พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๒๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง จิตดวงหนึ่งสะสมสืบต่อไปอีกดวงหนึ่ง คำว่า “อาสยะ” หมายถึงการสั่งสมทั้งกุศล และอกุศล คนที่ยังไม่เข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า เขาจะนึกว่า จิตดวงเดียวสืบต่อจากจิตดวงที่ ๑ ไปดวงที่ ๒ สะสมสืบต่อทั้งกุศล และอกุศล ก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่า กุศล อกุศล อยู่ในจิตดวงเดียวกัน หรือ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นนามธรรมไม่ใช่หรือ จะมองเห็นไหม ไม่เห็น แล้วดับไปแล้ว แล้วสะสมเป็นปัจจัยที่จะให้กุศล หรืออกุศลประเภทนั้นๆ เกิดอีก ตราบใดที่อกุศลยังไม่ดับหมดสิ้น จึงมีคำว่า “อนุสัย” แสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้สังสารวัฏฏ์เกิดสืบต่อไม่สิ้นสุด จนกว่าจะดับอนุสัย

    ผู้ฟัง ถูกต้อง แต่มีทั้งกุศลอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็สะสม ทั้งฝ่ายกุศลก็สะสมด้วย เมื่อกุศลดับไปแล้ว เป็นประเภทของทาน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดการคิดที่จะให้ สละวัตถุเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ด้วยเหตุนี้บางคนก็เป็นทานุปนิสัย ให้ง่าย สละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น รู้สึกจะทนไม่ได้ที่จะไม่ให้ ก็มี นี่ก็แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยที่สะสมมาจนมีกำลัง บางคนก็สะสมความตระหนี่ บางคนก็สะสมความเมตตา แล้วแต่กุศลจิต อกุศลจิต ประเภทใดเกิดแล้วดับไป แต่การสืบต่อนั้นเป็นปัจจัยที่จะทำให้ยังมีสภาพนั้นๆ สะสม ซึ่งทำให้แต่ละคนในแต่ละขณะต่างกันไป

    ผู้ฟัง เมื่อมีปัจจัย เขาก็เกิดเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด ทุกอย่างเกิดเพราะปัจจัย

    ผู้ฟัง ขอถามอาจารย์วิชัย เมื่อสักครู่ได้ยินว่า จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งสะสมทั้งกุศล และอกุศลเลย หรือ จิตที่เป็นกุศลก็สะสมกุศล จิตที่เป็นอกุศลก็สะสมอกุศลไม่ใช่ หรือ

    อ.วิชัย การสั่งสมสืบต่อ จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นก็สั่งสม จิตที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นก็สั่งสม แต่สั่งสมที่ไหน

    ผู้ฟัง สั่งสมที่จิต

    อ.วิชัย ตัวอย่างเช่นจิตเกิดดับสืบต่อกัน การสั่งสมก็ไม่สูญหายไปไหน แม้จิตดวงนั้นดับไปแล้ว แต่ก็ยังมีการสืบต่อของการสั่งสมแก่จิตอีกดวงหนึ่ง

    ผู้ฟัง ถ้าจิตดวงเดียวสั่งสมทั้งกุศล และอกุศลได้

    อ.วิชัย ต้องเข้าใจว่า จิตสั่งสม หมายถึงว่า เป็นนามธรรม บางครั้งเราอาจคิดอย่างรูป แต่จิตไม่ใช่รูป นามธรรมไม่ใช่รูป นามธรรมไม่มีสรีระ ไม่มีรูปร่างอะไรเลย การสั่งสม อย่างเช่น บางบุคคลสั่งสมในการให้ทาน กุศลจิตที่เป็นไปในการให้ทาน ก็สามารถเกิดขึ้นตามการสั่งสม ตามความเป็นปัจจัยก่อนๆ

    ผู้ฟัง คือจิตดวงเดียวทั้งกุศล และอกุศล ไม่น่าจะเป็นไปได้

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์จะให้ความหมายของการสั่งสมไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาเกิดขณะแรก มีจิตกี่ขณะ

    ผู้ฟัง ๑ ขณะ

    ท่านอาจารย์ เป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติวิบาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กุศล อกุศล ใช่ไหม แล้วมีการสั่งสมของกุศลอกุศลในปฏิสนธิจิตขณะนั้น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง น่าจะมี

