พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 380


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ทุกคนได้ยินได้ฟังว่า ธรรมไม่เที่ยง เห็นด้วยก็จบ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ความที่เป็นผู้ละเอียด และเห็นคุณค่าของคำที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นสัจจะ เป็นความจริง ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏจริง หรือไม่ จริงเมื่อเห็น เท่านั้นเอง เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นให้เห็นแล้วหมดไป แต่เป็นที่ตั้งของความไม่รู้ และความยินดี และความติดข้อง เพราะฉะนั้นก็เข้าใจว่า นั่นคือสาระที่จะได้มามากๆ ซึ่งสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ในวันหนึ่งๆ มีใครบ้างที่จะพ้นจากการเห็น ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องไปอยาก อย่างไรก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ก็ยังติด จนกระทั่งยังหวังที่จะได้ตามที่ต้องการ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะได้ยินได้ฟังสภาพธรรมเกิดแล้วดับไป ไม่เที่ยง แต่ปัญญาไม่พอที่จะเห็นความไม่เป็นสาระของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อลวงให้เห็นว่าเที่ยง ไม่เห็นมีอะไรดับไปเลย แสดงให้เห็นว่า ปัญญาไม่พอ เพียงขั้นได้ยินได้ฟังเข้าใจ แต่ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นประโยชน์ของสัจจธรรม เห็นประโยชน์ของการที่เกิดมาแล้วก็ได้รู้ความจริง ซึ่งในชีวิตใครจะบอกเราให้สามารถถึงความละเอียด และความจริงแท้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเหมือนเที่ยง เหมือนไม่ดับเลยขณะนี้ ความจริงคือไม่มีสาระเลย เพราะเพียงเกิดให้เห็นแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลย นี่คือการที่จะฟังจนกระทั่งเข้าใจ และรู้หนทางที่จะอบรมว่า สามารถที่จะเห็นจริงอย่างนี้ได้ จะนำไปสู่วิมุติสาระได้

    ผู้ฟัง ในขันธ์ ๕ ที่แบ่งออกเป็นรูปขันธ์ ๑ และนามขันธ์ ๔

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ นี่ตามตำรา ใช่ไหม ขันธ์ ๕ แบ่ง ความจริงลักษณะของธรรมเป็นอย่างนั้น ก็แสดงตามความเป็นจริงว่า รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม เพราะฉะนั้นรูปธรรมจะเป็นนามธรรมไม่ได้เลย รูปธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือรูปธรรมที่ละเอียดก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ลักษณะของธาตุที่ไม่สามารถจะรู้ได้เป็นรูปขันธ์ หรือรูปธรรม หรือรูปธาตุ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปแบ่งโดยใครไปแบ่ง แต่แสดงความจริงของสภาพธรรมที่ต่างกัน เป็นนามธรรมกับรูปธรรม เราจะเห็นได้ว่า ถ้าศึกษาตามหนังสือ เราจะแบ่ง และจัดหมวดหมู่ แต่ความจริงเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องแสดงตามความเป็นจริงอย่างนั้น จะเอารูปขันธ์เป็นนามขันธ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปแบ่ง แต่แสดงความจริงว่า รูปขันธ์ไม่ใช่นามขันธ์

    ผู้ฟัง สงสัยเรื่องสังขาร ที่แปลว่าการปรุงแต่ง จะแปลว่าคิดนึกได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า “สังขาร” คืออะไร สภาพธรรมใดๆ ทั้งหมดที่กำลังปรากฏ เกิดแล้วจึงปรากฏ ที่จะเกิดได้ต้องมีปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นคำว่า “สังขาร” คือ การปรุงแต่งให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิด โดยที่เราก็ไปทำอะไรไม่ได้ ไปหวังไม่ได้ แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่มีสภาพธรรมใดจะเกิดเมื่อไร ก็เกิดเมื่อนั้น นี่คือความหมายของสังขารธรรม คิดนึก เกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรม หรือนามธรรมที่คิด

