พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
ตอนที่ ๓๓๘
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ท่านอาจารย์ เรื่องละโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องถึงที่สุดของโลภะ จึงสามารถที่จะถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมของนิพพานได้ แต่ถ้ายังมีโลภะ มีความติดข้อง มีเยื่อใยความเป็นตัวตน ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนิพพานธาตุได้
ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม จึงต้องเข้าใจ อะไรเป็นปัญญา ถ้าฟังเพียงจำชื่อ ตอบได้ จิตมี ๘๙ ดวง เป็นปัญญาหรือเปล่า หรือจำอะไรก็จำได้ทั้งนั้น ประเทศนี้มีอาณาเขตเท่าไร มีพลเมืองเท่าไร ก็คือจำ ถ้าจำว่า จิตมี ๘๙ ประเภท ก็แค่จำ ไม่ได้เข้าใจอะไร การศึกษาธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่จำ แต่เป็นเรื่องรู้ว่า ธรรมคืออะไร อยู่ที่ไหน ฟังเรื่องอะไร และค่อยๆ เข้าใจสิ่งนั้นขึ้น แม้ในขั้นการฟัง จนกระทั่งสามารถจะรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะกำลังเริ่มรู้ลักษณะ ค่อยๆ รู้จักลักษณะที่ได้ศึกษา ได้ฟังมานานแสนนาน จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น ดังนั้น ที่จะกล่าวว่า ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ แค่นั้นจะเข้าใจได้อย่างไร แค่ฟังนิดเดียว และความไม่รู้นานเท่าไร ให้มีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ที่จะเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจอื่น แต่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏนี้เอง ข้ามไม่ได้ ถ้าข้ามไป พูดเรื่องพละ พูดเรื่องอินทรีย์ พูดเรื่องอะไรก็ตามแต่ แต่ขณะนี้แม้เพียงสภาพที่ปรากฏ สติสัมปชัญญะไม่เคยรู้ตรงนั้นที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม หรือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ก็ไม่มีการตั้งต้นที่จะมีความเห็นถูก จนกระทั่งถึงความจริงของสภาพที่เกิดดับที่เป็นอริยสัจธรรม
ผู้ฟัง ธรรมเป็นเรื่องลึกลับ ปัญญาของดิฉันพูดได้แค่ว่าลึกลับ ไม่ได้ว่าลึกซึ้งหรอก
ท่านอาจารย์ อวิชชารู้ไม่ได้แน่นอน เพียงขั้นฟังเรื่องราว ยังไม่ถึงการรู้ลักษณะ ก็ไม่สามารถรู้จักธรรมได้เลย จึงต้องมีอริยสัจ ๔ สามรอบ ขาดไม่ได้ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ถ้าใครไม่รู้จัก ๓ รอบนี้ ก็คือว่าไม่ต้องพูดถึงเลย การจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นไปไม่ได้แน่
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเหมือนกับว่า การที่จะรู้ว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏ ควรจะใส่ใจด้วยว่าปรากฏที่ไหนหรือ
ท่านอาจารย์ มีความมั่นใจ ไม่ใช่ไปนั่งคิด เวลานี้อะไรปรากฏ เป็นของแน่นอนอยู่แล้วว่า กำลังปรากฏ แต่อวิชชาไม่รู้ การฟังเพื่อละความไม่รู้ โดยเข้าใจแม้เรื่องราวก็ละความไม่รู้ซึ่งเกิดจากการไม่เคยได้ยินได้ฟังเลยเท่านั้นเอง แต่ก็ต้องรู้ว่า เพียงเท่านี้ ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ จนกว่าสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานจะเกิด ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ การฟัง ทำไมเราคิดเรื่องอื่น แต่ละคนวันนี้คิดต่างกัน เพราะมีความใส่ใจ สนใจ และจำเรื่องที่คิด ก็เป็นปัจจัยให้คิดเรื่องนั้น มีเรื่องตั้งมากมาย ทำไมคิดเรื่องนี้ ตื่นขึ้นมา ก็มีปัจจัยที่ทำให้คิดถึงเรื่องนั้น ฉันใด มีเรื่องตั้งมากมาย แต่คิดเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงคิดที่จะฟังให้ละเอียด ให้เข้าใจ เป็นเรื่องละคลายความไม่รู้ แสดงว่าความไม่รู้มากมายมหาศาลแค่ไหน แม้แต่จะคลายความไม่รู้ ก็ต้องอาศัยการฟังด้วยดี ด้วยการพิจารณา ด้วยการค่อยๆ เข้าใจขึ้น
