พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
ตอนที่ ๓๓๖
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
ผู้ฟัง เมื่อเช้าฟังเรื่องสมถภาวนา ก็สนใจขึ้นมา ทั้งๆ ที่ลืมไปตั้งนานแล้วว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นสมถภาวนาที่สามารถเจริญได้ในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด อย่าข้ามแต่ละคำ สมถะ คืออะไร
ผู้ฟัง สมถะ สงบ ระงับจากอกุศล
ท่านอาจารย์ เกิดเมื่อไร ขณะไหนเป็นสมถะ ถ้าจะพูดภาษาไทย ขณะไหนสงบจากอกุศล เพราะสมถะต้องหมายความว่า สงบจากอกุศล
ผู้ฟัง ขณะที่เป็นกุศลใช่หรือไม่ แต่ต้องนานด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีแต่ละขณะ แล้วจะมากขึ้นได้ไหม
ผู้ฟัง ขณะเมตตาเกิดนิดเดียว ขณะนั้นเป็นสมถะ หรือไม่
ท่านอาจารย์ สงบ หรือเปล่า
ผู้ฟัง สงบ
ท่านอาจารย์ สงบจากอกุศล หรือเปล่า
ผู้ฟัง สงบ
ท่านอาจารย์ ถ้ามีมากขึ้นๆ แล้วลักษณะของความสงบจะเพิ่มขึ้นปรากฏให้เห็นความมั่นคงขึ้น หรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็ปรากฏให้เห็นความมั่นคงได้ ก็แสดงว่า กุศลทุกชนิดเป็นสมถภาวนา เพราะสงบจากอกุศล
ท่านอาจารย์ แน่นอน ใช้คำว่า “สงบ” ก็คือสงบจากอกุศล มิฉะนั้นแล้วจะเอาขณะไหนสงบ
ผู้ฟัง อย่างนั้นเจริญกุศลทุกชนิด ก็คือเจริญสมถภาวนาด้วย
ท่านอาจารย์ ภาวนา หมายถึงให้มากขึ้น ให้มั่นคงขึ้น ชั่วขณะที่กำลังเป็นกุศลนี่สั้นมาก แค่ ๗ ขณะจิตที่เป็นกุศล เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ สั้นแสนสั้น ลองคิดดู ขณะนี้เหมือนเห็นได้ยินพร้อมกัน แต่ไม่พร้อมกัน มีจิตเกิดดับคั่นระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน และสภาพธรรมที่เป็นจิตที่เกิดคั่นก็คือ ๗ ขณะของกุศลกับอกุศลด้วย เพราะฉะนั้นจะเร็วสักแค่ไหน
ด้วยเหตุนี้ไม่เพียงพอที่จะให้มีความสงบที่มั่นคงเพียงแค่ ๗ ขณะจิต แล้วก็คั่นด้วยสภาพธรรมอื่น ผู้ที่เห็นโทษ รู้ว่าเป็นการสะสมจิตที่ไม่สงบ เห็นโทษของการยึด ติดข้องในรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และรู้หนทางว่า จิตจะมั่นคงด้วยกุศลที่สงบได้อย่างไร จึงสามารถที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ มิฉะนั้นไม่มีทางที่จะเป็นสมถภาวนา ก็เป็นกุศลในชีวิตประจำวันที่สงบจากอกุศลชั่วครั้งชั่วคราว เล็กๆ น้อยๆ
ผู้ฟัง สงบ แต่ว่าไม่ได้กำจัด เพียงแค่สงบเป็นครั้งเป็นคราว
ท่านอาจารย์ ไม่สามารถระงับอกุศลซึ่งสะสมมาที่จะไม่ให้เกิดขึ้นบ่อยๆ
ผู้ฟัง เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิดอยู่ แต่สมถะจะต่างจากวิปัสสนาตรงที่ สมถะมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้
ท่านอาจารย์ มีปัญญาที่เห็นโทษของความไม่สงบของจิต และมีปัญญาที่จะรู้ว่า กุศลจิตต่างกับขณะที่เกิดอกุศลจิต และจะอบรมให้มีกุศลที่มั่นคงขึ้นได้อย่างไร
ผู้ฟัง ในเมื่อชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ เราก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์อยู่แล้วใช่หรือไม่ ก็เจริญเมตตาไปเลย
ท่านอาจารย์ ได้ไหม
ผู้ฟัง ที่จริงบังคับไม่ได้ แต่ว่า
ท่านอาจารย์ ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่เราไปพยายามทำหน้าที่ของปัญญา ไม่รู้อะไรก็อยากสงบ ไม่รู้อะไรก็อยากหมดกิเลส
ผู้ฟัง แต่ถ้าวิปัสสนาไม่เกิด สมถภาวนาก็ย่อมมีประโยชน์อยู่ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ทานมีประโยชน์ หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง อย่างน้อยก็ทำให้สงบจากอกุศลได้