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า นามธรรมเกิดคิด ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง สังขารขันธ์แปลว่า ความปรุงแต่ง แต่ในพระสูตรต่างๆ เห็นมีว่า ดับสังขาร หมายถึงดับรูปขันธ์ด้วย แปลว่าตาย

    ท่านอาจารย์ สังขาร หมายถึงธรรมทั้งหมดที่เกิดแล้วก็ดับ เป็นสังขารธรรม และก็มีสังขารขันธ์ แล้วก็มีสังขารในปฏิจจสมุปปาท แล้วแต่ว่ามุ่งหมายถึงอะไร

    ผู้ฟัง เขากล่าวว่า ดับสังขาร หมายถึงดับรูปขันธ์ด้วย คือ ตาย จะเป็นความหมายที่ตรงกันไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการปรุงแต่งให้สภาพธรรมเกิดอีก เพราะดับไม่เกิดอีก ขณะนี้เป็นสังขาร หรือไม่ ยังเกิดอยู่ใช่ไหม ดับไปแล้วก็เกิดอีก ดับไปแล้วก็เกิดอีก ยังไม่จบ

    ผู้ฟัง ดับไปแล้ว อีกขณะที่เกิดต่อๆ มาก็ดับอีก

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะ สภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมนั้นดับ

    ผู้ฟัง คือจะถวายพระ เดี๋ยวนี้เป็นประเพณีไปหมดเลย ถ้าหากว่าเราไม่ใส่ซองถวายพระ พระท่านจะตำหนิได้ ก็เลยเป็นประเพณีไปหมดเลยว่าจะต้องมีซอง

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ก็ถึงสาระแล้ว สาระคืออะไร สาระคือขณะนั้นเข้าใจธรรม แม้แต่เหตุผล ถูก หรือผิดประการใดในการที่มีทั้งเพศบรรพชิต และคฤหัสถ์ ซึ่งต่างกัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะถือว่า บรรพชิตเหมือนกับคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ไม่มีเงินก็ลำบาก ใช่ไหมแสวงหา แต่พระภิกษุไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องสละถึงจะเป็นพระภิกษุได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตที่ต่างกัน ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องในความต่างกันของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ นี่คือสาระอันหนึ่งที่เราจะรู้ว่า ขณะนี้เป็นสาระ ในเมื่อสามารถรู้ว่า เราจะให้คนตำหนิ แต่เราทำสิ่งที่ถูก หรือว่าเราจะทำสิ่งที่ผิด แต่ไม่อยากให้คนตำหนิ

    อ.นิภัทร ในชีวิตประจำวันของเรา เรายังไม่ได้ศึกษาตรงนี้ ก็แปลว่าห่าง ยังเหินห่างจากธรรม เมื่อเหินห่างจากธรรมแล้ว โอกาสที่จะบรรลุธรรมก็เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามศึกษาให้ใกล้ชิดกับพระธรรมทุกวัน ดีกว่าจะหายใจเล่น

    ผู้ฟัง โดยเริ่มต้นจากการศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรมนี่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อีกประเด็นหนึ่งที่มักได้ยินเสมอคือ กลัวบาป จะพูดอะไรก็กลัวบาป จะพูดเรื่องพระวินัยก็กลัวบาป คือ กลัวบาปเพื่อตัวเองจะได้ไม่บาป แต่เพื่อความถูกต้อง เพื่อความเข้าใจที่ถูก เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับเจตนาว่า เจตนาอะไรในการที่เราจะต้องกล่าวถึง เราเป็นบริษัทหนึ่งในพุทธบริษัทในยุคนี้ สมัยนี้ มีอะไรที่เราไม่เข้าใจ เราก็สอบถามให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น เพื่อเราจะได้ไม่ต้องตามๆ กันไป ใช้คำตามๆ กันไป แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร นั่นก็ไม่ใช่พระพุทธประสงค์แน่ที่จะให้ตามไปอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นที่ว่า “กลัวบาป” กลัวอะไรถ้าเป็นความถูกต้อง หรือเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น ถ้าถูกต้องแล้วไม่บาป แต่ถ้าเพื่ออย่างอื่นก็บาป ความจริงใจ การเข้าใจให้ถูกต้อง จะกลัวอะไรถ้าสิ่งนั้นถูก ไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวเลย ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และมีเหตุผล ฉะนั้นชีวิตของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ต่างกันราวฟ้ากับดิน ไม่ใช่อยากบวช แต่ไม่รู้ว่า พระธรรมวินัยคืออะไร อันนั้นไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัย เมื่อมีความประสงค์ที่จะขัดเกลากิเลส ศึกษาธรรม อบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ต้องพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ต้องพร้อม

