พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และ เป็นอนัตตา เกิดแล้วดับตามเหตุปัจจัย ขณะนี้กำลังฟังเรื่องปัจจัย ๒๔ รู้สึกว่าการเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัยนั้นยากมาก ตัวอย่างเช่น อธิปติปัจจัย มี ๒ อย่าง และมีอีกหลายๆ อย่าง ฟังแล้วฟังอีก ก็ไม่เข้าใจว่า สภาพธรรมเป็นเหตุปัจจัยกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เราคิดติดที่ชื่อ และติดที่คำที่ต่างภาษา แต่ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้จริงๆ เวลาที่เราพบชื่อ และรู้ความหมายของชื่อนั้น เราก็รู้ว่าเป็นธรรมดา แต่ต้องเป็นความรู้จริง เช่น ถ้าได้ยินคำว่า "อารัมมณปัจจัย" ธรรมดาที่สุด ใช่ไหม เพราะเรารู้ว่า จิตเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ ถ้าจิตไม่เกิด จะไม่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด อะไรๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เพราะจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นปรากฏ สิ่งอื่นไม่ได้ปรากฏ ปรากฏเฉพาะสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่น ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ เพราะจิตกำลังเห็น หรือเสียงปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นอารมณ์ ก็คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ ถ้าไม่มีอารมณ์ จิตเกิดได้ หรือไม่ จิตเกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้แม้อารมณ์นั้นที่จิตกำลังรู้ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้จิตเกิด ด้วยเหตุนี้เมื่ออารมณ์เป็นปัจจัย จึงมีคำว่า “อารัมมณปัจจัย” และอารัมมณปัจจัยเป็นปัจจัยแก่รูปได้ หรือไม่ ไม่ได้เลย ต้องเป็นปัจจัยแก่นามธรรม คือ จิต และเจตสิกเท่านั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะเข้าใจเวลาที่ผ่านคำว่า"อารัมมณปัจจัย" แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความเข้าใจเลย แล้วก็ได้ยินชื่อ แล้วก็แปลได้ แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้อะไรเป็นอารัมมณปัจจัยของจิตอะไร เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ก็คือ ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรม ซึ่งมีชื่อที่ต่างกันเป็นภาษาไทยกับภาษาบาลีเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แต่เวลาฟัง ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างว่า โลภมูลจิต มีปัจจัยมากมาย ตั้ง ๑๐ กว่าปัจจัย ก็เลยรู้สึกว่ายาก

    ท่านอาจารย์ ก็เรายังไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะ แล้วเรายังไม่รู้ว่าขณะที่โลภะเกิดเป็นปัจจัยอะไร เพราะว่าสภาพธรรมก็เป็นปัจจัยด้วย เช่น จิตที่เกิด บางจิตไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะ ไม่มีอโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้ว่า ลักษณะของโลภะเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมที่เป็นเหตุ เป็นเจตสิกฝ่ายไม่ดี มี ๓ เหตุ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นมูล เป็นเหตุของอกุศลธรรมทั้งหลาย เช่น โมหะก็คือโมหเจตสิก เป็นมูลของอกุศลธรรม ถ้าโมหะไม่เกิด จะมีโลภะไหม จะมีโทสะไหม ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเข้าใจว่า โมหะเป็นเหตุที่จะให้เกิดโลภะ และโทสะ และแม้โลภะก็เป็นเหตุ โทสะก็เป็นเหตุด้วย เราก็จะรู้ว่า ขณะใดก็ตามที่เจตสิกเหล่านี้เกิดกับจิต ความเป็นปัจจัยของเจตสิกกับจิตในขณะนั้น คือ โลภะเป็นเหตุ จิตนั้นมีโลภะเกิดร่วมด้วย และมีโมหะเกิดร่วมด้วย โดยความเป็นเหตุปัจจัย นี่ก็คือเข้าใจความจริงของสภาพธรรมก่อน ในภาษาที่สามารถเข้าใจได้ แล้วแต่ว่าใครใช้ภาษาอะไร เมื่อได้ยินคำภาษาบาลีก็เข้าใจตรงกันในลักษณะของสภาพธรรม แล้วอย่าหวังว่า เราจะรู้ปัจจัยโดยทั่วทั้งหมด ถ้ากล่าวโดยคัมภีร์ คัมภีร์ปัฏฐานเป็นคัมภีร์สุดท้าย ถ้าไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป เป็นนิพพาน อะไรจะไปเป็นปัฏฐาน หรือปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดขึ้นได้ ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจสภาพธรรมตามลำดับ เมื่อเข้าใจแล้วก็เข้าใจขึ้นอีก เพื่อเห็นความเป็นอนัตตา ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นฟัง ขั้นปริยัติ ไม่มีทางที่สติสัมปชัญญะจะเกิด และถ้าเป็นความเข้าใจที่น้อยมาก แม้ว่ามีปัจจัยทำให้สติสัมปชัญญะเกิด แต่ปัญญาระดับนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้เห็นถูกเข้าใจถูกในการเกิดขึ้น และดับไป หรือในความเป็นอนัตตาของธรรม แม้ว่าศึกษามามาก ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะที่เกิดแล้วรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ และการสะสมของความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น จึงเป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้เห็นว่า เป็นจริงตามที่ได้ศึกษามาแล้ว หรือว่าเข้าใจมาแล้ว ก็เป็นการเข้าใจธรรมตามลำดับ

