พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 387


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ กำลังฟังไม่มีเราเลย เจตสิกทั้งหมดที่เกิดพร้อมจิตกำลังทำหน้าที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสามารถเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง จะต่างกับคำว่า “งมงาย” อย่างไร

    ท่านอาจารย์ งมงาย มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วก็คิดว่ารู้ ก็งมงาย ไปรู้อะไรในเมื่อไม่มีอะไรปรากฏให้รู้ สิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ปรากฏ มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ มีจริง สิ่งที่มีจริงต้องเกิดขึ้นจึงปรากฏได้ จริง หรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยน แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ลักษณะสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นเพียงแต่ขั้นคิด เชื่อตามเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เชื่อตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปเชื่ออย่างอื่น

    ผู้ฟัง ก็อาจจะละคลายจากความคิดนั้นได้ใช่ไหม เพราะว่ายังไม่ปรากฏ ยังไม่ประจักษ์ จึงมีแต่ความสงสัย

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง และเข้าใจว่าจริง แล้วจะเปลี่ยนเป็นว่า สิ่งนี้ไม่ปรากฏ เหมือนสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นอย่างนั้น หรือ

    ผู้ฟัง ก็เพราะไม่ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ แล้วปรากฏ หรือไม่ ไม่ใช่เราไปนั่งคิดเอง สิ่งนี้มีกำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏจริง หรือไม่จริง

    ผู้ฟัง ปรากฏกับจักขุวิญญาณ ปรากฎกับ ...

    ท่านอาจารย์ จะปรากฏกับอะไรก็ตามแต่ จริง หรือไม่ ปรากฏจริงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ต้องเกิดขึ้นจึงปรากฏ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่รู้ความจริงที่เกิดแล้วดับ แต่มีจริงๆ ให้รู้ แล้วปัญญาขั้นฟังนี่รู้ไม่ได้เลย ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น มีการละคลายความไม่รู้มากขึ้น และสภาพธรรมก็จะปรากฏการเกิดดับจริงๆ

    ผู้ฟัง ยากมาก แต่เชื่อได้

    ท่านอาจารย์ ก็ความจริงเป็นอย่างนี้ จะเปลี่ยนความจริงอย่างนี้ให้เป็นอย่างอื่นได้อย่างไร ถ้าเปลี่ยนก็คือไม่ใช่ความรู้เสียแล้ว เป็นความไม่รู้อีกแล้ว และเป็นความเข้าใจผิดอีกด้วย เพราะฉะนั้นจริงก็จริง จะรู้ระดับไหน ก็รู้ว่า ขณะที่สิ่งนี้ปรากฏ ยังไม่เห็นการเกิดขึ้น และดับไป เพราะว่าเพียงฟังแล้วก็รู้ว่า จริง แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่จริง สามารถประจักษ์แจ้งได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยการทำ ไม่ใช่ด้วยเราที่อยากจะรู้ ต้องละคลายความไม่รู้ อยากเมื่อไร ขณะนั้นเพราะไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา และเป็นธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็คงต้องอาศัยการฟัง ขอเปลี่ยนประเด็นนิดหนึ่ง เรื่องมรณานุสติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งควรเจริญในชีวิตประจำวัน ถ้าหากว่าไม่ได้ฟังคำของท่านอาจารย์ หรือฟังเทปที่กล่าวถึงเรื่องมรณานุสติแล้ว รู้สึกว่าในชีวิตประจำวันจะไม่เกิดเลย จะมีวิธีสั่งสมอย่างไรไหมที่จะเห็นมรณานุสติ หรือเข้าใจมรณานุสติ เพื่อจะได้ไม่ประมาท

    ท่านอาจารย์ มรณานุสติคืออะไร

    ผู้ฟัง คือระลึกถึงความตาย

    ท่านอาจารย์ แล้วระลึกแล้ว หรือยัง

    ผู้ฟัง คิดว่ามันไม่แน่นอน จะเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ เย็นนี้ อะไรก็ได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้กำลังเป็นมรณานุสติ หรือไม่ ที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้

    ผู้ฟัง ถ้าคิดว่า เดี๋ยวนี้อาจจะตายได้ หรือขณะต่อไปอาจจะตายได้ ก็จะทำให้ไม่ประมาทใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ประมาทอย่างไร

