พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303


    ตอนที่ ๓๐๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ในขณะที่สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นไม่มีชื่อ แต่สามารถสื่อความหมาย หรือเรียกชื่อกันได้ว่า ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่าแข็ง ลักษณะของแข็ง เรายังไม่รู้เลยว่า เป็นโต๊ะ เก้าอี้ หรือเป็นไมโครโฟนที่ผมกำลังจับอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นโต๊ะ เป็นตัวตน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราศึกษาธรรมเพื่อให้มีความเห็นถูกต้องว่า ธรรมแต่ละลักษณะเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แต่ความเข้าใจขั้นการฟัง ก็มีความสนใจที่จะรู้ว่า เหตุใดเราจึงเรียกว่า สิ่งนี้เป็นไมโครโฟน หรือจับ แล้วมีแข็ง แล้วก็นึกคิดออก

    ท่านอาจารย์ ถ้าหลับตาในห้องมืด คุณประทีปจับ แล้วรู้ไหมว่า จับอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ ต้องนึกหลายๆ ครั้งก่อน ก็เหมือนเดา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรจริง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่เป็นความจริงที่ปัญญารู้ได้ ก็คือรู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ทางกายก็จะรู้เพียงแข็ง หรืออ่อน เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว คือ สิ่งนั้นที่กำลังปรากฏให้รู้เท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่สิ่งที่ปรากฏนั้น ถึงแม้จะรู้ทางตาอย่างเดียว สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็จะต้องมีลักษณะต่างๆ กัน จึงเรียกชื่อของสิ่งที่ปรากฏทางตาต่างๆ กันนั้นว่า เป็นดอกไม้บ้าง เป็นวิทยากรบ้าง ถ้าอย่างนั้นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงแม้จะมีเพียง ๖ ลักษณะ แต่ลักษณะที่ปรากฏนั้น จะต้องปรากฏลักษณะที่ต่างๆ กัน แต่ไม่มีชื่อ

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงเข้าใจความหมายของคำว่า “ขันธ์” หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เลว ประณีต ก็ แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร ก็ไม่พ้นจาก ถ้าเป็นรูป ก็เป็น รูปขันธ์จะไปเป็นเวทนาขันธ์ วิญญาณขันธ์ไม่ได้ ธรรมประเภทไหนก็เป็นประเภทนั้น แม้ว่าจะหลากหลาย เกิด แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ก็ต่างกัน

    ผู้ฟัง แต่เราไม่สามารถจะแยกแยะออกมาได้ทีละขณะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้เราไปแยก แต่ให้เข้าใจให้ถูก

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจให้ถูก ว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจให้ถูกว่าไม่ใช่ขณะเดียว

    ผู้ฟัง เนื่องจากสภาพธรรมที่ท่านอาจารย์ได้ช่วยอธิบายว่า มีเพียง ๖ อย่างจริง แต่สภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะทางตานั้น ก็มีลักษณะที่ปรากฏต่างๆ กัน จึงเรียกชื่อลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นชื่อต่างๆ กัน ตามความคุ้นเคยของภาษาพื้นเมือง ภาษาพื้นบ้าน ที่แต่เล็กแต่น้อย เราก็ติดอยู่ในนี้ตลอดมา

    ท่านอาจารย์ แล้วทั้งหมดก็ดับไป โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดที่กล่าวถึงเลย จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร มีลักษณะของปรมัตถธรรมเมื่อนั้น จึงรู้ว่า นี่เป็นสิ่งที่มีจริง อย่างอื่นทั้งหมดที่ผ่านไป ดับหมด แล้ว ไม่เหลือเลย

    ผู้ฟัง ไม่กลับมาเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่กลับมาเลย ไม่เหลือเลย เพราะเหตุว่าเกิดจากปัจจัยที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง แล้วขณะนี้เอง มีปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะต้องเป็นของใหม่ทั้งนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง รวดเร็วจนคิดเองไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มีแต่นิมิต อยู่ในโลกของความฝันว่า มีทุกอย่างที่เที่ยง ยั่งยืน ไม่ได้ดับไปเลย

