พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๐๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง เมื่อกี้อาจารย์กล่าวว่า มโนทวารไม่ปรากฏ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีอะไรบ้าง พอจะบอกได้ไหม

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นมี และอะไรอีก

    ผู้ฟัง มีได้ยิน

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก

    ผู้ฟัง มีได้กลิ่น

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก

    ผู้ฟัง มีกระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก

    ผู้ฟัง มีคิดนึก

    ท่านอาจารย์ ทางไหนที่คิด เห็นไม่ใช่คิด ได้ยินไม่ใช่คิด เพราะฉะนั้นคิดสามารถที่จะรู้เรื่องราวได้ ซึ่งเป็นสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา เพราะว่าคิดเป็นคิด ไม่ใช่เห็น คิดไม่ใช่ได้ยิน แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็คิด คิดมีจริงๆ เพราะฉะนั้นคิดโดยอาศัยอะไรทางไหน สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท เวลาที่เสียงปรากฏ จิตได้ยินต้องอาศัยโสตปสาท แต่เวลาคิดนึก คิดจริง ไม่ได้อาศัยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วอาศัยอะไรคิด ถ้าไม่มีใจคิดได้ไหม ไม่ได้ กำลังนอนหลับสนิท มีใจก็ยังคิดไม่ได้ แต่ไม่ได้นอนหลับตลอดเวลา หลับแล้วตื่น ตื่นขึ้นมาเห็นอะไรก็ตามแต่ ก็ต้องอาศัยแต่ละทวาร ถ้าตื่นขึ้นมารู้สึกตัว โดยไม่เห็นอะไรเลย อาศัยอะไร อาศัยใจ ซึ่งเปลี่ยนสภาพจากภวังค์ที่ดำรงภพชาติ หลับสนิท จึงสามารถคิดนึกได้ โดยที่ไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ด้วยเหตุนี้ภวังคจิตขณะสุดท้ายของกระแสภวังค์ จึงเป็นมโนทวาร ทวารของจิตที่เกิดคิด ถ้าไม่มีใจ จะมีคิดไหมคะ และขณะที่เห็นก็ไม่ใช่คิด เห็นหมดไปแล้ว การคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้น เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาดับ จิตที่อาศัยจักขุทวารวิถีทั้งหมดดับแล้ว จิตก็เป็นภวังค์ต่อไป ขณะนั้นก็ไม่ได้คิด แต่คิดหลังจากที่เมื่อเป็นภวังค์ๆ หมดกระแสภวังค์แล้วจึงคิด ด้วยเหตุนี้ภวังค์จึงเป็นทวารของจิตที่คิด เป็นมโนทวาร ตัวภวังคจิตขณะสุดท้ายเป็นมโนทวาร ถ้ายังคงเป็นภวังค์อยู่ต่อไป จิตจะรู้อารมณ์อื่นไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง การเห็น แล้วทีนี้เห็น จิตก็คิดนึก ใช่ไหม ก็ยังระลึกไม่ถูกอีกว่า ที่ถูกต้องจริงๆ แล้ว เห็นแล้วก็ระลึกรู้เฉยๆ และจิตก็คิดนึกไป แล้วมารู้ตรงจิตคิดนึก อย่างนั้นถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ยังระลึกไม่ถูก ไม่พูดถึงความเข้าใจเลย มีแต่ว่าจะระลึกให้ถูก นี่ไม่ใช่จุดประสงค์

    ผู้ฟัง ยากมาก การเห็น ที่ระลึกไม่ถูก จะระลึกอย่างไรถึงจะถูกต้องว่า เป็นการเห็น

    ท่านอาจารย์ มีไหมที่จะระลึกถูก โดยไม่รู้อะไร โดยไม่เข้าใจอะไรแล้วจะระลึกถูก มีไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ นั่นซิ โดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วจะระลึกถูกได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะไปสนใจอะไรกับระลึกถูก ถ้ายังไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง แล้วควรจะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อีกครั้ง ถ้ายังไม่เข้าใจ ไม่สามารถจะระลึกถูกได้ เพราะฉะนั้นเลิกคิดเรื่องจะระลึกถูก เมื่อยังไม่เข้าใจ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ระลึกถูกไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปสนใจที่จะระลึกถูก เพราะว่ายังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจะระลึกถูกได้เมื่อไร