    ผู้ฟัง ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อรู้ แล้วละความไม่รู้เท่านั้น

    ผู้ฟัง ก็จะสะสมปัญญา และอวิชชาเราก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง รู้สึกว่านามธรรมจะรู้ยากกว่ารูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็คิดไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คิดเรื่องอื่นไป

    ผู้ฟัง แม้ว่าตลอดเวลา ตลอดทั้งวันจะอยู่กับนามธรรมมากกว่า รูปธรรมก็ตาม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครยับยั้งความคิดได้ แต่คิดก็คือคิด จะคิดอย่างไรก็ได้ รู้ยากกว่าเพราะละเอียด เพราะเป็นธาตุซึ่งไม่มีรูปร่างปรากฏเลย แต่แม้รูปอื่นก็ไม่มีรูปร่างปรากฏด้วย แต่ขณะนั้นมีความต้องการ มีความอยาก หรืออะไรๆ หรือเปล่า ซึ่งสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ นามธรรมละเอียดกว่ารูปธรรม และนามธรรมแต่ละอย่างก็มีความละเอียดต่างกันไปอีก เช่น ชีวิตของเรา ที่แม้แต่เป็นไปด้วยการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นจิตธรรมดา ส่วนใหญ่ก็เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง ไม่มีความสงบอย่างมั่นคง เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก สิ่งที่เราคิดว่ายั่งยืน มั่นคง แต่จิตเกิดขึ้นรู้เพียง ๗ ขณะ ที่ชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งนั้น แค่นั้นเองแล้วก็หมด แม้เป็นกุศลก็เพียงเท่านั้น แค่ ๗ ขณะที่เกิดขึ้นเป็นกุศลในสิ่งที่กำลังปรากฏ สั้นสักแค่ไหน เพราะฉะนั้นความสงบ คือ กุศลน้อยมาก ถ้าจะเทียบกับระดับจิตที่สูงขึ้น ซึ่งไม่มี เพราะไม่รู้ ไม่สามารถที่จะถึงได้ ก็แสดงว่า สิ่งใดก็ตามที่ยังไม่เกิด เราไม่สามารถจะรู้ความต่างของแม้ความสงบระดับขั้นของสมาธิขั้นอุปจาระ ขั้นอัปปนา ขั้นฌานจิตต่างๆ และโดยเฉพาะสภาพที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็เป็นลักษณะของจิตซึ่งอยู่ในโลกของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วไม่มีปัญญาแม้เพียงจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏที่มีแล้ว แต่ถ้าไปหวัง ไปทำอย่างอื่น ก็ยิ่งหมดหนทาง เพราะเหตุว่าไม่มีสภาพนั้นปรากฏให้รู้ แต่ไปทำด้วยความเป็นตัวตน จึงเป็นเรื่องละเอียด ซึ่งจะข้ามการไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัยไม่ได้ เมื่อไรที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นรู้ตามความเป็นจริง ทุกอย่างหมด ไม่เหลือ มีแต่เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังรู้เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แต่พอมาคิดถึงคำว่า “นิมิต” ที่อาจารย์เคยกล่าว ก็คิดว่า ถ้าเกิดมีนิมิตแล้ว สติก็คงสามารถระลึกรู้ถึงนามธรรมที่เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติไม่เกิดก็นั่งคิดไปว่า สติคงจะระลึกนั่น ระลึกนี่ ฟังจนกว่าสติจะเกิด ก็รู้เอง