นี่คือการอบรม นี่คือบารมีของสาวก คือ ผู้ที่จะรู้แจ้งตามพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่เป็นการรู้แจ้งด้วยตัวเอง ก็ยังต้องมีชีวิตเป็นปกติธรรมดา และเกิดนึกถึงแม้คำว่า “ธรรม” แม้คำว่า “อนัตตา” ก็เพียงเท่านั้นเพราะจำ แต่ถ้าไม่ใช่เพียงแค่นึกถึง แต่มีลักษณะที่สติกำลังรู้ด้วย นี่ก็คือเริ่มที่จะอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในความเป็นธรรม
ผู้ฟัง ก่อนถึงขั้นที่สติเกิด ถ้าฟังอย่างนี้ ขั้นเข้าใจ ดิฉันก็เข้าใจว่า มีธรรมเกิดอยู่ ๖ ทาง และขณะนี้เป็นทางไหน นี่เป็นช่องทางแรก หรือเปล่าที่มีการไปสู่สติปัฏฐานระลึกถึงสภาพธรรมแต่ละขณะได้
ท่านอาจารย์ อย่างทางตา ธรรมปรากฏเมื่อจิตเห็น แค่นี้ถึงลักษณะของธรรมที่ปรากฏหรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็ไม่ถึง
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ถึง เมื่อไม่ถึง แต่จริงหรือเปล่า
ผู้ฟัง จริง
ท่านอาจารย์ อบรมเพื่อที่จะรู้ความจริงได้ หรือไม่ มีหนทาง หรือเปล่า ถ้าไม่มีหนทาง อวิชชาก็ยังคงปิดกั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทางนี้เป็นทางเดียว เป็นทางที่ลึกซึ้งด้วย เป็นทางที่ไม่ง่าย เพราะอะไร เพราะสะสมความไม่รู้มานานจนประมาณไม่ได้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ มีการได้ยินได้ฟังเรื่องธาตุที่กำลังปรากฏ กว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้เกิดค่อยๆ เข้าใจ เพียงปรากฏ ถ้าเพียงปรากฏ จะเดือดร้อนหรือไม่ ถ้าไม่มีเรื่องอะไรจากสิ่งที่ปรากฏให้กังวล ให้ต้องคิด ให้เป็นห่วง ให้ติดข้อง ถ้าไม่มี ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ผู้ที่ประจักษ์แจ้งความจริง ประจักษ์แจ้งความจริงจนสามารถที่จะดับกิเลสได้ ไม่มีทั้งโลภะ โทสะ และโมหะในสิ่งที่กำลังปรากฏ และผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อตัวเราจะรู้ ถ้าเพื่อตัวเราจะรู้ ก็จบอีกเหมือนกัน คือ ไม่รู้ เพื่อไม่ใช่เรา เข้าใจก็คือเข้าใจ ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ ก็เป็นธรรมทั้งหมด
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะยกตัวอย่างว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่เสมอ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เน้นที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทุกทวารที่เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ตัวอย่างที่เห็นง่าย ขณะนี้ใครไม่เห็นบ้าง ทุกวัน และไม่เคยจะค่อยๆ รู้ แล้วเมื่อไรจะรู้
ผู้ฟัง พระโสดาบัน เวลาท่านอายุมากๆ แล้วท่านจะหลงลืมเหมือนปุถุชน หรือไม่
อ.นิภัทร พระโสดาบันท่านยังมีโมหะ อยู่ หรือเปล่า โมหะท่านละได้หรือยัง ท่านก็ยังไม่ได้ละ พระโสดาบันท่านละความเห็นผิดได้แน่นอน สักกายทิฏฐิละได้แน่นอน และวิจิกิจฉา ละความสงสัยในพระรัตนตรัย ท่านละได้แน่นอน ท่านไม่สงสัยในคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ส่วนความหลงนั้น ผมว่าก็มียังมี แต่ไม่ได้หลงแบบงมงาย หลงธรรมดาก็ต้องมี หลงลืมนั่นลืมนี่เป็นธรรมดา ท่านยังละโมหะไม่ได้ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์จะช่วยสงเคราะห์อย่างไร
ท่านอาจารย์ เรากำลังศึกษาเรื่องอะไร
ผู้ฟัง เรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ เรื่องธรรม ไม่มีใครสักคน แต่มีจิตประเภทต่างๆ ปัญญาเป็นสภาพที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อวิชชารู้ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วก็ผู้ใดที่จะละกิเลสได้หมด
ผู้ฟัง พระอรหันต์
