พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำไว้แล้วแต่ชาติปางก่อน ที่ทำให้เป็นผู้ที่เห็นคุณของพระธรรมที่ได้ทรงแสดง ๔๕ พรรษา โดยละเอียด แต่ละคำเกื้อกูล ไม่ใช่เป็นคำที่ควรทิ้งไป หรือโดยประมาท แต่ว่าเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาว่า เข้าถึงคำที่ได้ตรัสอนุเคราะห์ หรือเปล่า แม้แต่คำว่า “ธรรม” คำเดียว เข้าถึง หรือยัง กล่าวตามได้ว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” แต่เมื่ออกุศลจิตเกิด ธรรมไปไหน หายไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่มั่นคง เลิกคิดที่จะต้องไปดับกิเลส จนกระทั่งถึงความเป็นพระโสดาบัน โดยที่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง นี่เป็นหนทางเดียวที่จะละความติดข้อง ความต้องการ หรือโลภะ คือ ให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่สุดวิสัยด้วยความเป็นเรา แต่ต้องเพราะรู้ว่า ไม่ใช่เรา จึงสามารถเห็นธรรมตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง เหมือนกับเราสะสมสัญญาที่จะจำไม่ตรงตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า ความจริงก็คือธรรม ไม่มีเรา ยกตัวอย่าง ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องส่องกระจก ในกระจกไม่มีเรา แต่เมื่อทุกครั้งที่เราส่องกระจก ก็คิดว่า เป็นตัวเราที่ส่องกระจกก็เห็นเหมือนตัวเราซ้อนเข้าไปอีก ขอเรียนถามว่า เราสะสมสัญญาที่จะจำไม่ตรงตามความเป็นจริงมามากจนกระทั่งท่านอาจารย์กล่าวเท่าไรว่าไม่เป็นเรา แต่ความจริงเป็นธรรมที่เกิดดับ เราก็ไม่จำ มีเราที่ไม่จำ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง แสนกัปนี่นาน หรือไม่ วันนี้กี่ชั่วโมง กี่นาที นิดเดียวเองถ้าเทียบกับแสนโกฏิกัปป์

    ผู้ฟัง ความจริงที่เป็นสภาพธรรมที่ตรง จำยากกว่าเรื่องไร้สาระที่เราจำมาก

    ท่านอาจารย์ ก็ดีที่รู้ ถ้ารู้ตรงความจริงก็ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็มีวิริยะ ไม่ใช่เรา ที่รู้ประโยชน์ และฟังต่อไปอีก ด้วยความอดทนที่จะรู้ความจริง ความจริงมีอยู่ตลอด แล้วก็ไม่รู้ คิดดูก็แล้วกัน ต้องมีใครมาบอกเรา หรือไม่ว่า อวิชชาแค่ไหน ในเมื่อรู้อยู่ว่า ขณะนี้รู้ หรือไม่ รู้ความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ หรือไม่ ทั้งๆ ที่ทรงแสดงให้เข้าใจ แต่ต้องเป็นการอบรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่จะต้องรู้ว่า ปัญญาที่เกิดพร้อมสติสัมปชัญญะอีกระดับหนึ่ง เริ่มที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ได้ทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา และกำลังมีในขณะนี้ด้วย ไม่เคยขาดไปเลย

    ผู้ฟัง เรื่องที่เป็นอกุศล และไร้สาระในชีวิตประจำวัน เหมือนกับผ่านมาครั้งเดียวเราก็จำ เช่น โกรธใคร ไม่ชอบใคร ได้ฟังปกิณณกะแผ่นที่ ๑๐ ท่านอาจารย์ก็จะตอบคำถามที่พวกเราถามในปัจจุบันนี้เยอะมาก ก็ฟังเป็นรอบที่ ๔ ก็เหมือนไปจำไร้สาระ แต่ตรงนี้จำได้ไม่ถึง ๑๐%