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องระลึกถึงนิมิตไปก่อน เนื่องจากเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก

    ท่านอาจารย์ มิได้ ไม่จำเป็นเลย ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแล้ว ยังไม่มีคำว่านิมิต

    ผู้ฟัง ที่รู้ว่าเป็นอะไร ก็เพราะว่ามีนิมิตอยู่ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็ไปคิดต่างหาก คิดเรื่องอื่น แต่ไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนี้เอง มีจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น เป็นคนก็ไม่ได้ เป็นอะไรก็ไม่ได้ เป็นธรรมที่สามารถกระทบจักขุปสาท โต๊ะกระทบจักขุปสาทได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อะไรกระทบได้

    ผู้ฟัง รูปกระทบได้

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่สามารถกระทบได้ คือ วัณณรูป กระทบจักขุปสาท มีอายุสั้นมาก ดับแล้ว แต่สืบต่อ เพราะความไม่รู้ เมื่อไรรู้ ก็สามารถที่จะรู้ว่า อะไรจริง คิดนึกจริง เห็นจริง ได้ยินจริง แต่เรื่องราวต่างๆ ไม่มีจริงๆ เลย เพราะว่าคิดดับ เรื่องราวต่างๆ อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าจะรวดเร็วมาก ถ้าเกิดว่าระลึกตัวสภาพธรรมจริงๆ เลย แทนที่จะเป็นนิมิต

    ท่านอาจารย์ รู้สึกว่า รวดเร็วมาก หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เนื่องจากสภาพธรรมที่เกิดดับ เช่น รูปเกิดดับช้ากว่าจิตตั้ง ๑๗ ขณะ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ เห็น รวดเร็วมากไหม

    ผู้ฟัง รวดเร็ว

    ท่านอาจารย์ ได้ยิน รวดเร็วไหม

    ผู้ฟัง รวดเร็ว

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมจะพูดถึงแต่เฉพาะสติรวดเร็ว

    ผู้ฟัง เขาเกิดดับช้ากว่ารูป ๑๗ ขณะ

    ท่านอาจารย์ รูปเกิดดับช้ากว่าจิต เพราะว่าเกิดดับเท่ากับอายุของจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    ผู้ฟัง จึงคิดว่า รู้ลักษณะของจิตจะยากมากกว่ารูปมาก

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปคิด ถ้านั่งคิด ก็แสดงว่าไม่รู้ลักษณะของจิต เพราะกำลังคิดเรื่องจิต แต่ขณะนี้กำลังเห็น ไม่มีเรื่องของจิต แต่จิตเห็น เกิดแล้วกำลังเห็น กำลังทำหน้าที่เห็น จะต้องไปคิดเรื่อง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดเรื่อง ก็แสดงว่าจิตก็เกิดดับไปตลอดแสนโกฏิกัปป์เรื่อยๆ แล้วก็เป็นแต่เรื่องราวของจิตที่จำ และก็ไม่รู้ว่า จะจำไปได้นานเท่าไร เพราะว่าแต่ละภพแต่ละชาติ ก็ไม่รู้ว่า ชาติต่อไปจะได้ยินซ้ำอีก หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จึงสงสัยว่า จะระลึกลักษณะของสภาพนามธรรมได้จริง หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สงสัยในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญญาเท่าคุณวรศักดิ์

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ และจะสงสัยทำไม ต่างกันลิบลับอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เพราะว่าไม่เคยเป็นอารมณ์ของอะไรเลย ไม่เคยเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานที่จะระลึกรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสจากการตรัสรู้นั้น ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงตรัสรู้ หรือว่าไม่ได้ตรัสรู้ก็แสดง

    ผู้ฟัง ทรงแสดงตามที่ตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนอื่นจะรู้ตามอย่างนั้น เป็นจริงอย่างนั้น หรือไม่

    ผู้ฟัง อาจจะได้ ถ้าคนอื่น

    ท่านอาจารย์ อริยสัจ ๔ ใครรู้

    ผู้ฟัง ผู้ที่ตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้า พระสาวก ผู้ที่รู้สามารถจะประจักษ์ความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง หรือไม่

    ผู้ฟัง เชื่อ แต่ก็ไม่เต็ม ๑๐๐

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เต็ม ๑๐๐ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ทำไมเป็น เฉพาะพระพุทธเจ้า หรือ

