พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
ตอนที่ ๓๐๘
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดจะทราบได้ว่า ขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ปรากฏ มีใช่ไหม ไม่ใช่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ยังไม่ปรากฏ ขณะนั้นจิตมีอารมณ์อื่น เป็นภวังคจิตก่อน แล้วเมื่อมีสิ่งที่กระทบปสาท แล้ววิถีจิตแรกที่ไม่ใช่ภวังค์ต้องเกิดก่อนปัญจทวาราวัชชนจิต แม้มีรูปเป็นอารมณ์ก็ไม่เห็น คิดดู ความละเอียดของธรรม เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ จักขุวิญญาณเพียงเห็น เป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่สามารถจะบอกว่าสิ่งนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ เพราะไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เป็นอิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ จักขุวิญญาณมีกิจเดียว คือ เห็นสิ่งนั้น แล้วก็ดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่รับต่อจากจักขุวิญญาณ เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไป กุศลอกุศลยังไม่เกิดเลย สันตีรณะเกิดพิจารณา เวลาที่เราใช้คำว่า “พิจารณา” เหมือนยาวนาน แต่ความจริงชั่วขณะหนึ่งที่เกิดทำหน้าที่สันตีรณะต่อจากสัมปฏิจฉันนะแล้วก็ดับไป กุศลอกุศลก็ยังไม่เกิด ต่อจากนั้นโวฏฐัพพนจิตจึงเกิดขึ้น เป็นจิตที่กระทำทาง หรือเป็นบาทเฉพาะ ที่จะให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดตามการสะสม ขณะนั้นพอใจในสิ่งที่ปรากฏก็ได้ ไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏก็ได้ แต่สามารถจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ หรือเปล่าว่า พอใจในสิ่งที่ไม่ดี หรือว่าไม่พอใจในสิ่งที่ดี
ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ในขณะที่มีปัญญา เพราะขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศล ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถจะรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมได้ แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่การที่จะรู้ว่า สภาพนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์
เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดอะไรเกินฐานะ คือ ขณะนี้หน้าที่ก็คือฟังธรรม แล้วก็เริ่มเข้าใจ เพื่อที่จะรู้ว่าเป็นธรรม มิฉะนั้นความเป็นเราลึกมาก อวิชชา ลิ่มสลัก มีแรงมีกำลังพอที่จะถอนลิ่มสลักนั้นให้หลุดออกไปได้ไหม ไม่มีทางเลย เพราะเหตุว่าต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งอบรมที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
จากการฟังเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะไปรู้ได้ในเมื่อสภาพธรรมนั้น ปรากฏกับจิตตามลำดับที่ทำหน้าที่แต่ละกิจๆ จนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้น และต้องเป็นปัญญาของใครด้วย
ผู้ฟัง เวลาเล่นกีฬาแล้วเหนื่อย เหนื่อยก็เป็นลักษณะของนาม ใช่หรือไม่ ถ้าเล่นกีฬาวิ่งแล้วเหนื่อย วิ่งเอาหัวไปชนเสาประตู (โกล์) ฟุตบอล หัวแตก หรือโดนเตะขาหัก อย่างนี้เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ที่ว่าเหนื่อย จะเป็นรูปหรือนาม
ท่านอาจารย์ ถูกต้องหรือเปล่า เป็นความรู้สึกหรือเปล่า เหนื่อยเป็นความรู้สึกหรือเปล่า ถ้าเป็นความรู้สึกแล้ว จะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม เป็นผู้ตรงที่จะตอบว่า ความรู้สึกเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นนาม
ท่านอาจารย์ ไม่เปลี่ยน
ผู้ฟัง ไม่เปลี่ยน