    ท่านอาจารย์ เราไร้สาระมานานเท่าไร

    ผู้ฟัง แสดงว่าสะสมอวิชชากับโลภะมามากมายจริงๆ

    ท่านอาจารย์ จนกระทั่งไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และไม่มีทางจะรู้เลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง

    ท่านอาจารย์ เป็นสาวก คือ ผู้ฟัง

    ผู้ฟัง กรุณาอธิบายถึงลักษณะของบุคคลที่มีความเห็นผิด ปฏิบัติผิด กับคนที่มีความเห็นถูก ปฏิบัติถูกว่า มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพราะในปัจจุบันคิดว่า มีคนเห็นผิดเป็นจำนวนมาก ในแนวทางปฏิบัติ และขอให้อาจารย์ช่วยชี้แจงแนวทางที่ถูกต้องให้ทราบด้วย

    ท่านอาจารย์ คือ คนที่เห็นผิด ก็คือไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ถ้ามีการเข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งมีลักษณะต่างกันทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดชีวิตเป็นลักษณะของธรรม นั่นคือผู้ที่เห็นถูกต้อง แต่ถ้ามีผู้บอกว่า เห็นแล้ว ขณะนี้รู้แล้วด้วย ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง และบอกว่าเป็นรูปธรรม และสภาพเห็นที่กำลังเห็น ก็รู้ว่าเป็นนามธรรม นี่คือคำตอบ ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า หรือแม้แต่ตัวผู้ตอบเอง ก็อาจจะเข้าใจว่า รู้แล้ว เพราะฉะนั้นเป็นผู้ไม่ละเอียด ไม่รอบคอบ และไม่เข้าถึงความจริงของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงได้ยินคำว่า เห็น ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้กำลังเห็น นี่คือกำลังฟังเรื่องสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้นว่า ขณะนี้ เห็นมี และฟังว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และฟังแล้วก็รู้ความหมายของคำว่า “อนัตตา” ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วก็เข้าใจว่า ใครก็ไม่สามารถที่จะบันดาลให้เห็นเกิดขึ้นได้ นี่คือขั้นความเข้าใจ แต่ขณะนี้จะรู้ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่ว่าคนนั้นจะเข้าใจว่ารู้แล้ว นั่นแสดงว่าไม่ลึกซึ้ง และไม่ละเอียด ไม่รอบคอบด้วย จึงมีความเห็นว่ารู้แล้ว ถ้ารู้แล้วก็คือ ไม่ได้ทำอะไรที่สามารถหมดกิเลสได้เลย เพราะรู้แล้ว แล้วทำไมไม่หมดกิเลส นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จะต้องเป็นผู้ละเอียด แล้วก็รู้ว่า การฟังเรื่องราวของสภาพธรรม คือ เริ่มมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่าสิ่งที่ปรากฏมีแน่นอน และที่กล่าวว่า ใครก็บันดาลให้เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ปรากฏเพราะเกิดแล้ว ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็คือ ขณะนี้สิ่งนั้นได้เกิดแล้ว จึงปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ไม่มีตัวตนในสิ่งที่ปรากฏในขั้นฟัง แต่ไม่เห็นการเกิด และการดับ ซึ่งผู้ที่ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่ตรัสว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นสภาพใดๆ ก็ตาม ต้องมีปัจจัยเกิดแล้วดับไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ เร็วมาก เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดแล้วดับ เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าถามคนที่ไม่รู้ ก็จะตอบว่า รู้แล้วว่าเกิดแล้วดับ คือ รู้แล้วหมด แต่รู้แล้วหมด ไม่ได้หมดกิเลสเลยสักอย่างเดียว นั่นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้ แต่เข้าใจผิดคิดว่ารู้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจผิดอย่างนี้ ถ้าสนทนากันต่อไป ก็จะต้องสอบถามสนทนากัน การสนทนากันไม่ใช่ห้ำหั่น แต่หมายถึงเป็นการอนุเคราะห์บุคคลที่ต้องการความจริง ให้พิจารณาว่า สิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริง เพื่อจะได้มีความเห็นถูก เพราะฉะนั้นถ้าได้สนทนากันต่อไปกับบุคคลที่มีความเห็นผิด เพราะคิดว่ารู้แล้ว ก็จะต้องถามว่า การรู้อย่างนั้น มีอะไรเป็นเหตุให้รู้อย่างนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุ

    ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ผู้ที่จะกล่าวว่ารู้แล้ว ต้องเป็นพระอริยบุคคล และถ้าเป็นผู้รู้โดยที่ไม่ต้องฟังจากใคร เป็นผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง ผู้นั้นก็จะต้องมีปัญญาในระดับที่ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นแล้ว การฟังต้องรู้ว่า กำลังฟังอะไร สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังมีจริง หรือเปล่า ถ้ามีจริง ก็ลองคิดดู ใครสามารถที่จะรู้ได้ถึงการเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว แสนเร็ว มากมายมหาศาล ทำให้สามารถที่จะหลอก หรือทำให้เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิดสำหรับผู้ที่ไม่รู้ความจริงได้ว่า ขณะนี้มีคน มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ ...

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะกล่าวถึงสภาพธรรม ถ้ากล่าวถึงความไม่รู้ ก็จะทำให้คนนั้นเห็นชัดว่ามีความไม่รู้มากแค่ไหน ถ้ากล่าวถึงความรู้ ก็เหมือนกับได้ยินได้ฟัง เข้าใจว่ารู้ แต่ความจริงความไม่รู้ในขณะไหนบ้าง ถ้าคนนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็เข้าใจว่าตัวเองรู้แล้ว เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ตรงต่อความจริงด้วย ถ้าเป็นผู้ไม่ตรง และไม่มีความมั่นคง ก็จะไม่ได้สาระจากการฟัง เพราะฟังแล้วก็เห็นว่า ทำไมกล่าวแต่เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำไมกล่าวเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะให้กล่าวเรื่องอะไร ถ้าไม่ใช่เรื่องเหล่านี้ พระไตรปิฎกทั้งหมด ๔๕ พรรษา อรรถกถากล่าวถึงเรื่องความจริงโดยละเอียดยิ่งขึ้นของสภาพธรรมที่มีจริง เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้พิจารณา ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นแล้วจะกล่าวอะไร จะพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ หรือไม่ แต่เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ยังคงมีความเข้าใจผิด เข้าใจว่า ความรู้นั้นรู้สิ่งที่กำลังเข้าใจว่ารู้ แต่ไม่รู้ความจริงของธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าข้ามไปเป็นเรื่องราวต่างๆ

    มีใครได้ยินคำว่า “โพชฌงค์” หรือไม่ เป็นธรรม หรือไม่ แล้วเหตุใดกล่าวว่า โพชฌงค์ เหตุใดใช้คำนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่าได้ยินได้ฟังคำอะไรก็ตาม ต้องเข้าใจความหมายของคำนั้น และจะพ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้ไหม ธรรมทั้งหมดที่มีก็ต้องมาจากสภาพที่มีจริงๆ แต่ทรงแสดงให้ละเอียด เพื่อจะให้ผู้ฟังไตร่ตรอง ให้เห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ในขั้นของสัจญาณ ความมั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ที่ปัญญาสามารถประจักษ์ความจริงได้ แทงตลอดความจริง รู้แจ้งสัจธรรมของสิ่งที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง จนกว่าจะมีความเข้าเพิ่มขึ้น จนกว่าจะเข้าใจความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ด้วยความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นอนัตตา ไม่ได้บังคับ ไม่ได้จงใจ เพราะมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หรือจะใช้คำว่า “เป็นอนัตตา” ก็ได้ แต่ละคนก็สะสมมาต่างกัน เพราะฉะนั้นความคิดความเห็นก็หลากหลาย แล้วแต่การสะสม

