พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 362


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    อ.กุลวิไล แต่ถ้ากรรมประเภทนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยให้รูปประเภทใดเกิด ก็เว้นรูปกลาปนั้นๆ ทั้งในปฏิสนธิกาล (ขณะปฏิสนธิจิตเกิด) และในปวัตติกาล คือ ขณะหลังปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ๗ กลาป ไม่ใช่ ๗ รูป และแต่ละกลาปก็ต้องมีชีวิตรูปด้วย อย่างเช่น หทยทสกกลาป อย่างน้อยก็ต้องมีอวินิพโภครูป ๘ มีชีวิตรูป ๑ และมีหทยรูป ๑ รวมเป็น ๑๐ รูป

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ศึกษาธรรม ถ้าจะกล่าวโดยนัยต่างๆ ถ้ากล่าวถึงจำนวนรูปทั้งหมดมี ๒๘ ถ้าจะแยกเป็นประเภท คือ มหาภูตรูปกับอุปาทายรูป ก็คือเป็นมหาภูตรูป ๔ เป็นอุปาทายรูป ๒๔ ยังไม่ต้องไปปะปนกับอะไรทั้งสิ้น หมายความว่าให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า รูปมี ๒๘ จริง แต่ในบรรดารูป ๒๘ มี ๔ รูปเป็นมหาภูตรูป เพราะฉะนั้นที่เหลือเป็นอุปาทายรูป ๒๔ เมื่อเรามีความเข้าใจอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ผิด ถูกต้อง ต้องเป็นอย่างนี้ และรูปเกิดจากสมุฏฐาน แล้วแต่ว่ารูปนั้นมีอะไรเป็นสมุฏฐาน เช่น กรรมเป็นสมุฏฐาน กรรมที่ได้กระทำแล้วสามารถก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้นได้ แม้แต่จิตก็สามารถก่อตั้งให้รูปเกิดได้ แม้แต่อุตุ ความเย็นความร้อนก็ทำให้รูปเกิดได้ แม้แต่อาหารที่รับประทานเข้าไปก็ทำให้รูปเกิดได้ นี่พูดถึงสมุฏฐาน เพราะฉะนั้นก็จะต้องแยกออกไป ยังไม่พูดถึงจำนวนเท่าไรทั้งสิ้น แต่พูดถึงสมุฏฐานว่า รูปเกิดจากสมุฏฐานอะไรบ้าง ทีนี้ขอถามว่า รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีจิตเป็นสมุฏฐาน หรือไม่ในขณะที่เกิด

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ นี่คือไม่ได้แยกแล้ว ๑ กลาปที่เล็กมาก และเกิดเพราะสมุฏฐานใด จะมีสมุฏฐานอื่นมาเกิดร่วมด้วยในกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดที่เกิดเพราะสมุฏฐานนั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ที่เล็กที่สุดก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละกลาปก็รู้ว่า กลาปนั้นมีอะไรเป็นสมุฏฐาน อย่างจักขุปสาทรูป เป็นอุปาทายรูป หรือมหาภูตรูป

    ผู้ฟัง ไม่ใช่มหาภูตรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มหาภูตรูป เป็นอุปาทายรูป มหาภูตรูปเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานได้ไหม