ท่านอาจารย์ นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม ถ้าอยากจะรู้ว่า อะไรเป็นนามเป็นรูป ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด แต่ต้องถามว่า อะไร สิ่งนี้เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ลักษณะไหนเป็นนามธรรม ลักษณะไหนเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ทั้งเรื่อง เรื่องเป็นความคิดของคุณวิจิตร เพราะฉะนั้นถามว่าอะไร ที่ต้องการจะรู้ว่าเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม สงสัยว่าอะไร
ผู้ฟัง ผู้เล่นบาดเจ็บ
ท่านอาจารย์ เจ็บเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นนาม
ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม
ผู้ฟัง อาการแขนหัก
ท่านอาจารย์ แขนเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง ก็เพราะว่ามันเป็นรูปอยู่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สภาพที่รู้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นอาการแขนหักก็
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อาการแขนหัก แขนเป็นรูป ความรู้สึกเจ็บเป็นนาม คุณวิจิตรเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ กับนาม เห็นที่เข้าใจว่าเป็นคุณวิจิตร ก็เป็นนามธรรม ที่กำลังนั่ง ที่เข้าใจว่าเป็นคุณวิจิตร ก็คือรูป ไม่มีคุณวิจิตร แต่มีแต่นามธรรม และรูปธรรม ใครจะเล่นฟุตบอล แขนหัก เจ็บ ก็คือนามธรรมกับรูปธรรม
อ.นิภัทร คำจำกัดความของคำว่า “รูปธรรม” รูป คือ สิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย ภาษาพระท่านบอกว่า อนารัมมณะ คือ รู้อารมณ์ไม่ได้ รูปไม่มีอารมณ์ คิดนึกไม่ได้ รู้อารมณ์อะไรไม่ได้ นี่ต้องเข้าใจให้แน่น ไม่อย่างนั้นจะซัดส่าย พอมีปัญหา เราไม่รู้คำจำกัดความที่ตายตัว เราก็จะสับสน ไม่รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม รูป คือ สิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย นาม คือ สิ่งที่รู้ มันแยกกันไม่ออก เพราะว่าเรามีทั้งรูปทั้งนามอยู่ในภูมิของมนุษย์ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะต้องมีทั้งรูป และนาม แต่ให้รู้ว่า อะไรคือรูป อะไรคือนาม
ผู้ฟัง มีคำถามจากอินเตอร์เนต ถามว่า ขณะที่เราฟังธรรม เรื่องสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้น เป็นการศึกษาพระอภิธรรม หรือไม่ หรือว่าการศึกษาพระอภิธรรม คือการรู้ว่า จิตมีกี่ดวง มีปัจจัยเท่าไร รู้วิถีจิต อย่างนี้ หรือไม่ที่เป็นการศึกษาพระอภิธรรม จะได้อ่านหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปเยอะๆ
อ.อรรณพ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม ถ้าเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษา คือ เพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าฟังเรื่องสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเรามีความเข้าใจว่า ชีวิตก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏ ก็เป็นพื้นฐานความเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในขั้นการฟัง การพิจารณา นั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่า การศึกษาจะต้องฟังแค่ไหน การศึกษาเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ถ้าศึกษาโดยความเข้าใจ ก็ประกอบกันที่จะทำให้มีความมั่นคงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไม่มีการต้องฟังในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ สติปัฏฐาน อย่างเดียว ไม่มีการศึกษาเรื่องเจตสิกกี่ประเภท จิตกี่ประเภท ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ศึกษาด้วยความเข้าใจจุดประสงค์ เพื่อให้มีความเข้าใจความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม ศึกษาแล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เป็นพื้นฐาน ถ้าเราจะมุ่งเน้นไปในเรื่องที่จะเข้าใจจำนวนตัวเลขมากมาย หรือเรื่องราวหลากหลาย แล้วเข้าใจว่าต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ต้องเข้าใจรายละเอียดของอภิธรรมทั้งหมด สิ่งใดที่ทรงแสดงไว้ก็จะต้องรู้ให้กระจ่างทั้งหมดเสียก่อน จึงจะมีการอบรมเจริญปัญญา เช่นนั้นก็ไม่ใช่
