พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเวลาที่พูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ คิดเรื่องอื่น หรือว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจ ตามที่ได้ฟัง ถ้าไม่มีความเข้าใจตามที่ได้ฟังในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องพูดถึงสติปัฏฐานเลย เพราะเหตุว่าต้องมีสัจจญาณก่อน และจะเป็นปัจจัยให้มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นความรู้ระดับหนึ่ง ซึ่งมักจะลืมที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะเป็นธรรม เมื่อลืมอย่างนี้ จึงมีการพูดถึงสิ่งที่มีจริง ที่ส่วนใหญ่จะลืมไปเรื่อยๆ และไปคิดอย่างอื่น คือไปคิดอยากจะมีสติปัฏฐานมากๆ หรืออยากจะมีสติปัฏฐาน มีวิปัสสนาญาณ ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องนั้นเลย เพราะว่าจริงๆ แล้ว ธรรมมี ให้พิสูจน์ความรู้ความเข้าใจว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตรงตามที่ได้ยินได้ฟังบ้างหรือยัง และการที่จะรู้ได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่คุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นธรรม เพราะว่าพอเห็นก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แสดงว่าไม่คุ้นเคยกับธาตุที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นแล้วดับไป

    ตราบใดที่ยังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังฟัง และมีความเข้าใจ และมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ ผู้นั้นก็เริ่มที่จะเข้าใจว่า ปัญญาจริงๆ ที่รู้จักธรรมจริงๆ ที่เข้าใจธรรมจริงๆ คือ ขณะที่ธรรมนั้นกำลังปรากฏ กำลังเผชิญหน้า และค่อยๆ เข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าไม่คุ้นเคยกับการที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ปัญญาจากการฟัง ก็จะทำให้เห็นความต่างว่า ตราบใดที่ยังคิดเป็นเรื่องราวต่างๆ แม้เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แต่ก็ไม่ใช่รู้ตรงลักษณะ ซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ยังคงเป็นเรื่องอื่นๆ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่ให้เข้าใจว่า ขณะที่คิด คิดเรื่อง แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และไม่มีกฎเกณฑ์ด้วย เมื่อไรที่มีสิ่งที่ปรากฏ แม้กำลังฟัง เริ่มเข้าใจ จะเห็นความต่าง

    ฟังมาบ่อยๆ แต่ไม่เคยรู้ตรงลักษณะ กับฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก และมีลักษณะที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ รู้ตรง อยู่ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ แต่จะเห็นได้ว่า ยังไม่ถึงการละความเป็นตัวตนที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ รวมทั้งการยังคงเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่จะค่อยๆ ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ดับไปแล้วก็จริง แต่การสืบต่อทำให้มีการจำ สัญญาเจตสิกก็จำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยความเป็นอัตตสัญญา ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอนัตตสัญญา เพราะว่าอนัตตสัญญา ไม่ใช่เพียงจำว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพียงพูดว่าเห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แต่ลักษณะแท้จริงซึ่งเป็นอนัตตา ก็คือธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    นี่คือสัญญา ความจำที่มั่นคงจากสัจจญาณ ซึ่งถ้าไม่มีปัญญาที่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็จะไม่มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นเพียงเรื่องราวไปเรื่อยๆ ศึกษาปริยัติธรรมก็กลายเป็นภาษาต่างๆ แต่ไม่ได้รู้ว่า ปริยัติ หมายความถึงการศึกษาให้เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง จึงจะเป็นการศึกษาแท้จริง

    ผู้ฟัง เมื่อฟังเข้าใจปริยัติ และเรื่องราว แต่ว่าเมื่อยังไม่รู้ลักษณะ ก็จะจำผิดเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอย่างนี้ หรือ

    ท่านอาจารย์ ฟังอย่างไรจะจำผิด ในเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้พูดเรื่องอื่น พูดให้เข้าใจว่าสิ่งนี้มีจริง และถ้าไม่ได้ฟังก็ไม่เคยจะรู้ความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏ เพียงปรากฏจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ แต่การจำผิดว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาจากการที่ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่เพียงปรากฏ