    ผู้ฟัง แล้วปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏนี้ ก็ไม่ใช่ปรากฏขึ้นมาลอยๆ จะต้องมีเหตุมีผลของเขาที่เกิด แล้วปรากฏอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพียงเกิด แล้วก็ดับ ตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง แต่ความเข้าใจในขั้นการฟังนี้ คงไม่สามารถเข้าใจอย่างนั้นได้

    ท่านอาจารย์ การเข้าใจมี ๓ ขั้น ฟังเข้าใจ ถ้าฟังไม่เข้าใจ อย่างไรๆ สติสัมปชัญญะก็ไม่เกิด ไปเป็นตัวตนที่นั่งทำสมาธิ แล้วไปชื่อว่า “สติ” แต่ว่าไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ จนกระทั่งมีความมั่นคง เป็นปัจจัยให้มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นสติอีกระดับหนึ่ง แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ ก็กำลังรู้ลักษณะ ซึ่งโดยปกติแม้มีลักษณะที่ปรากฏ ก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ขณะใดที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเพราะสติกำลังรู้ลักษณะของสิ่งนั้น เกิด แล้วจึงรู้ลักษณะของสิ่งนั้นที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ แล้ว หนทางที่สติปัฏฐานจะระลึก ก็ไม่มีโอกาสเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความรู้ต้องตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง และความรู้ในขั้นการฟังเบื้องต้น ความรู้ในลักษณะนี้จะต้องติดตัวไปตลอด จนกระทั่งเข้าใจธรรมได้มากขึ้น อย่างนี้ตลอดไปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สะสมไป อีก ๑๐ ปี จะรู้ความต่างไหม ทีละน้อยมาก เหมือนเวลานี้อกุศลเกิดทีละน้อย เรารู้สึกตัว หรือเปล่า ไม่รู้สึกตัวเลย พอเห็น ไป แล้ว ๗ ขณะ แล้วก็ไม่ได้เห็นครั้งเดียว วาระเดียว กี่วาระ เพราะฉะนั้น ไป แล้วอย่างไม่รู้สึกตัว ทีละขณะฉันใด กว่าปัญญาจะค่อยๆ อบรมเจริญอย่างปกติ โดยไม่รู้สึกตัวว่าได้ฟัง แล้ว ได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เราไม่สามารถตามรู้ลักษณะได้

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ธรรมลึกซึ้ง” หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมกำลังเกิดดับไม่ปรากฏ ลึกซึ้งไหม

    ผู้ฟัง ลึกซึ้งแน่นอน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรได้เลย

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีเรา แล้วก็คอยโอกาส ก็ไม่ใช่การศึกษาธรรม การศึกษาธรรม คือศึกษาให้เข้าใจว่า ไม่มีเรากำลังค่อยๆ เข้าใจธรรม เท่านั้นเอง เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เดี๋ยวเป็นเข้าใจ เดี๋ยวไม่เข้าใจ ตามเหตุตามปัจจัย มีความมั่นคงที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ให้เราไปเข้าใจ แล้วมีตัวเรา ที่คอย ที่หวัง ที่ทำ นั่นก็คือไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม กลายเป็นเราศึกษา

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของการนึกคิดเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา ศึกษาธรรม ไม่ใช่เป็นการศึกษาธรรม

    ผู้ฟัง สภาพธรรม หรือปรมัตถธรรมเกิดดับเร็วมาก ไม่ว่าจิต เจตสิก หรือรูป แล้วสติเราจะไปตามรู้ แสดงว่าสติต้องเกิดเท่ากับสภาพธรรมนั้น

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าเกิดดับเร็ว เวลานี้สภาพธรรมทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดต้องมีปัจจัย ใช่ไหม เพราะฉะนั้นสติเกิดได้ไหม ในเมื่อเห็นเกิดได้ เพราะมีปัจจัย ได้ยินก็เกิดได้ เพราะมีปัจจัย เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะเกิดได้ไหมเมื่อมีปัจจัย