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องหวัง แต่ตามความเป็นจริงก็คือ กุศลไม่ใช่อกุศล ก็เห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศล แต่ไม่ใช่มีตัวเราที่ต้องการ แต่เป็นเพราะผู้ที่รู้ตามความเป็นจริง ถึงความต่างของสภาพธรรมที่เป็นกุศล และอกุศล
ผู้ฟัง การเจริญสมถภาวนาอย่างการเจริญเมตตา เคยได้ยินมาว่า อย่างแรกต้องเจริญจากคนที่มีพระคุณก่อน
ท่านอาจารย์ เมตตาคืออะไร ถ้ายังไม่รู้ก็เจริญไม่ได้
ผู้ฟัง เป็นมิตร เป็นเพื่อน
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เป็น หรือเปล่า ไม่ต้องไปนึกถึงอะไรมากมาย สิ่งที่ยังไม่เกิดไม่ปรากฏ สิ่งที่หมดไปแล้วก็ไม่มี แต่ขณะนี้เมตตาเกิดหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ แปลว่าไม่เป็นเพื่อนกับใครสักคน
ผู้ฟัง คือมันเกิดบางขณะใช่หรือไม่ แต่ไม่ได้เกิดตลอด
ท่านอาจารย์ แต่ว่ามีเป็นประจำได้ หรือไม่ คือ ไม่เป็นศัตรูกับใครเลย
ผู้ฟัง ถ้าจะพูดอย่างนั้นก็เกิดได้
ท่านอาจารย์ จิตจะอ่อนโยน และมีความเป็นมิตรพร้อมที่จะเกื้อกูล นี่คือลักษณะของเมตตา แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเข้าใจอย่างนี้เมตตาจะเกิดตลอด เพราะมีจิตเห็นซึ่งไม่ใช่เมตตา มีจิตได้ยิน ซึ่งไม่ใช่เมตตา การเข้าใจธรรมโดยละเอียด ก็จะเข้าใจสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน และมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ตั้งแต่ในขั้นฟัง และขั้นพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิดระลึก คือ เกิดรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อไรก็ได้ เพราะว่ามีปัจจัยคือความเข้าใจที่ถูกต้อง
ผู้ฟัง คำถาม คือ เนื่องจากสมถภาวนามีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้
ท่านอาจารย์ อย่าลืม “สมถภาวนา” ไม่ใช่สมถะในขณะเล็กๆ น้อยๆ ๗ ขณะในชีวิตประจำวัน แต่เป็นการอบรมเจริญให้มากขึ้นให้มั่นคงขึ้น จนกระทั่งถึงระดับของความมั่นคงที่เป็นสมาธิที่สงบขั้นต่างๆ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า กำลังพูดถึงอะไร
ผู้ฟัง ตรงบัญญัติ ตัวเราเป็นอารมณ์ของสมถภาวนาได้ หรือไม่ อย่างเมตตา
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่มาถามว่า เป็นบัญญัติได้ไหม คุณวรศักดิ์เมตตาอะไร
ผู้ฟัง เป็นเพื่อน เป็นมิตร
ท่านอาจารย์ เป็นเพื่อน เป็นมิตรกับอะไร
ผู้ฟัง กับสัตว์ บุคคล ตัวตน
ท่านอาจารย์ จะต้องบอกว่า บัญญัติ จะต้องบอกว่าอะไรไหม จะต้องเอาชื่อมาปิดกั้นไหม แต่ตามความเป็นจริงก็คือ ขณะนี้มีสัตว์ มีบุคคล เพราะมีการเกิดดับสืบต่อ ถ้าไม่มีสภาพปรมัตถธรรม สัตว์ บุคคล ไม่มี แต่เมื่อสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อปรากฏเป็นนิมิตให้เข้าใจว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เป็นคน หรือเป็นดอกไม้ หรือเป็นโต๊ะ หรือเป็นเก้าอี้ ก็มาจากการเกิดดับของสภาพธรรมเมื่อสิ่งนั้นเกิด แล้วก็เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ จึงเป็นสัตว์บุคคลได้ ถ้าไม่มีธาตุรู้ สภาพรู้ ก็เป็นสัตว์บุคคลไม่ได้ เวลาที่เมตตา ไม่ใช่เมตตาสิ่งที่ไม่มีจิตใจ
ผู้ฟัง แล้วเมตตาตนเอง
ท่านอาจารย์ เมตตาตัวเองแค่ไหน
ผู้ฟัง ก็คือไม่ออกไปตากแดด อยู่ที่ร่มๆ
ท่านอาจารย์ นั่นรักตัวเองหรือเปล่า ต้องเข้าใจอรรถด้วย เมตตาใคร เป็นเพื่อนกับใคร
ผู้ฟัง กับบุคคลรอบข้าง หรือ
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่สัตว์บุคคล เมตตาคือความเป็นเพื่อน พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่มีความเป็นศัตรู ไม่คิดร้าย ไม่แข่งดี
