พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 372


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ จะไม่เอาเรื่องนั้นมาปนกับเรื่องนี้ จะมีชีวิตยืนยาว เพราะมีรูปนั้นรักษาดำรงอยู่ นั่นคือไม่ได้เข้าใจแต่ละรูป แต่เป็นเรื่องที่คิดนึกขึ้นมา แล้วก็เอาความหมายมาคิดเอง แต่ว่าตามความเป็นจริงจะต้องรู้จริงๆ ว่า แม้แต่คำว่า “ชีวิตินทรียะ” ซึ่งเป็นใหญ่ที่เป็นรูปก็ต้องเป็นรูป จะเป็นนามธรรมไม่ได้ และที่เป็นนามธรรมก็เป็นนามธรรม จะเป็นรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความรู้เป็นพื้นฐานที่มั่นคง ไม่ไขว่เขว แต่ว่าค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น ถ้ากล่าวถึง “ชีวิตินทรียะ” ซึ่งเป็นนามธรรม เพียงเท่านี้ และนามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร จะหลับ จะตื่น ขณะเกิด ขณะจุติ ขณะไหนก็ตาม จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็เข้าใจว่า สภาพธรรมอื่นที่ไม่ได้เป็นอย่างนี้ เป็นเจตสิกทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึง ชีวิตินทรียะซึ่งเป็นนามธรรม เราก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะว่าเกิดกับจิตพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ โดยความหมายที่ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการดำรงชีวิตให้เป็นไป แม้แต่จิตเกิดขึ้นที่จะเป็นไปตั้งแต่อุปาทจนถึงภังคขณะ ก็โดยอาศัยเจตสิกนี่เอง ซึ่งเป็นชีวิตินทรียเจตสิกเกิดร่วมด้วยแสดงให้เห็นความละเอียด และความที่ไม่ใช่เป็นธรรมที่แข็งแรงมั่นคง แตกย่อย ทำลายไม่ได้ แต่แม้แต่จิตที่เป็นนามธรรม ก็เพียงมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วยังต้องอาศัยปัจจัยที่เกิดร่วมด้วย จะใช้คำว่า ประคับประคอง หรือเกิดร่วมกัน ทำกิจร่วมกันของแต่ละสภาพธรรม คือ จิตก็ทำหน้าที่ของจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้น เกิดร่วมกัน และดับพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็จะเข้าใจความหมายของเจตสิกแต่ละเจตสิกซึ่งต่างกันเพิ่มขึ้น อย่างชีวิตินทรียเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะว่าจิตเป็นสภาพซึ่งเป็นนามธรรม เพียงเกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับไป แต่ยังต้องอาศัยที่จะมีชีวิตดำรงอยู่ เมื่อเกิดแล้วยังไม่ได้ดับไปทันที ยังมีกิจการงานของจิตที่จะต้องทำในขณะที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยเจตสิกหนึ่งคือ ชีวิตินทรียเจตสิก ซึ่งทำให้สภาพของจิต และเจตสิกทั้งหมดดำรงอยู่ชั่วขณะที่เป็นไป คือ ๓ อนุขณะเท่านั้น ก็จะเห็นว่า ชีวิตเป็นอย่างไร มั่นคง ยืนยาว หรือว่าน้อยเหลือเกิน และเป็นไปได้โดยอาศัยปัจจัยหลายปัจจัยด้วย และก็เป็นเรา หรือ ควรที่จะยึดถือไหม ควรที่จะพอใจไหมในสภาพธรรมที่เพียงเกิดแล้วก็ดับไปอย่างเร็วสุดจะประมาณได้ โดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ตราบใดที่ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้วทรงแสดงพระธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็ต้องฟัง