    เพราะฉะนั้นสำหรับคฤหัสถ์ก็อย่าประมาท พร้อมด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เราไม่ใช่บรรพชิต เราก็ต้องไม่พร้อม หรือว่าไม่พร้อมก็ได้ แต่ความจริงเมื่อฟังพระธรรมแล้ว ตามการสะสม เราก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ถ้าใครสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ แล้วถ้าเราเห็นประโยชน์จริงๆ จะไม่คิดจะพร้อมจะปฏิบัติด้วย หรือ แต่ด้วยกำลังความสามารถ แล้วก็ไม่เป็นโทษอย่างบรรพชิต เพราะว่าบรรพชิตอีกเพศหนึ่งเลย มีชีวิตด้วยการอนุเคราะห์ของชาวบ้าน แต่สำหรับคฤหัสถ์ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเป็นหนี้ก้อนข้าว จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม นี่เป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก ต้องรู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการกล่าวอย่างนี้ด้วยเมตตาได้ ที่จะให้รู้ว่า บรรพชิตคืออย่างไร และพร้อมที่จะเป็นบรรพชิต หรือไม่ ถ้าไม่พร้อมก็ลาสิกขาได้ แล้วแต่อัธยาศัย แต่ไม่ใช่อยู่โดยไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัย นั่นก็เป็นแต่เพียงเพศภิกษุเท่านั้น เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นความปรารถนาดี เป็นความเมตตา ไม่ใช่เป็นการว่าร้าย แต่เป็นการที่เราควรจะเข้าใจให้ถูกต้อง อย่างที่คุณสุรีย์บอกว่า ใจห้ามไม่ได้ เกิดยินดีขึ้นมาเมื่อไร ก็ต้องรู้สึกตัว บรรพชิตต้องรู้ว่า ขณะนั้นอาบัติ แล้วต้องปลงอาบัติ และการปลงอาบัติที่เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ต้องสละวัตถุที่ทำให้อาบัติข้อนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อระลึกได้ มีเงินเท่าไรต้องสละ มิฉะนั้นก็ไม่พ้นอาบัติ ถูกต้อง หรือไม่ คุณนิภัทร

    อ.นิภัทร ถูกต้อง นึกว่าบาปอยู่ที่พระ อย่าไปใกล้พระจะบาป คุณบุษกรอย่าไปหาพระ นั่งใกล้ๆ คุยกับพระ เดี๋ยวจะบาป ความคิดของเราเป็นบาป หรือไม่ จิตของเรา โลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง ที่เป็นอกุศลวันหนึ่งๆ เรากลัวไหม หรือจะไปกลัวแต่พระ ไปกลัวแต่พระพุทธรูป ที่จริงตัวเราควรจะสำรวจตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา บาปมันมีอยู่ในตัวเรา หรือเปล่า ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น ใจของเราคิดดี หรือไม่ดี อันนี้สำคัญ

    ท่านอาจารย์ อย่างที่คุณนิภัทรกล่าว ละอายต่ออกุศล หรือไม่ ละอายต่อโลภะ หรือไม่ วันหนึ่งมากมาย ยังไม่มีหิริที่จะละอายต่อโลภะ เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาระดับที่หมดกิเลส แต่อย่างน้อยก็ละอายที่ไม่เข้าใจธรรม จึงศึกษาให้เข้าใจ ก็เป็นจุดที่ตั้งต้น