    ท่านอาจารย์ ก็เปลี่ยนแล้วใช่ไหม คือ มีทั้งการสะสมที่ได้สะสมมาแล้วในปฏิสนธิจิต ๑ ขณะพร้อมที่เมื่อมีปัจจัยของอกุศลประเภทใดเกิด อกุศลประเภทนั้นก็เกิด ถ้ามีปัจจัยที่กุศลประเภทใดจะเกิด กุศลประเภทนั้นก็เกิด เพราะว่ามีการสะสมของกุศล และอกุศลในจิตทุกขณะ สืบต่อกัน เพราะว่าจิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ถ้าอย่างนั้นก็หมดไปเลย ไม่มีอะไรเหลือ แต่ว่าเมื่อเป็นกุศล และอกุศลดับไป ก็ทำให้การเกิดขึ้นนั้นเอง แม้ดับไปแล้ว ก็มีปัจจัยสืบต่อที่จะทำให้กุศลประเภทนั้น หรืออกุศลประเภทนั้นเกิด คือ ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เพื่อให้รู้ว่า ไม่ใช่เราเลย แล้วใครที่จะรู้ทั่วถึงได้ ก็คือว่า สามารถจะแสดงความจริงของแม้จิต ๑ ขณะ ที่ทำกิจต่างกัน อย่างปฏิสนธิจิตเป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม และกรรมที่ได้กระทำมาแล้วในแสนโกฏิกัปป์ที่ยังไม่ได้ให้ผล ก็สะสมสืบต่อจนถึงกาลที่จะให้ผลเมื่อไร วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นก็เกิด

    เวลาที่วิบากเกิด ผลของกรรมเกิด เราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า นี่เป็นผลของกรรมชาติไหน เป็นชาตินี้ที่ได้กระทำไว้ หรือเป็นชาติก่อนนี้ หรือว่าเป็นชาติก่อนๆ นานมาแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเวลาที่วิบากของพระองค์เกิด เช่น ทรงประชวร ก็ทรงแสดงถึงเหตุในอดีตนานมาแล้วที่สะสมสืบต่อ เป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้นได้ทางกาย ถ้าไม่มีการสะสมที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น ไม่มีกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว วิบากก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้เมื่อดับกิเลสหมด ไม่มีทั้งกุศล และอกุศลที่จะทำให้เกิดวิบากหลังจากที่ปรินิพพานแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน กรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็สามารถเป็นปัจจัยทำให้วิบาก คือ ผลเกิดขึ้น

    ขณะเห็น เป็นผลของกรรมใช่ไหม เป็นผลของกรรมไหน

    ผู้ฟัง อกุศล หรือกุศล

    ท่านอาจารย์ บอกไม่ได้เลย ไม่รู้ เพียงแต่รู้ว่าเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ยังมีเหตุที่สะสมอยู่ในจิตที่เห็น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ยังมีปัจจัยพร้อมที่ว่า เมื่อเห็นดับไปแล้ว ถึงกาลที่กุศลจิตจะเกิด อกุศลจิตจะเกิด ก็เกิด

    อ.อรรณพ การที่จิตของใครจะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็เพราะอุปนิสัยในอดีตที่เคยสะสมอกุศลอย่างนั้นมา หรือกุศลอย่างนั้นมา ก็ดูเหมือนว่า คนที่สะสมอกุศลมา ก็จะมีเกิดอกุศลอย่างนั้นๆ แล้วก็สะสมอกุศลอย่างนั้นๆ เรื่อยๆ ไป ถ้าอย่างนั้นจะมีการสะสมสิ่งที่ดี ค่อยๆ เปลี่ยนไปได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็สะสมทั้งกุศล และอกุศล และกุศล อกุศลที่สะสมนี่ปนกันหรือเปล่า

    อ.อรรณพ ไม่ปน

    ท่านอาจารย์ ปนกันไม่ได้เลย

    อ.อรรณพ แต่ก็อยู่ในจิตแต่ละขณะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อยู่ในจิต จะอยู่ที่ไหน ลองหาที่อยู่ ก็ไม่มีใช่ไหม ก็ต้องอยู่ในจิตขณะต่อไปนั่นเองทีละ ๑ ขณะ

