พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
ตอนที่ ๓๕๑
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐
ท่านอาจารย์ เพลงเดียวกัน แต่นักร้องบางคนร้องได้เพราะมาก อกุศลทั้ง ๒ คนเลย ใช่หรือไม่ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจคืออย่างที่คุณธิดารัตน์กล่าว เพราะว่าเราคิดถึงโทสมูลจิต เสียงที่เกิดจากโทสะ แต่โลภะก็เป็นอกุศลเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมีปัญญาไปตัดสินเลย แต่เป็นการที่เราจะพิจารณาถึงสภาพธรรมที่เราจะรู้ได้เมื่อไร ก่อนอื่นต้องรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นลักษณะของของนามธรรมที่เป็นเพียงธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพียงรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ดับไป และสำหรับรูปก็ต้องต่างกันแน่นอน รูปที่น่าพอใจ กับรูปที่ไม่น่าพอใจ แต่จะเอาความรู้สึกของเรา หรือความสบายใจไม่สบายใจของเราเป็นเครื่องตัดสินก็ไม่ได้ เพราะว่าตามความเป็นจริง กรรมทำให้กุศลวิบากจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็จะทำให้รู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านี้ที่พอจะรู้ได้ ถ้าใครอยากจะรู้เกินกว่านี้ มีทางเป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อเราไม่มีปัญญาระดับที่สามารถจะบอกได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม
ผู้ฟัง ขอสอบถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องวิบากจิต และเรื่องชวนะ ซึ่งในวิถีจิต ก่อนที่ชวนจิตจะเกิดขึ้นทางปัญจทวาร จะต้องมีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ซึ่งเมื่อสักครู่ฟังแล้ว พระอรหันต์ท่านดับกิเลสได้แล้ว ท่านจึงไม่หวั่นไหวในเรื่องของอกุศลวิบาก หรือกุศลวิบาก เพราะพระอรหันต์ยังมีกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิบาก ต้องเป็น ๑ ใน ๒ จะเป็นวิบากเปล่าๆ ไม่ได้ เพราะว่าวิบากเป็นผลของกรรม เมื่อกรรมมีกุศลกรรม และอกุศลกรรม เมื่อถึงกาลที่กุศลกรรมจะให้ผล กุศลวิบากจึงเกิดได้ ไม่ใช่พอถึงเวลาที่กุศลกรรมจะให้ผล แล้วอกุศลวิบากจิตเกิด ไม่ใช่อย่างนั้น
ฉะนั้นก็ต้องทราบว่า เวลาเราจะพูดเรื่องจิตในชีวิตประจำวัน ถ้าพูดเพียง ๒ ชาติ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็พอจะเข้าใจได้ คือ วิบากซึ่งเป็นผล และกุศล และอกุศลซึ่งเป็นเหตุ รายละเอียดก็คงไม่ต้องกล่าว เพราะรู้ไม่ได้ แต่รู้ว่ามีเท่านั้นเอง อย่างเช่นเห็นแล้ว ขณะนี้กำลังเห็น ใครจะรู้ว่า ทั้งๆ ที่รูปมีอายุที่สั้นมาก คือ เพียง ๑๗ ขณะจิต จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจะดับไป รูปยังไม่ทันดับเลย เพียงแค่เสียงปรากฏ กุศลจิต หรืออกุศลจิตก็เกิดเป็นไปในเสียงนั้นแล้ว โดยที่ไม่รู้เลยว่า เวลาที่เสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยิน จิตที่ได้ยินเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน
นี่คือความรวดเร็วที่จะให้เห็นว่า จิตเกิดดับเร็วแสนเร็วแค่ไหน ไม่มีใครรู้ เหมือนเห็นตลอด และไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่ความจริงทั้งๆ ที่รูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะยังไม่ดับไป หลังเห็นแล้วก็เป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่ทันรู้อะไรเลยทั้งสิ้น
ผู้ฟัง เพราะว่ายังมีอีกเรื่องหนึ่ง ก็คืออกุศลในอดีตที่เราสั่งสมไว้ ที่จะโกรธรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เลยได้คำตอบมากขึ้นว่า รวดเร็วมาก แล้วเราจะไปรู้ชวนะได้อย่างไรว่า ชวนะตอนนั้นมีรูปเป็นอารมณ์ในปัญจทวาร ไม่ได้มีจักขุวิญญาณเป็นอารมณ์ว่า เป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก แต่ต้องเป็นอกุศล หรือกุศลทันที