ผู้ฟัง เมตตาตัวเองนี่เป็นโลภะ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ก็ลองคิดดู ไม่ใช่มีคนมาบอกเรา แล้วให้เขาเป็นคนตัดสินว่า เป็นโลภะ หรือไม่ใช่โลภะ แต่ตามความเป็นจริงมีความติดข้องในความเป็นเรา หรือเปล่า
ผู้ฟัง มีครับ มีมาก
ท่านอาจารย์ รักตัวเองแค่ไหน
ผู้ฟัง มากที่สุดในโลก
ท่านอาจารย์ เต็มไปด้วยความรักตัวเอง คุณวรศักดิ์มีเมตตาไหม ฟังเรื่องเมตตาเข้าใจแล้ว แล้วมีเมตตาหรือไม่
ผู้ฟัง บางครั้งก็มี
ท่านอาจารย์ รู้ใช่ หรือไม่ว่า เมตตา หรือไม่เมตตา เมตตาตรงกันข้ามกับโทสะ
ผู้ฟัง รู้สึกว่าจิตใจจะอ่อนโยนกว่า
ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้บอกว่า ไม่เมตตา ตอนแรกที่สุด ตอนนี้เป็นเพื่อนหรือยัง คนตั้งมากมาย เริ่มเป็นเพื่อน หรือยัง ไม่ใช่ถามให้ตอบ ความรู้สึก ความจริงใจ มีความเป็นเพื่อน เพราะว่าไม่ใช่เรื่องคำพูดที่จะเอาคำพูดมาตัดสิน แต่ใจจริงๆ วันหนึ่งๆ เป็นเพื่อนกับใครบ้างหรือเปล่า พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงประโยชน์ของตน กายก็สงเคราะห์ช่วยเหลือ วาจาก็เป็นเรื่องที่จะทำให้คนอื่นสบายใจ ก็มีโอกาสที่จะเจริญได้ ไม่ใช่ไปเจริญอย่างอื่น มิฉะนั้นเราก็จะบอกว่า เจริญเมตตา แล้วก็ตอนไหนที่จะเจริญ ถ้าขณะนี้ไม่มี แล้วก็ไม่รู้ว่า เมตตาคืออะไร ก็ไม่สามารถมีเมตตามากขึ้น เพิ่มขึ้น บ่อยขึ้นได้ กับบุคคลทั่วไปยิ่งขึ้นได้ ต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้อง ถูกต้องแล้ว เข้าใจแล้ว
คุณวรศักดิ์เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของอะไร
ผู้ฟัง เป็นผลของกุศล กุศลวิบาก
ท่านอาจารย์ เป็นผลของกุศลระดับกามาวจรกุศล เพราะว่ากุศลมีหลายระดับ กุศลที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฎฐัพพะ ซึ่งเป็นวัตถุกาม กุศลที่ทำในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเรื่องการให้ทานบ้าง เป็นต้น ยังไม่ถึงระดับที่คุณวรศักดิ์ถาม คือ ความสงบที่เป็นภาวนาที่เป็นสมถะ ที่จะทำให้กุศลอีกระดับหนึ่งเกิดขึ้น พ้นจากกามาวจรกุศล เพราะเป็นเรื่องของจิตที่สงบมั่นคง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการให้วัตถุ รูป เสียง กลิ่น รส พวกนี้
กุศลอีกระดับหนึ่งที่มีความมั่นคงแล้ว จิตก็จะขึ้นถึงระดับรูปาวจรจิต เป็นกุศลที่มั่นคงที่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่คุณวรศักดิ์ไม่เกิดเป็นพรหม ชาติก่อนจะเคยทำฌาน สงบจนกระทั่งถึงขั้นนั้นหรือเปล่า รู้ได้หรือไม่ ไม่ได้ แต่ก่อนจะตาย ใกล้จะตาย จิตขณะนั้นก็เป็นกุศลระดับของกามาวจรกุศล ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือว่าขณะต่อไป หรือในสวรรค์ก็ได้ แต่ก็ยังคงเป็นกามาวจรกุศล
ผู้ฟัง อาจจะเป็นทาน หรือเป็นศีล
ท่านอาจารย์ ได้ทั้งนั้น เป็นกุศลที่ยังไม่ถึงความมั่นคงของความสงบ ด้วยกำลังของสมาธิขั้น อัปปนา เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถปฏิสนธิในพรหมโลก ก็จะเกิดเป็นผลของกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเรารู้ไม่ได้เลย ชาติก่อนก็เคยฟังธรรม ชาติก่อนก็เคยให้ทาน ชาติก่อนก็เคยช่วยเหลือบุคคลอื่น กุศลนั้นเราไม่สามารถรู้ว่า กุศลไหนที่ทำให้แต่ละคนเกิดเป็นมนุษย์ในขณะนี้ ชาตินี้ แต่ต้องเป็นผลของกุศล และเป็นผลของกุศลที่มีกำลังพอสมควร ทำให้ไม่เป็นคนบ้า ใบ้ บอด หนวก พิการแต่กำเนิด