    ผู้ฟัง ต้องฟังไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้น และจะไม่มีปัญหาว่า จะระลึกอย่างไรให้ถูก

    ผู้ฟัง ก็ยังตอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ยังมีเราที่จะระลึกให้ถูก ไม่ได้ฟังว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรมจนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมมากขึ้น เพิ่มขึ้น เข้าใจขึ้นว่าเป็นธรรม ไม่ต้องไปกังวลเรื่องระลึก ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจ ไม่ต้องไปคิดเรื่องนั้น คิดทำไม ในเมื่อยังไม่เข้าใจ แล้วจะไปนั่งคิดว่า ทำอย่างไรจะระลึกได้ถูก

    ผู้ฟัง พยายามจะระลึกให้ถูก แต่ก็ไม่ได้ และยิ่งพยายามก็จะยิ่งมึนหัวใหญ่

    ท่านอาจารย์ ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นฟังอะไร

    ผู้ฟัง ฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า ธรรม ฟังธรรม ให้เข้าใจธรรม ให้รู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ต้องไปคิดเรื่องจะระลึกให้ถูก

    นี่คือเราตั้งต้น โดยที่ว่าไม่มีความเข้าใจ พอได้ยินว่า ปฏิบัติ ก็จะปฏิบัติ พอได้ยินว่า ระลึก ก็จะระลึก ซึ่งไม่ใช่ความเข้าใจเลย พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ที่ทรงตรัสรู้ เห็นไหมว่า ปัญญาทั้งหมด เมื่อตรัสรู้อย่างไร ก็ทรงแสดงความจริงอย่างนั้น เพื่ออะไร เพื่อให้คนอื่นได้รู้ตาม ก็เป็นเรื่องของปัญญาอีก แล้วทำไมไม่เข้าใจว่า การฟังธรรมเป็นการอบรมความรู้ถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่เคยรู้ถูก ไม่เคยเข้าใจถูกเลย จนกว่าจะได้ยินได้ฟังตามลำดับเพิ่มขึ้น และไปจดจ่ออยู่ที่จะระลึกอย่างไรอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ก็ไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ความคิดนึก จากการศึกษาก็ทราบว่า มันเป็นลักษณะของเจตสิก คือ ตรึก หรือวิตกเจตสิก

    ท่านอาจารย์ อันนี้รู้มาก เป็นธรรม มีจริงๆ คิดนึก เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเพียงฟัง แต่ยังไม่รู้ลักษณะนั้นเลย ทุกอย่างเป็นชื่อที่ได้ยินได้ฟัง แต่ความจริงมีสภาพธรรม แต่ไม่เคยรู้ชื่อ พอรู้ชื่อแล้วก็ยังไม่รู้ลักษณะของธรรมอยู่นั่นเอง เพียงแต่ว่ามีธรรม แล้วก็ได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่า ธรรมเป็นอย่างไร

    นี่คือความละเอียด ไม่ใช่ธรรมไม่มี ธรรมมี แล้วก็ไม่เคยรู้ชื่อ พอมาได้ยินชื่อ ก็รู้ชื่อธรรม แต่ก็ยังไม่รู้จักตัวธรรมอยู่นั่นเอง แต่ได้แล้วนะคะ ได้ฟังชื่อ ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ของธรรม