ท่านอาจารย์ ถ้ารูปที่ปรากฏเป็นรูปที่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ จิตที่รู้รูปนั้นเป็นกุศลวิบาก แต่ว่าใครจะเป็นกุศลที่เป็นสติปัฏฐาน หรืออะไรก็ตามแต่ หรือว่าจะเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือ เป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะ หรือไม่มีเลย เพราะว่าได้ดับกิเลสหมดเลย ก็เป็นกิริยาจิต นี่คือไม่เกี่ยวข้องกับกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถึงกาลที่ทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ กรรมก็มีโอกาสให้ผล ให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง แต่ต่อจากนั้นไม่ใช่วิบาก แล้วแต่การสะสมมาจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือเป็นกุศลจิต
จึงต้องแยกจิต จิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต ต้องถึงกาลที่พร้อมที่จะให้ผล ถ้าเป็นกุศลกรรมที่พร้อมจะให้ผล กุศลวิบากจิตต้องเกิด ใครก็ไปยับยั้งไม่ได้เลย ไม่มีใครไปจัดสรร ไปห้าม ไปกันได้ และเมื่อถึงกาลที่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว สุกงอม พร้อมด้วยปัจจัยที่ให้ผลเกิดขึ้นเป็นอกุศลวิบาก ใครก็ห้ามไม่ได้ แต่ว่าถ้าผู้นั้นไม่มีกิเลสเลย ไม่มีกุศลจิต และอกุศลจิต แต่เป็นกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลจิต หรือ จะเป็นอกุศลจิตประเภทใด ต้องแยก ไม่ได้หมายความว่าเมื่ออารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ กุศลจิตก็เกิด เมื่ออารมณ์เป็นอนิฏฐารมณ์ อกุศลจิตก็เกิด ไม่ใช่อย่างนั้น
ผู้ฟัง การอบรมเจริญปัญญา เพื่อให้สติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ บางครั้งเราก็ต้องแยกการศึกษาว่า ขณะที่กุศลจิต อกุศลจิตเกิด เราพอจะรู้ได้ และอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น ซึ่งเราไม่สามารถแยกได้เลยว่าเป็นทวารไหน อารมณ์กำลังปรากฏอยู่ แต่ทำให้รู้ว่า เหตุ และผลของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ถ้าไม่ทรงแสดงแล้ว ไม่มีทางรู้เลยว่า เป็นเหตุ และเป็นผล กว่ากุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด ยังต้องมีการสั่งสมขึ้นมาอีก ใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นความเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมเท่านั้นเอง แต่ตัวธรรมจริงๆ แม้ปรากฏ ซึ่งปรากฏทั้งวัน เป็นธรรมทั้งนั้น แต่ไม่มีปัญญาที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในความเป็นธรรม เพราะว่าไม่ได้สะสมมาที่จะเข้าใจได้อย่างนั้น
ผู้ฟัง มันละเอียดมากเสียจนเรารู้ไม่ได้ ยังไม่ใช่วิสัย จะน้อมไปในจิตดวงไหน อะไรต่างๆ
ท่านอาจารย์ จะน้อม ก็คือผิดเสียแล้ว ไม่เป็นอนัตตาเลย เป็นเราอยู่ตลอด
ผู้ฟัง ขาดความเข้าใจ จึงทำให้ความสงสัยปนแทรกตลอด
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง และเป็นจริงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ แต่ว่าขณะนี้ กำลังเข้าใจเพียงเรื่องราว ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็ปรากฏ และที่กล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาบ่อยๆ เพราะว่าทุกคนข้าม ไปคิดที่จะทำอย่างโน้น จะเข้าใจอย่างนี้ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏอยู่ตลอด ไม่เคยรู้ จึงไม่เคยคลาย การที่เคยยึดถือสภาพที่ปรากฏทางตาว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดมาเรื่อยๆ และหนทางที่จะรู้จริงๆ ว่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ เป็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏทางตา แล้วคิด แล้วจำว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้
