พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้ว่าเป็นอะไร ขณะที่รู้เพราะจำ และแม้ไม่เห็นอีก ก็ยังคิดถึงสิ่งนั้นได้ ก็แสดงให้เห็นว่า คิดต่อจากเห็น ต่อจากได้ยิน ต่อจากได้กลิ่น ต่อจากลิ้มรส ต่อจากการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะนี้เห็นแล้วก็มีมโนทวารวิถีจิตรู้สิ่งที่เห็นต่อ โดยที่เราไม่รู้เลย แยกไม่ออกว่า ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นจักขุทวารวิถี หรือเป็นมโนทวารวิถี มีใครสามารถแยกออกได้ หรือไม่ แต่ทราบว่าเมื่อมีการเห็น ดับไปแล้ว แม้ภวังคจิตจะเกิดคั่น แต่เพราะเห็นปรากฏทางจักขุทวาร ก็เป็นปัจจัยให้ทางใจ คือมโนทวารไหวตาม และมโนทวาราวัชชนจิตก็รู้สิ่งที่ปรากฏนั้นต่อ สืบต่ออย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้มโนทวารวิถีจิตแทรกคั่นอยู่ทุกวาระที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส ก็ยังคิดนึกได้ นี่คือมีมโนทวารมากในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น เรื่องมากมาย หรือไม่ ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาอายุสั้นมาก เพียงปรากฏแล้วก็ดับไปเกินกว่าที่ใครจะรู้ และจะคิดว่าเหมือนไม่ดับเลย เหมือนปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริงมีคิดนึกแทรกคั่น และก็มีการได้ยินแทรกคั่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความรวดเร็วของจิตไม่สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าไม่ได้ศึกษาก็คิดว่า ไม่มีสภาพธรรมใดที่ดับ แต่ความจริงมีสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับเร็วมาก

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นโลกนี้ก็คือโลกของความคิด คิดนึกตลอดเวลา ถ้าไม่ได้มาเรียน (ก็ไม่รู้) เรียนถามว่า เมื่อปรากฏทางตาแล้วคิดนึก คือ ทั้ง ๕ ทวาร แล้วคิดนึก สติปัฏฐานเกิดขณะไหน

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีความเข้าใจถูกว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้เรียน แล้วไม่ได้เข้าใจลักษณะการรู้ตรงลักษณะรูปนาม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ฟัง ทราบว่า มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วสติปัฏฐานเกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดรู้ความจริงที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ตรงที่จะรู้ความต่างของขณะที่เป็นสติปัฏฐาน และไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะที่กำลังฟัง ไม่มีใครสักคนหนึ่ง แต่เป็นจิตเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เวลาที่เรากล่าวถึงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หมายความว่ามีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ ในขณะนี้เอง ไม่ใช่ในขณะอื่น กล่าวเพื่อที่จะให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละทวาร ซึ่งทวารทั้งหมดก็มีเพียง ๖ เช่น จักขุทวาร เป็นจิตที่กำลังเห็น แล้วก็พอใจ หรือไม่ พอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าระหว่างที่รูปที่มีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต ยังไม่ดับไป ก็เป็นปัจจัยที่จะให้จิตหลายๆ ขณะเกิดขึ้นรู้ รวมทั้งความพอใจไม่พอใจในสิ่งที่ยังไม่ดับด้วย แต่เร็วมาก และต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ แล้วต่อจากนั้นมโนทวารวิถีจิตก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เพิ่งดับไปนั่นเอง สามารถที่จะรู้ต่อ และเมื่อรู้แล้วก็ชอบ หรือไม่ชอบตามขณะที่ปรากฏทางปัญจทวาร นี่แสดงให้เห็นว่า แยกไม่ได้เลย แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่อจิตเกิดดับสืบต่อทำกิจการงานตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่พ้นจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และที่กำลังคิดนึกในขณะนี้ เท่านั้นเอง เท่าที่สามารถจะรู้ได้ เพื่อรู้ว่าไม่มีเรา

    ผู้ฟัง สรุปความว่า พอเห็นก็คิดนึก หรือถ้าได้เรียนรู้ตรงสภาพธรรม สติปัฏฐานก็เกิด ทางมโนทวารด้วย คำถามต่อไปคือ สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวารได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องถึงว่าทางไหนเลย เพียงแต่ให้รู้ว่า กำลังเห็น แล้วก็พูดถึงเรื่องสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏทางตา มีเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจะรู้ว่า สติปัฏฐานเกิด หรือไม่เกิด โดยที่ไม่ต้องไปแยกว่าทวารไหน