    ผู้ฟัง คือไม่เป็นไปกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ไม่เป็นไปกับสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่เป็นอิฎฐารมณ์ในชีวิตประจำวันมากเกินไป

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไป อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็จะได้มาฟังพระธรรมมากๆ

    ท่านอาจารย์ ก็คือเข้าใจธรรม แม้แต่มรณะ ก็มี ๓ อย่าง สมมติมรณะ รู้จักใช่ไหมคะ ทุกคนรู้จัก เกิดแล้วก็ตาย สมุจเฉทมรณะ ตายแล้วไม่เกิดอีกเลย หมายความถึงจุติจิตของพระอรหันต์ ดับแล้วไม่มีจิต เจตสิกเกิดสืบต่อ ขณิกมรณะ ขณะนี้ระลึก หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็สติปัฏฐานนั่นเอง หรือเป็นขณิกมรณะ เป็นมรณานุสติ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจก่อนแล้วก็ไม่หวังอะไร ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา มิฉะนั้นก็มีตัวตนไปทำหน้าที่อะไรก็ไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่า การเจริญสติปัฏฐานก็เป็นการเจริญขณิกมรณะอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าระลึกถึงความตาย แล้วให้ทำอะไร ไปนั่งท่อง นั่งคิดว่าเราจะตาย หรืออย่างไร ก็ไม่ใช่ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง จะดูหนัง ฟังเพลง ก็มาฟังธรรมแทน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเดี๋ยวนี้จะตาย ก็ฟังเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง สืบเนื่องจากเรื่องวิถีจิต ขอเรียนถามว่า การที่เราต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องวิถีจิต ซึ่งจริงๆ ขณะนี้ก็พอเข้าใจได้ แต่ตอนฟังใหม่ๆ ก็จะรู้สึกว่า ศัพท์ก็เยอะ อย่างปัญจทวารก็ต้องมี ๗ วิถี เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ อะไรอย่างนี้ มีชื่ออะไรมากมาย อยากจะเรียนถามว่า การที่เราศึกษาตรงนี้ว่าวิถีจิตเป็นอย่างไร เพื่อให้เข้าใจว่า ธรรมเป็นอนัตตาอย่างนี้ และมีเหตุปัจจัยให้เกิดแบบนี้ ซึ่งเราเพียงเข้าใจตรงนี้แล้วให้เป็นธรรม ไม่ใช่ว่าเพื่อให้รู้ว่าเป็นมโนทวาร หรือเป็นปัญจทวาร หรือในขณะจิต ในวิถีจิตเราไม่สามารถรู้ได้ เราต้องแยกว่า เราสามารถรู้ได้ อย่างเช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่จิตได้ยินรู้ หรือคิดนึก เป็นต้น ถ้าเราไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาแบบนี้ ก็จะทำให้ติดในเรื่องราว ชื่อ ทำให้ข้ามความจริง

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเรื่องวิถีจิต เป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะว่ามีทั้งศัพท์มีทั้งยาว และมีหลายวาระ แล้วยังมีทั้งปัญจทวาร และมโนทวาร ซึ่งความเข้าใจเราก็แค่เข้าใจว่าเป็นธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์ หรือท่านวิทยากรอธิบาย

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณเกิดมาแล้ว พูดได้มากเลย หรือไม่