ต้องแยกสิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว แต่ก็ยังคิด ยังจำเรื่องราวของ สิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่เรื่อยๆ
ผู้ฟัง ยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่า “ชวนจิต”
ท่านอาจารย์ ชวนจิต หมายความถึง จิตที่เกิดขึ้นทำชวนกิจ เพราะว่าจิตที่เกิดขึ้นทุกขณะต้องทำกิจหนึ่งกิจใด จะไม่มีจิตสักขณะดวงหนึ่งซึ่งเกิดโดยไม่ทำกิจอะไรเลย และกิจของจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดทั้งสิ้น ประมวลแล้วก็มี ๑๔ กิจ แต่ไม่ใช่หมายความว่า จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นทำ ๑๔ กิจ จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจเดียว ที่ใช้คำว่า “ชวนจิต” เพราะว่าจิตนี้เกิดขึ้นทำชวนกิจ ไม่ใช่ทำทัสสนกิจ คือ เห็น ไม่ทำสวนกิจ คือ ได้ยิน แต่ทำชวนกิจ ก็เป็นกิจหนึ่ง ซึ่งจิตที่ทำกิจนี้ได้ ก็คือกุศลจิต อกุศลจิต และวิบากจิตที่เป็นโลกุตตระ กิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ จักขุวิญญาณ จิตเห็น ทำชวนกิจไม่ได้ เพราะทำทัสสนกิจ จิตได้ยิน โสตวิญญาณก็ทำชวนกิจไม่ได้ เพราะทำสวนกิจ ก็เป็นชื่อกิจในภาษาบาลี แต่ไม่ต้องใช้คำบาลีก็ได้ จะใช้คำภาษาอังกฤษ สำหรับคนที่ฟังภาษาอังกฤษ จะใช้ภาษาจีนสำหรับคนที่ฟังภาษาจีน ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ภาษากลางก็คือภาษาบาลี ภาษามคธ ซึ่งใช้สำหรับทุกชาติ เพื่อไม่ให้พระธรรมคลาดเคลื่อน
ผู้ฟัง หนูเข้าใจว่า ชวนจิตเป็นการเสพอารมณ์
ท่านอาจารย์ แล้วจิตไหนเสพอารมณ์ แปลได้ แต่ไม่รู้ว่าจิตไหน ก็ไม่ถูกต้อง เวลาที่รู้เรื่องจิต ชาติอะไร เกิดกับเวทนาอะไร ประกอบด้วยเจตสิกอะไร ทำกิจอะไร ถึงจะเข้าใจลักษณะของจิตจริงๆ ถ้าเราพูดว่า ชวนจิต แต่ไม่รู้ว่าจิตอะไร อย่างนั้นไม่ใช่เราเข้าใจ ถ้าพูดว่ากุศลจิต รู้ว่าเป็นจิตที่ดีงาม ซึ่งเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก แต่ทำกิจอะไร เวลาพูดถึงชวนะ หมายถึง ทำกิจ ไม่จำเป็น ถ้าเราพูดถึงจักขุวิญญาณ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงทัสสกิจ หรือจิตที่ทำกิจเห็นใช่ หรือไม่ เหมือนกับเวลาที่เราพูดถึงกุศล หรืออกุศล ถ้ามีความเข้าใจว่า กุศลอกุศลทำกิจอะไร ก็ไม่ต้องใช้คำว่า “ชวนะ” ก็ได้ แต่ถ้าใช้คำว่า “ชวนะ” แล้วไม่รู้ว่า เป็นจิตอะไร นั่นไม่ถูกต้อง
อ.กุลวิไล ชวนจิตเมื่อสักครู่ เราก็ได้สนทนากันไปว่า เป็นกิจของจิตด้วย และจิตนี้ก็เกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ทั้งเสพอารมณ์ และแล่นไปอารมณ์ มีได้ถึง ๔ ชาติ โดยเฉพาะชาติที่เป็นอกุศล หรือกุศล ซึ่งชวนจิตย่อมยินดีในอารมณ์ที่น่าปรารถนา หรือบางครั้งก็ไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่าปรารถนา และขณะเดียวกันบางครั้งชวนจิตก็ยินดีในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา และไม่ยินดีในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เพราะสัญญาวิปลาส เราจะถือเอาชวนจิตเป็นตัวตัดสินว่า อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ที่ดี หรืออารมณ์ที่ไม่ดี แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นวิบากจิตแน่นอน เพราะว่าเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นกุศลวิบากแล้ว ต้องได้อารมณ์ที่ดี อารมณ์ที่น่าปรารถนา แต่ถ้าเป็นอกุศลวิบากแล้ว ต้องได้อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั่นเอง
เวลาที่มีสภาพธรรมปรากฏ รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เรื่องราว ชื่อไม่มี มีแต่ลักษณะที่เป็นตัวจริง
ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญายังอยากจะรู้อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์อีก หรือเปล่า
