พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
ตอนที่ ๓๑๖
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนี้จะกล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน ยากที่จะเชื่อ เพราะเคยจำไว้แน่นหนาว่าเป็นแน่นอน แต่สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นอย่างหนึ่ง เพราะปรากฏ ส่วนการทรงจำรูปร่างสัณฐาน และนึกคิด ถึงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเพียงปรากฏ เป็นอื่นไม่ได้เลย กว่าจะไถ่ถอนความเห็นผิด ก็คิดดูว่า ต้องเป็นความรู้จริงที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ปฏิเสธที่จะบอกว่า ไม่มีคน และสัตว์ แต่ไม่ใช่ขณะที่เห็น หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการเกิดดับสืบต่อ จะสามารถจำได้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แต่ขณะที่มีการจำได้ มีการยึดถือมั่นคง หรือเปล่า ว่าเป็นสัตว์บุคคลที่เที่ยง ถ้ายังคงมีความยึดถืออย่างมั่นคง ขณะนั้นเป็นอัตตานุทิฏฐิ ความเห็นคล้อยตามความคิดความเข้าใจว่า มีตัวตน หรือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการเกิดดับสืบต่อ เพียงปรากฏนิดเดียวแล้วหมดไปตามความเป็นจริง จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างไร แต่เมื่อปัญญายังไม่ได้ประจักษ์ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเพียงปรากฏแล้วหมดไป ก็ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูกต้องได้ว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ส่วนจิตที่เกิดต่อมาก็สามารถทรงจำคิดนึกว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร
ผู้ที่ดับกิเลสแล้ว ก็ยังเห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แต่เพราะเหตุที่ได้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป เห็นธรรมที่เป็นอนัตตา ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ประจักษ์แจ้งจนกระทั่งละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้น จึงรู้ความต่างกันของขณะที่เห็น และรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยที่ไม่มีการยึดมั่นเห็นผิดในสิ่งนั้นเหมือนเดิมที่เคยไม่รู้
ผู้ฟัง ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจได้ยาก ก็กล่าวแล้วว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับ ก็ควรจะจบกันไป แต่มีสัญญาที่ไปจำอีก ตรงนี้เลยทำให้เราเข้าใจไม่ได้ว่า มันเกิดแล้วดับไป
ท่านอาจารย์ เพราะเป็นธรรม ก็จบไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่เรา จะไปจบอะไร จิตที่เกิดขึ้นดับไปแล้ว การปราศไป หมดไปของจิตขณะก่อน เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดพร้อมเจตสิก ตามการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว ไม่มีใครสามารถจะไปยับยั้งได้ นอกจากปัญญาถึงระดับขั้นของการเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสหมด เมื่อจิตขณะสุดท้ายดับ ไม่มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้มีสภาพธรรมใดๆ เกิดได้เลย แต่ผู้ที่ยังไม่มีปัญญาระดับนั้นกว่าจะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ฟังไปๆ ๆ ค่อยๆ เข้าใจทีละนิดทีละหน่อย เมื่อไรจะคล้อยตามความเป็นจริงแล้วไม่ยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏ เพราะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพียงแค่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ ก็ยากใช่ไหม ก็เป็นจริง ก็จะต้องค่อยๆ อบรมไป เมื่อความเห็นถูกเป็นอย่างไร ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้
