พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
ตอนที่ ๓๓๑
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก่อนฟังธรรมก็เป็นเรา นั่นคือตัวตนของเรา แต่เวลาฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจว่า ทุกอย่างที่เคยยึดถือว่าเป็นเรานั้นลักษณะจริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป เมื่อวานนี้ทั้งหมดเลย สุข ทุกข์ สนุกสนาน ทุกข์ยากต่างๆ อยู่ที่ไหน แต่ละวันผ่านไป ไม่ว่าจะในภพนี้ที่เป็นมนุษย์ ในสวรรค์ เกิดเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ก็ว่างเปล่า คือ แต่ละวันก็เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปเท่านั้น แต่ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่มีว่าเป็นเรา ยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าตัวตนของเรา แต่ถ้ามีความเข้าใจคำเดียว คือ “ธรรม” สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสได้ เป็นความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่า "ธรรมเป็นธรรม"
ขณะนี้ธรรมปรากฏเพราะเกิดขึ้น มีลักษณะของธรรมหลากหลาย เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม คิดนึกก็เป็นธรรม เห็นก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม จะมีอะไรเหลือ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็รู้ว่าไม่มีเรา แต่มีธรรม แม้แต่ความพยายามก็เป็นธรรม มีเราที่ไหนที่จะทำอะไร ขอเชิญผู้สนทนาอ่านข้อความคำถามทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง
ผู้ฟัง การที่ตัวตนของเราไม่มืที่จะไปพยายามทำอะไรได้เลยนั้น ขอเรียนถามว่า การสะสมบารมีนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ใครจำอะไรไม่ได้บ้าง ตั้งแต่เดินเข้ามาจนกระทั่งนั่งที่นี่ จำได้ หรือไม่ว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ สะสมสืบต่อ นามธรรมเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเลย แต่เห็นความน่าอัศจรรย์ไหม จิตเห็น มีปัจจัยเกิด แล้วดับ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเห็นก็เห็นได้ เมื่อดับแล้วไม่กลับมาอีก การดับหมดสิ้นไปของจิตขณะก่อน จึงเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ตั้งแต่เช้ามาจนถึงขณะนี้ ใครจำอะไรไม่ได้บ้าง ก็มีสภาพธรรมที่จำ สะสม หรือไม่ เห็นครั้งหนึ่งสะสมแล้ว สะสมการจำสิ่งที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้แม้แต่เสียง มีหลายๆ เสียง สูงๆ ต่ำๆ ภาษาต่างๆ สภาพจำมีจริง ไม่ใช่เรา และขณะนั้นก็คือการจำสะสม เด็กเกิดใหม่พูดได้ไหมา มีภาษา หรือยัง แต่ได้ฟังบ่อยๆ ค่อยๆ จำ ค่อยๆ ชิน ค่อยๆ พูด ตามความจำ ไม่ใช่ไปพูดจากสิ่งที่ไม่ได้จำ แต่ละชาติก็มีแต่ละภาษา ซึ่งเกิดจากการจำ ซึ่งสะสมจาก ๑ ขณะไปอีก ๑ ขณะ ไม่ได้มีใครไปสะสม แต่เป็นสภาพธรรมของธรรมซึ่งเป็นนามธาตุ ซึ่งเป็นจิต เจตสิก เกิดแล้วดับไป แต่การปราศไป หมดไปของขณะก่อน ก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดสืบต่อ คำว่า “สืบต่อ” ก็หมายความว่า สิ่งที่ได้สะสมมาแล้วก็มีอยู่ในจิตขณะต่อไป มิฉะนั้นแล้วกำลังนอนหลับสนิท พอตื่นขึ้นมา โลภะมาจากไหน อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมา หรือว่ามีการสะสมที่จะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นขอเชิญผู้สนทนาอ่านข้อความคำถามทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง
ผู้ฟัง การที่ตัวตนของเราไม่มืที่จะไปพยายามทำอะไรได้เลยนั้น ขอเรียนถามว่า การสะสมบารมีนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คิดว่า ผู้ถามสนใจเรื่องบารมี อยากจะสะสมบารมี แต่ถ้าไม่มีตัวตน จะไปสะสมบารมีได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่า ไม่ใช่เราที่สะสม แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ และข้อสำคัญ “บารมี” คืออะไร ก็เป็นการใช้คำโดยที่ยังไม่ได้เข้าใจเลย และถ้าไม่เข้าใจแล้ว รู้ หรือไม่ว่า ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจเป็นบารมี หรือไม่ ต้องไปทำบารมีไปสะสมอย่างอื่นต่างหาก หรือแม้ขณะนี้มีปัญญาบารมีขณะที่เข้าใจถูก และก็มีวิริยบารมีด้วย มีสัจบารมีด้วย มีขันติบารมี ถ้าขณะใดที่มีเมตตา แม้จะได้ยินได้ฟังคำพูดที่ไม่น่าฟังสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังมีความเป็นมิตร หวังดีต่อบุคคลซึ่งไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นบารมีด้วย ที่กล่าวว่า “บารมี” คืออะไร ขอให้สนทนาถึงความหมายของบารมีด้วย
อ.วิชัย บารมี หมายถึงธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน ตั้งแต่ทานบารมีจนถึงอุเบกขาบารมี สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน แม้จะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดคือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน คือ ไม่มีตัวตน ถ้าการสั่งสมอบรมดังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าว ก็คือขณะที่จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ขณะนั้นก็มีการสั่งสมสืบต่อ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายอกุศล จิตก็สั่งสมด้วย เช่น ก็มีที่บางท่านเป็นคนมักโกรธ หรือสะสมมาที่จะติดข้องพอใจ เมื่อมีการติดข้องพอใจ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ไปประสบอารมณ์ที่น่าปรารถนา ความติดข้องพอใจก็เกิดอีก ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุว่า มีการสั่งสมที่จะมีความยินดีพอใจแล้วในสิ่งนั้นๆ หรือถ้าประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจก็เกิดขึ้น ก็น่าสงสัยว่า มาได้อย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แม้ได้ยินเสียงที่ดังขึ้นมา ความไม่พอใจก็เกิดแล้ว โดยที่ไม่มีความพยายามจะให้โกรธเลย แต่ขณะนั้นความโกรธเกิดแล้ว แสดงว่าธรรมเกิดแล้ว มีแล้ว เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะให้ธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นสะสมความโกรธขึ้นมา บุคคลอื่นได้ยินเสียงเดียวกัน อาจจะไม่โกรธ อาจจะเฉยๆ แสดงว่าบุคคลนั้นสั่งสมมาที่จะไม่มีความโกรธ
แต่สำหรับทางฝั่งที่มีการอบรมให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เช่นเดียวกัน มีการสั่งสมสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ตั้งแต่ทานบารมีจนถึงอุเบกขาบารมี มีการอบรมเจริญขึ้นในแต่ละชาติ เป็นการสั่งสมของจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นเป็นไปในบารมีต่างๆ มีการสั่งสมในแต่ละชาติ ค่อยๆ เจริญขึ้น จนถึงความถึงพร้อม ความเต็มเปี่ยมของบารมี ที่สามารถจะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้แจ้งอริยสัจธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ได้ ก็เป็นการสั่งสมของจิต และเจตสิกทั้งสิ้น
ผู้ฟัง ท่านผู้ฟังถามว่า การทำทานต่างๆ เป็นบารมีเสมอไป หรือไม่