    ผู้ฟัง พูดไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ทีละคำ สองคำ เพราะฉะนั้นเวลาฟังธรรมแล้วได้ยินคำใหม่ๆ ก็เข้าใจได้ไหม หรือว่าเข้าใจไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ เช่น ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เข้าใจได้ แต่ธรรมที่มีจริงหลากหลายมาก เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ใช้ภาษาธรรมดา เป็นสภาพที่เกิดแล้วไม่รู้อะไร แข็งก็เป็นแข็ง ปรากฏลักษณะที่แข็ง เย็นก็เป็นเย็น ปรากฏลักษณะที่เย็น อย่างนี้เข้าใจได้ใช่ไหมว่า แข็งเป็นธรรมที่แข็ง เป็นธาตุแข็ง เย็นก็เป็นธาตุเย็น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เกิดจริง มีจริง มีลักษณะหลากหลายต่างๆ กันไป แต่รู้อะไรไม่ได้เลย เป็นธรรมที่ประมวลใช้คำว่า “รูปธรรม” ไม่ว่าจะมองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตาม สิ่งที่มีจริงนั้นเกิด แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ คือทุกคำต้องเข้าใจ การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม จึงจะรู้ว่า ไม่มีเรา แม้เพียงในขั้นฟัง ก็ต้องเป็นผู้ไม่ลืมสิ่งที่ได้ฟัง ธรรมเป็นธรรม ถ้าเข้าใจธรรมแล้ว จะเป็นเราตรงไหน ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำว่า “ธรรม” ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เวลาที่คุณอรวรรณจะเกิดอีกกี่ชาติ ใช้ภาษาอะไรก็ตาม แต่มีความหมายว่า สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม ก็จะสามารถเข้าใจได้ ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็คือ ไม่ใช่ไปติดที่คำว่า เราจะต้องรู้คำ ภาษาหนึ่งภาษาใดก็ได้ที่ใช้ สำหรับเกิดมาพูดภาษาอะไรก็ใช้ภาษานั้น เพื่อให้เข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ที่ใช้ภาษาบาลี เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับผู้ที่กำลังพูดภาษานั้น ให้เข้าใจภาษานั้น และเป็นภาษาที่จะธำรงรักษาพระศาสนา คือว่าไม่เปลี่ยน ถ้าต่างคนต่างเปลี่ยนไป หมายความว่าคำเดิมหมายความถึงสภาพธรรมอะไร ก็หาไม่เจอแล้ว

    เพราะฉะนั้นเราใช้คำ ไม่ใช่เพื่อจะให้งง หรือให้ไม่รู้ความจริง แต่แม้ว่าจะใช้ภาษาไทยแล้ว ภาษาบาลีก็เหมือนอย่างที่คุณอรวรรณเริ่มโตขึ้น ก็ใช้ทีละคำ สองคำ ถ้าเป็นเกิดที่แคว้นโน้น สมัยโน้น ก็ต้องใช้ภาษาอย่างนี้ รูปธรรมก็หมายถึงธาตุที่มีจริง แน่นอน มีลักษณะเฉพาะธาตุนั้นแต่ละอย่าง และไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ว่าไม่มีใครสามารถบังคับความเป็นธาตุ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีแต่รูปธาตุ ธาตุอีกชนิดหนึ่งก็เกิดขึ้น แต่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น นี่ภาษาอะไร ต้องไปจำคำอะไร หรือไม่ แต่ว่ากำลังมีสิ่งที่ธาตุนั้นมีจริงๆ ไม่ได้ปรากฏว่าแข็ง หรืออ่อนเลยธาตุนั้น แต่ปรากฏว่ากำลังเห็น เมื่อเห็นมี และเห็นเป็นความจริงด้วย แต่ไม่ได้เห็นตลอดไป คนที่ไม่มีจักขุปสาทไม่เห็น

    เพราะฉะนั้นธาตุ หรือธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่เคยรู้ความจริงว่า เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมนั้นๆ จนกว่าจะมีการได้ยินได้ฟัง และเริ่มเข้าใจ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ยังไม่ต้องใช้คำว่า “จักขุวิญญาณ” หรือไม่ต้องใช้คำว่าอะไร เพียงคำว่า “ธรรม” กับ “ธาตุ” ถ้าสามารถเข้าถึงความจริงของธาตุ หรือธรรมทั้งหมด ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะว่ารู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จนกระทั่งหมดกิเลส หมดความสงสัย หมดการยึดถือ หมดโลภะ โทสะ ริษยา อาฆาต ทั้งหมด ปัญญาก็สามารถประจักษ์ความจริงได้ แต่ต้องเริ่ม ทุกครั้งไม่ใช่ปัญญาเจริญเติบโตขึ้นมาได้ เพียงฟังครั้งแรก แต่เมื่อเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจ แล้วก็ฟังมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ปัญญานั้นก็เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าปัญญาก็มีหลายระดับ ทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เพียงแค่เกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไรก็ตาม นี่คือความจริง สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว กลับมาไม่ได้เลย อย่างได้ยินกับเสียงที่ดับแล้ว ก็กลับมาไม่ได้อีก แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไป เพราะความเป็นธาตุ หรือความเป็นธรรม