    ผู้ฟัง เกิดได้

    ท่านอาจารย์ รูปเกิดจากกรรมก็ได้ รูปกลุ่มใดเกิดจากกรรม รูปนั้นมีกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปเกิดจากจิตก็ได้ รูปใดเกิดจากจิต รูปนั้นมีจิตเป็นสมุฏฐาน รูปใดเกิดจากอุตุ รูปนั้นก็มีอุตุเป็นสมุฏฐาน รูปใดเกิดจากอาหาร รูปนั้นก็มีอาหารเป็นสมุฏฐาน แต่ละรูปเกิดแล้วดับไปเร็วมาก จะมีอย่างอื่นเป็นสมุฏฐานอีกไม่ได้ แต่ละกลุ่มก็เกิดจากสมุฏฐานหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ ๒ สมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้นมหาภูตรูปเกิดได้จากกี่สมุฏฐาน เห็นไหมว่าธรรมดาเป็นเหตุเป็นผล กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดรูปก็ได้ จิตเป็นปัจจัยให้เกิดรูปก็ได้ อุตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูปก็ได้ อาหารเป็นปัจจัยให้เกิดรูปก็ได้ เพราะฉะนั้นมหาภูตรูปซึ่งเป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน ต้องมีรูปนี้ รูปอื่นจะมีไม่ได้เลยถ้าไม่มีรูปนี้ เพราะฉะนั้นมหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมก็มี แต่มหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมไม่ใช่มหาภูตรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มหาภูตรูปที่เกิดจากจิตก็มี แต่มหาภูตรูปที่เกิดจากจิตไม่ใช่มหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มหาภูตรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี แต่มหาภูตรูปที่เกิดจากอุตุไม่ใช่มหาภูตรูปที่เกิดจากกรรม จิต และอาหารเป็นสมุฏฐาน อันนี้พอที่จะเข้าใจตามลำดับ และจำนวนก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อมีความเข้าใจก็ไม่สับสน

    ผู้ฟัง ลักษณะของรูปที่ปรากฏ อย่างลักษณะของธาตุดินที่ปรากฏ ต้องใช้คำว่า มองเห็นดิน ซึ่งทุกคนจะเข้าใจในประโยคนี้ แต่ไม่ใช่ลักษณะสภาพจริงๆ ที่ปรากฏกับจิตเห็นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ลักษณะจริงๆ อะไรปรากฏกับจิตเห็น

    ผู้ฟัง จากการศึกษาก็ต้องเป็นลักษณะของสีที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้

    ผู้ฟัง อย่างธาตุไฟ เราก็สามารถจะมองเห็นได้

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไรของไฟ หลับตาแล้วเห็นไหม

    ผู้ฟัง หลับตาไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาลืมตาเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เห็นสี

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เข้าใจว่า นั่นคือไฟ แต่สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เอง แล้วแต่จะคิด แล้วแต่จะจำว่าเห็นอะไร แต่ความจริงสิ่งที่ถูกเห็น ตาสามารถเห็นได้ สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ได้ ก็คือสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ เมื่อกำลังเห็น

    ผู้ฟัง ทีนี้มองเห็นดอกกุหลาบซึ่งจะมีสีชมพูกับสีขาว ลักษณะที่ปรากฏทางตา ถ้าจะกล่าวว่าคือสี สีชมพูกับสีขาวก็ไม่ใช่สภาพปรมัตถธรรมใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ จะเรียกสี จะเรียกดอกกุหลาบ หรือจะเรียกอะไร แต่ความจริงก็คือสิ่งที่ปรากฏกำลังถูกเห็น

    ผู้ฟัง และลักษณะที่ปรากฏก็คือรูปชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะว่ารูปหมายถึงสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย

    ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าเรากล่าวว่า เราเห็นดิน เห็นไฟ เห็นดอกไม้ อันนี้ก็ไม่ใช่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ สิ่งที่ปรากฏ คือ กำลังปรากฏแล้วก็ดับไป แค่นั้นเอง มีจริง กระทบ จิตเห็นเกิดขึ้น เห็นแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาคืออะไรคะ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ไง เรียกชื่อได้ไหม หรือไม่ต้องเรียก ใช้ภาษาอะไรก็ได้ ไม่ใช้เลยก็ได้ แล้วมีจริงๆ หรือไม่ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตา มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ อันนั้นแหละคือสิ่งที่ปรากฏให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น เห็นได้ สิ่งเดียวที่เห็นได้ คือ จิตสามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง แม้ว่าสิ่งที่เราเห็นจะเรียกอะไรในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ เรียกไปเถอะ เปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ไหมให้เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ได้ฟังเรื่องราว และชื่อของรูป โดยมีสภาพธรรมอย่างไร โดยละเอียด และจะกล่าวว่า รู้จักลักษณะของรูป ซึ่งเป็นรูปธรรมตัวจริงๆ ซึ่งกำลังเกิดอยู่ขณะนี้ได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟังจะรู้ไหมว่าจริงๆ แล้วขณะนี้มีสิ่งที่กำลังเพียงปรากฏให้เห็นทางตา ไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม ก็มีธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถเพียงปรากฏเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าตาบอด จิตเห็นเกิดไม่ได้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ก็เป็นสภาพที่มีจริงอย่างหนึ่ง มีลักษณะที่ปรากฏกับจิตที่กำลังเห็นเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง ก็มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างซึ่งสามารถจะปรากฏให้รู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ใช่สีใดสีหนึ่งใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเรียก อะไรก็ได้ที่กำลังปรากฏขณะนี้ เปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง อย่างคนตาบอดสี