อ.วิชัย ขณะที่เป็น "ทาน" ต้องหมายถึงกุศลจิตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นอกุศล และให้ จึงเรียกว่าทาน แต่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นที่เป็นไปในการให้วัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ดังนั้นจึงเป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้น ถ้ากุศลเจตนานั้นเป็นไปเพื่อการละคลาย อบรมจนถึงสามารถดับอกุศลเป็นสมุจเฉทได้ ขณะนั้นก็เป็นบารมี แต่ถ้าเป็นการให้ทานโดยมุ่งหวังที่จะเป็นไปในวัฏฏะต่อไป คือ เวียนว่ายตายเกิด มีความปรารถนาที่จะได้โภคสมบัติในภพภูมิต่อๆ ไป ขณะนั้นก็ไม่ใช่บารมี เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นเหตุที่ทำให้ถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะกรุณาเพิ่มเติมได้ หรือไม่
ท่านอาจารย์ กุศลเจตนา ก็ต้องรู้ว่า ไม่ใช่เกี่ยวกับวัตถุ แต่เป็นเจตนาที่ต้องการสละสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องพิจารณาถึงสภาพของจิตในขณะที่ให้
อ.ธีรพันธ์ "บารมี" เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน คือ ทานที่ให้แล้วเป็นไปเพื่อดับกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ได้เป็นไปเพื่อสังสารวัฏฏ์ การให้ก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือแม้กระทั่งอวัยวะ ชีวิต เป็นไปเพื่อที่จะดับกิเลส เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดังนั้นบารมีจึงเป็นธรรมที่ให้ถึงฝั่ง การที่จะไปฝั่งโน้นได้ ก็ต้องอาศัยสัมภาระ อาศัยบารมีหลายประการ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ธรรมที่ให้ถึงฝั่งจริงๆ คือ บารมี ๑๐ บารมี ซึ่ง ก็มีหลายขั้น เช่น บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ทานใดที่ให้แล้ว เจตนาที่ให้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ดับกิเลส จึงเป็นไปเพื่อให้ถึงฝั่งพระนิพพาน ไม่ใช่เป็นไปเพื่อไปเกิดในสุคติภูมิ และยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าในสุคติภูมิก็ไม่เที่ยง สามารถไปเกิดในอบายได้เหมือนกัน ดังนั้น การให้จริงๆ เป็นการให้เพื่อที่จะดับกิเลส
ผู้ฟัง ขณะนี้เรากล่าวถึงความเห็นผิดของคนอื่น แต่ความเห็นผิดของตัวเองเราลืม
ท่านอาจารย์ กำลังกล่าวเป็นเรา หรือเปล่า ลืม ก็ลืมไปหมด มีแต่เรื่องราว แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หลงลืม ก็คือสามารถที่จะเห็นถูกในขณะนั้นว่า เป็นเพียงสภาพธรรม ไม่ได้ห้ามคิด ไม่ได้บอกให้ทำอย่างนั้น หรือทำอย่างนี้ เพราะว่าบอกไม่ได้ ใครก็ทำไม่ได้ แต่ไม่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้นขณะไหน ให้รู้ว่า เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนไม่ได้ด้วยเพราะเกิดแล้ว
ผู้ฟัง ความเห็นผิด หรือการหลงลืม ไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง นี่ก็ชื่อว่า เป็นความเห็นผิดแล้วใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเห็นผิดอะไร
ผู้ฟัง ขณะนั้นอาจจะหลงลืมสติ
ท่านอาจารย์ หลงลืมสติ แล้วจิตเป็นอะไร ขณะที่หลงลืม จิตเป็นอะไร
ผู้ฟัง บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ หลงลืม หรือ ก็แล้วแต่จะเข้าใจธรรมโดยละเอียด หรือว่าขั้นต้นๆ แต่ตามความเป็นจริง ธรรมละเอียดมาก ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่า กำลังกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ และสภาพธรรมก็มีอายุที่สั้นแสนสั้น มีปัจจัยเกิดแล้วดับแล้ว กำลังพูดเรื่องจิต จิตก็เกิดดับไปนับไม่ถ้วน โดยที่ไม่รู้ลักษณะของจิตเลย จึงต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะเข้าใจว่า ไม่มีเราที่จะตัดสิน แต่มีธรรมที่ปรากฏ แล้วฟังให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่าเป็นธรรม เท่านั้นเอง
