารย์ เวลาฟังธรรม ประโยชน์ก็คือว่า เข้าใจแต่ละคำเพิ่มขึ้น อย่างขอกล่าวถึงเมื่อกี้นี้ที่คุณแก้วพูดถึงเรื่องสังขาร แล้วใช้คำว่า ประมวลมา คุณแก้วอยากเข้าใจคำว่า “สังขาร” หรืออยากเข้าใจคำว่า “ประมวล”

    ผู้ฟัง ดิฉันไม่เข้าใจคำว่า ประมวลไว้

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจคำว่า “สังขาร” แล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง สังขาร ก็ไปนึกถึง สังขารธรรม สังขารขันธ์ ลักษณะนี้ คือ การปรุงแต่ง ก็เข้าใจอย่างนี้ การประมวล ก็แปลว่ารวม ความเข้าใจก็คิดว่า ทุกอย่างก็คงจะรวมไว้ แต่ไม่กระจ่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่กระจ่าง เราจึงต้องค่อยๆ เข้าใจแม้แต่คำว่า “สังขาร” อีกหลายนัยด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อกล่าวถึงตรงนี้ จะหมายถึงสังขารอะไร อย่างสังขารธรรม เข้าใจไหม เป็นสภาพธรรมที่เกิด มีปัจจัยปรุงแต่ง เวทนาเป็นสังขารธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นสังขารธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นสังขารขันธ์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ นี่เข้าใจแล้ว ความต่างของสังขารธรรมกับสังขารขันธ์ / อวิชชาเป็นสังขารธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็เป็นสังขารธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นสังขารในปฏิจจสมุปปาท หรือเปล่า

    นี่คือเราต้องมีความละเอียดที่จะต้องรู้ แม้แต่คำที่เราได้ยิน ก็ที่ต่างๆ ถ้าจะกล่าวถึงคำนี้หมายความถึงอะไร ตรงไหน แต่พอพูดถึงอวิชชาเป็นสังขารธรรม หรือเปล่า เป็น หรือไม่เป็น

    ผู้ฟัง อวิชชาเป็นสังขารธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารขันธ์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์ด้วย

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารในปฏิจจสมุปปาท หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อวิชชาไม่ใช่สังขารในปฏิจจสมุปปาท

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็เพราะอวิชชาทำให้เกิดสังขาร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสังขารในปฏิจสมุปปาทได้แก่อะไร

    ผู้ฟัง ได้แก่เจตนา

    ท่านอาจารย์ คือต้องค่อยๆ เข้าใจ และก็จะมั่นคง และจะไม่สับสนด้วย

    แล้วสังขารตอนไหนประมวลมา ปฏิสนธิจิตในแต่ละภพแต่ละชาติ ก็แล้วแต่จะประมวลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้เกิดวิบากในชาตินั้นได้มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าใช้ศัพท์สับสน สับที่ ก็ไม่เข้าใจ หรือจะเอาแต่คำเดียวมา ก็ไม่สามารถเข้าใจได้

    ผู้ฟัง คำว่า “สัปปายะ” กับ “โลภะ” อยู่ในประเด็นเดียวกันหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเรามองหาอาหารที่สัปปายะ หรือหาสถานที่ที่สัปปายะ ก็แปลว่า เรากำลังต้องการบางอย่าง อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า จะจัดเข้าในประเด็นเดียวกัน หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ลืมว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่คำธรรมดาที่เราได้ยิน เรายังสงสัย แล้วเราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า แม้แต่คำภาษาบาลีที่ว่า “สัปปายะ” หรือภาษาไทยว่า “สบาย” เกี่ยวข้องอะไรกับธรรมในการอบรมเจริญปัญญา หรือเปล่า เพราะว่าทุกคนก็รู้เรื่องความสบายของตัวเอง ชอบอากาศเย็น หรือชอบอากาศร้อน แต่ละบุคคลก็รู้จักความสบาย แต่นั่นจะเป็นประโยชน์ต่อธรรม หรือเปล่า ถ้าเราปิดประตูห้องหมดเลย ปิดพัดลมด้วย คุณวิจิตรรู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ร้อนอบอ้าว

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมรู้เรื่องไหม อยากจะฟังต่อไป หรือขอออกไปข้างนอกสักครู่หนึ่ง พอให้สบายๆ เย็นๆ แล้วกลับเข้ามาใหม่ บางคนเป็นอย่างนี้ ข้างในนั่งไม่ได้ ชอบนั่งตามโคนต้นไม้ แล้วก็บอกว่า ข้างนอกสบายดีสำหรับบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นแต่ละคนมุ่งหวังอะไรในการศึกษาธรรม แล้วได้ยินคำว่า “สัปปายะ” ก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า ทั้งหมดเพื่อการเจริญขึ้นของปัญญา แต่ว่าการสะสมของแต่ละบุคคลก็ต่างอัธยาศัย เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่า เราปิดประตูหมด ปิดพัดลมหมด คุณวิจิตรบอกว่าร้อน ไม่สบาย เราเปิดหมดเลย พัดลมก็เปิด อากาศก็สบายดี อาหารก็อร่อย ทุกอย่างก็ดี คุณวิจิตรรู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็จะทำงานได้ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ

    ผู้ฟัง คือสัปปายะผมว่า มันเป็นเรื่องของโลภะ หรือเปล่า ยังข้องใจอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้าได้ยินคำเดียว ถ้าเราไม่เข้าใจคำนั้นจริงๆ พร้อมทั้งจุดประสงค์ด้วย เราก็ไม่สามารถบรรลุถึงจุดประสงค์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า เพียงแค่สบาย มีใครบ้างที่ไม่รู้จักคำนี้ ทุกคนรู้จัก แต่รู้จักเพื่ออะไร เพื่อตัวเองจะได้สบาย แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังธรรม ธรรมสัปปายะ คนหนึ่งชอบธรรมอย่างนี้ อีกคนหนึ่งชอบธรรมอีกอย่างหนึ่ง บางคนบอกสูงไป ฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่ที่จริงแล้ว ใครไม่รู้ ถ้าลองฟังจริงๆ เรื่องตา ทุกคนก็มี เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ เรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกคนก็มีแล้ว

    เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าไม่ใช่ธรรมที่สบาย ที่จะฟังเข้าใจ หมายความว่าอะไร ทั้งๆ ที่ธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ถูก ตรง และจริงด้วย เช่น ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วดับไป มีใครบ้างที่ไม่เห็นด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    17 เม.ย. 2567