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตาม หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตาเท่านั้น จะเรียกอะไรก็ได้ ไม่เรียกก็ได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ลักษณะของสภาพธรรมที่ทุกวันนี้เราก็เข้าใจ ที่ท่านอาจารย์ถามว่า เห็นไหม เราก็ตอบว่าเห็น แต่สิ่งที่เราเห็น ยังไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือ

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เห็นสี เห็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เห็นทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเอาคำว่า "สี" ออก เอาคำว่า "สัตว์" "บุคคล" "ตัวตน" ออก ยังมีสิ่งที่ถูกเห็น และกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไหม ตัดชื่อออกหมดเลย ไม่คิดถึงชื่อใดๆ เลย แต่ขณะนี้เมื่อมีเห็น ก็มีสิ่งที่กำลังถูกเห็น กำลังปรากฏให้เห็น เป็นความจริง หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ ถ้าตาบอด จิตเห็นไม่เกิด แม้สิ่งนี้มี ก็ไม่ได้ปรากฏเลย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นการเห็นของจิตแต่ละขณะ ก็จะต้องต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องมีจักขุปสาทรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่เลือก ไม่เจาะจงว่าจะเป็นลักษณะใดทั้งสิ้น แต่เป็นสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ เท่านั้นเอง ความจริงคือเท่านั้น

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์กล่าว ก็ทำให้มีความรู้สึกว่า ห่างไกลจากสภาพธรรมตามความเป็นจริงมากมายมหาศาล เพราะว่าในชีวิตประจำวัน ท่านอาจารย์ถามว่า เห็นไหม นี่คือเห็น แต่ไม่ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เห็นสี กับ เห็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ปรากฏทางตา หรือไม่ หรือปรากฏทางหู

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ทางหู

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้เห็น ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จะเรียกอะไรก็ตาม ไม่เรียกเลยก็ได้ แต่ว่ามีจริงๆ เพราะเห็นแล้ว จะบอกว่า สิ่งที่ถูกเห็น ไม่มีได้อย่างไร แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ว่าสิ่งที่ปรากฏลักษณะจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ถ้าไม่มีการคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ก็เกิดแล้วดับสืบต่ออย่างเร็ว จนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตต่างๆ และสัญญาก็จำในนิมิตต่างๆ กันว่าเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นโต๊ะบ้าง เป็นเก้าอี้บ้าง แต่ลักษณะแท้จริง คือ สิ่งนั้นเป็นธาตุที่มีจริง ซึ่งสามารถปรากฏกับจิตเห็น เมื่อธาตุนั้นกระทบกับจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีจักขุปสาท อย่างที่สมมติเรียกกันว่า โต๊ะ เก้าอี้ ไม่มีจักขุปสาท ไม่มีทางเห็นเกิดขึ้นได้เลย ต่อเมื่อใดที่ใดก็ตามเอารูปอื่นออกหมด แต่มีจักขุปสาทที่สามารถกระทบกับรูปนั้น แล้วก็เป็นปัจจัยให้ธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น นี่คือชั่วขณะหนึ่งที่เราคิดว่ามีโลกกว้างใหญ่ มีคนมากมาย มีเราทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ความจริงไมมีอะไรเลย นอกจากธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วสืบต่อ โดยที่ไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือชั่วลักษณะที่ปรากฏแต่ละลักษณะเท่านั้นเอง แต่ปรากฎสืบต่อให้จำ ให้มีสัญญาวิปลาสว่าสิ่งนั้นเที่ยงไม่ได้ดับ แล้วก็ยังเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย แต่ความจริงแล้วก็เป็นธรรมทั้งหมด ที่มีลักษณะต่างกัน