ผู้ฟัง แต่ตามไม่ทัน
ท่านอาจารย์ ไม่ได้บอกให้ตามทัน แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ
ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับจิต จากตัวอย่างที่ท่านอาจารย์เคยยกไว้ ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มเติม ที่อาจารย์บอกว่า ในอากาศมีจิตได้ หรือไม่ ในน้ำมีจิตได้ หรือไม่ และอีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจารย์บอกว่า เวลาที่เราเปิดเทปวิทยุให้มีเสียงออกจากวิทยุ พอเรากดปุ่ม stop ไป เสียงก็จะดับไปได้ อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นจิตจะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ กำลังมีจิต ใช่ หรือไม่ แต่ยังไม่รู้
ผู้ฟัง ยังไม่ค่อยเข้าใจ
ท่านอาจารย์ มีจิตแน่นอน ขณะนี้จิตที่คุณแสงธรรมเข้าใจว่า เป็นคุณแสงธรรม อยู่ในอากาศ หรืออยู่ที่ไหน หรืออยู่ในน้ำ
ผู้ฟัง อยู่ที่ตัวเรา
ท่านอาจารย์ เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เพราะเป็นธาตุรู้ ปลามีจิต หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ จิตปลาอยู่ที่ไหน
ผู้ฟัง จิตปลาอยู่ที่ตัวปลา อยู่ในน้ำ
ท่านอาจารย์ แล้วจิตของคุณแสงธรรมเวลานี้อยู่ที่ไหน
ผู้ฟัง อยู่ที่นี่
ท่านอาจารย์ ในอากาศ หรือในน้ำ หรือที่ไหน
ผู้ฟัง ถ้าในตอนนี้ก็ต้องอยู่ในอากาศ
ท่านอาจารย์ การฟังธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะไปสงสัยเรื่องราว แต่เพื่อเข้าใจจิต ฟังเพื่อเข้าใจจิต ไม่ใช่ไปฟังเพื่อสงสัยเรื่องราว ถ้าเข้าใจว่า จิตเป็นธาตุ ใครก็บังคับไม่ให้เกิดไม่ได้ แม้รูปธาตุก็ยังบังคับไม่ได้เลย แข็งนี่เกิดแล้วเป็นแข็ง ใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ ร้อนก็เกิดขึ้นแล้วเป็นร้อน ขณะที่ร้อน เกิดแล้วเป็นร้อน เป็นอื่นไม่ได้ นี่คือเรื่องของรูปธาตุ ฉันใด และธาตุที่มีจริง ก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธาตุเท่านั้น ยังมีนามธาตุด้วย เช่นเดียวกับรูป ใครจะไปบังคับ ไปเปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิด ไม่ให้เป็นไปไม่ได้เลย ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริงถึงสิ่งที่มีว่า สิ่งที่มีก็มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สภาพที่เกิดแล้วไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นธาตุ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เคยไม่รู้ เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือของเรา ก็จะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นมี เกิดปรากฏตามเหตุตามปัจจัย จริงๆ แล้ว เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่เป็นของใครด้วย นั่นฝ่ายรูป
สำหรับนามธาตุก็โดยนัยเดียวกัน เมื่อกล่าวถึงความเป็นธาตุ ก็เหมือนกัน คือ เป็นสิ่งที่เกิดจึงมีตามเหตุตามปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่ต่างกับรูปธรรม เพราะเหตุว่าธาตุนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ตรงกันข้ามกับธาตุซึ่งไม่รู้ก็เท่านั้นเอง ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่าทุกอย่างเป็นธาตุ จะไปสงสัยอะไรในน้ำ ใต้ดิน หรือบนดิน หรือในอากาศ ใช่ไหม ก็มีความเข้าใจสภาพที่เป็นธาตุรู้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเมื่อไร เกิดขึ้นรู้
ผู้ฟัง ก็คงยังไม่เข้าใจคำว่า เป็นธาตุรู้ จึงสงสัย
