พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
ตอนที่ ๓๔๗
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐
ท่านอาจารย์ หลังจากเห็นแล้ว ถ้าดูรูปในหนังสือพิมพ์ เห็น ใช่หรือไม่ แล้วเห็นอะไร
ผู้ฟัง อย่างรูปบุคคล ก็เห็นหญิง หรือชาย
ท่านอาจารย์ เขากำลังทำอะไร
ผู้ฟัง กำลังคิด
ท่านอาจารย์ เห็นเป็นรูปเฉยๆ หรือรู้ว่า กำลังนั่ง กำลังเดิน หรือว่ากำลังเล่นฟุตบอล หรืออะไร
ผู้ฟัง เห็นเป็นรถชนกัน แตกละเอียด
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องราว หรือเปล่า แม้ว่าจะไม่เป็นคำ แต่ภาพนั้นก็ไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าเป็นอะไร ก็ยังมีเรื่องราวของภาพนั้นด้วย
ผู้ฟัง อย่างนั้นจริงๆ แล้วในวันหนึ่งๆ จะขาดเรื่องราว ก็เป็นไปไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้มีแต่เห็น ได้ยิน นี่เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งเป็นธรรม ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เริ่มเข้าใจว่า ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ หรือเปล่า ไม่ใช่เอาตำรามากาง แล้วบอกว่าชีวิตจริงๆ เป็นตามตำรา แต่เพราะชีวิตจริงเป็นอย่างนี้ จึงได้มีเรื่องราวที่ทรงแสดงความจริงของชีวิตว่าเป็นอย่างนี้
อ.กุลวิไล พูดถึงเรื่องของวิถีจิต จะเห็นความรวดเร็วของจิตมาก ทั้งๆ ที่เราศึกษาก็พอทราบได้ว่า ทางปัญจทวาร อย่างทางตา ก็มีเพียงสีเท่านั้นเป็นอารมณ์ แต่จากการศึกษาจะรู้ได้ว่า ก่อนที่วิถีจิตเกิด จะต้องมีภวังคจิตเกิดจากการที่รูปกระทบกับปสาทรูป และกระทบภวังค์ด้วย ซึ่งเป็นขณะแรก คือ อตีตภวังค์ และเป็นปัจจัยให้ภวังคจลนะ จนกระทั่งตัดกระแสภวังค์ ก็คือ ภวังคุปัจเฉทะ แล้วถึงจะเกิดปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นสี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่หมดแค่เพียงสี เพราะขณะที่ รูปารมณ์ดับไป วิถีจิตทางใจก็เกิดต่อ และวิถีจิตทางใจที่เกิดต่อนั้น ตัวอารมณ์ที่เพิ่งดับไป กระทบกับภวังค์ และเป็นปัจจัยให้ภวังคจลนะไหว ถ้าหากตัดกระแสภวังค์ที่จะให้รู้อารมณ์นั้น ก็เกิดภวังคุปัจเฉทะ แล้วก็เกิดมโนทวาราวัชชนะเกิดสืบต่อ ก็จะรู้อารมณ์ที่เพิ่งดับไปนั้นต่อ และยังสืบต่อเป็นเรื่องราว สัณฐาน รูปร่าง เหมือนกับเมื่อสักครู่ ที่ท่านอาจารย์คุยกับคุณสุกัญญาว่า จริงๆ แล้วดูหนังสือพิมพ์เห็นอะไร เราก็จะเห็นเป็นคน เป็นเรื่องราวต่างๆ ซึ่งก็แปลความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สี แต่ก็เป็นสัณฐาน เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นความรวดเร็วของจิต
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอวิชชา ความไม่รู้ มากแค่ไหน นี่แค่ทวารเดียว คือ ทางตา เมื่อคืนมีใครไม่ได้ดูโทรทัศน์บ้าง หรือไม่ ไม่เคยดู หรือเมื่อคืนนี้ไม่ได้ดู ดู แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่เคยดู พูดอะไร หรือเปล่า กำลังดู มีแต่รูปทั้งนั้นเลย ทางโทรทัศน์ ใช่ หรือไม่ ไม่มีใครพูดจาอะไร เป็นภาพเงียบๆ ก็มี แต่ในความคิดของเราเป็นเรื่อง เป็นบัญญัติ ไม่ใช่เป็นการรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วคิด เมื่อเห็นรูปร่างอย่างนั้นแล้วคิดอย่างนั้น เป็นปัจจัยให้คิด แต่ไม่ต้องเป็นคำเลย กำลังนั่งดูโทรทัศน์ มีใครคิดเป็นคำๆ ออกมา ตามรูปภาพที่เห็น หรือเปล่า ไม่มี ถ้าไม่พูด ก็ไม่มี ไม่วิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่มี แต่มีภาพ มีรูป มีสัณฐาน แล้วก็มีเรื่องราว ก็ให้เห็นว่า ขณะใดที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณ
วิญญาณเป็นสภาพที่เหมือนมายากล ไม่มีคนในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเมื่อไรก็ตาม แต่ว่าความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อ และการจำแต่ละขณะ จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง แม้ไม่มีเสียงเลยก็ตามแต่ ขณะที่ดูโทรทัศน์ ไม่ได้หมายความว่า มีเสียงตลอดเวลา บางขณะก็เงียบ บางขณะก็มีเสียง แม้ในขณะที่เงียบ ก็มีการเคลื่อนไหว ซึ่งขณะนั้นก็เป็นเรื่องตามความคิดนึกของแต่ละคนแล้ว แสดงว่าจะรู้ความต่างกันของขณะที่เข้าใจลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ มีจริงๆ ปรากฏ แต่ไม่มีความเห็นถูก เรื่องกุศล และอกุศลเกิดต่อทันทีตามการสะสม แต่ถ้าเป็นกุศล และเป็นความเข้าใจถูกที่เริ่มจะเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไรก็ตาม เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ปัญญาสามารถที่จะเริ่มเข้าใจว่า เป็นลักษณะที่มีจริงๆ เป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม มิฉะนั้นปรมัตถธรรมจะอยู่ในหนังสือ และเราก็บอกว่าเรารู้จักว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ มีจิต มีเจตสิก มีรูป มีนิพพาน เราคิดว่าเราเข้าใจปรมัตถธรรม แต่ขณะนี้ปรมัตถธรรมปรากฏ เข้าใจหรือเปล่าว่าไม่ใช่เรื่องราว ไม่ใช่ความนึกคิดที่เป็นเรื่องเป็นราวเลย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา มีปัจจัยเกิดแล้วดับ แต่สืบต่อเร็วมาก จนไม่สามารถที่จะรู้ความจริง เมื่อไม่สามารถรู้ความจริงได้ อวิชชามากแค่ไหน กว่าจะเป็นวิชชา ที่ค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ละความสงสัย ค่อยๆ ละความไม่รู้ในความเป็นธรรม
กล่าวได้ หรือไม่ว่า รู้จักปรมัตถธรรม ถ้าปัญญาไม่เกิด และไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เลย เสียงเกิดแล้วดับไป ก็เป็นเสียง แต่ขณะที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ นั่น ไม่มีการรู้เสียงที่ยังไม่ดับ เป็นแต่ละขณะ
นี่คือการศึกษาธรรมซึ่งทำให้ค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูก จนสามารถรู้ตรงลักษณะ จนสามารถแทงตลอด แต่ไม่ใช่โดยวิธีอื่น ไม่ต้องไปรอสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปคิดสติปัฏฐาน แต่สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ และจะรู้ได้ว่าขณะไหนเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นสติปัฏฐาน หรือขณะไหนกำลังฟัง เริ่มเข้าใจ แม้แต่กำลังเริ่มเข้าใจ วันหนึ่งสติรู้ตรงลักษณะ ก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นสติใส่ใจ เข้าใจในสภาพที่เพียงปรากฏ ส่วนการคิดนึกก็เริ่มรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมที่ต่างกับขณะที่เห็น วันหนึ่งๆ คิดมากแค่ไหน และมีสิ่งที่ปรากฏมากแค่ไหน ไม่รู้เลย ก็เป็นความไม่รู้ที่สะสมไปแต่ละชาติ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง ดูเหมือนที่ท่านอาจารย์บอกว่า ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ และพระธรรมก็สอนให้เรารู้ว่า ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไร แต่เมื่อเราเรียนแล้ว ฟังแล้ว เหมือนกับไม่ยอมรู้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร วันหนึ่งๆ ก็มีแต่คิดเรื่องราว
ท่านอาจารย์ ทำไมใช้คำว่า “ไม่ยอมรู้” มีความสามารถที่จะยอมหรือไม่ยอม หรืออย่างไร หรือว่าเป็นธรรมดาที่ว่า สะสมความไม่รู้มามาก จะให้หมดความไม่รู้ไปทันที อะไรทำได้ อะไรก็บันดาลไม่ได้เลย นอกจากความเข้าใจเริ่มเกิดขึ้น สะสมไป