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์กล่าวมาแล้ว จริงๆ แล้วก็ทำให้พิจารณาการเห็น ในชีวิตประจำวันว่า จิตที่เห็น พอเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็คือสภาพความคิดนึกที่เกิดขึ้นหลังจากการเห็น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ทำให้หมกมุ่น และครุ่นคิดกับการเห็นนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะมีเราที่พยายามจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ปกติคือฟังเข้าใจแล้วก็จบ ฟังอีกก็เข้าใจอีก ค่อยๆ สะสมความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ไปเปลี่ยนชีวิตให้เป็นอย่างอื่น ปกติธรรมดา ก็ฟังเรื่องอื่นก็ฟัง ฟังเรื่องไหนก็เข้าใจเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นขณะนี้ปกติก็คือฟังเรื่องหนึ่งซึ่งทำให้เข้าใจ ต่างกับเรื่องอื่น คือ สามารถเข้าใจความจริงในชีวิตประจำวันตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นความรู้ของพระองค์ต้องต่างจากความรู้ของบุคคลอื่น มิฉะนั้นไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นความต่าง ก็คือพระปัญญาที่สามารถเมื่อได้บำเพ็ญพระบารมี ลองคิดดูว่า ทำไมเราไม่รู้ความจริงนี้ เพราะกิเลสมากมายเหลือเกิน มากมายจากอวิชชา ทั้งริษยา ทั้งมานะ ทั้งมัจฉริยะ มีทุกอย่างทั้งหมดในแต่ละชาติ แล้วจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏได้อย่างไร ในเมื่อติดแน่นในความไม่รู้ และเห็นเป็นเรื่องเป็นราว ติดอยู่กับเรื่องราวตลอด โดยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงก็เพราะมีธรรมซึ่งเกิดดับเร็วจนไม่รู้ จึงทำให้ยึดถือว่าเป็นเรื่องราวของสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นโลก เป็นญาติพี่น้อง เป็นอะไรๆ ต่างๆ ทั้งหมด แล้วก็ติดอยู่ตรงนี้ เพราะไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วเพราะมีธรรมเกิด แล้วไม่รู้ความจริง แม้ขณะที่นั่งอย่างนี้ ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่รู้ความจริง จึงเป็นคน เป็นสัตว์ที่ยั่งยืน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เปลี่ยน แต่ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เมื่อเห็นแล้วก็มีการรู้ คิดถึงสิ่งที่ปรากฏเป็นเรื่องราวต่างๆ จนกว่าเมื่อไรไม่คิด เมื่อนั้นก็ไม่มีอะไรเลย เช่น ขณะที่หลับสนิท ทำไมไม่มีเรื่องอะไร เพียงแต่ได้ยินนิดเดียว แต่ไม่คิด จะมีเรื่องของสิ่งนั้นไหม เพียงแค่มีความรู้สึกเย็นนิดเดียวทางกาย ไม่มีเรื่องอะไรแล้ว ถ้าไม่คิดต่อไป ถ้าร้อน โลกนี้เริ่มร้อน ร้อนขึ้นๆ กำลังจะแย่แล้ว ก็เป็นเรื่องขณะที่กำลังมากระทบสิ่งที่ร้อน และมีความคิดนึกเรื่องร้อน โดยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงลักษณะที่ปรากฏ ปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ความคิดสืบต่อแต่ละวันๆ จนถึงชาติหนึ่ง พอหมดชาตินี้ไม่ได้หยุดคิด แล้วแต่จะเห็นอะไรชาติต่อไป ก็คิดเรื่องนั้นชาติต่อไป

    ผู้ฟัง ทำไมความคิดถึงเกิดสืบต่ออย่างยาว

    ท่านอาจารย์ ทำไมล่ะ ใครไม่ให้จิตเกิดได้บ้าง

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใครไม่ให้จิตคิดได้บ้าง

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือคำตอบ

    ผู้ฟัง เมื่อฟังธรรมมาถึงปัจจุบันนี้ ก็มีความเข้าใจว่า อันนี้คือสภาพคิดนึก แต่ก็ยังเป็นลักษณะของเราคิดนึก แล้วก็หยุดไม่ได้กับความคิดนึกนั้น