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มี อย่างไฟ มี หรือไม่ ร้อน มี หรือไม่
ผู้ฟัง มีร้อน
ท่านอาจารย์ เมื่อมี เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะมีจริงๆ มีลักษณะที่ต่างกับแข็ง แข็งก็มี เป็นธรรมอีกชนิดหนึ่งเป็นธาตุที่เกิดขึ้นแข็ง ธาตุที่เกิดขึ้นเห็น คือธาตุชนิดหนึ่งไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่ร้อน แต่เห็น จะใช้คำว่า ธรรม ก็ได้ จะใช้คำว่า “ธาตุ” ก็ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครไปบันดาลให้เกิด ไม่มีใครทำให้ดับไป ในโลกนี้มีกี่ธาตุ
ผู้ฟัง จำแนกใหญ่ๆ ก็มี ๒ ธาตุ ตามที่เรียนมา
ท่านอาจารย์ ๒ ธาตุ มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง นามธรรมกับรูปธรรม
ท่านอาจารย์ นามธรรมกับรูปธรรม หรือนามธาตุกับรูปธาตุ เป็นคุณแสงธรรม หรือไม่
ผู้ฟัง ตามการศึกษา ก็ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ตามการศึกษา หรือตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังให้เข้าใจความจริง จนกว่าจะมั่นคง
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ให้ลองหลับตา นึกถึงภูเขาทอง พอผมหลับตาแล้ว ก็จะนึกถึงสิ่งแรกคือ รูปร่างของภูเขาทอง ส่วนเรื่องของสีของภูเขาทอง จะนึกถึงทีหลัง อย่างนี้เป็นลักษณะของจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร ใช่ หรือไม่ ที่จะนึกถึงรูปร่างขึ้นมาก่อน ที่จะนึกถึงสีสัน
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่ได้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็น ขณะนั้นเป็นจิตที่คิดนึกจากความจำในสิ่งที่เคยเห็น ถ้าเคยเห็นแต่ไม่เห็นในขณะนั้น นึกได้ หรือไม่
ผู้ฟัง นึกได้
ท่านอาจารย์ นี่เป็นหนทางที่จะเข้าใจความต่างกันของธาตุที่ปรากฏทางตา กับความคิดนึก ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจอย่างนี้ได้ ก็เป็นเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา
การฟัง จึงฟังพร้อมกับการพิจารณา ในเมื่อขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ความจำในรูปร่างสัณฐานที่เกิดจากคิด แต่ถ้าไม่คิด ก็ไม่เห็นเป็นคนหนึ่งคนใด ก็มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา หนทางเดียวที่จะเข้าใจพยัญชนะ และอรรถ ที่ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ไม่ข้าม และไม่ผิวเผินที่จะรู้ว่า ขณะนี้แม้มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ทางตา เคยเข้าใจบ้างไหมว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เพียงปรากฏ ส่วนการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ที่จำมาตั้งแต่เกิด มีเพื่อนคนนั้นคนนี้ ตั้งแต่เด็กจนโต ก็เป็นเรื่องความคิดนึกทั้งหมด ก็จะแยกโลกสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง แล้วความคิดนึกซึ่งเกิดสืบต่อจากสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างรวดเร็ว ทำให้หลงเข้าใจว่าเป็นเราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ กว่าจะรู้ความจริง กว่าจะค่อยๆ เข้าใจความจริง กว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ความจริงคืออย่างนี้เอง ไม่มีอะไรเหลือด้วย ทุกขณะปราศไปหมด
ผู้ฟัง ขอถามอาจารย์ธิดารัตน์ที่บอกว่า จิตเป็นเหมือนมายากล ส่วนรูป เวทนา สัญญา สังขาร จะเปรียบเหมือนอะไรได้บ้าง
