พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 384


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปเพียรทำอย่างอื่นเลย นอกจากเข้าใจสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ ซึ่งเข้าใจยาก แม้มี แม้จริงก็เข้าใจยาก เพราะว่าเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก

    ผู้ฟัง การที่ใส่ใจฟัง แล้วสังเกตพิจารณา อดทนฟัง ก็มีวิริยบารมีที่จะทำให้ปัญญาเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นวิริยะแน่นอน ไม่ใช่เราด้วย บารมีทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา เป็นธรรมฝ่ายดี ถ้าใช้คำว่า “บารมี” ง่ายๆ ก็คือความดี วันนี้มี หรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่ไปเที่ยวแล้วมาฟังธรรม ก็น่าจะใช่

    ท่านอาจารย์ ที่มูลนิธิมีต้นไม้ดอกไม้สวยไหม รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แค่นี้เอง กี่ภพกี่ชาติก็ปรากฏให้เห็น แต่ความคิดความจำเรื่องราวของสิ่งที่เห็นมากมายเหลือเกิน เป็นยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นลาภ เป็นสรรเสริญ เป็นสารพัดอย่างที่ติดข้องจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแก้วแหวนเงินทอง เป็นเพชรนิลจินดา เป็นสารพัดอย่าง

    ผู้ฟัง ถามไปถามมาก็ลงว่า อบรมด้วยการฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ใช่ เพราะว่าเป็นปัญญา ความเห็นถูก

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วลักษณะของปรมัตถธรรม หรือสภาพธรรมที่จะเข้าใจได้ในชีวิตประจำวัน ในขั้นการพิจารณาเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาจะพิจารณา หรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง คือจริงๆ แล้ว เวลาฟังธรรมก็มีความเข้าใจขั้นการฟัง ก็มีลักษณะความคิดนึกตรึกถึงสิ่งที่เราเคยได้ฟังมา อันนี้ก็เป็นตามธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ และขณะนี้มีสภาพธรรมใดปรากฏกับสติบ้าง

    ผู้ฟัง ก็มีเสียง

    ท่านอาจารย์ ปรากฏกับสติ หรือไม่ หรือปรากฏกับโสตวิญญาณ

    ผู้ฟัง ปรากฏกับโสตวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด และจะเข้าใจความหมายของสติสัมปชัญญะ ว่ารู้ลักษณะนั้น แต่ไม่ใช่อย่างโสตวิญญาณที่ได้ยินมาทั้งวัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นซึ่งต่างไปจากเสียง และสภาพที่กำลังได้ยิน แต่มีความเข้าใจความเกิดขึ้นของสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะนั้น เพียงแค่เริ่มรู้ลักษณะ ก็รู้ว่าต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพสติ ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า เพียงแค่ระลึกแล้วหมดไป จะต่างกันอย่างไรกับสภาพลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ต่างเลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ถ้าเป็นรูปที่เป็นสภาวรูป ก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่จิตทุกขณะมีอายุเท่ากัน เกิดแล้วดับ ขณะเกิดเป็นอุปาทขณะ ขณะดับเป็นภังคขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ เป็นฐีติขณะ เหมือนกันทุกขณะ ไม่ว่าจิตไหนเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ต้องมีอนุขณะ ๓

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วสภาพสติที่ระลึกสภาพธรรมในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญามีธรรมเป็นที่พึ่ง หรือไม่ หรือมีคนหนึ่งคนใดเป็นที่พึ่ง

    ผู้ฟัง ตอนนี้มีท่านอาจารย์เป็นที่พึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นที่พึ่งตอนไหน ขณะไหนที่กล่าวว่าพึ่ง