    อ.วิชัย สนทนาเรื่องพื้นฐานพระอภิธรรม เราก็คงเข้าใจว่า การศึกษาทั้งหมด คือ การศึกษาธรรม สิ่งที่มีจริง แต่ว่าลำพังความคิดของเราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่มีจริง เป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ ก็คือ สภาพที่รู้อย่างหนึ่ง และสภาพที่ไม่รู้อย่างหนึ่ง เพียงแค่นี้ก็ให้เห็นได้ว่าในชีวิตประจำวันของเรา ลืมตาตื่นขึ้นมาก็มีธาตุรู้ มีสภาพรู้ ขณะนั้นเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าความเข้าใจยังไม่ละเอียด ยังไม่เพียงพอ เพราะเหตุว่าขั้นนั้นเพียงความเข้าใจ ยังไม่ใช่เป็นการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง การพิจารณา

    ฉะนั้นขณะที่ฟัง ขณะที่ไตร่ตรอง ขณะพิจารณา ขณะนั้นเป็นปัญญา ที่เริ่มจะเข้าใจสภาพธรรมมากขึ้น เพราะฉะนั้นลำพังของปัญญาต้องอาศัยการอบรม การเจริญมาก ไม่ใช่เพียงเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ แล้วสามารถรู้ หรือประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมได้ ต้องอาศัยการอดทนที่จะฟัง ที่จะพิจารณา ที่จะสนทนาธรรม เพราะเหตุว่าบางครั้งตอนเช้าก็ได้มีโอกาสสนทนากับสหายธรรม ท่านฟังคนเดียวจากเทป หรือเอ็มพี ๓ ก็ยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อมาฟังทีนี้ก็เข้าใจดีขึ้น อันนี้ก็เห็นว่าต้องอาศัยกัลยาณมิตรจริงๆ เพราะเหตุว่าเพียงคนๆ เดียว หรือการสะสมอุปนิสัย หรือมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่ได้กัลยาณมิตรที่คอยชี้แนะ คอยให้ธรรมที่เป็นประโยชน์ที่ท่านเข้าใจแล้ว อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล ดังนั้นสภาพธรรม อย่างเช่น รูปธรรม และ นามธรรม นามธรรมก็คือสภาพรู้ สภาพรู้ซึ่งพิสูจน์ได้แม้ในขณะนี้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส และกำลังถูกต้องกระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และกำลังมีอยู่ขณะที่เกิดขึ้น แต่สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งขณะนั้นสภาพธรรมนั้นก็มีจริง อย่างเช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา วัณณรูป เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง เพราะเหตุว่าจิตขณะนี้กำลังเห็น ซึ่งทรงแสดงว่า สิ่งนั้นไม่รู้เลย แต่ว่าที่จะรู้ได้ก็คือจิต ที่จะรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    นี่แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทุกอย่างมีจริงอยู่แล้ว และไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าไม่สามารถยึดถือว่า สิ่งนี้เป็นตัวเราได้ เพราะว่าทุกอย่างมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดังนั้นหนทางของการอบรม ก็คือปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ที่จะค่อยๆ เข้าใจ และรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง จนถึงการประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง กราบเรียนอาจารย์ ทำไมการฟังธรรมถึงล้มเหลว เหมือนกับว่ามีคนมาฟัง ตอนแรกก็เริ่มดี ตอนหลังก็ล้มเหลวไปหมดเลย