    ท่านอาจารย์ เราหยุดไม่ได้ แต่คิดหยุดคิด หรือไม่

    ผู้ฟัง หยุดเอง

    ท่านอาจารย์ ใช่ ไม่ต้องไปหยุดคิด

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไปพยายามหยุด ยิ่งไม่หยุด

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องพยายามเลย หยุดแล้วไม่รู้ต่างหากว่าหยุดแล้ว เห็นไม่ใช่คิด เพราะฉะนั้นเห็นกับคิด คนละขณะ

    ผู้ฟัง ทุกวันนี้ก็มีความรู้สึกว่า ทุกข์เกิดจากความคิดนึก

    ท่านอาจารย์ เลยไม่อยากคิด

    ผู้ฟัง ไม่คิดก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องคิดถูก ไม่ใช่คิดผิดๆ

    ผู้ฟัง แสดงว่าทุกข์ที่เกิดจากความคิดนึก คือ ทุกข์ที่ผิด

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเกิดไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็คิดไปตามอกุศลนั้นๆ ตอนนี้ยิ่งเห็นอกุศลเพิ่มขึ้นอีก เดี๋ยวก็ยิ่งหมกมุ่นใหญ่เลย ก็เป็นเรื่องธรรมดา

    ผู้ฟัง ถ้าดูจากเนื้อหนังมังสาผม หรือโต๊ะ เก้าอี้ หรือพื้นที่เราเหยียบ ถ้าพูดถึงปริจเฉทรูปกับกลาป มันอธิบายได้ เพราะแตกแยกออกไปได้ แต่กลิ่นกับเสียง จะแยกอย่างไร นึกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราไปสงสัย แต่จะหมดความสงสัย เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพที่เป็นธรรมก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม ยังเป็นเราคิด ยังสงสัย ไม่มีทางจะเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ผมก็ยังไม่เข้าใจอีกว่า เป็นไปได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นไปได้ มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มันมี แต่มองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ มีแล้วรู้ความจริง หรือไม่ ถ้ารู้ความจริงต้องตรง ปัญญาสามารถรู้ได้ แต่ไม่ถึงปัญญาระดับนั้น จะรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง หมายความว่าอนาคตอาจจะเข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาสามารถรู้ถูก เห็นถูก

    ผู้ฟัง ตอนนี้ยังไม่เข้าใจ เอาไว้ก่อน

    ท่านอาจารย์ ปัญญาขั้นฟัง ต้องฟังให้เข้าใจ และสิ่งที่จะเข้าใจ ก็คือเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปฟังเรื่องสิ่งที่ไม่ปรากฏ แล้วจะมีประโยชน์อะไร

    ผู้ฟัง ที่ผมไม่เข้าใจ เพราะว่าบางอันมันเห็นชัด อย่างดอกไม้ เราแยกออกได้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นผมเห็น และผมก็คิด และผมก็สงสัยว่า จะเป็นไปได้อย่างนั้น หรือไม่ แต่ถ้ามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ปัญญาก็จะรู้ตรงตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เมื่อก่อนนี้ก็ไม่คิดว่าเสียง หรือกลิ่นเป็นรูป ช่วงหลังอาจารย์ก็อธิบายก็เข้าใจว่าเป็นรูป แต่พอมาถึงมหาภูตรูป ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ มหาภูตรูปมีกี่รูป

    ผู้ฟัง มี ๔

    ท่านอาจารย์ เป็นใหญ่ เป็นประธาน หมายความว่าขาดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะมีรูปใดเมื่อไร ต้องมีมหาภูตรูป ๔ มหาภูตรูป ๔ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    ท่านอาจารย์ สามารถปรากฏเมื่อไหร่ ให้รู้ว่ามีจริงๆ