ผู้ฟัง รูปที่มีใจครอง อย่างเช่นของสัตว์โลกทุกชนิด รูปที่ไม่มีใจครอง อย่างโต๊ะ เก้าอี้ รถยนต์ ต้นไม้ เราจะเห็นความแตกต่างได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ รูปเกิดจากสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน ลักษณะที่แข็งเป็นปฐวีธาตุ จะเกิดจากสมุฏฐานใดก็แข็ง เฉพาะลักษณะของปฐวีธาตุ ต้องพูดทีละรูป เปลี่ยนแข็งที่โต๊ะไม่ให้แข็ง เปลี่ยนแข็งที่ตัวไม่ให้แข็งได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แข็งอยู่ที่ไหน ลักษณะนั้นก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้
ผู้ฟัง ความแตกต่างระหว่างรูปที่ไม่มีใจครอง อย่างโต๊ะ เก้าอี้ รถยนต์ เปรียบเทียบกับสัตว์โลกซึ่งประกอบด้วย ๔ สมุฏฐาน ผมว่าน่าจะมีความแตกต่างกันบ้าง
ท่านอาจารย์ ตรงไหนต่าง คิดได้สารพัด แต่ต่างกันตรงไหน แข็ง ต่างกันตรงไหน
ผู้ฟัง ไม่ต่าง แต่รูปที่มีใจครอง สามารถประกอบด้วยเหตุปัจจัย คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ส่วนรูปที่ไม่มีใจครอง ก็แค่อุตุเป็นส่วนประกอบเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ แต่ลักษณะของรูปไม่เปลี่ยน ธาตุดินที่แข็ง อยู่ที่ไหนก็แข็ง ไม่ว่าเกิดจากสมุฏฐานใด เฉพาะธาตุดิน
ผู้ฟัง แล้วรูปที่เกิดจากกรรม มีอะไรแตกต่างจากรูปที่เกิดจากอุตุไหม
ท่านอาจารย์ กรรมไม่ได้ทำให้รูปเดียวเกิด กรรมทำให้จักขุปสาทเกิดเป็นรูปประเภทหนึ่ง กรรมทำให้โสตปสาทเกิดเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง
ผู้ฟัง แล้วรูปที่เกิดจากจิต
ท่านอาจารย์ รูปที่เกิดจากจิต ก็ได้แก่การยิ้ม การหัวเราะ การพูด ถ้าไม่มีจิตคิดจะพูด พูดได้ไหม มีเสียงออกมาได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้ และรูปที่เกิดจากอาหาร
ท่านอาจารย์ ก็อาหารที่บริโภครับประทานเข้าไปถึงกาลที่จะทำให้รูปเกิด รูปก็เกิด
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นรูปที่เป็นของสัตว์โลกกับรูปที่เกิดจากอุตุ ก็คือรูปที่เกิดโดยธรรมชาติ
ท่านอาจารย์ มีทั้ง ๔ สมุฏฐาน สำหรับสัตว์บุคคล
ผู้ฟัง ก็ต้องมีความแตกต่างกัน ถูกไหม
ท่านอาจารย์ ตรงนี้พอได้ยินคำว่า “รูปขันธ์” สงสัยไหม หรือลืมไปแล้ว
ผู้ฟัง ไม่สงสัย จำได้
ท่านอาจารย์ รูปขันธ์จำได้ สภาพธรรมที่ต่างกับรูปขันธ์ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ อะไร
ผู้ฟัง นามขันธ์
ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง
ผู้ฟัง จิต เจตสิก
ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรเป็นนามขันธ์
ผู้ฟัง จิต
ท่านอาจารย์ จิตอะไรเป็นนามขันธ์
ผู้ฟัง จิตเห็น
ท่านอาจารย์ เห็น เราพูดง่ายๆ มากเลย เห็นเป็นนามขันธ์ ใครตอบไม่ได้ ไม่มีใช่ไหม แต่ที่จะรู้ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มี เช่น เห็นกำลังมี จะฟังไปอีกมากน้อยเท่าไร ไม่ต้องกังวลเลย เพราะเราเคยไม่รู้ความจริงของนามธรรมมานานแสนนาน จะให้หมดความสงสัยในนามธรรมทันที เป็นไปไม่ได้ แต่ยิ่งฟังก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยถึงความต่างกันของธาตุซึ่งเกิดแล้วไม่รู้อะไรเลย เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส กับธาตุอีกชนิดหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ในขณะนั้น เช่น ขณะนี้พูดได้ว่ามีเห็น และเรียกชื่อได้ว่าเป็นนามธรรม และบอกได้ด้วยว่า เป็นนามขันธ์ เพราะเหตุว่านามธรรมทั้งหมดก็เป็นประเภทของนามธรรม จะเป็นรูปธรรมไม่ได้