การที่เรามีพื้นฐานความเข้าใจ เป็นพื้นฐานสำคัญ เมื่อมีพื้นฐานความเข้าใจแล้ว ก็จะรู้ฐานะของตัวเอง ว่าเราจะเข้าใจอะไรได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งพื้นฐานความเข้าใจก็คือ เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม สภาพธรรมถ้าปรากฏ ก็ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เอง ไม่มีทางอื่น
ท่านอาจารย์ ก็ขอร่วมสนทนาด้วย เพราะเหตุว่าการฟังธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องไตร่ตรอง ฟังแล้วไม่ทราบคิดอย่างไร ที่จะไปแยกเรื่องของการศึกษา ตำรับตำรา กับเรื่องของการที่จะฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งความจริงไม่ได้แยกจากกันเลย เพราะอะไร สมัยนี้ไม่ใช่สมัยก่อนที่จะมีการได้ฟังพระธรรมโดยตรงจากพระโอษฐ์ หรือจากพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งท่านก็จาริกไปสู่สถานที่ต่างๆ เพื่ออนุเคราะห์ให้คนอื่นได้ฟังธรรมที่ท่านเข้าใจแล้วด้วย เมื่อกาลสมัยล่วงมา ก็มีการทรงจำข้อความที่ได้ยินได้ฟัง มีการสังคายนา จนกระทั่งมีการจารึกเป็นพระไตรปิฎกด้วยตัวหนังสือ
ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก เราจะเอาเรื่องเหล่านี้ที่เราพูดถึงมาจากไหน เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครคนหนึ่งคนใดจะคิดขึ้น แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า การศึกษาธรรมต้องละเอียด เพื่อความเข้าใจอะไร ถ้าเราศึกษา หรือสนทนากันแล้วไม่รู้ว่า เราสนทนาเพื่อให้เข้าใจอะไร จะเป็นประโยชน์ หรือไม่ ในแต่ละครั้งที่สนทนา เราต้องรู้ว่า เราฟังเรื่องอะไร แล้วมีความเข้าใจในสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น หรือเปล่า
ไม่ใช่หมายความว่า เราไม่มีความเข้าใจเลยว่า ธรรมคือเดี๋ยวนี้ เข้าใจว่าเป็นธรรม จะต้องเป็นไปตามปริจเฉท ๑ ๒ ๓ ๔ นั่นคือไม่ได้เข้าใจว่า ธรรม จะกล่าวถึงเมื่อไร อะไร ก็สามารถเข้าใจได้ เช่น กล่าวถึงจิต เข้าใจได้ไหมว่า ขณะนี้มีจิต ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เรานึกถึงว่า ห้องนี้มีอะไร กับการที่เรากำลังเห็นจริงๆ ว่า ขณะนี้มีอะไรในห้องนี้ ต่างกันใช่ไหม
จะเห็นได้ว่า จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เราไม่ต้องคอยไปกล่าวถึงเจตสิกภายหลัง แต่เราสามารถที่จะเริ่มตั้งแต่ต้นว่า ธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มีจิตเกิดขึ้น โดยไม่มีปัจจัยอะไรเลย และสิ่งที่จิตต้องอาศัย คือ เจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกัน และเจตสิกซึ่งเกิดก็อาศัยจิตซึ่งเกิดพร้อมกัน
การศึกษาธรรม เพื่อจะเข้าใจธรรม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ได้ยินคำไหน อย่าเพิ่งคิดว่า เราเข้าใจหมดแล้ว เราเข้าใจทั่วแล้ว เราเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว แม้แต่คำว่า “ธรรม” คำเดียว ถ้าเข้าใจจริงๆ ละกิเลสได้ ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะประจักษ์แจ้งในธรรม ซึ่งเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แต่ธรรมที่เราสนทนากัน ไม่ใช่คิดขึ้นมาเอง แต่ต้องอาศัยพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้หมายความว่า เราศึกษาโดยที่เราไม่เข้าใจคำแต่ละคำ เพียงแต่มุ่งที่จะจำจำนวน และเรื่องราวมากๆ อย่าง “โพชฌงค์” คืออะไร ก็ยังไม่รู้ แต่ก็พูด “อิทธิบาท” คืออะไร ก็พูดได้ แต่ก็ไม่รู้ “ธรรม” คืออะไร ก็พูดกันไป แต่ก็ไม่รู้ อย่างนั้นจะมีประโยชน์ หรือไม่
ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังมากน้อยเท่าไรก็ตาม ขอให้มีความเข้าใจในสิ่งนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงขาดไม่ได้ที่จะกล่าวว่า การศึกษาธรรมเราต้องอาศัยพระธรรมจากพระไตรปิฎก แต่ต้องศึกษาโดยละเอียด ไม่ใช่แยกไป ไม่ให้ไปศึกษาพระอภิธรรม หรืออะไรอย่างนั้น แต่ต้องเข้าใจว่า ธรรมนั่นเองเป็นอภิธรรม เมื่อได้แยก ๓ ปิฎก ธรรมที่เป็นความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่เหมาะสมสำหรับเพศบรรพชิต เป็นส่วนใหญ่ ก็แยกเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทมี ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในครั้งนั้น แต่กาลสมัยถึงยุคนี้ ไม่มีภิกษุณี อันนี้เป็นของที่แน่นอนตามระเบียบ หรือตามการที่ผู้หญิงจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุณี เป็นไปไม่ได้ในยุคนี้
ต้องเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจธรรม และวินัยด้วย มิฉะนั้นแล้วก็สับสน หมายความว่า เราคิดว่าพระภิกษุเหมือนคฤหัสถ์ ก็จะทำให้ไม่รักษาพระวินัย ซึ่งแสดงความต่างกันของเพศบรรพชิต และคฤหัสถ์ และสำหรับพระสูตร ก็ไม่ใช่ไม่มีธรรม หรือไม่ใช่อภิธรรม แต่สามารถจะเข้าใจลึกซึ้งได้แค่ไหน เช่น มรรคมีองค์ ๘ เป็นเราปฏิบัติ หรือเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ๘ ประเภท ที่เกิดขึ้น และปฏิบัติอะไรในขณะนั้น ก็แล้วแต่ว่ามีความเข้าใจ หรือไม่เข้าใจเลย ก็ศึกษาตามเรื่องราว ตามชื่อ ก็จะทำให้เข้าใจผิด หรือสับสน
เพราะฉะนั้นก็ต้องประกอบกัน คือ ธรรมที่ได้ฟัง ต้องมีกล่าวถึงเป็นความจริงที่ได้แสดงไว้ ไม่ใช่ความคิดส่วนตัวของใคร สามารถจะอ้างอิงได้ แต่ไม่พอ เพียงแต่จะอ้างอิง แต่ต้องเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นด้วย เพราะเหตุว่าทุกคำที่ทรงแสดง แสดงถึงลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นก็คงไม่เข้าใจผิดที่คิดจะไปแยก
อ.ธีรพันธ์ เมื่อฟังธรรมแล้ว ที่จะให้รู้ความจริง ศึกษาความจริง เพราะไม่ว่าจะเป็นปัจจัย ปัฏฐาน ที่ว่าด้วยสภาพธรรมที่มีปัจจัย ๒๔ โดยละเอียด ก็กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้นเอง เพราะว่าบุคคลในสมัยนี้ไม่เหมือนกับสมัยพุทธกาล ที่ท่านพูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านก็เข้าใจ ไม่ต้องพูดอะไรมาก เพียงยกหัวข้อขึ้นแสดงเล็กน้อย ก็ฟังรู้เรื่อง พระผู้มีพระภาคก็ไม่ทรงลำบากที่จะต้องแสดงมากมาย หรือพระสาวก พระเถระต่างๆ ที่ท่านแสดง ก็สามารถฟังให้เข้าใจได้ แต่สมัยนี้จะต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การศึกษา ถ้าจะรู้ความจริงแล้ว ก็ไม่น่าจะปฏิเสธ ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาแค่นี้พอ แล้วก็เป็นเรื่องปัจจัย ปัฏฐาน คิดว่าไม่รับ ถ้าไม่รับ ก็แสดงว่าจะปฏิเสธความจริงด้วยซ้ำไป แต่ก็อยู่ที่แต่ละท่ายที่จะศึกษา จะมีกำลังที่จะศึกษา ก็ไม่ได้บังคับว่า จะต้องศึกษาให้หมด แต่รวมแล้ว สรุปได้ว่า ศึกษาความจริง ถ้าพูดสิ่งใดให้เข้าใจความจริง ก็ฟัง จะเป็นการศึกษา การฟัง การสนทนา ถ้าให้รู้ถึงความจริง จะปฏิเสธหรือ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความจริงแล้วก็ทนต่อการพิสูจน์