    ผู้ฟัง สติก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็เกิดไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ รู้สึกว่า การตามรู้ ที่เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้สภาพธรรม กับการคิดถึงสภาพธรรม รู้สึกว่าจะแยกให้ชัดเจนลำบาก สำหรับผู้ศึกษาใหม่ อาจจะคิดถึงลักษณะของธรรม แต่อาจจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นการคิดถึงธรรมที่ดับไป อาจจะคิดว่า เป็นสติปัฏฐานเกิดได้ ขอท่านอาจารย์อธิบายความต่างกัน ขณะที่สติปัฏฐานเกิดกับขณะที่คิดถึง

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่อดคิดไม่ได้ ถ้าคนจะพูดว่าอย่างนี้ เหมือนเราอดคิดไม่ได้ แต่ความจริงให้ทราบว่า เมื่อมีสภาพธรรมใดปรากฏ แล้ว ดับไปแล้วก็ตาม จิตทางมโนทวารจะรับต่อ นี่ก่อนคิดเป็นเรื่องราว ก็แสดงให้เห็นว่า ที่รับต่อมา ปกติจะเป็นอะไร ถ้าเป็นทางปัญจทวาร หรือทวารหนึ่งทวารใดเป็นโลภะ มโนทวารวาระแรกก็เหมือนกัน ถ้าทางปัญจทวารเป็นโทสะ มโนทวารที่เกิดสืบต่อ จะเป็นกุศลทันที เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องเป็นโทสะ เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า ชวนวิถีทางปัญจทวารดับไปแล้ว ก็ยังมีชวนวิถี คือ ประเภทของอกุศล หรือกุศลจิตที่เกิดสืบต่อเป็นประเภทเดียวกัน ทั้งทางหนึ่งทางใดในปัญจทวาร และทางมโนทวารในวาระแรกก็จะเหมือนกัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราไม่รู้มากมายเหลือเกิน เวลานี้หมดไป แล้วตั้งกี่ทวาร กี่วาระ ก็ไม่รู้เลยสักอย่างเดียว เพียงแต่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นที่ฟัง ก็เพื่อจะให้รู้ว่า สภาพธรรมที่มีจริง จะมีลักษณะจริงๆ ให้รู้ว่า สิ่งนั้นจริง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะที่ปรากฏขณะนี้มีจริง กำลังปรากฏให้เห็น เราจะรู้แค่ไหน ไม่สำคัญ แต่ต้องเริ่มจากการที่เข้าใจว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมจริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงคิด แต่ขณะเห็น ไม่ได้คิด มีสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือ วาระที่มโนทวารวิถีจิตเกิดดับสืบต่อ พร้อมทั้งจักขุทวารที่เกิดดับสืบต่อ สลับกับภวังค์ สลับกับวาระทางมโนทวารมากมาย นี่เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่ต้องไปกังวลถึงสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ดับไปแล้วเท่าไร หรือว่าจิตเห็นดับไปแล้วเท่าไร ไม่ใช่วิสัย ที่เราจะไปคิดสักเท่าไร เราก็ไม่สามารถไปถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งได้ เพราะว่าเป็นแต่เพียงตัวเราที่กำลังคิด

    เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ที่เรากล่าวว่ารูปธรรม หมายถึงสิ่งนั้นมีจริง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่เป็นสภาพธรรมลักษณะนั้นซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา จะให้ไปปรากฏทางหู จะให้ไปปรากฏทางลิ้นไม่ได้ สิ่งนี้ปรากฏได้ทางนี้ ทางที่กำลังเห็นขณะนี้ และการเกิดดับไม่ต้องคำนึงถึงเลย