    ท่านอาจารย์ มาฟังนี่ทราบ หรือไม่ว่า มาฟังอะไร มาฟังเพื่ออะไร หรือเพียงแต่อยากลองฟังดูเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อจุดประสงค์ต่างกันก็จะรู้ได้ว่า ทำไมถึงใช้คำว่า “ล้มเหลว” หมายความว่าไม่สนใจที่จะฟังอีกต่อไป ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ตอนแรกก็เริ่มด้วยดี แต่สุดท้ายก็ไม่มีโอกาสฟัง เหมือนกับไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจพระธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน หรืออย่างไรกันแน่ เพราะถ้าเกิดมาเป็นทวิเหตุแล้วก็บางทีอาจจะฟังไม่เข้าใจเลยในชาตินี้ ก็เลยจะล้มเหลวในลักษณะนี้ หรือไม่ ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ มีความจริงใจที่จะฟังพระธรรมให้เข้าใจ หรือว่าฟังเพราะอะไร หรือเพื่ออะไร นี่สำคัญที่สุด

    ผู้ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจกฎของธรรมชาติ แล้วก็ความจริง เพื่อจะปฏิบัติให้ได้ถูกต้อง เป็นเสบียง

    ท่านอาจารย์ โดยยังไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอะไร ก็มีความประสงค์อย่างนั้น หรือ หรือว่าเมื่อเคารพพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สมควรที่จะฟังธรรมที่พระองค์ทรงแสดงให้เข้าใจ อันนี้สำคัญที่สุด ถ้าฟังเพื่อจุดประสงค์อื่น ฟังเพื่ออะไร แต่ถ้าฟังเพราะไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอะไร มีความศรัทธาที่จะเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงแสดง มีหลายเหตุ อย่างคนที่มา ฟังเพื่ออะไร ฟังเพื่อละอกุศลด้วย หรือไม่ เพราะว่าแต่ละคนมีอกุศลมาก แล้วคนที่มีอกุศล ก็ยังพอใจในอกุศล ก็ไม่สนใจที่จะละอกุศลนั้นเลย แต่ถ้าเป็นผู้ไม่เห็นอกุศลของตนเอง แต่ก็ยังเห็นอกุศลของคนอื่นก่อน ก็เห็นว่าคนอื่นมีอกุศลที่เป็นอย่างนั้นๆ ซึ่งใครก็ไม่ชอบ แม้คนที่กำลังดู หรือเห็นอกุศลนั้นก็ไม่ชอบ แล้วถ้าอกุศลนั้นเป็นของเรามากๆ อย่างนั้น เป็นอย่างไรไม่มีใครอยากจะมีอกุศลมากๆ เลย แต่ทำไมมี ก็ต้องมีเหตุ

    เพราะฉะนั้นเมื่อคนอื่นมีอกุศลที่ปรากฏให้เห็น ผู้ที่เห็นอกุศลนั้นควรจะคิดไหมว่า เราเองก็มี แล้วก็อาจจะมีมากกว่านั้นอีกมากก็ได้ แต่ยังไม่มีปัจจัยพอที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ควรละไหม อันนี้เป็นข้อต้น ถ้าเป็นสิ่งที่ควรละ ละเองได้ไหม ลองพยายาม ละ มีใครจะละได้ ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีผู้เห็นโทษของอกุศล แต่ว่าปัญญาต่างกัน คนยุคนี้ก็จะถามว่า ทำอย่างไรถึงจะละโทสะ แค่ไม่ชอบโทสะ แต่คนสมัยก่อน เห็นโทษของโลภะ ทุกอย่างที่ปรากฏเป็นธรรมที่ติดข้องในวันหนึ่งๆ มากมายด้วยความติดข้อง เพราะฉะนั้นก็เห็นความไม่สงบของจิตที่กำลังมีอกุศล คือ ความติดข้อง หาทางที่จะละ จนกระทั่งบำเพ็ญกุศลด้วยประการต่างๆ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งความสงบของจิตก็ละไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีความต้องการ หรือเห็นโทษของอกุศล แล้วก็จะละอกุศล ถ้าไม่มีปัญญา ไม่สามารถจะละได้เลย