อ.ธิดารัตน์ พูดถึงเรื่องการศึกษาธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วว่า ทั้งการใส่ใจ สนใจสภาพธรรม และการศึกษาเรื่องราว หรือปริยัติจะต้องควบคู่กันไป เพราะการศึกษาเพียงแค่จำชื่อ จำเรื่อง โดยที่เราไม่เคยพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย ก็จะเป็นเพียงแค่ความจำ จำแล้วก็ลืม แต่ถ้าเรียนแล้วศึกษา แล้วมีการพิจารณาสภาพธรรมควบคู่ไปด้วย ความเข้าใจทั้งการศึกษาเรื่องปริยัติ และความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีปรากฏ จะทำให้ความเข้าใจมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ และการศึกษาอย่างนี้จึงจะเป็นปัจจัยให้ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะว่าการรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ได้รู้เพียงแค่ลักษณะเดียว มีสภาพธรรมหลากหลายลักษณะที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ทั่ว รู้ทั่วแล้วปัญญาก็ยังจะต้องอบรมเจริญขึ้นไปอีก มากขึ้นไปอีก จนกว่าจะละได้ จนกระทั่งถึง สามารถที่จะเป็นการดับกิเลสได้จริงๆ ก็ต้องอาศัยสะสมการฟังทีละเล็กทีละน้อย อย่างท่านที่สามารถฟังแล้วบรรลุได้ในอดีต ก่อนที่จะมาถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ก็ต้องมีการสะสมตั้งแต่ขั้นการฟังเล็กๆ น้อยๆ และในขณะที่เรามีการฟังธรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็สะสมแล้ว ต่อไป ก็อาจจะมีปัญญาที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถเพียงฟังแล้วเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้โดยทันที
ผู้ฟัง ลักษณะของสัญญาเจตสิก สงสัยว่า สัญญาน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งถึงเป็น ๑ ในขันธ์ ๕
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสัญญา หรือเปล่า
ผู้ฟัง มี เพราะว่าสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง
ท่านอาจารย์ สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มฟังธรรม พอได้ยินคำว่า “สัญญา” ก็ไม่ทราบว่าหมายความถึงอะไร แต่คนที่ฟังแล้วก็จะรู้ว่า ๒ ภาษา มีความหมายต่างกัน คือ ภาษาบาลีจะมีความหมายอย่างหนึ่ง และภาษาไทย และภาษาอื่นๆ ก็ต่างมีความหมายในภาษานั้นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ภาษาก็เป็นคำที่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ มิฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็จะไม่มีความเข้าใจเลยว่า ศึกษาอะไร ธรรมอยู่ที่ไหน ธรรมคืออะไร แต่เมื่อรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งนั้น และทรงแสดงพระธรรม คือ ทรงแสดงความจริงแท้ของสิ่งที่มีจริง ในขณะนี้ด้วย ธรรมมีอยู่ตลอดเวลา แต่ตราบใดที่ไม่มีการฟังพระธรรม ไม่สามารถจะเข้าใจได้ แม้ขณะนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ แล้วก็เห็น แล้วก็คิด แล้วก็ได้ยิน แล้วก็จำด้วย ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เวลาที่เราศึกษาธรรม ไม่ใช่เราไปเอาชื่อมาแล้วสงสัย แต่ความจริงในขณะนี้มีอะไรบ้าง คุณสุกัญญากำลังเห็นอะไร
ผู้ฟัง ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง
ท่านอาจารย์ แน่ใจว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงเท่านั้น หรือว่ามีการคิดนึกด้วย
ผู้ฟัง มีการคิดนึกด้วย
ท่านอาจารย์ คิดว่าอย่างไร
ผู้ฟัง คิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งของ
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นคุณสุกัญญาที่คิดหรือเปล่า หรือว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง เป็นลักษณะของธรรมที่คิด
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมทั้งหมดทุกอย่าง แต่ว่าเรายังไม่มีความเข้าใจละเอียดว่า ขณะนั้นมีอะไรบ้าง ขณะที่กำลังคิด กำลังจำคำที่คิด หรือสิ่งที่ปรากฏให้คิด หรือเปล่า
ผู้ฟัง กำลังจำคำที่คิด