    ผู้ฟัง แล้วจะรู้โทษของความเห็นผิดได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงเป็นเรา เป็นเขา เป็นโลก แล้วก็เป็นเรื่องต่างๆ มีสุข มีทุกข์เพราะอะไร เพราะเห็นแล้วก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ คนนั้นคนนี้ ก็ยังไม่เข้าถึงความหมายของคำว่า “สงบจากกิเลส” ลองคิดดูว่า เราเกิดมา เราชอบ เราติดข้อง ต้องการทุกอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยไม่ได้รู้ว่าขณะนั้นเป็นทุกข์ เพราะความติดข้อง แต่ถ้าถึงภาวะที่ไม่มีความติดข้อง จะต่างกัน หรือไม่กับขณะที่กำลังติดข้อง แต่ไม่เคยรู้ลักษณะนั้นเลย เพราะฉะนั้นก็ยังคงหลงยึดถือว่าขณะที่กำลังต้องการ และเกิดมาก็แสวงหาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเรื่องราวของความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็แสวงหาไป สุขบ้าง ทุกข์บ้าง โดยที่ทุกคนต้องการสุข แต่ว่าสุขตลอด หรือไม่ เมื่อมีเหตุจะให้ทุกข์เกิดขึ้นยับยั้งได้ไหม หลีกเลี่ยงได้ไหม เดือดร้อนได้ไหม ใครจะเกิดในนรก คนอื่นจะไปช่วยอย่างไร เกิดแล้วที่นั่น อย่างนั้นมีใครชอบ หรือไม่ถ้าเกิดในนรก ก็ไม่ชอบ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด เห็นภัยของสังสารวัฏฏ์ หรือไม่ ไม่ได้มีแต่เฉพาะฝ่ายที่น่าพอใจ ฝ่ายที่ไม่น่าพอใจก็มี แล้วแต่ว่าจะระดับไหนก็เลือกไม่ได้ นี่คือธรรม ผู้ที่พ้นจากอบายภูมิ คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ ในนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน คือไม่เกิดในภูมิเหล่านั้นอีกเลย

    ผู้ฟัง เรียนคุณอรรณพ กรุณาช่วยกล่าวเรื่องโทษของความเห็นผิด

    อ.อรรณพ ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรม หรือไม่ ไม่ใช่นาย ก. นาย ข. ที่เห็นผิด แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็คือ ทิฏฐิ ทิฏฐิเป็นนามธรรม ไม่ใช่เป็นรูปธรรม ทิฏฐิไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก เป็นทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีกิจ มีหน้าที่ของทิฏฐิเจตสิก คือ เป็นอกุศลที่นอกจากประกอบด้วยความติดข้อง คือ โลภะแล้ว ลักษณะของทิฏฐิ ยังเป็นลักษณะที่ยึดในความเห็นนั้น ยากที่จะไถ่ถอน เพราะฉะนั้นความเห็นผิดมีโทษมากๆ คนที่เห็นผิด เห็นผิดถึงขนาดว่า มารดาบิดาไม่มีคุณ ฟังธรรมอย่างเดียวกันว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เขาก็เลยคิดว่า พ่อแม่ไม่มี ก็ได้ หรือว่าไม่ได้ฟังธรรมเลย เขาก็คิดว่า ในเมื่อเกิดมา พ่อแม่ทำให้เกิดมา พ่อแม่ก็ไม่มีคุณอะไร อย่างนั้นเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจ และมีความเห็นผิดที่ร้ายแรง หรือมีความเห็นผิดว่า ตายแล้วขาดสูญ บุญบาปไม่มี นั่นคือโทษของความเห็นผิด ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เขาด้วย แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ทิฏฐิเจตสิก ซึ่งมีความเห็นผิดตั้งแต่ในระดับที่รุนแรงถึงขั้นนั้นว่า บุญบาปไม่มี คุณมารดาบิดาไม่มี เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด ซึ่งจะทำไปสู่การประกอบอกุศลกรรมต่างๆ มีความไม่กตัญญูกับผู้มีคุณ กล่าวโทษผู้มีคุณ หรือประทุษร้าย ซึ่งขณะนั้นก็เป็นอกุศลธรรมประการต่างๆ ที่มีความเห็นผิดเป็นตัวนำทางฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้นทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด เป็นทางไปสู่อบายภูมิ โดยเฉพาะทิฏฐิที่ร้ายแรง เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี คุณมารดาบิดาไม่มี เช่นนี้ การฆ่าก็ไม่มีผลอะไร ผู้ที่มีความเห็นอย่างนี้ ก็จะต้องมีแต่การประกอบอกุศลกรรม และเราจะเห็นชัดว่า ความเห็นผิดนั้นมีโทษอย่างไร