เห็นเป็นนาม เป็นธาตุ เป็นนามขันธ์ แต่กำลังเห็นก็ยังไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีทั้งหมด ถ้ารู้ความจริงว่าเป็นธรรม เป็นธาตุ ก็คือไม่มีเราเลย ถ้ามีเราอยู่ตราบใด ตราบนั้นก็ยังคงมีการยึดมั่น ยังมีการแสวงหา ยังมีการต้องตายแล้วเกิดอีกต่อไป แต่ว่าถ้าค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็ไม่หลงคิดว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจขั้นฟังก็อย่างหนึ่ง เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องเป็นอีกขณะหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่อาศัยการฟังเข้าใจจริงๆ การที่จะรู้ลักษณะที่กำลังเห็น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
เราได้ยินชื่อธรรม เช่น สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ แต่รู้ไหมว่า ขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วกำลังรู้ลักษณะ นั่นแหละคือ สติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่า เราไม่มี แต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจธรรม ก็คงต้องถามว่า เรา คืออะไร
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่ไม่รู้ ก็เป็นเราเห็น เราได้ยิน
ฟังธรรมก็เหมือนฟังเรื่องเก่าๆ ซ้ำไปซ้ำมา แต่อยู่ที่ไหนที่จะไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และยังคงไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะฟังจนกระทั่งค่อยๆ รู้ขึ้น
ผู้ฟัง คุณอรรณพ จริงๆ แล้วที่เราติดข้องก็เพราะเนื่องจากว่ามีสี มีกลิ่น แล้วก็มีรสที่ประกอบอยู่ในมหาภูตรูป จึงทำให้เรามีความติดข้อง กรุณาให้ความสำคัญตรงนี้ด้วย
อ.อรรณพ มหาภูตรูปเป็นรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคที่พระองค์ทรงรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ไม่ได้รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นธาตุที่ไม่รู้อะไรเลย คือรูปธรรม พระองค์ก็ทรงทราบว่า แม้รูปนั้นจะเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย แต่ก็มีความต่างกันของรูป เพราะรูปธรรม หรือรูปธาตุในที่นี้ หมายถึงสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ก็มีประเภทต่างๆ กันไป ไม่ใช่รูปทุกอย่างจะเหมือนกันหมด อย่างสีกับเสียง ก็ไม่เหมือนกัน ทุกคนก็พิสูจน์ได้ในขณะนี้ว่า สีที่ปรากฏทางตา กับเสียงที่ปรากฏทางหู ก็ไม่เหมือนกัน พระองค์ทรงตรัสรู้ว่า รูปซึ่งอยู่เป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มจะต้องมีรูปที่เป็นหลัก เป็นประธาน ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รูปอื่นๆ ซึ่งเป็นสภาพไม่รู้เหมือนกัน แต่ความต่างของสภาพของรูปก็มี
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นธาตุหลัก จึงเป็นที่อาศัยของธาตุอื่น ธาตุที่มาอาศัยรูปอื่นๆ รูปอื่นๆ ที่มาอาศัยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็คือ อุปาทายรูป อย่างน้อยก็ต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา เป็นอย่างน้อย กลุ่มที่เล็กที่สุด ไม่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน ไม่ว่าจะเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นสมุฏฐาน อาหารเป็นสมุฏฐาน หรืออุตุเป็นสมุฏฐาน ก็ตาม กลุ่มเล็กที่สุด ๘ รูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นธาตุหลัก และธาตุที่อาศัย ก็มีสี กลิ่น รส โอชา ซึ่งสีที่ปรากฏทางตา เห็นสี เราไม่ได้เห็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เห็นธาตุสี คือ วัณณรูปที่ปรากฏทางตา แต่จริงๆ แล้ววัณณรูปก็ต้องอาศัยมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ว่าไม่ได้ปรากฏทางตาสำหรับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินก็ปรากฏทางกาย