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์มีโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มีแม้อุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งมีโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วยด้วยก็ไม่มี แสดงว่าดับกิเลสหมดสิ้นไม่เหลือเลย แต่ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีกิเลสหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มีโมหอุทธัจจสัมปยุตต์ หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องธรรมดา หรือเปล่า ซึ่งเรากล่าวถึงธรรมเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป และเข้าใจหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงแต่สงสัยไปหมด คนโน้นคนนี้เป็นอย่างไร แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่รู้ เราจะไม่หมดความสงสัยเลย ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และก็จะคิดทุกอย่าง คิดไปหมดเลย แต่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ หรือเปล่า นี่คือความละเอียด เมื่อสักครู่ได้ฟัง เรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ เรื่องธาตุ เข้าใจ หรือไม่
ผู้ฟัง ก็พอเข้าใจบ้าง
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ขันธ์อะไร
ผู้ฟัง รูปขันธ์
ท่านอาจารย์ รูปขันธ์มีหลายอย่าง หรืออย่างเดียว
ผู้ฟัง หลายอย่าง
ท่านอาจารย์ อะไรบ้างที่เป็นรูปขันธ์ ที่ปรากฏ
ผู้ฟัง สี เสียง กลิ่น รส
ท่านอาจารย์ ตอบได้หมดเลย แต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นที่จะกล่าวว่าเป็นขันธ์ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มันยาก
ท่านอาจารย์ แต่ฟังเข้าใจขึ้นได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ อย่างแม้จะกล่าวว่า “ธรรม” ซึ่งต่างกันเป็น ๒ อย่าง นามธรรม เป็นสภาพที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย ทุกคนรับรองใช่หรือไม่ ไปมองหาก็ไม่เห็น อย่างไรๆ ก็ไม่สามารถมีรูปหนึ่งรูปใดเจือปนได้เลย แต่เป็นธาตุรู้ จำ คิดนึกต่างๆ นี่เป็นนามธรรมต่างกับรูปธรรม เวลาที่ธรรมมี ๒ อย่าง นามธรรมหลากหลายหรือไม่
ผู้ฟัง หลากหลาย
ท่านอาจารย์ รูปธรรมหลากหลายด้วย หรือเปล่า
ผู้ฟัง หลากหลายด้วย
ท่านอาจารย์ รูปเกิดขึ้นแล้วดับไปหรือเปล่า
ผู้ฟัง เกิดแล้วดับไป
ท่านอาจารย์ รูปที่เกิดแล้วดับไปแล้วกลับมาอีกหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่
ท่านอาจารย์ นี่คือเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่แม้เป็นสภาพที่ปรากฏ เหมือนไม่ดับเลย แต่ความจริงดับ แล้วก็มีปัจจัยให้เกิดแล้วก็ดับ มีปัจจัยให้เกิดแล้วก็ดับ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จึงเข้าใจความหมายของขันธ์ ไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเกิดหลากหลาย จึงได้แสดงลักษณะหลากหลายของรูป รูปหยาบมี หรือไม่ รูปละเอียดมีไหม เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะรู้ลักษณะของขันธ์จริงๆ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เราจะกล่าวได้ หรือไม่ ว่า เสียงนี่ต่างกัน เสียงหนึ่งดับไปแล้ว อีกเสียงหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว แม้เสียงก็ยังต่างกัน แม้รูปขันธ์ก็หลากหลายตามปัจจัยที่เกิดขึ้น โดยที่ว่า ขณะนั้นปัญญาระลึกรู้ลักษณะของเสียง แต่ละเสียงตามปกติ จึงจะสามารถเข้าใจในอรรถของคำว่า “ขันธ์” ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ และต่างกันไป ฉันใด ความรู้สึกที่เป็นเวทนา ที่ใช้คำว่า ขันธ์ ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รู้ขันธ์ที่เป็นนามขันธ์แล้ว ไม่ใช่ แต่จะกล่าวอย่างนี้โดยที่ไม่รู้เลย ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด
การที่จะกล่าวว่า เป็น “ขันธ์” ก็คือ กำลังรู้ลักษณะสภาพความรู้สึก และความรู้สึกนั้นเกิดดับ และต่างกันไปด้วย ความรู้สึกพอใจกับความรู้สึกโสมนัส ดีใจ ความรู้สึกเฉยๆ เป็นลักษณะที่ต่างกัน ไม่ใช่เพียงคิดว่าต่าง แต่ลักษณะจริงๆ นั้นต่าง ด้วยสติที่กำลังรู้แต่ละลักษณะที่ต่าง จึงเป็นเวทนาขันธ์ แม้เวทนาซึ่งเป็นความรู้สึก ก็เกิดแล้วก็ดับไป และต่างกันไป และไม่กลับมาอีกเลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จะคลายความยึดมั่น หรือไม่ ไม่ว่าความรู้สึกใดๆ จะปรากฏชั่วคราว ไม่มีตัวตนที่จะไปยึดให้สิ่งนั้นไม่ดับ หรือจะไปทำให้สภาพใดเกิดขึ้นก็ไม่ได้
ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ คลายการที่จะต้องเดือดร้อน เพราะเหตุว่าบังคับไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แล้วก็มีปัจจัยที่จะต้องเกิดเป็นไปตามปัจจัยนั้นๆ ด้วย ทุกขณะ ทุกภพทุกชาติ การฟังธรรมเพื่อให้คลายความเป็นตัวตน การที่เคยหลงยึดถือสภาพธรรมทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ โดยไม่ใช่เพียงจำชื่อ หรือคิดว่าจำขันธ์ ๕ ได้ จำธาตุ ๑๘ ได้ จำอายตนะ ๑๒ ได้ ไม่จำเป็น เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วสภาพธรรมที่ทรงแสดง ประมวลมาเพื่อที่จะให้เห็นว่า แม้จะมีความหลากหลายอย่างไรก็ตาม ก็ไม่พ้นจากอาการหรือสภาวะที่ปรากฏ ด้วยปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว จึงสามารถรู้ความเป็นจริงนั้นๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นขันธ์ ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นอายตนะ แต่ต้องมีลักษณะความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นปรากฏกับปัญญา
ผู้ฟัง สรุปแล้วพระโสดาบันยังขี้ลืมอยู่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ พระโสดาบัน หรือสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนี้ที่กำลังคิดเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นนามขันธ์
ท่านอาจารย์ นามขันธ์อะไร คือไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไปสงสัย ไปคิดที่จะรู้อื่น แล้วจะรู้ได้ หรือไม่ โดยการศึกษาตามที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ พระโสดาบันเป็นพระอรหันต์ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ พระโสดาบันยังมีอกุศล หรือเปล่า
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ พระโสดาบันยังมีโลภมูลจิต หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มีโทสมูลจิต หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มีโมหมูลจิตไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่กล่าว คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกนี้ โลกหน้า และโลกที่เป็นอยู่ขณะนี้ ไม่มั่นใจว่า สวรรค์มีจริง หรือนรกมีจริง ถ้ามีความเห็นถูก เราต้องมีความเห็นอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องรู้จักทุกคำที่พูด ถ้าจะถามเรื่องโลก ก็ต้องรู้ว่า โลกคืออะไร เดี๋ยวนี้เป็นโลกหรือเปล่า และเดี๋ยวนี้มีโลกหรือเปล่า ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องราวเท่านั้น ก็พูดไป แต่ไม่สามารถรู้ได้
การศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ อย่าเพิ่งคิดว่า เรารู้แล้ว เพียงได้ยินคำไหนก็คิดว่า รู้แล้ว เช่นได้ยินคำว่า “ธรรม” ก็คิดว่าเข้าใจแล้ว ได้ยินคำว่า “โลก” ก็คิดว่ารู้แล้ว แต่ใครจะรู้อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง การศึกษาธรรมต้องเป็นเรื่องละเอียดที่จะรู้ว่า ทุกคำที่เราเคยประมาท และผิวเผิน ตามความเป็นจริงก็คือสามารถเข้าถึงความจริงอย่างถ่องแท้ของสภาพธรรมได้ แล้วแต่เริ่มเข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟังแค่ไหน เช่น คำว่า “โลก” มีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไรว่ามีโลก
ผู้ฟัง ทางตาก็เป็นโลก ทางหูก็เป็นโลก ทางจมูกก็เป็นโลก ทางใจก็เป็นโลก