    ผู้ฟัง ฟังธรรมจากท่านอาจารย์แล้วมาถามปัญหา

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม แล้วไม่เข้าใจ เป็นที่พึ่งได้ไหม เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ความเข้าใจนั่นเองเป็นที่พึ่งของตัวเอง จะฟังอย่างไร ชื่ออะไรก็ตามแต่ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ใช่ที่พึ่ง ถ้าเป็นปัญญาของคนอื่น เขาก็พึ่งปัญญาของเขา ไม่ใช่ไปพึ่งปัญญาของคนอื่นใช่ไหม เพราะฉะนั้นที่ว่ามีธรรมเป็นที่พึ่ง ก็คือมีปัญญา ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกเป็นที่พึ่ง ไม่เห็นผิด ไม่เข้าใจผิด

    ผู้ฟัง ถ้าเรายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ความเห็นผิดจะมีตลอดเลย

    ท่านอาจารย์ ทำไมตลอด เวลาที่กุศลจิตเกิด จะมีความเห็นผิด หรือไม่ เกิดร่วมกันได้ไหม ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เพราะเหตุว่าขณะนี้สิ่งที่เหมือนกับไม่มีอะไร เป็นคนนั้นคนนี้ ความจริงเป็นจิตประเภทต่างๆ มีทั้งจิตที่เป็นกุศล มีทั้งจิตที่เป็นอกุศล มีทั้งจิตที่เป็นวิบาก คือผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรม และมีทั้งกิริยาจิต ไม่รู้เลย เหมือนไม่มีอะไร ความจริงทั้งวันจะพ้นจากจิตประเภทต่างๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ฟังใครบอกว่า ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน แล้วเราก็จะพลอยตามไปว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน แต่ต้องเป็นการเข้าใจถูกจากการได้ยินได้ฟัง และเป็นการพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ นั่นจึงจะเป็นที่พึ่งได้

    ผู้ฟัง แต่ความมีตัวตนมีอยู่ทุกวันเลย

    ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรมจากการที่ไม่เคยฟัง และก็เข้าใจจากการฟัง มีความมั่นคงขึ้นว่า ธรรมเป็นจริงอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เป็นสัจจญาณ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ไปไหน อยู่ตรงนี้ ไม่ต้องไปหาธรรมที่ไหนเลย จะเที่ยวหาธรรมข้างนอกดีไหม ข้างในนี้คงไม่มีธรรม อยู่ตรงโน้น ไปตรงอื่นดีไหม เพราะตรงนั้นไม่ใช่ธรรม นั่นคือไม่เข้าใจธรรม ถ้าเข้าใจธรรม ฟังแล้วเข้าใจก็คือทุกอย่าง ทุกขณะเป็นธรรม ลืมไม่ได้เลย แต่ความเข้าใจว่าเป็นธรรม ยังน้อยมาก ยังไม่พอ

    ผู้ฟัง แต่ฟังธรรม ก็มีธรรมหลอกลวงด้วย จริงๆ แล้ว แม้มีความเข้าใจธรรมเพียงเล็กน้อย ก็รู้สึกว่า ถ้าจะก้าวไปแต่ละก้าว ก็อาจจะมีความหลงผิดได้ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไม่ถูกหลอกเมื่อไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นพระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ ต้องถึงพระโสดาบันเลย หรือ แล้วปัญญาขั้นต้นๆ ก่อนเป็นพระโสดาบันไปไหน ไม่มีเลย หรืออย่างไร หรือไปเอาปัญญาไหนมาเป็นปัญญาขั้นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง คือทุกวันนี้ก็มีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น แต่ยังรู้สึกว่ายังมีทุกข์อยู่

    ท่านอาจารย์ ใครไม่มีทุกข์

    ผู้ฟัง ก็พระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันเจ็บไหม ร้องไห้ไหม

    ผู้ฟัง เจ็บ ร้องไห้

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรที่เป็นทุกข์ ที่คุณสุกัญญาว่า ต้องเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่มีทุกข์

    ผู้ฟัง แต่อย่างน้อยก็มีความเห็นถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกข์ที่ว่านั้นคืออะไร ที่จะว่าพระโสดาบันไม่มี

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า ...