    ก็ต้องมีการไตร่ตรองตั้งแต่ต้น อะไรถูก นี่คือความเห็น สัตว์บุคคลมีจริง หรือเปล่า หรือสิ่งที่มีจริงๆ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และความคิดนึกก็มีจริง แต่เป็นความคิดนึกจากการจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่จำรูปร่างสัณฐาน จะคิดอะไรว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่าแม้สิ่งที่ปรากฏ เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็จำรูปร่างสัณฐานซึ่งมีเพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เหมือนสิ่งที่ลวงตาให้เห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง แต่ความคิดนึกจากการจดจำนานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ปัญญาจริงๆ ต้องสามารถที่จะรู้แม้การคิดนึก แม้การจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คือชั่วขณะที่กำลังคิด ถ้าไม่คิด ก็ไม่มี กลายเป็นอื่นไปแล้ว กลายเป็นขณะรู้เสียง ขณะรู้แข็ง ขณะนั้นไม่ใช่คิด คิดก็มี แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ปัญญาจริงๆ ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ แล้วก็จะนำไปสู่การละ อัตตสัญญา แล้วนำไปสู่การประจักษ์แจ้งความจริงซึ่งเกิดดับของสภาพธรรม มิฉะนั้นจะไถ่ถอน หรือจะคลาย จะหมดความสงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่ได้ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดขึ้นอย่างไร ดับอย่างไร ไม่ใช่ความรู้ขั้นเข้าใจสามารถจะไปรู้ลักษณะนั้นได้ แต่เข้าใจว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ที่จะรู้ได้นั้นคือปัญญา ไม่ใช่เราไปแสวงหาหนทางลัด หรืออะไรเลย แต่ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะอะไร ฟังมาตั้งนาน เข้าใจขึ้น เหมือนจับด้ามมีดหรือเปล่า ทีละเล็กทีละน้อยอย่างนั้น จนกว่าด้ามมีดจะสึก เมื่อด้ามมีดยังไม่สึก มองเห็นหรือไม่ว่าขณะนี้ที่กำลังจับอยู่ ด้ามมีดจะค่อยๆ สึกไป

    ผู้ฟัง ไม่เห็น ถ้าเช่นนั้นเราก็ต้องเชื่อมั่นว่า การที่เราไม่เคยทราบ และไม่ได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ถ้าเราฟังบ่อยๆ สัญญาที่จำผิด ก็จะมีสัญญาใหม่ที่จำถูกเพิ่มขึ้นแทนสัญญาที่จำผิด

    ท่านอาจารย์ อยากเห็นธรรมนี่ใคร

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะรู้จักโลภะ มีอยู่ ไม่ปรากฏตัว ปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นลักษณะของความติดข้อง ลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้นใครอยาก อยากเกิดขึ้น ยึดถืออยากนั้นว่าเป็นเรา แต่ลักษณะจริงๆ ก็คือสภาพที่ติดข้องต้องการนั่นเอง ลักษณะที่ติดข้องต้องการ ไม่เคยพราก หรือขาดไปจากสิ่งที่ปรากฏให้รู้ เช่น พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ถูกต้องหรือไม่ ติดข้อง ยึดถือว่าของเราหรือเปล่า ยึดถือว่าเป็นเราหรือเปล่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรา เป็นของเรา เป็นคนนั้นคนนี้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่มีจริงๆ คือ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วดับไป จะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ละเอียดที่จะมีความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน ทรงแสดงความจริงเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจในความไม่ประมาท ธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ประมาทว่าจบแล้ว รู้แล้ว เป็นไปไม่ได้เลย แต่จากการที่ทรงพระมหากรุณาแสดงสภาพธรรมโดยละเอียดยิ่ง ก็จะทำให้ผู้ที่ได้รับฟังรู้ว่า เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องให้ไม่รู้ เป็นเรื่องให้ค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูก เพื่อละความไม่รู้ เพื่อไม่ใช่เราที่รู้ ไม่ใช่เราที่ต้องการ เวลาที่ความต้องการเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นธรรม

    แสดงให้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม สัจจญาณ ก็คือมีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน มั่นคง ไม่ต้องไปคอยเวลาไหนเลย ถ้ามีความเข้าใจพอ สติสัมปชัญญะเกิดแล้ว ไม่ใช่เราจะไปดูนั่นดูนี่ แต่ว่าขณะใดที่หลงลืมสติ ก็คือขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนี้