ถ้ากล่าวถึงนามธรรม จะเป็นรูปธรรมไม่ได้เลย และถ้ากล่าวถึงรูปธรรมก็จะเป็นนามธรรมไม่ได้ และแต่ละคำควรจะเข้าใจความหมายจริงๆ ถ้าถึงชีวิตินทรียรูป ซึ่งอาจจะพูดสั้นๆ ว่า ชีวิตรูป รูปที่เป็นสภาวรูปทุก รูปมีอายุเท่ากัน เท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ไม่ว่าจะเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเกิดจากกรรม หรือเกิดจากจิต หรือเกิดจากอุตุ หรือเกิดจากอาหาร อายุเท่ากันไหม คือ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ สภาวรูปดับ เท่ากันหมด แต่ความต่างกันก็คือว่า ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมซึ่งเกิดจากจิต เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหาร เกิดจากกรรม แสดงถึงเหตุ หรือสมุฏฐานที่ทำให้เกิดแล้ว แม้แต่แข็งเกิดจากกรรมก็มี เปลี่ยนแข็งให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ธาตุไฟ คือความร้อนที่เกิดจากกรรมก็ร้อน จะเปลี่ยนธาตุไฟนั้นให้เป็นอื่นไม่ได้ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไม่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานใดๆ ก็เปลี่ยนลักษณะไม่ได้ และมีอายุเท่ากันด้วย คือเกิดขึ้นแล้วดับไปเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรม กรรมทำให้ชีวิตินทรียรูปเกิดร่วมกับกลาป หรือกลุ่มของรูป ซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ทำให้ต่างกับรูปอื่น แม้ว่าอายุของการเกิดดับจะเท่ากันหมดก็ตามแต่ อย่างอสัญญสัตตาพรหมไม่มีนามธรรมเลย แต่รูปของอสัญญสัตตาพรหมที่จะปฏิสนธิเป็นรูปปฏิสนธิเกิดเพราะกรรม เพราะฉะนั้นรูปของอสัญญสัตตาพรหมไม่เหมือนรูปซึ่งไม่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน จึงมีชีวิตินทรียรูปร่วมด้วยในทุกกลาปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้เราไม่สามารถรู้โดยละเอียดถึงแต่ละรูป ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏยังไม่รู้ แล้วรูปที่ไม่ปรากฏ อย่างชีวิตรูป หรือ ชีวิตินทรียรูป ฟังเพื่อให้เข้าใจความต่าง ถึงความหลากหลาย โดยเฉพาะก็คือ เห็นความต่างของผู้ที่ไม่รู้กับปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางเลยที่จะไปนึกถึงว่า พระองค์ทรงแสดง ๔๕ พรรษาโดยความละเอียด และใครจะไปรู้ทั่วถึงได้ทั้งหมด เพียงฟังเข้าใจ จะประจักษ์แจ้งทั้งหมดได้ไหม หรือว่าแล้วแต่ปัจจัยที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้ง อย่าประมาท และอย่าข้าม คือ ฟังให้มีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนถี่ถ้วนจึงจะรู้ว่า นั่นถูกต้อง ถ้ายังรู้สึกว่า ยังติดๆ ขัดๆ ยังไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น แสดงว่ายังไม่ได้แจ่มแจ้งในความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง อย่างนี้หมายความว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เมื่อเราศึกษา ยกตัวอย่างว่า ในรูป ๒๘ เราก็ทราบว่า มีรูป ๗ รูปเท่านั้นที่เราสามารถรู้ได้