    ท่านอาจารย์ เรื่องเข้าใจเอง คงต้องทิ้งไปหมด ฟังแล้วค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจถูก แล้วก็รู้ว่า ที่ว่าพระโสดาบันนั้นคือปัญญา ไม่ใช่อย่างอื่น ไม่ใช่รูปร่างหน้าตา ไม่ใช่กิริยามารยาท แต่เป็นปัญญาที่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ มีจริงๆ ในขณะนี้ จนกระทั่งสามารถแทงตลอดความจริง ประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรม ดับการที่เคยสะสมความไม่รู้ และความเข้าใจผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ นั่นเป็นพระโสดาบัน แต่เป็นปัญญาที่ต้องค่อยๆ เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความตรงคำว่า “ไม่สงสัยในธาตุ และไม่สงสัยในธรรม” ครับ

    ท่านอาจารย์ ใครดับความสงสัยในธรรมได้

    ผู้ฟัง ผู้มีปัญญาดับความสงสัยในธรรมได้

    ท่านอาจารย์ ดับไม่เกิดอีกเลย

    ผู้ฟัง ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมหมดความสงสัยในอริยสัจ ๔ จึงเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน ดับความสงสัย แสดงว่าความสงสัยมีมาก ละเอียดด้วย ตามไป แล้วแต่ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณไหน อะไรๆ ก็ตามแต่ ตราบใดที่ยังมี วิจิกิจฉานุสัย ก็เป็นปัจจัยให้ความสงสัยเกิดขึ้น แต่ปัญญาก็สามารถเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ความสงสัยนั้นไม่ใช่เรา คือทั้งหมดเป็นธาตุ หรือเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงคำว่า “ธาตุ” ที่ว่า ขณะนี้ทั้งหมดเป็นธาตุ ฟังเข้าใจ เพราะเหตุว่ามีลักษณะของธาตุหลากหลายจะเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้เลย เสียงจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเป็นกลิ่นก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นแต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ใครก็เปลี่ยนแปลง และบังคับบัญชาไม่ได้ นั่นคือความหมายของคำว่า ธาตุ หรือ “ธา – ตุ” หรือ “ธรรม” เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เมื่อใดที่เกิดขึ้น หมายความว่าต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นปัจจัยให้สิ่งนั้นเกิด แล้วดับ นี่คือความหมายของสภาพธรรมซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา จะให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วจะไม่ให้ดับก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นก็ไม่ได้ สงสัยลักษณะความเป็นธาตุขณะนี้ หรือไม่ ขั้นการฟัง ฟังเข้าใจ แต่ว่าขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างนี้ๆ เป็นธาตุ มาจากไหน อยู่ดีๆ ก็ปรากฏได้

    ผู้ฟัง ก็คือไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วก็สงสัย

    ผู้ฟัง แต่ว่าจุดประสงค์คำถามตรงนี้ คืออยากจะถามว่า ขอบเขตความหมายของคำว่า “สงสัย” คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ไม่รู้ความจริงก็ไม่หมดสงสัย

    ผู้ฟัง แล้วรู้ความจริงว่าเป็นสี หรือรู้ความจริงว่า สีนี้เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ รู้ความจริงว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ซึ่งธรรมก็เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ แต่ละลักษณะ ขณะนี้คุณณรงค์เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นสี

    ท่านอาจารย์ ตอบว่าอย่างนี้ หมดความสงสัย หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่หมด เพราะยังไม่ประจักษ์การเกิดดับของสี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นนี่เป็นความเข้าใจตามขั้นต้น ที่จะต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่แม้จะตอบว่าเห็นสี แต่จริงๆ แล้วไม่ได้รู้หรอก ใช่ไหม ยังคงเป็นคนนั้นคนนี้ เพราะสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดที่จะรู้เฉพาะลักษณะที่มีจริง ที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน เป็นธรรมอย่างหนึ่งเพียงปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง เห็นแล้วสงสัย กับเห็นแล้วติดข้อง ความหมายเดียวกันไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกคนละประเภท สงสัยเป็นวิจิกิจฉาเจตสิก ความติดข้องเป็นโลภเจตสิก

