พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 363
ตอนที่ ๓๖๓
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ท่านอาจารย์ สำหรับคำว่า “วิการรูป” ขอคำแปลด้วย
อ.คำปั่น “วิการรูป” หมายถึง รูปที่ทำให้รูปผิดไปจากเดิม เป็นรูป ๓ รูป คือ ลหุตารูป เป็นรูปที่เบา มุทุตารูป เป็นรูปที่อ่อน และกัมมัญญตารูป เป็นรูปที่ควรแก่การงาน เป็นอาการของสภาวรูป
ท่านอาจารย์ ทิ้งความหมายเดิมไม่ได้เลย ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เวลาจับสำลี เบาไหม เป็นวิการรูป หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ไม่เป็น และดินแข็งๆ เราก็นำน้ำไปรดจนเปียก นุ่มอ่อนขึ้น เป็นวิการรูป หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะรูปนั้นแต่เดิมแข็งแล้วก็ทำให้อ่อน
ผู้ฟัง เป็นปฐวี
ท่านอาจารย์ ใช่ปฐวีนั่นเอง เพราะฉะนั้นอาการวิการจะเป็นอาการวิการของรูปอื่นไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าวิการรูปเป็นอุปาทายรูป ต้องเกิดกับมหาภูตรูป เพราะฉะนั้นมหาภูตรูปที่มีลักษณะของรูปที่ทำให้มหาภูตรูปนั้นวิการจากปกติธรรมดา มีรูปนั้นรวมอยู่ที่ใด มหาภูตรูปนั้นก็วิการเพราะมีวิการรูปเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นที่ถามว่า ดินแข็งๆ แล้วนำน้ำไปรดให้เปียกชุ่ม มีวิการรูปไหม เปลี่ยนลักษณะจากแข็งแล้ว มีวิการรูปไหม คือ ความเข้าใจไม่ชัดเจน แล้วก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ถ้าไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นความเข้าใจที่ชัดเจนไม่เปลี่ยน เพราะว่าวิการรูป แม้ว่าสิ่งอื่นจะเบา และดูเหมือนว่าจะอ่อน จะควรแก่การงาน อย่างทองเอาไปลนไฟ ก็สามารถจะเปลี่ยนรูปเป็นแหวน เป็นอะไรก็ได้ แต่ทองที่กำลังถูกลนไฟอ่อนนั้น มีวิการรูปไหม เพราะฉะนั้นจากทองที่แข็งเป็นทองที่อ่อน ควรแก่การงาน นำไปทำเป็นแหวนก็ได้ กำไลก็ได้ ขณะนั้นทองนั้นมีวิการรูปไหม
ผู้ฟัง ถ้าเป็นทองจะไม่มีวิการรูป แต่ถ้าวิการรูปจะเป็นความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน มิฉะนั้นก็จะอยู่ในร่างกายเราที่จะรู้ได้ เข้าใจแบบนี้
ท่านอาจารย์ บางทีความเข้าใจมาจากจำ แต่ถ้าเข้าใจในเหตุผลจริงๆ ก็จะทำให้ไม่ลืมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ไปจำ เมื่อไปเจอที่อื่น หรือเจอข้อความคลาดเคลื่อนคล้ายคลึง ก็จะทำให้ความเข้าใจนั้นเขวไป เพราะต้องทราบว่า วิการรูปมีในสัตว์ บุคคล แต่ต้นไม้ต่อให้เปลี่ยนลักษณะอย่างไรก็ตาม ทำให้นุ่มขึ้น หรืออะไรขึ้นก็ตาม ไม่ใช่วิการรูป เพราะฉะนั้นวิการรูป ๓ รูป คือ อาการวิการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อมีวิการรูปเกิดร่วมด้วย และวิการรูปมีสมุฏฐานซึ่งทำให้เกิด คือ จิตเป็นสมุฏฐานให้วิการรูปเกิดก็ได้ อุตุเป็นสมุฏฐานให้วิการรูปเกิดก็ได้ อาหารเป็นสมุฏฐานให้วิการรูปเกิดก็ได้ แต่ต้องภายในสัตว์ บุคคล ไม่ใช่ข้างนอก