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องให้สอดคล้องกันว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยินชื่อ แล้วภายหลังก็ได้ยินชื่อ รู้เรื่องของธรรมนั้น แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่รู้จักตัวธรรมเลย จึงได้มีคำถามว่า ผู้ถามมีไหม ยังมีอยู่ ปากอาจจะบอกว่าไม่มี เป็นธรรม เป็นอนัตตา เกิดดับไม่มีเหลือ ตามที่ได้ยินได้ฟัง เห็นทีไร ไม่ได้ไถ่ถอนการที่เคยยึดถือ ว่ามีคนในสิ่งที่ปรากฏทางตา เช่น ในขณะนี้ชัดเจน สิ่งที่ปรากฏทางตา มีแน่นอน กำลังปรากฏ แต่ก็มีคนอยู่ในสิ่งที่ปรากฏทางตา มีโต๊ะ มีเก้าอี้ แล้วอย่างนี้จะไประลึกถูกไหม พยายามใช่ไหมที่จะไประลึกถูก แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ค่อยๆ ไถ่ถอนความไม่รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ หรือเปล่า มีใครจะค้านบ้าง กับความจริง ถ้ารู้ว่าเป็นจริง ก็ค่อยๆ ไตร่ตรอง เห็นด้วย ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ขั้นฟังไม่พอ ขั้นพิจารณาเห็นด้วยไม่พอ ต้องถึงการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้น ที่ใช้คำว่า “แทงตลอด” จึงสามารถดับการที่เคยยึดถือว่า มีคนในรูปที่ปรากฏทางตา ซึ่งความจริงเดี๋ยวนี้ก็ไม่มี แต่มีสิ่งที่ปรากฏทางตานี้แน่นอน จนกว่าจะรู้ความจริง

    ผู้ฟัง ในขณะนี้มีธรรมอะไรปรากฏบ้าง ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่า การที่ธรรมปรากฏ ความเข้าใจในขั้นการฟัง ก็จะต้องรู้ว่า ในขณะนั้นมีธรรมปรากฏ และปรากฏทางหนึ่งทางใดด้วย

    ท่านอาจารย์ อันนี้ลองคิดดูนะคะ ถ้าไม่มีโสตปสาท เสียงปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเสียงปรากฏทางไหน

    ผู้ฟัง ทางหูครับ

    ท่านอาจารย์ ปรากฏกับอะไร

    ผู้ฟัง ปรากฏกับโสตปสาท หรือจิตได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพรู้ คือ จิตได้ยิน เสียงปรากฏไม่ได้เลย ทำไมเวลาที่จิตได้ยิน มีเสียงปรากฏ แต่รูปต่างๆ โต๊ะ เก้าอี้เหล่านี้ไม่ได้ยิน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความน่าอัศจรรย์ ความเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาเลย ก็จะไม่เห็นว่า เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ คือ ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งเกิด และจะปรากฏได้เฉพาะแต่ละทางด้วย ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ไตร่ตรอง อย่าคิดถึงตัวเราว่า เราฟังมากี่ปี เดิมเราเข้าใจอย่างนี้ ตอนนี้เราเปลี่ยนไปเข้าใจอย่างนั้น ตัดเราออกหมดเลย กำลังฟังธรรม เวลานี้มีธรรมกำลังปรากฏ ให้ได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในขั้นการฟังของกระผมนี่

    ท่านอาจารย์ ของกระผมอีกแล้ว อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้ถามยังไม่ได้ละความเป็นเราที่ฟังธรรม ความเป็นเราที่สงสัยธรรม ให้เป็นตัวธรรมเดี๋ยวนี้ ซึ่งได้ยินได้ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจว่าจริง หรือเปล่า ขณะนี้มีเห็น แต่ยังไม่รู้ลักษณะของเห็น แต่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ลืม เพราะว่าเราไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นความจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หนาแน่นมาก จนกว่าจะได้ยินบ่อยๆ ทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วสติสัมปชัญญะก็จะเกิด แล้วค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เมื่อก่อนนี้จะเป็นอย่างไร ก็หมดไปแล้วทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ขออนุญาตเรียนแก้ตัว ทุกครั้งที่กระผมเอ่ยคำว่า กระผม ด้วยความเคารพนอบน้อมบูชาท่านอาจารย์ รู้สึกว่า ถ้ายิ่งพูดแสดงความเคารพมากเท่าไร ก็เป็นการเข้าใจถึงตัวเองว่า ขณะนี้มีสภาพจิตอย่างไรครับ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เสียงนั้นมีจริง