เสียงที่เราได้ยิน กลาปที่มีเสียงนั้น ก็ต้องประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เสียงปรากฏทางหูเท่านั้น ไม่ใช่มีรูปเสียงลอยๆ อยู่เพียงรูปเดียว แล้วเราได้ยินเสียง แต่จริงๆ แล้ว กลาปที่มีเสียงนั้น ก็ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี กลิ่น รส โอชา แต่เพีงแต่เสียงที่เป็นธาตุอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น
ผู้ฟัง ดิฉันคิดว่า กิเลสมาจากตรงที่สี เสียง กลิ่น รส ตรงนี้
อ.อรรณพ จริงๆ แล้ว กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะที่เกิดภายในตน ในบุคคลใดตามการสะสมมา เป็นกิเลสกาม แต่สี เสียง กลิ่น รส และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เพราะฉะนั้นเราติดทั้งมหาภูตรูป ทั้งอุปาทายรูป แต่ตัวสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย อันนี้เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ติดข้องของกิเลส
กิเลสไม่ได้อยู่ที่สี กิเลสไม่ได้อยู่ที่เสียง กิเลสไม่ได้อยู่ที่กลิ่น ไม่ได้อยู่ที่รส ไม่ได้อยู่ที่สภาพเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
ด้วยเหตุผลนี้พระองค์ท่านจึงทรงแสดงรูปธรรม และนามธรรม และยังทรงจำแนก รูปธรรม และนามธรรมอีกว่า รูปเป็นรูปขันธ์ รูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร เป็นส่วนของรูป หรือเป็นกอง เป็นกลุ่มของรูปออกมา ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่แสดงทำไม เพราะเป็นที่ติดข้องของกิเลส ซึ่งเป็นสภาพรู้
พระองค์ทรงแสดงธรรม และแจกแจงเป็นรูปขันธ์ และแสดงรูปขันธ์ต่างๆ เพราะว่ารูปขันธ์ ถึงแม้จะไม่รู้อะไรเลย แต่เป็นที่ติดข้อง ไม่ใช่กิเลสไปอยู่ที่สี ไม่ใช่กิเลสไปอยู่ที่เสียง
ผู้ฟัง เราจะไปโทษรูปไม่ได้เลย เพราะรูปเขาไม่รู้อะไร
อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นก็มีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนไป ก็จะปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ไม่ให้รู้สี ไม่ให้รู้เสียง ไม่ให้รู้กลิ่น ไม่ให้รู้รส เพราะคิดว่าสี เสียง กลิ่น รส นั้นเป็นตัวกิเลส แต่จริงๆ แล้วทรงแสดงว่า เป็นวัตถุกาม
ที่พระองค์ท่านให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ทั้งกิเลสกาม คือ ตัวโลภะ ตัวกิเลส ว่าเป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะติดข้อง เป็นตัวติดข้องโดยตรง แล้วก็รู้ทั้งสิ่งที่โลภะนั้นติดข้อง ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และนามธรรมต่างๆ ด้วย สภาพธรรมที่เป็นที่ยึดติดของกิเลสทั้งหมด ก็ควรรู้ว่าเป็นสภาพธรรม แม้รูปซึ่งไม่รู้อะไรเลย ก็เป็นที่ยึดติด
ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ คือ เราจะกล่าวไปเลยก็ไม่ได้ใช่ไหมว่า รูปเป็นเหตุให้กิเลสเกิด เพราะว่ารูปก็สามารถทำให้ปัญญาเกิดได้ ถ้าเราเข้าใจตรงนั้น
ท่านอาจารย์ รูปไม่มีเจตนาอะไรเลยทั้งสิ้น รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ถ้าจะมีความเข้าใจธรรม ก็พอจะพิจารณาได้ว่า เราติดมากน้อยแค่ไหน ลองคิดถึงขณะที่กำลังรับประทานอาหาร วันนี้ทุกคนรับประทานแล้ว แต่ยังไม่รับประทาน มองเห็น ติดข้องในอะไร รสยังไม่ได้ปรากฏ เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่รู้ความจริงว่า จริงๆ แล้วสิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท ปรากฏ แล้วก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งไม่ประจักษ์ความจริงว่า สิ่งนั้นเกิดดับ