    ด้วยเหตุนี้ธาตุรู้นี่มี แต่ไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า เป็นธรรม เป็นเราด้วยความไม่รู้ ในขณะที่เห็นเป็นเราเห็น ในขณะที่ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน ในขณะที่เป็นสุขก็เป็นเราเป็นสุข ในขณะที่เป็นทุกข์ สภาพของทุกขเวทนา หรือความไม่แช่มชื่นใจเกิดขึ้นก็เป็นเรา ยึดถือธรรมว่าเป็นเราด้วยความไม่รู้ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดแล้วดับเลย และไม่กลับมาอีก อันไหนเป็นเรา เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหม แต่ปัญญายังไม่ถึงระดับนั้น เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เพิ่งเริ่มจะได้ยินได้ฟัง และเริ่มเข้าใจ แต่ผู้ที่ประจักษ์ความจริง ทรงแสดงความจริง คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่ทรงแสดง มีจริงๆ และสิ่งที่ทรงสอนก็เป็นจริงๆ อย่างที่ทรงแสดงด้วย

    เพราะฉะนั้นถ้ามีการอบรมจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น ก็สามารถจะรู้ความจริงโดยการประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมด้วย เป็นการพิสูจน์ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ได้เข้าใจถูกตั้งแต่ต้น สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริงด้วยปัญญาที่ได้อบรมแล้ว เพราะฉะนั้นการฟังจะมาเกี่ยงว่าเป็นภาษาบาลี ก็เกิดมาก็พูดภาษาอะไรทีละคำ สองคำ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจธรรม แล้วเรารู้ว่า อีกภาษาหนึ่งใช้คำอะไร ก็ไม่ยาก โดยภาษาไทยเราเอาภาษาบาลีมาใช้มาก แต่ว่าใช้ไม่ตรงกับความเป็นจริงเลย ณ บัดนี้ และต่อไปข้างหน้าก็ยังชอบใช้คำที่ไม่รู้ความหมายจริงๆ แต่ว่านิยมที่จะใช้ เช่น คำว่า “รูปธรรม” เป็นต้น แต่เมื่อได้ฟังแล้ว คนที่ศึกษาธรรมก็ต้องรู้ว่า ความหมายนี้เดิมหมายความถึงสภาพธรรมอะไร แล้วก็จะไม่สับสนระหว่างภาษาหนึ่งซึ่งเอาภาษาบาลีไปใช้ แต่ว่าใช้ไม่ตรง ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เป็นธาตุรู้ มีไหม มี เป็นธาตุรู้ ใช้คำว่า “นามธาตุ” เป็นอะไร หรือเปล่า หรือว่าห้ามใช้ ไม่ให้ใช้

    ผู้ฟัง ใช้แล้วก็ศึกษาไป แล้วก็เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ เพื่อเป็นภาษาสากลทั่วโลก ถ้าได้ยินคำว่า “นามธรรม” หรือ “นามธาตุ” ก็จะรู้ว่า หมายความถึง สภาพรู้ หรือธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นรู้ ต่างกับสภาพซึ่งเกิดแล้วไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะโลกนี้ โลกไหน จักรวาลไหน ธรรมก็เป็นธรรม และธรรมก็ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ อย่าง คือ เป็นนามธรรมกับรูปธรรม นี่คือไม่ลำบากเรื่องภาษา แต่เวลาที่จะเข้าใจลึกซึ้งขึ้นอีก ในภาษาไทยสำหรับคนไทย ก็สามารถจะรู้คำภาษาบาลีเพิ่มขึ้นได้ เช่น ภาษาไทยเราใช้คำว่า “ตา” ภาษาบาลีไม่มีคำนี้เลย มีคำว่า “จักขุ” แล้วภาษาไทยก็ใช้คำว่า “จักขุ” แล้วก็รู้ด้วยว่า จักขุ หมายถึงตา จะยากไหม

    ผู้ฟัง สารภาพว่า ตอนใหม่ๆ หนักใจมาก ได้ยินอเหตุกะ สเหตุกะ วิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ได้ยินโดยไม่เข้าใจ ไม่มีประโยชน์ แต่ละคำที่ได้ยินต้องเข้าใจ ถ้าได้ยินคำว่า “จักขุ” ไม่ใช่ให้ไม่รู้เรื่อง แต่หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง ภาษาไทยใช้คำว่า “ตา” ตามีจริงๆ ตาเกิดดับ หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือไม่ นี่คือเรื่องเข้าใจธรรม จนกว่าทุกอย่างเป็นธรรม คำไหนยากอีก