    ท่านอาจารย์ คือจะค่อยๆ คลายความเป็นผู้ถามลงไป ทั้งๆ ที่เสียงมีจริง

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏเลย ก็หมดโอกาสที่จะรู้ลักษณะ หรือระลึกลักษณะของธรรมที่ปรากฏ อันนี้เป็นความเข้าใจ ถูกต้องไหมครับ

    ท่านอาจารย์ คนที่ฟังธรรม คือ คนที่สะสมมาที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ หรือฟังธรรม แต่ไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร อย่างบอกว่า จะฟังธรรม จะปฏิบัติธรรม แต่จะไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ อันนี้จะตรงไหม จะฟังธรรม จะปฏิบัติธรรม แต่จะไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ใช่ไหม เพียงเท่านี้ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ว่า การฟังธรรมเพื่อเข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยคิดเลยว่า จะเข้าใจได้แค่ไหน ละเอียดลึกซึ้ง สามารถที่จะประจักษ์ความจริงได้ ว่าความจริงไม่เพียงแค่เห็น แล้วก็คิดนึกว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เข้าใจว่า นี่คือความจริงแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ความจริงของสภาพธรรมแต่ละลักษณะในชีวิตประจำวันมากมายกว่านั้นอีก ลึกซึ้งกว่านั้นอีก ซึ่งต้องอาศัยศรัทธา คือการเห็นประโยชน์ว่า จะรู้ไปทำไม บางคนก็บอกว่า แล้วจะรู้ไปทำไม ก็แค่เห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ก็ดีแล้วนี่ ได้ยินเสียงที่เพราะๆ ก็ดีแล้ว มีกลิ่นหอมๆ มีรสอร่อยก็ดีแล้ว จะรู้ไปทำไม

    นี่คือผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าของการที่ว่า กว่าจะได้ฟังให้เข้าใจ ต้องมีผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง รู้เอง รู้ไม่ได้แน่นอน อย่างไรๆ ใครก็รู้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และสิ่งที่มีจริงก็เกินวิสัยที่คนหนึ่งคนใดจะไปเพียงแค่ไตร่ตรอง แล้วก็มีความรู้ตื้นๆ แค่ได้ยินว่า ไม่ใช่เรา เหมือนจบ แต่ความจริงไม่ได้แทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม ด้วยปัญญาที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ

    เพราะฉะนั้นความรู้จึงต้องละเอียด และมีหลายขั้นตอนด้วยว่า ความรู้ขั้นฟัง ก็คือเป็นผู้ที่กำลังฟัง และเริ่มเข้าใจ ให้ทราบว่า กำลังฟัง และเริ่มเข้าใจ ฟังอะไร ฟังสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ แล้วคืออะไร และไม่หมดฉันทะที่จะฟังให้เข้าใจต่อไป เพราะเหตุว่าเพียงฟังแค่นี้ แล้วก็ไม่ฟังต่อไป ก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้

    ด้วยเหตุนี้ถึงจะต้องอดทนฟังมากสักเท่าไร ก็คือว่าเริ่มจะค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งความจริงก็คือว่า เป็นสิ่งที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ค่อยๆ พิจารณา ไป เกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้ และปัญญาที่สามารถจะประจักษ์ความจริงนี้มีได้ เพื่ออะไร เพื่อละความไม่รู้ ละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ละการเห็นผิด และจะละอกุศลทั้งหลายได้หมด แต่ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ ละอกุศลใดๆ ไม่ได้เลย และทุกคนก็ไม่ชอบอกุศลของคนอื่น

    นี่ก็เป็นความต่างกัน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าไม่มีการฟังที่ทำให้เข้าใจขึ้น ไม่มีทางที่สติสัมปชัญญะเกิด หลงไปทำอย่างอื่น แต่ไม่มีทางรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ต้องอดทน และมีความตั้งใจที่จะฟัง