    ผู้ฟัง เพราะพระองค์สามารถตรัสรู้ธรรมได้ละเอียด

    ท่านอาจารย์ แล้วทรงแสดงธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง ทรงแสดง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีผู้ใดสามารถจะรู้ตาม ไม่ทรงแสดงแน่นอน เสียเวลา เสียประโยชน์

    ผู้ฟัง จะกล่าวว่าทั้งๆ ที่เราไม่รู้ แต่ก็เชื่อไว้ก่อน เพราะว่าหนทางมี

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เชื่อไว้ก่อน ขณะนี้มีอะไร

    ผู้ฟัง มีธรรม มีคำสอน

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นธรรมขณะนี้

    ผู้ฟัง มีเห็น และ มีได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เห็นเกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดอยู่

    ท่านอาจารย์ ดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ เพราะมีได้ยินต่อใช่ หรือไม่ ถ้าไม่ดับ ก็คงไม่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรม ไม่ใช่เอาความคิดของเรามาเทียบ มาประมาณ มาเป็นเครื่องวัดว่า เมื่อเราคิดอย่างนี้ ความจริงก็เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เช่นนั้น แต่มีผู้ที่รู้จริงๆ ทรงแสดงความจริงให้พิจารณา ไม่ใช่ให้เราต้องเชื่อ

    ขณะนี้เห็น เป็นอย่างหนึ่ง คิดนึกเป็นอีกอย่างหนึ่ง ได้ยินเป็นอีกอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง เป็นความจริงที่เชื่อได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเกิดพร้อมกันทั้งหมด หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่พร้อม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมหนึ่งเกิด แล้วมีสภาพธรรมอื่นมาร่วมเกิดซ้อนๆ กัน ตั้งแต่เกิดจนตายในขณะนี้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เช่นนั้นความจริง คืออย่างไร

    ผู้ฟัง คือธรรมแต่ละอย่างเกิดแล้วก็ดับไป ก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง กิเลส ความไม่รู้ อวิชชาก็สะสมมานานมากในแสนโกฏิกัปป์

    ท่านอาจารย์ เคยรู้มาก่อน หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ศึกษาธรรม ก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ รู้แล้ว ถูก หรือไม่

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ ดี หรือไม่ที่เข้าใจถูก

    ผู้ฟัง คำถาม คือ สะสมอวิชชามาแล้วในแสนโกฏิกัปป์ และปัจจุบันอกุศลก็ยังมากกว่ากุศลมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็เพราะอวิชชา มีเหตุปัจจัยให้อกุศลเกิดมาก

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่สะสมมามากๆ ๆ ๆ แสนมาก นานแสนนาน และจะไม่เป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดได้ หรือไม่ ไม่ได้ ก็เป็นธรรมดา ให้เข้าใจความเป็นธรรมดา ธรรมเป็นธรรมดา ใครจะไปบังคับ ใครจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง คำถาม คือ เราต้องอบรมเจริญปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่ละกิเลส และดับกิเลสได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เหมือนกับว่า กิเลสเก่า อวิชชาเก่าก็เยอะ และสะสมใหม่ก็เยอะ ปัญญาก็เกิดน้อย และยากมาก

    ท่านอาจารย์ จริง หรือไม่

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ จริงก็ต้องจริง

    ผู้ฟัง แล้วจะดับกิเลสได้ หรือ

    ท่านอาจารย์ เราจะดับ หรือปัญญาจะดับ

    ผู้ฟัง ปัญญาจะทันกิเลส หรือ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาทันอะไร หรือปัญญารู้อะไร

    ผู้ฟัง ปัญญาจะรู้กิเลส แล้วดับกิเลสได้ทัน หรือ ในเมื่อ ...

