พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 370
ตอนที่ ๓๗๐
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐
ท่านอาจารย์ อีกประการหนึ่ง ธรรมเป็นเรื่องที่เมื่อเข้าใจแล้ว จะละความสงสัย และความไม่รู้ แต่ไม่เป็นสมุจเฉท เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาระดับขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งถึงความเป็นพระโสดาบัน ขณะนี้เรากล่าวได้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ลักษณะของนามธรรมไม่ได้ปรากฏ เพราะถ้าปรากฏเมื่อไร ก็จะรู้ความต่างกันของปัญจทวารกับมโนทวาร เพราะธรรมที่เป็นนามธรรมต้องปรากฏทางมโนทวารเท่านั้น นี่ก็แสดงว่า เพียงฟัง แล้วเราจะไปประมวลคิดเอาเองว่า ตอนนี้กระทบสัมผัสเบาๆ ก็เป็นวิการรูปนั้นไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ตรงที่จะรู้ว่า เราไม่ใช่เอาชื่อไปจำ ไปคิดว่าใช่ แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันปรากฏเมื่อไร ปรากฏได้อย่างไร ปรากฏทางไหน ปรากฏกับอะไร เพราะว่าสติสัมปชัญญะเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราเลือกที่จะไปรู้ลักษณะของวิการรูป เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลือกให้สติเกิดรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู แล้วแต่ว่าเมื่อเกิดเมื่อไร สติเกิดแล้วระลึกแล้ว ไม่มีใครไปจัดการ ไม่มีใครไปจัดแจงให้สติไประลึกที่ตรงนั้น ตรงนี้ ฉันใด ที่จะให้สติไปเลือกรู้วิการรูปก็เป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามลำดับจริงๆ เพื่อไม่หลง เพราะเหตุว่าแม้แต่ลักษณะของธาตุดิน ก็มีทั้งอ่อนมาก บางคนอาจจะเรียกว่า เบา อย่างที่มีคนกล่าวเมื่อสักครู่ ที่คุณธีรพันธ์กล่าวว่า สำลีเบาไหม แล้วเราก็ได้ยินคำว่า เบา แล้วเป็นวิการรูป หรือเปล่า นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำ ขั้นนี้เราเข้าใจ เพราะเรารู้ว่า วิการรูปเป็นอาการวิการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่สำหรับรูปที่เบาที่เป็นธาตุดิน ก็จะเบาได้จนกระทั่งถึงสำลี แต่ไม่ใช่วิการรูป เพราะฉะนั้นถ้าจะปรากฏกระทบเมื่อไร ไม่ใช่เมื่อปรากฏลักษณะนั้น เราก็สรุปประมวลว่า เรารู้วิการรูป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นอาการที่ต่างจากมหาภูตรูป โดยมีวิการ อาการที่เบา หรืออ่อน หรือควรแก่การงานของมหาภูตรูปที่จะปรากฏให้รู้ได้ทางมโนทวาร
ผู้ฟัง ขออนุญาตถามทีละข้อจากจดหมายนี้
ข้อ ๑ การที่บางครั้งเราเกิดปีติ เมื่อระลึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นความดี น่าเลื่อมใส ในขณะที่ปีติเกิด นับว่าสติเกิดได้ หรือไม่ เพราะเข้าถึงสภาพปรมัตถธรรม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความรู้ของตัวเอง และจะถามคนอื่นว่า ขณะนั้นเป็นสติใช่ไหม ก็แสดงว่า คนนั้นไม่ได้เข้าใจเรื่องสภาพธรรม ถ้าเข้าใจแล้วต้องเป็นความรู้ความเข้าใจของตัวเอง แล้วก็รู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดสติปัฏฐานเกิด เพราะฉะนั้นก็คงต้องตอบสั้นๆ เพราะเหตุว่าถ้าได้ฟัง และได้อ่าน ก็ต้องคิดพิจารณาข้อความที่ได้ฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะว่าบางคนก็จะอ่านธรรมแบบอ่านตลอดเรื่อยไป แต่ไม่ได้คิดไตร่ตรองถึงความเข้าใจในสิ่งที่กำลังอ่าน หรือแม้ได้ยินได้ฟังเพียงคำเดียวให้ถ่องแท้ว่า แม้แต่คำว่า “ธรรม” ได้ยินแล้ว เข้าใจระดับไหน สามารถจะรู้ว่า ธรรมเป็นธรรมในขณะไหน เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จะไม่มีความสงสัยว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ใช่สติปัฏฐาน คุณเข็มกรุณาทบทวนข้อความที่เขาเขียนนี้อีกครั้ง
ผู้ฟัง ในขณะที่ปีติเกิด นับว่าสติเกิดได้ หรือไม่
ท่านอาจารย์ นับว่า อยากนับ และสติเกิดได้ หรือไม่ ไม่ใช่ความรู้ของตัวเองเลย ประโยชน์ของการศึกษาธรรมจริงๆ คือ เป็นความเข้าใจถูก จะน้อยจะมากไม่สำคัญ แต่เป็นความเห็น ความเข้าใจของตัวเองซึ่งคนอื่นก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าเป็นความเข้าใจถูก ถ้าจะบอกว่า ขณะนี้ไม่ใช่ธรรม แล้วคนที่เข้าใจธรรมแล้ว จะเปลี่ยนไปตามคำของคนอื่นไหมว่า ขณะนี้ไม่ใช่ธรรม
เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ เป็นความเข้าใจซึ่งคนอื่นเปลี่ยนไม่ได้ ไม่ใช่จะเปลี่ยนไปตามคำของคนอื่น หรือไม่ใช่ให้คนอื่นมานับว่าอันนี้นับเป็นอย่างนั้น อันนั้นนับเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องนับ เพราะอะไร ความจริงเป็นความจริง ทำไมจะต้องไปนับว่า ถ้านับว่า ก็คือว่าไม่รู้ความจริง เพียงแต่คิดเท่านั้นเอง การศึกษาธรรมไม่ใช่มุ่งหวังอะไร ศึกษาเพื่อเข้าใจอย่างเดียว ไม่ใช่มุ่งหวังที่จะได้มีสติปัฏฐานเกิด มีปัญญาเกิด ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังว่าเป็นธรรม
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่า ทรงแสดงธรรมเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อให้ได้อะไรเลย แต่เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อละความไม่รู้ ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็จะรู้ได้ว่า ไม่รู้ในอะไร กำลังเห็นนี่ตอบได้แล้ว รู้จริง หรือไม่ ถึงสภาพธรรม หรือยัง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้ายังไม่มีความเข้าใจจริงๆ ก็อาจจะเข้าใจว่า มีวิธี หรือมีหนทาง หรือเกิดการรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้ว แต่ให้ทราบว่า ไม่ต้องคิดถึงสติปัฏฐาน ไม่ต้องคิดถึงผลใดๆ ทั้งสิ้น แต่กำลังฟัง แล้วมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง คุณวิชัยจะมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
อ.วิชัย ขณะนี้ก็มีสภาพที่เป็นกุศลที่เกิดพร้อมกับสติที่ระลึกได้ แต่ว่าขณะจิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก เกิดทั้งกุศลธรรม มีการเห็น มีการได้ยิน อาจจะสลับกับอกุศลธรรมก็ได้ ขณะที่อาจจะคิดถึงเรื่องอื่น มีความกังวล หรือมีความพอใจในสิ่งต่างๆ ที่จิตเกิดขึ้น ดังนั้นความรวดเร็วของจิต ขณะนั้นจิตก็เป็นไปแล้ว แต่ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ เริ่มที่จะมีการสั่งสมที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง อย่างเช่นฟังเรื่องของสภาพธรรม ขณะที่ไม่ฟัง คิดถึงเรื่องอื่น คิดถึงเรื่องที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเรื่องราวต่างๆ แต่ขณะที่ฟังเรื่องของสภาพธรรม ขณะนั้นน้อมไปที่จะเข้าใจ สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งเริ่มที่จะเข้าใจ ขณะนั้นก็มีสติแล้วที่เกิดขึ้นพร้อมกับปัญญาที่เข้าใจในสภาพธรรมแม้ในขณะนี้ ทราบ หรือไหมว่า ขณะนี้มีสติเกิดไหม
เพราะฉะนั้นโดยสภาพของสติเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว แต่ขณะที่สติไม่ปรากฏ ก็คือยังไม่ปรากฏ แต่ความรวดเร็วของจิตก็เกิดแล้ว ดับแล้ว เป็นไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่ทราบว่า เป็นสติไหม หรือไม่ใช่สติ ความเข้าใจยังไม่เพียงพอ เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาเกิด ก็ต้องรู้ในขณะนั้นว่าสติเกิด หรือปัญญาเกิดเข้าใจ นี่ก็เป็นความรวดเร็วของจิตที่เป็นไป
ท่านอาจารย์ เมื่อวันก่อน มีท่านที่ถามว่า ในครั้งพุทธกาลจะมีคำถามแบบนี้ไหม ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า คำถามอย่างที่ถามจะมีไหมในครั้งพุทธกาลว่า เป็นสติไหม เพราะว่าทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เข้าใจ ไม่ใช่เพื่อให้คนนั้นเกิดความต้องการ แต่ให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง สังเกตดูส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงความเข้าใจในสิ่งที่มีเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะละความไม่รู้ แต่กลับเป็นความสงสัย และต้องการรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอย่างนั้นใช่ไหม เป็นอย่างนี้ใช่ไหม นี่แสดงว่า จุดประสงค์ของการฟังตรง หรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้ามีความสงสัยว่า บุคคลในครั้งพุทธกาลฟังแล้วจะถามไหมว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ แต่ฟังเพื่อให้เป็นความเข้าใจของตัวเอง
ผู้ฟัง เรื่องสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปแล้ว แน่นอนว่าคนอื่นไม่รู้ ตัวเองเท่านั้นจะรู้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ตัวเองจะรู้ถูก หรือไม่ ตรงนี้ที่เป็นปัญหาว่ามันใช่ หรือไม่ ก็จะสนทนากันตรงนี้
ท่านอาจารย์ จะให้คนอื่นตอบว่าใช่ หรือไม่ใช่ หรือเมื่อตัวเองยังไม่รู้ก็ฟัง จนกระทั่งสามารถเข้าใจความต่างของขณะที่สติปัฏฐานเกิด และขณะที่หลงลืมสติ