    ท่านอาจารย์ จริง หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเมื่อแสดงแล้ว แต่ความเป็นจริงในชีวิตประจำวันเป็นอย่างนั้น หรือไม่ แสดงธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามความไม่จริง

    ผู้ฟัง เมื่อคิดพิจารณาแล้วก็ใช่ว่า เราสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง กระทบสัมผัสแข็ง และขณะรูปที่เหลืออีก ๒๑ รูปที่เราไม่รู้ได้ ก็คือให้เราเข้าใจเท่านั้นว่า เขาเกิดอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร มีสมุฏฐานอะไรให้เกิด เพื่อให้เข้าใจความเป็นธรรม และความเป็นอนัตตาของเขาเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพื่อรู้ว่าไม่มีเรา ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรทั้งหมด ความเป็นจริงของธรรมแต่ละอย่างก็เป็นธรรม ซึ่งสามารถจะเข้าใจละเอียดขึ้นโดยไม่ไปเดา หรือไปคิดเอง อย่างที่จะไปคิดว่า เราดำรงชีวิตอยู่ก็เพราะชีวิตินทรียรูปรักษาตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างนั้นไม่ใช่ นั่นคิดเอาเอง ต้องพูดถึงแต่ละกลาป และมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ที่ต่างกันไปแต่ละกลาปหลากหลาย ในตัวก็มีทั้งรูปจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ต่างกับรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะว่ารูปที่จิตเป็นสมุฏฐาน ไม่มีชีวิตินทรียรูป ต่างกับรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน ต่างกับรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน แล้วเราอยู่ที่ไหน และอะไรเป็นของเรา ทุกอย่างเพียงปรากฏให้เห็น ปรากฏให้ได้ยิน รูปทั้งหมดจะเป็นของใครไม่ได้ นอกจากความจำโดยสมมติสัจจะเท่านั้นว่า ยังมีบ้านเรือน มีพี่มีน้อง มีโต๊ะ มีเก้าอี้ มีสมบัติมากมาย สมมติสัจจะที่คิดในเรื่องนั้นว่า เป็นของเรา หรือเป็นของคนอื่น ใช่ไหม เป็นของพี่ หรือเป็นของน้อง หรือเป็นของญาติ แต่ว่าความจริงก็คือว่า ไม่มีหมดเลย เป็นธรรมซึ่งปรากฏกับสภาพที่สามารถจะกำลังรู้สิ่งนั้นในขณะนั้น และทั้งหมดดับไม่เหลือเลย ไม่มีอะไรเหลือเลยทั้งนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนี้หมายความว่า ยกตัวอย่างเรื่องรูป การศึกษาเรื่องรูป เราต้องไม่สับสนปนเประหว่างสมุฏฐานที่ให้รูปเกิด ๔ ชนิด คือ อุตุ อาหาร กรรม และจิต และการแบ่งนัยต่างๆ ของรูป เช่น รูปที่สามารถรู้ได้ เป็นวิสยรูป หรือโคจรรูป กับรูปที่รู้ไม่ได้ หรือ สภาวรูปกับอสภาวรูป หรือรูปต่างๆ ที่เป็นภายใน ภายนอก ซึ่งเราต้องเข้าใจว่า ต้องไม่สับสนปนเป จึงเป็นความเข้าใจธรรมได้ ถ้าไปสับสนปนเปทำให้ไม่เข้าใจธรรมที่มีอยู่

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีรูปซึ่งสามารถจะรู้ได้ทางตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๓ รวมเป็น ๗ รูป แล้วถ้าไม่รู้อย่างนี้ ชื่อว่าเห็นถูกตามความเป็นจริง หรือไม่ นี่คือไม่ให้เราหลงผิดไปคิดว่า เราไปรู้รูปอื่นได้

    ผู้ฟัง พระธรรมคือให้ศึกษาแล้วพิสูจน์รู้ตามได้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูกตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง มีความเห็นถูก เข้าใจถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าศึกษานอกเหนือจากนี้ ก็ไม่มีโอกาสเข้าถึงพระธรรม เพราะเราไม่เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีอยู่ให้พิสูจน์