    ความเห็นผิดที่ละเอียดลงมากว่านี้ ก็คือความเห็นผิดที่คิดว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ในขณะนี้ใครบอกว่า คนไม่มี เขาไม่เชื่อ ก็เห็นอยู่ เห็นนั่งอยู่ บุตรภรรยามีทั้งนั้นเลย เพื่อนฝูงมี เห็นๆ กันอยู่ ทำไมจะกล่าวว่าไม่มี เขาจะไม่เข้าใจความเป็นธรรม แต่จะจำ และยึดถือในความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นถ้ามีความเห็นผิดอย่างนี้ เห็นผิดว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ถ้าไม่มีการขัดเกลาละคลายความเห็นผิดนี้ เป็นรากฐานของความเห็นผิดที่ร้ายแรง อย่างที่กล่าวมาแล้ว คือ เห็นผิดว่าบุญบาปไม่มี การกระทำไม่มีผลอะไร อย่างนี้ก็มีมูลรากจากความเห็นผิดว่า สัตว์ บุคคล ตัวตนมี และการที่มีความเห็นผิดอย่างนี้ ก็ทำให้ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรม อยู่ในวัฏฏะตลอดไป ถึงแม้บางคนอาจจะมีอุปนิสัยในการเจริญกุศลขั้นทาน ขั้นศีลบ้าง หรือแม้แต่ในขั้นความสงบที่จะอยู่ในพรหมโลกได้ก็ตาม แต่เมื่อยังมีความยึดถือว่าเป็นเรา ถึงแม้ว่าจะเจริญกุศล คือ เป็นทิฏฐิละเอียด ก็ยังออกจากวัฏฏะไม่ได้ เพราะฉะนั้นความเห็นผิดนี้ ก็จะทำให้อยู่ในวัฏฏะตลอดไป ความเห็นผิดนี้เป็นทาง เป็นมรรคด้วย แต่เป็นมิจฉามรรค ซึ่งเป็นหัวหน้าองค์ธรรมฝ่ายไม่ดีที่จะนำไปสู่การยึดถือความเห็นผิดนั้นมากขึ้นๆ แล้วก็เนิ่นช้า ขัดขวางการอบรมเจริญปัญญา เพราะด้วยความเห็นผิดนั้น ซึ่งเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปจากสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น รวมความว่า ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ทิฏฐิเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทโลภมูลจิต และทำกิจยึดถือในความเห็นนั้น ซึ่งรุนแรงถ้าเป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง ก็ไปอบายภูมิ เช่น ความเห็นผิดว่า บุญบาปไม่มี และเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมต่างๆ อย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง การที่คนเราสะสมความเห็นผิดมามากมาย เขามีโอกาสเปลี่ยนเป็นสัมมาทิฏฐิได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทุกคนฟัง แล้วแต่ว่าจะเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังมากน้อยต่างกันแค่ไหน หรือไม่เข้าใจเลย เช่นที่คุณอรรณพได้กล่าวถึงแล้วแต่ถ้าตั้งใจฟังเพื่ออะไร เพื่อจะจับผิด หรือเพื่อเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ถูก ไม่ตรง แทนที่จะฟังเพราะเหตุว่าการรับฟังคนอื่น ก็คือการฟังความคิดความเห็นของคนอื่น ธรรมเป็นสิ่งที่กว้าง ละเอียด ลึกซึ้ง แต่ละคนที่สามารถมีความเข้าใจถูกต้องในธรรมที่ได้ศึกษา ต่างคนก็ต่างเข้าใจตามการสะสมมา เพราะฉะนั้นถ้าได้มีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่น ก็จะได้ไตร่ตรอง ไม่ใช่ยังเก็บความเห็นของตนเองในขณะที่กำลังฟัง ถ้าฟังคนอื่น หรือฟังอะไร ก็หมายความว่า กำลังพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าถูกต้องไหม นี่คือการฟังจริงๆ ถ้าสิ่งใดที่เป็นความจริง และถูกต้อง ก็เห็นว่าสิ่งนั้นถูกต้อง นี่คือความเป็นผู้ตรง แต่ถ้ายังเก็บความคิดของตนเองไว้ ขณะที่ฟังไม่รู้เรื่อง ผ่านไป ผ่านไปหมดเลย เพราะกำลังคิดถึงความคิดเห็นของตนเอง และไม่ได้รับฟังสิ่งที่กำลังฟังด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่มีโอกาสจะเข้าใจยิ่งขึ้น แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้ว่าจุดประสงค์ของการฟัง เพื่อฟังเหตุผลตามความเป็นจริง ผู้นั้นก็มีโอกาสที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง สะสมความเห็นถูกได้