    ผู้ฟัง แต่ก็เกื้อหนุนกัน ทำให้อยู่ในวัฏสงสารอยู่ดี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังมีโลภะ มีอวิชชา พ้นจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้

    ผู้ฟัง ซึ่งสงสัยกับติดข้องก็จะอยู่ปนๆ เปๆ กันไป

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ปนเปกัน แต่เกิดดับสลับเร็วสุดที่จะประมาณได้ เสมือนว่า ขณะนี้ทั้งเห็นทั้งได้ยินพร้อมกัน แต่ความจริงไม่พร้อมกัน

    ผู้ฟัง ทั้งไม่รู้ และทั้งติดข้องด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแต่ละอย่างก็เป็นแต่ละลักษณะ ไม่ปนกัน แต่ว่าเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก

    ผู้ฟัง ทีละ ๑ ทีละ ๑ เท่านั้น ความที่เกิดดับสืบต่อกันเร็วมากก็จะเชื่อมโยงไปถึงประโยคที่คุณอรวรรณเคยถามว่า ความไม่มีตัว ไม่มีตน แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างว่า มีฟัน หรือไม่ มีปอด หรือไม่ คำว่า มีฟัน หรือไม่ มีปอด หรือไม่ ตรงนี้หมายความว่า รูปฟันตรงนั้น เมื่อเวลาผ่านไปก็หมดไปแล้ว ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เห็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้เห็นสีครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้พูดถึงฟันเลย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้ที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตานั่นแหละจริง เพราะว่าเกิดขึ้น และจิตเห็นก็เห็นสิ่งที่เกิด และต่อไปก็จะรู้ได้ว่า ดับด้วย

    ผู้ฟัง แต่ความจริงก็หมดไป สิ่งที่เห็นจริงๆ ก็ดับไปเร็วมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราพูดถึงสิ่งที่ปัญญายังไม่ได้ประจักษ์ เช่น สภาพธรรมเกิดแล้วดับตลอดเวลา สุดจะประมาณ ไม่ได้พูดถึงด้วยปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง แต่พูดถึงเรื่องราวของผู้ที่ทรงประจักษ์แจ้ง และทรงแสดง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นความจริงอย่างนั้น ก็รู้ว่า ใครถูกใครผิด คนที่ยังไม่ประจักษ์จะไปเห็นอย่างคนที่ประจักษ์ เป็นไปไม่ได้เลย ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา หรือใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความหมายของธาตุที่เป็นธาตุเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะนี้เราก็กำลังเรียนพระปัญญาของพระพุทธเจ้า กับปัญญาของพระอริยบุคคล

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ใช่ใครสามารถหยิบขึ้นมาอ่านแล้วก็รู้ได้ เข้าใจได้ถึงความลึกซึ้งจริงๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เกิดดับ ก็ยังไม่ใช่ปัญญาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นปัญญาแต่ละขั้น ปัญญาขั้นฟัง ปัญญาขั้นไตร่ตรอง ปัญญาขั้นอบรมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งกำลังค่อยๆ รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง ตราบใดที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ ก็คือเป็นปัญญาของเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมที่เป็นโลกุตระ ที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ๔

    ผู้ฟัง สติ ปัญญา อะไรต่างๆ แท้ที่จริงเมื่อเราบรรลุถึงระดับที่เป็นนิพพานแล้ว สิ่งพวกนี้ก็