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เราก็ใช้คำที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ ย้ำอีกครั้งหนึ่ง มีรูปที่ปรากฏทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๓ รูป กำลังปรากฏ ศึกษาธรรมเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่ปรากฏก็ไม่รู้ นี่คือความหนาแน่นของอวิชชา และความไม่รู้ เพราะฉะนั้นศึกษาต้องรู้ว่า ศึกษาทำไม ก็สภาพธรรมกำลังปรากฏ และก็กล่าวถึงความจริงของสภาพธรรม ๔๕ พรรษา และสิ่งนี้ที่ปรากฏ จะรู้ได้เมื่อมีความเข้าใจถูกต้องตามลำดับ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย ตัดปัญหาเรื่องจะทำอย่างไร นั่นคือไม่มีทางที่จะรู้ เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง และอีกประการหนึ่งที่ท่านอาจารย์พูดในเทป รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร นามเป็นสภาพธรรมที่รู้ จริงๆ แล้วเราต้องฟังให้เป็นสัญญาที่มั่นคงจริงๆ ว่า ธรรมก็เป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่มีสัตว์ ตัวตน บุคคล ไม่ว่าจะฟังสักเท่าไรก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ อาศัยพระธรรมที่อนุเคราะห์ ๔๕ พรรษา ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว เกิดอีกเมื่อไร ถ้าได้ฟังก็ไม่พ้นจากสิ่งที่ปรากฏ แต่ความเข้าใจที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ละเอียดเล็กน้อยแค่ไหน คงไม่ลืมที่กล่าวถึงวันก่อน มูล หรือรากของอกุศลมี ๓ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ทางฝ่ายกุศลก็ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ อโมหะ ๑ อโมหะคือปัญญา รู้อะไร มีเท่าไร ในขณะที่มูลของฝ่ายอกุศลทั้ง ๓ มีเพียบ ใช่ไหม ทั้งวันทั้งคืน กี่ภพ กี่ชาติ ก็ต้องมีโมหะ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นเหตุให้มีความติดข้องเป็นโลภะ และบางกาละก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ

    เพราะฉะนั้นทางฝ่ายที่เป็นรากที่ลึก และมั่นคง ใหญ่โต หนาแน่นแค่ไหน และปัญญาเป็นรากงอกมาแล้วแค่ไหน เมื่อไรจะเจริญเติบโตสามารถที่จะดับทางฝ่ายอกุศลได้ ไม่เกิดอีกเลย ไม่เกิดอีกเลย ไม่ใช่ระงับไว้นาน แล้ววันดีคืนดีก็เกิดอีก นั่นไม่ใช่ปัญญาที่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถจะทำให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท จึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเพียงระงับกิเลส ไม่ต้องเป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะเหตุว่ามีการระงับกิเลส อบรมเจริญความสงบของจิตได้ฌานขั้นต่างๆ ทั้งรูปฌาน อรูปฌาน มีอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่ก็ไม่มีปัญญาที่เป็นรากที่จะทำให้เจริญเติบโต เป็นมูลที่มั่นคงที่สามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาทแต่ละคำ ก็ต้องพิจารณาตามความเป็นจริง สิ่งที่มีขณะนี้ เกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นไม่มีการที่จะเข้าใจได้เลยถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นความรู้ที่มากมาย และละเอียด ปัญญาเราก็ไม่มาก และในการศึกษาบ่อยครั้งก็สับสนว่า เราจะต้องรู้ละเอียดแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ "เรา" มาแล้ว แทนที่ฟังให้เข้าใจขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมหมด ตรงกับที่ได้ฟังแล้ว เราฟังแล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรม ฟังจบ เราเข้าใจแค่ไหน ตัวธรรมเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ลืมแล้ว หลงลืมตลอด

    ผู้ฟัง ความเป็นอนัตตา ก็จะลืม

    ท่านอาจารย์ ก็นั่นเอง ถึงเป็นผู้ที่เข้าใจความหมายของปัญญา แล้วก็รู้ว่า ตามความเป็นจริงอยู่ในโลกที่ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม อยู่ในโลกของนิมิตของสังขารทั้งหลายซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทำให้หลงยึดถือว่า มีคน มีสัตว์ มีวัตถุต่างๆ มั่นคง ไม่ดับเลยจริงๆ แต่ละชาติด้วย รากของโมหะก็ยิ่งลึก ก็ยิ่งหนาแน่น ทำให้เกิดทั้งโลภะ โทสะ มั่นคงต่อไปอีก

    ผู้ฟัง พอฟังเรื่องรูปแล้วสับสน เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นรูปที่สามารถพิจารณาได้ รู้ได้ อย่างสภาพแข็งที่กล่าวว่าเป็นสภาพของธาตุดิน