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีศรัทธาในพระปัญญาของพระองค์ ก็จะรู้ได้ว่าธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ละเอียดมาก ยากที่จะเข้าใจ แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าสามารถที่ค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมตามการสะสม แต่ไม่ใช่เพราะเราอยากรู้ หรือเพราะเราอยากไม่มีกิเลส ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมแต่ละชาติที่มีโอกาสได้ฟัง ก็คือเพื่อให้มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ แล้วก็กำลังปรากฏด้วย เพราะฉะนั้นจะไม่ไปถึงเรื่องที่ไม่มีในขณะนี้ แต่ฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่มีในขณะนี้จริงๆ คืออะไร ด้วยเหตุนี้ถ้าเป็นผู้ที่ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ และเริ่มเข้าใจ จะเรียกว่า “ล้มเหลว” ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ล้มเหลว

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าหวังอย่างอื่น คือ ไม่หวังที่จะค่อยๆ อบรมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็รู้จริงๆ ว่า ความเข้าใจไม่สามารถจะมีได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่คำที่ทรงแสดงเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เอง ก็กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะเห็นความต่างว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ พิจารณา และค่อยๆ เข้าใจถูก เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะฟังเมื่อไร กี่ครั้งก็ตามแต่ ไม่เปลี่ยนความจริง คือ เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏให้เห็นเมื่อกระทบจักขุปสาท สิ่งนั้นต้องเกิด และกระทบจักขุปสาท แล้วจิตเห็นต้องเกิดขึ้นเห็น แล้วทั้งหมดก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นถ้าฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจอย่างนี้ จะใส่ใจ สนใจติดข้องในเรื่องราวต่างๆ เหมือนเดิมไหม เพราะรู้ว่า นั่นคือคิด สิ่งที่คิดจะคิดอะไรก็ได้ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วคิดเรื่องอื่นเป็นของธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่มีจริงขณะนี้เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ความจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นความคิดใดๆ ก็เพียงแค่คิด โดยที่ไม่ทำให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้ามีความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพิ่มขึ้น จะค่อยๆ คลายความติดข้องในเรื่องราว ในสิ่งต่างๆ อย่างเมื่อสักครู่นี้ ใครคิดนี่ต้องมี ดับหมดแล้ว แต่มีสิ่งที่ปรากฏ เห็นไหมว่า สิ่งที่คิดดับแล้ว ไม่ได้มีความหมาย ไม่สำคัญอะไรเลย จะคิดมากมายสักเท่าไร ก็เกิดคิดแล้วก็ดับไป แต่สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้มีให้รู้ ให้เข้าใจถูก

    ถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็เป็นผู้ที่ศึกษาธรรม โดยไม่ประมาท เป็นไปเพื่อการละอกุศล แต่ต้องด้วยความรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด เช่นได้ยินคำว่า คลายความติดข้องในรูปารมณ์ ในสิ่งที่ปรากฏ คลายได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้เลย เห็นแล้วก็ไม่รู้ว่า เป็นเพียงธรรมที่ปรากฏได้เมื่อกระทบกับจักขุปสาท แล้วจิตเห็นเกิดขึ้นเมื่อไร สิ่งนี้จึงปรากฏได้ ใครก็บันดาลไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จะคลายความติดข้องไหม ก็คือเป็นธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ไปหาทางอื่น ก็ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรม

    ถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ทุกชาติ แสดงว่าปัญญาเจริญขึ้น ที่สามารถจะรู้ว่า ขณะนี้ หรือขณะไหนๆ ก็เป็นธรรม แต่แม้แต่ฟังมีธรรมปรากฏ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม หรือยัง หรือยังเป็นเรา ยังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเข้าใจจริงๆ จะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะรู้ว่า ความไม่รู้กับความรู้ห่างไกลกันมาก นี่เพียงในขั้นการฟัง ในสิ่งที่มีจริงๆ และเป็นจริงอย่างนี้ จะรีบร้อนไปไหนไหม ในเมื่อยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง คงไม่ ก็เป็นประโยชน์มหาศาล สมัยก่อนที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย ก็คงจะไม่ทิ้ง ไม่มีการล้มเหลวแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นผู้ละเอียด จะรู้ได้เลยว่า ยังหยาบ ไม่ว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้นจะรู้ว่า ยังหยาบ หยาบที่ว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567