พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐


    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าโดยสภาพที่ละโลภะได้ มีอย่างเดียวก็คือปัญญา ที่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะค่อยๆ คลายความติดข้องยินดี เพราะเหตุว่าถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ติดข้อง สิ่งที่ยึดถือนั้นคืออะไร เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะยึดถือเลยว่า เป็นของที่เที่ยง หรือยั่งยืน เพราะเหตุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และต้องดับไปในที่สุด ความติดข้องยินดีสามารถเกิดได้โดยที่มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น โดยสภาพของโลภะไม่มีประโยชน์เลย ที่กล่าวว่าอาศัยโลภะละโลภะ เพราะเหตุว่าสภาพของโลภะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ในลักษณะของโลภะได้ แม้ในภิกษุณีสูตรกล่าวว่า เมื่อภิกษุเห็นภิกษุรูปอื่นที่สามารถบรรลุมรรคผล และขวนขวายที่จะศึกษาพากเพียร โดยสภาพของโลภะ ห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดขึ้น แต่ว่าบุคคลนั้นมีความเข้าใจในหนทางหรือไม่ ที่จะให้ถึงการบรรลุมรรคผล

    สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจถูก รู้ถูก มีความเห็นถูก แม้ในขั้นการฟัง เมื่อมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่า ในขณะที่ฟังมีความเข้าใจ หรือไม่ หรือว่าเป็นความคิดของเราทั้งหมดเลย แม้แต่เรื่องว่านาน หรือว่ายากในการที่จะรู้ นั่นก็เป็นเรื่องของความคิด แม้ขณะที่กำลังฟัง ก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ฟัง แต่เป็นความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นให้คิดเรื่องราวต่างๆ แต่เมื่อสติเจริญขึ้น ก็สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นเพียงความคิดที่เกิด นั้นก็จะเป็นการค่อยๆ เจริญขึ้นของสติที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นเรื่องของความคิด ยังไม่ใช่ความเข้าใจ ขณะใดที่มีการฟังธรรม และมีความเข้าใจ สติก็สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นเริ่มมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง ในขณะซึ่งสติปัฏฐานเกิด รู้ลักษณะของโลภะ เห็นโทษของโลภะ ก็ละโลภะ เริ่มที่จะพิจารณาลักษณะของโลภะ และละโลภะได้ตามสมควร เท่าที่ปัญญาจะมี จะเป็นประโยชน์หรือไม่ จากคำว่า “อาศัยโลภะ ละโลภะ” ถ้าสติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ที่จริงถ้าเราจะพิจารณาคำพูดที่ได้ยินได้ฟัง ก็ลองคิด ใครก็ตามที่เข้าใจว่า “อาศัยโลภะ ละโลภะ” เห็นว่าอย่างไร หรือว่าเข้าใจว่าอย่างไร มีตัวอย่าง หรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าง่าย สิ่งที่เราอยากได้ และจะมาละสิ่งที่อยากได้ คือ รู้สึกว่าง่าย แต่ฟังจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ของง่ายเลย

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้หรือไม่ ที่ว่า “อาศัยโลภะ ละโลภะ”

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่เข้าใจเลย

    ท่านอาจารย์ จึงไม่ได้เข้าใจอรรถนั้น ไปเข้าใจเหมือนอย่างที่เราเคยไม่เข้าใจว่า เอาโลภะมาละโลภะ ถ้าได้ยินอย่างนี้ แต่ความจริงโลภะจะละโลภะไม่ได้ ต้องเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกว่า ชีวิตของเรา ก็คือความเป็นไปของวิญญาณจริยา ญาณจริยา อัญญาณจริยา แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจถึงความละเอียดจริงๆ ของจริยาทั้ง ๓ นี้ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจมากกว่านี้ยิ่งขึ้น

    ท่านอาจารย์ วิญญาณก็คือจิต เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย ทุกขณะที่จิตเกิด เมื่อจิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ไม่เพียงแต่เกิดแล้วก็ดับ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่การดับไปของจิตแต่ละขณะ ทุกขณะ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าจิตขณะก่อนยังไม่ดับ ยังไม่หมดสิ้น ยังไม่ปราศไป โดยสิ้นเชิง จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้เลยด้วยเหตุนี้ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิดในชาตินี้ก็ต้องดับ และความเป็นจริงก็คือว่า ต้องมีจิตอื่นเกิดสืบต่อ แต่ว่าขณะที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิ จะเห็นทันทีไม่ได้ ได้ยินทันทีไม่ได้ คิดนึกทันทีไม่ได้