ผู้ฟัง ต้องมีกรรมเป็นสมุฏฐานด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นสัตว์ บุคคล เช่น อสัญญสัตตาพรหมไม่มีจิตเลย แต่การที่จะเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหม มีแต่รูปปฏิสนธิเป็นพรหม ในอสัญญสัตตาภูมิ เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แม้อย่างนั้นรูปนั้นก็มีวิการรูป แต่เกิดจากอุตุ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ละเอียด เพราะไม่มีจิต ไม่มีอาหาร
ผู้ฟัง แต่ถ้าเราบอกว่า สัตว์ บุคคลเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นสัตว์ บุคคล รูปนั้นจึงวิการได้ เมื่อมีวิการรูปเกิดร่วมด้วยในกลุ่มใด กลุ่มนั้นก็มีอาการวิการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่กรรมไม่ได้เป็นสมุฏฐานให้เกิดวิการรูป วิการรูปจะเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน อุตุเป็นสมุฏฐาน อาหารเป็นสมุฏฐาน สำหรับสิ่งที่มีชีวิตซึ่งเกิดจากกรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราสามารถรู้วิการรูปได้ไหม ฟังเรื่องวิการรูปเข้าใจว่า รูปนี้มีแน่ๆ แต่จะรู้ได้ไหม และรู้ได้ทางไหน
ผู้ฟัง ทางใจ
ท่านอาจารย์ ถ้าจะรู้ได้ก็รู้ได้ทางใจ ฉะนั้นให้เรามุ่งไปรู้วิการรูปได้ไหม ในเมื่อทางกายมีสิ่งที่กระทบสัมผัสที่เย็น หรือร้อน หรืออ่อน หรือแข็ง ส่วนอาการวิการจะไม่ปรากฏทางกาย แม้ว่ารูปนั้นมีวิการรูปเกิดร่วมด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การศึกษาธรรมต้องละเอียด และตรง จะทำไม่ให้เข้าใจคลาดเคลื่อน เราสามารถเห็นวิการรูปได้ไหม สามารถกระทบสัมผัสวิการรูปได้ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ จึงเป็นเพียง ๓ รูป ไม่ได้รวมวิการรูปด้วย
เมื่อจิตมีความประสงค์จะให้กายเคลื่อนไหว หรือทรงอยู่ในลักษณะหนึ่งลักษณะใดก็ตาม ขณะนั้นรูปนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตประสงค์ให้รูปนั้นเป็นอย่างนั้น ใครจะรู้ หรือไม่รู้ ไม่สำคัญ เพราะอะไรทำไมว่าคนอื่นไม่สำคัญ ก็รูปนั้นเกิดเพราะจิตใด ไม่ใช่จิตของคนอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อจิตนี้เป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่เป็นไปตามความประสงค์ของจิตนี้ ไม่ใช่จิตอื่นมาทำให้รูปนี้เป็นไปตามความประสงค์ แต่เมื่อจิตนี้เกิดขึ้นทำให้รูปเป็นไปตามความประสงค์ของจิตที่จะให้คนอื่นเข้าใจ แต่ถ้าคนอื่นไม่เข้าใจก็เรื่องของคนนั้น แต่รูปนี้เกิดแล้วตามความประสงค์ของจิต
ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟัง ถามว่า สมุฏฐานที่ทำให้รูปเกิด มี ๔ อย่าง คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ขอเรียนถามว่า รูปใน ๑ กลาปมีสมุฏฐาน ๒ อย่างได้ หรือไม่ เช่น กรรม และจิตเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดรวมกันใน ๑ กลาปได้ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ได้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ๑ กลาป ก็ต้องมีสมุฏฐานหนึ่งเดียวเท่านั้น
ผู้ฟัง สงสัยว่า ตรงที่เห็นน้ำใสๆ มีธาตุน้ำ และมีธาตุอื่นไหมคะ
ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วคิดว่าเป็นอะไร
ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เห็นน้ำใสๆ
ท่านอาจารย์ เห็นก่อน แล้วก็คิดว่าเป็นน้ำใส