    ผู้ฟัง อารมณ์ของสติปัฏฐานมีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ โดยชื่อไม่ยากเลย แต่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดโดยไม่มีปัญญาได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วจะมีปัจจัยที่จะทำให้รู้ตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐานเกิดก็ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถ้าไม่มีปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ถ้าไม่รู้แล้วไม่มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่มีความรู้อย่างนี้ สติปัฏฐานจะเกิดได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยปัญญาที่ได้ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจขึ้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด หมายความว่ากำลังรู้ลักษณะ และลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ปะปนกันเลย เสียงมีลักษณะหนึ่ง ขณะนี้มีเสียงปรากฏ และขณะที่เสียงปรากฏ สติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของเสียง ไม่ใช่คิดนึก ไม่ใช่เห็น เฉพาะลักษณะของเสียงที่ปรากฏ จะรู้ได้ว่าสติปัฏฐานเกิด หรือไม่ก็คือขณะที่เสียงปรากฏอย่างนี้เอง ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด เสียงก็เป็นเสียง ไม่ได้เปลี่ยนเลย แต่เวลาที่เสียงปรากฏแล้วสติเกิด ก็ต่างกันแล้ว

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ตรงนี้ว่า สติเกิด หรือหลงลืมสติ คือ สติไม่เกิด ก็ไม่สามารถเข้าใจขณะที่สติปัฏฐานเกิดได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นอารมณ์ของสติปัฏฐานก็คือ อารมณ์ปกติที่ ...

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่มีจริง ต้องใช้คำว่า “มีจริง” เพราะว่าความเข้าใจความจริงว่า แท้ที่จริงที่เราเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยความจริงก็เป็นธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อจนกระทั่งจำไว้ว่า รูปร่างอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทันทีที่เห็นก็เหมือนรู้เลยว่าเห็นอะไร แต่ความจริงก่อนที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นที่ปรากฏ ยังไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น และเวลาที่สติสัมปชัญญะมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็สามารถรู้ว่า ขณะนี้ที่เคยเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เวลาที่สติเกิดกำลังเริ่มเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นธรรมที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็นทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ธรรมที่มีจริง มีจริงๆ ปรากฏเพราะเกิดแล้ว แล้วก็ดับไป

    สติปัฏฐานเป็นปัญญาระดับที่เมื่อเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมอย่างมั่นคง ก็ทำให้ระลึกได้ เช่น ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เห็นคน หรือไม่ ระลึกได้ หรือไม่ว่าเป็นธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจอย่างมั่นคง จะระลึกได้ หรือไม่ว่าที่เหมือนกับมีคนหลายคนในห้องนี้แท้ที่จริงก็คือเป็นธรรมที่ปรากฏทางตา และก็จะมีความเข้าใจว่า เพราะเข้าใจอย่างนี้จึงเข้าใจถึงอรรถที่ว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ “นิมิต” คือ รูปร่างของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏมีสัณฐาน รูปร่างต่างๆ กัน เพราะสีสันที่ปรากฏต่างๆ กันก็ทำให้จำได้ว่าเป็นคน เป็นกระเป๋า หรือเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือจำสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างรวดเร็วเลยว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่รู้ หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มีจริงๆ เท่านั้น คือธรรมที่สามารถกระทบจักขุปสาท แล้วจิตเห็นเกิดเมื่อไร สิ่งนี้จึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าวันใด ขณะใด กี่ชาติที่ผ่านมาแล้ว หรือต่อไป จะไม่เกินธรรมที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม เพื่อสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จนกว่าเกิดระลึกได้ คือ ไม่ใช่เรา ที่ใช้คำว่า “ระลึกได้” ก็คือลักษณะของสติ ที่ขณะนี้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ปรากฏ เท่านั้นเอง อยู่กับสิ่งที่ปรากฏ และความคิดนึกมากมาย จากสิ่งที่ปรากฏเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นเรื่องราวมากมาย ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์จะรู้ได้เลยใช่ หรือไม่ แค่สีขาวๆ ดำๆ ในหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องมากมาย แล้วเวลานี้ไม่ใช่แค่สีขาวสีดำ มีตั้งหลายสี ความจำว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ติดตามมาเป็นโลกของความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏแล้วเกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจที่มั่นคง จะระลึกได้ หรือไม่ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ไม่เป็นอื่นนอกจากเป็นธรรมที่มีลักษณะอย่างนี้ ต่างกับธรรมที่ปรากฏทางหู หรือต่างกับธรรมที่ปรากฏทางกาย ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปจำชื่อ แล้วสติปัฏฐานรู้อะไร แต่สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นจริงๆ คือ เกิดแล้วปรากฏ ให้รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น ขึ้นอยู่กับว่าปัญญาพอที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ หรือไม่ ไม่ใช่เราจะไประลึกเลย แต่ที่ระลึกคือสติ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าที่ศึกษาธรรมเพื่อให้รู้จักว่าเป็นธรรมทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าจะรู้ตามลำดับขั้น คือ ขั้นฟังเริ่มเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ ไม่มาก เพราะว่าฟังน้อยมากเมื่อเทียบกับสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมาแล้ว หรือแม้แต่ในแต่ละวัน ที่จะได้ฟังธรรมก็น้อยกว่าฟังเรื่องอื่น ที่จะคิดเรื่องธรรมก็น้อยกว่าคิดเรื่องอื่นทั้งๆ ที่กำลังฟังธรรม แต่ความรู้ความเข้าใจยังไม่พอที่จะระลึกได้จริงๆ เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ปรากฏทางตา นี่เพียงทวารเดียว หรือทางเดียว