    จิตแต่ละขณะก็ทำกิจเฉพาะของตนๆ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และทำหน้าที่ตามปัจจัยนั้นด้วย เช่น จิตที่ทำปฏิสนธิ ทำกิจตามปัจจัยที่เกิดสืบต่อจากจุติ เพราะฉะนั้นทำกิจอื่นไม่ได้ นอกจากเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิต โดยปฏิสนธิในภูมิหนึ่งภูมิใด เป็นจิตประเภทหนึ่งประเภทใด ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้ประมวลมา ที่จะทำให้เกิดในขณะนั้น ดับไป กรรมนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่ง และการปราดไปของจิตขณะก่อนก็เป็นปัจจัยด้วยที่ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ทำกิจดำรงภพชาติ ที่ใช้คำว่า “ภวังค์” มาจากคำว่า ภว กับ อังค ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เพราะว่ากรรมหนึ่งที่ทำแล้ว ก็จะให้ผล นอกจากทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ต้องมีการดำรงอยู่ตราบเท่าที่กรรมนั้นยังให้ผล จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย

    เมื่อปฏิสนธิจิตดับ จิตขณะต่อไปก็เกิดดับทำภวังคกิจ จนกว่าวิถีจิตที่มีอารมณ์ต่างกับอารมณ์ของภวังค์ เริ่มมีการรู้สึกตัว แต่วาระแรกก็คือ ทันทีที่รู้สึกตัว เป็นความติดข้องในภพ ในความเป็นขณะนั้น ชั่วระยะเวลาที่สั้นมาก แล้วก็ดับไป แล้วก็เป็นภวังค์ทุกครั้งที่จิตรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทางทวารหนึ่งทวารใด คือ เกิดสืบต่อโดยรู้อารมณ์เพราะอาศัยทวารนั้นดับแล้ว ภวังคจิตจะเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ มิฉะนั้นแล้วก็เป็นจุติ คือ สิ้นชีวิตไป แต่เมื่อยังไม่สิ้นสุดกรรม ก็ทำให้ภวังค์ดำรงภพชาติต่อไป จนถึงกาลที่กรรมใดจะให้ผล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางหนึ่งทางใดแต่ละวาระ เลือกไม่ได้เลย นี่คือ วิญญาณจริยา เกิดแล้วต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย มีใครบ้าง เกิดมาแล้วไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ด้วยเหตุนี้ ขณะนี้เห็น วิญญาณจริยา จิตเกิดขึ้นแล้วต้องเห็น เมื่อไรก็แล้วแต่ วันไหนก็แล้วแต่ จะเช้า สาย บ่าย เย็น จะเห็นอะไร ก็แล้วแต่ว่ากรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น แล้วจิตเห็นก็เกิดแล้วก็ดับไป ทั้งหมดนี้เป็นวิญญาณจริยา คือ ความเป็นไปในภพหนึ่งชาติหนึ่งต้องมี

    สำหรับอัญญาณจริยา หมายความถึงประเภทของจิตที่เป็นอกุศล ไม่มีปัญญา ตอนนี้ก็เข้าใจได้แล้วใช่ หรือไม่ ว่าเวลาที่อกุศลจิตเกิดหลังเห็น ก็ติดข้อง พอใจในสิ่งที่เห็น หรือมิฉะนั้นก็ไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏ ยับยั้งไม่ได้ และรวดเร็วจนกระทั่งเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีใครรู้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ความรวดเร็วของอกุศลที่เกิดต่อแต่ละวาระที่เห็น พอใจ ไม่พอใจในสิ่งที่เห็น แต่ละวาระที่ได้ยิน ก็มีความไม่รู้ และก็มีโลภะบ้าง โทสะบ้าง เป็นปกติในสิ่งที่ปรากฏ ทั้งหมดนี้ที่เป็นอกุศล ก็เป็นอัญญาณจริยา ความประพฤติเป็นไปของอกุศล ซึ่งมีปัจจัยที่จะต้องเกิด ยับยั้งไม่ได้ ทุกคนที่เกิดมาแล้วที่ไม่มีอกุศล มี หรือไม่ เจ้าชาย สิทธัตถะประสูติแล้ว ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนนั้นมีอกุศล หรือไม่ ก็ต้องมี ขณะนั้นเป็นอัญญาณจริยา หลังจากที่วิญญาณจริยา คือ การเห็น การได้ยิน เหล่านี้ซึ่งเป็นความประพฤติเป็นไปตามปกติของแต่ละภพแต่ละชาติ ก็จะมีอกุศลติดตามมาอย่างรวดเร็ว