    ผู้ฟัง พอฟังบ่อยๆ เนืองๆ ก็เหมือนเริ่มเรียนภาษา ที่ท่านอาจารย์พูด และยกตัวอย่างว่า วันจันทร์ อังคาร เดือนต่างๆ ยังจำได้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทยด้วย จริงๆ แล้วถ้าใส่ใจศึกษา ก็ไม่ยากมาก แต่สำหรับการเริ่มต้นก็คิดว่ายากจริงๆ แต่ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ ค่อยๆ ศึกษาไป ก็เข้าใจว่าเป็นอย่างไร แม้จะยังไม่ประจักษ์ว่าเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นที่ถูกต้อง ไม่ใช่เริ่มชื่อ แต่ว่ามีธรรม หรือไม่ ขณะนี้มีอะไรบ้าง และให้รู้ว่าขณะที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง ใช้คำว่า “ธรรม” คือให้เข้าใจความจริงก่อน แล้วก็เรียกชื่อต่างๆ ตรงกับภาษาบาลีเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้เปลี่ยนสภาพธรรมนั้นเลย

    ผู้ฟัง มีผู้ฝากถามปัญหาว่า ขณะนี้กำลังศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ แต่ก็มีเรื่องราวที่กำลังนึกคิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงๆ ขอเรียนถามว่า ในขณะนี้เอง ขณะที่มีเรื่องราว มีชื่อธรรมซึ่งเรียกว่า ปรมัตถธรรม เรียกว่า ขันธ์ หรือว่าคิดถึงอริยสัจ ๔ ก็ตาม โดยคิดว่าเป็นเรื่องจริงๆ ควรจะรู้ และเข้าใจชื่อ และเรื่องราวธรรมนั้นได้อย่างไร จึงจะถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม เพราะเหตุว่ามีธรรม แต่ว่าไม่ได้เข้าใจความจริงของธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรมในภาษาอะไร เราไม่ต้องไปกังวลถึงเรื่องอีกภาษาหนึ่ง เช่น คำว่า มโนทวาร มโนทวาราวัชชนะ ชวนจิต สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เรายังไม่รู้อย่างนั้น เพียงแต่ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น บังคับได้ไหมไม่ให้เห็น ไม่ได้ นี่คือเริ่มจะเข้าใจคำว่า “ธรรม” ขณะที่เห็นอย่างนี้ คิดนึกอะไร หรือไม่ กำลังฟังแล้วก็มีเห็น ยังนึกคิดอะไรด้วย หรือไม่ กำลังฟัง ไม่ได้หมายความถึงจิตขณะหนึ่งขณะใด กำลังฟังแล้วก็มีเห็น ขณะเห็นอย่างนี้มีคิดนึกอะไรด้วย หรือเปล่า (มี) นี่แสดงว่าเรารู้ความจริง หรือไม่ว่าเป็นจิตคนละประเภท

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ยังไม่ต้องไปคิดถึงชื่อ แต่ว่าเข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ว่า ขณะที่เห็นจริงแน่ๆ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เวลาที่กำลังคิดเรื่องอื่น ขณะนั้นจริงๆ ไม่เห็น แต่เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ก็เหมือนกับว่ามีทั้งเห็น มีทั้งคิด และมีทั้งได้ยินด้วย ด้วยเหตุนี้ศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจธรรมว่า ธรรมมีจริงๆ เพื่อที่จะรู้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลใดๆ เลย ทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งเกิดดับ จนกว่าเราจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และเราอาจจะได้ยินคำเป็นภาษาบาลี ซึ่งแสดงถึงความต่างของจิตประเภทต่างๆ เช่น ขณะที่เห็นเป็นจิตประเภทหนึ่งแน่นอน จะเปลี่ยนจิตจากที่เห็นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ก็มีชื่อว่า จิตที่เห็นหมายความถึงธาตุรู้ซึ่งอาศัยตาเกิดขึ้น จึงเป็นจักขุวิญญาณ วิญญาณเป็นธาตุรู้อาศัยตา เมื่อธาตุรู้อาศัยตาแล้วจะเป็นอย่างไร จะไม่เห็นได้ไหม หรือจะได้ยินได้ไหม ไม่ได้ นี่คือแสดงความจริงว่า สิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อตามเหตุตามปัจจัย โดยที่ใครก็บังคับบัญชา หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

    เมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้นก็จะรู้ว่า ขณะที่กำลังคิดมี เพราะว่าเมื่อสักครู่นี้บอกแล้วว่า ขณะที่ฟังมีเห็น แล้วก็มีคิดนึก แล้วก็มีได้ยิน ทั้งหมดเป็นสภาพของจิตซึ่งเป็นธรรมแต่ละประเภท เช่น จิตที่ได้ยิน ขณะนั้นเพราะมีเสียงปรากฏให้รู้ จึงกล่าวว่าได้ยิน จะกล่าวว่าเป็นจิตเห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาใช้คำภาษาบาลี โสตวิญญาณ คือ ธาตุรู้ซึ่งอาศัยหูเกิดขึ้นในขณะนี้ ก็จะทำให้เราเริ่มค่อยๆ เข้าใจว่า จิตเกิดดับสืบต่อเร็วมาก จนถ้าไม่ฟังธรรมจริงๆ จะไม่รู้เลยว่า เป็นธรรมซึ่งต่างกัน และห่างกันด้วย ซึ่งสำหรับที่เพิ่งฟังจะคิดว่า เห็นกับได้ยิน แม้ว่าจะไม่ใช่ธรรม คือ จิตประเภทเดียวกัน แต่ก็เหมือนติดกันเลย ใช่ไหมเหมือนเห็นไม่ได้ดับ มีเห็น แล้วก็มีจิตได้ยิน แล้วก็มีจิตคิดนึก เหมือนไม่มีอะไรดับไปเลย เห็นก็ยังเห็นอยู่ และคิดก็คิดด้วย แต่พอฟังแล้วเริ่มรู้ว่า เป็นจิตต่างขณะ ถ้าฟังมากขึ้นก็จะรู้ว่า ห่างกันมากด้วย

    เพราะฉะนั้นจะเป็นเราไม่ได้เลย เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิต เช่น ก่อนเห็น แสดงจนกระทั่งให้รู้ว่า ก่อนเห็น เห็นไม่มี ได้ยินไม่มี คิดนึกไม่มี ก็มีจิต แต่ไม่ใช่จิตที่เห็น ได้ยิน เหล่านี้เป็นต้น ก็เรียกชื่อประเภทหนึ่ง คือ จิตที่ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่คิดด้วย เพราะฉะนั้นเป็นจิตประเภทที่เกิดรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร ประเภทหนึ่ง แต่ขณะที่กำลังเห็น จะกล่าวว่า ไม่อาศัยตาแล้วเห็น เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่เห็นก็ต้องเป็นจิตประเภทที่มีตา ใช้คำว่า จักขุเป็นปัจจัยทำให้จิตนี้เกิดขึ้น ยังไม่ได้ดับไปเลยในความรู้สึกของเรา เหมือนเห็นตลอดเวลา แต่ในขณะที่เหมือนรูปยังไม่ได้ดับเลย แสดงถึงการเกิดดับสืบต่อทำกิจการงานของจิต จนกระทั่งรูปนั้นดับ แล้วก็มีภวังค์คั่น แล้วก็มีมโนทวารวิถีจิต คือ รู้อารมณ์นั้นต่อทันที ก่อนที่จะมีการเห็นเกิดขึ้น

    นี่ก็คือประโยชน์ของการฟังธรรม แล้วเข้าใจละเอียดขึ้นว่า ธรรมไม่ใช่ตัวตน แล้วชื่อค่อยๆ เพิ่มขึ้น อย่างขณะใดก็ตามซึ่งไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีจิตเกิด แต่ไม่ได้อาศัยทวาร จะเป็นจักขุทวารวิถีจิตไม่ได้ วิถีจิตหมายถึงจิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด สืบต่อกันหลายขณะ เป็นวิถีแต่ละวิถีจิตที่สืบต่อกัน

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็คือ ภวังคจิตก็มี วิถีจิตก็มี และก็เกิดดับสืบต่อเร็วมาก การศึกษาธรรมเพื่อฟัง และเพิ่มภาษาบาลี เพื่อให้เรารู้ว่า หมายความถึงจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ จนกระทั่งแยกกันไม่ได้เลย ขณะนี้ใครรู้ว่า มีภวังค์คั่น ไม่รู้ แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น ก็แยกให้รู้ว่า ขณะใดก็ตามซึ่งยังไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น จิตนั้นเกิดขึ้นทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น เพื่อที่ต่อไปวิถีจิตจะได้เกิดตามกรรม และการสะสม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567