    บางคนตระหนี่ มีไหม สะสมไปอีก ก็ตระหนี่มาก เป็นอาสยะ แต่ไม่ใช่เป็นอนุสัย อาสยะ หมายถึงการสะสมทั้งกุศล และอกุศลที่ได้เกิดขึ้น เวลาที่เกิดความตระหนี่ขึ้น เป็นอกุศล ก็สะสมเป็นอุปนิสัย จะเห็นว่าบางคนก็ตระหนี่มาก ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสมมา ความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้รู้ว่า จะเก็บไว้ทำไมกับสิ่งที่ไม่ใช้ ไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย แม้แต่กับตนเอง แต่ถ้าไม่ตระหนี่ และสามารถให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ ขณะนั้นก็จะค่อยๆ คลายความตระหนี่ ก็แล้วแต่กำลังของปัญญาที่สะสมจะทำให้มีการคิดนึก มีการกระทำที่เป็นกุศล และอกุศลต่างกันไปอีกในแต่ละชาติ แต่ให้ทราบความต่างกันของอาสยะ กับอนุสัย เพราะเหตุว่าสำหรับอาสยะ สะสมทั้งกุศล และอกุศลทั้งหมด ความตระหนี่ ความริษยา ก็เป็นอาสยะ แต่ไม่เป็นอนุสัย

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องทราบว่า ทำไมจึงทรงแสดงอาสยานุสยญาณ ทั้ง ๒ อย่าง และสำหรับเรื่องการสะสม คนเรามีแต่อกุศลเท่านั้น หรือ หรือว่าบางกาลก็เป็นกุศล ถ้าบางกาลเป็นกุศล ถ้าไม่มีการสะสมมาเลย กุศลประเภทนั้นจะเกิดได้ไหม หรือว่าถ้าไม่มีการสะสมของอกุศลมาเลย อกุศลประเภทนั้นจะเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ถึงกาลที่กุศลจะเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย เรื่องปัจจัยเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าฟังเรื่องราวในพระไตรปิฎกก็จะเห็นอัธยาศัยของแต่ละท่านในครั้งอดีตเนิ่นนานมาแล้ว จนกระทั่งถึงชาติที่มีโอกาสได้ฟังธรรม และได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ละท่านก็มีอกุศล และกุศลที่ได้สะสมมา อย่างผู้ที่สะสมอกุศลมา แล้วก็เกิดเป็นคนยากไร้ เป็นโรคเรื้อน แต่ว่ามีโอกาสฟังธรรม ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า อกุศลก็สะสมฝ่ายอกุศล และกุศลก็สะสมฝ่ายกุศล แล้วแต่ว่าเป็นโอกาสของกรรมใดในชาติไหนที่จะทำให้สามารถที่จะมีกุศลประเภทใดเกิดขึ้น

    คนที่สะสมกุศล และสะสมอกุศลด้วย เวลาที่จะจากโลกนี้ไป ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า กรรมไหนจะให้ผล อย่างม้ากัณฐกะ ทุกคนคงรู้จัก พระผู้มีพระภาคประทับม้ากัณฐกะ ออกจากพระนครเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำไมเป็นม้ากัณฐกะ หลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว เกิดเป็นเทพบุตรลงมาเฝ้าฟังธรรม เป็นพระโสดาบัน ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยถึงความซับซ้อน ความละเอียดของอกุศล และกุศลแต่ละขณะที่สะสมไป แต่ว่าสามารถจะรู้ได้ว่า มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ธรรมที่ได้เข้าใจแล้ว เข้าใจระดับไหน บางคนคิดว่า ฟัง “ทุกอย่างเป็นธรรม” เหมือนเข้าใจ กำลังเห็นขณะนี้เป็นธรรม หรือยัง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขั้นฟัง พอจะรู้ พอที่จะเข้าใจ ไม่ยากที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมด มีลักษณะต่างกัน อย่างเห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก ความจำก็ไม่ใช่ความรู้สึก ก็พอที่จะรู้ได้ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะซึ่งต่างกันไป แต่ว่าในขณะที่จำ เป็นธรรมหรือเปล่า ตรงกับที่ได้เข้าใจหรือเปล่า เพราะว่าความเข้าใจต้องมั่นคงตั้งแต่พื้นฐาน และไม่เปลี่ยนด้วยนะคะ ถ้ามีความเข้าใจเพียงชื่อว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็พูดตาม แต่เวลาเห็นยังไม่ใช่เป็นธรรม เวลาคิดนึกก็ยังไม่ใช่เป็นธรรม เป็นเรา