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะรู้ว่า นี่เป็นปรมัตถ์ ก็เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ เช่น เสียง ใครจะไปนึกถึงเสียงโดยที่เสียงไม่ได้ปรากฏ ก็ต้องรู้ว่า ไม่เหมือนกัน ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงปรากฏจริงๆ เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จะรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ก็เพราะเหตุว่าสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างว่า เป็นเพียงธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว จนปรากฏว่าเหมือนรวมกันทั้งหมด เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนี่คืออาศัยการฟัง และเข้าใจลักษณะ โดยไม่ต้องไปห่วงเรื่องสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน หรือว่าเราจะประจักษ์แจ้งเมื่อไร ไม่ต้องคิดเลย

    เมื่อวานนี้ก็มีคนที่ถามว่า เมื่อไรจะรู้ได้จริงๆ เห็นไหม เริ่มฟังละเอียด ถึงความละเอียดของธรรม ก็เราอีก แล้ว แล้วเมื่อไรจะรู้ได้จริงๆ คำตอบก็คือ เมื่อไรที่ปัญญาเจริญ หรือเมื่อไรที่อวิชชาเจริญ นี่เป็นคำตอบ ถ้าเมื่อไรที่อวิชชาเจริญมาก ก็เป็นเรื่องที่อวิชชาเจริญ เมื่อไรที่ปัญญาเจริญพอที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าเมื่อไรเรา ไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรม ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็จะรู้ได้ว่า สิ่งที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงแม้ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็กำลังฟังให้เข้าใจก่อน แล้วก็มีลักษณะจริงๆ ให้มั่นคงว่า เวลาที่ปัญญา และสติจะรู้ ไม่ได้รู้อื่น นอกจากเริ่มรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ พอที่จะรู้ว่า ขณะไหนเป็นปรมัตถธรรม และสติระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม

    อ.ธีรพันธ์ ธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก อาศัยการฟัง การสนทนาก็เป็นปัจจัยให้เกิดความเข้าใจขึ้น เพราะว่าการให้สติเกิด ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความเข้าใจ การที่จะไปตามรู้ ไม่ใช่วิสัยที่จะไปตาม ไม่มีเราที่จะไปตาม สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า ปรากฏให้รู้ยังไม่รู้ ไปตามสิ่งที่ไม่ปรากฏ ไปตามอะไรไม่ทราบ

    ผู้ฟัง อย่างสภาพเห็น เห็น แล้วคิดนึก อย่างนี้พอเข้าใจ แต่ลักษณะของความคิดนึกที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่ได้พิจารณาว่าเป็นความคิด คือ จะรู้ว่าเป็นเรื่องราวไปเลย แต่ว่าเมื่อพิจารณา ก็ยังพิจารณาไม่ออกว่า เป็นลักษณะของอารมณ์ที่เกิดทางมโนทวาร ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันก่อนศึกษาธรรม สงสัยอย่างนี้ หรือเปล่า ก่อนศึกษาธรรมมีเห็น ใช่ไหม ก็ไม่เคยสงสัย ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสอร่อยๆ ทุกวัน วันละหลายครั้ง ก็ไม่สงสัย เป็นธรรมดา เวลาที่กระทบสัมผัสก็เป็นธรรมดา แล้วธรรมดานี่คิดใช่ไหม เป็นธรรมดาว่า คิดนี่มีแน่นอน เหมือนเห็นมี ได้ยินมี แต่เวลาศึกษาธรรมแล้ว ไม่ใช่ให้เราไปติดที่คำ อย่างคำว่า “มโนทวาร” ถ้าไปติดที่คำว่า “มโนทวาร” จะสงสัยว่า มโน คืออะไร ทวารคืออะไร และมโนทวารคืออะไร แต่ถ้าชีวิตประจำวันที่ไม่เคยรู้เลยว่า เห็นเป็นจักขุทวารวิถี เป็นจิตที่ต้องอาศัยตาจึงเห็นได้ เข้าใจใช่ไหม เริ่มรู้ว่า ชีวิตประจำวันก็คือธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน และเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สิ่งที่จริง และจะรู้ความจริงได้ ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดให้รู้ ถ้าไม่มีเห็นขณะที่นอนหลับสนิท จะไปรู้ลักษณะของเห็นก็ไม่ได้ แต่ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น และก็ฟังเรื่องเห็น แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของเห็นว่า เห็นแม้มี แต่เห็นไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร ที่รู้แน่นอนก็คือว่า เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็นได้ ธาตุชนิดนี้มี สามารถเห็นได้ แล้วก็ไม่ใช่เราด้วย