ผู้ฟัง คือจากฟังแล้วเหมือนกับหลงลืมสติตลอดเวลา แล้วก็จะคิดเรื่องราวไปทั้งวันเลย
ท่านอาจารย์ ก็ต้องรู้ว่า ขณะที่ฟังไม่เหมือนกับขณะที่ไม่ได้ฟัง เห็นความต่างแม้ในขณะที่ฟัง ฟังอะไร ถ้าฟังธรรม มีธรรมปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าไม่ฟังธรรม ก็คือฟังเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ความเข้าใจแม้จากการฟังจะเล็กจะน้อย จะมากสักเท่าไรก็ตาม มาจากไหน ก็ต้องรู้แล้วถึงเหตุที่จะทำให้ได้ฟัง ได้เข้าใจสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่เพียงฟัง เราก็จะไปดับการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ถ้าใครเข้าใจอย่างนั้นผิด ปัญญาไม่ได้เจริญขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นฟัง จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจความเป็นอนัตตา และสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้ความต่างกัน และเมื่อไรที่เข้าใจว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ ไม่ใช่เรื่องราว เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่มีเรื่องราวเพราะมีจิตที่คิด หลังจากเห็น ก็คิดเรื่องที่เห็น หลังจากได้ยินก็คิดเรื่องที่ได้ยิน
จิตเป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่เป็นวิถีของชีวิต เกิดขึ้นจะต้องเป็นไป ตามนิยาม ตามความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง ถ้าเราไม่หวัง เราก็จะเข้าใจได้จริงๆ ว่า ก่อนฟังเราไม่รู้เลยว่า ลักษณะของสภาพธรรม หรือปรมัตถธรรมคืออะไร แต่เมื่อฟังถึงแม้สติปัฏฐานยังไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะ แต่เราก็เข้าใจขั้นฟังได้ว่า สภาพธรรมจริงๆ ที่พระองค์ทรงตรัสรู้คืออะไร เราก็เข้าใจไปตามนั้น
ท่านอาจารย์ พระองค์กับเราจะเหมือนกัน หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เหมือน ปัญญาก็ต่างกัน
ท่านอาจารย์ ก็อบรมไป เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง แต่จริงๆ ลึกๆ ก็คงหวัง และใจร้อนอยากจะรู้เร็ว คำถามก็เต็มไปด้วย ทำไมไม่รู้สักที
ท่านอาจารย์ ถ้ามีปัจจัยที่ยังทำให้หวัง จะไม่หวังได้ไหม อกุศล คือ โลภะ ความติดข้องเกิดแล้วดับไป ติด และฉาบทาในจิตขณะต่อไป ไม่ได้ไปไหน แม้ว่าอกุศลจิตนั้นดับไปแล้ว แต่ดับแล้วก็จริง แต่ฉาบติดไว้ในจิตตามประเภทของอนุสัยกิเลสนั้นๆ จะไปเอาโลภะออกได้หรือไม่ ถ้าไม่มีการค่อยๆ ลอกสิ่งที่ฉาบติดแน่นอยู่ในจิตออก จนกระทั่งไม่เหลือเลย
ผู้ฟัง ไม่ได้ พอท่านอาจารย์พูด ก็นึกได้ว่า ส่วนใหญ่ก็ห่อหุ้มด้วยอวิชชาที่หนาๆ และฉาบทาด้วยโลภะ ก็ต้องใช้เวลา ใช้ปัญญาค่อยๆ ลอก
ท่านอาจารย์ ก็เป็นการสะสมความเข้าใจที่มั่นคงว่า ธรรมเป็นธรรม และเป็นอนัตตา คิดก็เป็นธรรม หวังก็เป็นธรรม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยก็เกิด และเป็นธรรม ซึ่งปัญญารู้ได้ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ
อยู่มานานเท่าไรแล้วในสังสารวัฏฏ์ ตอนนี้ใจร้อน ไม่อยากอยู่นานๆ
ผู้ฟัง จริงๆ ถ้าศึกษาแล้ว วิบากจิตที่ทำปฏิสนธิจิตก็จะมีไม่มาก อบายภูมิก็มีแค่ดวงเดียว แต่ความต่าง ไม่ว่าจะเป็นคน หรือสัตว์ ที่ต่างกัน และหลากหลายมากเพราะความวิจิตรของกรรมของแต่ละชีวิต อย่างนั้นใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ และที่ประมวลมาซึ่งกรรมที่สามารถจะให้ผลในภพนั้น ชาตินั้นด้วย
ผู้ฟัง ซึ่งก็สะสมมานานมาก และเป็นอย่างที่
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่ในจิต มีปัจจัยพร้อมก็เกิด ถ้ายังไม่มีปัจจัยก็สะสมสืบต่อ