ผู้ฟัง ทีนี้สงสัยว่า ธาตุน้ำนี้เห็นไม่ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ มีทางอยู่ ๖ ทาง ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ ที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สามารถปรากฏให้รู้ได้
ผู้ฟัง แบบนี้ที่เห็นใสๆ ก็คือตาเห็นสี
ท่านอาจารย์ ตลอดชีวิตเห็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้ แล้วก็คิดนึกเรื่องนี้ แล้วแต่จะคิดนึกเรื่องอะไร
ผู้ฟัง เมื่อเห็นสี จิตก็ไปคิดว่าเป็นน้ำแล้ว ที่ว่าวิการรูปไม่สามารถรู้ได้ทางใดทางหนึ่งเลย หรือ
ท่านอาจารย์ มีรูป ๗ รูปที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปอื่นทั้งหมดรู้ได้ทางใจ เพราะฉะนั้นใจสามารถจะรู้ได้ทุกรูป แม้สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ใจก็รู้ได้
ผู้ฟัง คือวิการรูปรู้ได้ทางใจเท่านั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สิ่งใดก็ตามที่ไม่สามารถรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งนั้นรู้ได้ทางใจ
ผู้ฟัง มีคำถามว่า รูปทั้งหมดมี ๔ สมุฏฐาน คือ กรรม จิต อาหาร และอุตุ ถามว่า สมุฏฐานในการเกิดหลายๆ สมุฏฐานมารวมเกิดเป็น ๑ รูปได้ไหม อาจารย์ตอบว่าไม่ได้ ขอความอนุเคราะห์ให้เหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมีสมุฏฐานแค่อย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทราบไหมว่า กลุ่มของรูปเล็กแค่ไหน
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ แต่ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหนจนมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา และเล็กๆ นั้น ยังไม่ได้เกิดเลย แต่ว่ามีสมุฏฐานที่ทำให้เกิดเป็นรูปต่างๆ กัน เช่น จักขุปสาท เกิดเพราะจิตไม่ได้เลย เกิดเพราะอุตุก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ตรงนี้เข้าใจ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในกลุ่มเล็กๆ ที่เกิดนั้นเอง มีสมุฏฐานหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้น
ผู้ฟัง ถ้าเป็นทางเคมี ก็เป็นอะตอมเลยใช่ไหม คือ เล็กๆ
ท่านอาจารย์ เวลาที่ศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่ต้องคิดถึงเคมี เพราะขณะนั้นเป็นคิดนึกค่ะ ไม่ใช่การรู้ลักษณะ
อ.นิภัทร รูปแม้จะเกิดได้หลายสมุฏฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่าสมุฏฐานเหล่านั้นเกิดพร้อมกัน สมมติว่า สัททรูป คือ เสียง เกิดจากจิตก็ได้ เกิดจากอุตุก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะที่เกิดจากจิต อุตุไปเกิดร่วมด้วยไม่ได้ คือ เกิดจากสมุฏฐานไหนก็สมุฏฐานนั้น แต่สามารถเกิดได้ ๒ สมุฏฐาน สัททรูปเกิดจากจิตก็ได้ เกิดจากอุตุข้างนอกก็ได้ เช่น ลมพัดใบไผ่ ใบหญ้าก็เกิดเสียงดัง มีเสียงเกิดขึ้นจากอุตุ
ท่านอาจารย์ เมื่อเสียงนี้เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดแล้วดับแล้ว จะไปกล่าวว่า เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานได้อย่างไร จะนำสมุฏฐานอื่นมาทำให้เสียงนี้เกิดไม่ได้ เมื่อเป็นเสียงที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เสียงนั้นเกิดแล้วดับอย่างเร็วมาก จะให้อย่างอื่นมาร่วมเป็นสมุฏฐานด้วยได้ไหม
ผู้ฟัง มันจะมีทฤษฎีของ..