    ผู้ฟัง อวิชชาเขาก็คอยปิดบังให้เห็นผิดอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ กำลังคิด เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ฟังแล้วก็เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้เข้าใจขึ้น

    คุณอุไรวรรณ มีคำถามจากท่านผู้ฟัง การที่ตัวตนของเราไม่มี

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ก่อน ฟังธรรมต้องละเอียด อย่าเพิ่งข้ามไปไกล พิจารณาแม้แต่คำเล็กๆ น้อยๆ แต่ละคำที่ฟังด้วย ทบทวนอีกครั้ง

    คุณอุไรวรรณ การที่ตัวตนของเราไม่มี

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ก่อน ถูก หรือผิด การที่ตัวตนของเราไม่มี หรือว่ากำลังมีสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน แค่นี้ก็รู้แล้วใช่ หรือไม่ ว่าการฟังธรรมเผิน หรือว่าละเอียด เหมือนกับผู้พูดเข้าใจในความไม่มีตัวตน ในความเป็นธรรม แต่ถ้าใช้ประโยคนี้ ก็ลองพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

    คุณอุไรวรรณ การที่ตัวตนของเราไม่มี

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม การที่ ตัวตน แล้วก็ ของเรา แล้วก็ ไม่มี ก็เลยไม่รู้ว่า ท่านหมายความถึงอะไร มีของเรา แล้วก็มีตัวตน ไม่มี แต่ว่ามีของเรา

    คุณอุไรวรรณ ท่านผู้ฟังคงจะหมายความว่า ถ้าหากเชื่อว่า ตัวตนของเราไม่มีที่จะไปพยายามทำอะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าแค่หากว่า ตัวตนของเราไม่มี ลองพิจารณาดู มีเรา ใช่ หรือไม่ เพราะว่ามีของเรา แล้วก็ไปคิดว่า ไม่ใช่ตัวตนของเรา ถ้าหากว่าตัวตนของเราไม่มี แต่ความคิดว่าเรายังมีอยู่ ความคิดว่าของเรายังมีอยู่ เพราะฉะนั้นก็กล่าวอีกครั้งหนึ่ง

    คุณอุไรวรรณ การที่ตัวตนของเราไม่มี

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ว่าการที่ตัวตนของเราไม่มี แสดงว่ามีของเรา แล้วก็คิดว่า ไม่มีตัวตน การที่ตัวตนของเราไม่มี แสดงว่าไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วมีตัวตน หรือเปล่า แม้แต่ขั้นฟังก็ต้องมีความมั่นคง สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก่อนฟังธรรม เป็นเรา นั่นคือตัวตนของเรา แต่เวลาฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจว่า ทุกอย่างที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา ลักษณะจริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป เมื่อวานนี้ทั้งหมดเลย สุข ทุกข์ สนุกสนาน ทุกข์ยากต่างๆ อยู่ที่ไหน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567