ผู้ฟัง ถ้าศึกษาแล้วจะรู้ว่า ต้องนำสิ่งที่เข้าใจมาอบรมเจริญปัญญา แล้วเจริญกุศลเท่าที่มีเหตุปัจจัยเป็นไปได้
ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา และจะไปเปลี่ยนทิศทาง หรือการเกิดดับสืบต่อของจิต เป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะต้องเป็นอย่างนี้ แต่ละขณะจิตเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง ซึ่งเมื่อฟังมากๆ แล้ว เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแม้ขั้นฟัง เราก็จะรู้สึกว่า อกุศลน่ากลัว ถ้าไปเกิดในอบาย ก็ไม่มีโอกาสฟังธรรม และวัฏฏสงสารก็จะยาวไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ อกุศลน่ากลัว แต่เป็นเรายิ่งน่ากลัวกว่าหรือไม่ ไปยึดถืออกุศลนั้นว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่เข้าใจแล้วว่า อกุศลไม่ใช่กุศลเลย นำมาซึ่งทุกข์โทษ แต่อกุศลซึ่งไปยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ยังไม่ได้หมดไปเลย
ผู้ฟัง คือซ้อนเข้าไปอีก
ท่านอาจารย์ จะหมดก่อน ก็คือการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา
ผู้ฟัง การฟังก็ต้องเริ่มต้นที่ให้เห็นถูก จากเห็นผิดเป็นเห็นถูกก่อน
ท่านอาจารย์ ต้องมีความเข้าใจ รู้ว่าปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้ดับกิเลสได้ โดยเข้าใจสิ่งที่กำลังมี จนกระทั่งสามารถแทงตลอดความจริงตามที่ได้ฟังว่า สิ่งที่ได้ฟังเป็นความจริงอย่างนี้
ผู้ฟัง การที่เราต้องเรียนเพื่อเข้าใจวิถีจิต หรือจิตแต่ละประเภทเป็นอย่างไร ก็เพื่อให้เห็นว่า เป็นอนัตตาจริงๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่เราไปยึด
ท่านอาจารย์ เพราะการที่จะไม่ใช่เรานี่นาน กว่าจะไม่ใช่เรา โดยทั่วหมดทั้งวันนี้ ไม่ว่าเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ก็คือเป็นธรรม
ผู้ฟัง การเรียนต้องเข้าใจ ไม่ใช่ไปหลงจำ อย่างอเหตุกะ ๑๘ เราก็จะเข้าใจก็จะจำได้เองว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าไปท่องก็จะเป็นอุปสรรคทำให้เราเข้าใจสภาพธรรม ต้องเข้าใจจริงๆ ตามที่ท่านอาจารย์บอกว่า ให้เรียนให้เข้าใจ ฟังให้เข้าใจ
อ.กุลวิไล ก่อนที่เราจะมาทบทวนในส่วนของวิถีจิต ดิฉันอยากให้คุณวิชัยให้ความเข้าใจจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เพราะเมื่อสักครู่ เราได้สนทนากันมาบ้างแล้ว และอาจจะมีผู้สนใจว่า มีจิตใดบ้างที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ
อ.วิชัย ปฏิสนธิก็คือสืบต่อจากจุติจิตชาติที่แล้ว ปฏิสนธิมี ๒๐ ปฏิสนธิ ถ้าปฏิสนธิจิตจะมี ๑๙ และมีรูปปฏิสนธิอีกสำหรับผู้ที่ปฏิสนธิในอสัญญสัตตาภูมิ
ปฏิสนธิจิตเป็นชาติวิบาก เป็นผลของกุศล และอกุศล ถ้าปฏิสนธิจิตที่เป็นผลของอกุศล มีจิตประเภทเดียวที่ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ก็คือ สันตีรณอกุศลวิบาก เป็นอเหตุกจิต ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้ว
สำหรับผลของกุศลที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็มีหลากหลายแตกต่างกันออกไปตามกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้ว ถ้าเป็นกุศลขั้นกามาวจระ ที่ยังเป็นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่ ก็ยังปฏิสนธิในกามภูมิ เช่น มหากุศลจิต ๘ ประเภท ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี มีเวทนาเป็นโสมนัสก็มี มีเวทนาเป็นอุเบกขาก็มี ที่เป็นอสังขาริกก็มี ที่เป็นสสังขาริกก็มี จิตที่เป็นกุศลจิตที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป เมื่อให้ผลนำปฏิสนธิ ปฏิสนธินั้นก็ต่างตามกุศลที่กระทำไว้แล้ว ก็มีหลากหลาย ก็มี มหาวิบากสำหรับบุคคลที่ไม่บ้าใบ้บอดหนวกแต่กำเนิด ก็ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่เป็นปฏิสนธิในกามภูมิ ก็คือในมนุษย์ หรือในสวรรค์