    ผู้ฟัง แต่ความเป็นอนัตตา โลภะเป็นอนัตตา ก็จะมีความต้องการ เมื่อฟังแล้วคิดว่า อยากจะรู้สภาพธรรม เขาก็เป็นอนัตตาที่ไม่รู้ตัวว่า อยากจะรู้สิ่งที่ฟัง เหมือนกับเราไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อเราเข้าใจขั้นฟังแล้ว ความเป็นอนัตตา โลภะตัวนี้ก็จะอยากรู้ขั้นสภาพธรรมจริงๆ โดยที่เราก็ไม่รู้ตัว เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่ปัญญา จะเห็นโลภะ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ อริยสัจธรรมมีโลภะหรือไม่ เพื่อละ แล้วก็ไม่รู้ตามไปตลอด ไม่ได้ละ อะไรเลย เพราะไม่รู้จักโลภะ แล้วจะละโลภะได้อย่างไร ธรรมต้องตรง จึงจะได้สาระจากการฟังแต่ละครั้ง เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละ ถ้าไม่เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละ จะไม่มีสาวก จะไม่มีการเห็นความละเอียดของโลภะว่าขณะใดเป็นโลภะ โลภะมีจริง แต่ถ้าไม่เห็น ขณะนั้นก็ยิ่งมีโลภะ เพราะว่าไม่มีใครรู้จักโลภะ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ในขั้นนี้เหมือนกับว่า เราก็ทราบว่า ความต้องการหรือโลภะเป็นเครื่องกั้น ก็ต้องปัญญาเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น และไปละ เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ หนทางละมีหนทางเดียว คือ ปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ผมยังติดใจอยู่อย่างหนึ่ง คือ สิ่งที่ปรากฏนั้นคือสัตว์ ตัวตน บุคคล แล้วเราจะวินิจฉัยได้อย่างไร ว่าตัวเรานี่ไม่มี

    ท่านอาจารย์ สภาพจำมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วจำอะไร

    ผู้ฟัง จำสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้เป็นคน ที่จะสงสัยว่ามีคนหรือไม่ ในเมื่อเห็นก็เป็นคน แล้วจะกล่าวว่าไม่มีคนได้อย่างไร ใช่หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาความจริงว่า ที่เคยจำว่าเป็นคน มี หลังจากที่เห็น และตอนที่เห็นกำลังปรากฏ จำหรือเปล่า ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีเลย

    ผู้ฟัง ก็โดยธรรมชาติ คือ มันต้องจำได้ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ประกอบด้วยความเข้าใจถูก ความเห็นถูกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นความเข้าใจถูกว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แม้การที่จำว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ ก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นการจำสิ่งที่ปรากฏ โดยที่ความจริงสิ่งนั้นไม่มี ไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ แต่เนื่องมาจากการเห็นแล้วจึงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เรื่องราวทั้งวัน ก็มาจากการจำสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสุข เป็นทุกข์ไป เป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นอะไรก็แล้วแต่ทั้งหมด เพราะว่าไม่ได้รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่มีจริงเป็นเพียงสภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏแล้วหมดไป ระหว่างการจำเรื่องราวต่างๆ ด้วยความไม่รู้ กับการจำ แม้ขณะที่กำลังเห็นเป็นคน ก็เป็นธรรม ไม่ใช่สภาพเห็น แต่เป็นสภาพคิด

    เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ หรือไม่ ความต่างของการที่คิดกับขณะที่เห็น เวลาอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่องเยอะ หรือไม่ ตัว ก. ข. สีดำ สีขาวทั้งนั้น แต่เรื่องเยอะมาก ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็ไปจำเป็นเรื่องราวต่างๆ และอะไรจริงในขณะที่กำลังอ่านเรื่องในหนังสือ เห็นจริง คิดนึกจริง แล้วเรื่องนั้นอยู่ที่ไหน ถ้าจิตไม่คิดก็ไม่มี

    ในขณะนี้ที่เคยจำมา ในแสนโกฏิกัปป์ว่า มีสัตว์บุคคลจริงๆ ปัญญาก็ต้องรู้ว่า การจำมีจริง ความคิดมีจริง มาจากการเห็น ถ้าไม่มีการเห็น ลองนึกดู จะไปนึกให้เป็นอะไรขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นเกิดให้เห็นก่อน แต่พอเห็นแล้ว เริ่มจำแล้ว เป็นภูเขา เป็นประเทศนั้น เป็นคนนี้ เป็นเรื่องราวอย่างนั้นอย่างนี้จากสิ่งที่เพียงปรากฏ แล้วความจริงสิ่งนั้นหมดแล้ว ดับแล้ว แต่ความจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้หมดไปเลย แม้ในฝัน ไม่มีสิ่งนั้นปรากฏ ก็ยังจำเป็นเรื่องต่างๆ ได้ แล้วเรื่องในฝันมีจริงหรือไม่ ถ้าเรื่องในฝันไม่มีจริง ขณะนี้เรื่องที่กำลังคิดจริงหรือเปล่า จริงเมื่อคิด เหมือนกับขณะที่ฝันเหมือนเห็น