อ.ธิดารัตน์ มีข้อความในพระสูตรที่ทรงอุปมาไว้ เช่น รูป อุปมาเหมือนกับฟองน้ำใหญ่ ที่มีรูพรุนเล็กๆ และเป็นที่อาศัยของสัตว์เล็กๆ นั่นเอง ทรง อุปมาให้เห็นว่า รูปร่างกาย ที่ประชุมกันของรูป ก็ยังมีสัตว์เล็กๆ ในตัว มีหนอน มีพยาธิ มีสัตว์ต่างๆ ที่เป็นที่อาศัย ก็ให้พิจารณาถึงกายนี้ว่าไม่สะอาดนั่นเอง แล้วก็เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย นี่คือรูปขันธ์
เวทนา ทรงอุปมาเหมือนต่อมน้ำที่จะดับอย่างรวดเร็วนั่นเอง ซึ่งท่านอธิบายความเกิดดับของนามธรรมที่รวดเร็วมาก
สังขารขันธ์อุปมาเหมือนกับต้นกล้วย ซึ่งมีมากมายหลายกาบ แต่ละกาบก็จะไม่เหมือนกัน คือ ความแตกต่างกันของสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นเจตสิกซึ่งมีลักษณะที่ต่างๆ กัน
สัญญาขันธ์ อุปมาเหมือนกับพยับแดด วิญญาณขันธ์อุปมาเหมือนนักเล่นกล ซึ่งสามารถแสดงมายากลได้อย่างรวดเร็ว ก็คือหลอกลวงนั่นเอง นี่คือการอุปมาขันธ์ ๕
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจว่า พยับแดดเป็นอย่างไร
อ.ธิดารัตน์ เวลาที่ขับรถไปบนถนนเหมือนกับมีน้ำอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อผ่านที่ตรงนั้นไม่ใช่น้ำ แต่คือแสงแดดที่กระทบพื้นระยิบระยับเหมือนกับแหล่งน้ำนั่นเอง ที่ท่านอุปมาไว้ นั่นคือพยับแดด ก็คือเห็นเหมือนน้ำ แต่ไม่มีน้ำจริงๆ ก็คือภาพลวงตา ถ้าจะพูดด้วยภาษาที่เข้าใจ ซึ่งจริงๆ ท่านก็อุปมาให้เห็นว่า ความจำที่เราจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีสาระ และอย่างสังขารขันธ์ที่มากมาย ลอกกาบกล้วยไปแต่ละอย่าง ก็ไม่มีแก่น ให้เห็นถึงสภาพธรรมที่ไม่มีแก่นสารสาระ ที่ควรจะยึดถือเอาได้เลย เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละชนิดๆ
ผู้ฟัง และเวทนา มีความละเอียดอย่างไร
อ.ธิดารัตน์ เวทนาอุปมาเหมือนกับน้ำ เวลาที่ฝนตกลงไปน้ำ จะเกิดฟองขึ้นเล็กๆ เรียกว่า ต่อมน้ำเล็กๆ ซึ่งก็จะดับไปอย่างรวดเร็ว หรือเวลาที่เราซักผ้า จะมีฟองมากมาย ฟองนั้นก็จะยิบๆ แล้วก็แตกไป ก็คือความไม่ตั้งอยู่นานของนามธรรมนั่นเอง ซึ่งในพระสูตรนี้ ท่านก็อธิบายว่า แม้ลัดนิ้วมือเดียว เวทนานั้นก็เกิดดับแสนโกฏิขณะ ให้เห็นความรวดเร็วของนามธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
ท่านอาจารย์ เข้าใจ หรือไม่
ผู้ฟัง เช่น ความเจ็บปวดอย่างนี้ จะเปรียบเหมือนฟองน้ำอย่างไร
อ.ธิดารัตน์ ถ้าเรารู้สึกเจ็บ เจ็บนาน ใช่ไหม เพราะอะไร เพราะมีจิตที่เกิดดับสืบต่อกัน ทำหน้าที่รู้มากมาย ซึ่งจริงๆ ก็คือ ขณะที่ทุกขกายวิญญาณเกิด ก็เพียงขณะเดียว ที่ท่านอุปมาเวทนา เหมือนกับจิตด้วย เพราะเวทนาจะต้องอาศัยจิตเกิด จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง เวทนาก็เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ไป ๓ อนุขณะ เท่ากับจิตเหมือนกัน ก็คือความรวดเร็วของนามธรรม แต่การสืบต่อกันก็เหมือนกับไม่ดับนั่นเอง
ท่านอาจารย์ เข้าใจ หรือไม่
ผู้ฟัง เข้าใจขึ้นแล้ว
ท่านอาจารย์ เข้าใจฟองน้ำ หรือเข้าใจเวทนา หรือต่อมน้ำ หรือกาบกล้วย หรืออะไร
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 301
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 305
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 306
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 309
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 318
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 328
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 329
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 341
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 350
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360