สำหรับบุคคลที่ปฏิสนธิด้วยกุศลกรรมอย่างอ่อน และมีอกุศลมาเบียดเบียนด้วย ก็ยังให้เป็นอเหตุกปฏิสนธิ คือ ปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก ซึ่งปฏิสนธิในมนุษย์ หรือในสวรรค์ชั้นต้น ทำให้พิการแต่กำเนิด คือบุคคลที่ปฏิสนธิในกามภูมิ เพราะเจริญกุศลขั้นกามาวจรกุศล
แต่สำหรับบุคคลที่ได้บรรลุฌาน ก็ปฏิสนธิตามฌานที่ได้นั้นๆ ถ้าฌานนั้นยังไม่เสื่อมก่อนจุติ ก็ยังไม่กล่าวถึง เพราะเป็นขั้นที่สูงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นรูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศล ถ้าฌานนั้นไม่เสื่อมก่อนจุติก็ยังปฏิสนธิในภูมินั้นๆ ตามลำดับขั้นของฌานนั้นๆ
ผู้ฟัง อกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ แล้วทำไมทำให้แต่ละชีวิตมีความต่างกัน ในเมื่อเป็นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิดวงเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ทุกคนขณะนี้ ต่างกัน หรือเหมือนกัน
ผู้ฟัง ต่างกัน แต่ในความเป็นมนุษย์ก็ยังมีจิตที่ทำกิจปฏิสนธิหลายดวง แต่จริงๆ อกุศลทำกิจปฏิสนธิ ๑ ดวงเท่านั้น แต่เห็นชัดถึงความต่างกัน
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเวลาที่เราจะพูดถึงปฏิสนธิ เราอยากจะรู้ชื่อ ว่าจิตไหน และเราก็ไปจำแค่ชื่อ แต่ถ้าเราจะรู้ด้วยความเข้าใจว่า กุศลกรรมที่ทำแล้ว ก็จะเป็นผลที่ทำให้มีผลเป็นปัจจัยทำให้กุศลวิบากเกิด และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แม้จะนานสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังสามารถเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิด ความสามารถ ความเข้าใจของเราที่จะเข้าใจตรงนี้ โดยไม่ต้องไปจำชื่อจิตที่ทำให้ปฏิสนธิได้หรือไม่ มีความมั่นคงหรือไม่ว่า อกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะทำกิจอะไร แต่เมื่อเป็นอกุศลวิบาก ก็คือต้องเป็นผลของอกุศลกรรม ค่อยๆ เข้าใจตามลำดับก่อน
เวลานี้ถ้าเราเข้าใจว่า ช้าง ปฏิสนธิต้องมี ปฏิสนธิจิตของช้างเป็นผลของกรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นผลของอกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นผลของอกุศลกรรม มดเกิด
ผู้ฟัง อกุศล
ท่านอาจารย์ คนที่เกิดในนรก
ผู้ฟัง อกุศลเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ คนที่เกิดเป็นเปรต
ผู้ฟัง อกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นอสุรกาย
ผู้ฟัง อกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นปลา
ผู้ฟัง อกุศล
ท่านอาจารย์ อกุศลกรรมเป็นผลให้เกิดอกุศลวิบาก แค่นี้ได้ หรือไม่ ตามกำลังที่เราจะมีความเข้าใจอย่างมั่นคง แล้วภายหลังเราก็จะรู้ว่า อกุศลวิบากทั้งหมดมีเท่าไร และในบรรดาอกุศลวิบาก ๗ ประเภทนั้น จิตไหนสามารถทำกิจไหน เพราะว่าอกุศลวิบากมีเพียง ๗ ไม่เกินกว่านั้นเลย ถ้าเราถามอย่างนี้ หมายความว่าเราอยากให้มีเกิน ๗ ไปทำหน้าที่ปฏิสนธิ
ผู้ฟัง อย่างนั้นหมายความว่า ผลของอกุศลจะต้องวิจิตร และแตกต่างกัน แม้จะทำกิจปฏิสนธิ