    ท่านอาจารย์ ไม่เรียกชื่อก็ได้ จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ เปลี่ยนแข็งไม่ได้ เพราะแข็งกำลังปรากฏ แต่ภาษาบาลีใช้คำว่า “ปฐวีธาตุ” ภาษาไทยก็แปลว่า ธาตุดิน แต่ไม่ได้หมายความถึงดินในกระถางต้นไม้ ดินที่พื้น แต่หมายความถึงลักษณะที่แข็ง

    ผู้ฟัง แต่เป็นลักษณะหนึ่งเดียวเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ แข็งมีจริงๆ หรือไม่ อ่อนมีจริงๆ หรือไม่ เรากำลังเข้าใจสิ่งที่มีจริงว่า สิ่งที่มีจริงนั้นเป็นอะไร และมีจริงๆ หรือไม่ ไม่ใช่พูดถึงสิ่งที่ไม่มี แต่สิ่งที่มีเป็นอะไรแน่ ปรมัตถสัจจะ ความจริงแท้ของสิ่งนั้นคืออะไร เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือว่าเป็นแข็ง

    ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่แข็ง เป็นแข็ง หรือเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้

    ผู้ฟัง เป็นลักษณะแข็ง

    ท่านอาจารย์ นี่คือความเข้าใจปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง แต่ว่าสิ่งที่กล่าวว่า รูปอย่างน้อยๆ เมื่อเกิดจะต้องเกิดร่วมกัน ๘ รูป

    ท่านอาจารย์ แข็งกับร้อนเป็นรูปเดียวกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง คนละลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ๒ แล้ว ตึงกับแข็ง หรือร้อน เป็นลักษณะเดียวกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง คนละลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ก็เพิ่มมาอีกแล้ว ๘ นั้นครบแน่ ที่เกิดพร้อมกัน

    ผู้ฟัง แต่ว่าเวลาปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ทีละทาง แล้วแต่ว่าจะสามารถปรากฏได้ทางไหน อย่างสีสันวัณณะไปปรากฏทางหูได้ไหม (ไม่ได้) ถึงแม้ว่าจะมีจักขุปสาท จะเห็นตลอดไป หรือไม่ หรือเมื่อถึงกาละที่กรรมให้ผล ที่จะทำให้จักขุวิญญาณเกิดเมื่อไร สิ่งนี้จึงปรากฏกับจักขุวิญญาณ เห็นไหมแม้แต่เพียงการเห็น ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

    ผู้ฟัง อย่างนี้แสดงว่า ลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ เป็นลักษณะที่จะรู้ได้เพียงบางประเภทเท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ๗ รูปสามารถปรากฏได้ในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง แล้วนอกเหนือจากนั้นที่เราศึกษาแล้วทำความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ให้รู้ว่า มีรูปอื่นด้วยแม้ไม่ปรากฏในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง อย่างจักขุปสาทรูปเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้ว เข้าใจแล้วว่ามี หรือไม่

    ผู้ฟัง มี แต่ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ไม่สามารถรู้ได้

    ท่านอาจารย์ รูปที่ปรากฏ ๗ รูป

    ผู้ฟัง แม้ ๗ รูปนี้ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ในลักษณะของสภาวะจริงๆ ของ ๗ รูปนั้น

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจ แข็งปรากฏแล้วกับทุกสิ่งที่มีชีวิตที่มีกายปสาท แต่ไม่รู้ ไม่เข้าใจว่า แข็งนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เข้าใจอย่างไร เพราะว่าอย่างท่านอาจารย์กล่าวก็เข้าใจว่า..