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นไม่ทรงแสดงเรื่องบารมี ๑๐ เมื่อมีบารมี ๑๐ ต้องเข้าใจด้วย ขณะนี้เป็นบารมีหรือเปล่า ขณะใดที่เข้าใจถูก เห็นถูก มีความอดทนที่จะเข้าใจยิ่งขึ้น อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ วันหนึ่งก็สามารถที่จะรู้ความจริงนี้ได้แน่นอน อย่างเห็นกับได้ยิน ไม่พร้อมกัน วันหนึ่งต้องรู้ได้ ถ้าสติสัมปชัญญะกำลังตามรู้เห็น คือ ตรงเห็น สภาพที่กำลังเห็น ขณะนั้นไม่ใช่ได้ยิน เริ่มเห็นความต่าง ความห่างของสภาพธรรม ๒ อย่าง ก็ต้องเป็นผู้ตรง สัจจบารมี

    ผู้ฟัง ฟังในเทป ท่านอาจารย์พูดตอนนี้ ก็จะมีบอกว่า เห็น ได้ยิน เกิดคนละขณะ ซึ่งเราฟัง และพิจารณาไตร่ตรอง ก็เป็นปัจจัยให้สติเรารู้อย่างนั้นจริงๆ รู้อย่างที่เราฟังจริงๆ ขณะนี้เรารู้เป็นเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างรู้ด้วยตัวเอง ต้องถามใครไหมว่า ฟังตอนนี้เป็นสติปัฏฐาน หรือเป็นปัญญาขั้นฟัง ไม่ต้องถามเลย ถ้าถามคือไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้ของตัวเอง เพราะฉะนั้นการฟังธรรม เพื่อพิจารณาจนเข้าใจถูกต้องตามลำดับขั้นเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างไร ฟังแล้วไม่เข้าใจ แล้วต้องถามคนอื่น เสียเวลาที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง

    ผู้ฟัง ชาติของจิตมี ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ทีนี้เวลาท่านอาจารย์อธิบายก็จะบอกว่า กิริยาจิตไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก แต่อยากทราบว่า จริงๆ แล้วกิริยาจิตมีคำจำกัดความของเขาไหมคะว่า คืออะไร นอกจากไม่ใช่กุศล อกุศล และวิบาก

    ท่านอาจารย์ วันนี้ก็ถือว่าเป็นการทบทวนเรื่องกิริยาจิต เพราะว่าบางคนก็ได้ยินชื่อคุ้นหู กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ก็ผ่านไป จำไว้ว่ามี ๔ และจำชื่อได้ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต แต่ไม่ใช่เพียงจำ ควรจะเข้าใจด้วย วันนี้ก็เป็นโอกาสที่จะพูดให้เข้าใจเรื่องกิริยาจิต ถ้ามีข้อสงสัยก็เชิญถาม การที่เราจะเข้าใจธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ต้องไตร่ตรอง ต้องละเอียด และต้องประกอบกันด้วย

    จิตเกิดขึ้นเปล่าๆ แล้วก็ดับไป หรือว่าจิตทุกประเภทเกิดขึ้นแล้วทำกิจ คือ หน้าที่ของจิตนั้นๆ แต่ละจิตที่เกิดขึ้น จิตเกิดขึ้นมีลักษณะเป็นธาตุรู้ มีกิจเฉพาะแต่ละจิตด้วย

    เพราะฉะนั้นสำหรับเวลาที่จิตหนึ่ง คิดถึงจิตหนึ่ง เกิดขึ้น ไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต คือ ไม่ใช่ผลของกุศล และอกุศล แต่จิตที่เกิดนั้นทำหน้าที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกิริยาจิต ที่จะขอกล่าวถึง คือ กิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ จะใช้คำว่า “อเหตุกกิริยา” ก็ได้ ตามปกติก็จะมีกิริยาจิต ๒ ประเภท คือ กิริยาจิตที่มีเหตุที่ดีงามเกิดร่วมด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ ที่เป็นกิริยาจิตเพราะเกิดแล้วทำกิจ แต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า นี่จะทำให้เข้าใจลักษณะของจิตที่เป็นกิริยาจิตว่า เป็นจิตที่เกิดแล้ว แต่ไม่ใช่เป็นผลของกรรม คือ ไม่ใช่วิบากจิต และไม่ใช่ผลของกุศล และอกุศล เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่ากิริยาจิตจะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตข้างหน้า เพราะฉะนั้นที่เราพอจะเข้าใจได้ คือ จิตของพระอรหันต์ไม่เป็นกุศลจิต และไม่เป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกุศล และอกุศล ต้องเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากได้