    จนกว่า ญาณจริยา ความประพฤติเป็นไปของปัญญา ซึ่งเกิด มีสังขารขันธ์ปรุงแต่ง จากการฟัง การไตร่ตรอง ความเห็นถูก จนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณ นั่นก็เป็นความต่างกันมากระหว่างที่เห็นแล้วไม่รู้ กับการที่เห็นแล้วรู้ จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดความจริงของสภาพธรรม แต่ละคน ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นอะไร วิญญาณจริยานี้มีแน่ อัญญาณจริยาก็มี และก็สะสมวิญญาณจริยา จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ไม่ใช่เราเลย เห็นหรือไม่ เป็นความเป็นไป ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ก็เป็นอย่างนี้เอง

    ผู้ฟัง ควรจะฟังเพื่อให้เข้าใจ คือ ต้องไม่ทำอย่างอื่น คือ ฟังแล้วให้เกิดความเข้าใจ ที่เรียกว่าปัญญา สะสมไปเพื่อเป็นเหตุปัจจัย น่าจะเป็นลักษณะของการศึกษาธรรมด้วยความไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ยังมีอยู่ หรือเปล่าตัวตน

    ผู้ฟัง มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ายังไม่ได้ดับอนุสัยกิเลส แต่ว่าขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย

    ธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียด การเกิดดับของจิตสืบต่อกันละเอียดมาก ขณะนี้ดับไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยบ้าง แต่ขณะใดก็ตามที่มีสติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็เริ่มที่จะเห็นลักษณะของสภาพธรรมนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ยังมีทิฏฐานุสัย การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เวลาที่มีการฟัง และเข้าใจก็เป็นการสะสม ที่จะถึงการเกิดขึ้นของปัญญาที่สามารถดับอนุสัยได้ ส่วนใหญ่เรามักจะคิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วพยายามที่ไม่ให้เป็นอกุศล อาจจะพยายามที่จะเจริญกุศล แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ความจริงไม่สามารถดับอนุสัยกิเลสได้

    ด้วยเหตุนี้ขณะนี้ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ เราจะบอกลักษณะของขณะจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกันไม่ได้ เห็น ไม่ใช่ได้ยินแล้ว และไม่ใช่คิดนึก การเกิดขึ้นดับไปสืบต่ออย่างรวดเร็ว ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้สภาพที่มีในขณะนั้น อย่างเราพูดถึงความเป็นตัวตน ยังมีตัวตนอยู่ เพราะว่ายังไม่ได้ดับอนุสัยกิเลสที่เป็นทิฏฐานุสัย แต่ไม่ได้หมายความว่า มีทิฏฐิเจตสิกเกิดตลอดเวลา แต่หมายความว่า เพราะยังมีทิฏฐานุสัย เวลาที่มีอกุศลเกิดขึ้น สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความยินดีพอใจ ที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือว่าขณะนั้นกำลังมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่ก็ต้องเป็นในขณะนั้น เพราะว่าถ้าดับไปแล้ว ก็ไม่สามารถรู้จริงๆ ได้ อย่างเราพูดถึงว่าทุกคนมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ไม่ผิด แต่จะเกิดเมื่อไร ไม่สามารถบอกได้ เพราะว่าวันนี้ทั้งวันก็ลองพิจารณาดูว่า ตั้งแต่ตื่นมา มีความเห็นผิดอะไรหรือเปล่า หรือว่ามีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเรื่องราวต่างๆ โดยที่ไม่มีความเห็นใดๆ หรือไม่มีความยึดมั่นในความเป็นตัวตน ในสิ่งที่ปรากฏ แต่มีความพอใจอย่างยิ่งในสิ่งที่ปรากฏ เป็นสภาพของจิตที่ละเอียด และเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จะรู้ได้จริงๆ เมื่อปัญญาที่ประกอบด้วยสติที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติเรายังเห็นว่า เป็นเราเห็น ก็คือยังเป็นทิฏฐิ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังมีทิฏฐานุสัยที่ยังไม่ได้ดับ แต่จิตขณะนั้น เช่นจิตเห็น ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง และถ้าขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทโทสะ ไม่พอใจ ก็ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทิฏฐิเจตสิกจะเกิดร่วมด้วย ขณะที่มีความพอใจติดข้องในความเห็น ในการยึดถือด้วยความคิดเห็นว่า เป็นสิ่งนั้นที่เที่ยง ต่างกับขณะที่กำลังติดข้องด้วยความพอใจ แต่ไม่มีการยึดมั่นในความเห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่ยั่งยืน เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก

    ผู้ฟัง อย่างผู้ที่มีวิปัสสนาญาณเกิด หรือพระโสดาบัน เข้าใจว่า ไม่ใช่เราเห็น ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล พระโสดาบันดับทิฏฐานุสัย ไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นตัวตน และเที่ยง เพราะกว่าจะถึงปัญญาระดับนั้น จะต้องมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ จนประจักษ์การเกิดดับ อนิจจสัญญา ก็จะไม่เปลี่ยนแปลง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยอธิบายแม้แต่ ผู้ที่มีวิปัสสนาญาณเกิด จะมีปัญญาใกล้กับพระอริยบุคคล

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณมีหลายระดับตั้งแต่ขั้นต้นๆ จนถึงขั้นใกล้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม กำลังของปัญญาก็ต่างกัน

    ผู้ฟัง อย่างกรณีของเจ้าสรกานิ เจ้าสักกายะ เสวยน้ำจัณฑ์แล้วจะสิ้นพระชนม์ ได้เป็นพระโสดาบัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ บุคคลที่สามารถที่จะเป็นโสดาบัน ก็ต้องผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ขั้น บุคคลที่สามารถจะมีวิปัสสนาญาณ จะไม่ละเรื่องการเสวยน้ำจัณฑ์ หรือ

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเร็วหรือจะช้า

    ผู้ฟัง ช้า

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเกิดดับเร็วแสนเร็ว วิปัสสนาญาณรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับ เร็วหรือช้า ก็ต้องเหมือนกัน ใช่ไหม ขณะนี้ใครจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้หรือไม่ ตามปกติอย่างนี้

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ตามเหตุตามปัจจัย คือ ตามกำลังของปัญญา คุณธีรพันธ์จะกล่าวถึงผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมอย่างเร็ว ที่รู้แจ้งเร็ว ได้ หรือไม่ ที่ทำให้สงสัยว่า ตั้งแต่เกิดมา ท่านก็เป็นตัวของท่านตามปกติ แต่เมื่อได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้อย่างรวดเร็ว

    อ.ธีรพันธ์ ท่านพระพาหิยะ ท่านใคร่จะรู้ความจริง แสวงหาความจริง ท่านก็ให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรดแสดงธรรมให้ท่าน แต่ก็ต้องอาศัยเวลา อาศัยโอกาส ยังไม่ได้แสดงธรรมทันที จนถึงเหตุปัจจัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพียงท่านตรัสว่า เห็น สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน ทราบ สักแต่ว่าทราบ รู้แจ้ง สักแต่ว่ารู้แจ้งเท่านั้นเอง ท่านก็ได้รู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เป็นไปแต่ละขณะจิตที่ทำกิจหน้าที่ผ่านกิเลสไปตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติคนที่ต้องตัดสินใจว่า จะทำงานต่อ หรือจะหยุดทำงาน ถ้าทุกอย่างเป็นธรรม ในการที่เขาจะทำงาน หรือไม่ทำงาน ต้องมีการตัดสินใจในการเลือกว่า จะทำงาน หรือไม่ทำงาน แล้วเป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รูปตัดสินใจได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ในขณะนั้นต้องเป็นจิต ใช่หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณอรวรรณ หรือว่าเป็นจิต

    ผู้ฟัง เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ สะสมมาที่จะคิดอย่างไร เปลี่ยนจากคิดอย่างนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ หรือไม่ คนเราคิดต่างกัน แม้แต่ขณะหนึ่งก็เปลี่ยนได้ ตัดสินใจว่าจะเลี้ยวซ้าย ไปๆ มาๆ ก็เลี้ยวขวาก็ได้ แต่ต้องเป็นจิต และเจตสิก ซึ่งไม่ใช่ใครคนหนึ่งคนใด และการตัดสินใจนั้นก็ตามการสะสมที่ได้สะสมมา ที่จะคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราตัดสินใจเลี้ยวซ้าย

    ท่านอาจารย์ จิต ไม่ใช่คุณอรวรรณ

    ผู้ฟัง แต่เราก็พะวงเรื่องเลี้ยวขวา

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีจิตเกิดดับสืบต่อไม่ขาดเลย จะคิดอะไรก็ไม่พ้นจิต เจตสิก

    ผู้ฟัง แล้วเราต้องเชื่อมั่นว่า จิต เจตสิกที่ตัดสินใจนั้นได้สะสมมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีจิต เจตสิก หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ที่กำลังพูดอย่างนี้ เพราะจิตคิดอย่างนี้ ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตคิดอย่างอื่น จะพูดอย่างนี้ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะสงสัยอะไร เพราะทุกขณะก็คือจิต เจตสิก นี่เป็นเหตุที่เราต้องศึกษาเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียด แม้ในขั้นการฟัง ก็จะรู้ความละเอียดจนกระทั่งไม่มีเราเลยสักขณะเดียว คิดก็เป็นธรรม กำลังเห็นนี่ ให้คิดได้หรือไม่ พร้อมกันกับเห็น คิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า บังคับบัญชาไม่ได้ และความจริงขณะที่คิด ก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น