ท่านอาจารย์ คนละกลุ่ม ดับแล้วเร็วมาก ทฤษฎีทั้งหลายไม่สามารถรู้ความละเอียดถึงแต่ละกลุ่มของกลาปที่แยกขาดจากกัน นำมาปนกันก็เหมือนว่าเกิดจากสมุฏฐานนี้ และสมุฏฐานนั้น แต่ แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละกลาป ต้องเกิดจาสมุฏฐานเดียว เพราะเล็กน้อยมาก และเกิดแล้วดับแล้ว เร็วมาก
ผู้ฟัง โคจรรูปเหมือนกับทวารรูป หรือไม่
อ.วิชัย ที่คุณเด่นพงศ์กล่าวถึงรูปที่เป็นโคจรรูปอย่างหนึ่ง และทวารรูปอย่างหนึ่ง ถ้าโคจรรูป หมายถึงรูปที่เที่ยวไปของจิต ก็คือขณะนั้นจิตก็เป็นไปในรูปเหล่านี้ประจำเสมอๆ มีอยู่ ๗ รูปด้วยกัน ถ้าพิจารณาชีวิตประจำวันของเราก็มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คือ เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว อันนี้เป็นปกติที่จิตเป็นไปในรูปเหล่านี้ รูป ๗ รูปเหล่านี้ทรงแสดงว่า เป็นโคจรรูป หรือวิสยรูป คือ รูปที่เป็นอารมณ์ คือ จิตเป็นไปในรูปเหล่านี้ประจำๆ เสมอๆ ขณะที่ตื่นก็มี การเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจิตเป็นไปในรูปเหล่านี้บ่อยๆ จึงทรงแสดงว่า รูป ๗ รูปนี้เป็นโคจรรูป หรือวิสยรูป
ผู้ฟัง ตกลง ๒ ชื่อนี้ โคจรรูปกับวิสยรูป เหมือนกันใช่ไหม
อ.วิชัย ก็คือเป็นสภาพธรรม คือ รูป ๗ รูปนี้ ในส่วนของทวารรูป คือ รูปที่เป็นทวาร เราก็ทราบว่า ทวารมี ๖ ทางด้วยกัน แต่ส่วนทวารที่เป็นรูปมี ๕ เท่านั้น คือ จักขุปสาท คือ ตาเป็นจักขุทวาร คือ เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู หรือโสตปสาทเป็นโสตทวาร เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหู คือโสต ฆาน คือ จมูก เป็นฆานทวาร เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจมูก หรือฆานทวาร ชิวหาปสาทเป็นชิวหาทวาร เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้รสทางลิ้น ส่วนกาย กายปสาทเป็นกายทวาร เป็นทางที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือ โผฏฐัพพะทางกาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า รูปแต่ละรูปมีลักษณะของตนเอง ถ้ากล่าวถึงรูปที่เป็นอารมณ์ หรือเป็นที่เที่ยวไปของจิตก็มี ๗ รูป และรูปที่เป็นทวารก็มี ๕ รูปเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือรู้ และเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือตำรา แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้เป็นวิสยรูปก็มี แม้เป็นทวารรูปก็มีด้วย
ผู้ฟัง ทวารรูปมี ๕ หรือ ๗
อ.วิชัย รูปที่เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ต้องมีความมั่นคงว่าจะเกิน ๕ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทั้งหมดมี ๖ ทาง อันนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ขอถามว่า กายวิญญัติ เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ไหม
ผู้ฟัง ไม่ใช่ทางให้รู้อารมณ์ ก็เลยไม่ใช่ทวารรูป
อ.วิชัย คือไม่ใช่ทวารรูปที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์
อ.ธิดารัตน์ ถ้าคุณเด่นพงศ์อ่านปริจเฉทที่ ๖ ด้านหลังก็จะมีอธิบายทวารรูป ซึ่งอธิบายว่า ทวารรูปมี ๗ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ คือ เป็นทวารที่อาศัยให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ส่วนกายวิญญัติ และวจีวิญญัติ ท่านอธิบายว่า วิญญัติรูป ๒ นี้ชื่อว่า เป็นทวารแห่งกรรม ก็คือเป็นทางออกของกรรมนั่นเอง จะเป็นกายกรรม หรือวจีกรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นทวารแห่งกรรม ก็จะรวมเป็นทวารรูป ใช้คำว่า ทวารรูปมี ๗ ซึ่ง ๕ ก็คือในชีวิตประจำวันที่เราเข้าใจกัน แต่เมื่อมีการล่วงทางกาย ทางวาจาโดยที่มีกายวิญญัติ หรือวจีวิญญัติ มีกาย หรือวจีเป็นทางให้ทำกรรม เพราะฉะนั้นจึงรวมอยู่ในทวารรูป จึงเป็น ๗ คือ ให้เข้าใจว่า รูปที่เป็นทวารมี ๗ และที่เหลือจาก ๗ ไม่เป็นทวารใดๆ เลย และเป็นทวารอย่างไร ปสาทรูป ๕ เป็นทางที่จิตเกิดรู้อารมณ์ ส่วนกายวิญญัติ และวจีวิญญัติเป็นทวารแห่งกรรม ส่วนรูปอื่นๆ ไม่เป็นทวาร ใช้คำว่า อทวารรูป เหมือนกับวัตถุรูปกับอวัตถุรูป วัตถุรูปก็มีวัตถุ ๖ กายปสาทรูป ๕ และหทยวัตถุ ๑ ซึ่งเป็นวัตถุ ๖ ที่เหลือรูปอื่นๆ ไม่เป็นวัตถุเลย อันนี้แสดงโดยวัตถุ อวัตถุ ทวารรูป และ อทวารรูป
ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์เข้าใจสภาพธรรม หรืออยากจะจำชื่อ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าเป็นเรื่องของภาษาไทยกับภาษาบาลี และภาษาอื่นๆ ซึ่งจะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แต่หมายความว่า เมื่อใช้แล้ว ฟังแล้ว พิจารณาแล้ว เข้าใจสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งขณะนี้ทุกคนก็เข้าใจเรื่องของธรรมว่า ธรรมหลากหลายมาก แม้จะหลากหลายสักเท่าไร ก็ประมวลเป็นธรรม ๒ ประเภท ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แค่นี้ จนกว่าจะมีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย และสภาพธรรมที่มี แม้เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยก็ปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพที่กำลังรู้ กำลังเห็น กำลังได้ยินลักษณะของสภาพธรรมนั้น