    กว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมจริงๆ ที่มีจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จิตคิดมีจริง แต่เรื่องที่คิดมาจากเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง

    ผู้ฟัง ก็เป็นเราคิดก็ไม่จริง ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นการจำรูปร่างสัณฐาน

    ยอมที่จะพรากจากความเห็นที่ยึดถือในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเปล่า หรือว่ายังจะต้องจำไว้ต่อไปอีกกี่ภพกี่ชาติ ก็ยังเข้าใจว่าสิ่งที่ไม่มีนั่นเอง มีจริงๆ

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นสิ่งที่อกุศลจิตเป็นกิเลส เป็นเครื่องทำให้จิตเราเศร้าหมอง อย่างนั้นใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวคุณวิจิตรที่คิดว่าไม่ควรจำ ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรจะหมดความเป็นตัวเรา ซึ่งเป็นแต่เพียงขณะที่คิดเท่านั้นเอง ความจริงต้องเป็นความจริง หลังเห็นแล้วก็คิดรูปร่างสัณฐานต่างๆ แต่สามารถที่จะเห็นถูกว่า เป็นสภาพคิด สิ่งต่างๆ ที่มี มีเมื่อคิด เวลานี้มีทรัพย์สมบัติเท่าไร ถ้าไม่คิดมี หรือไม่ ไม่มี แค่เห็น แค่เห็นจริงๆ และคิดหลังจากที่เห็นแล้วแต่จะคิดเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง แต่ก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นของเรา

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมดา ความคิดจากสิ่งที่เห็นเป็นธรรมดา แต่ปัญญาที่รู้ว่า ขณะนั้นสภาพคิดไม่ใช่เรา ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง ฟังทำไม ฟังมาตั้งนาน ฟังเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรม และธรรมก็ไม่ใช่ใคร สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คิดก็เป็นคิด เสียใจก็เป็นเสียใจ ดีใจก็เป็นดีใจ เกิดแล้วก็หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยสักอย่างเดียว แต่ยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะ ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ดับการยึดถือทั้งหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเห็นอีก ไม่ต้องเกิดอีก

    ผู้ฟัง ก่อนจะตายปกติชวนจิตมี ๗ ขณะ ใช่ หรือไม่ แต่เท่าที่ทราบถ้าสลบมีแค่ ๖ ขณะ ถ้าจะตายก็มี ๕ ขณะ ทีนี้เรียนถามว่า ขณะที่จะตายก็มี ๕ ขณะ แล้วหลังจากชวนะนั้นจบไป ๕ ขณะจุติเกิด เป็นคำถามแรก ถูกหรือไม่

    อ.วิชัย ก็กล่าวถึงมรณาสันนวิถี หมายถึงวิถีจิตก่อนที่จุติจิตจะเกิด ถ้าชวนะดับแล้ว ไม่มีตทาลัมพนะ หรือภวังค์เกิดคั่นสืบต่อ จุติจิตก็สามารถเกิดต่อได้ขณะนั้น หรือว่าจะมีภวังค์คั่น แล้วจุติจิตเกิด ก็ได้เหมือนกัน หรือตทาลัมพนะก็ได้เหมือนกัน

    ผู้ฟัง และที่กล่าวว่า การที่จะเป็นกุศล หรืออกุศลที่เกิดก่อนตาย ตรงนี้ใช่ หรือไม่ ที่ชวนะที่เรากล่าวเมื่อสักครู่ว่า ที่มี ๕ ขณะ จะเป็นโลภะ หรือว่าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์ ตรงนี้ หรือเปล่าที่เป็นจุดชี้ว่าจะไปเกิดนรก สวรรค์

    อ.วิชัย ต้องพิจารณาว่า ขณะก่อนใกล้จะตายก็จะมีนิมิตปรากฏ แล้วแต่ว่าจะมีกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่ทำไว้แล้วในอดีตจะให้ผล ก่อนที่จุติจิตเกิดขึ้น และกรรมนั้นจะให้ปฏิสนธิในภูมิต่างๆ ต้องมีกรรมในอดีตที่กระทำแล้ว ดังนั้นเมื่อใกล้จะตาย ก็จะมีนิมิตของกรรมที่กระทำในอดีตปรากฏ หรือคติที่จะเกิด หรือนิมิตคือเครื่องมือในการกระทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมปรากฏ ดังนั้นปฏิสนธิที่จะเกิดในภูมิต่อไป ต้องหมายถึงกรรมในอดีตที่กระทำไว้แล้วที่จะให้ผล ก่อนที่จุติจิตจะเกิด ก็จะมีนิมิตปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมนิมิต คตินิมิตอารมณ์ หรือกรรมนิมิตอารมณ์