    นี่คือทางตา ทางหู นัยเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นัยเดียวกัน แต่พอถึงใจ ทำไมถึงสงสัย ก็คือคิด เป็นสภาพของธาตุที่สามารถคิด เหมือนขณะนี้ทางตาเป็นธาตุ หรือสภาพธรรมที่สามารถเห็น ไม่ใช่ใคร เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็เห็น

    เพราะฉะนั้นทางใจเมื่อเกิดแล้วก็คิด แต่ไม่เคยรู้ว่า ขณะที่คิดเป็นธรรม แล้วไม่ใช่เรา แล้วเป็นสภาพที่กำลังรู้เรื่อง คือ คิดอะไร สิ่งนั้นก็ปรากฏให้รู้ เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิดสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ในสภาพความคิดนึกซึ่งมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะที่คิด ไม่ได้มีความรู้สึกว่า เป็นสภาพคิด แต่มีความรู้สึกว่าเป็นโทสะ เป็นโลภะ หรือเป็นความรู้สึกอะไรอย่างนี้ ก็เลยมีความรู้สึกเหมือนกับปนๆ กัน และไม่แจ่มแจ้งในสภาพที่ปรากฏจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คิด ขณะนั้นมีเรื่อง หรือมีคำที่คิด เป็นปกติ ใช่ไหม ยังไม่ต้องไปคิดว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ หรือโทสะ แม้ขณะนั้นมีโลภะ หรือโทสะ หรือเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่ไม่ใช่ให้ไปรู้สิ่งนั้นๆ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริง เริ่มเข้าใจว่า ลักษณะที่มีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะก่อนฟัง หรือหลังฟัง แล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง คือ คิดก็ยังคงเป็นคิด เปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้ เห็นก็ยังคงเป็นเห็น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่เริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน อย่างเห็นอย่างนี้ พูดเท่าไรก็ตาม เข้าใจลักษณะของเห็นบ้างไหม ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของเห็น ก็เหมือนคิด พูดไปเถอะว่าคิดมี เหมือนเห็นมี และคิดก็เป็นสภาพที่กำลังรู้คำหนึ่งคำใด คือเรื่องที่คิดทีละคำ พูดไปอีก ก็ไม่ใช่จะรู้ลักษณะของสภาพที่คิด แต่เริ่มได้ยินได้ฟัง เรื่องสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

    เพราะฉะนั้นก็ติดตามที่จะฟังให้มีความเข้าใจขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราสามารถจะเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว หรือสามารถจะแทงตลอดในสภาพซึ่งเกิด แล้วดับอย่างเร็วมาก ทั้งคิด แล้วเหมือนเห็น แล้วเหมือนได้ยินเสียงด้วย เกือบจะว่าได้ว่าพร้อมๆ กัน โดยที่ไม่สามารถจะแยกได้ แต่จากการฟัง เริ่มเข้าใจ

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปทำอะไร การอบรมความรู้ คือ ปัญญา ให้มีความเห็นถูก ให้มีความเข้าใจถูก เป็นหน้าที่ของสภาพธรรมทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย จะฟังธรรม ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพของธรรมที่มีศรัทธา มีสติ และสภาพโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดขึ้นจึงเป็นไปในกุศล เวลาที่ไม่ฟัง เป็นอกุศล ก็ไม่ใช่เราอีก เมื่อไรที่จะสามารถมีปัญญาถึงระดับที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร