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเราบรรลุเลย ปัญญาเจริญขึ้นละคลายความเป็นตัวตน ละคลายความไม่รู้ ความสงสัยในสภาพธรรม ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ละคลายความติดข้องในสังขารนิมิตที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สุดท้ายสติก็เป็นเพียงแค่แพ ทำให้เราข้ามฝั่งเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สติก็คือสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้ที่ฟังก็เป็นสติขั้นหนึ่ง ไม่ปรากฏ เหมือนเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ก็ไม่ได้ปรากฏสักประเภทเดียว แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด เลือกไม่ได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นปรากฏกับสติที่กำลังระลึก แล้วปัญญาจึงจะเห็นถูกว่า ขณะนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เป็นธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ระหว่างพระอริยบุคคลขั้นต้น หรือขั้นพระโสดาบัน กับความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสะสมบารมีเท่าๆ กัน หรือ อาจจะมากกว่ากัน แต่ต้องบริบูรณ์ หรือไม่ ถึงจะเป็นพระโสดาบันได้ ต้องบริบูรณ์ระดับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์มีจำนวนมาก กี่ท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ๑ ท่าน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ห่างไกลแสนไกลกับปัญญาของพระอรหันต์สาวก ซึ่งไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง แต่ผู้ที่จะบรรลุพระโสดาบันได้ บารมีก็ต้องถึงพร้อมด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาของพระอรหันต์ห่างกันแสนไกลกับผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคล ปัญญาของพระอนาคามีบุคคลก็ห่างกันแสนไกลกับผู้ที่เป็นพระสกทาคามีบุคคล ปัญญาของพระสกทาคามีบุคคลก็ห่างกันไกลกับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ปัญญาของพระโสดาบันก็ห่างกันไกลแสนไกลกับผู้ที่เป็นปุถุชน

    ผู้ฟัง แต่ว่าบารมีไม่ได้มีปัญญาอย่างเดียวใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความต่างกันมาจากไหน มีเหตุ หรือไม่มีเหตุ

    ผู้ฟัง ความต่างกันมีเหตุอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบารมี คือเหตุก็ต้องต่างกันด้วย มากน้อยต่างกัน

    ผู้ฟัง บางครั้งก็รำคาญคนนั้นคนนี้ เราจะศึกษาธรรมโดยการอ่านพระไตรปิฎก อ่านปัญญาของพระพุทธเจ้า โดยที่เราไม่ต้องไปสนใจใคร จะดี หรือไม่ บางครั้งคิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ โดยไม่สนใจใคร หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เหมือนกับไม่ได้ไปช่วยเหลือใคร ก็อยู่ของเราไป

    ท่านอาจารย์ บารมีคืออะไร

    ณรงค์ บารมีคือความดี

    ท่านอาจารย์ ไม่สนใจใคร ไม่ช่วยเหลือใคร เป็นความดี หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็คือเราก็อยู่ในห้องของเรา อ่านหนังสือของเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นความดี หรือไม่ ของเราทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ของเราแบบนั้น

    ท่านอาจารย์ ของเราแน่ๆ ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็ต้องเป็นเรา และของเรา อ่านหนังสือเป็นกุศล หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นหนังสือที่เพื่อให้เป็นการละคลายกิเลสก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้เข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรม เป็นไปในทาน หรือไม่ เป็นไปในศีล หรือไม่ เป็นไปในความสงบของจิต หรือไม่ เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ความเห็นถูก หรือไม่ ถ้าเป็นไปในทาน ศีล ภาวนาก็เป็นกุศล แต่ถ้าไม่ใช่ ก็เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ และถ้าล่วงเกินก็ขออภัย

    ท่านอาจารย์ และเป็นธรรม หรือไม่ด้วย ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ต้องไปกังวลว่า เราเป็นอกุศลเกิดแล้ว ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เพราะขณะนั้นไม่ใช่ความเข้าใจว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

    ท่านอาจารย์ ด้วยความเป็นเราใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ไม่เข้าใจความเป็นธรรม ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วอย่างนั้น ถ้าคนทำอะไรผิดขึ้นมา แล้วเราก็บอกว่า สิ่งนั้นล่วงไปแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว แล้วเราไม่ใส่ใจ