ด้วยเหตุนี้ผลของกุศลนั้นก็ทำให้จิตที่เป็นกามาวจรวิบาก หรือจะใช้อีกคำหนึ่งว่า “มหาวิบาก” เพราะว่ากุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต เป็นจิต แต่ว่าเป็นจิตต่างประเภท จิตหนึ่งเป็นเหตุ อีกจิตหนึ่งเป็นผล ถ้าจิตที่เป็นเหตุไม่เกิด จะให้จิตที่เป็นผลของจิตนั้นเกิดก็ไม่ได้ ก็ต้องทราบว่า ผลของขณะแรกของชาตินี้ คือ ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อกุศลจิตต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาให้ผลที่ดี จิตที่ ปฏิสนธิ ก็ต่างกันไปตามกำลังของกรรม ถ้าเป็นกุศลอย่างอ่อน อกุศลเบียดเบียนได้ แม้เกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็หมายความว่า เป็นผลของกุศลที่มีกำลังกว่า เพราะว่าบางทีกุศลเล็กน้อยมาก เพียงแค่เก็บของตกให้คนอื่น ก็เป็นกุศล แต่ว่ากุศลก็มีความต่าง ที่ว่ามีกำลังขึ้น
เมื่อเป็นผลของกุศลที่ทำให้ไม่เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด ก็จะประกอบด้วยโสภณเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตที่ปฏิสนธิที่เกิด เป็นผลของอกุศล จะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย ขณะที่เป็นผลของกุศล ก็แล้วแต่ว่าเป็นผลของกุศลระดับไหน ถ้าอย่างอ่อนมาก ก็ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เวลาที่ไม่เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด ก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งโสภณสาธารณเจตสิก เจตสิกฝ่ายดี ซึ่งเกิดกับโสภณจิต ต้องมี ๑๙ ประเภท ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย ถ้าขณะนั้นเป็นกุศลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา วันหนึ่งเราก็ทำกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญามากมาย ถ้ากุศลนั้นให้ผล ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ มีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย โสภณสาธารณเจตสิกที่ดีงามได้แก่ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อเป็นผลของกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จะให้มีปัญญาเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่ ในเมื่อเหตุไม่ประกอบด้วยปัญญา
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นบุคคลในโลกนี้อาจจะเป็นเศรษฐีมั่งมีมหาเศรษฐี แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่ากรรมที่ทำให้ปฏิสนธิประมวลมาซึ่งกรรมทั้งหมดแสนโกฏิกัปป์ที่จะให้ปฏิสนธินั้นต่างกันไป ทำให้มีทั้งรูปร่างที่ต่างกัน ฐานะ เพื่อนฝูง ลาภ ยศ สรรเสริญ ความเป็นอยู่ทุกอย่างที่ต่างกัน ก็เห็นได้ว่า สำหรับคนที่เกิด และมีปัญญา ปัญญาที่นี่ไม่ใช่ทางโลก ที่จะเป็นความสามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่คิดว่าเป็นคนฉลาด แต่ว่าต้องเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่สามารถจะเข้าใจตามระดับขั้นของการสะสม ปฏิสนธิจิตต่างกัน แม้เกิดเป็นคนมีโสภณสาธารณเจตสิกฝ่ายดีเกิด แต่ก็ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้
อ.กุลวิไล เพราะว่าเขาเข้าใจว่า การเป็นมนุษย์ นี่แน่นอน ถ้าปฏิสนธิด้วยมหาวิบาก ๑ ใน ๘ ดวง มีสติเกิดร่วมด้วย ก็เลยเข้าใจว่า ทุกคนต้องมีสติ และสงสัยคำว่า “หลงลืมสติ” เกิดขึ้นได้อย่างไ
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า จิตเกิดแล้วดับ แล้วจิตที่ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย ขณะเกิดเป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบาก หรือจะใช้คำว่า “กามาวจรวิบาก” ก็ได้ ซึ่งมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน แต่ทำกิจอะไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าจิตแต่ละขณะที่เกิดต้องทำกิจหนึ่งกิจใด ก้าวก่ายสับสนกันไม่ได้เลย จะไปเลือกขอให้จิตอื่นมาทำหน้าที่ของจิตนี้ก็ไม่ได้