นี่ก็คือการหลงติดในสิ่งที่ปรากฏทางตาทางหนึ่ง แล้วก็ยังไม่ได้ลิ้มรส ก็จะถามกันว่า อร่อยไหม จานนี้อร่อยไหม ผัดนี้อร่อยไหม ต้มนั่นอร่อยไหม แกงนั่นอร่อยไหม แต่ว่าสิ่งที่เราติดเพียงอยู่ในสิ่งที่เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีอยู่ตลอดเวลา สิ่งใดก็ตามที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว ธาตุทั้ง ๔ เมื่อมีแล้วก็เป็นที่อาศัย คือ มีรูปที่สามารถจะปรากฏกระทบตา ก็ไปติดในสิ่งที่เพียงรวมอยู่ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่เมื่อปรากฏแล้วก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง มีรูปร่างสัณฐานแปลกไป ทำให้ไม่คิดถึงลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว แต่ไปทรงจำด้วยความพอใจในรูปร่างสัณฐาน นี่คือทางตา
เรียกว่า วันหนึ่งๆ หนีไม่พ้นเลย ความไม่รู้ แล้วไม่รู้มากด้วย เช่น แม้แต่เพียงเห็น ก็ยังไม่รู้ว่า อร่อยไหม แต่สิ่งที่พอใจเพียงมีอยู่ ในความอ่อน หรือความแข็งของสิ่งซึ่งเกิดดับเมื่อไม่รู้ ก็รวมเรียกว่า เป็นปลา เป็นกุ้ง เป็นปู เป็นหอย เป็นผัก แต่มีรสอยู่ที่นั่น เมื่อมีการลิ้มรส คือ รูปนั้นได้กระทบกับชิวหาปสาทเมื่อไร รสที่มีอยู่ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นรูปหนึ่งที่เพียงอาศัยอยู่ที่นั่น ก็ปรากฏ แต่จิตก็ยินดีพอใจในรสนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ว่ารสอยู่ที่ไหน มีแต่ความทรงจำว่า รสอะไร เรียกว่าอะไร และอร่อยไหม นี่ก็ทางลิ้น
ทางหูก็เช่นเดียวกัน เสียง ถ้าไม่มีที่ตั้ง ไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะมีเสียงไหม เสียงไม่มีเลย แต่เสียงเมื่อมีการกระทบกันของแข็ง ก็ปรากฏรูปที่ประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และเสียงเพิ่มขึ้นอีก ๑ รูป เพราะว่าตามปกติธรรมดา ถ้ายังไม่มีการกระทบกัน ก็จะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน และในที่นั้นเอง มีทั้งสี มีทั้งกลิ่น มีทั้งรส มีทั้งโอชา โอชา คือ รูปที่เป็นปัจจัยให้รูปอื่นเกิดขึ้นได้ แต่ว่าเสียงไม่มี ต่อเมื่อใดที่มีเสียง ในกลุ่มของเสียง ก็จะต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา และเสียงก็อาศัยอยู่ที่นั่น เมื่อไม่รู้ความจริง เมื่อเสียงนั้นกระทบกับโสตปสาท เพราะว่าเป็นรูปเดียวที่สามารถกระทบโสตปสาท ความไม่รู้ ก็ยินดีพอใจในเสียงนั้น หรือไม่ยินดีพอใจในเสียงนั้น
ก็เป็นชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตายทุกขณะ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะคิด จะพูด จะทำ ตราบใดที่ไม่รู้ ก็มีความยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ผู้ฟัง ดิฉันเคยกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ทำไมเสียงไม่รวมอยู่ในมหาภูตรูป ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าเสียงรวมอยู่ในมหาภูตรูป ก็คงจะดังอยู่ตลอดเวลา มันจะเป็นอย่างนั้นเลย หรือ
ท่านอาจารย์ รูปที่แยกกันไม่ได้เลย ที่น้อยที่สุดมี ๘ ไม่ใช่เพียง ๗ หรือ ๖ หรือ ๕ หรือ ๔ แต่ที่ใดที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ๔ รูป ต้องมีสี กลิ่น รส โอชารวมอยู่ แล้วแต่ว่ากระทบกับปสาทใด จึงสามารถจะปรากฏได้ เช่น รส เก็บอาหารไว้ในตู้ ไม่รู้เลย อร่อย หรือเปล่า แต่เมื่อใดที่รสปรากฏ เมื่อนั้นก็ลืมว่าเป็นเพียงธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัยติดอยู่กับมหาภูตรูปเท่านั้นเอง แต่เวลาปรากฏก็เป็นที่ยินดีพอใจติดข้อง
ผู้ฟัง แล้วเวลาเปิดตู้เย็นมาเห็น แล้วก็บอกว่า นี่อร่อยมากเลย
ท่านอาจารย์ อะไรอร่อย
ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา
ท่านอาจารย์ เห็นไหม สิ่งที่ปรากฏทางตาอร่อยไม่ได้ แต่จำได้ แล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวตลอด แค่เห็นนิดเดียว อร่อยมาก มาแล้ว และนอกจากอาหาร จะเป็นเรื่องราวที่ยาวมากที่จำไว้ และยังคงเป็นปัจจัยให้คิดถึงอยู่ ตราบใดที่ไม่รู้ความจริง ก็เข้าใจว่า สิ่งนั้นยังมีอยู่ ยังมีอาหารอยู่ในตู้เย็นไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ จำไว้
ผู้ฟัง อยากจะทราบความหมายที่ว่า พื้นฐานของอภิธรรมกว้างแค่ไหน
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นเรา หรือเป็นธรรม
ผู้ฟัง ความจริงก็เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมที่ใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม
บง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เพียงกล่าวอย่างนี้ ละการยึดถือธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องกล่าวถึงภาวะความละเอียดของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งเป็นอภิธรรม เพราะละเอียดมาก เพื่ออะไร เพื่อให้มีความเข้าใจถูก จนกว่าจะค่อยๆ น้อมไปสู่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง เช่นฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ขณะนี้เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมหรือเปล่า เสียงเป็นธรรมหรือเปล่า ได้ยินเป็นธรรมหรือเปล่า คิดนึกเป็นธรรมหรือเปล่า ก็ยังไม่ได้เป็นเลย
ทุกขณะที่ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ก็จะไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อมีความเข้าใจละเอียดเพิ่มขึ้น การที่จะเห็นว่าสภาพธรรมเป็นอนัตตา ก็มีเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การมีพื้นฐานที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นคง ไม่คลาดเคลื่อน ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถที่จะเข้าถึงด้วยปัญญาที่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีพื้นฐานเลย ไม่มีความเข้าใจที่มั่นคง ที่กำลังเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ที่เป็นสังขารปรุงแต่งให้น้อมไปสู่การที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานที่จะเกิด และรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และปัญญาเห็นถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังขณะนี้ ก็เป็นไปไม่ได้
พื้นฐาน คือ ความเข้าใจเรื่องธรรมที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นผู้มีศรัทธาเพิ่มขึ้นด้วย มั่นคงขึ้นอีก จนกว่าสามารถประจักษ์แจ้งความจริงของสภาวธรรมได้
ผู้ฟัง ฟังดูแล้วเหมือนจุดประสงค์ที่มาศึกษานี้ คือ ละความเป็นตัวตน ให้เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีตัวตน แต่เรายังเข้าใจผิด ก็ยังต้องมีตัวตนอยู่ ก็แน่นอน เมื่อยังไม่ได้ละก็ยังมีอยู่
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 301
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 305
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 306
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 309
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 318
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 328
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 329
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 341
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 350
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360