    ท่านอาจารย์ ก็แต่ก่อนนี้ไม่เคยรู้ว่ามีกิเลส เดี๋ยวนี้ก็ยังรู้ได้ว่ามี มากด้วย

    ผู้ฟัง คือถ้าเชิงปริมาณ ก็ไม่ทันกัน แต่ถ้าปัญญาเขาคมพอที่จะดับได้มากๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครอย่ามาถาม ๑๐ ปี ฟังมาแล้ว ๒๐ ปี ฟังมาแล้ว กี่ชาติฟังมาแล้ว ให้เข้าใจความหมายของกัป และการรู้จริง ที่ถาม อีกกัปหนึ่งแล้วจะรู้ ปัญญาจะสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม ดีใจ หรือพอใจ หรือยัง รอได้ไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ ถ้าอีกแสนกัปก็ต้องรอ เพราะว่าเลือกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง หรืออาจจะยิ่งกว่าแสนกัปก็ได้ ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ข้อสำคัญ คือ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเวลา ขึ้นอยู่กับความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ บางคนก็เสียดายชีวิตเมื่อรู้ว่า เมื่อเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันจะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ เขาบอกว่า ทำไมน้อย อยากเกิดอีกนานๆ ยังอยากสนุก ยังอยากจะมีชีวิตต่อไปอีก ขณะนั้นเพราะว่ามีความติดข้อง ยังไม่รู้ความจริง ก็พูดอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ปุถุชนพูดอย่างหนึ่ง พระอริยบุคคลก็มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกับปุถุชน จากความเป็นปุถุชน ผู้ไม่รู้ เมื่อได้ยินธรรม อยากรู้ธรรม อยากประจักษ์นิพพาน อยากหมดกิเลส แต่จริงๆ แล้วเปล่า จะต้องค่อยๆ เข้าใจธรรม จะต้องรู้ความต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด กับขณะที่เพียงเข้าใจขั้นฟัง และแม้สติสัมปชัญญะเกิดแล้ว การศึกษาจริงๆ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ไม่ใช่ขณะอื่น แต่ขณะที่เริ่มรู้จักลักษณะของสภาพธรรม แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็จะสมบูรณ์ถึงกาลที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสหมดเมื่อไร นั่นคือความสมบูรณ์ของอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะฉะนั้น การฟัง ฟังเพื่อเข้าใจ ให้รู้จริงๆ ว่าไม่มีเรา และถ้าขณะนั้นมีความต้องการเกิดขึ้น ก็เป็นธรรม และก็หมดแล้วด้วย แต่ความเป็นตัวตนก็เดือดร้อน และหาวิธีต่างๆ ยากต่อการที่จะละการติดข้องมากขึ้นอีก

    ผู้ฟัง ฟังมาถึงตอนนี้ ก็รู้ว่า ต้องฟังธรรมให้เข้าใจ แล้วพิจารณาไตร่ตรอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นคนเก่าเหมือนเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงทำอย่างอื่นเลย เพราะอะไร เพราะนั่นคือตัวจริง สะสมมาอย่างไร จะคิดอย่างไร จะเห็นอะไร แต่ละภพแต่ละชาติ ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ขณะใดก็ตามที่ธรรมเกิดแล้วปรากฏ นั่นคือชีวิตจริง เพราะอะไร เกิดแล้ว เกิดแล้วเมื่อไร เพราะอะไร ตามการสะสมมานานแสนนาน ซึ่งปรุงแต่งจนกระทั่งเราไม่สามารถรู้ถึงการปรุงแต่งได้เลย ความฝันแต่ละคืนเป็นเครื่องบ่งชัด เราสะสมอะไรมามากน้อยแค่ไหน คืนนี้จะฝันอะไรดี ฝันเรื่องสนุกๆ ดี หรือไม่คืนนี้

    ผู้ฟัง ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาฝันเกิดขึ้น รู้ไหมว่ามาจากไหน แม้เพียงแค่ฝัน ยังไม่เหมือนกับจริงๆ ในขณะนี้เลย เพราะฉะนั้นเพียงขณะฝัน ก็เห็นความวิจิตรของการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ในชาติไหน ความสุขความทุกข์ใดๆ ต่างๆ ความคุ้นเคยในชาติก่อนๆ ทั้งหมด ก็เกิดขึ้นเพราะความทรงจำ ที่ทำให้รู้ว่าไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ยับยั้งได้ นี่คือฝัน และตื่นก็เหมือนกัน ใครก็ยับยั้งไม่ได้ เพราะความจริงฝันก็คือคิด เพราะจำ สิ่งที่ได้เห็นแม่นยำเหมือนเห็นกับตาเลย ใช่ไหม เวลาที่เราจำอะไรในขณะนี้ จะแม่นยำเหมือนกับในฝันไหม บังคับบัญชาไม่ได้ว่า จะให้เป็นอย่างนั้น แต่ทำไมถึงฝันเหมือนเห็น เหมือนจริง เพราะสัญญา ความจำขณะนั้นทำให้เห็นว่า สามารถที่จะปรุงแต่งในสิ่งที่ไม่คาดฝันเลย ในฝัน ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน กำลังมีสัญญา ความจำ แล้วแต่ว่าความจำหลากหลาย จำสิ่งที่กำลังฟังด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น