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ตรง มีความเข้าใจธรรมที่ได้ฟังจริงๆ หรือฟังแล้วก็จำ แล้วก็รู้ว่า จริงๆ แล้วต้องเข้าถึงความเป็นธรรม เมื่อกล่าวว่าทุกอย่างเป็นธรรม เห็นต้องเป็นธรรม ได้ยินต้องเป็นธรรม เสียงต้องเป็นธรรม กลิ่นต้องเป็นธรรม และทุกอย่างมีจริงทั้งนั้นเลยในชีวิตประจำวัน เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตายาวมาก ได้ยินเสียง ไม่ได้หมดเพียงแค่ได้ยินเสียง ยังคิดนึกเรื่องราวตามที่ได้ยินอีกยาวมาก

    ก็แสดงให้เห็นว่า ตลอดทั้งวันก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ฟังจนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคงจริงๆ สามารถที่จะระลึกลักษณะที่เป็นธรรมได้ เพราะเหตุว่าที่กล่าวว่า เป็นธรรม ไม่ใช่กล่าวลอยๆ ขณะนี้มีธรรมกำลังปรากฏ พูดเรื่องธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจยิ่งขึ้น เพิ่มขึ้น แม้ทีละเล็กทีละน้อย ก็มีความเข้าใจถูกว่า เป็นธรรม แต่ยากไหม ขั้นฟังนี่ไม่ยากที่จะเข้าใจได้ เพียงเข้าใจ แต่ถ้าต่อไปๆ ยากมากที่จะเข้าถึงลักษณะของจิตเห็น ที่กำลังเห็นในขณะนี้ เพียงเห็น แต่เป็นอย่างนี้ หรือเปล่า ไม่ใช่เพียงเห็น

    กว่าจะรู้จริงๆ ว่า ไม่มีอะไรเลย แม้แต่เรา แต่มีเห็นกับสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความจริงที่จะต้องเข้าถึงลักษณะของธรรม จึงจะกล่าวได้ว่า เข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงได้ยินได้ฟังแล้วก็เห็นไป แล้วก็บอกว่า เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม

    จึงต้องเป็นผู้ที่ตรง ที่จะมีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่า นี่เป็นความเข้าใจขั้นฟัง ซึ่งไม่สามารถประจักษ์แจ้งในความเป็นธรรม ในขณะที่กำลังเห็น จนกว่าเมื่อไร ฟังไปอีกเท่าไร ใครบอกได้ไหม ไม่ได้ แต่สะสมที่จะค่อยๆ เข้าใจ และเห็นประโยชน์ ถ้าเป็นผู้ที่ตรง ก็จะไม่หันไปหาการกระทำอื่น ที่ไม่สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยเข้าใจว่า สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงอย่างนี้ วันหนึ่งต้องถึง จะช้า หรือเร็วก็ดูตัวอย่างของพระสาวกทั้งหลายในอดีตที่ท่านสะสมมา แต่ด้วยความเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังไม่ต้องไปไกลถึงเรื่องปัจจัยอะไรๆ ก็ได้ แต่ว่าเมื่อฟังก็ทำให้คล้อยตามไปในความอนัตตายิ่งขึ้นว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟังถามว่า การบริจาคที่ดินสร้างสถานธรรมในแนวเจ้าแม่กวนอิม เขาบอกว่าเป็นพระพุทธศาสนา จะเป็นกุศล หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องการคำตัดสินใช่ไหม หรือว่าจะเข้าใจขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนไม่ใช่อกุศล เพราะเหตุว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก มากจนกระทั่งถ้าไม่ศึกษาลักษณะของสภาพจิตแต่ละขณะ จะสับสนปะปนกัน ต้องศึกษาเรื่องสภาพธรรม คือจิตให้เข้าใจ แล้วสามารถจะเข้าใจได้ ไม่ใช่เพียงพูดแล้วก็ตัดสินว่า ขณะนั้นเป็นกุศล ขณะนี้ไม่ใช่กุศล แต่ว่าเป็นสภาพที่มีจริง และกำลังปรากฏให้เข้าใจถูก