    ผู้ฟัง นิมิตต่างๆ เหล่านี้ เกิดกับจิตประเภทไหน

    อ.วิชัย ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้น ถ้าเป็นชวนจิต ถ้าหมายถึงอกุศลกรรมให้ผล ขณะชวนจิตก่อนจุติก็เป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง แล้วนิมิตก็เกิดพร้อมกันตรงนั้นเลย หรืออย่างไร

    อ.วิชัย นิมิตหมายถึงเป็นอารมณ์ของกุศลจิต หรืออกุศลจิต แล้วแต่กรรมที่กระทำในอดีตนั้นเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม

    ผู้ฟัง จากที่ทราบก็คือ การที่จะเห็นต้องมีสีกระทบกับจักขุปสาท แล้วสิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องมีจิตเกิดขึ้น ก็คือจักขุวิญญาณ การที่จักขุวิญญาณก็เป็นผลของกรรม ตรงนี้หรือเปล่าที่ว่าอัศจรรย์ เพราะว่าไม่รู้ว่ากรรมไหนจะให้ผล ท่านอาจารย์เน้นอยู่เสมอว่า เรื่องการเกิดเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นเรื่องอัศจรรย์ เพราะว่าเกิดขึ้นโดยที่ผลของกรรมเกิดแล้วไม่รู้ว่า ขณะไหน เมื่อไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ แม้แต่ธาตุรู้ ไม่มีรูปร่างเลย แต่สามารถเห็นขณะนี้ ได้ยิน คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ นั่นก็เป็นนามธาตุ เป็นธาตุรู้ ก็น่าอัศจรรย์ทั้งหมด แม้แต่รูป อย่างเสียง ดูเป็นธรรมดา แต่ว่าต้องมีสมุฏฐาน เสียงจึงเกิดได้ ทุกอย่างต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าจะเลือกให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดได้ นี่คือความน่าอัศจรรย์ของธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เลือกก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่าพร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่จะให้ธรรมใดเกิด ธรรมนั้นจึงเกิดได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่เข้าใจยากก็คือ ไม่มีรูปร่าง

    ท่านอาจารย์ แต่ก็มีการเห็น ธาตุเห็น

    ผู้ฟัง แต่การที่จะรู้ตรงนั้น รู้ด้วยใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องฟัง เหมือนอย่างท่านผู้ถาม ฟัง ฟัง ฟัง ก็ไม่รู้ แค่ฟังแล้วจะรู้หรือไม่ ก็แสดงให้เห็นว่าไม่เข้าใจว่า ปัญญามีหลายระดับ ต้องเป็นขั้นของสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานที่กำลังรู้ลักษณะจริงๆ ที่เป็นธรรมแต่ละลักษณะ และไม่ใช่เลือก และไม่ใช่ทำ และไม่ใช่หวัง เป็นเรื่องของการอบรมปัญญาจนกว่าเมื่อสภาพนั้นเกิดขึ้น จึงเข้าใจความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด กับขณะที่เกิด ก็รู้ความต่างว่า ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะซึ่งกำลังรู้ลักษณะที่เป็นฐานะ เป็นที่ตั้งของสติ ซึ่งลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ปัญญาจะไม่รู้ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็เป็นเพียงคิดนึกเรื่องการเกิดดับ แต่ในเมื่อสติปัฏฐานเกิด แล้วก็รู้ลักษณะซึ่งเกิดแล้วดับ เมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น คลายความไม่รู้ คลายความติดข้อง สามารถจะรู้ลักษณะที่ต่างๆ กันด้วยความละคลาย ไม่ใช่ด้วยความจงใจติดข้อง เพราะเรื่องละโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องถึงที่สุดของโลภะ จึงสามารถที่จะถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมของนิพพานได้ แต่ถ้ายังมีโลภะ มีความติดข้อง มีเยื่อใยความเป็นตัวตน ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของนิพพานธาตุได้ ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม จึงต้องเข้าใจ อะไรเป็นปัญญา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    9 พ.ค. 2567