ก่อนอื่นให้เข้าใจว่า เรากำลังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้ง ฟังเพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงความเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรม มีลักษณะที่ปรากฏ ให้ฟังให้เข้าใจ ส่วนเรื่องชื่อ จะใช้ภาษาไทย หรือภาษาบาลี เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ไม่เป็นปัญหาเลย แต่เวลานี้ที่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้เข้าใจลักษณะของธรรมนั้นๆ แล้วก็ไปได้ยินชื่อ แล้วก็ไปสงสัยว่า ชื่อนั้นหมายความถึงสภาพธรรมอะไร แต่ถ้ามีความเข้าใจธรรม ไม่สงสัยในชื่อนั้นเลย เช่น ก่อนจะได้ยินคำว่า โคจรรูป หรือ วิสยรูป ก่อนที่จะได้ยิน ๒ คำนี้ มีรูปที่ปรากฏให้เห็นทางตา ๑ และมีรูปที่ปรากฏให้ได้ยินทางหู ๑ มีรูปที่ปรากฏให้รู้ทางจมูก คือ กลิ่นต่างๆ ๑ มีรูปที่ปรากฏให้รู้เปรี้ยว เค็ม หวาน ทางลิ้น รสต่างๆ เผ็ด ขม แล้วแต่จะจำแนกไป แต่ในขณะที่รสนั้นๆ ปรากฏ ไม่ใช่ว่าต้องให้ไปเรียกชื่อ ไม่ต้องเลย เพราะว่ารสนั้นกำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นปัญญาที่เกิดขึ้น ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า สภาพของรสเป็นธรรมที่เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป คือ ทุกอย่างต้องเข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับ ปรากฏสั้นๆ แต่ละทาง และสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา หู จมูก ลิ้น ก็กล่าวถึงแล้ว สำหรับทางกายขณะนี้ มีธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ทุกกาละ เปลี่ยนความจริงนั้นไม่ได้เลย ขณะนี้มีลักษณะที่อ่อน หรือแข็งปรากฏทางกาย สิ่งที่มีจริงเป็นธาตุ เป็นธรรม ขอความกรุณาตอบว่า ลักษณะที่อ่อน หรือแข็งเป็นธรรมประเภทไหน
ผู้ฟัง เป็นลักขณรูป
ท่านอาจารย์ เป็นลักษณะของรูป เพราะฉะนั้นคำว่า “รูป” ไม่สงสัยอีกแล้วใช่ไหม เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ เสียง กลิ่น รส เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหวที่ปรากฏที่กาย ไม่สงสัยในลักษณะของรูปเหล่านี้ วันหนึ่งๆ มีแต่รูปเหล่านี้ปรากฏ หรือว่ารูปอื่นก็ปรากฏนอกจากรูปเหล่านี้
ผู้ฟัง ก็คงมีรูปอื่นปรากฏ เพราะรูปมีตั้ง ๒๘ รูป
ท่านอาจารย์ รูปอะไรกำลังปรากฏ นอกจาก ๗ รูปนี้
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นรูป ๗ รูปนี้เป็นอารมณ์ของจิตที่สามารถจะรู้ในสภาพที่เป็นรูป ไม่ว่าจะเกิดจนตาย จะรู้รูปที่ปรากฏ ๗ รูปนี้ ปกติจะเกิน ๗ นี่ไหม (ไม่เกิน) ด้วยเหตุนี้รูปเหล่านี้จึงมีชื่อในภาษาบาลีว่า “โคจรรูป” รูปที่เป็นอารมณ์เป็นปกติธรรมดาของจิต หรือจะใช้คำว่า “วิสยรูป” คือ รูปที่เป็นอารมณ์ก็ได้ นี่คือเรื่องของภาษา แต่ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า จิตเป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และทางที่จิตจะรู้ก็มี ๖ ทาง คือ ทางตาเห็นขณะนี้ เป็นจิตที่กำลังเห็นรูปที่ปรากฏ ทางหูมีเสียงปรากฏ ก็เป็นจิตที่กำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏ ขณะใดที่ได้กลิ่น กลิ่นปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้น ขณะที่ลิ้มรส ขณะนั้นจิตเกิดขึ้นรู้รสต่างๆ ขณะที่มีอ่อน หรือแข็งปรากฏ ก็คือขณะนั้นจิตกำลังรู้อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน เพราะฉะนั้นรูปที่ปรากฏได้ทางทวารทั้ง ๕ เป็นรูปที่เป็นอารมณ์ ในภาษาไทย เมื่อเข้าใจแล้ว เวลาได้ยินคำว่า “โคจรรูป” ก็ไม่สงสัย หมายความถึง ๗ รูปนี้ ได้ยินคำว่า “วิสยรูป” ก็ไม่สงสัย เพราะหมายความถึง ๗ รูปนี้ แค่นี้เอง ยังสงสัยไหมใน ๒ คำนี้ แน่ใจว่าไม่สงสัย โคจรรูปมีกี่รูป
ผู้ฟัง ๗ รูป
ท่านอาจารย์ วิสยรูป
ผู้ฟัง ก็มี ๗ รูป
ท่านอาจารย์ รูปอื่นปรากฏไหมในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำนี้เพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงรูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ถ้าไม่มีรูปซึ่งสามารถกระทบรูปเหล่านี้ จิตไม่สามารถเกิดขึ้นรู้รูปเหล่านี้ได้เลย ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปพิเศษ ไม่ใช่รูปธรรมดา แข็ง อ่อน เย็น ร้อน สี กลิ่น รส อย่างที่กล่าวถึง ๗ รูปนั้นเลย แต่เป็นรูปที่มีลักษณะสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็เป็นธาตุ หรือเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ยากที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าธรรมลึกซึ้ง เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่รู้ไหมว่า เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าจิตเห็นไม่เกิดขึ้นธาตุนี้ก็ไม่ปรากฏ นี่คือความลึกซึ้งของสิ่งที่เราคิดไม่ถึงเลย