    การฟังธรรม ไม่ลืมว่า ฟังเพื่อเข้าใจ แต่ไม่ใช่เพื่อตัดสินว่า เป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล และใครจะตัดสิน หรือว่าความเห็นถูกในสภาพของจิตที่กำลังเป็นอย่างนั้นในขณะนั้น ถ้าล่วงเลยขณะนั้นไปแล้ว ใครจะไปบอกว่า เป็นกุศลหรืออกุศล รู้ได้อย่างไร คนอื่นก็บอกไม่ได้ นอกจากปัญญาของผู้ที่ฟังธัมมะเข้าใจธัมมะ ขณะนั้นเริ่มรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ยังไม่ต้องเป็นผู้ตัดสินว่า เป็นกุศล หรืออกุศล เพียงแต่ว่าเป็นธรรม ให้รู้ว่าเป็นธรรม ก็ยังไม่ถึงการที่จะรู้ว่า คิดขณะนี้เป็นธรรม แต่ว่าไปคิดเรื่องอื่นที่จะตัดสินว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็เป็นเรื่องของแต่ละท่านซึ่งเมื่อกุศลจิตเกิดก็รู้ เมื่ออกุศลจิตเกิดก็รู้ แต่ว่าไม่ใช่ไปคิดเรื่องราว และก็บอกว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ไม่ทราบเป็นที่พอใจ หรือเปล่า เพราะรู้สึกว่า อยากจะให้มีการบอก มีการตัดสิน แต่ปัญญาของใคร แล้วก็เชื่อหรือเปล่า แล้วก็เป็นจริงหรือเปล่า แล้วใครจะรู้ กับความจริง ซึ่งกุศลจิตก็เป็นกุศลจิต อกุศลจิตก็เป็นอกุศลจิต เปลี่ยนไม่ได้เลย แต่ต้องรู้ในขณะนั้น ไม่ใช่ในขณะอื่น และเมื่อรู้ว่าเป็นธรรม ก็จะคลายความเป็นเรา แต่ถ้าตัดสินอย่างนี้ ก็ไม่ได้คลายความเป็นเรา เพราะไม่ใช่ความรู้ของตัวเอง

    ผู้ฟัง ดิฉันมีความรู้สึกว่า ในขณะที่อกุศล หรือกุศลจิตเกิด จะสะสมเลยทันทีในขณะที่อยู่ในชวนวิถี อันนี้ใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าโดยที่แสดงไว้ กล่าวถึงการสั่งสมสันดาน ด้วยสามารถของชวนวิถีจิตที่เป็นกุศล อกุศล และมหากิริยาจิตที่เป็นของพระอรหันต์ เพราะโดยจิตเหล่านี้สามารถจะสั่งสม

    ผู้ฟัง ที่ดิฉันเน้น หมายความว่าทันทีในขณะซึ่งกุศล หรืออกุศลเกิด ก็น่ากลัวมากๆ เลยในขณะซึ่งกุศลหรืออกุศลเกิด เขาเก็บทันที สะสมทันที ถ้าเราเรียนแล้ว จะเห็นความน่ากลัวของชวนวิถีมากๆ เลย คนที่มีอารมณ์อะไรมากๆ รุนแรง ก็จะสะสมมากๆ ต่อไป ก็เป็นบทเรียนที่ควรจะคิด แต่ก็บังคับบัญชาไม่ได้ มีวิธีอย่างไรไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วจะทำอย่างไร อนัตตา

    ผู้ฟัง อันนี้คือปัญหา ก็มีอยู่ทางเดียว คือ หมั่นอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นเอง ช่วยได้ทางเดียว