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นโลกหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ โลกทางไหน
ผู้ฟัง โลกทางตาที่เห็น
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ไม่มีคุณไพโรจน์
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ แต่โลกมี คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ทางหู เสียงก็มี เราคิดว่า โลกเต็มไปด้วยสีสันวัณณะ เต็มไปด้วยเสียง กลิ่น รส สัมผัสสิ่งที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน แต่ทั้งหมดนี้ ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กล่าวแล้ว จะปรากฏไม่ได้เลย โลกจริงๆ ก็คือ นามธรรม และรูปธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แค่นี้ต้องฟังอีกมากหรือไม่
ผู้ฟัง ต้องฟังอีกมาก
ท่านอาจารย์ อย่าคิดว่าเพียงคำตอบสั้นๆ โลกที่แล้วมา โลกปัจจุบัน โลกอนาคต ถ้าพูดอย่างนั้นจะไม่มีความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องละเอียดด้วย ต้องค่อยๆ ฟังจนกระทั่งโลกไม่ใช่เรา แต่โลกมีจริง เพราะโลกปรากฏ
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า สุข และทุกข์เป็นเวทนา ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เหมือนกับเราเข้าใจในอรรถ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วพอมันเกิดสุขเกิดทุกข์กับตัวเอง ก็มีความรู้สึกว่า เราสุข เราทุกข์ อยู่ตลอดเวลา ทำไมเราถึงไม่สามารถกำจัดความรู้สึกที่ว่า เราสุขเราทุกข์อยู่ตลอดเวลาได้
ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะฟังธรรม มีความรู้สึกว่าเป็นเรา ใช่ หรือไม่ เห็นก็เราเห็น สุขก็เราสุข แต่พอฟังธรรมแล้ว เป็นธรรม สุขก็เป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกข์ก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นความรู้สึก
ความรู้สึก ใครจะทำให้เกิดขึ้นได้ หรือไม่ หรือเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย และเมื่อเกิดแล้วจะให้ตั้งอยู่ ไม่หมดสิ้นไปได้ไหม
นี่คือความหมายของ “ธรรม” สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม เพราะเหตุว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และไม่ใช่ของใครด้วย
เดิมทีเข้าใจว่า เราสุข สุขเป็นของเรา ทุกข์ก็เป็นของเรา แต่เมื่อฟังธรรมต้องรู้ว่า ไม่ได้คิดเอง ฟังใคร ฟังคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งก่อนจะได้ฟัง ไม่มีใครสามารถรู้ความจริงอย่างนี้ได้ว่า แท้ที่จริงสิ่งที่เรามองเห็นเหมือนเที่ยง ยั่งยืน ความจริงเกิดดับอย่างเร็วมาก ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดแล้วดับไป ขณะที่กำลังพูดเรื่องเห็น หรือเรื่องจิต หรือเรื่องความรู้สึกต่างๆ ทั้งหมด ดับแล้ว แต่สืบต่อปรากฏให้เห็นความต่าง อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับ แต่ความจริงแม้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ แล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก แต่ไม่ปรากฏว่าดับ เพราะสิ่งอื่นเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย จึงทำให้เหมือนกับเห็น แล้วรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร และขณะที่สภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ หรือนามธรรมเกิดขึ้น จะมีสภาพธรรมชนิดหนึ่งเป็นนามธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน นั่นคือความรู้สึก ขณะนี้มีความรู้สึก หรือไม่ กำลังเห็น
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ความรู้สึกประเภทไหน เพราะความรู้สึกมี เป็นสุข ๑ ทุกข์ ๑ สำหรับทางกาย โสมนัส ๑ โทมนัส ๑ สำหรับทางใจ และอทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเรามักจะใช้คำว่า “อุเบกขา” บอกได้ หรือไม่ ว่า กำลังเห็น ขณะนี้ที่เห็น ความรู้สึกเป็นอะไร