ท่านอาจารย์ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ต้องเป็นอกุศลวิบาก อกุศลวิบากทั้งหมดมี ๗ แน่นอน เกิดเมื่อไรก็ต้องเป็น ๑ ใน ๗ เสมอ จักขุวิญญาณที่เห็นขณะนี้ ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ประณีต ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม ทางตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ เป็น ๕ แล้ว เหลืออีก ๒ เท่านั้นที่เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งอกุศลกรรมสามารถเป็นปัจจัยให้เกิด เพื่อทำกิจสัมปฏิจฉันนะ เกิดสืบต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อเป็นจิตที่เกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกัน ก็มีชื่อสำหรับให้เข้าใจว่า หมายความถึงจิตนี้ คือ เป็นจิตที่ทำกิจรับรู้อารมณ์ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “สัมปฏิจฉันนะ” รับรู้อารมณ์ต่อจากเห็น ได้ยิน เป็นต้น ๑ ขณะแล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทรูป เห็นหรือไม่ว่า เราไม่เคยรู้เลยถึงความละเอียด โสตวิญญาณก็เกิดขึ้นที่โสตปสาทรูป กายวิญญาณก็เกิดขึ้นที่กายปสาทรูป ทั้ง ๕ นี้เกิดที่ปสาทรูปนั้นๆ แต่สัมปฏิจฉันนะเกิดที่หทยวัตถุ จะศึกษา หรือไม่ศึกษา จะเข้าใจอย่างอื่น หรือจะเข้าใจอย่างนี้ ก็คือจิตต้องเป็นอย่างนี้ตามความเป็นจริง เรียนให้เข้าใจวิสัย หรือความเป็นไป นิยามของจิตว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเป็นอย่างนี้เอง จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้
หลังจากที่จักขุวิญญาณเกิดแล้ว จะให้จิตอะไรอื่นเกิดตามใจชอบไม่ได้เลย ต้องเป็นจิตที่เป็นวิบาก กรรมทำให้วิบากเกิดขึ้นรับรู้ต่อ และจิตที่รับรู้ต่อก็คือ สัมปฏิจฉันนะ แล้วดับ ก็ยังไม่ถึงกาลที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด ยังไม่สามารถเป็นกุศล และอกุศลได้ อกุศลกรรม หรือกุศลกรรมก็ทำให้วิบากจิตเกิดรู้อารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร จิตขณะที่เกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนะกับสัมปฏิจฉันนะ ซึ่งเกิดต่อจากเห็น ได้ยิน ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน เป็นวิบากด้วยกัน แต่ต่างขณะแล้วก็ทำ และทำกิจต่างกันด้วย ๗ ใช่ หรือไม่ แค่นี้เอง แล้วจะให้จิตไหนทำปฏิสนธิกิจ เลือกดู อยากเลือกเอง หรือว่าเข้าใจในเหตุผล
สัมปฏิจฉันนะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากับสันตีรณะ แต่ไม่ได้ทำกิจสันตีรณะ ทำกิจสัมปฏิจฉันนะ และเวลาที่สันตีรณะเกิดขึ้น ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเป็นกิริยาจิต โวฏฐัพพนะ อันนี้ยังไม่ถึง ก็ค่อยๆ เข้าใจไป แต่ให้ทราบว่า อกุศลจิตที่เป็นอกุศลกรรม จะมากมายอย่างไรก็ตาม ทำกรรมใดๆ ไว้ก็ตาม เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดเพียง ๗ ประเภท หลังจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนี้ก็เป็นสัมปฏิจฉันนะกับสันตีรณะ สัมปฏิจฉันนะไม่ได้เกิดที่ปสาท จักขุปสาท โสตปสาท แต่เกิดที่หทยรูป ให้เห็นความวิจิตร เกิดที่นั่น แต่มีทาง ถ้าเป็นทางตา ก็รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณแล้วก็ดับ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 301
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 305
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 306
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 309
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 318
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 328
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 329
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 341
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 350
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360