ท่านอาจารย์ เวลาที่ได้ยินคำว่า สัญญาขันธ์ เป็นสภาพของเจตสิกที่จำ เราก็ละเลย ไม่ได้สนใจเลยว่า แท้ที่จริงแล้วสัญญาเจตสิกเกิดตลอดเวลาทุกขณะที่จิตเกิด จะไม่มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย แม้แต่ที่คิดแต่ละคำ ถ้าไม่จำคำที่คิด จะมีการคิดถึงคำนั้นได้ไหม ไม่ได้ เวลาที่มีการเห็นแล้ว รู้เลยว่า มีการจำสิ่งที่เห็น มิฉะนั้นจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แต่เมื่อมีเห็นแล้ว ไม่ใช่มีแต่สภาพของจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งความหลากหลายของแต่ละขณะที่เห็น ซึ่งเป็นการเห็นสิ่งที่ปรากฏต่างๆ กัน แต่ว่าแม้จะมีการปรากฏอย่างไรก็ตาม แล้วจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏมีลักษณะอย่างไร จิตกำลังเห็น คือ รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็จะค่อยๆ เข้าใจ ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เห็น ขณะนี้เป็นธรรมที่เห็น แต่ธรรมที่เห็นนั้น เพียงเห็น แต่ขณะที่เห็นเกิดขึ้น จะมีสภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมกับจิต ซึ่งเป็นเจตสิก มีลักษณะเฉพาะเจตสิกแต่ละประเภทซึ่งต่างกับจิต ซึ่งไม่ได้จำ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้ดีใจ แต่เป็นธาตุที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ
นี่คือการศึกษาธรรมให้เข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่สภาพที่จำก็มี เราใช้คำว่า “จำ” เราเข้าใจได้ แต่ถ้าบอกว่า “สัญญาเจตสิก” บางคนก็อาจจะงง เพราะว่าไม่คุ้นเคยกับความหมายของ “สัญญา” ในธรรม ซึ่งหมายถึงสภาพเจตสิกซึ่งจำ
ขณะนี้กำลังจำหรือเปล่า จำ เพราะฉะนั้นสงสัยในลักษณะของสัญญาเจตสิกไหม
ผู้ฟัง อย่างที่อาจารย์กล่าวว่า ไม่น่าสงสัย แต่ก็ยังมีความสงสัยอยู่ในลักษณะของความนึกคิด
ท่านอาจารย์ นึกคิดมีจริงๆ ขณะนั้นเห็น หรือคิด
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 301
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 305
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 306
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 308
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 309
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 311
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 314
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 318
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 320
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 322
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 325
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 328
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 329
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 331
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 334
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 336
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 337
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 339
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 340
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 341
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 343
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 347
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 348
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 350
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 351
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 358
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360