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นเมื่อเราได้ยินเสียง ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เราก็คิดไปเลยว่า เราฟังคำนั้นเป็นเรื่องอะไร แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิด ถ้ามีเสียงเป็นอารมณ์ เขาก็เพียงรู้ลักษณะของเสียงที่ดังๆ ค่อยๆ เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ตามปกติ เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะเป็นปกติ ไม่ผิดปกติเลย

    ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถามถึงสภาพธรรมที่เป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจขึ้นๆ ขณะนี้รู้จักจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้จักจิต

    ท่านอาจารย์ รู้จักจิตว่า ขณะนี้มีจิต หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขณะนี้มีจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตของใคร

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรม ฟังเพื่อให้เคยเป็นเรามีจิต หรือว่าจิตของเรา แต่ให้เข้าใจจริงๆ ว่า จิตเป็นจิต เป็นธรรม ขณะที่ฟังเรื่องจิต ลืมว่ากำลังฟังธรรมเรื่องจิต คือ ลักษณะของจิตจริงๆ จิตแท้ๆ ซึ่งไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เวลาฟังธรรม สิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือธรรม แล้วก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่มีเจ้าของ และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย เพียงฟังอย่างนี้เข้าใจได้ หรือไม่ว่ากำลังฟังเรื่องจิตจริงๆ ไม่ใช่ฟังเรื่องเรามีจิต หรือจิตเป็นเรา แต่ว่ากำลังฟังธรรมที่มีจริงๆ เสียงมีจริง เสียงเกิดขึ้นเป็นเสียง จิตมีจริง ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเป็นจิต จะมีจิต หรือไม่ เรากล่าวว่าเสียงมี เมื่อเสียงเกิด และก็เป็นเสียง เสียงไม่ใช่จิต

    เพราะฉะนั้นเวลาที่มีจิต ก็หมายความว่าจิตเกิดขึ้นเป็นจิต ไม่ใช่เสียง กำลังฟังให้เข้าใจธรรมซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ด้วยความไม่รู้ก็ยึดถือธรรมทั้งหมดว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา ผิด หรือถูก ฟังเรื่องจิตให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา และไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย ฟังให้เข้าใจอย่างนี้ หรือไม่ ว่า จิตเกิด และเมื่อสักครู่ ก็มีคำถาม แล้วก็มีคำตอบ แล้วก็มีคำอธิบาย ก็ขอย้อนถามว่า จิตมีแล้วเมื่อเกิด เกิดที่ไหน จิต ไม่ใช่ใคร เป็นธรรมซึ่งเกิด เกิดที่ไหน เมื่อสักครู่ฟังแล้วใช่ หรือไม่ จิตเกิดที่รูป เพราะว่าไม่ใช่มีแต่นามธรรม คือ จิต และเจตสิก ต้องมีรูปด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังสิ่งใด เข้าใจความจริงของสิ่งนั้น รูปเป็นจิต หรือไม่ ไม่ใช่ รูปเป็นเรา หรือไม่ ไม่ใช่ รูปเป็นของเรา หรือไม่ จิตเป็นรูป หรือไม่ จิตเป็นของใคร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่รูป

    ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีรูป จิตต้องเกิดที่รูป อาจจะได้ยินคำภาษาบาลีอีกหลายคำ รูปก็มีหลายอย่าง จิตเกิดที่เสียง หรือไม่ จิตเกิดที่เสียงไม่ได้แน่นอน ฉะนั้นเราก็จะค่อยๆ หาว่า จิตมีในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และมีรูปด้วย แล้วจิตเกิดที่ไหน จิตไม่ได้เกิดที่รูป จิตเกิดที่ธาตุอ่อน หรือแข็ง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แน่ใจ หรือไม่ มหาภูตรูปมี ๔ คนไทยก็ได้ยินบ่อยๆ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จิตเกิดที่ธาตุดิน หรือไม่ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเป็นมหาภูตรูป ไม่มีรูปใดเลยที่จะเกิดโดยไม่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป ไม่ว่าจะเป็นรูปใดทั้งหมดที่มีปรากฏ ที่นั้นต้องมีมหาภูตรูป ๔ คือ จะปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจิตไม่ได้เกิดที่ธาตุดิน หรือ

    ผู้ฟัง ไม่ได้เกิดที่ธาตุดิน

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ได้เกิดที่ธาตุดิน จิตเกิดที่ธาตุน้ำ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดที่ธาตุไฟ ธาตุลม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่ที่ๆ จิตจะเกิดเป็นรูป ซึ่งต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่คือธรรม เมื่อฟังแล้ว ขอให้ฟัง และเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพื่อที่จะได้รู้ว่า เรากำลังศึกษาเรื่องอะไร ศึกษาเรื่องจิต ต้องรู้ลักษณะของจิต ซึ่งไม่ใช่รูป เพราะเหตุว่าจิตเป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ธาตุรู้ ธาตุรู้สึกก็มีแต่ไม่ใช่จิต ขณะนี้เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ธรรมไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย แต่ความเข้าใจของเรา ที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า กำลังฟังธรรม กำลังฟังเรื่องจิตให้เข้าใจว่า จิตมีจริง แต่เป็นอนัตตา จิตเกิดแล้วดับไป หรือไม่

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ จิตเมื่อสักครู่นี้ไม่เหลือเลย นี่คือสิ่งที่ไม่รู้ ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร ก็เข้าใจว่า จิตเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย จิตเกิดที่รูปแน่นอน แล้วจะเรียกรูปนั้นว่าอะไร เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปอื่นอีก เช่น เสียง หรือกลิ่น หรือรส รูปใดๆ ก็ตามที่ปรากฏ ก็จะต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป จะปราศจากมหาภูตรูปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อจิตไม่เกิดที่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ได้เกิดที่เสียง ที่กลิ่น ที่รส จิตเกิดที่รูปไหน ต้องมีมหาภูตรูปแต่ไม่ใช่มหาภูตรูป เป็นรูปซึ่ง เป็นที่เกิดของจิต ภาษาไทย ภาษาบาลีก็คือ “หทย” หมายความถึงใจ หรือจิต และ "รูปะ" คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต อยู่ที่ไหน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเกิดเมื่อไร รูปนั้นอยู่ที่นั่น จะอยู่ที่อื่นไม่ได้เลย หทยรูปต้องอยู่ตรงที่ที่จิตเกิด แต่ว่าความละเอียดก็คือว่า ไม่ใช่จิตทุกประเภท เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สึกสิ่งที่กระทบสัมผัส จิต ๑๐ประเภท เป็น กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เห็นที่เป็นผลของกุศลกรรมก็มี เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ครั้งละ ๑ จะเกิดพร้อมกันไม่ได้เลย แล้วแต่กรรมใดจะทำให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นเกิดขึ้นเห็น หรือจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นได้ยิน จิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นได้กลิ่น จิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมลิ้มรส จิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นี่คือจิต กำลังเรียนเรื่องจิต ซึ่งกำลังเกิดดับอย่างเร็ว เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา เว้นจากจิต ๑๐ ดวงนี้ จิตอื่นในภูมิที่มีรูป ต้องเกิดที่รูปหนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ภาษาไทยใช้อย่างนี้ แต่ภาษาบาลีใช้ “หทยรูป” ตัวตนอยู่ที่ไหน อยู่ที่ทุกอย่างที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง เห็นเป็นเรา ไม่รู้ว่าเป็นจิต เกิดแล้วก็ดับไป คิดนึก เมื่อไม่รู้ ว่าเกิดแล้วก็ดับไป ก็เป็นเราหมด ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตาย แต่ว่าตามความเป็นจริง จิตเกิดแล้วดับทันที