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจธรรม ก็ไม่สูญหายเลย

    ชื่อว่า “พื้นฐานพระอภิธรรม” แล้วจริงๆ พื้นฐานพระอภิธรรมอยู่ที่ไหน เดี๋ยวฟังแต่ชื่อ แล้วก็จำได้ว่าเราจะสนทนาเรื่องพื้นฐานพระอภิธรรม และพื้นฐานพระอภิธรรมจริงๆ อยู่ที่ไหน ไม่พ้นจากที่เราได้ฟังมาเมื่อสักครู่นี้เลย คือ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรมซึ่งต่างกันไปเป็นจิต เจตสิก รูป และเมื่อสักครู่ก็พูดเรื่อง “สันตานะ” เรื่องการสั่งสมของกุศลอกุศลทั้งหมด ขณะนี้ที่ฟัง มีความเข้าใจที่จะเป็นพื้นฐานสะสมอยู่ในจิต ที่จะทำให้สภาพของจิตต่อไปประกอบด้วยปัญญา ตามระดับขั้นของความเข้าใจ

    ไม่ใช่ว่า ฟังแล้วหมดไปเลย ทุกครั้งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ความเข้าใจซึ่งเกิดจากการฟัง ก็สะสมเป็นพื้นฐานของจิตแต่ละคนที่จะเจริญขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศล หรืออกุศลก็ตาม อกุศลเกิดขึ้น ๑ ขณะ สะสม ที่ต่อไปก็จะมีอกุศลเพิ่มขึ้นๆ ตามอัธยาศัยซึ่งปรากฏให้เห็นว่า แต่ละคนอัธยาศัยต่างกัน ต้องมีเหตุ คือ สภาพธรรมนั้นๆ เคยเกิด แล้วก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดอย่างนั้นๆ อีก

    เมื่อเป็นเรื่องของปัญญา จากการมีศรัทธาที่จะฟัง แล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความเข้าใจ คือ ปัญญา ไม่ใช่เฉพาะปัญญาเท่านั้นที่เพิ่ม ศรัทธา และโสภณธรรมอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย ตามกำลังของความเข้าใจ เป็นพื้นฐานของจิต ซึ่งไม่ว่าเราจะไปเกิดที่ไหน ภพไหนอย่างไร ความเข้าใจนี้ก็จะทำให้ได้เกิดศรัทธาที่จะฟัง และเพิ่มความเข้าใจขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่รอบคอบ เป็นผู้ที่มีความมั่นคง และมีความเข้าใจที่ไม่สับสน เช่น ถ้ารู้ว่า ธรรมทั้งหลาย อยู่ที่ไหน ต้องรู้ ใช่ไหม อะไรเป็นธรรม จึงเป็นธรรมทั้งหลาย แล้วยังเป็นอนัตตาอีก ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของใคร การฟังอย่างนี้บ่อยๆ เพื่อให้เป็นพื้นฐานที่สะสมที่มั่นคง ที่จะเข้าใจยิ่งขึ้น ตรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น สามารถที่จะละคลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเราได้ในวันหนึ่ง ไม่ใช่ฟังวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะละได้ เป็นไปไม่ได้เลย ก็ต้องทราบว่า ความลึกของความไม่รู้ซึ่งมีมาก สะสมทับถมทวีคูณกี่เท่าก็ไม่ทราบ มากมายจนกระทั่งกว่าปัญญาความเห็นถูก จะค่อยๆ อบรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้มี ถ้าไม่เคยฟังธรรมเลย ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ว่า เป็นธรรม ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงอยู่ตลอด แต่แม้จะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรเลยซึ่งไม่ใช่ธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ลองคิดถึงความไม่รู้ และการสะสมการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากแค่ไหน เพราะเพียงแต่ได้ยินคำว่า “สิ่งที่ปรากฏทางตา” สะสมพื้นฐานของจิต ของปัญญา พอที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่มีใครสักคนในสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเมื่อมีการเห็นขณะใด ลักษณะของสภาพธรรมอย่างนี้ก็ปรากฏ จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย แต่ก็ห้ามความคิดนึก และสัญญา ความจำที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะว่าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะปัญญายังไม่ได้อบรมที่จะสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ทุกครั้งที่เห็น ก็เห็นเป็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อจะให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    26 เม.ย. 2567