    ผู้ฟัง พอท่านอาจารย์อธิบาย ก็ใช่ คือ เป็นเรื่องที่จิตเกิดดับ แต่เวลาปกติก็เป็นเรา จะไปซ้าย ไปขวา ก็เลยว้าวุ่นใจ

    ท่านอาจารย์ สะสมความไม่รู้เรื่องจิตมานานเท่าไรแล้ว สำคัญว่าจิตเป็นเรามานานเท่าไรแล้ว

    ผู้ฟัง คงนานมากๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ฟังแค่ไหน นานเท่าไร ไม่ใช่ให้เราไปทำอะไรเลย แต่สภาพธรรมใดเกิดแล้วปรากฏ เข้าใจลักษณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะต้องเป็นจิต หรือเจตสิก หรือรูป อย่างหนึ่งอย่างใด เกินกว่านี้ไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็จะลืมอยู่บ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดา หรือเปล่า ลืมอย่างอื่นไม่ลืม ไม่ลืมว่ามีเรา เป็นตัวตนนั่งอยู่ที่นี่ แต่ลืมว่าเป็นธรรม ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าจะไถ่ถอนความทรงจำที่เคยจำไว้หนาแน่น เหนียวแน่นว่า มีเรา เมื่อเข้าใจว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง อย่างว้าวุ่นใจ เราก็ไปคิดว่า

    ท่านอาจารย์ ว้าวุ่นใจเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น เราก็ไปคิดว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ คิดเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ คิดก็คิด

    ผู้ฟัง แต่คิดแล้วเหมือนมีเราว้าวุ่นใจอยู่นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ว้าวุ่นใจดับ หรือไม่

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ ว้าวุ่นใจเป็นเราจริงๆ หรือขณะนั้นไม่รู้ จึงเป็นเรา

    ผู้ฟัง ไม่รู้จึงเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรจะรู้

    ผู้ฟัง เมื่อปัญญาถึง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง คิดเป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดมีจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง สภาพคิดมีจริงแน่นอน

    ท่านอาจารย์ มีจริง ต้องยอมรับว่าจริง สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง สิ่งที่มีจริงต้องเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมมีกี่อย่าง

    ผู้ฟัง ธรรมมี รูป จิต เจตสิก นิพพาน ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ รูปคิดได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง รูปคิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อะไรคิด

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นจิต เจตสิก นิพพานไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าตอบอย่างนี้ ก็หมายความว่าเข้าใจ ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าจะกล่าวว่า สภาพคิดมีจริงไหม มีจริง แต่สิ่งที่คิดนี่มันไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกแล้ว จนกว่าจะเข้าใจอย่างนี้ ไม่เปลี่ยน ความเข้าใจถูกต้องเริ่มตั้งแต่ต้น เป็นพื้นฐานที่มั่นคงขึ้น จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้าไม่มีความมั่นคง เราก็สงสัย ทั้งๆ ที่บอกว่ามีจิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็ยังสงสัย แล้วเวลาถามว่า คิดเป็นอะไร คิดไม่ใช่รูป คิดไม่ใช่นิพพาน คิดก็เป็นจิต เจตสิก ก็ยังสงสัย ทั้งๆ ที่บอกอย่างนี้ เพราะเหตุว่าเพียงชื่อที่เราเข้าใจ แต่เราไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจขึ้นในความต่างของสภาพธรรม เราเกือบจะไม่ต้องใช้คำว่า นามธรรม และรูปธรรม เช่น แข็ง กำลังรู้แข็ง ต้องบอก หรือไม่ว่าเป็นรูปธรรม เป็นสภาพไม่รู้ ในเมื่อลักษณะของแข็ง เพียงแข็ง และสภาพที่กำลังคิดนึก ก็ไม่ใช่แข็ง และเราก็ไม่ต้องไปใช้คำว่า นามธรรม และรูปธรรม แต่สภาพคิด มี ให้รู้ลักษณะที่ต่าง ว่าคิดไม่ใช่แข็ง หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ มี แต่ก็ต้องมีการเห็น มิฉะนั้นสิ่งนี้ปรากฏไม่ได้ แต่กว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่นานมาก

    เมื่อวานคุณสุกัญญาไม่ได้มา แต่คุณสุกัญญาลองคิดถึงว่า ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึง ณ บัดนี้ จิตเกิดดับนับได้ หรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    6 พ.ค. 2567