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าในปัจจุบัน ทั่วๆ ไป เรายังไม่เคยสนใจเลยว่า ลักษณะความต่างกันระหว่างรูปกับนาม หรือลักษณะขณะนี้เป็นอย่างไร ถ้าเรายังไม่เคยใกล้ชิดกับลักษณะของสภาพแต่ละอย่างนี้ สติปัฏฐานก็ไม่มีวันที่จะเกิด ใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ความจริงทุกอย่างที่มีจริงเป็นสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่เป็นไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่มีจริงๆ ก็เกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่ฟัง ต้องการสติปัฏฐาน หรือจะละความไม่รู้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นการละความไม่รู้ ไม่ต้องคิดเรื่องสติปัฏฐานเลย คิดทำไม คิดเพราะอยาก แต่ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และได้ฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ความไม่ใช่ตัวตน ต้องแม้แต่สติก็ไม่ใช่ตัวตนด้วย คือ ต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ เพราะมิฉะนั้นใจก็จะแลบไปหาว่า แล้วขณะนี้กำลังพูดเรื่องแข็ง แล้วกำลังรู้ตรงแข็ง สงสัยมาแล้วว่า นี่เป็นสติปัฏฐานไหม เพราะกำลังฟัง และมีแข็ง แล้วสติ หรือไม่สติ ขณะที่กำลังรู้ตรงแข็ง ใครจะรู้ ถ้าไม่ฟังโดยละเอียดว่า ไม่ใช่เรื่องต้องการ แต่ต้องเป็นเรื่องละ
เพราะฉะนั้นปัญญาความรู้มีพอที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิดแล้ว หรือว่าไม่ใช่อย่างนั้น เป็นแต่เพียงว่า พอได้ยินได้ฟังเหมือนเด็กๆ ก็ถูกถามว่า แข็งไหม เด็กก็จับ กระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ตอบได้ว่าแข็ง คำตอบเหมือนกัน สิ่งที่ปรากฏก็มีจริงๆ เหมือนกัน คือ แข็ง ความรู้ก็เท่ากัน เพราะว่ากำลังเป็นสภาพที่รู้แข็ง แต่ความเข้าใจธรรมมีมากพอที่จะละความต้องการที่จะรู้แข็ง หรือไม่ เพราะว่าเป็นเรื่องละโดยตลอด แล้วจะติดกับของโลภะไปตลอดเหมือนกัน เพราะว่ายังไม่เห็นโลภะ เพราะฉะนั้นจะเห็นความละเอียดของธรรมโดยตลอดว่าที่ทรงแสดงไว้โดยนัยประการต่างๆ โดยนัยของอริยสัจ ๔ โลภะเป็นสิ่งที่ต้องละ ก็ลืมไม่ได้ แต่เรื่องที่จะละ ไม่มีใครสามารถจะละได้เลย เพราะเหตุว่าสะสมความไม่รู้ และความต้องการมากพอที่จะปิดบังให้ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นถ้าเป็นบุคคลที่ฟังธรรมมาแล้วมากในอดีต ซึ่งขณะนี้ก็เป็นการฟังธรรม ซึ่งถ้ามีการฟังต่อไปในอนาคตก็คือผู้ที่ได้ฟังธรรมมาแล้วมากในอดีต แต่ว่าต้องขึ้นกับความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ความเข้าใจเพราะอยากรู้ลักษณะของสภาพธรรม อยากรู้ว่าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ฟังแล้วก็รู้ว่า เป็นผู้ที่ตรง เพราะอย่างท่านพระสารีบุตร ๑ อสงไขย แสนกัป แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม แม้แต่การที่จะเป็นพระโสดาบัน ถ้าไม่มีการฟังด้วยความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถที่จะเพียงฟังแล้วละความติดข้อง และความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง คือเกิดแล้วดับขณะนั้นได้ไหม
เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องอื่น เป็นเรื่องของปัญญา และปัญญาก็ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ใคร แต่ระดับขั้นของปัญญามีมาก ถ้าเป็นผู้ตรงต่อการเข้าใจธรรม ไม่มีเครื่องกั้น ไม่ต้องถามว่า แล้วเป็นสติ หรือไม่ ถึงไม่ถามคนอื่น ใจก็ถามแล้ว ใช่ไหม นึกแล้วว่านี่ใช่ หรือไม่ มันเรื่องอะไร ขณะนั้นเป็นเราคิดก็ไม่รู้ เห็นไหมว่าสำหรับวิปลาส ๔ พระโสดาบันละวิปลาสทั้ง ๔ ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด สัญญาวิปลาสในความเป็นตัวตน ในการเป็นสิ่งที่คิดว่าเที่ยง ในการเป็นสิ่งที่คิดว่าสุข ในการเป็นสิ่งที่คิดว่างาม ทั้งหมดที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย พระโสดาบันไม่มี ฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เมื่อเห็นแล้ว วิปลาส ปกติของผู้ที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม มีไหม ยังไม่ได้ดับ เพราะปัญญาไม่เกิด ที่ว่าไม่ดับ เพราะปัญญาไม่เกิด ไม่ใช่มีใครสามารถดับได้เลย
เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงความเข้าใจที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ จะเป็นพระโสดาบันวันไหน คงไม่ต้องสนใจที่จะรอแล้วใช่ไหม แต่มีการรู้เหตุปัจจัยว่า แม้สติสัมปชัญญะก็ไม่ใช่ขณะที่ต้องถามใคร และไม่ใช่ขณะที่สงสัย แต่รู้ความจริงว่า ชั่วขณะสั้นๆ แล้วมีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็รู้ว่า ขณะนั้นลักษณะของสติกำลังเกิดแต่น้อยมาก สั้นมาก เพราะเหตุว่าสติเกิดแล้วก็ดับไป แต่มีความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดเป็นปกติ แล้วก็ละ เรื่องของเรื่องคือละ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีความหวังรอต่อไปว่า แล้วเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดอีก แล้วจะใช่ไหมอีก จะใช่ไหมจะตามไปตลอด เพราะว่ายังมีความสงสัยอยู่ ซึ่งจะหมดไปได้เมื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ด้วยการละ ไม่ใช่ด้วยการหวังรอ หรือด้วยความต้องการ
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงเรื่องสติปัฏฐานก็เพราะอยากให้สติปัฏฐานเกิด เพราะว่า จากที่ฟังมาเหมือนว่า ถ้าเกิดแล้วจะมีสิ่งที่รู้ได้ คือ มันไม่ใช่เรา และเป็นอนัตตาด้วย เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจก็เกิดขึ้น ตรงนี้ที่อยากให้ปรากฏอย่างนั้น แม้ในความคิดนึก
ท่านอาจารย์ แต่ต้องทราบว่า สติปัฏฐานที่เกิดน้อยไหม สั้นไหม และความไม่รู้ ไม่รู้อีกเยอะไหม เพราะพอสติปัฏฐานดับไปแล้ว ก็ไม่รู้อีกแล้ว สติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิดอีกแล้ว
ผู้ฟัง แม้สติปัฏฐานเกิด หลังจากเกิดแล้วก็ทำให้เราคิดถึงเรื่องราวว่ามันเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ เริ่มรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติปัฏฐานเกิดด้วยตัวเอง
ผู้ฟัง แม้แต่จิตกับเจตสิกที่เกิดร่วมกัน แต่ลักษณะที่สติเกิดระลึกรู้ก็รู้อย่างเดียว ตรงนี้ ที่รู้สึกว่าไม่ต้องถามใครถ้ามันเกิดอย่างนั้นจริงๆ
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องการฟังเข้าใจขึ้นแล้วก็อบรม แล้วทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังจะกระจ่างเมื่อปัญญารู้ลักษณะนั้นด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น ไม่อย่างนั้นก็เป็นชื่อทั้งหมด อย่างขันธ์ก็บอกได้เลย ๑๑ ประการ มีอะไรบ้าง แต่เดี๋ยวนี้เป็นขันธ์ หรือไม่ เมื่อไม่ระลึกจะกล่าวได้อย่างไรว่า ขณะนี้ต่างกับขณะก่อน ข้อสำคัญคิดล่วงหน้าเสมอ แม้ในขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ ล่วงหน้าเป็นคนแล้ว เพราะอะไร เพราะไม่ได้เข้าใจลักษณะที่เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ติดอยู่ตรงนี้ โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า ตรงไหนที่ติด ตรงไหนที่ไม่รู้ ตรงไหนที่ไม่เข้าใจ และตรงไหนที่กล่าวว่า ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังจนกว่าเมื่อไรเริ่มเข้าใจ จะต้องกล่าวไหมว่า สติเกิดเพราะกำลังมีสิ่งที่ปรากฏ และกำลังเริ่มเข้าใจถูก
ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ขยายความที่ว่า การจะศึกษาพระไตรปิฎกจะต้องมีพื้นฐานพระอภิธรรมที่เข้าใจอย่างมากๆ อย่างลึกซึ้ง จึงจะทำให้ศึกษาพระไตรปิฎก ถึงแม้จะเป็นพระสูตร โดยที่ไม่เข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ผ่าน และไม่ข้ามแต่ละคำ ซึ่งก็คงจะยกตัวอย่างบ่อยๆ คือคำว่า “ธรรม” คำเดียว ถ้าเข้าใจจริงๆ ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะทุกอย่างเป็นธรรม แต่ละคำจริงแต่ว่าปัญญาสามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้ระดับไหน ระดับเพียงฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ว่าตัวธรรมที่กำลังปรากฏเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ตรงนี้ยังไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้นการอ่านพระไตรปิฎก และเข้าใจถูกต้องขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็จะรู้ว่า ไม่มีใครที่สามารถเข้าใจทั้งหมดในพระไตรปิฎกได้โดยแจ่มแจ้ง จะเข้าใจเพียงบางส่วน เพราะว่าพระไตรปิฎกคืออะไร คำสอนจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง
เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมก็คือ เป็นผู้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ตั้งแต่เริ่มฟังว่า มีความรู้ความเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังแค่ไหน หรือเพียงแต่ได้ยินแล้วก็รู้ว่าจริง และมีสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงที่ได้ฟังด้วย แต่ว่ายังไม่ถึงกาละที่สามารถประจักษ์ถึงความจริงนั้น ซึ่งสามารถจะประจักษ์ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้มีศรัทธาที่จะเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วเกิดมามีอะไรที่ประเสริฐกว่าการที่จะรู้ความจริง ซึ่งเป็นการรู้จักชีวิต