จิตขณะแรกเกิดแล้ว ทำกิจอะไร ทำปฏิสนธิกิจ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีจิตเกิดคั่นเลย ตาย คือ ขณะจิตสุดท้ายทำกิจจุติ ทำกิจ คือ เคลื่อนพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นคนนี้อีกไม่ได้เลยสักขณะจิตเดียว ไม่มีทางที่จะเป็นต่อไปได้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ และจิตที่เกิดต่อ ไม่มีระหว่างคั่น ทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ โดยจิตใกล้จะตายเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าจิตใกล้จะตายเป็นอกุศล ปฏิสนธิจิตก็เป็นอกุศลวิบาก ถ้าจิตใกล้จะตายเป็นกุศล ก็แล้วแต่ว่าเป็นระดับของกุศลขั้นไหน ก็ปฏิสนธิในภพภูมิตามกุศลขั้นนั้นๆ
เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นผลของกุศล ก็มีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ทำกิจปฏิสนธิ ใครรู้ตัวบ้าง ปฏิสนธิจิตทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่ใช่กิจเห็น ไม่ใช่กิจได้ยิน ไม่ใช่กิจที่เป็นโลภะ โทสะ อโลภะ อโทสะเลย แต่ว่าทำกิจสืบต่อ ขณะนั้นไม่รู้เลยว่า เกิดที่ไหน และเป็นใคร โลกนี้ไม่ได้ปรากฏเลย จะเกิดในนรก นรกก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เป็นชั่วขณะที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แม้ว่าจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย ก็ไม่ได้ทำกิจหน้าที่อื่น นอกจากปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ว่าเป็นอย่างนั้นตลอดกาลได้ หรือไม่ เกิดมาแล้ว ปฏิสนธิจิตดับไป จิตที่เกิดสืบต่อก็ดำรงภพชาติทำภวังคกิจ ที่เราใช้คำว่า “ดำรงภพชาติ” คือ ภว + อังค ทำกิจดำรงความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย สิ้นสุดกรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนั้น ก็จะเป็นบุคคลนั้นต่อไปอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ได้มีเพียง ๒ กิจ จิตไม่ได้เกิดขึ้นเพียงทำปฏิสนธิกิจ ดับไป แล้วจิตที่เกิดต่อทำภวังคกิจสืบต่อ จนกว่าวิถีจิตที่อาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลก โลกนั้นจึงปรากฏ โลกที่เกิดมานั้น
จะเห็นได้ว่า วาระแรกต้องเป็นมโนทวารวิถีทุกภพชาติ และมโนทวารวิถีวาระแรกก็คือ โลภมูลจิต ติดข้องทันที รู้ตัวหรือเปล่า ไม่รู้เลย ผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อสะสมความติดข้องไว้นานแสนนาน เป็นปัจจัยที่สะสมอยู่ในจิต ด้วยเหตุนี้เวลาที่เห็น โลภะเกิด ติดข้อง เวลาที่ได้ยิน โลภะเกิด ติดข้อง จะให้สติเกิดได้ไหม เพราะว่าไม่ใช่กาลที่สติจะเกิด ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจิตประเภทใดก็ตาม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เวลาเกิดมาแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นนก เป็นสัตว์เดรัจฉาน อกุศลจิตเกิดมาก หรือกุศลจิตเกิดมาก มีเหตุ คือ การสะสมนานแสนนานมาแล้ว ด้วยความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นโสภณที่สะสม เทียบแล้วน้อยกว่ามากเลย
ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ว่าภวังคจิตจะมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นทำกิจการงาน จนกว่าเมื่อไรมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เป็นกุศลจิตขณะนั้น