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วไม่สามารถจะทราบได้
ท่านอาจารย์ เพราะว่าอาจจะชอบอนิฏฐารมณ์ อาจจะไม่ชอบอิฏฐารมณ์ ฉะนั้นจะเอาการตัดสินของเรา หรือของคนส่วนใหญ่ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องเป็นวิบากเท่านั้นที่จะรู้ว่า ขณะนั้นอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ เพราะว่าถ้าเป็นกุศลวิบาก อารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์แน่นอน ถ้าเป็นอกุศลวิบาก อารมณ์ก็เป็นอนิฏฐารมณ์แน่นอน ไม่ว่าใครจะชอบ หรือไม่ชอบก็ตามแต่
ผู้ฟัง ชวนะจะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็อยู่ที่การสะสม อยากจะมีความเข้าใจการสะสมเพิ่มขึ้น เพื่อที่สะสมในสิ่งที่ดี เพื่อเป็นกุศลจิตได้
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังสะสมหรือเปล่า
ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังสะสม
ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรมสะสมหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ได้สะสม
ท่านอาจารย์ สะสมกุศลบ้าง สะสมอกุศลบ้าง ยังมีมานะ ความสำคัญตนอยู่ สะสมต่อไปอีก เพราะว่ายังไม่ได้ดับ นี่คือทุกอย่างที่มี เกิดแล้ว ดับไปก็จริง แต่สืบต่อในจิตขณะต่อไป จนกว่าจะมีปัจจัยให้เกิดขึ้นเมื่อไร ก็เกิดขึ้น อย่างกำลังนอนหลับสนิท ใครจะรู้ว่า พรุ่งนี้เราจะเป็นอย่างไร เมื่อคืนนี้แท้ๆ หลับสบายดี แล้ววันนี้ทั้งวันเราจะเป็นอย่างไรบ้างรู้หรือไม่ ก็แล้วแต่กรรม แล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งมีมากมายหลายเหตุ อย่างที่คุณชุณห์กล่าวถึง ก็เป็นการแสดงถึงความเป็นปัจจัยโดยละเอียด เป็นชื่อต่างๆ แต่ขณะนี้ก็เป็นการสะสมของปัจจัยต่างๆ แม้จะไม่เรียกชื่อ
เราจะเรียกชื่อเมื่อไร เมื่อเรามีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมพอสมควร อย่างเช่นการเกิดขึ้นของจิต ๑ ขณะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า มี เรียกชื่อได้แล้ว สัมปยุตตปัจจัย หมายความว่า จิต และเจตสิกไม่แยกจากกันเลย ที่ไหนมีจิตเกิดขึ้น ที่นั่นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่ไหนมีเจตสิกเกิด ที่นั่นต้องมีจิต จิต และเจตสิกอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไป เป็นสัมปยุตตปัจจัย จิต ๑ ขณะ จิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่เจตสิก และเจตสิกก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่จิต นี่คือการกล่าวถึงสิ่งที่แม้ไม่เอ่ยชื่อ แต่ถ้ามีความเข้าใจ พอเอ่ยชื่อ เราก็รู้เลย ต่อไปนี้ พอพูดถึงสัมปยุตตปัจจัย ไม่ยากเลย เฉพาะจิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน มีที่เกิดที่เดียวกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ ภูมิที่ต้องเกิดที่รูป
ขณะนี้จิตเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ถ้าไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ จิตเกิดขึ้นได้ หรือไม่ อย่างจิตได้ยิน ไม่มีเสียงกระทบกับโสตปสาท จิตได้ยินจะเกิดได้หรือไม่ได้ ไม่ได้ เสียงเป็นอารัมมณปัจจัยของจิตที่ได้ยิน จะใช้ภาษาบาลีก็ได้ โสตวิญญาณ แต่ไม่ต้องใช้ก็รู้ ขณะนี้เป็นจิตที่ได้ยิน นี่คือทั้งหมดเป็นปัจจัยอยู่แล้ว แต่กว่าที่จะเข้าถึงความเป็นปัจจัยอย่างละเอียดของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เราต้องมีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมก่อน และเมื่อกล่าวถึงสภาพธรรมซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เราก็พอจะกล่าวถึงบางปัจจัยที่สามารถจะเข้าใจได้ ถ้ายังไม่เข้าใจเพียงพอ ก็เป็นแต่เพียงการจำชื่อ อย่างกัมมปัจจัย ก็เข้าใจแล้ว เมื่อไรที่วิบากจิตเกิด ต้องมีกรรม เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้วิบากจิตนั้นเกิด แต่ก็ไม่ใช่มีเฉพาะกรรมอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย
ธรรมก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป มีความเข้าใจ แต่ข้อสำคัญที่สุด ก็คือเราจะจากโลกนี้ไปวันไหนก็ไม่รู้ ยังไม่ทันรู้เรื่องปัจจัยก็ได้ ยังไม่ได้ไปจำชื่อหมดเลย แต่ก็เริ่มมีความเข้าใจถูกว่า เป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อไรที่มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่าเป็นธรรม ก็จะคลายการที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ผู้ฟัง ก็ต้องกลับไปเหมือนเดิม คือ ต้องฟังให้เข้าใจเสียก่อน ก็จะเป็นปัจจัยไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ แน่นอน นี่คือปัญญา พระพุทธศาสนาจะเน้นเรื่องปัญญา แต่คนที่ไม่ได้ศึกษา ไม่สนใจปัญญา มุ่งที่จะทำ มุ่งที่จะได้ แต่ไม่มุ่งที่ความเข้าใจ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็มี ปรากฏเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจ ก็เหมือนไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะว่าไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าเริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม นั่นก็คือการฟังพระธรรม
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า พอเห็นอะไรทราบหรือไม่ว่าเป็นธรรม นั่นหมายถึงว่า สมมติมีคนพูดไม่ดีกับเรา ทราบหรือไม่ว่านี่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง นั่นหมายถึงว่าถ้าเรามีความรู้เพิ่มเติม เราก็จะละเอียดขึ้น คือรู้ว่า ขณะนั้นเป็นขณะที่กระทบกับทวารไหนของเรา อย่างนี้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ธรรม หมายความถึง สิ่งที่มีจริง ก็ต้องค่อยๆ พิจารณา เห็นมีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ก่อนนี้ เป็นเราเห็นใช่หรือไม่ แต่ความจริงเห็นเป็นธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดเห็น ไม่ใช่ว่ามีเราไปทำเห็นขึ้นมา แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็น ไม่ใช่มีเราไปทำเห็นขึ้นมา แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็เพราะเหตุว่ามีธาตุชนิดหนึ่งเกิด เป็นธาตุรู้ โดยอาศัยจักขุปสาท สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้จึงปรากฏได้กับธาตุที่กำลังเห็น คือ เริ่มที่จะรู้ว่า เคยเป็นเราเห็นนั้นไม่ใช่ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลย เพราะว่ามีธรรมในโลกนี้เมื่อเกิด ถ้าไม่เกิด มีหรือไม่ ก็ไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อเกิดแล้วไม่รู้ จึงยึดถือว่าเป็นเรา และเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ แล้ว มีอายุที่สั้นมากเกินกว่าที่จะประมาณได้
ขณะนี้ถ้าเราฟังว่า แม้แต่จิตก็เกิดดับอย่างเร็ว ที่เราเห็นเหมือนว่าเห็นตลอด แต่ความจริงไม่ตลอดเลย สังเกตรู้ได้จากขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่เห็น แสดงว่าขณะที่ได้ยิน ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ทำให้เหมือนกับว่ามีอยู่ตลอดเวลา เราเริ่มมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่าแท้ที่จริงไม่มีเรา แต่มีธรรมซึ่งมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ ธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ไม่จำ ไม่คิด แต่ว่าธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดแล้วก็มีลักษณะต่างๆ กันไป เช่น โลภะ สภาพที่ติดข้อง เราจะรู้เมื่อเกิดขึ้นแล้วติดข้อง ถ้าโทสะยังไม่มี จะไปหาโทสะจากที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดขึ้น แต่เวลาที่โทสะเกิดขึ้น ลักษณะของโทสะไม่ใช่ลักษณะของโลภะ เป็นธาตุหรือเป็นธรรมอีกชนิดหนึ่ง เพราะการไม่รู้การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมแต่ละลักษณะอย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ ก็เลยยึดถือว่า มีอัตตา มีเรา แล้วมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด
การฟังธรรม ไม่ใช่ไปหาสิ่งที่ไม่เกิด ไม่มี ให้มาเข้าใจ แต่สิ่งนั้นมีแล้ว เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว แต่ไม่รู้ ก็ฟังเพื่อที่จะให้รู้ความจริงว่า สิ่งที่เป็นจริง มีจริงๆ ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้นคืออะไร เช่น เห็น ทุกคนเห็นตั้งแต่เกิด ก็ไม่รู้ว่าเห็นเป็นอะไร ก็เป็นเราเห็น ได้ยินเกิดแล้ว ทำกิจรู้เสียง แล้วก็ดับไป ก็ไม่รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่เที่ยง ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิด ก็คือต้องดับ แต่ว่าเร็วกว่าที่เราคิดมาก แล้วก็สืบต่อจนกระทั่งไม่ปรากฏการเกิดดับ จึงเป็นสิ่งซึ่งกว่าจะเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องอาศัยฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง สิ่งที่ทรงแสดงเป็นความจริงแท้ซึ่งพิสูจน์ได้ รู้ได้ในวันหนึ่ง แต่ไม่ใช่ด้วยเรา หรือด้วยความไม่รู้ หรือด้วยพยายามเป็นตัวตน แต่ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มจะเข้าใจถูกในขั้นฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีในชีวิตจริงๆ ทั้งหมดว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง การที่เราศึกษา หรือเข้าใจละเอียดเรื่องวิถีจิต ถ้าแบ่งโดยนัยวิถีจิตก็มี จิตที่เป็นวิถีจิตกับไม่ใช่วิถีจิต จะทำให้เราเข้าใจตัวเราเองได้มากขึ้นได้อย่างไร จากการที่เราเข้าใจวิถีจิต
ท่านอาจารย์ ก็สามารถรู้ได้ว่า ขณะที่ไม่ใช่วิถีจิต อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ ถูกต้อง หรือไม่ เช่นขณะที่หลับสนิท แต่ก็บังคับไม่ได้ จะเลือกให้ได้ยิน หรือเห็น หรือคิดนึกก็ไม่ได้ทั้งสิ้น แล้วแต่การสะสมที่จะทำให้มีปัจจัยพร้อมที่สภาพธรรมใดจะเกิดก็เกิด คือ ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง ที่เคยไม่รู้ และเคยยึดถือว่าเป็นเรา จนกว่าจะมีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่า เป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง ถ้าเราเข้าใจรายละเอียดของวิถีจิตว่า เริ่มต้น ตั้งแต่อาวัชชนะไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ก็จะทำให้เราเห็นว่าเป็นอนัตตาอย่างไร เพราะเกิดดับ ไม่มีใครบังคับบัญชา ก็เป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็น แล้วก็ได้ยิน ก็ไม่รู้ แต่ฟังรู้ว่า เมื่อมีสิ่งที่กระทบจักขุปสาท แล้วจิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ปรากฏ แล้วดับไป ไม่รู้เลย และเวลาที่ได้ยินจะเกิดขึ้น ก็ต้องมีเสียงกระทบโสตปสาท และจิตได้ยินเกิดขึ้น เสียงจึงปรากฏ ก็ไม่รู้เลย คือ ไม่รู้ทั้งนั้นเลย ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป สั้นมาก และหมดไปเลย ไม่กลับมาอีก
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 301
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 305
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 306
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 309
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 318
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 328
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 329
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 341
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 350
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360