    ด้วยเหตุนี้เมื่อดับกิเลสหมด แต่ยังมีปัจจัยที่จิตจะเกิดทำกิจการงาน เพราะว่าใครจะไปยับยั้งจิตไม่ให้เกิดได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย จิตทุกขณะที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ใช่จะไปยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นอีกต่อไป ในเมื่อยังมีเหตุปัจจัยที่ยังให้จิตเกิดขึ้นต่อไป แต่ว่าจิตที่เกิดขึ้นต่อไปจะไม่เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต จะเป็นวิบากจิต และกิริยาจิต เพราะเหตุว่าวิบากเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะไปทำให้กรรมที่ได้กระทำแล้วหมดไป ไม่เป็นปัจจัยให้วิบากเกิด ยังเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่ถึงการสิ้นชีวิต คือ ปรินิพพาน คือจิตขณะสุดท้ายยังไม่เกิด กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตก็ยังมีปัจจัยให้วิบากจิตเกิด นี่เป็นวิบาก ทำหน้าที่ของวิบาก แต่ไม่ใช่มีแต่เฉพาะวิบาก กุศล และอกุศลซึ่งเคยเกิดเป็นกุศล และอกุศล พอหมดกิเลสไม่เป็นปัจจัยให้เป็นกุศล จึงเป็นกิริยาที่ประกอบด้วยโสภณเหตุ อันนี้พอเข้าใจ แต่ก็ยังมีกิริยาจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน เพราะเรารู้แล้วว่า ไม่มีใครสามารถยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นได้เลย เมื่อถึงวาระที่จิตประเภทไหนจะเกิด จิตประเภทนั้นจึงเกิด สลับกันก็ไม่ได้ ไปบังคับก็ไม่ได้ ไปเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นนอกจากกิริยาจิตที่เป็นของพระอรหันต์แล้ว ซึ่งเป็นสเหตุกะ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ยังมีกิริยาจิตอีก ๒ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นกิริยาจิต เพราะเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจอาวัชชนะ เป็นกิริยา ข้อนี้อาจจะฟังดูเป็นชื่อ และเป็นตำรับตำรา แต่ความจริงให้ทราบว่า เมื่อมีจิตขณะแรกเกิดขึ้นในภพหนึ่งชาติหนึ่ง เป็นปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต ข้อนี้มีใครไม่เห็นด้วยบ้างคะ

    จิตขณะแรกที่เกิดเป็นผลของกรรม และกรรมที่ได้ประมวลมาด้วย ตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์ สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้แต่ละคนต่างกันไป แม้ขณะนี้ก็กำลังต่าง ตามเหตุตามปัจจัย ถึงจะเป็นวิบากประเภทเดียวกัน แต่การสะสมที่สะสมอยู่ในจิตก็ต่างกันไปตามการสะสมด้วย เพราะฉะนั้นทุกคนเห็นด้วยว่า จิตขณะแรกที่เกิดเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม และกรรมก็ไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เวลาทำกรรม จิตหลายขณะ เพราะฉะนั้นจะให้ผลของกรรมเกิดขึ้นขณะเดียว เป็นปฏิสนธิจิต ที่ใช้คำว่า “ปฏิสนธิจิต” เรียกตามกิจว่า วิบากจิตนี้ทำปฏิสนธิกิจ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นกิจแรกของชาตินี้ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน และเป็นวิบากจิต

    เพราะฉะนั้นในชาตินี้จะให้มีปฏิสนธิจิตหลายๆ ขณะ ได้ไหม ไม่ได้เลย นี่ก็คือการเริ่มเข้าใจเรื่องจิต และกิจของจิตว่า เป็นจิตประเภทเดียวกัน เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ แล้วแต่ว่าใครจะเกิดเป็นอะไรก็ตามแต่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567