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมให้เข้าใจธรรม ไม่ใช่ยังคงยึดถือด้วยความเห็นผิด แม้ในขั้นการฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในขณะที่กำลังฟัง ไม่มีทางที่จะรู้จักสภาพที่เป็นธรรมที่เรากำลังกล่าวถึง ที่กำลังเกิดดับ เพียงแต่กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น เท่านั้นเอง ตอนนี้ยังสงสัยเรื่องจิต หรือไม่ เกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่รูป

    ท่านอาจารย์ เกิดที่รูป ไม่ต้องเจาะจงว่าเกิดที่ไหนเลยทั้งสิ้น บนสวรรค์ จิตเกิด ก็ต้องมีรูป และจิตนั้นก็เกิดที่รูป เว้นจิต ๑๐ ประเภท ไม่เกิดที่รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตที่ใช้คำว่า “หทยรูป”

    ผู้ฟัง ตั้งแต่หัวจรดเท้า ก็คือสภาพที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึก สัญญาขันธ์ คือ ความจำ สังขารขันธ์ สภาพที่ปรุงแต่งให้จิตเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง และวิญญาณขันธ์ คือ จิต ทั้งหมดยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เที่ยง ไม่เกิดดับ ซึ่งผิดด้วยถ้าเห็นอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ก็คือเห็นผิด เพราะฉะนั้น การฟังธรรม เพื่อให้เห็นถูก จนกว่าจะสามารถรู้ความจริง จึงจะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ คือ ผู้ที่ไม่มีกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น ลองเปรียบเทียบว่ากิเลสเรามากระดับไหน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนี่นับไม่ถ้วนเลย ทุกเรื่อง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ กับเรื่องต่างๆ เพราะคิดนึกเพราะปรุงแต่ง ไม่สิ้นสุดในสังสารวัฏฏ์ ชาติก่อนเรามีเรื่องอะไรที่เป็นทุกข์มากๆ เหมือนชาตินี้ หรือไม่ และชาตินี้สิ่งที่เราคิดว่า กำลังเดือดร้อน กำลังวุ่นวาย กำลังเป็นทุกข์ พอจากโลกนี้ไปก็หมดเรื่องของโลกนี้ ก็ไปเป็นเรื่องราวของโลกใหม่ ก็คือไม่สิ้นสุดโลกของความคิด ซึ่งมาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เป็นธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของใคร

    อ.วิชัย ผู้ฟังที่สงสัยเรื่องของหทย หรือรูปที่เป็นวัตถุ ๖ รูป คือ ในส่วนที่เป็นที่เกิดของจิต อย่างเช่น ถ้ากล่าวถึงจักขุวัตถุ คือ จักขุปสาทรูป ๑ รูป แม้การเกิดของจักขุปสาทรูปจะเกิดเพียงรูปเดียวไม่ได้ ต้องเกิดเป็นกลุ่ม เรียกว่า จักขุทสกกลาป แต่ว่าการเกิดของจิตซึ่งเป็นจักขุวิญญาณ เกิดเฉพาะ คือ จักขุวัตถุเท่านั้น ไม่รวมถึงรูปอื่นแม้จะเกิดเป็นกลุ่มก็ตาม

    ผู้ฟัง ขอถามว่า เวลาที่จิตเกิดที่หทยวัตถุ จะต้องมีอะไรมากระทบ หรือเกิดที่หทยวัตถุได้เลย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทุกคนมีรูป แล้วจิตจะเกิดที่ไหน จะเกิดนอกรูปได้ หรือไม่ ไม่ได้ แต่จิตก็มีหลายประเภท เพราะฉะนั้น ในบรรดาจิตทั้งหมดก็ต้องเกิดที่รูป แล้วแต่ว่าจิตไหนเกิดที่รูปไหน เช่นขณะที่เห็นขณะนี้ เราไม่คิดถึงรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะว่าตามความเป็นจริงไม่มีอะไรเหลือเลย รูปเกิดแล้วดับ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ และ ๑๗ ขณะนี่ใครจะรู้ ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน จิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567