ดูเป็นธรรมดา เห็นทุกวัน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เหมือนสภาพธรรมทุกอย่าง ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย สั้นมาก เกิดแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นความลึกซึ้งของธรรม ต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจว่า แม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏเพราะจิตเห็น แต่ต้องมีรูปที่สามารถกระทบรูปนี้โดยเฉพาะ ไม่กระทบรูปอื่นเลย แล้วจิตเกิดขึ้นเห็นรูปที่กำลังปรากฏ รูปนั้นเราใช้คำว่า จักขุปสาท ในภาษาบาลี แต่ภาษาไทยเราก็พูดคำว่า ตา เมื่อพูดถึงตา คนก็เข้าใจ แต่ตามีหลายอย่าง ตาที่เป็นตาขาว ตาดำ ตาทั้งหมด เราก็เรียกว่า ตา เหมือนกัน
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 361
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 362
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 363
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 364
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 365
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 366
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 367
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 368
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 369
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 370
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 371
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 372
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 373
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 374
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 375
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 376
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 377
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 378
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 379
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 380
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 381
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 382
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 383
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 384
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 385
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 386
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 387
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 388
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 389
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 390
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 391
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 392
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 393
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 394
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 395
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 396
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 397
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 398
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 399
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 400
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 401
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 402
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 403
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 404
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 405
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 406
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 407
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 408
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 409
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 410
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 411
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 412
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 413
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 414
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 415
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 416
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 417
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 418
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 419
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 420