อ.กุลวิไล เพราะจิตมีกิจตั้ง ๑๔ กิจ และในวิถีจิตที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะก็มีถึง ๔ ชาติ มีทั้งชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาส่วนของพระอภิธรรม ก็จะเข้าใจสภาพธรรมที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง แล้วจิตที่ทำชวนกิจมีทั้งที่เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ซึ่งไม่รวมถึงกิริยาจิตของพระอรหันต์ ซึ่งก็แล้วแต่การสะสมในแต่ละวันนั่นเองที่จิตจะแล่นไป หรือเป็นไปด้วยอกุศลจิต หรือกุศลจิต ไม่ได้มีสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่มีสติเจตสิกแล้ว จะมีจิตดวงนี้ดวงเดียว
ท่านอาจารย์ จะเห็นได้ว่า เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมตามลำดับให้เข้าใจถูกต้อง จึงคิดเอง มีข้อความใดๆ ก็ตามที่ผ่านจากส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎกสั้นๆ คิดเองตลอด เช่น เมื่อเป็นผลของกุศล ซึ่งมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วทำไมถึงเป็นอกุศล นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เข้าใจ แต่คิดเอง แต่ถ้าเป็นการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรม มีพื้นฐานที่มั่นคง ไม่สับสน ก็สามารถเข้าใจแล้วไม่เกิดความสงสัยอย่างนี้ เพราะเหตุว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะสติสัมปชัญญะที่เป็นการสะสมมา อกุศลที่สะสมมาก็พร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดได้
ผู้ฟัง ที่ว่ามีสัจจญาณที่มั่นคง เวลาฟังก็เข้าใจ แต่เนื่องจากความเป็นตัวเรา สัตว์ บุคคล สิ่งใดๆ มีเยอะ ก็จะลืมเสมอว่า เป็นเรา เป็นตัวตน ไม่ได้รับรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และเกิดดับตามเหตุปัจจัย หมายความว่าเรายังไม่มั่นคงขั้นสัจจญาณ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ก็ต้องเข้าใจว่า สัจจญาณ คืออะไร แล้วมั่นคง หรือไม่มั่นคงก็คือ จากการฟังแล้วเข้าใจว่า สัจจญาณคืออะไร อยากให้มีสติปัฏฐานมากๆ แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏจริงๆ มี แล้วมีความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมที่มีจริงที่ กำลังปรากฏแค่ไหน แล้วก็ไปคิดถึงสติปัฏฐาน ไปคิดถึงปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณที่ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม โดยที่ขณะนี้ก็มีเห็น แล้วก็มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นจริ งๆ มั่นคงแค่ไหน ไม่ใช่ไปถามใครว่า สัจจญาณคืออะไร ญาณเป็นปัญญาที่รู้ความจริง ขณะนี้สิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังฟัง ซึ่งคุณอรวรรณก็บอกว่า สะสมความไม่รู้มามาก ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นสัจจญาณ หรือยังทั้งๆ ที่ฟัง ก็มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่พูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ คิดเรื่องอื่น หรือว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจตามที่ได้ฟัง
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 301
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 305
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 306
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 309
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 318
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 328
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 329
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 341
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 350
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360