    ผู้ฟัง การที่จะมีตัวตน ใครที่สอนให้มีตัวตน ให้ไปทำอะไร ก็ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นความเข้าใจของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ พุทธะ คือ ปัญญา รู้ความจริง คำสอนก็เพื่อจะให้ผู้ฟังเกิดปัญญา เข้าใจความจริง

    ผู้ฟัง เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็จะฟังให้เข้าใจอย่างสบายๆ แล้วก็ไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อไร คือ นานแค่ไหน ก็จะรอ เพราะว่าเป็นอนัตตาอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ คิดก็ไม่สำเร็จ คิดไปเท่านั้น

    ผู้ฟัง เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม ปัญญาก็จะเกิด รู้กิเลสแล้ว ละกิเลสได้โดยสะสมไป

    ท่านอาจารย์ เราจะรู้ หรือไม่ เหมือนเช่นท่านพระสารีบุตร ท่านจะรู้ หรือไม่ว่า ท่านจะเป็นพระโสดาบันในชาติที่ท่านได้พบท่านพระอัสสชิ ก่อนนั้นท่านก็ไม่ได้เป็นลูกของนางสารี ท่านก็เป็นใคร ที่ไหน อย่างไร แล้วท่านก็ไม่รู้ด้วยว่า ถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะเป็นใคร ณ สถานที่ใด

    ผู้ฟัง ในขั้นปริยัติขณะนี้ เราฟังเพื่อให้เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แล้วเราก็พิจารณาตามว่าเป็นจริงตามนั้น แล้วเราก็เชื่อว่า คนในโลกนี้สามารถอบรมปัญญาให้รู้ความจริงตามนั้นได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นความเข้าใจถูกต้อง สะสมความเข้าใจถูกว่า เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรา ปัญญาก็เป็นสภาพธรรมที่เห็นถูก เข้าใจถูก เกิดดับด้วย แต่สะสมต่อไปได้

    ผู้ฟัง มีผู้ถามว่า เคยฟังธรรมว่า อาศัยโลภะละโลภะ นั้นมีความหมายอย่างไร และโลภะมีประโยชน์บ้างนั้น เข้าใจผิด หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จะละโลภะเมื่อไร เพียงแค่คำว่า “ละโลภะ” ยังไม่ต้องอาศัยอะไร แต่ว่าจะละ โลภะเมื่อไร

    ผู้ฟัง ต้องรู้จักโลภะก่อน

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้ รู้จักโลภะไหม

    ผู้ฟัง ยังรู้ไม่ค่อยชัด

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่มีโลภะ ก็ไม่รู้จักโลภะ และจะอาศัยอะไรมาละโลภะ แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นปัญญาที่รู้จักโลภะ ถ้าไม่มีโลภะ ก็ไม่ต้องละแล้ว จะไปละทำไม ถ้าไม่มี

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้จักโลภะ จะละได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่มีโลภะ ต้องละโลภะ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ แต่ที่ละโลภะ เพราะมีโลภะ และรู้จักโลภะ ปัญญาที่รู้โลภะ เพราะมีโลภะให้รู้ จึงจะละโลภะได้

    ผู้ฟัง มีคำถามต่อว่า ถ้าเช่นนั้นโลภะก็มีประโยชน์บ้าง คิดเช่นนี้จะเป็นการเข้าใจผิด หรือเข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัย โลภะมีประโยชน์ หรือไม่

    อ.วิชัย โลภะไม่มีประโยชน์เลย เพราะเหตุว่าโดยสภาพของโลภะเป็นความติดข้อง เป็นความยินดี ให้เป็นไปในวัฏฏะ ดังนั้นจึงทรงแสดงว่า โลภะเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าพิจารณาโดยจริงๆ อะไรที่มีประโยชน์ ระหว่างความติดข้องกับความเข้าใจ โดยสภาพที่ละโลภะได้ มีอย่างเดียวก็คือปัญญา ที่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะค่อยๆ คลายความติดข้องยินดี เพราะเหตุว่า ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ติดข้อง สิ่งที่ยึดถือนั้นคืออะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567