รู้จักทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะไม่ว่าเราจะคิดถึง หรือกล่าวถึงสภาพธรรม เหตุการณ์ใดๆ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องทั้งนั้น วันนั้นคนนั้นทำอย่างนี้ วันนี้ทรัพย์สมบัติหายไป วันนั้นมีโจรผู้ร้าย มีพายุ มีน้ำท่วม แต่ความจริงแท้คืออะไร ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องราว ถ้าไม่มีสภาพธรรมซึ่งเกิดดับตั้งแต่เริ่มเกิด เมื่อเกิดดับสืบต่อมากขึ้น ก็ถึงภาวะของความชรา คือ สิ่งที่เกิดดับสืบต่อก็จะต้องมีความชราแวดล้อม จริงๆ ก็คือทุกขณะ แล้วก็มีการเจ็บ มีใครบ้างที่จะพ้นจากความเจ็บ แล้วสุดท้ายมีใครบ้างที่พ้นจากความตาย
เพราะฉะนั้นถ้าสามารถเข้าใจจริงๆ ว่า ชีวิตไม่มีอะไร นอกจากเกิดมาแล้วก็มีการเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกเรื่องสิ่งต่างๆ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง แล้วก็คือตาย แต่ก่อนจะตาย ก็สามารถจะเห็นความจริงได้ว่า ไม่ต้องถึงตาย เพียงแค่หลับ ก็ไม่มีอะไรเหลือเลย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย กำลังหลับมีไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ของใคร เป็นแต่เพียงธรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้มีธาตุรู้เกิดขึ้น เห็นสิ่งนั้นแล้วก็หมดไปทุกขณะ ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่สามารถถือธรรมหนึ่งธรรมใดว่าเป็นเราได้เลย และไม่มีใครพ้นจากเกิด และตาย เพราะฉะนั้นก็คือแค่นี้ และประโยชน์สูงสุด ก็คือจะมีความเห็นถูกในสภาพธรรมซึ่งสั้นมาก ถ้าจะคิดว่าเกิดมาอายุไม่เท่าไรก็ตาย แต่สั้นกว่านั้นอีก คือ สามารถที่จะรู้ความจริงว่า แต่ละขณะก็เหมือนกับการจากไปด้วยความตาย คือ สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ปรากฏแล้วไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะจากโลกนี้ไป จะไปด้วยความติดข้องมากมายในทุกสิ่งทุกอย่าง และความไม่รู้ต่อๆ ไป หรือว่ายังสามารถที่จะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีการบังคับบัญชาได้เลย อะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต ตอนเกิดมาเป็นเด็ก มีใครรู้ไหมว่า ชีวิต ณ บัดนี้ วันนี้จะเป็นอย่างนี้ ไม่มีเครื่องหมายอะไรที่จะแสดงล่วงหน้าเลย แต่ก็มีปัจจัยพร้อมที่จะเป็นไป แต่ละชีวิตต่างกันมาก แม้แต่ความคิดแต่ละขณะในขณะนี้ ฟังด้วยกัน ความคิดที่เกิดจากการฟังต่างกันไปอีกเท่าไร และมีคนอีกเท่าไร เพราะฉะนั้นความวิจิตรของธรรมมากมายมหาศาล จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเพียงธรรม ถ้าเข้าถึงความเป็นธรรม จะยังคงต้องการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสต่อไปอีก หรือว่ารู้ว่า ก็แค่ธรรมเกิดขึ้นแล้วก็หมดไปเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ศึกษาพระสูตรก็ให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ที่บอกว่า ให้เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ ก็จะกลายเป็นตัวตนที่จะไปเบื่อหน่าย และคลายกำหนัด ซึ่งจริงๆ ถ้าศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรมพอเข้าใจบ้าง ก็จะทราบว่าเป็นปัญญาที่เป็นตรงนั้น
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น เห็นมีจริงๆ เห็นเป็นตัวตน หรือไม่ อยากรู้จักตัวตน อยากหาตัวตน แต่เวลาที่มีความเข้าใจถูกเกิดขึ้น มีแต่ธรรม อย่างเห็นขณะนี้มีจริงๆ ถ้าไม่รู้ก็เป็นเราเห็น หมายความถึงเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเราคนหนึ่งซึ่งกำลังเห็น แต่ถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ก็คือขณะนี้ที่กำลังเห็น เริ่มเข้าใจถูก พื้นฐานพระอภิธรรมไม่ใช่เพียงแต่ให้ฟังชื่อ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่พื้นฐานพระอภิธรรม คือ ตัวของธรรม ซึ่งถ้าใช้คำว่า “ธรรม” ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สิ่งนั้นมีจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง เพราะถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครที่จะบอกว่า “เห็นเป็นธรรม” เห็นมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็คือฟังเพื่อจะเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ จนกว่าเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะ เพราะมีลักษณะจริงๆ อย่างเร็วมาก เห็นขณะนี้เกิดแล้วดับเร็วมาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎเกิดแล้วดับเร็วมาก จนยากที่จะรู้ได้ ต้องอาศัยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ พิจารณา เป็นความเห็นถูกในขั้นฟังอย่างมั่นคง จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้สติสัมปชัญญะเกิด
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 361
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 362
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 363
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 364
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 365
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 366
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 367
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 368
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 369
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 370
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 371
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 372
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 373
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 374
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 375
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 376
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 377
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 378
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 379
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 380
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 381
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 382
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 383
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 384
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 385
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 386
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 387
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 388
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 389
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 390
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 391
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 392
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 393
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 394
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 395
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 396
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 397
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 398
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 399
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 400
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 401
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 402
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 403
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 404
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 405
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 406
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 407
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 408
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 409
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 410
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 411
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 412
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 413
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 414
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 415
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 416
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 417
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 418
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 419
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 420