    ท่านอาจารย์ พูด หรือเข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจในลักษณะที่สิ่งนั้นเกิดแล้ว แล้วก็ดับแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่อยากให้อกุศลจิตนั้นเกิด พยายามหาทางที่จะไม่ให้อกุศลจิตเกิด กับขณะที่เกิดแล้วเห็นความเป็นธรรม อะไรเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง เห็นความเป็นธรรม เป็นประโยชน์กว่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นความเป็นธรรม ก็สิ่งนั้นหมดแล้ว ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อาจหาญร่าเริงที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริง มิฉะนั้นความเป็นตัวเรา ห่วงเรามาก จะเกิดบนสวรรค์ หรือไม่ หรือจะลงนรก ก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องความเป็นตัวตนทั้งนั้น

    ผู้ฟัง อาจหาญ ร่าเริง

    ท่านอาจารย์ ที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา เป็นธรรม กำลังเสียใจ น้อยใจ โกรธ ขุ่นใจ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่อยากขุ่นใจเลย ไม่อยากเสียใจเลย พยายามหาทางที่จะไม่ขุ่นใจ เสียใจ กับการรู้ความจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เกิดแล้วปรากฏว่า บังคับบัญชาไม่ได้ อะไรจะเป็นประโยชน์กว่ากัน นี่คือความหมายของอาจหาญ ร่าเริง ที่จะรู้ความจริง ถ้าไม่มีเรา เบาสบายไหม แต่กว่าจะถึงความเบาสบายจริงๆ ภังคญาณ หรือไม่ หรือว่าปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริงยิ่งขึ้นขึ้น จนกระทั่งไม่เดือดร้อนกับสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้ายังเดือดร้อนอยู่ เยื่อใยความเป็นเรายังมีอยู่ระดับไหน และจะหมดไปได้อย่างไร เพราะว่าถ้าเป็นพระโสดาบัน คือดับการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นเรา หรือของเรา เพราะว่าเป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย สุขสักเท่าไรที่เกิดขึ้นยังจำได้ แค่จำ แต่สุขนั้นไม่ได้กลับมาอีกเลย แม้แต่ความจำขณะนั้นเกิดจำแล้วก็หมดไป แล้วก็จำเรื่องอื่นแล้ว แม้แต่ความจำอีก ก็ไม่ใช่ความจำเก่า ทุกอย่างเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป แต่เร็วจนกระทั่งเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่ยาวมาก ตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นเรา วันนั้นวันนี้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงก็เป็นธรรม ซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ มีคำถามจากท่านผู้ฟังถามมาว่า ของจริงต้องมีลักษณะ รูปต้องเป็นรูป นามเป็นนาม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีของจริง หรือไม่ มี หรือไม่มี เพราะอะไรถึงกล่าวว่ามี กล่าวได้ว่ามีของจริง แต่พอถามไปอีกเพื่อที่จะให้เข้าใจขึ้นว่า เพราะอะไรจึงกล่าวว่ามีของจริง

    ผู้ฟัง เพราะเกิดแล้วจึงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ อะไรเกิดแล้ว จะถามไปได้ตลอดเลย เพื่อจะรู้ว่าเข้าใจแค่ไหน

    ผู้ฟัง ธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไรเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้จริงเพราะมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา เห็นจริงๆ แล้วก็มีสิ่งที่ถูกเห็น คือปรากฎขณะในที่เห็น จริงๆ เพราะฉะนั้นลักษณะของเห็น มี หรือไม่ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏมี หรือไม่ ไม่ใช่บอกว่ามีจริง แล้วไม่มีลักษณะอะไรปรากฏให้รู้เลยว่า มีจริงๆ มีลักษณะแต่ลักษณะซึ่งต่างๆ กัน โกรธมีจริง หรือไม่ มีลักษณะที่ไม่ติดข้อง ที่ขุ่นเคือง ที่ประทุษร้าย เป็นแต่ละลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ว่ามีจริงๆ แต่ลักษณะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทุกอย่างที่จริงมีลักษณะเฉพาะอย่าง ของสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง อาจหาญ ร่าเริง อย่างไร ขยายอีกหน่อย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    10 ม.ค. 2567