ผู้ฟัง ถ้า ณ ตอนนี้ก็เป็น อทุกขมสุข เป็นอุเบกขา
ท่านอาจารย์ ตอบได้ และเลือกไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้ หรือไม่
ผู้ฟัง เลือกไม่ได้
ท่านอาจารย์ เลือกไม่ได้ นี่คือการเข้าใจธรรม
ผู้ฟัง อาจารย์กำลังจะบอกว่า ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์ ก็คือเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ใช่หรือไม่ แล้วมองได้ไหมว่า เหตุปัจจัยนั้นมาจากเรา
ท่านอาจารย์ เราอยู่ที่ไหน กำลังจะเข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นธรรม แต่ไม่เคยรู้ทั้งหมดจึงเป็นเรา และของเรา หรือเป็นเขา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะไม่รู้ความจริงของลักษณะของธรรม แต่ละลักษณะ ถ้าพูดถึงธรรม ต้องหมายความถึงสิ่งที่มีจริงนั้น มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ อย่างเสียง มี กำลังปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา
นี่คือความต่างของธรรมแต่ละลักษณะ ความรู้สึกที่เป็นสุขทางกายก็มี ที่เป็นทุกข์ทางกายก็มี ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิด เพื่อจะรู้ว่า จริงๆ แล้วไม่มีเราที่จะไปบังคับ ที่จะไปยึดถือ ที่จะไปเข้าใจว่า สิ่งนั้นเป็นของเรา ยังคงยั่งยืนอยู่ แต่ให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า แท้ที่จริงที่ใช้คำว่า “ธรรม” ก็คือเป็นธาตุ หรือเป็นสิ่งที่มีจริง และมีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง ธาตุ หรือสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ทั้งหมด มองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตาม เป็นรูปธาตุ หรือรูปธรรม แต่ถ้าไม่มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นนามธาตุเกิดขึ้น สิ่งใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คนตาบอดไม่เห็น แต่ต้องมีธาตุที่เกิดเพราะมีปัจจัย คือ ต้องมีจักขุปสาทเป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถกระทบเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถึงแม้อย่างนั้นก็ยังมีจิต ธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ จึงปรากฏได้ แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ผู้ฟัง ที่ฟังอาจารย์มาเข้าใจ แต่ทำไมปกติแล้วเราถึงมองไม่ออก ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปแล้ว เราจะระลึกตรงนั้นไม่ได้ หรือมองตรงนั้นไม่ออก แต่ขณะที่ฟังอาจารย์เข้าใจแล้วว่า มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็เกิดการกระทบกันของ อายตนะภายใน และภายนอก แต่ตามความเป็นจริงเมื่อชีวิตประจำวันดำเนินไป เราระลึกไม่ได้ และมองตรงนั้นไม่ออก เป็นเพราะเหตุอะไร
ท่านอาจารย์ เพราะเป็นเรา ไม่ใช่เป็นธรรม ธรรมระลึก ไม่ใช่เราระลึก ที่เข้าใจก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ต้องถอนความเป็นเรา ซึ่งเคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน นานแสนนาน ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว กว่าจะฟังธรรมแล้วเข้าใจว่า ปัญญามี ๓ ระดับ ๓ ขั้น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 301
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 305
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 306
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 309
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 318
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 328
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 329
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 341
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 350
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360