    อย่างเวลานี้ ก่อนฟังก็มีคิด กำลังฟังก็มีคิด คิดก็เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เห็น แต่มี เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า พอพูดถึงคิด ก็ไปประจักษ์ลักษณะของคิด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่เริ่มเข้าใจว่า มีคิด แล้วไม่เคยรู้เลยว่า คิดเกิดโดยปัจจัย สั่งให้คิดได้ไหมว่า ให้คิดอะไร เตรียมจะคิดก็ไม่ได้ เลือกให้คิดก็ไม่ได้ แต่คิดเกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้นความจริงที่จะรู้ได้ คือ จากสิ่งที่เกิด แล้วปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏ ก็ไม่มีทางที่จะไปเข้าใจได้ ขณะที่กำลังได้ยินเสียง เฉพาะเสียงปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่คิด คือ ต้องเข้าใจในเหตุผลตามความเป็นจริง และขณะนี้ก็ไม่ต้องมีใครไปพยายามทำ ให้เป็นเฉพาะเสียงที่ปรากฏ ไม่ให้มีคิดนึกติดตามมาเลย ก็ไม่ได้ เหมือนขณะนี้เห็น แล้วจะไปห้ามไม่ให้ได้ยินเสียง ในขณะที่มีเห็น แล้วก็เหมือนกับมีได้ยินด้วย ก็ไม่ได้ แต่ความเข้าใจถูก ต้องเริ่มเกิดขึ้นว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เริ่มเข้าใจสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ให้เห็นความเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าเมื่อธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ปัญญาจะรู้อะไร ปัญญาก็รู้ความจริงของธรรมซึ่งเป็นอนัตตานั่นเอง จะเปลี่ยนให้เป็นอัตตา เป็นเรา ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ยังคงให้เห็นผิดว่ามีเรา แต่เพราะเคยเห็นผิดมา แล้วว่า ทุกอย่างเป็นเราบ้าง มีเราบ้าง แต่ตามความเป็นจริงก็เป็นธรรมที่เกิด แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    ขณะนี้เดี๋ยวนี้ มีคุณเข็มไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้มี วันนี้ไม่มี แล้วเป็นไปได้อย่างไร ตามความเป็นจริง ยังเหมือนเดิม ยังเห็น แล้วไม่ใช่คุณเข็มด้วย คุณสุรีย์ก็มี คุณธิดารัตน์ก็มี มีหมดเลย มีตนในรูป เริ่มเข้าใจความหมายของอัตตาหรือไม่ รูปเป็นรูป รูปไหนที่เป็นคุณเข็ม รูปไหนที่เป็นคุณธิดารัตน์ คิดทั้งนั้น แต่เปลี่ยนลักษณะของรูปไม่ได้ รูปที่ปรากฏทางตา เป็นอย่างหนึ่ง เกิดดับอย่างเร็ว เพราะไม่รู้ความจริง จึงได้แต่จำในความเป็นอัตตา คือสิ่งหนึ่งสิ่งใด นานแสนนานมาแล้ว แล้วลองคิดดู ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล คือ ผู้ที่เห็นถูกตามความเป็นจริง และถูกคืออย่างไร ถูกคือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะมีคน มีสัตว์ในสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ นี่คือความเห็นถูก และกว่าจะเห็นอย่างนี้จริงๆ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งจริงๆ

    นี่คือการที่จะสละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นอัตตา ที่จะไม่มีอัตตสัญญา คือ ผู้ที่สามารถดับความเห็นผิด ที่เกิดร่วมกับจิตในขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง มโนทวารไม่ปรากฏ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีอะไรบ้าง พอจะบอกได้ไหม

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นมี และอะไรอีก

    ผู้ฟัง มีได้ยิน

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก

    ผู้ฟัง มีได้กลิ่น

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก

    ผู้ฟัง มีกระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก

    ผู้ฟัง มีคิดนึก

    ท่านอาจารย์ แล้วทางไหนที่คิด เห็นไม่ใช่คิด ได้ยินไม่ใช่คิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    4 พ.ค. 2567