    ท่านอาจารย์ เด็กรู้ไหมว่าอะไรแข็ง

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่รู้ลักษณะที่แข็ง แต่ไม่มีความเห็นถูกว่า แข็งเป็นธรรมที่เพียงปรากฏแล้วหมดไป

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นลักษณะของแข็งที่เป็นสภาวะ หรือลักษณะย่อมต่างจากแข็งที่เป็นปกติที่เกิดโดยคนที่ศึกษาธรรมรู้จักแข็ง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แข็งไม่เปลี่ยน ปัญญารู้แข็ง อวิชชาก็รู้แข็ง แต่อวิชชาไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูก ในแข็ง แต่ปัญญาสามารถรู้ลักษณะซึ่งเพียงปรากฏแล้วหมดแล้วด้วย ในเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่รู้ ยังไม่รู้ ควรจะรู้ หรือไม่ควรจะรู้ เพราะกำลังปรากฏจริงๆ

    ผู้ฟัง แต่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ อวิชชารู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณสุกัญญา แต่ว่าอวิชชารู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีปัญญาที่จะรู้ หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ และปัญญาที่รู้จะมีได้ไหม วันหนึ่งถ้าปัญญาเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ยังสงสัย ยังไม่เข้าใจชวนกิจกับการคิด

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นก็ขอเน้นอีกครั้งหนึ่งเรื่อง "พื้นฐานพระอภิธรรม" ทุกคนก็อาจจะสงสัยว่าเมื่อไรจะพ้นจากพื้นฐานพระอภิธรรมเสียที อาจจะมีบางคนคิดอย่างนั้น แต่ตามความเป็นจริงถ้ารู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม มีความละเอียดที่จะรู้ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่รู้ง่าย หรือรู้ยาก และถ้าไม่เป็นความเข้าใจถูกจริงๆ มีโอกาสไหมที่จะรู้ธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าปริยัติคือการศึกษาโดยทั่วโดยรอบทั้งหมดของสิ่งที่ปรากฏให้มีความเข้าใจให้ถูกต้อง จะนำไปสู่ “ปฏิปัตติ” คือ สามารถถึงความเป็นธรรมของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่ศึกษาธรรม เป็นผู้จริงใจที่จะฟังพระธรรม และมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สำเร็จเพราะคิด แล้วก็สอนเพราะคิด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ปัญญาที่ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ธรรมใดยังไม่เกิด มีใครจะไปรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ไหม ธรรมใดที่หมดไปแล้ว มีใครจะไปตามรู้ความจริงของสิ่งที่ไม่มีการปรากฏให้รู้ได้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ขณะนี้ความลึกซึ้งของธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ฟังพระธรรมเลย จะไม่เข้าถึงความหมายของ “สัมมาสัมพุทธะ” และพระมหากรุณาที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมียิ่งกว่าใครในห้องนี้ทั้งหมดเลยในแสนโกฏิกัปป์ นานแสนนานมาแล้ว ผ่านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากี่พระองค์ กว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นต้องรู้ ถ้าเป็นผู้ที่จริงใจต่อการฟังธรรม ต้องฟังด้วยความเคารพนอบน้อมโดยละเอียด ที่จะไม่เปลี่ยนธรรมที่ปรากฏ โดยคิดนึกเองว่า นี่เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่การทรงแสดงเรื่องธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมดในพระไตรปิฎกแล้วๆ เล่าๆ ก็เพื่อให้สามารถเกิดความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนประจักษ์แจ้งได้

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนต้องรู้ พื้นฐานก็คือการสามารถเห็นถูก เข้าใจถูก เริ่มจากการละความเป็นเราที่อยากจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีเรา อย่าลืม ฟังแล้วต้องไม่ลืม เป็นธรรม แล้วธรรมที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็คือปัญญา ณ บัดนี้ มีปัญญาแค่ไหนที่จะพ้นจากเป็นพื้นฐานที่จะทำให้แม้สติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะ ทั้งๆ ที่ลักษณะกำลังปรากฏ ก็ข้ามไปอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าคิดเรื่องอื่น หรือไม่รู้ว่า แท้ที่จริงเรื่องทั้งหมดที่มี ก็เพราะมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้วดับในขณะนี้สืบต่อ โดยไม่ปรากฏ เพราะว่าปัญญาไม่ได้อบรมถึงการประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    23 ธ.ค. 2566