    ผู้ฟัง ปรากฏเมื่อแข็ง

    ท่านอาจารย์ เมื่อกระทบสัมผัส แล้วต้องมีจิตที่กำลังรู้ลักษณะนั้นด้วย ขาดจิตไม่ได้เลย จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง ทุกอย่างที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนถึงขณะนี้ เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ตรงตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง มันยังติดใจอยู่ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ติดใจอะไร ก็รูปก็มีจริงๆ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่คุณเด่นพงศ์ไปติดใจกลิ่นที่ไม่ได้ปรากฏ

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งมีความเข้าใจมั่นคงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏได้แล้วก็หมด

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่จะต้องเข้าใจ เพราะกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ลักษณรูปกับลักขณรูปเหมือนกัน หรือต่างกัน

    อ.นิภัทร ลักขณรูป ก็คือตัวของลักขณรูปเอง ถ้าสลักขณรูปก็มีลักษณะ มีตั้งหลายรูปที่มีลักษณะของตัวเอง วิการรูป ไม่มีลักษณะเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยมหาภูตรูป อันนี้เรียกว่า อลักขณรูป ส่วนเสียง เรียกว่า สลักขณรูป เพราะว่ามีลักษณะของตัวเอง

    ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถามเรื่องวิญญัติรูปในสังคหวิภาค บอกว่า “ธรรมชาติใดย่อมยังคนอื่นให้รู้ความประสงค์ ด้วยการที่เคลื่อนไหวอยู่ และตนเองก็รู้ด้วยความประสงค์ ด้วยกายที่เคลื่อนไหวนั้น เพราะเหตุนั้นธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า กายวิญญัติ ที่ชื่อว่า วจีวิญญัติ เพราะอรรถว่า ยังคนอื่นให้รู้ความประสงค์ด้วยวาจา กล่าวคือเสียง ที่เป็นไปด้วยวิญญาณ และตัวเองก็รู้ความประสงค์ด้วยวาจานั้นด้วย” ความเข้าใจก็คือว่า ถ้าเรารู้ความประสงค์ว่า เราอยากให้คนอื่นรู้อย่างไร และคนอื่นรู้ความประสงค์ตามเรา จึงจะเรียกว่า กายวิญญัติ หรือวจีวิญญัติ ถ้าเราแสดงแล้ว ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ถือว่าเป็นกายวิญญัติ และวจีวิญญัติ ไม่ทราบจะใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนว่าได้ฟังหลายคำ และอ่านหลายเรื่อง ได้ยินหลายข้อทีเดียว แต่ว่าความเข้าใจจริงๆ มี หรือยัง อยากให้ทุกคนที่ได้ยินคำไหน ไตร่ตรองพิจารณาจนเป็นความเข้าใจที่ไม่สับสน เพราะว่าพระธรรมลึกซึ้งมาก แม้แต่นามธรรม และรูปธรรมที่ตัวนี่แหละ ก็ยังไม่สามารถรู้เพียงขั้นไปอ่านโน่นนิดนี่หน่อย เพราะฉะนั้นเมื่อกี้ฟังเรื่องวิการรูปแล้ว เข้าใจ หรือยัง เข้าใจแล้วขอถาม จะได้สอบทานดูว่า มีความเข้าใจระดับไหน แต่ก่อนอื่น ขอเชิญคุณคำปั่น ให้ความหมายของคำว่า “โคจร” ด้วย

    อ.คำปั่น โคจรรูป หมายถึง รูปเป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต คือ เป็นรูป ๗ รูปที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ ส่วนวิสยรูป ก็คือรูปที่เป็นอารมณ์ เพราะว่า “วิสย” แปลว่า อารมณ์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความหมายก็ตรงกัน รูปมีจริงมากมาย อย่างที่กล่าวถึง ๒๘ รูป แต่รูปที่จะเป็นอารมณ์ที่จะรู้ได้ ก็คือ ๗ รูป เป็นที่ไปของจิต จิตไปไหน วันนี้กำลังเห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู ไปสู่รูปที่ปรากฏที่กำลังเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นก็คงจะชัดเจนในเรื่องนี้ สำหรับคำว่า “วิการรูป” ขอคำแปลด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    22 ธ.ค. 2566